คาร์ม็อบอุบลฯ โดน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี นักกิจกรรมชี้รัฐใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่สอดคล้อง เหตุคาร์ม็อบไม่เสี่ยงแพร่โควิด

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 เวลา 9.00 น. นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก และกลุ่มคบเพลิง รวม 5 ราย ได้แก่ ฉัตรชัย แก้วคำปอด, วิศรุต สวัสดิ์วร, “ไบค์” หัสวรรษ, กิตติพล และธนัท สวัสเอื้อ เดินทางไปที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี ในนัดรับทราบข้อกล่าวหาคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากคาร์ม็อบขับไล่รัฐบาล 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 1 และ 15 สิงหาคม 2564 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2564 มีนักกิจกรรม 3 ราย เข้ารับทราบข้อกล่าวหาใน 2 คดีนี้ไปแล้ว ได้แก่ เชษฐวิทย์ ณรงค์ดิษย์, ธีระศักดิ์ วีระจินตวงศ์ และปรีดี พันทิวา รวมมียอดผู้เข้าร่วมคาร์ม็อบ 2 ครั้ง ถูกดำเนินคดี 8 ราย โดยมี 5 ราย ที่ถูกดำเนินคดีทั้ง 2 คดี

สำหรับเหตุจากคาร์ม็อบวันที่ 1 สิงหาคม 2564 คณะพนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลฯ แจ้งพฤติการณ์ที่กล่าวหาให้หัสวรรษและกิตติพลทราบว่า เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 15.00 น. เชษฐวิทย์, กิตติพล, ปรีดี, ธีระศักดิ์ และหัสวรรษ ได้ร่วมชุมนุมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 100 คน ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ในเขตพื้นที่ อำเภอเมืองอุบลราชธานี โดยวันดังกล่าวผู้ต้องหาพร้อมกลุ่มมวลชนประมาณ 70 คน ได้ดําเนินกิจกรรม Carmob #2 อุบลราชธานี พร้อมรถยนต์ประมาณ 30 คัน รถจักรยานยนต์ 20 คัน 

ต่อมา เชษฐวิทย์ได้เชิญชวนให้ประชาชนเข้าร่วมกิจกรรม จากนั้นขบวนได้เคลื่อนออกจากสวนสาธารณะห้วยม่วง ขบวนได้หยุดบริเวณหน้าจวนผู้ว่า เชษฐวิทย์ได้กล่าวปราศรัยเรียกร้องให้เบิกงบประมาณจัดซื้อวัคซีน mRNA ให้บุคลากรทางการแพทย์ และจัดหาวัคซีนทางเลือกที่ดีให้แก่ประชาชน ใช้เวลาประมาณ 3 นาที 

เวลา 18.00 น. ขบวน Carmob #2 อุบลราชธานี ก็ถึงบริเวณหอนาฬิกา จากนั้นผู้ชุมนุมได้ปิดถนนรอบหอนาฬิกา ขณะนั้นมีผู้ชุมนุมประมาณ 150 คน รถยนต์ 60 คัน รถจักรยานยนต์ 50 คัน ต่อมา ผู้ต้องหาทั้งห้าได้ขึ้นปราศรัย เรื่องความล้มเหลวในการบริหารงานและแก้ปัญหาโควิดของนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งเรียกร้องให้ลาออก, การแก้ไขรัฐธรรมนูญ, เรียกร้องให้รัฐจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพให้ประชาชน และการครอบงําของระบบทหาร ก่อนทำการเผาศพจําลองและประกาศยุติกิจกรรมในเวลา 19.30 น. ทั้งนี้ กลุ่มแกนนําได้ใช้รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลของธนัท สวัสเอื้อ ซึ่งมีการติดตั้งเครื่องขยายเสียง เป็นพาหนะในการปราศรัยตลอดเส้นทาง

จากนั้นพนักงานสอบสวนแจ้งว่า การกระทําดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันจัดชุมนุมและเข้าร่วมชุมนุมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 100 คน และมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ตามข้อกําหนด ฉบับที่ 24 ลงวันที่ 19 มิถุนายน 2564, ร่วมกันกระทําการใดๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคระบาดแพร่ออกไป และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” 

สำหรับหัสวรรษ นักศึกษามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี และกิตติพล ต่างให้การปฏิเสธและจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น ส่วนธนัท ซึ่งพนักงานสอบสวนแจ้งเพียงข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ธนัทจึงชำระค่าปรับ 200 บาท ทำให้คดีอาญายุติลง 

ขณะที่คาร์ม็อบ 15 สิงหาคม 2564  คณะพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีว่า วันที่ 15 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 14.25 – 18.10 น. ผู้ต้องหาพร้อมพวกได้นัดรวมกลุ่มเพื่อทํากิจกรรมแสดงออกทางการเมือง Carmob #4 อุบลราชธานี “ซิ่ง ไล่ (เสี่ย)หนู” โดยมีบุคคลเข้าร่วมประมาณ 150 คน, รถยนต์ 40 คัน, รถจักรยานยนต์ 50 คัน เคลื่อนออกจากสวนสาธารณะห้วยม่วงไปตามถนนเส้นทางต่างๆ ในเขตตัวเมืองอุบลราชธานี และอําเภอวารินชําราบ โดยผู้ต้องหาทั้งเจ็ด ได้กล่าวปราศรัยโจมตีนโยบาย การทํางานของรัฐบาลตลอดเส้นทาง และมีการจอดปิดกั้นทางสาธารณะอันก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ทางสาธารณะ

ก่อนแจ้งว่าการกระทําดังกล่าวเป็นความผิดฐาน “ร่วมกันจัดชุมนุมและเข้าร่วมชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันกีดขวางการจราจร”

กิตติพล, หัสวรรษ, ฉัตรชัย และวิศรุต ต่างให้การปฏิเสธ และขอให้การในชั้นศาล 

ในส่วนเชษฐวิทย์, ธีระศักดิ์ และปรีดี ที่เข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปก่อนแล้ว โดยถูกแจ้งข้อกล่าวหาเช่นเดียวกันนี้ในทั้ง 2 คดี ทั้งสามก็ให้การปฏิเสธและจะให้การในชั้นศาลเช่นกัน

หลังนักกิจกรรม 4 ราย พิมพ์ลายนิ้วมือและลงชื่อในบันทึกประจำวันเสร็จสิ้น พนักงานสอบสวนแจ้งว่า นัดส่งสำนวนให้อัยการในวันที่ 14 ธันวาคม 2564 

สำหรับบรรยากาศตลอดช่วงเช้าที่ สภ.เมืองอุบลฯ มีกลุ่มนักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอกร่วม 20 ราย มาให้กำลังใจผู้ถูกดำเนินคดี หลังจากเข้ารับทราบข้อหาทางกลุ่มมีกิจกรรมร่วมกันกินซอยจุ๊หน้าสถานีตำรวจ เพื่อสะท้อนถึงการต่อสู้ที่จะไม่โดดเดี่ยวของผู้ต้องหา ระหว่างรับทราบข้อกล่าวหา กิตติพล ได้นำหมวกตำรวจอันเก่าของตาทวด พร้อมแผ่นกระดาษที่มีข้อความ ‘การที่สุจริตต่อหน้าที่ คือผลดีสู่อนาคต’ กิตติพลกล่าวว่าเป็นข้อความจากตาทวดของตนที่เคยเป็นอดีตข้าราชการตำรวจที่เมืองอุบลราชธานี จึงอยากนำข้อความนี้มาเผยแพร่ให้เตือนสติตำรวจถึงเรื่องการปฏิบัติหน้าที่กับประชาชนอย่างเป็นธรรม

ฉัตรชัย แก้วคำปอด ที่เป็นทั้งนักกิจกรรมและทนายความ กล่าวด้วยว่า รู้สึกเป็นเรื่องปกติที่การต่อสู้เรียกร้องทางการเมืองในปัจจุบันนี้ต้องถูกดำเนินคดี เพราะเป็นการที่ฝ่ายรัฐป้องปรามไม่อยากให้เกิดการเคลื่อนไหวในลักษณะแบบนี้ขึ้นอีก กฎหมายกับสถานการณ์จริงมีการใช้ไม่สอดคล้องกัน การใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เป็นการใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามม็อบเป็นหลัก ทั้งที่เราเลือกทำกิจกรรมคาร์ม็อบ เนื่องจากเล็งเห็นแล้วว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่ใช่การรวมตัวกันในที่สาธารณะที่จะทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่ระบาดติดต่อกันได้ ผู้ร่วมชุมนุมทุกคนต่างก็อยู่ในรถของตัวเอง ก่อนการทำกิจกรรมก็มีสาธารณสุขจังหวัดมาตั้งจุดวัดคัดครองเชื้อโรคอยู่แล้ว 

ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2564 กิจกรรมคาร์ม็อบที่จังหวัดอุบลราชธานี มีการจัดขึ้นอย่างน้อย 4 ครั้ง โดยแต่ละครั้งจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจคอยติดตาม ถ่ายภาพและถ่ายวีดีโอการชุมนุมตลอด รวมถึงครั้งหนึ่งเคยถูกตำรวจและเจ้าหน้าที่ปกครองตั้งด่านสกัดไม่เข้าพื้นที่บริเวณช่องเม็ก อำเภอสิรินธรเพียงเพราะจะไปยื่นหนังสือให้ทางการลาวช่วยเปิดช่องทางให้เข้าถึงและได้ฉีดวัคซีนกับรัฐบาลลาว ซึ่งเป็นวัคซีนที่ได้รับการบริจาคจากประเทศสหรัฐอเมริกา 

อย่างไรก็ดีนอกจากพื้นที่อุบลราชธานี ในจังหวัดใกล้เคียงอย่างอำนาจเจริญ นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก 4 ราย ซึ่งมีฉัตรชัยและวิศรุตด้วย ก็ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากคาร์ม็อบอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 โดยคดียังอยู่ในชั้นพิจารณาของอัยการ

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

4 นักกิจกรรมอุบลปลดแอก เดินทางไปอำนาจเจริญ ถูกแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากคาร์ม็อบ หวั่นความปลอดภัย หลังตร.ขับตามทั้งขาไปขากลับ

ตร.อำนาจเจริญ ขับรถไปส่งหมายเรียกนักกิจกรรมในอุบลฯ หลังร่วมคาร์ม็อบ ทั้งฝากผู้ใหญ่บ้านห้ามลูกบ้านไปชุมนุมอีก

X