หวั่นความไม่สงบ ขณะ ร.10 เสด็จอุบลฯ นักกิจกรรมถูกคุกคาม-จับกุม แม้ไม่มีใครประกาศเคลื่อนไหว 

30 เม.ย. 2565 จากหมายกำหนดการ ร.10 เสด็จไปที่วัดมหาวนาราม (วัดป่าใหญ่) จ.อุบลราชธานี นับเป็นอีกครั้งที่มีการเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์ ที่ส่งผลกระทบต่อนักกิจกรรมในพื้นที่ที่มักจะถูกติดตามคุกคามถ่ายภาพที่บ้านและเช็คพิกัดที่อยู่เป็นระยะๆ จนไม่อาจใช้ชีวิตอย่างสงบสุขได้ 

ไม่เพียงแต่การติดตามไปถึงที่บ้านในสัปดาห์ก่อนจะมีขบวนเสด็จ ในวันเสด็จยังมีนักกิจกรรมอีก 2 รายถูกคุมตัวออกจากพื้นที่ที่มีการรับเสด็จ เพียงเพราะไปถ่ายภาพบรรยากาศการรับเสด็จให้สำนักข่าวแห่งหนึ่ง ไม่ได้มีแค่พื้นที่อุบลราชธานี ห่างกันไปราว 110 กิโลเมตร ที่ อ.ขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ ปรากฏนักกิจกรรมและจำเลยคดี 112 ก็ถูกติดตามด้วย บางรายตามไปหาถึงที่ทำงานในจังหวัดสมุทรสาคร ที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการทำกิจกรรมการเมือง โดยทุกคนได้แต่ตั้งข้อสงสัยถึงการกระทำเกินเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐในครั้งนี้ 

.

จับกุม 2 ราย เพียงเพราะจะถ่ายภาพบรรยากาศรับเสด็จ

“ณัฐ” ณัฐวุฒิ (สงวนนามสกุล) สมาชิกคณะอุบลปลดแอกเล่าว่า เมื่อวันที่ 30 เม.ย. 2565 ขณะทำงานไรเดอร์ส่งอาหาร มีนักกิจกรรมในอุบลฯ แจ้งว่า มีสำนักข่าวแห่งหนึ่งอยากได้ภาพบรรยากาศการรับเสด็จ เลยตัดสินใจรับงานไปถ่ายภาพโดยได้ชวน “เค้ก” สุรีพร (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมอีกรายไปด้วย เมื่อวนถ่ายภาพอยู่ใกล้ๆ วัดป่าใหญ่ประมาณ 2 รอบ จนมาจอดรถตรงร้านอาหารบริเวณสี่แยกศาลเยาวชนฯ ตั้งใจว่าจะรอถ่ายภาพการรับเสด็จอีกครั้งก่อนที่จะกลับ 

จากนั้นณัฐเดินไปถามเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบที่เฝ้ารอรับเสด็จคนหนึ่งว่าเขาสามารถนั่งบริเวณนั้นได้หรือไม่ แต่ไม่เข้าไปใกล้บริเวณรับเสด็จ เจ้าหน้าที่คนนั้นบอกว่าจะไปถามคนอื่นที่รับผิดชอบในเรื่องนี้ให้ ณัฐจึงรออยู่สักพักมีเจ้าหน้าที่ประมาณ 2 นาย มาขอดูใบขับขี่ เอกสารรถ และกระเป๋าไรเดอร์ พร้อมทั้งถ่ายภาพรถและทะเบียนรถ สักพักหนึ่งจึงบอกณัฐว่า มีผู้เสียหายแจ้งมาว่าถูกถ่ายภาพ และอยากให้ไปคุยกับพนักงานสอบสวนที่ สภ.วารินชำราบ โดยที่ณัฐพยายามหาภาพที่ถ่ายติดคนอื่นและพร้อมจะลบหากมีผู้เสียหายไม่สะดวกใจจริงๆ

ภาพณัฐคุยกับเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ก่อนถูกคุมตัวไป สภ.วารินชำราบ

ขณะนั้น 16.40 น. ณัฐรอผู้เสียหายได้ประมาณ 10 กว่านาที เมื่อยังไม่พบผู้เสียหาย แต่ก็เห็นว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบเดินมาหาเรื่อยๆ ทั้งประกบรอบตัวและประกบในระยะประชิด จากนั้นผู้เสียหายรายหนึ่งจึงเข้ามาและมาคุยว่าเห็นณัฐถ่ายภาพอยู่และกังวลว่าจะเอารูปไปทำอะไรหรือไม่ ก่อนเจ้าหน้าที่จะพูดอีกว่าคนที่จะมาถ่ายภาพควรจะมีปลอกแขนให้ชัดเจน 

แต่ณัฐกล่าวตอบว่า เขาก็ถ่ายภาพมาซักพักหนึ่งแล้วไม่เห็นมีใครห้าม เจ้าหน้าที่จึงบอกกับณัฐว่า เขาไม่ได้ทำผิด แต่สถานการณ์แบบนี้มันต้องเข้มงวด เจ้าหน้าที่พยายามบอกว่า ถ้าจอดรถลงมาถ่ายภาพดีๆ ก็ไม่เป็นไร แต่ณัฐมีลักษณะท่าทางรีบถ่ายรีบกลับ จึงน่าสงสัยว่าจะไปทำอะไรไม่ดีหรือไม่ จากนั้นตำรวจจึงคุมตัวทั้งณัฐและเค้กไปที่ สภ.วารินฯ ที่ห่างออกไปราว 5 กิโลเมตร โดยผู้เสียหายไม่ได้ไปด้วย แลทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตรับผิดชอบของ สภ.เมืองอุบลฯ

เมื่อไปถึง สภ.วารินฯ เจ้าหน้าที่กล่าวถึงสาเหตุที่ควบคุมตัวณัฐมาว่า เหมือนเขาเป็นคนปลุกระดมให้มวลชนมาทำม็อบ ทั้งยังกำชับอีกณัฐและเค้กว่า อย่าโพสต์อะไรที่ทำให้คนเข้าใจผิด เช่นทำให้มองว่าการมีขบวนเสด็จเป็นเรื่องที่ไม่ดี ส่วนณัฐและเค้กยืนกรานจะไม่ให้การใดๆ จนกว่าทนายความจะมาถึง 

ระหว่างนักกิจกรรมทั้งสองรอทนายความ ตำรวจพยายามให้พวกเขาลงชื่อในบันทึกประจำวัน และเอกสารบางอย่างที่ทั้งณัฐและเค้กอ่านลายมือไม่ออก พวกเขาจึงปฏิเสธที่จะเซ็นชื่อ จนเวลาประมาณทุ่มกว่าๆ ตำรวจจึงบอกว่าถ้าไม่เซ็นอะไรก็กลับบ้านไปได้ ก่อนปล่อยทั้งสองคนกลับหลังควบคุมตัวไว้ราว 3 ชั่วโมง

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2565 มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ 4 นายจาก สภ.วารินชำราบ ไปถามหาณัฐที่บ้านใน อ.วารินฯ ทำทีเป็นถามเรื่องการเป็นไรเดอร์ โดยตอนนั้นเขาไม่อยู่ ตำรวจจึงบอกคนที่บ้านว่า ไม่ให้ณัฐไปทำม็อบได้ไหม และพยายามถามอยู่หลายรอบว่าณัฐอยู่ที่ไหน 

สำหรับณัฐก่อนหน้านี้เคยอยู่กลุ่ม Wevo ก่อนมาร่วมกิจกรรมกับคณะอุบลปลดแอก โดยมีบทบาทอยู่เบื้องหลัง คอยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ร่วมชุมนุม โดยไม่เคยเจอเหตุการณ์ลักษณะนี้มาก่อน และณัฐคิดว่าไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้น ถ้าจะไม่ให้ถ่ายภาพก็ควรจะไม่ให้ถ่ายเลย

ด้านเค้กเล่าว่า ก่อนการเสด็จครั้งนี้ แม่ได้โทรมาบอกเธอว่า มีตำรวจไปถ่ายรูปบ้านที่ในอำเภอสว่างวีระวงศ์ โดยมาวันเว้นวันตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2565 จนกระทั่งในวันที่ 30 เม.ย. 2565 ขณะเธอกำลังจะออกจากหอพักไปทานข้าว สังเกตเห็นว่ามีรถกระบะมาจอดอยู่หน้าหอพัก จึงเดินไปดูและทราบว่าเป็นรถของสืบจังหวัดอุบลฯ จึงได้แจ้งให้เพื่อนนักกิจกรรมทราบว่า เธอถูกติดตามอยู่ ก่อนไปเจอกับณัฐ 

ขณะนั้นเองเจ้าของหอพักได้โทรมาบอกให้เค้กกลับไปที่หอพัก อ้างว่าท่อแตก ซึ่งเค้กรู้สึกว่าไม่มีเหตุผล จึงถามกลับไปว่า ตำรวจให้โทรมาใช่หรือไม่ และเมื่อเธอกับณัฐไปถึงร้านอาหารก็ยังเจอตำรวจนอกเครื่องแบบอีก ออกจากร้านอาหาร เค้กจึงชวนณัฐกลับไปที่หอพักเพื่อไปดูให้แน่ใจว่าตำรวจมาหาจริงหรือไม่ ก่อนที่เจ้าของหอจะบอกว่าซ่อมท่อเสร็จแล้ว แต่เค้กสังเกตเห็นว่ายังมีตำรวจอยู่ จึงขอติดรถณัฐออกจากหอพัก เนื่องจากไม่อยากเจอตำรวจ ก่อนจะได้ไปถ่ายภาพบรรยากาศการรับเสด็จพร้อมกับณัฐและถูกควบคุมตัวไปด้วย

.

เป็นเพียงคนธรรมดา แต่สงสัยถึงระดับการเฝ้าระวังสุดเข้มข้น

“แชมป์” ฉัตรชัย แก้วคำปอด ทนายความและนักกิจกรรม ซึ่งก่อนหน้านี้มีข่าวว่า เขาเป็น 1 ใน 2 บุคคลเฝ้าระวังพิเศษ (ระดับแดง) ของเจ้าหน้าที่ในช่วงที่มีขบวนเสด็จครั้งนี้ ให้ข้อมูลว่า ก่อนที่จะมีขบวนเสด็จมีตำรวจเข้ามาขอถ่ายรูปที่บ้านอยู่ 1 สัปดาห์ พอใกล้วันเสด็จมีตำรวจสืบสวน สภ.เดชอุดม และทหารจากกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) มาพูดคุยด้วย ทางทหารบอกว่า ขออนุญาตติดตามเฝ้าดูในช่วงนี้ แต่ทางตำรวจเดชอุดมบอกเขาว่า ไม่รู้จัก กอ.รมน.เลย  อย่างไรก็ตามทั้งทหารและตำรวจก็เข้ามาถ่ายภาพอยู่ทุกวัน โดยเฉพาะช่วง 48 ชั่วโมงก่อนการเสด็จ  

เมื่อถึงวันเสด็จ 30 เม.ย. 2565 ตำรวจโทรหาแชมป์ตั้งแต่ 07.00 น. บอกว่าจะไปซื้อเนื้อวัวเพื่อไปทำกับข้าวให้กินที่บ้าน แชมป์เลยพาตำรวจไปที่บ้านอีกหลังที่อยู่ถัดไป 2 กิโลเมตร โดยมีตำรวจ 3 นาย เฝ้าเขาอยู่ตลอดทั้งวัน ระหว่างวันเขาเห็นตำรวจรับสายอยู่ทุก 5 นาที เพื่อรายงานพิกัดของแชมป์ ขณะเดียวกันแชมป์สังเกตเห็นมีรถเข้าออกบริเวณบ้านเขาอยู่ตลอด เหมือนมีอีกหน่วยมาสอดส่องเขาเช่นกัน 

ภาพ ทนายแชมป์ และตำรวจที่ไปเฝ้าติดตามถึงบ้าน ไม่อยากให้ไปไหน ในวันที่ ร.10 เสด็จ

ตกเย็นเมื่อมีข่าวว่า มีนักกิจกรรมถูกจับกุมในตัวเมืองอุบลฯ แชมป์พยายามขอตำรวจออกจากบ้านเพื่อไปพบกับคนที่ถูกจับกุม เนื่องจากตนเป็นทนายความ แต่สุดท้ายเขาตัดสินใจไม่ไป เพราะหากไปคงจะถูกเจ้าหน้าที่กักตัวอีกเช่นเคย แชมป์สะท้อนว่าการถูกเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังครั้งนี้เข้มข้นกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา อาจเป็นเพราะเป็นขบวนเสด็จของกษัตริย์ สำหรับแชมป์ถ้าไปจุดไหนก็คงถูกตั้งด่านสกัดอยู่ดี 

“ครอบครัวก็ตั้งข้อสังเกตว่าทำไมมาเฝ้าผม เพราะผมไม่มีตำแหน่งทางการเมือง ไม่มีอิทธิพลทางการเมืองหรือมีอำนาจอะไรเลย เป็นเพียงคนธรรมดา ก็สงสัยว่าเขาประเมินด้วยอะไร ทำไมถึงให้ผมไปอยู่ในลิสต์บุคคลเฝ้าระวังขนาดนั้น” 

นอกจากนี้ในพื้นที่อุบลฯ ยังมีรายงานว่ามีผู้ถูกติดตามในช่วงมีขบวนเสด็จอีกจำนวนหนึ่ง เช่น  “ออฟ” วิศรุต สวัสดิ์วร, ก้านของ (นามสมมติ), และ ฟลุค กิตติพล ผู้ต้องหาคดี 112 รายล่าสุดของ จ.อุบลฯ ตลอดไปจนถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีด้วย  

.

ตามไปไกลถึงที่ทำงาน ห้ามโพสต์วิจารณ์การเมือง-ห้ามยุ่งพรรคก้าวไกล

ยรรยง (สงวนนามสกุล) หรือ แท็ค อายุ 31 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งที่ อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร หนึ่งในสมาชิกกลุ่มขุนหาญไม่เอาเผด็จการ กลุ่มกิจกรรมในจังหวัดศรีสะเกษ เป็นอีกรายที่ถูกติดตามแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับจังหวัดอุบลฯ แท็คให้ข้อมูลว่า คนที่บ้านเล่าให้เขาฟังว่า วันที่ 28 เม.ย. 2565 มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบจาก สภ.ขุนหาญ ไปที่บ้าน ซึ่งมีครอบครัวเขาอยู่กันหลายคน แต่ช่วงสายๆ ก็ออกไปทำงานนอกบ้าน ตำรวจไปพบกับป้า และบอกว่าไม่อยากให้แท็คไปโพสต์เรื่องการเมืองในเฟซบุ๊ก ก่อนจะถ่ายภาพป้ากับตัวบ้านเอาไว้ โดยที่แท็คก็ไม่ทราบมาก่อนว่า ตำรวจสืบทราบได้อย่างไรว่าบ้านเขาอยู่ที่ไหน  

วันถัดมาแท็คทราบจาก รปภ.ของบริษัทว่า มีตำรวจนอกเครื่องแบบ อ้างว่าเป็นสายสืบกระทุ่มแบน ขับรถมา 3 คัน ถามหาแท็ค แต่เขาไม่อยู่ ตำรวจบอก รปภ.ว่า มาตรวจสอบว่าแท็คทำงานอยู่ที่นี่จริงหรือไม่ ได้ออกไปก่อความไม่สงบที่ไหนหรือไม่ ก่อนจะเอาเฟซบุ๊กของแท็คที่โพสต์วิจารณ์การเมืองให้ รปภ.ดู พร้อมกับบอกด้วยว่า อย่าให้แท็คโพสต์เรื่องการเมืองบ่อยๆ 

วันที่ 30 เม.ย. 2565 ตำรวจพยายามไปพบกับแท็คที่บริษัทอีกครั้ง แต่ก็ไม่เจอเจ้าตัว เนื่องจากเขาออกไปทำงานข้างนอก ขณะที่ตำรวจขุนหาญก็ไปที่บ้าน พร้อมบอกคนที่บ้านว่า ห้ามให้แท็คแสดงสัญลักษณ์ 3 นิ้ว และห้ามไปยุ่งกับพรรคก้าวไกลเพราะเป็นพรรคหมิ่นสถาบันกษัตริย์ แท็คระบุว่า ตำรวจไม่ได้โทรติดต่อหาเขาโดยตรงเลย ปกติแท็กเป็นผู้ประสานงานของกลุ่มขุนหาญไม่เอาเผด็จการ เขาคาดว่าที่ตำรวจมาติดตามเพราะเห็นเฟซบุ๊กของกลุ่มโพสต์ถึงการรับเสด็จ ร.10 ที่อุบลราชธานี 

ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2563 แท็คเคยเข้าร่วมชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงเทพฯ อยู่หลายครั้ง ด้วยเพราะเคลื่อนไหวทางการเมือง แท็คจึงบอกกับที่บ้านไว้ว่าอาจจะเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นกับเขา แต่กรณีนี้แท็ครู้สึกว่าตำรวจทำเกินกว่าเหตุ สำหรับเขายังไม่มีผลกระทบอะไร แค่เกรงว่าที่ทำงานอาจจะไม่เข้าใจว่าเขาถูกติดตามด้วยสาเหตุใด 

อีกรายใน อ.ขุนหาญ “โอม” ชลสิทธิ์ จำเลยคดี 112 เล่าว่า มีตำรวจไปหาที่บ้านเขาถึง 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 28 – 30 เม.ย. 2565 วันแรกตำรวจนอกเครื่องแบบ 2 นาย มาบอกเพียงว่าโอมมีรายชื่อเป็นหนึ่งในผู้ถูกติดตามในช่วงนี้ พร้อมทั้งถ่ายภาพโอมและบ้าน ก่อนที่จะออกจากบ้านไป วันต่อมาตำรวจมาอีกครั้ง ช่วงประมาณ 16.00 น.อ้างว่าเอาของมาฝาก ก่อนถ่ายภาพโอมแล้วกลับไปในทันที  

จนวันที่ 30 เม.ย. 2565 ตำรวจนอกเครื่องแบบ 3 นาย มาที่บ้านอีก คาดว่าเป็นคนละกลุ่มกับที่มาสองวันแรก แต่วันนั้นโอมไม่อยู่บ้านเนื่องจากไปซื้อต้นยางที่อีกอำเภอ ตำรวจจึงไปถามเอาจากคนข้างบ้านว่าโอมไปไหน ได้ไปที่อุบลฯ หรือไม่ เพื่อนบ้านรู้เพียงว่าโอมไปทำงานข้างนอก แต่ไม่รู้ว่าไปอุบลฯ หรือเปล่า ก่อนที่ตำรวจจะกลับไป จากนั้น 17.00 น. ตำรวจชุดเดิมมาอีกรอบ แต่ก็ไม่พบกับโอม 

สำหรับโอมไม่ทราบมาก่อนว่าจะมีการเสด็จของ ร.10 มาที่อุบลฯ มารู้เอาวันที่ 29 เม.ย. เพราะถามคนรู้จักใน อ.ขุนหาญ ว่า เกิดอะไรขึ้นในช่วงนี้ โดยที่เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเองก็ไม่ได้บอกอะไรโอมเลย โอมคิดว่าเจ้าหน้าที่กลัวเขาไปที่อุบลฯ แต่ตัวเขาเองก็ไม่ได้คิดจะออกไปเคลื่อนไหวอะไรอยู่แล้ว แม้จะไม่มีการพูดคุยหรือสั่งห้ามเดินทางไปไหน โอมสงสัยแค่ว่า มีขบวนเสด็จอยู่อุบลฯ แต่ทำไมถึงต้องมาติดตามตัวเขาซึ่งอยู่คนละจังหวัดด้วย 

นอกจากนี้ยังมี มายด์ (นามสมมติ) และหนึ่ง (นามสมมติ) นักกิจกรรมอีก 2 รายใน อ.ขุนหาญ ที่ถูกติดตามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในระหว่างมีขบวนเสด็จที่ จ.อุบลฯ รวมถึงมีข้อมูลการถูกติดตามของนักกิจกรรมใน จ.นครพนม ด้วย  

หลังขบวนเสด็จที่อุบลฯ เพียง 3 วัน เฟซบุ๊กเพจนักกิจกรรมอุดรพอกันทีก็มีรายงานถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งมาว่าจะมีขบวนเสด็จที่อุดรธานี และพูดแจ้งตักเตือนห้ามใครออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองในช่วงนี้ ส่วนเพจกลุ่มดึงดินก็รายงานถึงมีนักกิจกรรมถูกคุกคามอย่างหนัก โดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจะติดตามสถานการณ์การคุกคามประชาชนและนักกิจกรรมต่อไป 

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตร.อุบลฯ ป่วนนักกิจกรรม-นักวิชาการ! เป็นเงาตามตัว แม้ขณะร่วมยินดีคนใกล้ตัวรับปริญญา เกรงแสดงออกต่อหน้าขบวนเสด็จ

เฝ้าถึงบ้าน-ขู่ถอนประกัน-กดดันครอบครัว นักกิจกรรมและประชาชนอุบลฯ ถูก จนท.คุกคามหนักก่อนประยุทธ์ลงพื้นที่

X