ฟ้อง “ม.112” ผู้ป่วยจิตเวชทำลายรูป ร.10 ที่อุบลฯ อ้าง “กระทำไม่สมควร” แม้ทนายขอความเป็นธรรม เหตุไม่เข้าองค์ประกอบ 112 

3 ส.ค. 2565 “แต้ม” (นามสมมติ) อดีตทหารเกณฑ์วัย 32 ปี ซึ่งป่วยเป็นโรคทางจิตเวช พร้อมแม่และทนายความ เดินทางไปที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานี หลังเข้ารายงานตัวที่สำนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ ในนัดส่งฟ้องคดีจากเหตุทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 รวม 3 จุด ในอำเภอตระการพืชผล เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564 

แต้มในชุดเสื้อโปโลยืดสีเหลือง มีตราสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ ยกมือไหว้ผู้ที่พบพร้อมค้อมตัวด้วยอาการนอบน้อม เมื่อทนายถามว่า กินข้าวเช้ารึยัง แต้มกล่าวว่า “ปั้นกินแล้วครับ กินได้ 2-3 คำ บ่แซ่บเลยครับ” 

ทีมทนายความยังได้เล่าถึงกระบวนการในนัดส่งฟ้องศาลนี้ให้แต้มทราบ พร้อมความเป็นไปได้ในการประกันตัว ซึ่งทนายจะยื่นประกันโดยใช้เงินที่กองทุนราษฎรประสงค์ให้ยืม และในคดีอื่นก่อนหน้านี้ศาลก็ให้ประกัน แต่ก็อาจจะเกิดกรณีที่ศาลไม่ให้ประกันก็ได้ หากเป็นเช่นนั้นแต้มจะถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำ แต้มก็มีสีหน้ากังวลยิ่งขึ้น เอ่ยเบาๆ กับแม่ว่า “ไผจะนึ่งข้าวให้เจ้ากิน” 

ประมาณ 09.30 น. เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการฯ นำคำฟ้องมายื่นต่อศาล และนำตัวแต้มส่งให้ตำรวจศาลควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังใต้ศาล เพื่อรอศาลสอบคำให้การเบื้องต้น และมีคำสั่งต่อคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวแต้มระหว่างพิจารณาคดี

คำฟ้องระบุว่า อัยการยื่นฟ้องแต้มรวม 2 ข้อหา คือ “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์” และ “ทําให้เสียทรัพย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และมาตรา 358 โดยไม่ได้คัดค้านหากจําเลยขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณา 

.

ย้อนดูชั้นสอบสวน: ผู้การตำรวจอุบลฯ เชื่อแต้มไม่เจตนา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ทำลายรูปเพราะอาการจิตเวชกำเริบ แต่ภาค 3 เห็นแย้งให้แจ้ง ม.112 

คดีนี้แต้มถูกจับกุมในวันเดียวกัน หลังเกิดเหตุไม่นาน ต่อมา พล.ต.ต.สถาพร เอมโอษฐ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ ได้เดินทางมาสอบปากคำแต้มด้วยตัวเอง ก่อนพนักงานสอบสวน สภ.ตระการพืชผล ตั้งข้อหาแต้มว่า “ทำให้เสียทรัพย์” เพียงข้อหาเดียว และปล่อยตัวโดยไม่มีการฝากขัง 

ชั้นสอบสวนแต้มให้การรับสารภาพ ระบุว่าขณะลงมือทุบป้ายเขามีอาการหูแว่ว ได้ยินเสียงสั่งการจากเบื้องบน ให้เขาทำลายป้ายที่เห็น เขาจึงทำไปโดยไม่รู้สึกตัวว่าเป็นป้ายอะไร 

ก่อนหน้าเกิดเหตุแต้มมีประวัติรักษาอาการทางจิตเวชที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ (โรงพยาบาลจิตเวช) โดยมีบัตรผู้พิการประเภท 4 แต่ช่วงนั้นมีเหตุที่ทำให้เขาไม่ได้กินยามาหลายวัน และมีอาการดังกล่าว แม่และผู้ใหญ่บ้านก็เข้าให้ปากคำต่อพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับอาการป่วยและการรักษาของแต้ม  รวมถึงพนักงานสอบสวนก็ได้ส่งตัวแต้มไปให้แพทย์ด้านจิตเวชตรวจวินิจฉัยเพื่อยืนยันอาการทางจิตเวชด้วย

เมื่อสำนวนคดีไปถึงตำรวจภูธรภาค 3 กลับถูกส่งคืนและให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาแต้มตามมาตรา 112 เพิ่มเติม โดยพนักงานสอบสวนระบุพฤติการณ์เพิ่มว่า การทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์นั้นเป็นการกระทำที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง เป็นการละเมิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ

แต่แต้มให้การปฏิเสธข้อหานี้ พร้อมให้การย้ำว่าเขาไม่ได้มีเจตนา ตอนลงมือก่อเหตุก็เห็นเป็นเพียงป้ายสีดำ ไม่มีรูปใดๆ เลย และแว่วเสียงสั่งในหูให้ทำลายป้ายนั้น หากรู้ว่าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 จะไม่ลงมือเลย เพราะที่บ้านตนก็จุดธูปกราบไหว้พระบรมฉายาลักษณ์ทุกวัน

.

ยื่นขอความเป็นธรรมอัยการ ขอให้ไม่ฟ้อง 112 เหตุไม่เข้าองค์ประกอบ – ตำรวจตีความเกินกว่าเจตนารมณ์กฎหมาย

แม้ว่าชั้นสอบสวนแต้มจะไม่ได้ถูกฝากขัง แต่พนักงานสอบสวนนัดหมายให้เขาไปรายงานตัวราวเดือนละ 2-3 ครั้ง ทำให้เขาและแม่ต้องเดินทางด้วยรถโดยสารด้วยระยะทางไป-กลับ รวม 30 กม. ไม่น้อยกว่า 11 ครั้ง ก่อนที่สำนวนคดีของแต้มถูกส่งจากพนักงานสอบสวนถึงมือพนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ เมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2565 

ถัดจากนั้นเพียง 2 เดือนครึ่ง ในนัดฟังคำสั่งอัยการครั้งที่ 2 เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการฯ ก็แจ้งแต้มว่า มีคำสั่งฟ้องคดีแล้ว แม้ว่าก่อนหน้านั้นในวันที่ 28 มิ.ย. 2565 แต้มและทนายได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมอัยการ ขอให้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีในข้อหาตามมาตรา 112 เนื่องจาก

1. พฤติการณ์ในคดีนี้ ไม่เข้าองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นแต่เพียงการกระทำที่มุ่งประสงค์ต่อทรัพย์สินเท่านั้น ไม่ใช่การดูหมิ่น หรือหมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด โดยอ้างอิงถึงคำวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติของศาลจังหวัดพลที่ว่า

“…หากพิจารณาตามฟ้องโจทก์ เห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอันได้แก่ ซุ้มประตูซึ่งเป็นทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหกมีความมุ่งหมายที่จะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งหกในส่วนนี้จึงเป็นความผิดเพียงฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 217…”

2. พฤติการณ์ที่พนักงานสอบสวนแจ้งต่อผู้ต้องหานั้น ใช้ถ้อยคำว่า “เป็นการกระทำอันไม่บังควรอย่างยิ่ง” และ “ซึ่งเป็นการละเมิดหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ซึ่งไม่ใช่ถ้อยคำตามบทบัญญัติของกฎหมาย แต่เป็นการตีความที่กินความหมายกว้างเกินกว่าเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นธรรมต่อผู้ต้องหา และจะก่อให้เกิดผลเสียต่อกระบวนการยุติธรรมเป็นอย่างมาก

อัยการยืนยันฟ้อง 112 ด้วย อ้างแต้ม “กระทำการไม่สมควร” ยกมาตรา 6 กษัตริย์อยู่ในฐานะ “ละเมิดมิได้”

พ.ต.ท.ชยพัทธ์ ประสพดี พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ บรรยายถึงพฤติการณ์คดีมาในคำฟ้องว่า

เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564 จําเลยได้ทําให้เสียหาย ทําลาย ทําให้เสื่อมค่าหรือทําให้ไร้ประโยชน์ โดยใช้ท่อนไม้ไผ่ ท่อนเหล็ก ทุบทําลาย และใช้มือฉีก พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งได้ประดิษฐานติดตั้งไว้ที่บริเวณหน้าโรงเรียนตระการพืชผล, ด้านหน้าสถานีบริการน้ำมันคาลเท็กซ์ และหน้าสถานีขนส่งผู้โดยสารตระการพืชผล อันเป็นทรัพย์สินของเทศบาลตําบลตระการพืชผล ผู้เสียหาย จนพระบรมฉายาลักษณ์ได้รับความเสียหาย 3 รายการ รวมค่าเสียหายเป็นเงินทั้งสิ้น 200,000 บาท 

ทั้งนี้ พระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว เทศบาลตําบลตระการพืชผล อันเป็นหน่วยงานราชการ ได้จัดทําขึ้นไว้เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี เป็นการเฉลิมพระเกียรติ เชิดชูเกียรติ เทิดทูนพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ผู้ทรงเป็นประมุขแห่งรัฐ และทรงเป็นที่เคารพสักการะของปวงชนชาวไทย 

ซึ่งขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และมีรัชกาลที่ 10 เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ซึ่งรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้” 

อัยการระบุอีกว่า การกระทําของจําเลยข้างต้น จึงเป็นการกระทําอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกมาด้วยประการใดว่าจะทําให้เสียหายในทางใดๆ ไม่ว่าจะเป็นภยันตรายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ อันมิใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม นับเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทําให้รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทย ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ 

.

ยื่นประกัน ชี้จำเลยป่วย ต้องกินยา ขณะก่อเหตุไม่รู้ตัว ศาลให้ประกัน วงเงิน 9 หมื่น 

ระหว่างรอกระบวนการของศาลอยู่ที่ห้องขัง แต้มบอกว่าเขาง่วงนอน เพราะฤทธิ์ยาตัวใหม่ที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์จัดให้ หลังเขาไปพบหมอตามนัดเมื่อวันก่อน ก่อนงีบหลับไป แต่ซักพักเจ้าหน้าที่ศาลได้เข้าไปสอบถามคำให้การ แต้มตอบตามคำให้การชั้นสอบสวนว่า รับสารภาพข้อหาทำให้เสียทรัพย์ แต่ปฏิเสธข้อหา 112 

แต่เจ้าหน้าที่บอกแต้มว่า ถ้าจะรับสารภาพก็รับไปเลย หรือไม่ก็ปฏิเสธไปเลย ตอบแบบที่แต้มตอบไม่ได้ ทนายจึงเข้าไปชี้แจงแทนแต้มว่า ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่จึงกลับออกไป ก่อนเข้ามาอีกครั้งเพื่อแจ้งวันนัดของศาลว่า นัดคุ้มครองสิทธิวันที่ 30 ส.ค. 2565 และนัดพร้อมวันที่ 19 ก.ย. 2565

ในการยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวแต้มระหว่างพิจารณาคดี มีอาจารย์มหาวิทยาลัยอุบลฯ เป็นนายประกัน โดยเสนอหลักประกันเป็นเงินสด 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ทนายความได้อ้างเหตุผลประกอบการขอประกันว่า แต้ม จำเลยในคดีเป็นผู้ป่วยจิตเวช โดยรักษาตัวในลักษณะเป็นผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ต้องกินยารักษาอาการอย่างต่อเนื่อง บางเวลามีอาการกำเริบ ขณะเกิดเหตุจำเลยก็ไม่รู้ตัวว่ากระทำอะไร จำเลยประสงค์จะต่อสู้คดี โดยขอความเป็นธรรมปล่อยชั่วคราว ทั้งนี้ จำเลยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง มีมารดาดูแล และไม่เคยไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐาน

กระทั่ง 12.10 น. ศาลมีคำสั่งให้ประกันแต้ม ตีราคาประกันเป็นเงินสด 90,000 บาท โดยไม่กำหนดเงื่อนไขใดๆ 

หลังแต้มได้รับการปล่อยตัว เขาเดินจูงมือแม่ตลอดเวลาไปที่ร้านค้า และบีบนวดแขนให้แม่ขณะนั่งรออาหารที่สั่งมากิน ก่อนเตรียมตัวเดินทางกลับบ้านที่อยู่ไกลออกไปเกือบ 60 กม. ซึ่งหลังจากวันนี้แต้มและแม่ยังต้องเดินทางไปและกลับอีกหลายครั้งจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษา แม้จะไม่รู้ว่าปลายทางจะเป็นเช่นไร แต่ทุกคนตั้งความหวังว่า ศาลจะมองเห็นถึงความเจ็บป่วย และมอบความยุติธรรมตามสมควรแก่เขาเหมือนเช่นที่ให้ประกันเขาในวันนี้

.

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 31 ก.ค. 2565 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 208 คน ใน 224 คดี ในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 3 ราย ซึ่งมีอาการทางจิตเวช 

ก่อนหน้านั้นหลังการรัฐประหารของ คสช. ศูนย์ทนายฯ ก็พบผู้ป่วยทางจิตถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้อย่างน้อย 10 ราย และศาลมีคำพิพากษาให้จำคุกถึง 6 ราย แม้ว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ได้เปิดช่องให้ศาลไม่ลงโทษหรือลงโทษให้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ เนื่องจากผู้ป่วยทางจิตไม่มีความรู้สึกผิดชอบอย่างคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป

.  

X