เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2565 เวลา 13.30 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดตรวจพยานหลักฐานในคดีของอานนท์ นำภา ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหลักตาม “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาอื่นๆ รวม 9 ข้อกล่าวหา จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งวันดังกล่าวมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล
>> เปิดคำฟ้องคดี ม.112 “อานนท์” ปราศรัย #ม็อบ14ตุลา63 เดินขบวนเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
สำหรับนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐาน วีระ พรหมอยู่ องค์คณะผู้พิพากษาคดีนี้ มีเหตุจำเป็นไม่อาจมาศาล จึงให้ จักรพงศ์ โฮมแพน ผู้พิพากษาประจําศาล ช่วยทํางานชั่วคราวในตําแหน่งผู้พิพากษาศาลอาญา มานั่งพิจารณาคดีนี้แทน ตามที่อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญามอบหมาย
หลังศาลได้อ่านและอธิบายฟ้องให้จําเลยแล้ว จําเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยหลังตรวจพยานเอกสาร โจทก์และจำเลยไม่มีข้อเท็จจริงใดที่รับกันได้
อัยการโจทก์แถลงติดใจสืบพยานทั้งหมด 56 ปาก ประกอบด้วย ผู้กล่าวหาในคดีนี้ 3 ราย เจ้าหน้าที่ดูแลการชุมนุมและการจราจร 6 ราย, เจ้าหน้าที่สืบสวนติดตามพฤติกรรมของกลุ่มผู้ชุมนุม 3 ราย, เจ้าหน้าที่ตํารวจฝ่ายสืบสวน, เจ้าหน้าที่สืบสวนหาข่าวและทําการถอดเทปบันทึกภาพและเสียงกิจกรรมชุมนุมใหญ่ #ม็อบ14ตุลา 3 ราย, เจ้าหน้าที่ดูแลระบบและรับแจ้งเหตุ 191, เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบการจราจรบริเวณถนนและทางด่วน, เจ้าหน้าที่สืบสวนภาพหาความเชื่อมโยงของกลุ่มผู้ชุมนุม, เจ้าหน้าที่รับหนังสือผู้มาติดต่อราชการและรับอีเมล์, เจ้าหน้าที่เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรค, เจ้าหน้าที่ผู้แปลถ้อยคําการถอดเทป 4 ราย, ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับการเมืองการปกครองและการเคลื่อนไหวของกลุ่มทางการเมือง, เจ้าหน้าที่ผู้ให้ความเห็นเกี่ยวกับถ้อยคําและความหมายของคําปราศรัย 7 ราย, เจ้าของหรือผู้ครอบครองรถยนต์ รถกระบะ และรถบรรทุกที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุม 6 ราย และพนักงานสอบสวน 7 ราย
ด้านจําเลยและทนายจําเลยแถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า การปราศรัยของจำเลยเป็นการแสดงความคิดเห็นติชมโดยสุจริต บนกรอบพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง, การชุมนุมเป็นไปโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และจําเลยไม่ใช่ผู้จัดการชุมนุมแต่อย่างใด
ฝ่ายจำเลยแถลงขอสืบพยานรวม 29 ปาก ประกอบด้วย ประจักษ์พยานที่อยู่ในเหตุการณ์ชุมนุม 7 ราย, นักวิชาการด้านกฎหมาย 4 ราย, นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ 4 ปาก, นักวิชาการด้านภาษาศาสตร์, พยานเกี่ยวกับข้อหามาตรา 112 จํานวน 11 ปาก และพยานเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19
ต่อมา ศาลได้กำหนดวันนัดสืบพยานรวมทั้งหมด 10 นัด เป็นนัดสืบพยานโจทก์ 6 นัด และนัดสืบพยานจำเลย 4 นัด โดยกำหนดวันนัดสืบพยานโจทก์เป็นวันที่ 20-23 และ 27-28 มิ.ย. 2566 และสืบพยานจำเลยวันที่ 29-30 มิ.ย. และ 4-5 ก.ค. 2566 เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป
ทั้งนี้ คดีดังกล่าว อานนท์ถูกพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สั่งฟ้องตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยอานนท์ถูกกล่าวหาดำเนินคดีในมาตรา 112 จำนวน 14 คดีแล้ว
ฐานข้อมูลคดี
คดี 112 “อานนท์” ปราศรัย #ม็อบ14ตุลา ถูกกล่าวหาใส่ร้าย ร.10
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
ตร.แจ้ง “ม.112” อานนท์ ส่วนเพนกวินโดน “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” กรณีชุมนุม #ม็อบ14ตุลา
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65