อัยการฟ้อง ‘112’ กราฟิกดีไซเนอร์ชูรูป “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ในคาร์ม็อบอุบลฯ อ้างเป็นความเท็จ เหตุ ร.10 อยู่เหนือการเมือง

วันที่ 27 มี.ค. 2566 “ฟลุค” กิตติพล (สงวนนามสกุล) กราฟิกดีไซเนอร์และนักกิจกรรมวัย 20 ปี เดินทางไปสำนักงานอัยการจังหวัดอุบลราชธานี ในนัดส่งฟ้องคดีที่เขาถูกกล่าวหาว่า หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการชูกรอบรูปมีข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ขณะเข้าร่วมกิจกรรมคาร์ม็อบอุบลฯ ในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 

เมื่อไปถึงสำนักงานอัยการฯ เจ้าหน้าที่แจ้งกับฟลุคให้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี ก่อนศาลจะรับฟ้อง และออกหมายขัง โดยมีทนายความและนายประกันเตรียมยื่นประกันตัว ระหว่างนั้นฟลุคต้องไปอยู่ในห้องควบคุมตัวบริเวณใต้ถุนศาล 

สำหรับคำบรรยายฟ้อง รุ่งโรจน์ สาเรศ พนักงานอัยการระบุว่า เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 จำเลยหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยหนังสือ หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร หรือเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ด้วยการเข้าร่วมกิจกรรมชุมนุม “อุบลคาร์ม็อบ/4” ซึ่งเป็นกิจกรรมชุมนุมประท้วงขับไล่รัฐบาล บริเวณสวนสาธารณะห้วยม่วง 

แล้วต่อมาจำเลยได้ใส่ความต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ด้วยการทำให้ปรากฏข้อความเป็นตัวอักษรสีดำลงบนกระดาษหรือวัสดุอื่นใดสีขาวจำนวน 1 แผ่น เป็นข้อความว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” (ไม่มีจะกินในรัชกาลที่ 10) จากนั้นจำเลยได้เอาแผ่นข้อความบรรจุลงกรอบรูปสีทอง แล้วนำกรอบรูปที่มีข้อความดังกล่าวไปยืนถ่ายภาพบริเวณด้านหน้าของพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 

อัยการระบุว่า การกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงกิริยาเหยียดหยามพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ และสื่อความหมายให้แก่ประชาชนทั่วไปที่พบเห็นเข้าใจว่า รัชกาลที่ 10 ปกครองบ้านเมืองไม่ดี ไม่มีประสิทธิภาพจนทำให้ประชาชนอดอยาก ไม่มีจะกิน ขนาดขาดแคลน และอดสู อันเป็นความเท็จทั้งสิ้น เพราะความจริงแล้วรัชกาลที่ 10 ไม่ได้เป็นผู้บริหารประเทศ เนื่องจากทรงอยู่เหนือการเมือง อันเป็นการกระทำหมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 

ประกอบกับองค์พระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เนื่องจากเป็นประมุขของประเทศและไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับการเมืองการบริหารประเทศ และยังเป็นการกระทำผิดราชประเพณีและขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมไทย ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เป็นการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการหมิ่นพระเกียรติและหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญาภาค 2 ลักษณะ 1 หมวด 1 

อย่างไรก็ตาม ท้ายคำฟ้องอัยการไม่คัดค้านการปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ระบุว่า ให้อยู่ในดุลพินิจของศาล 

ทั้งทนายและนายประกันรอจนกระทั่งถึงช่วง 14.30 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เรียกหลักทรัพย์เป็นเงินสด 100,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ประกันตัว ก่อนที่ฟลุคจะถูกปล่อยตัวออกมา โดยศาลนัดคุ้มครองสิทธิและตรวจพยานหลักฐานวันที่ 31 พ.ค. 2566 

หลังได้รับอิสรภาพ ฟลุคกล่าวว่า “ถึงจะใช้เหตุผลในการต่อสู้ทางความคิดมากเท่าไหร่ ระบบนิติรัฐของไทยก็ยังใช้ระบบกล่าวหา หน่วยงานที่เกี่ยวกับความยุติธรรมล้วนมีธงในหัวใจว่า อยากจะเล่นงานคนที่เข้าข่ายด้วยข้อหานี้ให้ได้มากแค่ไหน จะช่วงชิงประโยชน์จากการเอาชีวิตคนสังเวยกับคดีนี้ได้มากแค่ไหน พูดตามตรงตอนนี้ผมไม่ไว้ใจความเป็นรัฐมากขึ้นทุกวัน แต่ผมไม่ใช่พวกต่อต้านสังคม”

นอกจากคดีนี้กิตติพลยังถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบ ที่จัดขึ้นในจังหวัดอุบลราชธานีเมื่อปี 2564 อีก 2 คดี โดยคดียังอยู่ระหว่างอัยการพิจารณาว่าจะมีคำสั่งฟ้องหรือไม่

 อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

แจ้ง ‘112’ กราฟิกดีไซเนอร์ เหตุชูรูป “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ตร.อุบลฯ อ้าง สื่อว่า ร.10 ปกครองไม่ดี

X