สัปดาห์ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามสถานการณ์การคุกคามนักกิจกรรมและประชาชนหลายรายในจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่ไม่ทราบสังกัด ติดตาม สอบถาม ห้ามทำกิจกรรมการเมือง แม้กระทั่งไปเฝ้าถึงบ้าน ในช่วงก่อนและระหว่างที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการลงพื้นที่ตรวจราชการที่จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 15 ตุลาคม 2564 โดยใช้เวลาในการอยู่ที่อุบลฯ ไม่ถึง 8 ชั่วโมง แต่กลับมีประชาชนถูกเฝ้าติดตามเป็นระยะเวลาแทบทั้งสัปดาห์ตั้งแต่วันที่ 8 – 15 ตุลาคม 2564
“บรรยากาศแทบไม่ต่างและยิ่งกว่าตอน ร.10 เสด็จอุบลฯ และมีการคุกคามนักกิจกรรมเมื่อปีที่แล้วอีก”
นักกิจกรรมรายหนึ่งสะท้อนความรู้สึก หลังเผชิญกับการคุกคามในแบบที่รู้สึกว่าตำรวจล้ำเส้นเกินไป
นอกจากนี้ บางรายต้องหลบไปอยู่ในพื้นที่อื่น เพราะรู้สึกถูกรบกวนจากเจ้าหน้าที่ทั้งๆ ที่ไม่ได้ทำความผิดอะไร มีบ้างที่ต้องเว้นวรรคกิจกรรมทางการเมืองเพราะทางบ้านขอร้อง และมีรายหนึ่งถูกขู่ถอนประกันคดีที่ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมต้อนรับการมาเยือนของนายกฯ ในครั้งนี้ แม้แต่นักวิชาการมหาวิทยาลัยอุบลฯ ก็โพสต์รูปและข้อความว่ามีเจ้าหน้าที่ไปพบที่บ้านในอำเภอวารินชำราบช่วงเช้าวันที่ 15 ตุลาคมด้วยเช่นกัน
คนวารินฯ ที่ไม่ชอบนายกฯ มีเยอะ พอนายกฯ มาเยี่ยมทั้งทีก็อยากมาเจอ
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2564 หลังจากที่ “ออฟ” วิศรุต สวัสดิ์วร นักกิจกรรมคณะอุบลปลดแอก โพสต์เฟซบุ๊กว่า “ประยุทธ์ เก่งมาก กล้ามาก มาลงอุบลฯ 15 ตุลา #มหาม็อบไล่ประยุทธ์” เขาก็ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อขอเข้าคุยรายละเอียดเรื่องการต้อนรับนายกรัฐมนตรีที่จะเดินทางมาตรวจราชการที่อำเภอวารินชำราบ ซึ่งออฟก็ได้ตอบรับคำขอของเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี และได้นัดหมายกันในช่วงเย็นของวันดังกล่าว
ออฟเปิดเผยว่า โดยปกติให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดีโดยตลอด ในบางครั้งที่เจ้าหน้าที่ขอว่าอย่าทำกิจกรรมใดเขาก็ยอมทำตามที่ขอหรือตามที่ตกลงกันไว้แทบจะในทุกครั้ง และการมาพูดคุยในครั้งนี้ก็เหมือนเช่นทุกครั้งที่ตนและเจ้าหน้าที่ได้พูดคุยเพื่อหาแนวทางร่วมกันเพื่อที่จะไม่ให้มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น ออฟกล่าวกับตำรวจว่า “คนวารินฯ ที่ไม่ชอบนายกฯ มีเยอะ พอนายกฯ มาเยี่ยมทั้งทีก็อยากมาแสดงออกให้นายกฯ รู้ว่าเขาไม่รักนายกฯ”
อย่างไรก็ตาม วันต่อมาในขณะที่ออฟเดินทางไปเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกของ สภ.เมืองอำนาจเจริญ จากกรณีคาร์ม็อบ #อำนาจไม่ทนคนบ้าอำนาจ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ออฟถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทางหลวงเรียก เนื่องจากขับรถด้วยความเร็วเกินกำหนด แต่ขณะที่กำลังเดินลงไปชำระค่าปรับ เจ้าหน้าที่นายหนึ่งได้ตะโกนบอกว่า “ปล่อยให้เขาไปๆ” พร้อมกับมีเสียงไล่หลังจากชายฉกรรจ์ซึ่งคาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่ติดตามตนมา ตะโกนไล่หลังมาอีกว่า “เขาต้องไปรับทราบข้อหา สารวัตรขอๆ ให้เขาไปก่อนเดี๋ยวไม่ทัน” ทำให้ ออฟทราบทันทีว่ามีเจ้าหน้าที่ติดตามอยู่ตลอด
และในวันเดียวกัน ช่วงประมาณ 13.30 น. ออฟได้รับข่าวจาก เอ (นามสมมติ) พนักงานที่ร้านผลิตป้ายโฆษณาของครอบครัวออฟว่า มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาสอบถามข้อมูล รวมถึงถามชื่อ – สกุล พนักงานคนดังกล่าว พร้อมทั้งถ่ายภาพบริเวณร้านไปหลายภาพ ซึ่งสร้างความแตกตื่นให้กับพนักงานและลูกค้าที่มาใช้บริการในขณะนั้น ทำให้ออฟรู้สึกไม่พอใจที่เจ้าหน้าที่คุกคามเกินเลยไปถึงคนรอบตัวของเขา
“ครั้งนี้เจ้าหน้าที่ล้ำเส้นเกินไป ปกติผมกับแชมป์ (ฉัตรชัย แก้วคำปอด นักกิจกรรมอุบลปลดแอกอีกคน) ถูกคุกคามจนกลายเป็นเรื่องปกติ นี่เจ้าหน้าที่มาจอดรถเฝ้าหน้าบ้านบ่อยจนหลังๆ แทบไม่ต้องล็อกบ้านแล้ว และผมก็ให้ความร่วมมือมาตลอด แต่ในครั้งนี้มันเกินไป เพราะไปคุกคามคนรอบข้างที่ไม่รู้เรื่องด้วย อย่างลูกน้องที่ร้านไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วยยังโดนคุกคาม ไหนจะลูกค้าที่มาใช้บริการจนไปถึงคนที่อาศัยอยู่บริเวณรอบข้างก็พลอยแตกตื่นไปด้วย เจ้าหน้าที่ไม่มีมนุษยธรรมเหลืออยู่แล้ว”
เย็นวันเดียวกัน ภาพของออฟขณะที่เจรจากับตำรวจที่เจ้าตัวโพสต์ลงบนเฟซบุ๊กส่วนตัว และมีสื่อช่อง Top New นำไปรายงานข่าว ทำให้ญาติหลายคนโทรมาตำหนิเขาเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งออฟเห็นว่าเป็นความพยายามทั้งจากภาครัฐและผู้เห็นต่างทางการเมืองที่พยายามขัดขวางการไปต้อนรับนายกฯ ของประชาชนชาวอุบลฯ แต่ตนก็ได้แจ้งชัดเจนว่าตนมีภารกิจ คงไม่สามารถไปร่วมพบนายกฯ ได้
“รู้สึกเสียดายที่ไม่ได้อยู่ต้อนรับประยุทธ์ด้วยตนเอง แต่ครั้งนี้เจ้าหน้าที่คุกคามหนักว่าการเสด็จของ ร.10 มาที่วัดหนองป่าพงในปีที่แล้วเสียอีก และอยากจะฝากถึงนายกรัฐมนตรีว่า 7 ปีมาแล้วที่นายกฯ บริหารประเทศมา ประชาชนเขารู้สึกอึดอัดยังไงก็ขอให้เขาได้แสดงออกได้ไหม อย่าให้ลูกน้องไปข่มขู่เขาเลย”
ด้านเอ (นามสมมติ) พนักงานที่ร้านของออฟให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2564 เวลาประมาณ 12.30 น. มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 2 นาย แบบมาที่ร้าน ไม่ได้แสดงตัวหรือแจ้งให้ทราบว่าเป็นเจ้าหน้าที่สังกัดหน่วยงานใด เข้ามาถามหาออฟ เขาจึงบอกชายทั้ง 2 คน ว่าออฟไม่อยู่ จากนั้นหนึ่งในคนที่มาจึงพยายามถามข้อมูลส่วนตัวของเอ แต่เอไม่ได้บอกข้อมูลอะไรไป ชายทั้ง 2 คน จึงได้ถ่ายภาพอยู่ประมาณ 5 นาที ก่อนเดินทางกลับไป
เฝ้าบ้าน- ติดตามเป็นประจำ จนต้องหลบหน้าไปอยู่อำเภออื่น
ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2564 ช่วง 10.00 น. ตำรวจ สภ.ห้วยขะยุง ประมาณ 5 นาย ไปที่บ้าน “หน่อย” ธีระศักดิ์ วีระจินตวงศ์ สมาชิกคณะก้าวหน้า อุบลราชธานี เมื่อไม่พบตัวจึงโทรหา และชวนไปคุยกันที่ร้านกาแฟละแวกบ้าน ตำรวจไม่ได้บอกเขาว่ามาหาเพราะเรื่องเกี่ยวกับอะไร แต่บอกว่าไม่ได้มาคุกคาม แค่มาติดตามตามที่ผู้บังคับบัญชาสั่งมา และพยายามถามว่าวันที่ 15 ตุลาคม ที่พลเอกประยุทธ์จะเดินทางมาที่จังหวัดอุบลราชธานี หน่อยจะไปร่วมกิจกรรมอะไรหรือไม่ หน่อยบอกตำรวจไปว่า คงไม่ได้ไปหรอกเพราะต้องไป สภ.เมืองอุบลฯ ตามหมายเรียกคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (ก่อนเลื่อนรับทราบข้อหาเป็นวันที่ 18 ตุลาคม 2564)
ตำรวจอยากให้หน่อยยืนยันว่าจะไม่ไปร่วมชุมนุมใดๆ เขาจึงรับปาก และกำชับตำรวจว่าไม่สะดวกที่จะให้ไปพบที่บ้านอีก เพราะมีพ่อแม่ของเขาที่เป็นผู้สูงอายุอยู่กัน 2 คน หลังพูดคุยเสร็จ นอกจากตำรวจจะถ่ายรูปหน่อย ยังถ่ายภาพทะเบียนรถไปด้วย พร้อมทั้งบอกว่าช่วงนี้ โดยเฉพาะวันที่ 15 ตุลาคม จะติดตามหน่อยเป็นระยะ ถ้าหากตำรวจไม่พบตัว ให้เขาส่งไลน์และส่งภาพว่าตอนนี้อยู่ตรงไหน
ระหว่างวันที่ 13-14 ตุลาคม ก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบมาพบหน่อยในลักษณะเดียวกันอีก กระทั่งช่วงเช้าวันที่ 15 ตุลาคม หน่อยรู้สึกไม่เป็นส่วนตัวจึงออกมาอยู่สวนฝั่งตรงข้ามของหมู่บ้าน และไม่รับโทรศัพท์ตำรวจ ก่อนพี่ชายโทรมาเล่าว่า ขณะขับรถออกไปทำธุระถูกตำรวจขับรถมาประชิดให้จอด และถามหาหน่อย ตำรวจยังโทรหาพ่อแม่ เพื่อให้พ่อแม่กดดันหน่อยให้ออกไปพบเจ้าหน้าที่อีกครั้ง เขาจึงออกไปพบตำรวจ ก่อนทราบว่าตำรวจมาเฝ้าหน้าบ้านตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม 2564 แล้ว และจะไม่ยอมไปไหนจนกว่านายกฯ จะเสร็จภารกิจการลงพื้นที่และเดินทางกลับ
สำหรับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการคุกคามของเจ้าหน้าที่คือ พ่อแม่ของหน่อยไม่สบายใจและเป็นกังวล “คนแก่เห็นตำรวจมาเยอะๆ มาบ่อยๆ จึงตกใจและกังวล และเพื่อนบ้านก็เข้าใจผิดว่าหน่อยไปทำผิดหรือเป็นอาชญากรในคดีร้ายแรงหรือไม่”
นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่หน่อยกำลังหาเสียงในพื้นที่ เนื่องจากลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลบุ่งหวาย การคุกคามของตำรวจที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ทำให้ภาพลักษณ์ของเขาอาจจะไม่ดีนักในสายตาชาวบ้าน
อีกรายที่ถูกคุกคามคือยง หญิงวัย 57 ปี ที่เคยเคลื่อนไหวกับกลุ่มเสื้อแดงในอำเภอวารินชำราบ เธอเล่าว่าทุกครั้งที่คนจากรัฐบาลฝั่งตรงข้ามทางการเมืองจะลงพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มักจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหาร คอยติดตามพฤติกรรมของเธอ และสอบถามพิกัดที่อยู่อยู่ตลอด ครั้งนี้ก็เช่นกันมีตำรวจ สภ.ห้วยขะขุงโทรสอบถามตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม ว่าวันที่นายกฯ มาจะไปทำกิจกรรมหรือไม่ ยงจึงบอกว่าคงไม่ได้ไปเพราะตอนนี้อยู่ระหว่างรักษาตัวจากการขาหัก จากวันนั้นยงจึงตัดสินใจที่จะไม่อยู่ในพื้นที่โดยไปอยู่ที่บ้านอีกหลังในอำเภอโขงเจียมชั่วคราวเนื่องจากรู้สึกรำคาญและไม่อยากเผชิญหน้าเจ้าหน้าที่รัฐที่มาตามตัว
เมื่อถูกคุมคามหนัก จนยายต้องขอให้เว้นวรรคทางการเมือง
“ฟลุ้ค” กิตติพล (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมกลุ่มอุบลปลดแอก วัย 20 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกเจ้าหน้าที่คุกคามอย่างหนักจนต้องขอเว้นวรรคการเคลื่อนไหวเพื่อให้คนรอบข้างสบายใจ ฟลุ้คเล่าว่า ในระยะเวลา 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีเจ้าหน้าที่มาที่บ้านแล้วถึง 5 ครั้ง ในวันที่ 8, 10, 12 และ 13 ตุลาคม 2564 วันละ 1-2 ครั้ง แต่ทุกครั้งไม่เจอตัวเขา เนื่องจากเขาติดธุระหรือทำงานอยู่ข้างนอก พบแต่ยายฟลุ้คอายุ 72 ปี ซึ่งเป็นผู้พิการ และพี่สาว โดยเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาทั้งในและนอกเครื่องแบบ ครั้งละ 2-3 นาย และในบางครั้งที่ไม่มีคนอยู่ที่บ้าน เจ้าหน้าที่ก็จะเข้าไปคุกคามเพื่อนบ้านละแวกใกล้เคียง โดยสอบถามข้อมูลส่วนตัวกับเพื่อนบ้านพร้อมทั้งถามถึงพฤติกรรมของฟลุ้ค และยังเล่ากับเพื่อนบ้านว่าฟลุ้คเป็นนักกิจกรรมที่ชอบขึ้นปราศรัยโจมตีสถาบันกษัตริย์อีกด้วย
ฟลุ้คบอกอีกว่า การที่เจ้าหน้าที่ทำแบบนี้ทำให้เขายิ่งโกรธเจ้าหน้าที่ไปด้วย เพราะมันเป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เพราะเจ้าหน้าที่ไม่ได้คุกคามแค่ตัวเขา แต่ลามไปถึงคุณยายที่อายุกว่า 72 ปี แถมยังเป็นผู้พิการอีกด้วย เจ้าหน้าที่คุกคามหนักกว่าทุกครั้ง จนยายต้องขอร้องให้เขาหยุดเคลื่อนไหวก่อน ซึ่งก่อนหน้านี้ยายไม่เคยห้ามเลย ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ยายขอร้อง ทำให้ฟลุ้คต้องตัดสินใจขอเว้นช่วงในการทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อให้คุณยายได้สบายใจขึ้น
ขู่ถอนประกัน หากดึงดันทำกิจกรรมเข้าพบนายกฯ
ฉัตรชัย แก้วคำปอด นักกิจกรรมและทนายความ เป็นอีกคนที่ถูกจับตาจากเจ้าหน้าที่รัฐในทุกครั้งที่ผู้มีอำนาจเดินทางมาที่จังหวัดอุบลฯ ฉัตรชัยให้ข้อมูลว่า เขาถูกติดตามอยู่ตลอดตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2564
โดยมีผู้กำกับ สภ.เดชอุดม เข้ามาพูดคุยกับเขา ขอความร่วมมือว่า ไม่ทำกิจกรรมช่วงนายกฯ มาได้ไหม และถามว่าวันที่ 15 ตุลาคม จะไปไหนหรือไม่ โดยฉัตรชัยบอกตำรวจไปว่าวันที่ 14-15 ตุลาคม ตนติดสืบพยานที่ศาลจังหวัดเดชอุดม แต่หากงานเสร็จไวแล้วว่างน่าจะไป
วันต่อมา ขณะเขาอยู่ที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งในอำเภอเดชอุดม มีตำรวจสายสืบเข้ามาสอบถามว่า วันที่ 15 ตุลาคม เขาจะไปไหนอีกครั้ง นอกจากนี้ในช่วงบ่ายของวันที่ 13 ตุลาคม ตำรวจ สภ.เมืองอุบลฯ ยังนัดฉัตรชัยและนักกิจกรรมส่วนหนึ่งในอุบลฯ เข้าพูดคุยเพื่อขอให้ชะลอการทำกิจกรรมต้อนรับนายกฯ
ฉัตรชัยเล่าว่า เช้าวันที่ 15 ตุลาคม มีเจ้าหน้าที่มาเฝ้าหน้าบ้านในตัวอำเภอเดชอุดม พอช่วงเที่ยงๆ ตนขับรถออกไปอำเภอวารินชำราบ จึงเห็นว่ามีรถของตำรวจนอกเครื่องแบบติดตามตั้งแต่ออกจากเดชอุดม จนถึงแยกลือคำหาญวารินชำราบ มีด่านสกัดจราจร ตำรวจที่ด่านเรียกให้เขาลงมาคุยกับรองผู้กำกับสืบสวน สภ.วารินชำราบ ซึ่งขอความร่วมมือว่าไม่ต้องทำกิจกรรมได้หรือไม่ เมื่อไม่ได้ผล รอง ผกก.สส.สภ.วารินชำราบ จึงขู่ว่าจะขอศาลแขวงอุบลฯ ออกหมายจับเขาในคดีคาร์ม็อบ และขอศาลจังหวัดอุบลฯ ถอนประกันคดีมาตรา 116 ที่ฉัตรชัยถูกดำเนินคดีก่อนหน้านี้
เมื่อไม่สนคำขู่ทางวาจาของตำรวจ ฉัตรชัยจึงขับรถเข้าไปที่ศาลาประชาวาริน โดยขณะนั้นนายกรัฐมนตรีกำลังทำพิธีมอบสิ่งของให้ผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่อุบลฯ ฉัตรชัยแจ้งความประสงค์ว่า อยากเข้าพบนายกรัฐมนตรี ราว 14.00 น. ทางตำรวจจึงเข้าเจรจาให้พบกับ แรมโบ้ อีสาน หรือ เสกสกล อัตถาวงศ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี เพื่อรับเรื่องที่ฉัตรชัยและทางคณะอุบลปลดแอกอยากสื่อสารกับนายกฯ จากการพูดคุยประมาณ 20 นาที ทางคณะอุบลปลดแอกฝากถึงนายกฯ 3 เรื่อง 1.อยากให้ลาออก เพราะบริหารบ้านเมืองมา 7 ปีแล้ว ยังไม่ทำประเทศให้ดีขึ้นแต่กลับขออยู่อีก 5 ปี 2.เรื่องการแก้ปัญหาโควิด เพราะตอนนี้จำนวนวัคซีนไม่สอดคล้องกับการประกาศจะเปิดประเทศ 3.เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในหมวด สว.แต่งตั้ง ที่เป็นการสืบทอดอำนาจ
ขณะที่ประชาชนที่ต้องการมาแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อรัฐบาล ทั้งจากคณะอุบลปลดแอก และกลุ่ม “ศรีสะเกษจะไม่ทน” รวมถึงนักศึกษาและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ราว 50 คน ทยอยเดินทางมาที่บริเวณศาลาประชาวาริน แต่ต้องเผชิญกับตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) ราว 4 กองร้อย ที่ตั้งแถวห่างจากศาลาประชาวารินราว 200-300 เมตร เพื่อสกัดไม่ให้ประชาชนเข้าไปใกล้กับคณะของพลเอกประยุทธ์ จึงได้ทำกิจกรรมอยู่ด้านนอก โดยการชูป้ายไล่ประยุทธ์ ปราศรัยให้ลาออก รวมทั้งมีการโปรยอาหารสุนัขหน้าแถว คฝ. เพื่อแสดงความไม่พอใจที่ถูก คฝ.ปิดกั้นเสรีภาพ ก่อนจะเสร็จสิ้นกิจกรรมในเวลา 16.00 น.
สำหรับฉัตรชัย ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 ซึ่งรัชกาลที่ 10 เสด็จไปที่วัดหนองป่าพง พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลฯ เคยไปยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดอุบลฯ ขอให้ถอนประกันฉัตรชัยในคดีมาตรา 116 กรณีจัดชุมนุมเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2563 เพื่อสกัดไม่ให้ฉัตรชัยเดินทางไปที่วัดหนองป่าพง แต่ศาลยกคำร้อง โดยระบุเหตุผลว่า เนื่องจากแัตรชัยไม่ได้มาแสดงเหตุผลข้อเท็จจริงคัดค้านคำร้องของพนักงานสอบสวน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จนท.ติดตามความเคลื่อนไหว นร.-น.ศ.-นักกิจกรรมจำนวนมาก ก่อนการเสด็จถวายผ้าพระกฐินที่อุบลฯ