ลุ้นคำพิพากษา! คดี 112 ชูป้าย “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” “ฟลุค” ยืนยัน เจตนาสื่อว่าตนไม่มีจะกินในช่วงเวลานั้น  ไม่ได้สื่อถึงกษัตริย์ เหตุกษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการปกครองบ้านเมือง

วันที่ 7 ก.พ. 2567 “ฟลุค” กิตติพล (สงวนนามสกุล) กราฟิกดีไซเนอร์และนักกิจกรรมวัย 21 ปี จะต้องเดินทางไปศาลจังหวัดอุบลราชธานี ในนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ถูกฟ้องในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชูกรอบรูปมีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ขณะเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ วันที่ 15 ส.ค. 2564 บริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วง ซึ่งการชุมนุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลและรัฐมนตรีสาธารณสุขในขณะนั้น รวมถึงเรียกร้องเรื่องการจัดสรรวัคซีนโควิด-19 

คดีนี้ ฟลุคเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองอุบลราชธานี เมื่อเดือนเมษายน 2565 ก่อนอัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลในเดือนมีนาคม 2566 โดยฟลุคซึ่งให้การปฏิเสธตั้งแต่ชั้นสอบสวนตลอดจนถึงชั้นพิจารณา ต้องใช้หลักทรัพย์จากกองทุนราษฎรประสงค์ถึง 100,000 บาท ในการขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี

ศาลนัดสืบพยานระหว่างช่วงเดือนพฤศจิกายน 2566 เป็นเวลา 3 วัน โดยฟลุคต่อสู้ว่า ข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” เป็นการพูดถึงห้วงเวลา ไม่ได้เจาะจงถึงบุคคลหรือหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ และคำว่าไม่มีจะแดกนั้นหมายถึงตัวเขาเองที่ไม่มีจะกิน เนื่องจากช่วงนั้นเป็นสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ฟลุคต้องถูกให้ออกจากงานที่ร้านหมูกระทะ เพราะมีลูกค้าติดเชื้อโควิด ทำให้ร้านต้องปิดลง 

นอกจากนี้ยังอ้างอิงบทความ ขอบเขตของคำว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในประมวลกฎหมายอาญา โดย รศ.ชัชพล ไชยพร จากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งในตอนหนึ่งให้ความหมายของคำว่า แผ่นดิน รัชสมัย และรัชกาล ไว้ว่า หมายถึงชั่วระยะสมัยแห่งการปกครองหรือการทรงราชย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ไม่ใช่หมายถึงพระมหากษัตริย์ 

นอกจากคดีนี้ ฟลุคยังมีคดีที่ถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาไปแล้วอีก 2 คดี เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุจากการเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบในวันที่ 1 ส.ค. 2564 รวมถึงคาร์ม็อบ 15 ส.ค. 2564 ที่เป็นเหตุการณ์เกี่ยวเนื่องกับคดีนี้   

.  

อัยการระบุข้อความที่จำเลยถือสื่อว่า ร.10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ทำให้ประชาชนอดอยาก

สำหรับคำฟ้อง รุ่งโรจน์ สาเรศ พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ ระบุว่า ฟลุคใส่ความต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วยการทำให้ปรากฏข้อความเป็นตัวอักษรสีดำลงบนกระดาษหรือวัสดุอื่นใดสีขาวจำนวน 1 แผ่น เป็นข้อความว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” (ไม่มีจะกินในรัชกาลที่ 10) จากนั้นจำเลยได้เอาแผ่นข้อความบรรจุลงกรอบรูปสีทอง แล้วนำกรอบรูปที่มีข้อความดังกล่าวไปยืนถ่ายภาพบริเวณด้านหน้าของพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 

อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงกิริยาเหยียดหยามพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ และสื่อความหมายให้แก่ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน ขนาดขาดแคลน และอดสู อันเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะความจริงแล้วรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นผู้บริหารประเทศ เนื่องจากทรงอยู่เหนือการเมือง อันเป็นการกระทำหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 

ประกอบกับองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เนื่องจากเป็นประมุขของประเทศและไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการบริหารประเทศ และยังเป็นการกระทำผิดราชประเพณีและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทย ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการหมิ่นพระเกียรติและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะ 1 หมวด 1 

สำหรับการสืบพยานมีขึ้นในวันที่ 17, 20 และ 27 พ.ย. 2566 ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 12 โดยมี พงศ์ ทีปต์ธนากร ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดอุบลราชธานี และสุปภาดา ชำนาญกิจ ผู้พิพากษา เป็นผู้ออกนั่งพิจารณาคดี 

ฝ่ายโจทก์ รุ่งโรจน์ สาเรศ พนักงานอัยการ เจ้าของสำนวนคดี นำพยานบุคคลเข้าสืบรวม 8 ปาก เป็นผู้กล่าวหา ตำรวจสืบสวน คณะพนักงานสอบสวน และอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ ส่วนฝ่ายจำเลยนำพยานเข้าสืบ 3 ปาก ได้แก่ ฟลุค, แกนนำคาร์ม็อบในวันเกิดเหตุ และ ชำนาญ จันทร์เรือง ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน

.

ตร. ผู้กล่าวหา แจง ก่อนแจ้งความ ไม่ได้ค้นคว้าตามหลักภาษาศาสตร์

พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ไชยสัตย์ สารวัตรสืบสวน สภ.เมืองอุบลฯ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. 2564 ได้รับคำสั่งให้เตรียมการรักษาความสงบเรียบร้อยและอำนวยความสะดวกด้านจราจร สำหรับการชุมนุมแสดงออกทางการเมืองในวันที่ 15 ส.ค. 2564 

วันเกิดเหตุมีกลุ่มผู้ชุมนุมรวมตัวกันบริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วง ประมาณ 200-300 คน ขณะสังเกตการณ์ชุมนุม พยานเห็นจำเลยถือป้ายข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ยืนอยู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ตำรวจจึงได้ถ่ายภาพ และจัดทำรายงานการสืบสวนในเวลาต่อมา

เมื่อพยานเห็นข้อความบนป้ายที่จำเลยถือรู้สึกว่าเป็นข้อความที่มีลักษณะดูหมิ่นและหมิ่นประมาทพระเจ้าอยู่หัว 

กลุ่มผู้ชุมนุมเคลื่อนตัวออกจากสวนสาธารณะห้วยม่วงไปที่ ตชด.22 และที่อื่น ๆ พยานเข้าใจว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีวัตถุประสงค์โจมตีการบริหารงานของรัฐบาลเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 

หลังเกิดเหตุพยานได้ไปร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีจำเลย โดยอาศัยอำนาจตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 558/2563 ซึ่งการชุมนุมในวันเกิดเหตุมีเพียงจำเลยคนเดียวที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112

ต่อมา พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ภาพถ่ายจำเลยถือป้ายข้อความตามฟ้องในรายงานการสืบสวน ได้มาจากเพจเฟซบุ๊ก คณะอุบลปลดแอก ตนไม่ได้เป็นผู้จัดทำภาพถ่ายดังกล่าว 

พยานปรึกษาผู้บังคับบัญชาก่อนดำเนินคดีจำเลย แต่ไม่ได้ค้นคว้าความหมายของคำตามหลักภาษาศาสตร์

ตามรายงานการสืบสวนปรากฏข้อความว่า “เวลา 17.25 น. พบผู้ร่วมกิจกรรมถือกรอบรูปมีข้อความไม่เหมาะสม ตำรวจจึงเข้าไปเจรจาพูดคุยและขอยึดกรอบรูปดังกล่าว แต่ผู้ร่วมกิจกรรมคนดังกล่าวไม่ให้ความร่วมมือและเดินหนีไป” พยานไม่ทราบว่าเจ้าพนักงานตำรวจคนใดเป็นผู้เข้าไปเจรจากับผู้ร่วมกิจกรรม และไม่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว

สุดท้ายคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า ข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” หมายความว่าพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ จนทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน ขนาดขาดแคลนและอดสู จึงมีความเห็นว่าเข้าข่ายกระทำความผิดตามมาตรา 112 

.

ตร.ฝ่ายสืบรับ วันเกิดเหตุไม่มี ตร.เข้าห้ามหรือขอยึดป้าย – จำเลยถือป้ายเคลื่อนไปตามขบวน ไม่ได้ยืนเฉพาะหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เท่านั้น  

ด.ต.เอกลักษณ์ ชาติศักดิ์ เบิกความว่า วันเกิดเหตุพยานทำหน้าที่ถ่ายภาพเหตุการณ์การชุมนุม และได้ถ่ายรูปจำเลยขณะถือป้ายข้อความตามฟ้องในบริเวณต่าง ๆ (ไม่ใช่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์) สาเหตุที่พยานถ่ายภาพจำเลย เนื่องจากข้อความในป้ายมีลักษณะไม่เหมาะสม พาดพิงถึงองค์พระมหากษัตริย์ ซึ่งเมื่ออ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นข้อความที่จาบจ้วงไม่ให้ความเคารพ ในวันดังกล่าวมีเพียงจำเลยคนเดียวที่ถือป้ายข้อความไม่เหมาะสม ส่วนผู้ชุมนุมคนอื่นทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เพื่อโจมตีการบริหารงานของรัฐบาล

ก่อนตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ชั้นสอบสวนพยานให้การกับพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับข้อเท็จจริงในวันเกิดเหตุเท่านั้น ไม่ได้ให้การถึงการตีความข้อความบนป้ายที่จำเลยถือ 

ภาพหลักฐานที่เป็นภาพถ่ายจำเลยยืนถือป้ายอยู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์นั้น บริเวณดังกล่าวเป็นสถานที่สาธารณะที่บุคคลทั่วไปเดินผ่านไปผ่านมา ไม่ได้มีจำเลยยืนอยู่บริเวณดังกล่าวเพียงคนเดียว และในขณะเกิดเหตุไม่มีตำรวจเข้าไปห้ามปรามหรือขอยึดป้ายที่จำเลยถือแต่อย่างใด อีกทั้งไม่มีผู้เข้าร่วมชุมนุมคนใดแสดงความรู้สึกหรือความเห็นที่ไม่ดีต่อข้อความที่จำเลยถือ นอกจากนี้ จำเลยยังถือป้ายดังกล่าวเคลื่อนไปตามขบวนผู้ชุมนุม ไม่ได้ยืนอยู่บริเวณหน้าพระบรมฉายาลักษณ์เท่านั้น

คำว่า “ไม่มีจะแดก” อาจหมายถึง เศรษฐกิจไม่ดี 

ส่วน ร.ต.อ.ฉลอง พรมลี ฝ่ายสืบสวน สภ.เมืองอุบลฯ เบิกความว่า วันเกิดเหตุได้รับมอบหมายให้ดูแลความสงบเรียบร้อยและบันทึกภาพเหตุการณ์การชุมนุม แต่พยานไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยถือป้ายแล้วถ่ายรูปหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เห็นเพียงจำเลยถือป้ายข้อความตามฟ้องอยู่ในที่ชุมนุม เมื่อพยานเห็นภาพจำเลยถือป้ายข้อความหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ในเพจ คณะอุบลปลดแอก จึงรวบรวมหลักฐานจัดทำเป็นรายงานการสืบสวนรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ

ร.ต.อ.ฉลอง ตอบทนายจำเลยถามค้านอีกว่า รูปภาพที่ปรากฏในรายงานการสืบสวนบางรูปนำมาจากเพจ คณะอุบลปลดแอก ส่วนข้อความที่ปรากฏในรายงานการสืบสวนว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปเจรจากับจำเลยและขอตรวจยึดกรอบรูปดังกล่าว แต่จำเลยไม่ให้ความร่วมมือ นั้น พยานไม่เห็นเหตุการณ์ 

พยานรู้สึกว่า ข้อความในป้ายที่จำเลยถือไม่เหมาะสม ไม่บังควร แต่พยานไม่มีหน้าที่ในการชี้ขาดหรือให้ความเห็นว่า การกระทำนั้นเป็นความผิดตามกฎหมายหรือไม่

.

อาจารย์นิติ-ภาษาไทย รับ “ในรัชกาลที่ 10” สื่อถึงช่วงเวลา แต่เห็นว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” เข้าข่ายดูหมิ่นกษัตริย์

ชาญชัย พีระภาณุรักษ์ พยานนักวิชาการเข้าเบิกความเป็นพยานโจทก์ว่า ก่อนเกษียณอายุราชการ รับราชการในตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี เกี่ยวกับคดีนี้ พ.ต.ท.ปราโมทย์ ชื่นตา ได้ไปพบตนที่มหาวิทยาลัยเพื่อขอความเห็นทางวิชาการ ในกรณีที่จำเลยถือป้ายข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” 

พยานให้ความเห็นว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นบทบัญญัติพิเศษ มีไว้เพื่อปกป้องคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นประมุขของประเทศ และเป็นบุคคลพิเศษ โดยอ้างอิงจากงานวิชาการของ ศ.หยุด แสงอุทัย พยานเห็นว่า คำว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” มีความหมายอยู่ในตัวว่า ไม่มีจะกิน ไม่มีจะใช้ ในยุคการปกครองของรัชกาลที่ 10 จึงเป็นถ้อยคำที่ไม่สมควรและเข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 112

จากนั้นชาญชัยตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า ข้อความ “อดอยาก ไม่มีจะกิน ขนาดขาดแคลน อดสู” ในบันทึกคำให้การของพยาน เป็นข้อความที่ตำรวจพิมพ์ขึ้น พยานไม่ได้ให้การลักษณะดังกล่าว และในการถามความเห็น พ.ต.ท.ปราโมทย์ ให้พยานดูเพียงภาพถ่าย ไม่มีภาพเคลื่อนไหว

ทนายจำเลยนำบทความทางวิชาการของ รศ.ชัชพล ไชยพร คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และราชกิจจานุเบกษา ให้พยานดูแล้วถามว่า คำว่า “ในรัชกาลที่ 10” เป็นถ้อยคำที่สื่อถึงช่วงเวลาหรือยุคสมัย ไม่ใช่ตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ส่วนคำว่า “ไม่มีจะแดก” มีความหมายคนละอย่างกับคำว่า “ขนาดขาดแคลน อดสู” 

ในความเห็นส่วนตัว เมื่อพิจารณาถ้อยคำว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” แล้ว พยานเห็นว่า เข้าองค์ประกอบความผิดมาตรา 112 ในลักษณะเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

ด้าน ปานรดา วรรณประภา อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี อีกพยานนักวิชาการ เบิกความว่า พนักงานสอบสวนมาพบตนที่มหาวิทยาลัย และถามความเห็นเกี่ยวกับข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ที่ปรากฏในภาพถ่าย โดยมีชาญชัยร่วมให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนด้วย

พยานให้ความเห็นว่า คำว่าแดก เป็นถ้อยคำไม่สุภาพ ใช้กับบุคคลธรรมดาในกรณีการพูดจากล่าวเสียดสี สื่อความหมายถึงการไม่มีจะกิน ไม่ควรใช้กับพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชน เมื่ออ่านข้อความทั้งหมด สื่อความหมายได้ว่า ไม่มีจะกิน อดอยาก ในช่วงยุคสมัยของรัชกาลที่ 10 ซึ่งเข้าลักษณะเป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพระมหากษัตริย์

ก่อนตอบคำถามค้านของทนายจำเลยว่า พยานให้ความเห็นต่อพนักงานสอบสวนโดยไม่ได้เปิดพจนานุกรม โดยพยานเห็นว่า คำว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” เป็นเพียงวลี ไม่ใช่ประโยค หมายความถึง ระยะเวลาหรือยุคสมัย ไม่ใช่ตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์ แต่เมื่อพิจารณาข้อความประกอบภาพจำเลย สื่อให้เห็นว่า หมายถึงพระมหากษัตริย์

. 

หัวหน้าพนักงานสอบสวนรับ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” อาจสื่อความหมายถึงช่วงระยะเวลา อาจตีความเป็นการโจมตีรัฐบาลก็ได้

พ.ต.ท.เฉลิมยศ พรหมสุวรรณ พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลฯ หนึ่งในคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 พ.ต.ท.อดิศักดิ์ มาแจ้งความร้องทุกข์ ให้ดำเนินคดีกับกิตติพล ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พยานรับแจ้งความและสอบปากคำ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ไว้ โดย พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ได้มอบรายงานการสืบสวน ภาพถ่าย และวีดีโอเหตุการณ์ ไว้เป็นหลักฐาน

จากนั้นพยานได้สอบปากคำ ด.ต.เอกลักษณ์, ส.ต.ท.เจษฎา และ ด.ต.ศุภชัย รวมถึงอุษาวดีและชาญชัยอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในฐานะนักวิชาการ ซึ่งทั้งสองให้ความเห็นว่าการกระทำของจำเลยเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 

นอกจากนี้ พยานยังสอบปากคำพยานความเห็นอีก 2 ราย ซึ่งให้การว่า เมื่ออ่านข้อความแล้วรู้สึกว่าเป็นการหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นกษัตริย์ 

จากนั้นคณะทำงานพนักงานสอบสวนประชุมแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า การกระทำของกิตติพล เป็นความผิดตามมาตรา 112 จึงเรียกมาพบและแจ้งข้อกล่าวหา กิตติพลให้การปฏิเสธ และเมื่อทำสำนวนเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ผู้บังคับบัญชามีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลย โดยคณะทำงานให้เหตุผลว่า ถ้อยคำที่ปรากฏบนป้ายเป็นถ้อยคำที่ไม่บังควร เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ขัดต่อขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทย ซึ่งกระทำต่อองค์พระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะเป็นประมุขของประเทศ 

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พ.ต.ท.เฉลิมยศ เบิกความว่า พยานทำสำนวนคดีนี้ร่วมกับพนักงานสอบสวนคนอื่น โดยคดีความผิดตามมาตรา 112 เป็นคดีสำคัญที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อดูแลคดีเป็นพิเศษ 

รายงานสืบสวนลงวันที่ 15 ส.ค. 2564 และภาพถ่ายที่ปรากฏในรายงานการสืบสวนฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุรายละเอียดว่าใครเป็นผู้ถ่าย โดย พ.ต.ท.อดิศักดิ์ เข้ามาแจ้งความร้องทุกข์ในช่วงเย็นของวันเกิดเหตุ แต่พยานไม่แน่ใจว่า พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ได้นำรายงานการสืบสวนฉบับนี้มาให้ในวันดังกล่าวด้วยหรือไม่ ซึ่งวันนั้นมีการลงรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีไว้ แต่ไม่ได้นำมาอ้างส่งต่อศาล

พนักงานสอบสวนขอหมายค้นบ้านจำเลยเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 แต่มีการบรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการขอหมายค้นดังกล่าวในบันทึกคำให้การของผู้กล่าวหาตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564

ตามรายงานการสืบสวนระบุชื่อจำเลยเป็นหนึ่งในแกนนำของการชุมนุม โดยที่จำเลยไม่ได้ขึ้นกล่าวปราศรัย แต่พยานก็ไม่ได้สอบถามเจ้าหน้าที่สืบสวนว่าเหตุใดจึงระบุชื่อจำเลยไว้

ตามภาพถ่ายที่เป็นพยานหลักฐานโจทก์ซึ่งจัดทำขึ้นโดยตำรวจฝ่ายสืบสวน ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ตำรวจยืนอยู่บริเวณที่จำเลยถือป้ายหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ 

พยานไม่ได้สอบคำให้การพยานเกี่ยวกับข้อเท็จจริงว่า จำเลยยืนถือป้ายอยู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์นานเท่าใด 

พยานมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลย โดยอาศัยความเห็นทางวิชาการของพยานปากอุษาวดีและชาญชัยเท่านั้น โดยไม่มีงานวิชาการอื่น ๆ มาประกอบ 

และตามบันทึกคำให้การของ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ ปรากฏข้อความว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” มีความหมายว่า อดอยาก ไม่มีจะกินขนาดขาดแคลน หรืออดสู ซึ่งเป็นการตีความถ้อยคำของคณะพนักงานสอบสวน ไม่ใช่นักวิชาการ

พยานเห็นว่า คำว่า “ในรัชกาลที่ 10” หมายถึงตัวบุคคล ไม่ใช่ชวงเวลา

รายงานการสืบสวน 2 ฉบับ ระบุเวลากระทำความผิดต่างกัน คือ เวลา 14.25 น. และ 17.25 น. 

พ.ต.ท.ปราโมทย์ ชื่นตา รอง ผกก.(สอบสวน) สภ.เมืองอุบลฯ คณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ เบิกความว่า ในวันชุมนุมพยานก็อยู่ในที่เกิดเหตุ แต่ไม่เห็นเหตุการณ์ที่จำเลยยืนถือป้ายตามฟ้อง

จากการสอบสวนได้ความว่า ถ้อยคำที่ปรากฏบนป้ายที่จำเลยถือเป็นข้อความที่มีลักษณะดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ 

จากการสอบปากคำอุษาวดีและชาญชัย ทั้งสองให้ความเห็นว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” เป็นข้อความที่มีลักษณะดูหมิ่นเหยียดหยามพระมหากษัตริย์ ซึ่งถือเป็นประมุขแห่งประเทศและเป็นบุคคลพิเศษที่จำต้องได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย เข้าองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 พยานทราบภายหลังว่าพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบมีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยในข้อหาตามมาตรา 112

พ.ต.ท.ปราโมทย์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ตามเอกสารรายงานผลดำเนินการกรณีชูป้าย เป็นความเห็นเบื้องต้นว่าการกระทำของจำเลยเข้าลักษณะองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 

ก่อนสรุปความเห็นทางคดี คณะพนักงานสอบสวนมีการปรึกษาหารือกัน แต่ไม่มีบันทึกการประชุมเป็นลายลักษณ์อักษร นอกจากความเห็นของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลฯ พยานไม่ทราบว่าคณะพนักงานสอบสวนมีการสืบค้นหลักวิชาการอื่นมาประกอบการสั่งคดีหรือไม่

พ.ต.อ.สุรัตน์ ส่งเสริม รอง ผบก.ตร.ภ.จว.อุบลฯ หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีนี้ เบิกความว่า พยานและคณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นว่า การกระทำของจำเลยเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากคำว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” สื่อความหมายว่า ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 10 ประชาชนอดอยาก ไม่มีอันจะกิน การปกครองในรัชกาลนี้ไม่ดี ทำให้ประชาชนเดือดร้อน เป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องจำเลย 

พ.ต.อ.สุรัตน์ ตอบทนายจำเลยถามค้านว่า พยานไม่ได้ตรวจดูคลิปเหตุการณ์การชุมนุม ไม่ได้เป็นผู้จัดทำพยานหลักฐาน รวมถึงไม่ได้ไปในวันเกิดเหตุ จึงไม่ทราบรายละเอียดเหตุการณ์ และไม่ทราบว่าใครถ่ายภาพจำเลยขณะยืนถือป้ายอยู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ไม่ทราบด้วยว่า จำเลยเป็นแกนนำคณะอุบลปลดแอกหรือไม่ 

พยานไม่ทราบเกี่ยวกับข้อความที่ปรากฏในบันทึกคำให้การของ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ เรื่องการขอหมายค้นบ้านจำเลย ซึ่งเกิดหลังวันที่ 15 ส.ค. 2564 ที่ พ.ต.ท.อดิศักดิ์ เข้าแจ้งความและให้การ 

คำว่า “รัชกาล” อาจมีความหมายถึงช่วงเวลาที่ปกครองของรัชกาลนั้น ๆ ก็ได้ คณะพนักงานสอบสวนมีความเห็นในคดีว่า “ในรัชกาลที่ 10” สื่อความหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วอาจสื่อความหมายถึงรัชสมัยหรือช่วงระยะเวลาก็ได้

เหตุการณ์ที่จำเลยถือป้ายในคดีนี้ตำรวจไม่ได้ดำเนินคดีกับผู้ดูแลเพจคณะอุบลปลดแอก 

การชุมนุมในวันเกิดเหตุมีวัตถุประสงค์เพื่อขับไล่รัฐบาล ข้อความที่ปรากฏบนป้ายตามฟ้องอาจตีความว่า เป็นการโจมตีรัฐบาลก็ได้ 

การตีความว่าประชาชนอดอยากไม่มีจะกิน ขาดแคลน อดสู เป็นการตีความของคณะพนักงานสอบสวนโดยจำเลยไม่ได้กล่าวถ้อยคำดังกล่าว และในที่ประชุมของคณะพนักงานสอบสวนไม่มีการเปิดพจนานุกรมหรืออ้างอิงผลงานทางวิชาการใด ๆ

.

แกนนำคาร์ม็อบชี้ ไม่ได้ห้ามปรามจำเลยถือป้าย เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำทั่วไปที่สื่อถึงช่วงเวลา ไม่ได้พาดพิงกษัตริย์

ฉัตรชัย แก้วคำปอด เบิกความในฐานะพยานจำเลยว่า พยานเป็นหนึ่งในแกนนำในการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 โดยเลือกสวนสาธารณะห้วยม่วงเป็นสถานที่จัดชุมนุม เนื่องจากมีบริเวณกว้าง สามารถรองรับผู้ชุมนุมได้จำนวนมาก แต่พยานไม่ได้ไปตรวจดูสถานที่ก่อน และไม่ทราบว่าบริเวณนั้นมีพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ติดตั้งอยู่ 

ในวันชุมนุมมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคอยดูแลความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมตลอดเวลา จำเลยเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้เป็นแกนนำ และไม่ได้ขึ้นปราศรัย 

พยานเห็นจำเลยถือป้ายกรอบรูปที่มีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” โดยไม่ได้เข้าห้ามปราม เนื่องจากรู้สึกว่าเป็นคำทั่วไปที่สื่อถึงช่วงเวลา ไม่ได้มีความหมายทำนองว่า การไม่มีจะกินเกิดขึ้นเพราะการกระทำของรัชกาลที่ 10 และไม่ได้เข้าข่ายดูหมิ่นกษัตริย์ 

พยานไม่ได้สอบถามว่า เหตุใดจำเลยจึงเลือกใช้ข้อความดังกล่าว ป้ายที่จำเลยถือมีขนาดเล็ก และจำเลยไม่ได้ชูป้ายดังกล่าวตลอดเวลา พยานจึงแทบจะไม่ได้ให้ความสนใจ 

ฉัตรชัยยืนยันว่า ข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ไม่ได้หมายความว่า รัชกาลที่ 10 เป็นคนทำหรือเป็นต้นเหตุ แต่สื่อถึงช่วงระยะเวลามากกว่า และทางฝ่ายชุมนุมไม่มีการเผยแพร่ภาพจำเลยยืนถือป้ายดังกล่าว

ก่อนตอบโจทก์ถามค้านว่า คาร์ม็อบในวันเกิดเหตุจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 4 โดยครั้งก่อนหน้านั้นไม่เคยมีเหตุการณ์พาดพิดถึงพระมหากษัตริย์ เพียงแต่มีวัตถุประสงค์โจมตีและขับไล่รัฐบาลเท่านั้น 

พยานเห็นว่าคำว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” เป็นเพียงข้อความที่ไม่สุภาพ พยานเห็นจำเลยถือป้ายดังกล่าวในระยะเวลาอันสั้น เนื่องจากจำเลยไม่ได้ชูป้ายตลอดเวลา

เพจคณะอุบลปลดแอกมีการโพสต์ข้อความว่า “ราษฎรลำบากทุกหัวระแหงในรัฐบาลประยุทธ์”  ซึ่งไม่ได้พาดพิงถึงพระมหากษัตริย์

.

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายยืนยัน “ไม่มีจะแดก” เป็นแค่คำไม่สุภาพ ไม่เป็นการดูหมิ่น ทั้งเป็นเรื่องปกติของการชุมนุมที่จะต้องใช้คำหวือหวา – “ในรัชกาลที่ 10” หมายถึงห้วงสมัย ไม่ได้หมายถึงกษัตริย์ 

ชำนาญ จันทร์เรือง พยานผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจำเลยเบิกความว่า ปัจจุบันเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำประเทศไทย (Country Expert) ที่มหาวิทยาลัยโกเท็นเบิร์ก ประเทศสวีเดน มีความเชี่ยวชาญด้านการเมือง กฎหมาย และสิทธิมนุษยชน 

เกี่ยวกับคดีนี้ พยานทราบจากสื่อมวลชนและบุคลากรในวงการกฎหมายว่า จำเลยถือป้ายกรอบรูปที่มีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” แล้วถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เมื่อพยานเห็นข้อความดังกล่าว ไม่คิดว่าจะเป็นความผิดตามมาตรา 112 และสามารถถูกฟ้องร้องดำเนินคดีได้ พยานเห็นว่ามีความหมายถึงห้วงสมัยหรือช่วงระยะเวลาเท่านั้น ไม่ได้สื่อความหมายถึงพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

พยานไม่เห็นด้วยกับคำฟ้องที่ระบุว่า การกระทำของจำเลยทำให้เข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน พยานคิดว่า ไม่มีใครที่เห็นข้อความของจำเลยแล้วจะตีความเช่นนั้น เนื่องจากประชาชนทั่วไปทราบดีว่า รัชกาลที่ 10 ไม่ได้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการปกครองบ้านเมืองแต่อย่างใด จึงไม่อาจเข้าใจได้ว่า การอดอยากไม่มีจะกินเกิดขึ้นเพราะรัชกาลที่ 10 

ในสถานที่ต่าง ๆ มีพระบรมฉายาลักษณ์ติดตั้งอยู่หลายที่ การที่ผู้ชุมนุมถูกถ่ายภาพบริเวณหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ก็เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นเหตุบังเอิญที่อาจเกิดขึ้นได้ พยานทราบข้อมูลมาว่า จำเลยยืนถือป้ายอยู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์เพียงชั่วครู่ ไม่ได้มีเจตนายืนถือป้ายอยู่บริเวณดังกล่าว

คำว่า “ไม่มีจะแดก” เป็นคำไม่สุภาพโดยทั่วไป ไม่ถือว่าเป็นการดูหมิ่นบุคคลใดแต่อย่างใด 

พยานเคยเห็นบทความทางวิชาการของ รศ.ชัชพล ไชยพร เรื่อง “ขอบเขตของคำว่า พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในประมวลกฎหมายอาญา” และเห็นด้วยกับเนื้อหาในบทความที่ระบุว่า “แผ่นดิน” “รัชสมัย” และ “รัชกาล” นั้น มีความหมายถึงชั่วระยะสมัยแห่งการปกครองหรือการทรงราชย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง มิใช่หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ 

ส่วนราชกิจจานุเบกษาที่มีข้อความว่า “ในรัชกาลปัจจุบัน” ก็เป็นถ้อยคำที่สื่อถึงช่วงระยะเวลา ไม่ได้หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 1,2,3,4,5,6 ที่ปรากฏในคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ ไม่ใช่องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด

ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข การกระทำใด ๆ ของพระมหากษัตริย์ ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ จึงไม่ถือว่าเป็นการกระทำของพระมหากษัตริย์โดยตรง และพระมหากษัตริย์ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจหรือปกครองบ้านเมือง

คำว่า “ไม่มีจะแดก” เป็นคำธรรมดาทั่วไป ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการชุมนุมที่จะต้องใช้คำหวือหวา ดึงดูดความสนใจ และย่อมหมายถึงตัวจำเลยเองที่ไม่มีจะกิน ไม่ได้สื่อความหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด

.

จำเลยยืนยัน “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10”  สื่อความหมายว่า ตนไม่มีจะกินและได้รับความลำบากในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ

ฟลุค กิตติพล จำเลยเบิกความเป็นพยานให้ตนเองว่า จบการศึกษาระดับ ปวช. สาขาคอมพิวเตอร์กราฟิก ปัจจุบันประกอบอาชีพ กราฟิกดีไซเนอร์ ขณะเกิดเหตุตนอายุย่าง 19 ปี และถูกให้ออกจากงานที่ร้านหมูกระทะ เนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 

ก่อนวันเกิดเหตุ ตนเห็นโพสต์ของเพจคณะอุบลปลดแอก เชิญชวนให้เข้าร่วมชุมนุมในวันที่ 15 ส.ค. 2564 เพื่อวิจารณ์การทำงานของรัฐบาลและรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และเรียกร้องเรื่องการจัดสรรวัคซีนโควิด จึงสนใจเข้าร่วมชุมนุม เนื่องจากติดตามเหตุการณ์บ้านเมืองและเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ในวันชุมนุมตนเดินทางไปที่สวนสาธารณะห้วยม่วง โดยเขียนข้อความว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ลงบนแผ่นกระดาษและนำไปใส่กรอบรูปสีทองเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ประกอบการร่วมชุมนุม ข้อความดังกล่าวนำมาจากสื่อออนไลน์เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนอดอยากไม่มีจะกินในช่วงเวลาดังกล่าว ภายใต้การบริหารของรัฐบาลในขณะนั้น 

ฟลุคเบิกความต่อว่า ขณะร่วมชุมนุม ตนถือป้ายดังกล่าวเดินไปเดินมาบริเวณที่ชุมนุม โดยไม่ได้มีเจตนาชูป้ายดังกล่าวหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 ตามที่ปรากฏในพยานหลักฐานของโจทก์ ซึ่งภาพนั้นเป็นเหตุบังเอิญที่ตนเดินถือป้ายไปอยู่ในตำแหน่งนั้นพอดี ในเวลาประมาณ 14.00 น. ตนอยู่ตรงนั้นเป็นเวลาไม่ถึง 2 นาที ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจมาขอความร่วมมือให้เดินออกห่างจากพระบรมฉายาลักษณ์ โดยไม่ได้แจ้งว่ากระทำผิดกฎหมาย ซึ่งตนก็ปฏิบัติตามโดยดี ไม่ได้โต้แย้งแต่อย่างใด

สวนสาธารณะห้วยม่วงมีบริเวณกว้างขวาง ในวันชุมนุมตนก็เดินไปเดินมาทั่วบริเวณ จุดที่ตั้งพระบรมฉายาลักษณ์เป็นทางออกสู่ถนนสาธารณะ ซึ่งผู้ชุมนุมทุกคนต้องเดินผ่านอยู่แล้ว 

ตนไม่ทราบว่า ใครเป็นคนถ่ายภาพขณะตนยืนถือป้ายอยู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ เนื่องจากคนถ่ายภาพใส่หมวกและหน้ากากอนามัย แต่คิดว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

ในระหว่างการชุมนุมตนถือป้ายที่มีข้อความตามฟ้องเคลื่อนไปยังสถานที่ต่าง ๆ ตามขบวนของผู้ชุมนุม โดยไม่ได้ยืนหน้าพระบรมฉายาลักษณ์แต่เพียงผู้เดียว และไม่ได้นัดหมายผู้ใดให้มาถ่ายรูปขณะถือป้าย บุคคลทั่วไปที่อยู่ในที่ชุมนุมไม่ได้มาท้วงติงว่าข้อความดังกล่าวจะเป็นความผิดตามกฎหมาย

ฟลุคเบิกความต่อไปว่า ข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ตนเจตนาจะสื่อความหมายว่า ตนไม่มีจะกินและได้รับความลำบากในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหตุที่ใช้คำว่า “ในรัชกาลที่ 10” เนื่องจากมุ่งสื่อความหมายถึงช่วงเวลา เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์เท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงองค์พระมหากษัตริย์ เนื่องจากตนเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารปกครองบ้านเมือง แต่เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารคือรัฐบาล

ตนไม่ได้เป็นแกนนำการชุมนุม เป็นเพียงผู้เข้าร่วมคนหนึ่งเท่านั้น ขณะเกิดเหตุตนมีอายุเพียง 18 ปี จึงไม่มีอำนาจและไม่สามารถเป็นแกนนำการชุมนุมได้

ฟลุคตอบโจทก์ถามค้านว่า ตนเป็นผู้เขียนข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” และนำไปใส่กรอบรูปสีทองด้วยตนเอง โดยจัดเตรียมมาตั้งแต่ก่อนการชุมนุม 

ตนเคยเข้าร่วมการชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 และให้ยกเลิกมาตรา 112

จากนั้นฟลุคเบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า ที่ตนเลือกใช้กรอบรูปสีทองใส่ข้อความตามฟ้อง เนื่องจากที่ร้านที่ไปซื้อมีกรอบรูปสีทองเพียงอย่างเดียว ส่วนธงสีเหลืองที่ตนถือในภาพนั้น ได้รับแจกจากที่ชุมนุม ไม่ได้เตรียมไปเอง 

เหตุที่ตนร่วมชุมนุมเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมามีการใช้มาตรา 112 กลั่นแกล้งบุคคลทางการเมืองเสียงมากกว่าใช้เพื่อปกป้องสถาบันกษัตริย์

.

คำแถลงปิดคดี: จำเลยเจตนาเพียงจะสื่อถึงเหตุการณ์ไม่มีจะกินในช่วงเวลานั้น ๆ ไม่ใช่มีความหมายทำนองว่าการไม่มีจะกินเกิดขึ้นเพราะการกระทำขององค์พระมหากษัตริย์

ก่อนวันฟังคำพิพากษา ทนายจำเลยส่งคำแถลงปิดคดีถึงศาล ลงวันที่ 12 ธ.ค. 2566 มีเนื้อหาโดยสรุปว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงเป็นที่ยุติว่าจำเลยเขียนและแสดงข้อความว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ขณะเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุมคาร์ม็อบ ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุจริง ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องและนำสืบว่าจำเลยมีพฤติการณ์ยืนถ่ายภาพกับพระบรมฉายาลักษณ์หรือพฤติกรรมร่วมอื่น ๆ ไม่ใช่ประเด็นสำคัญแห่งคดี แต่กลับเป็นการเผยให้เห็นถึงข้อขัดแย้งในข้อเท็จจริงที่จำเลยเห็นว่าก่อให้เกิดข้อสงสัยได้ว่า ฟ้องโจทก์และการรวบรวมพยานหลักฐานกระทำไปโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ปัญหาที่จำเลยเห็นว่าเป็นประเด็นสำคัญในคดีนี้จึงมีเพียงว่า ข้อความที่จำเลยเขียนและแสดงนั้น เป็นความผิดต่อกฎหมายหรือไม่อย่างไร ซึ่งเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ในการตีความบทบัญญัติกฎหมายประกอบกับความหมายจากข้อความของจำเลย ซึ่งจำเลยขอแถลงต่อศาลว่า องค์ประกอบความผิดของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบไปด้วยการกระทำใน 3 ลักษณะ ได้แก่ 1) การดูหมิ่น 2) การหมิ่นประมาท และ 3) การแสดงความอาฆาตมาดร้าย ต่อบุคคล 4 สถานะ ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นอกจากนี้ ผู้ถูกกล่าวหาต้องมีเจตนาประสงค์ต่อผล และ/หรือเจตนาย่อมเล็งเห็นผล 

ในส่วนของการตีความกฎหมาย เนื่องจากบทบัญญัติที่มีบทลงโทษทางอาญาเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคล การตีความจึงต้องกระทำโดยเคร่งครัดระมัดระวังอย่างยิ่ง รวมทั้งการตีความถ้อยคำตามพฤติการณ์แห่งการกระทำไม่อาจขยายความหมายให้กว้างขวางออกไปได้หากถ้อยคำไม่มีความชัดเจน เช่น การกระทำที่เป็นการ ‘ดูหมิ่น’ ก็ต้องมีความชัดเจนว่าเป็นการดูหมิ่น หรือคำว่า ‘พระมหากษัตริย์’ ก็ต้องหมายความถึงเฉพาะองค์พระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่ในปัจจุบันเท่านั้น 

โดยไม่อาจตีความให้มีความหมายขยายออกไปจากถ้อยคำตามความรู้สึก ความรับรู้หรือความเห็นของผู้ตัดสิน เนื่องจากการรับรู้เข้าใจความหมายถ้อยคำต่าง ๆ ของแต่ละบุคคลนั้นเป็นไปตามอัตวิสัยอย่างยิ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับประสบการณ์ ความรู้ทางภาษา ความเข้าใจในวัฒนธรรมการสื่อสารของผู้รับรู้รับฟังข้อความ 

ดังนั้น เมื่อไม่สามารถทราบความหมายได้อย่างชัดเจนก็จำเป็นต้องวินิจฉัยให้เป็นข้อสงสัยตามสมควรว่าไม่เป็นการกระทำผิด เพื่อให้สมเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ย่อมต้องมีความชัดเจนแน่นอน  

เมื่อปรับบทบัญญัติเข้ากับข้อความที่โจทก์ฟ้องว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ย่อมเห็นว่าไม่อาจมีความหมายเป็นการกระทำในลักษณะแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้ เนื่องจากไม่มีความหมายทางใดไปในทางมุ่งประทุษร้ายต่อบุคคลทั้งสี่สถานะตามบทบัญญัตินี้

ส่วนจะเป็นการดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือไม่อย่างไรนั้น เมื่อพิจารณาความหมายตามถ้อยคำส่วนแรกของประโยคว่า “ไม่มีจะแดก” นั้นเป็นคำไม่สุภาพ อาจเข้าใจความหมายได้ว่า ไม่มีจะกิน หรือขาดไร้รายได้ โดยไม่ปรากฏประธานของประโยค และส่วนหลังที่ว่า “ในรัชกาลที่ 10” สื่อถึงช่วงเวลาหรือยุคสมัยภายใต้การครองราชย์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน 

ทั้งรูปประโยคระหว่างถ้อยคำทั้งสองส่วนนี้ไม่มีลักษณะเป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน จึงไม่อาจรับฟังหรือตีความเกินเลยไปได้ว่าหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ทรงขาดไร้รายได้ หรือผู้หนึ่งผู้ใดจะทำให้องค์พระมหากษัตริย์ขาดไร้รายได้ หรือองค์พระมหากษัตริย์จะทำให้บุคคลใดขาดไร้รายได้ ฯลฯ หากตีความไปในทางดังที่กล่าวมาย่อมไม่สมเหตุสมผลแต่อย่างสิ้นเชิง 

วิญญูชนทั่วไปเมื่อได้รับทราบข้อความแล้วย่อมเข้าใจความหมายว่าข้อความดังกล่าวสื่อถึงเหตุการณ์ไม่มีจะกินในช่วงเวลานั้น ๆ มิใช่มีความหมายทำนองว่า การไม่มีจะกินเกิดขึ้นเพราะการกระทำขององค์พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แต่อย่างใด จึงสมควรตีความตามข้อความที่ปรากฏให้มีความหมายได้เพียงว่า “(ผู้พูด) ไม่มีจะกินในปัจจุบัน” เพียงเท่านั้น ซึ่งไม่ได้มีความหมายเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์แต่ประการใด ไม่อาจจะทำให้องค์พระมหากษัตริย์เสื่อมพระเกียรติยศลงได้

ดังที่จำเลยได้นำสืบตามพยานเอกสารซึ่งเป็นบทความวิชาการนิติศาสตร์ของ ดร.ชัชพล ไชยพร รองคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปรากฏความเห็นทางวิชาการว่า “..ถ้อยคำบางคำเช่น “แผ่นดิน” “รัชสมัย” และ “รัชกาล” นั้น มีความหมายถึงชั่วระยะสมัยแห่งการปกครองหรือทรงราชย์ของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง ไม่ใช่หมายถึงองค์พระมหากษัตริย์ … ดังนั้น การเอ่ยถึงเหตุการณ์ที่ไม่ดี ไม่พึงปรารถนา ในช่วงรัชสมัยของพระมหากษัตริย์พระองค์ใด เช่น ในรัชกาลที่ 1 นั้น ทาสมีความเป็นอยู่ลำบากยากแค้น .. ดังนี้ ย่อมไม่อาจเข้าข่ายแห่งการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ในอดีตได้แม้แต่น้อย” ซึ่งสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลย และสอดคล้องกับคำเบิกความของชำนาญ จันทร์เรือง พยานจำเลย

เมื่อเทียบลักษณะข้อความที่พบเห็นได้ทั่วไปที่มีรูปประโยคคล้ายคลึงกับข้อความตามฟ้องดังเช่น “ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9” ก็ไม่ใช่ประโยคที่มีลักษณะเป็นเหตุเป็นผลให้ตีความหมายไปได้ว่าเพราะมีรัชกาลที่ 9 ครองราชย์อยู่ “ฉัน” จึงเกิดขึ้นมาได้ แต่หมายถึงบุคคลดังกล่าวเกิดขึ้นภายในยุคสมัยที่รัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ และมิใช่ยุคสมัยการปกครองขององค์พระมหากษัตริย์ด้วย เพราะโดยหลักการแล้ว ในประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขนั้น องค์พระมหากษัตริย์ทรงปกเกล้าแต่มิได้ปกครอง ทรงมิได้ยุ่งเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินแต่ประการใด ดังนั้น “ฉันเกิดในรัชกาลที่ 9” จึงหมายถึงบุคคลที่กล่าวนั้นเกิดในยุคสมัยอดีตที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ครองราชย์ เพียงเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้จำเลยจึงเห็นว่าบรรยายฟ้องของโจทก์ที่ตีความข้อความของจำเลยว่า “..และเป็นสื่อความหมายให้แก่ประชาชนทั่วไปที่ได้พบเห็นข้อความและการกระทำของจำเลยดังกล่าว ให้เข้าใจว่าการปกครองบ้านเมืองของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 นั้น พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพ จนทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน ขนาดขาดแคลน และอดสู...” นั้น เป็นการตีความข้อความที่จำเลยเขียนตามอำเภอใจโดยขัดแย้งต่อหลักความสมเหตุผล ทั้งยังเกินเลยไปจากความหมายตามข้อความที่ปรากฏอยู่และจากเจตนาของจำเลยไปอย่างยิ่ง โดยไม่มีพยานหลักฐานหรือหลักวิชาการใดมาสนับสนุน 

ส่วนที่โจทก์บรรยายฟ้องว่าข้อความตามฟ้องผิดราชประเพณีและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทยนั้นก็มิได้เป็นความผิดต่อกฎหมาย รวมถึงที่โจทก์บรรยายไว้ในคำฟ้องและในคำขอท้ายฟ้องโดยอ้างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ก็ขัดแย้งกับหลักวิชาการทางนิติศาสตร์ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมิได้มีบทกำหนดโทษทางอาญากรณีฝ่าฝืน และไม่ใช่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด ฟ้องโจทก์ในส่วนนี้จึงไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นที่ควรนำมาพิจารณาและไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ข้อต่อสู้ของจำเลยมีเหตุผลทางกฎหมายหนักแน่นสมควรรับฟัง แม้อาจพิจารณาได้ว่าถ้อยคำว่า “ไม่มีจะแดก” เป็นคำหยาบคายไม่เหมาะสม ก็ไม่ได้มีความหมายถึงขนาดจะเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ที่จะเป็นความผิดต่อกฎหมาย จำเลยขอยืนยันว่า จำเลยมีเจตนาเพียงจะสื่อถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของบ้านเมืองในช่วงเวลาขณะนั้น เพื่อโจมตีการบริหารจัดการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดของรัฐบาลที่ผิดพลาด ส่งผลให้จำเลยต้องออกจากงานและขาดรายได้ จำเลยไม่ได้มีเจตนาจะกล่าวถึงหรือให้มีความหมายถึงองค์พระมหากษัตริย์แต่อย่างใด และไม่อาจทำให้องค์พระมหากษัตริย์เสื่อมพระเกียรติยศได้

X