แจ้ง ‘112’ กราฟิกดีไซเนอร์ เหตุชูรูป “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ตร.อุบลฯ อ้าง สื่อว่า ร.10 ปกครองไม่ดี

วันที่ 7 เม.ย. 2565 ฟลุค กิตติพล (สงวนนามสกุล) กราฟิกดีไซเนอร์และนักกิจกรรมวัย 19 ปี เดินทางไป สภ.เมืองอุบลราชธานี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา 

มาตรา 112 จากการชูกรอบรูปมีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ขณะเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 หลังถูกตำรวจออกหมายเรียก

เวลา 10.00 น. ในห้องสอบสวน สภ.เมืองอุบลฯ ที่มีฟลุค, ทนายความ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีที่มาร่วมสังเกตการณ์ พ.ต.ท.อภินันท์ ปลื้มมะลัง รอง ผกก.(สอบสวน) และคณะพนักงานสอบสวนแจ้งพฤติการณ์คดีให้ฟลุคทราบว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ฟลุคร่วมจัดชุมนุม  ” UbonCarmob/4″ และชูกรอบรูปมีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10″ แล้วถ่ายภาพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ที่บริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วง

.

ภาพ ฟลุค ที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี

.

พนักงานสอบสวนระบุในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหาว่า การชุมนุมดังกล่าวอาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด -19 ได้ อันถือเป็น การฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  ต่อมาเจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี ยื่นคําร้องขอหมายค้นบ้านของฟลุค เพื่อพบและตรวจยึดกรอบรูปที่มีข้อความดังกล่าวมาประกอบคดี ศาลจังหวัดอุบลราชธานี พิจารณายกคําร้อง ให้เหตุผลว่า เพียงภาพถ่ายในลักษณะดังกล่าวก็สามารถดําเนินคดีได้แล้ว 

เมื่อพิจารณาข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” มีความหมายว่า อดอยาก ไม่มีจะกิน ขนาดขาดแคลน หรืออดสู และถ่ายภาพหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ อันเป็นการสื่อความหมายในทางดูหมิ่น เหยียดหยาม เปรียบเปรย ซึ่งเป็นการกระทําที่ไม่บังควร ทั้งการกระทําดังกล่าวมีความมุ่งหมายสื่อถึงว่า การปกครองของกษัตริย์รัชกาลที่ 10 ไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ ทําให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

โดยมีผู้กล่าวหา นักกฎหมาย นักภาษาไทย กับประชาชนโดยทั่วไป เมื่อเห็นข้อความแล้วเข้าใจว่า มีความรู้สึกว่า และมีความเห็นว่า การกระทําดังกล่าวเป็นการหมิ่นพระมหากษัตริย์ อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และผู้ต้องหากระทําผิดราชประเพณีและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทย ทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ และไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม

พนักงานสอบสวนระบุว่า การกระทำของฟลุคเป็นความผิดฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”

หลังรับทราบข้อกล่าวหาแล้ว ฟลุคให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การในชั้นศาลเท่านั้น อย่างไรก็ตามพนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเพิ่มเติมว่า กรอบรูปที่ชูในวันชุมนุมดังกล่าวเขาได้ทำขึ้นเองหรือไม่ และการกระทำของฟลุคมีใครอยู่เบื้องหลัง ก่อนที่ฟลุคจะตอบไปว่า เขาเป็นคนทำกรอบรูปขึ้นมาเอง โดยไม่มีใครอยู่เบื้องหลัง

.

.

หลังลงลายมือชื่อรับทราบข้อกล่าวหาและพิมพ์ลายนิ้วมือ พนักงานสอบสวนไม่ได้ควบคุมตัวฟลุคเพื่อขอฝากขังต่อศาล โดยนัดให้มารายงานตัวอีกครั้งที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี วันที่ 3 พ.ค. 2565 

ก่อนหน้านี้ฟลุคเคยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ถึง 2 คดี จากกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 และ 15 ส.ค. 2564 โดยทั้ง 2 คดี ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของพนักงานอัยการคดีศาลแขวงอุบลฯ ว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ 

นอกจากคดีของฟลุคในพื้นที่ จ.อุบลฯ ยังมีคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 2 คดี ได้แก่ คดีของ ‘แต้ม’ ผู้ป้วยจิตเวชที่ถูกดำเนินคดีจากการทำลายรูป ร.10 ใน อ.ตระการพืชผล และคดีจากการปราศรัย “เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง” ในการชุมนุม 22 ส.ค. 2563 ที่ศาลหลักเมืองอุบลฯ ครั้งนั้นมีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหานี้ 2 ราย ได้แก่ “โตโต้” ปิยรัฐ จงเทพ และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์

สำหรับฟลุคปัจจุบันอายุ 19 ปี เรียนจบ ปวช.สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก เคยเป็นพนักงานออกแบบที่ร้านทำป้าย และรับงานฟรีแลนซ์ด้านการออกแบบ หลังรับทราบข้อกล่าวหา ฟลุคย้อนเล่าว่า เขาคิดเอาไว้อยู่แล้วว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่งจะถูกเล่นงานด้วยมาตรา 112 เพราะปกติเขาโพสต์เฟซบุ๊กวิจารณ์ปัญหาการเมืองที่ปรากฏเหตุการณ์เฉพาะหน้า และปัญหาเชิงโครงสร้างไปด้วยกันอยู่แล้ว และหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึงสถาบันกษัตริย์ เพราะเป็นองค์กรที่ใช้ทรัพยากรภาษีประชาชนในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ 

“คำว่าไม่มีจะแดกนั้นสะท้อนความจริงอยู่พอสมควร อย่างน้อยๆ ก็สะท้อนความเป็นอยู่ของผมในช่วงเวลานั้น เพียงแต่ว่าประเทศนี้ไม่อนุญาตให้เราพูดความจริงมากสักเท่าไหร่ จึงถูกตีความว่าบุคคลที่เราวิจารณ์นั้น ไร้ประสิทธิภาพทำให้ประชาชนอดอยาก เพียงเพราะเราต้องการพูดประชดประชัน”   

ฟลุคเล่าถึงความตั้งใจว่า จะสู้คดีให้ถึงที่สุด “มันเหมือนเป็นการทดสอบสังคมด้วยว่ามันจะอยุติธรรมที่สุดไปจนถึงเมื่อไหร่ และสังคมจะมองอย่างไรที่กระดาษแผ่นเดียวถูกมองว่าเป็นการล้มล้างสถาบันฯ”

.

X