“ฟลุค” กิตติพล: “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” หมายถึงตัวเองอดอยาก ไม่มีจะกิน ตกงานซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในห้วงเวลานั้น

“เกิดวันที่ 18 พฤษภาคมครับ วันเดียวกับที่มีการเรียกร้องประชาธิปไตยที่ควังจู

ประโยคที่ฟลุค กิตติพล (สงวนนามสกุล) กล่าวตอบอย่างมาดมั่นเมื่อถามถึงประวัติส่วนตัว เช่นเดียวกับในทุกครั้งที่มีการสนทนา ทุกสิ่งอย่างในชีวิตฟลุคดูจะวนเวียนกับการต่อสู้ทางการเมือง ทั้งเรื่องเศรษฐกิจปากท้อง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ตั้งใจพัวพันตั้งแต่แรก เพราะจากวันที่เลือกเรียนด้านคอมพิวเตอร์กราฟิก สายงานในชีวิตของเขาคงเป็นเรื่องออกแบบเชิงสร้างสรรค์ หรือจะเป็นด้านศิลปกรรมคงจะไม่ผิดนัก 

กระทั่งต้นปี 2563 เขารู้สึกถูกขโมยความฝันไปจากการยุบพรรคการเมืองที่ดูจะเป็นความหวัง ยิ่งการมาถึงของโรคระบาดโควิด-19 ในปีเดียวกัน ทำให้ทุกอย่างชะงักลง

ฟลุคเป็นหนึ่งผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด ด้วยช่วงกลางปี 2564 จำเป็นต้องออกจากงานที่ร้านหมูกระทะแห่งหนึ่งในอุบลราชธานี ท่ามกลางสิ่งที่ประชาชนในหลาย ๆ แห่งเรียกร้องการจัดการด้านเศรษฐกิจและการจัดสรรวัคซีน จากนักเรียนอาชีวะ ฟลุคกลายเป็นผู้เข้าร่วมชุมนุมโดยมีหนังสือเนื้อหาพูดถึงคณะราษฎร และเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 เป็นจุดกระตุ้นความใฝ่รู้ก่อนออกมาเคลื่อนไหว   

จากการตัดสินใจไปร่วมคาร์ม็อบที่สวนสาธารณะห้วยม่วง เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564  พร้อมเขียนข้อความระบายความอัดอั้นถึงสิ่งที่เกิดกับชะตาชีวิตว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ที่ต่อมากลายเป็นต้นตอของการถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ‘112’ 

ฟลุคพยายามต่อสู้ว่า คำว่า “ไม่มีจะแดก” หมายถึงตัวเขาเองที่ไม่มีจะแดก ส่วน “รัชกาลที่ 10” พูดถึงช่วงเวลาโดยไม่ได้ตั้งใจกระทบถึงผู้อื่น

“เช็ค Statement ช่วงเวลานั้นได้เลย เห็นจำนวนเงินในบัญชี จะสามารถพูดว่า ไม่มีจะแดก ได้เต็มปากเต็มคำ มันไม่มีความหมายอื่นนอกจากคำนี้” ฟลุคกล่าว

หลังต่อสู้คดีมาร่วม 2 ปี ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดอ่านคำพิพากษาในวันที่ 7 ก.พ. 2567 ก่อนจะถึงวันนั้นฟลุคชวนนั่งลงเล่าถึงชีวิตที่ผ่านมา ถึงการไม่มีจะกินหรือไม่มีจะแดกของเขาในช่วงเวลานั้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่เกินจากความเป็นจริงเลยสักนิด 

.

จังหวะชีวิตวุ่นวาย-ขัดสน จบ ปวช. ต้องเริ่มทำงานเลย

ฟลุคบอกเล่าถึงชีวิตในอดีตว่า เกิดที่กรุงเทพฯ แต่ด้วยสถานการณ์ชีวิตที่พ่อแม่แยกทางกัน จึงถูกส่งมาอยู่กับยายที่ จ.อุบลราชธานี การเรียนตั้งแต่อยู่ชั้นประถมและมัธยมต้น ฟลุคอยู่สายวิชาการมาตลอด เป็นตัวแทนโรงเรียนแข่งทักษะทางคณิตศาสตร์ ทักษะทางสังคมศึกษา ตอนชั้นประถม ฟลุคเคยแข่งทักษะโครงงานคณิตศาสตร์ได้เหรียญทองแดงของระดับภาค เขาเล่าว่า ตอนนั้นเอานิทานพื้นบ้านของไทยมาแปลงเป็นโจทย์ปัญหา เป็นเรื่องตามีกับห่านวิเศษ “ประมาณว่าตามี มีไข่ทองคำอยู่กี่ฟองอย่างงี้ แล้วก็เอาไข่ไป 3 ฟองเหลือกี่ฟอง หรือไข่ของห่านออกทุก ๆ 3 วัน ผ่านไปเดือนหนึ่งจะได้ไข่กี่ฟอง มันเป็นโจทย์ง่าย ๆ แบบว่าให้เราเอานิทานมาทำเป็นโจทย์ปัญหาอะไรได้บ้าง”

กระทั่งเมื่อ จบ ม.ต้น ฟลุคตัดสินใจไม่เลือกเรียนต่อสายสามัญ เขาเล่าว่า เมื่อการสอนยังใช้ระบบแบบเดิมที่เน้นเรียนมากกว่าลงมือทำ ถ้าให้เรียนคงเรียนได้ แต่ก็คงไม่มีความสุขนัก จึงเลือกสายอาชีวะ

“ผมเป็นคนไม่ชอบจดเลคเชอร์อะไรพวกนี้ เพราะเป็นคนอ่านหนังสือไม่กี่รอบแล้วก็จำได้ ไม่ค่อยจดตามคำสั่งเท่าไหร่  ก็เลยเลือกเรียนอาชีวะเพราะว่าทั้งชั่วโมงเรียน ทั้งวิชาเรียน มันเน้นทำจริงมากกว่า” 

ฟลุคเลือกเรียนคอมพิวเตอร์กราฟิก ที่อยู่ในหมวดศิลปกรรม เพราะชอบงานเกี่ยวกับศิลปะอยู่แล้ว สาขาที่คล้าย ๆ กัน คือคอมพิวเตอร์ธุรกิจ เรียนทำโปรแกรมคำนวณบัญชี แล้วก็ทำการตลาดเป็นหลัก แต่ว่าคอมพิวเตอร์กราฟิกจะเน้นทำงานศิลปะในคอมพิวเตอร์ เช่น ออกแบบโปสเตอร์หรือทำอินโฟกราฟิก

ตลอด 3 ปี ในรั้ววิทยาลัยอาชีวศึกษาอุบลราชธานี นอกจากการเรียน ฟลุคทำงานพาร์ทไทม์ไปด้วย ในปีท้าย ๆ ฟลุคยังได้ทำงานกับองค์การนักวิชาชีพในอนาคตแห่งประเทศไทย (อวท.) ตอนนั้นวิทยาลัยกำหนดนโยบายให้นักศึกษาทุกคนทำจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือสังคม 36 ชั่วโมงต่อ 1 เทอม หน้าที่หลัก ๆ ของฟลุคคือ เป็นตัวตั้งตัวตีพาเพื่อน ๆ ไปทำงานที่จะทำให้เก็บชั่วโมงจนครบ เช่น ไปเก็บขยะบ้าง หรือทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์อื่น ๆ 

กระทั่งเรียนจบ ปวช. ในวัย 18 ปี ชีวิตของฟลุคก็มาเจอทางแยก เพราะหากจะเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้นไปก็ย่อมมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงด้วย “พอผมเรียนจบทางบ้านก็ว่า ไม่มีเงินส่งต่อ เพราะยายผมก็แก่แล้ว กำลังจะเกษียณตัวเอง ช่วงนั้นก็โควิดอีก ก็ค่อนข้างวุ่นและขัดสน ตอนเรียนจบมาก็เริ่มทำงานเลย”

.

ได้งาน-ตกงาน วนไป ก่อนเข้ากรุงเทพฯ ไปหางานทำ ตำรวจมาที่บ้าน “เขาก็บอกว่าผมโดน 112” 

พนักงานร้านหมูกระทะคืองานแรกที่ฟลุคเริ่มทำเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 ตั้งใจจะเก็บเงินซื้อคอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คเพื่อรับงานคอมพิวเตอร์กราฟิก “ญาติผมทำงานที่นั่น ผมถามว่ามีอะไรให้ทำมั้ย เขาก็บอกว่า มาช่วยยกเตายกอะไรวันละ 200 บาท โอเคไหม ผมก็โอเค เพราะว่าตอนนั้นงานค่อนข้างจะหายากสำหรับคนที่เพิ่งจบใหม่”

หน้าที่ของฟลุคในร้านหมูกระทะย่านโรงพยาบาลประจำจังหวัดคือการเช็ดโต๊ะ กวาดพื้น ถูพื้น ยกเตา ยกจาน เสิร์ฟอาหาร ช่วงเวลางาน 17.00 – 23.00 น. กับรายได้ 200 บาทต่อวัน เมื่อถามว่าคุ้มมั้ยในตอนนั้น “ไม่คุ้มก็ต้องคุ้ม มันดีหน่อยตรงเขาเลี้ยงข้าว 2 มื้อ”

ในระหว่างนั้นฟลุคก็ติดตามการเมือง และบางวันที่ว่างก็เข้าร่วมชุมนุมตามที่ต่าง ๆ ในจังหวัดอุบลฯ กระทั่งเดือนกรกฎาคม 2564 ร้านหมูกระทะแจ้งว่า มีคนติดเชื้อโควิดไปนั่งกินที่ร้าน ต้องปิดทำความสะอาด ก่อนแจ้งฟลุคว่าไม่ต้องมาทำงานอีกแล้ว   

ฟลุคว่างอยู่อย่างนั้น 2-3 เดือน ใช้ชีวิตด้วยเงินเก็บที่มีอยู่ในแบบไม่พอก็ต้องพอ กระทั่งได้โอกาสจากรุ่นพี่คนหนึ่งชวนมาทำงานที่ร้านป้ายโฆษณา หน้าที่ของฟลุคคือคุมเครื่องพิมพ์ พิมพ์สติกเกอร์ ไวนิล ไดคัท ที่นั่นฟลุคทำอยู่จนถึงเดือนธันวาคม จนรู้สึกว่าสุขภาพเริ่มไม่ไหว “เราได้กลิ่นสีกลิ่นอะไรพวกนี้แทบจะทุกวัน จนกระทั่งมันมีปัญหาสุขภาพ เพราะว่าเป็นคนร่างกายอ่อนแอมาแต่ไหนแต่ไรอยู่แล้ว” 

แม้จะเป็นงานที่ได้รับเงินเดือน แต่ด้วยเหตุผลด้านสุขภาพ ฟลุคจึงขอออกจากงานนั้น ก่อนไปทำงานล้างจานที่ร้านหมูกระทะ 3 วันต่อสัปดาห์ ทำได้ประมาณ 1 เดือน ทางร้านก็บอกว่า บริษัทแม่ประกาศห้ามรับพาร์ทไทม์ “ผมก็เลยต้องออกอีก ตอนนั้นก็ได้เงินมาประมาณ 2,000 กว่าบาท” 

ช่วงเวลาเดียวกันนั้นฟลุคไปทำงานในมูลนิธิช่วยเหลือคนตอนช่วงโควิด เพื่ออาศัยได้อาหารฟรี แลกกับการช่วยงาน “ตอนนั้นก็แพ็คของช่วยบ้าง ช่วยถ่ายรูปตอนที่เขาเอาของไปให้ชาวบ้านที่ต้องกักตัว ทำให้ผมยิ่งเห็นว่า คนลำบากกันหมดตอนต้นปี 2565” 

ฟลุคเล่าอีกว่า ช่วงนั้นมีสมัครงานไว้บ้าง ใช้วิธีตระเวนขี่มอเตอร์ไซค์ไปหา บางที่รับบ้าง ไม่รับบ้าง มันหายาก ก่อนที่ในวันหนึ่ง “ผมคิดว่าอยู่อย่างนี้ผมไปไม่รอดหรอก เพราะที่บ้านต้องกินต้องใช้” ฟลุคเริ่มคุยกับแม่ว่า จะไปอยู่กรุงเทพฯ ด้วยกัน กระทั่งเดือนมีนาคม 2565 ก่อนเข้ากรุงเทพฯ ไปหางานทำ ตำรวจมาที่บ้านพอดี “ เขาก็บอกว่าผมโดน 112” 

.

“ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” สื่อว่าตัวเองอดอยาก ไม่มีจะกินในช่วงเวลาดังกล่าว 

จากวันที่รู้ว่าถูกดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ฟลุครีบไปกรุงเทพฯ เพื่อที่จะไปบอกเรื่องนี้กับแม่ พร้อมกับหางานเพื่อที่จะหาเงินมาเลี้ยงตัวเองตอนนั้น ฟลุคเล่าว่า งานในกรุงเทพฯ ครั้งนี้เป็นลักษณะ ‘casual’ ทำครั้งละ 3 -4 วัน เป็นงานรับจ้างชั่วคราว เช่น ที่โรงแรมมีการจัดเลี้ยง ก็ไปช่วยเป็นพนักงานเสริมช่วยจัดงาน ช่วยเสิร์ฟ ทำงานวันนั้นก็ได้เงินวันนั้น แล้วมีช่วงที่ฟลุคไป-กลับ อุบลฯ-กรุงเทพฯ เพื่อมาตามนัดหมายคดี 

อัยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลในเดือนมีนาคม 2566 ก่อนมีนัดสืบพยานในเดือนพฤศจิกายน 2566 ที่ฟลุคเข้าเบิกความเป็น 1 ใน 3 พยานจำเลย ต่อหน้าผู้พิพากษา ในวันที่ 27 พ.ย. 2566 ฟลุคเบิกความสรุปได้ว่า

ในวันชุมนุมตนเดินทางไปที่สวนสาธารณะห้วยม่วง โดยเขียนข้อความว่า “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ลงบนแผ่นกระดาษและนำไปใส่กรอบรูปสีทองเพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์ประกอบการร่วมชุมนุม ข้อความดังกล่าวนำมาจากสื่อออนไลน์เพื่อแสดงให้เห็นว่าประชาชนอดอยากไม่มีจะกินในช่วงเวลาดังกล่าว ภายใต้การบริหารของรัฐบาลในขณะนั้น

ข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ตนเจตนาจะสื่อความหมายว่า ตนไม่มีจะกินและได้รับความลำบากในช่วงเวลาที่เกิดเหตุ ซึ่งขณะนั้นอยู่ภายใต้การบริหารของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เหตุที่ใช้คำว่า “ในรัชกาลที่ 10” เนื่องจากมุ่งสื่อความหมายถึงช่วงเวลา เมื่อวันที่ 15 ส.ค. 2564 ซึ่งเป็นช่วงเวลาการบริหารประเทศของรัฐบาลประยุทธ์เท่านั้น ไม่ได้หมายความถึงองค์พระมหากษัตริย์ เนื่องจากตนเข้าใจว่า พระมหากษัตริย์ไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารปกครองบ้านเมือง แต่เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารคือรัฐบาล

.

ก่อนศาลชี้ชะตา: คุณไม่สามารถตีความคอนเท้นต์ศิลปะให้เป็นคดีความได้ 

ทุกวันนี้ในวัย 21 ปี ฟลุคกลับมาทำงานประจำอีกครั้ง กลับมาอยู่อุบลฯ ทำหน้าที่กราฟิกดีไซน์เนอร์ให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นบริษัทเอเจนซี่โฆษณาในกรุงเทพ ฟลุคยังคงติดตามข่าวสารการเมืองอยู่เสมอ และยังมีคดีที่ถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากเหตุเข้าร่วมคาร์ม็อบอีก 2 คดี คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของอัยการ

กับป้ายข้อความ “ไม่มีจะแดกในรัชกาลที่ 10” ที่ทางหนึ่งเป็นเพราะเขาไม่มีจะกินจริง ๆ กับอีกทางหนึ่งผู้ที่ได้อ่านข้อความก็อาจเห็นเป็นคอนเทนต์ศิลปะก็ย่อมได้ “เราตีความว่าเป็นงานศิลปะมากกว่า ซึ่งคุณไม่สามารถตีความศิลปะให้เป็นคดีความได้ จุดประสงค์ของศิลปะไม่ได้ให้เป็นคดีความ”

ก่อนบอกเล่าถึงเรื่องที่บอกกับศาลในวันสืบพยานว่า ตนเป็นพลเมืองดีมาตลอด ไม่เคยมีประวัติอาชญากร ไม่เคยต่อยตีใครจนเลือดตกยางออก ไม่เคยมีคดีฉ้อโกง  

แต่อะไรที่ทำให้เขาเป็นอาชญากรทางการเมือง เพียงเพราะคิดแตกต่างจากผู้มีอำนาจหรือ ซึ่งทุกวันนี้อำนาจเปลี่ยนมือแล้ว ถึงจะไม่ 100% แต่เราก็เป็นเศษซากของความขัดแย้งนั้น “คดีนี้เป็นข้ออ้างของคนที่จงรักภักดี มาตรา 112 เป็นกฎหมายที่เอาไว้ให้คนเหล่านั้นเอาไว้ปกป้องตัวเองมากกว่า” ฟลุคกล่าว

กับเส้นทางต่อสู้ทางการเมือง ฟลุคเล่าว่า ยังเหมือนเดิม เพียงแต่ว่าวิธีการอาจปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ 

กับการเป็นจำเลยคดี ‘112’ ในรอบ 2 ปีที่ผ่านมา ฟลุคบอกว่าเขาเองไม่ได้บทเรียนอะไร แต่ฝ่ายตรงข้ามโดยเฉพาะรัฐ อาจจะได้บทเรียน โดยเฉพาะคนที่อยู่ในเงามืดมาโดยตลอด “คนที่อ้างว่าความขัดแย้งหายไปหมดแล้ว นั่นคือคนที่อยู่ในเงามืดที่เกาะกินสังคมไทย แต่ก่อนเขาแอบอ้างประชาชนตลอดเวลา ทุกวันนี้เขาหันหลังปิดประตูกับประชาชน

X