เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 2565 เวลาประมาณ 15.00 น. อานนท์ นำภา ได้ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาที่ศาลอาญา ในนัดตรวจพยานหลักฐานคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ 1. ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออก 2. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 3. ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งวันดังกล่าวมีการเคลื่อนขบวนไปปักหลักชุมนุมที่บริเวณหน้าทำเนียบรัฐบาล
เนื่องจากทนายจำเลยเพิ่งได้รับคำฟ้องในวันนี้ จึงขอเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานออกไป 1 นัด โดยศาลอนุญาตให้กำหนดนัดใหม่อีกครั้งในวันที่ 28 ก.พ. 2565 เวลา 13.30 น.
คดีนี้อานนท์ถูกพนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 สั่งฟ้องตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2564 ขณะถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
เปิดคำฟ้องอัยการ กล่าวหาอานนท์ปราศรัย-นำเดินขบวนไปทำเนียบฯ
อัยการบรรยายฟ้องโดยสรุประบุว่า 1. ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2563 จําเลยกับพวก ซึ่งถูกแยกดําเนินคดีต่างหากแล้วที่ศาลแขวงดุสิต ใช้ชื่อกลุ่มว่า “คณะราษฎร 2563” ได้ร่วมกันแถลงข่าวต่อหน้าสื่อมวลชนที่สนามหลวง เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนอออกมาร่วมชุมนุมขับไล่เผด็จการในวันที่ 14 ต.ค. 2563 ตั้งแต่เวลา 14.00 น. ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ฝั่งร้านแมคโดนัลด์
เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 2563 จําเลยได้นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ทางเฟซบุ๊ก ซึ่งเป็นการสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ โดยใช้ชื่อบัญชี “อานนท์ นําภา” โพสต์ข้อความ “14 ตุลา หลังส่งเสด็จด้วยการชู 3 นิ้วที่ราชดําเนิน ขบวนประชาชนทั้งหมดจะเคลื่อนขบวนไปตั้งเวทีปราศรัยไล่ประยุทธ์และพักค้างรอบทําเนียบรัฐบาล ขอเชิญทุกท่านมาไล่ประยุทธ์ด้วยกัน นอนค้างบนถนนร่วมกับพี่น้องประชาชน”
ระหว่างวันที่ 14 ต.ค. 2563 ถึงวันที่ 15 ต.ค. 2563 ต่อเนื่องกัน จําเลยกับพวกได้ร่วมกันจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กําหนดไว้ตามกฎหมายว่าด้วยการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 กล่าวคือ จําเลยกับพวกดังกล่าวในฐานะผู้จัดการชุมนุมสาธารณะ ได้นํารถบรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงมาจอดและตั้งเวทีปราศรัยขนาดเล็กกางเต็นท์ผ้าใบบนถนนราชดําเนินกลาง ฝั่งหน้าร้านแมคโดนัลด์ซึ่งเป็นทางจราจร ทางสาธารณะที่ประชาชนทั่วไปใช้สัญจร มีประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมทางการเมืองฟังการปราศรัยจํานวนประมาณ 6,000 คน โดยยืนอยู่บนถนนจนเต็มพื้นที่เป็นเหตุให้ประชาชนไม่สามารถใช้รถยนต์สัญจรไปมาบนถนนราชดําเนินกลางขาเข้าได้
เมื่อพันตํารวจเอก อิทธิพล พงษ์ธร ผู้กํากับการสถานีตํารวจนครบาลสําราญราษฎร์ ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่รักษาความเรียบร้อยและควบคุมสถานการณ์การจัดการชุมนุม ได้แจ้งให้จําเลยกับพวก และกลุ่มผู้ชุมนุม ชุมนุมอยู่ในกรอบของกฎหมาย ให้อยู่บนทางเท้า ให้รักษามาตรการป้องกันโรคโควิด และให้กลุ่มผู้ชุมนุมยุติการชุมนุมและเดินทางกลับ จําเลยกับพวกได้ทราบคําสั่งดังกล่าวแล้ว แต่ไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานผู้ดูแลการชุมนุมสาธารณะ โดยไม่ยอมเลิกการชุมนุม
จําเลยกับพวกมีการนํากลุ่มผู้ชุมนุม เคลื่อนขบวนออกจากบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เดินเท้าไปตามถนนราชดําเนินกลาง ผ่านสะพานผ่านฟ้าลีลาศ เข้าถนนนครสวรรค์ มุ่งหน้าไปยังทําเนียบรัฐบาล โดยจําเลยกับพวกดังกล่าวได้ร่วมเดินไปกับกลุ่มผู้ร่วมชุมนุม อันเป็นการเดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 – 05.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น และโดยไม่ได้แจ้งล่วงหน้าต่อหัวหน้าสถานีตํารวจนครบาล ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น
การชุมนุมข้างต้นเป็นการทํากิจกรรม หรือการมั่วสุมกัน ณ สถานที่ใดๆ ที่แออัด และมีโอกาสติดต่อสัมผัสกันได้ง่ายในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยจําเลยกับพวกดังกล่าวไม่ได้จํากัดทางเข้า – ออก ในการเข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมือง และไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมการรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า และไม่จัดให้มีการเว้นระยะนั่งหรือยืนห่างทางสังคมระหว่างกัน เป็นการจัดกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อชุมนุมทางการเมืองโดยไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19
.
2. จําเลยกับพวก ยังได้ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์ โดยได้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าต่อสายสัญญาณลําโพงประกาศ โฆษณาสั่งการให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมขึ้นไปยังบริเวณโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นํากระถางต้นไม้ที่วางประดับรอบๆ ฐานอนุสาวรีย์ออกไป ทําให้กิ่งก้านต้นไม้ ซึ่งเป็นทรัพย์สินของกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย หักเสียหาย จํานวน 11 รายการ รวมราคา 273,700 บาท
.
3. จําเลยยังได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ กล่าวคือ จําเลยได้ใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า กล่าวปราศรัยต่อประชาชนผู้เข้าร่วมการชุมนุม ว่า
“ข้อที่ 3 มาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ข้อเรียกร้องมีสามข้อเท่านั้น วันนี้ จะไม่เหมือนเมื่อวานเพราะพี่น้องที่มาจากต่างจังหวัดทยอยมาสมทบกันเรื่อยๆ และ นิสิตนักศึกษาก็ทยอยมาเรื่อยๆ ถ้ามีการสลายการชุมนุมวันนี้ คนที่จะสั่งสลายการชุมนุมมีเพียงคนเดียว คือในหลวงรัชกาลที่ 10 ถ้ามีการสลายการชุมนุม ไม่ต้องไปหาคนอื่นใด”
“อย่างที่ผมเรียนไว้ ถ้ามีการสลายการชุมนุม คนอื่นจะสั่งไม่ได้นอกจากในหลวงรัชกาลที่ 10”
“อย่างที่บอกถ้าวันนี้มีการสลายการชุมนุม คนที่จะสั่งได้คนเดียว คือพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ให้รู้ไว้เช่นนั้น”
ข้อความดังกล่าวที่จําเลยได้กล่าวปราศรัยขึ้นนั้น มิใช่การกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เป็นการหมิ่นประมาทใส่ร้าย ทําให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ทําให้ประชาชนที่หลงเชื่อข้อความที่จําเลยได้พูดปราศรัยดังกล่าวเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ อันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย
.
4. จําเลยกับพวกดังกล่าว ได้ร่วมกันนํารถบรรทุกติดตั้งเครื่องขยายเสียงและตั้งเวทีขนาดเล็ก เต็นท์ผ้าใบสีขาว บนถนนราชดําเนินกลางฝั่งหน้าร้านแมคโดนัลด์ สาขาราชดําเนิน ซึ่งเป็นทางจราจร เพื่อใช้ดําเนินกิจกรรมรวมกลุ่มชุมนุมทางการเมือง เป็นการวาง ตั้ง ยื่น หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน หรือแขวนสิ่งหนึ่งสิ่งใดหรือทอดทิ้งสิ่งของ มีลักษณะเป็นการกีดขวางทางจราจร และทางสาธารณะ
.
5. จําเลยกับพวกดังกล่าว ได้ร่วมกันโฆษณา ปราศรัย บอกกล่าว แสดงความคิดเห็น ต่อประชาชนที่มาร่วมกิจกรรมรวมกันชุมนุมทางการเมือง โดยการใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และไม่ได้รับการยกเว้นใดๆ ตามกฎหมาย
ฟ้อง 9 ข้อหา มีข้อหา ม.112 เป็นหลัก
โดยสรุป อานนท์ ถูกอัยการสั่งฟ้องในคดีนี้ รวม 9 ข้อกล่าวหา ประกอบด้วย
1. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
2. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 “ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อการชุมนุมใดๆ โดยไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด”
3. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 ทำให้เสียทรัพย์
4. พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558
4.1 ร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุมสาธารณะไม่ดูแลและรับผิดชอบการชุมนุมสาธารณะไม่ให้เกิดการขัดขวางเกินสมควรต่อประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ
4.2 ดูแลรับผิดชอบให้ผู้ชุมนุมปฏิบัติตามในอันที่จะไม่ก่อให้เกิดความไม่สะดวกแก่ประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะอันเป็นที่ชุมนุมหรือทําให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อนเกินที่พึ่งคาดหมายได้ว่าเป็นไปตามเหตุอันควร
4.3 บุกรุกหรือทําให้เสียหาย ทําลาย หรือทําด้วยประการใดๆ ให้ใช้การไม่ได้ตามปกติซึ่งทรัพย์สินของผู้อื่น
4.4 ขัดขวางหรือกระทําการใดๆ อันเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะในการคุ้มครอง ความสะดวกของประชาชนในการใช้ที่สาธารณะ และการดูแลการชุมนุมสาธารณะนั้น
4.5 เดินขบวนหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมระหว่างเวลา 18.00 นาฬิกา ถึงเวลา 06.00 นาฬิกา ของวันรุ่งขึ้น และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือคําสั่งของเจ้าพนักงานดูแลการชุมนุมสาธารณะ
5. พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมรวมกลุ่มเพื่อการชุมนุมใดๆ โดยไม่จัดให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด
6. ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ จนอาจเป็นอุปสรรคต่อความปลอดภัยหรือความสะดวกในการจราจร
7. พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 ร่วมกันวาง ตั้ง ยื่น หรือแขวนสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือกระทำด้วยประการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการกีดขวางการจราจร
8. พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใดๆ บนถนน
9. พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ.2493 ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกําลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ในวันดังกล่าวอานนท์ได้ปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยคดีนี้ถือเป็นคดี 112 ที่ถูกอัยการสั่งฟ้องเป็นคดีที่ 10 ของเขา
.
ฐานข้อมูลคดี
คดี 112 “อานนท์” ปราศรัย #ม็อบ14ตุลา ถูกกล่าวหาใส่ร้าย ร.10
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ตร.แจ้ง “ม.112” อานนท์ ส่วนเพนกวินโดน “พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ” กรณีชุมนุม #ม็อบ14ตุลา
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65