4 นักกิจกรรมอุบลปลดแอก เดินทางไปอำนาจเจริญ ถูกแจ้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากคาร์ม็อบ หวั่นความปลอดภัย หลังตร.ขับตามทั้งขาไปขากลับ

วันที่ 12 ตุลาคม 2564 นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก 4 ราย ได้แก่  ฉัตรชัย แก้วคำปอด, วิศรุต สวัสดิ์วร, เค้ก (นามสมมติ) และ ก้านของ (นามสมมติ) เดินทางจากจังหวัดอุบลราชธานีไปที่ สภ.เมืองอำนาจเจริญ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกรณีคาร์ม็อบอำนาจเจริญ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 โดยทั้งหมดให้การปฏิเสธ พนักงานสอบสวนนัดส่งตัวอัยการวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564

ตั้งแต่เวลา 9.00 น. ตำรวจ สภ.เมืองอำนาจเจริญ มีการเตรียมกำลังไว้ราว 200 นาย ด้วยเกรงว่าจะมีมวลชนไปที่จัดกิจกรรมชุมนุมที่สถานีตำรวจ  ก่อนที่ผู้ได้รับหมายเรียกทุกคนจะเดินทางมาถึงในช่วงเวลา 11.00 น. 

ในห้องสอบสวน สภ.เมืองอำนาจเจริญ คณะพนักงานสอบสวน แจ้งพฤติการณ์ว่า เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2564 ผู้ต้องหากับพวกโพสต์ข้อความลงในกลุ่มเฟซบุ๊ก “อำนาจเจริญไม่ทนเผด็จการ” และ “อำนาจเจริญ สามนิ้วไล่เผด็จการ” เชิญชวนชุมนุมกิจกรรมคาร์ม็อบ บริเวณหอนาฬิกาสวนมิ่งมงคล จังหวัดอำนาจเจริญ ในวันที่ 22 สิงหาคม 2564 

ต่อมาวันที่ 22 สิงหาคม 2564 เวลาประมาณ 12.00 น. ฉัตรชัยและวิศรุตช่วยกันขนป้าย “อำนาจเจริญไม่ทนคนบ้าอำนาจ” ลงจากรถกะบะ 2 ป้าย และจอดรถอยู่บริเวณหอนาฬิกา หลังจากนั้นมีรถยนต์คันอื่นทยอยเข้ามาจอดต่อท้ายแถวยาวขึ้นเรื่อยๆ ต่อมาวิศรุต, เค้ก และก้านของ ร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมโดยไม่มีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ซึ่งคนเข้าร่วมกิจกรรมจะอยู่บนรถของตนเอง จากนั้นก็ได้วิจารณ์การบริหารงานล้มเหลวของรัฐบาลในด้านต่างๆ พร้อมชักชวนผู้ที่เห็นด้วยเข้าร่วมกิจกรรม 

จนกระทั่งเวลา 14.30 น. มีผู้เข้าร่วมเป็นรถยนต์ 33 คัน และจักรยานยนต์ 17 คัน กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวไปตามถนนชยางกูร จนถึงบริเวณหน้าวัดพระมงคลมิ่งเมือง จึงย้อนกลับไปบริเวณหอนาฬิกาเช่นเดิม ขณะเคลื่อนขบวน ฉัตรชัย, วิศรุต และเค้ก ขึ้นไปบนรถที่มีเครื่องขยายเสียง รวมระยะทาง 7 กม. ใช้เวลาประมาณ 40 นาที และเมื่อวนกลับมาที่บริเวณหอนาฬิกา ฉัตรชัยและผู้ต้องหารายอื่นๆ สลับกันขึ้นพูดวิจารณ์ความล้มเหลวของรัฐบาล หลังจากนั้นเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมลงจากรถยืนเรียงแถวทั้ง 4 ด้านของหอนาฬิกา และชูสามนิ้วเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ พร้อมถ่ายภาพก่อนที่ผู้ชุมนุมจะแยกย้ายกันไป  

พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทั้ง 4 ราย ในความผิด “ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลเกินกว่า 20 คน ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ฉบับที่ 30 ประกาศเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564, ประกาศจังหวัดอำนาจเจริญ ฉบับที่ 14 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน”

ซึ่งความผิดดังกล่าวมีอัตราโทษสูงสุดที่จำคุก 2 ปี หรือ ปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ สำหรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และปรับไม่เกิน 200 บาท สำหรับ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาด้วยการใช้เครื่องขยายเสียง

ในวันเดียวกัน ฉัตรชัยยังรับทราบข้อกล่าวหาในความผิดฐาน หมิ่นประมาทโดยโฆษณา จากการถูกประภาส วีระพล นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดอำนาจเจริญ แจ้งความดำเนินคดี กรณีที่มีการโพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2564 กล่าวหาว่า ประภาสจัดสรรวัคซีนให้คนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดทั้งที่อยู่นอกเขตจังหวัดอำนาจเจริญ 

ทั้งสองคดี ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนนัดรายงานตัวในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 

สำหรับฉัตรชัยกล่าวว่าทั้งสองคดีที่ถูกแจ้งความมีความเกี่ยวข้องกับการเมือง คดีแรกผู้มีอำนาจต้องการให้หยุดกิจกรรมชุมนุม ส่วนคดีหลังเป็นการดำเนินคดีเพราะให้เขาหยุดแสดงความคิดเห็นเรื่องการจัดการโควิด-19  โดยตัวเขาต้องขับรถไกลร่วม 150 กิโลเมตร จากบ้านที่อำเภอเดชอุดมไปที่อำนาจเจริญในการต่อสู้คดีครั้งนี้ทำให้เสียทั้งเวลาและเงินที่ควรจะไปใช้กับเรื่องอื่น

ฉัตรชัยให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า คดีนี้หมายเรียกถูกออกลงวันที่ 23 สิงหาคม 2564 หลังการชุมนุมเพียง 1 วัน ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 30 สิงหาคม 2564 พวกเขาทั้ง 4 คนจึงขอเลื่อนวันออกไป ต่อมาแม้มีหมายเรียกครั้งที่ 2 ให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา แต่ดูเหมือนว่าคดีจะเงียบลงไป และตำรวจแจ้งผู้ต้องหาเลื่อนนัดออกไปโดยไม่มีกำหนด กระทั่งผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญซึ่งเพิ่งเข้ารับตำแหน่งใหม่ต้องการเร่งรัดคดี พนักงานสอบสวนจึงเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาโดยไม่ได้ออกหมายเรียกอีก  

ฉัตรชัยตั้งข้อสังเกตอีกว่า เหตุการณ์ในคดีผ่านมาระยะหนึ่งแล้ว เพิ่งจะมาเร่งให้ไปรับทราบข้อกล่าวหา ทำให้เขาต้องจัดสรรเวลาชีวิตการงานใหม่หมด เช่นเดียวกับคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ สภ.เมืองอุบลราชธานี ที่อยู่ๆ พนักงานสอบสวนก็นัดให้เขาและนักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอกอีกหลายคนเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 18 ตุลาคม 2564 โดยที่ยังไม่ทราบว่าเป็นคดีที่เกิดจากเหตุชุมนุมครั้งไหนบ้าง

สำหรับก้านของ 1 ในนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดี  สะท้อนความรู้สึกว่า มีความกังวลใจอย่างสูง เนื่องจากเป็นคดีแรกในชีวิต และเขายังศึกษาอยู่ เกรงว่าจะกระทบกับการดำเนินชีวิตในด้านต่าง ๆ แต่ก็เป็นแค่ชั่วขณะหนึ่ง เพราะนักสู้ย่อมมีขวากหนามและอุปสรรคอยู่แล้ว ตอนนี้จึงเริ่มเข้าใจสถานการณ์  และด้วยกำลังใจจากคนรอบข้าง เขาจึงมีความหวังกับการต่อสู้คดีมากขึ้น

ก้านของกล่าวอีกว่า การเดินทางไกลเพื่อต่อสู้คดีย่อมมีผลกระทบต่อชีวิตพอสมควร เพราะช่วงนี้เขาต้องซ้อมการแสดงเพื่อเตรียมสอบเข้าเรียนต่อที่สถาบันทางศิลปะแห่งหนึ่ง ซึ่งนอกจากการถูกดำเนินคดีในอีกจังหวัดจะทำให้เสียเวลาไปกับการเดินทาง ยังต้องเสียค่าใช้จ่าย เป็นภาระที่เพิ่มมากขึ้นโดยไม่จำเป็น

“การดำเนินคดีครั้งนี้รัฐต้องการที่จะหยุดเรา ก่อนหน้านี้เราถูกคุกคามบ้าง ถูกตามสอดส่องในโลกออนไลน์บ้าง นั่นก็หมายถึงว่าเขาต้องการให้เราหยุดการต่อสู้กับอำนาจมืดของคนบ้าอำนาจ และลงไปอยู่เป็นเบี้ยตัวหนึ่งในระบอบเผด็จการที่เขากำลังปกครองเราอยู่”

ก้านของให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ในวันที่ไปรับทราบข้อกล่าวหาที่จังหวัดอำนาจเจริญ เขามีความรู้สึกว่าไม่ปลอดภัย เพราะทางตำรวจได้ขับรถติดตามตลอดเส้นทางทั้งขาไปและขากลับ อีกทั้งตำรวจได้จัดให้แต่ละคนแยกไปรับทราบข้อกล่าวหาคนละห้อง และมีตำรวจมาห้อมล้อมเหมือนเป็นคดีร้ายแรง ทำให้เขารู้สึกไม่สบายใจเท่าไหร่นัก  

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตร.อำนาจเจริญ ขับรถไปส่งหมายเรียกนักกิจกรรมในอุบลฯ หลังร่วมคาร์ม็อบ ทั้งฝากผู้ใหญ่บ้านห้ามลูกบ้านไปชุมนุมอีก

X