ชายร่างท้วม ผิวคล้ำ ปรากฏกายที่ศาลจังหวัดอุบลราชธานีพร้อมกับหญิงสูงวัยหลายต่อหลายครั้งในช่วงเดือนพฤษภาคม 2566 พวกเขามักมานั่งรอที่ใต้ต้นโพธิ์ในบริเวณศาลตั้งแต่ 8 โมง ปั้นข้าวเหนียวที่เตรียมใส่กระเป๋ามาเป็นอาหารมื้อเช้า ก่อนพากันเดินหายขึ้นไปที่อาคารศาลชั้น 3 ห้องพิจารณาที่ 10 โดยชายร่างท้วมวัย 30 กว่า คอยช่วยประคองผู้เป็นแม่ที่เดินขึ้นบันไดไม่สะดวกคล่องแคล่วแล้ว
นั่นเป็นนัดสืบพยานรวม 4 วัน ในคดีที่ “แต้ม” (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวชซึ่งมีอาการเรื้อรังมากว่า 10 ปี ถูกจับกุมและถูกฟ้องในข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และทำให้เสียทรัพย์ จากเหตุทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในอำเภอตระการพืชผล จ.อุบลฯ เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564 โดยหลังเสร็จการสืบพยานดังกล่าว ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 ส.ค. 2566 เวลา 09.00 น.
ตลอดช่วงการสืบพยานทั้ง 4 วัน แต้มนั่งอยู่บนม้านั่งยาวในห้องพิจารณาโดยสงบ และตั้งใจฟังการเบิกความของพยานทุกปาก ในช่วงพักเขาหันมาพูดคุย บางครั้งก็บีบนวดให้แม่ คนทั่วไปอาจตั้งคำถามว่า เขาเป็นผู้ป่วยจิตเวชจริงหรือ แต่จิตแพทย์ผู้ตรวจรักษาอาการของแต้มอธิบายต่อศาลในการเบิกความว่า
“…อาการของโรคจิตเภทมีหลายระดับ บางคนยังทำงานได้ คุยรู้เรื่อง ยกเว้นเวลาที่อาการกำเริบหนัก คนที่มีประวัติว่ามีอาการป่วย แม้จะคุยรู้เรื่องก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้ป่วย หากผู้ป่วยกินยาต่อเนื่อง อาการก็จะสงบ แต่ไม่ได้หาย เหมือนคนเป็นไข้หวัด กินยาลดไข้อาการไข้ก็ลด แต่ไม่ได้แปลว่าหายหวัด”
ตรงกับคำบอกเล่าจากแม่ถึงลักษณะนิสัยของแต้ม “ถ้าแต้มทานยาเป็นประจำ เขาจะเป็นคนสุภาพ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ทำงานในไร่ได้ แต่ถ้าไม่ได้ทานยา แต้มจะมีอาการหงุดหงิด ใครพูดอะไรก็ไม่ฟังเท่าไหร่นัก บางครั้งเข้าใจว่าตนเองเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 16”
.
ความพยายามเอาผิด ม.112 กับแต้ม จากเหตุทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์เพราะ “สวรรค์สั่ง”
แต้มมีอาการทางจิตหลังปลดประจำการทหารเกณฑ์จากกองทัพเรือ ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ โดยหมอให้กินยาเป็นประจำ และมีบัตรผู้พิการประเภท 4 (ด้านจิตใจ) ก่อนหน้าเกิดเหตุทำลายพระบรมฉายาลักษณ์นั้น แม่เล่าว่า แต้มทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ กับพี่ชายและเพื่อน วันหนึ่งเพื่อนมีอาการเหนื่อยล้า แต้มจึงแนะนำให้กินยาจิตเวชของเขา แต่หลังจากนั้นเพื่อนต้องกลับบ้านและนำยาของแต้มกลับไปด้วย ทำให้แต้มไม่ได้กินยา และทำงานไม่ได้ พี่ชายจึงให้กลับมาที่บ้าน ไม่กี่วันก็เกิดเหตุในคดีนี้
การดำเนินคดีแต้มด้วยข้อกล่าวหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ตลอดจนถึงชั้นพิจารณาของศาลมีข้อสังเกตหลายประการ
เริ่มตั้งแต่หลังถูกจับกุมซึ่งแต้มรับสารภาพว่า เป็นคนทำลายป้ายจริง ระบุว่า มีเสียงสวรรค์สั่งให้ทำ และเขาเห็นเป็นเพียงป้ายผ้าสีดำเท่านั้น โดยผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ เดินทางมาร่วมสอบปากคำแต้มด้วย จากนั้นมีการแจ้งข้อกล่าวหา “ทำให้เสียทรัพย์” เพียงข้อหาเดียว
แต่แล้วเมื่อถูกนำตัวไปศาลแขวงอุบลฯ อัยการและศาลกลับแนะนำให้พนักงานสอบสวนนำตัวกลับมาดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติม แต่สุดท้ายในวันนั้น ผู้กำกับ สภ.ตระการพืชผล ยืนยันไม่แจ้งข้อหามาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่าแต้มมีอาการทางจิต จึงไม่มีเจตนาที่จะทำผิดมาตรา 112 และให้ปล่อยตัวแต้มโดยไม่ต้องวางประกัน เพราะควบคุมตัวครบ 48 ชม.แล้ว และยังไม่ได้ขอฝากขังต่อศาล โดยที่พนักงานสอบสวนนัดให้แต้มต้องไปรายงานตัวที่ สภ.ตระการพืชผล ถึงเดือนละ 2-3 ครั้ง
แต่แล้วราว 2 เดือน ต่อมา พนักงานสอบสวนออกหมายเรียกให้แต้มไปพบเพื่อสอบปากคำเพิ่มเติม แล้วแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่ม อ้างว่าเป็นคำสั่งตำรวจภูธรภาค 3
นอกจากนี้ ภายหลังอัยการยื่นฟ้องแต้มต่อศาลจังหวัดอุบลฯ ในทั้ง 2 ข้อหา ทั้งก่อนและระหว่างการสืบพยาน อัยการโจทก์ไม่ได้นำพยานหลักฐานที่เกี่ยวกับอาการป่วยทางจิตซึ่งเป็นข้อต่อสู้สำคัญของแต้มส่งต่อศาลเลย ทั้งคำให้การของแม่, ผู้ใหญ่บ้าน, จิตแพทย์ และประวัติการรักษาของแต้ม รวมถึงผลการตรวจวินิจฉัยโรคจากจิตแพทย์ อันอาจส่งผลให้แต้มถูกพิพากษาลงโทษอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ทนายจำเลยต้องขอศาลออกหมายเรียกเอกสารดังกล่าวมาจากอัยการเอง
โดยจากพยานหลักฐานของโจทก์พบว่า ในการสรุปความเห็นว่าการกระทำของแต้มเข้าข่ายผิดมาตรา 112 นั้น ตำรวจอ้างว่า “…หากผู้ต้องหามีอาการป่วยทางจิตเวชและกระทำไปโดยไม่รู้สำนึกตามข้ออ้างแล้ว ผู้ต้องหาก็น่าจะทำลายทรัพย์อื่นๆ ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุนั้นด้วย แต่ผู้ต้องหาหาได้กระทำไม่ โดยเลือกทำลายเฉพาะป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนาของผู้ต้องหาเป็นอย่างดี…”
เหล่านี้ทำให้ทนายจำเลยตั้งข้อสังเกตว่า เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมมุ่งเอาผิดจำเลยในความผิดมาตรา 112 ตามนโยบายของรัฐบาล โดยขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเภทหรือไม่ ภายหลังการสืบพยานทนายจำเลยจึงได้ยื่นคำแถลงปิดคดีเพื่อแสดงข้อสังเกตเหล่านี้ต่อศาลเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดี
ดูข้อมูลคดีทั้งหมด
คดี 112 “แต้ม” อดีตทหารเกณฑ์ป่วยจิตเวช ทำลายรูป ร.10 ที่อุบลฯ
.
คดี 112 กับผู้ป่วยจิตเวช และความคุ้มครองทางกฎหมาย
นอกจากแต้มซึ่งมีอาการทางจิตเวชมากว่า 10 ปี ก่อนถูกดำเนินคดี 112 จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเมื่อวันที่ 18 ก.ค. 2563 จนถึงวันที่ 3 ส.ค. 2566 มีผู้ป่วยจิตเวชถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 อีกอย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ ชัยชนะและสุภิสรา ก่อนหน้านั้นหลังการรัฐประหารของ คสช. ศูนย์ทนายฯ ก็พบผู้ป่วยจิตเวชถูกดำเนินคดีด้วยข้อหานี้อย่างน้อย 10 ราย
กรณีผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกดำเนินคดีเช่นนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ได้เปิดช่องให้ศาลไม่ลงโทษหรือลงโทษให้น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้เพียงใดก็ได้ อันเป็นการให้ความคุ้มครองผู้ป่วยจิตเวช เนื่องจากผู้ป่วยทางจิตไม่มีความรู้สึกผิดชอบอย่างคนธรรมดาทั่ว ๆ ไป
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 ผู้ใดกระทำความผิด ในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือจิตฟั่นเฟือน ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น
แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้
รวมถึงหากศาลเห็นว่า ขณะกระทำผิดจำเลยไม่ได้รู้ความหมายของการกระทำ หรือไม่สามารถแยกแยะได้ว่า เป็นการกระทำที่ผิดหรือไม่ ศาลอาจวินิจฉัยว่า จำเลยไม่มีเจตนา และพิพากษายกฟ้องไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 ก็ได้
ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา…
กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
แต่ที่ผ่านมาผู้ป่วยจิตเวชที่ตกเป็นจำเลยคดีมาตรา 112 หลายรายถูกศาลพิพากษาจำคุก โดยไม่ได้นำเหตุผลเรื่องอาการจิตเวชของจำเลยมาพิจารณาเพื่อยกฟ้องหรือลงโทษสถานเบา เพื่อให้จำเลยมีโอกาสได้รับรักษาอย่างต่อเนื่อง หรือไม่เชื่อว่าขณะกระทำความผิดตามฟ้องจำเลยไม่สามารถบังคับตนเองได้ เช่น คดีการส่งอีเมลของทะเนช, คดีทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของสมัคร หรือคดีโพสต์เฟซบุ๊กของรุ่งเรือง ทำให้จำเลยต้องถูกขังอยู่หลายปี ซ้ำเติมความทุกข์ยากจากอาการป่วยของพวกเขาไปอีก
แต่ก็มีหลายกรณีที่ศาลใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง โดยวินิจฉัยว่า ขณะกระทำความผิด จำเลยรู้ผิดชอบหรือบังคับตนเองได้บ้าง จึงลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น คดีฤาชาจากการโพสต์เฟซบุ๊กที่ศาลลงโทษจำคุกกรรมละ 2 เดือน, คดีจากการยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ ของเสาร์ในศาลชั้นต้นที่ศาลให้จำคุก 3 เดือน หรือคดีของบุปผาที่ถูกตัดสินว่าผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ลงโทษจําคุกใน 13 กระทง กระทงละ 6 เดือน รวมจำคุก 78 เดือน แต่ให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี
รวมถึงคดีของลุงบัณฑิตจากการพูดหลังการสัมมนาของ กกต.ในปี 2546 ซึ่งศาลชั้นต้นและศาลฎีกาลงโทษจำคุก 2 กระทง กระทงละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี โดยให้รอการลงโทษไว้ 3 ปี
ทั้งยังมีกรณีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง โดยเห็นว่า จำเลยได้กระทำความผิดในเวลาที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนได้ เพราะจิตฟั่นเฟือน จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ได้แก่ กรณีของเสาร์ในชั้นอุทธรณ์
และศาลจังหวัดพัทยายังเคยพิพากษายกฟ้องบุปผาในความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากเห็นว่า บุปผาโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้องโดยไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ การกระทําของจําเลยย่อมขาดองค์ประกอบของความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 โดยภายหลังอัยการก็ไม่ได้อุทธรณ์ในประเด็นนี้
กรณีของแต้มซึ่งให้การปฏิเสธ และต่อสู้คดีว่า จำเลยได้ทำลายทรัพย์สินตามฟ้องจริง แต่ไม่มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เพราะขณะกระทำการจำเลยไม่รู้สึกตัว จำเลยได้ยินเสียงจากสวรรค์สั่งให้ทำ อันมีสาเหตุจากอาการป่วยทางจิต จึงน่าจับตาว่าศาลจังหวัดอุบลฯ จะวินิจฉัยและมีคำพิพากษาในลักษณะที่ให้ความคุ้มครองผู้ป่วยจิตเวชหรือไม่
อ่านเพิ่มเติมความเห็นของจิตแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีของผู้ป่วยจิตเวช
- ‘คนบ้า’ ในกระบวนการยุติธรรมไทย การดำเนินคดี ม.112 กับผู้ป่วยจิตเภท
- คุยกับจิตแพทย์: เมื่อผู้ป่วยจิตเภทเผชิญหน้ากับกระบวนการยุติธรรม
.
คดี 112 กับพระบรมฉายาลักษณ์
คดีนี้แต้มให้การปฏิเสธข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 มาตั้งแต่ชั้นสอบสวน นอกจากสาเหตุว่า เขามีอาการทางจิต ทำให้หูแว่วเสียงสั่งการ และเห็นพระบรมฉายาลักษณ์เป็นเพียงป้ายสีดำ ไม่ได้ทำโดยเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ แต่อย่างใด อีกเหตุผลที่ได้ยกมาขอให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องในข้อหา 112 ก็คือ การทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์เป็นแต่เพียงการกระทำที่มุ่งประสงค์ต่อทรัพย์สินเท่านั้น ไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วางแนววินิจฉัยไว้ในคดีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติของศาลจังหวัดพล
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ชยพัทธ์ ประสพดี พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ ยื่นฟ้องแต้มทั้งข้อหา 112 และทำให้เสียทรัพย์ บรรยายฟ้องโดยสรุปว่า
เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564 จําเลยได้ทุบทําลายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณหน้าโรงเรียนตระการพืชผล, ปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์ และ บขส.ตระการพืชผล จนได้รับความเสียหายเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 200,000 บาท โดยพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าว เทศบาลตําบลตระการพืชผลได้จัดทําขึ้นไว้เพื่อแสดงความจงรักภักดี เทิดทูนรัชกาลที่ 10 การกระทําของจําเลยจึงเป็นการกระทําอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้
หากทบทวนคดีที่เกิดจากการแสดงออกหรือกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในช่วง 2-3 ปีนี้ นอกจากข้อหาตามพฤติการณ์คดีจริง เช่น ทำให้เสียทรัพย์, พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ส่วนใหญ่มักจะบวกพ่วงไปด้วยข้อหาตามมาตรา 112 เช่นเดียวกับคดีของแต้ม ทำให้นักกิจกรรมและประชาชนรวม 29 คน ถูกดำเนินคดีข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ใน 26 คดี โดยคำฟ้องหรือบันทึกแจ้งข้อกล่าวหามักมีถ้อยคำที่ไม่มีอยู่ในบทบัญญัติของมาตรา 112 เช่น ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้, ไม่ถวายพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์, ไม่สมควรล่วงละเมิด อันเป็นการตีความขยายความหมายตามอำเภอใจของผู้บังคับใช้กฎหมาย และเป็นอีกปัญหาสำคัญของมาตรา 112
จนถึงปัจจุบันคดีเหล่านี้ซึ่งหลายคดีจำเลยยืนยันต่อสู้คดีว่า การแสดงออกหรือกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 12 คดี มีทั้งที่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิด และที่ยกฟ้อง โดยมี 3 คดี คือ คดีสมพลปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ที่ จ.ปทุมธานี 2 คดี และคดีศิระพัทธ์ปลดรูป ร.10 ลากไปตามถนน ที่ศาลยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 โดยระบุในทำนองว่า ไม่ปรากฏว่าจำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามมาตรา 112
.
พยานโจทก์ชี้แต้มทำลายป้าย แต่ลักษณะโวยวายเหมือนคนสติไม่ดี ขณะแม่-หมอ ยืนยัน แต้มป่วยเรื้อรัง 12 ปี ช่วงเกิดเหตุไม่ได้กินยามา 5 วัน อาจก่อเหตุโดยไม่รู้ตัว
การสืบพยานในคดีนี้มีขึ้นในเดือน พ.ค. 2566 รวมทั้งหมด 4 นัด โดยมี ศิษฏากร สวัสดี ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดอุบลฯ เป็นผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน อัยการโจทก์นำพยานเข้าเบิกความรวม 5 ปาก เป็น รปภ. และอาสาสมัครกู้ภัยผู้เห็นเหตุการณ์ทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์, เลขานุการนายกเทศมนตรี ผู้กล่าวหา, ตำรวจสืบสวนผู้จับกุม และพนักงานสอบสวนในคดี อัยการซึ่งทำหน้าที่เป็นทนายของผู้เสียหายนำพยานซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่เทศบาลเข้าเบิกความในส่วนความเสียหายทางแพ่งรวม 2 ปาก และฝ่ายจำเลยมีแม่และจิตแพทย์ผู้ตรวจรักษาแต้มเบิกความเป็นพยาน
โจทก์นำสืบว่า รปภ. และอาสาสมัครกู้ภัยเห็นแต้มขี่จักรยานยนต์มาทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ที่ตั้งอยู่ตรงเกาะกลางถนนหน้า ร.ร.มัธยมตระการพืชผล และหน่วยกู้ภัยตระการร่วมใจคุณธรรม จากนั้นตำรวจสืบสวนติดตามจับกุมแต้มได้ในวันเกิดเหตุ โดยแต้มรับว่า เป็นผู้ทำลายป้ายจริง เนื่องจากสวรรค์สั่งให้ทํา พนักงานสอบสวนจึงแจ้งข้อกล่าวหา ทําให้เสียทรัพย์ เพียงข้อหาเดียว ต่อมา ผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มว่า การกระทำของจำเลยสื่อว่า จำเลยอาฆาตมาดร้าย หรือดูหมิ่นกษัตริย์หรือไม่ หลังสอบสวนเพิ่มเติม จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และสรุปความเห็นควรสั่งฟ้องแต้มในทั้งสองข้อหา
อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ที่เห็นเหตุการณ์ระบุสอดคล้องกันว่า ขณะก่อเหตุจำเลยมีลักษณะเหมือนคนสติไม่ดี ตะโกนเอะอะโวยวาย ไม่เป็นภาษา นอกจากนี้ ตำรวจสืบสวนซึ่งเข้าค้นบ้านแต้มด้วยตอบทนายจำเลยว่า ไม่พบพยานหลักฐานที่สื่อว่า แต้มมีการดูหมิ่นเหยียดหยาม หรืออาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ หรือเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมือง ทั้งมีข้อสังเกตว่า พยานโจทก์หลายปากเบิกความสอดคล้องกันว่า คำให้การชั้นสอบสวนของพยานส่วนที่ระบุว่า การกระทําของผู้ต้องหาเป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์นั้น พนักงานสอบสวนพิมพ์เอง ไม่ใช่ความเห็นของพยาน
ในส่วนพยานผู้เสียหายเบิกความถึงความเสียหายทางแพ่งว่า ค่าใช้จ่ายจริงในการซ่อมแซมป้ายที่ทั้ง 3 จุด นั้น เป็นเงินทั้งหมด 20,440 บาท เท่านั้น
ด้านแม่แต้มเบิกความเป็นพยานจำเลยว่า แต้มป่วยเป็นโรคจิตเภทเรื้อรังมาประมาณ 12 ปีแล้ว เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลตระการพืชผลและโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ โดยแพทย์ให้กินยา หากแต้มลืมกินยาจะมีอาการหงุดหงิด ทำลายของในบ้าน วันเกิดเหตุแต้มไม่ได้กินยามา 5 วันแล้ว โดยมีจิตแพทย์อธิบายว่า ช่วงเกิดเหตุแต้มขาดการรักษา ซึ่งพอจะอนุมานได้ว่า แต้มอาจจะมีอาการของโรคกำเริบและก่อเหตุโดยไม่รู้ตัว
รายละเอียดในประเด็นสำคัญของการสืบพยานมีดังนี้
.
ผู้เห็นเหตุการณ์ทำลายป้าย: ชายก่อเหตุลักษณะสติไม่ดี จึงไม่ได้เข้าห้าม – คำให้การว่า การกระทำจำเลยสื่อว่าดูหมิ่น อาฆาตกษัตริย์ พงส.พิมพ์เอง ไม่ใช่ความเห็นพยาน
ขณะเกิดเหตุพยานไม่ได้เข้าไปห้ามหรือพูดคุยกับจําเลย เพราะกลัวถูกทําร้าย และเห็นว่า จำเลยอาจจะสติไม่ดีด้วย เนื่องจากจําเลยตะโกนเอะอะโวยวาย จับใจความไม่ได้ เพราะพูดไม่เป็นภาษา พยานพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่ในป้อมยามด้วยกันว่า จําเลยน่าจะบ้า
ไพโรจน์ วรรณวัตร รปภ.ร.ร.มัธยมตระการพืชผล ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ไพโรจน์ วรรณวัตร พนักงานรักษาความปลอดภัยของโรงเรียนมัธยมตระการพืชผล เบิกความในฐานะพยานโจทก์ผู้เห็นเหตุการณ์ว่า เมื่อปี 2564 จําวันและเดือนไม่ได้ พยานเข้าเวรตามปกติตั้งแต่เวลา 07.00 น. โดยประจำอยู่ที่ป้อมยามหน้าโรงเรียน ติดกับถนนใหญ่
เวลาประมาณ 09.00-10.00 น. พยานเห็นชายรูปร่างท้วม ลักษณะคล้ายคนเมา ขับรถจักรยานยนต์มาหยุดบริเวณเกาะกลางถนน ด้านหน้าป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ห่างจากป้อมยามประมาณ 100 เมตร จากนั้นได้ใช้มือเขย่าป้ายพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อให้ล้ม อยู่ประมาณ 4 – 5 นาที และใช้เท้าถีบที่บริเวณฐานด้วย 2 – 3 ครั้ง
ต่อมา จําเลยขับรถกลับไปในทิศทางเดิม หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที จําเลยก็ขับรถกลับมา ถือไม้ไผ่ยาวประมาณ 1 เมตร มาด้วย จําเลยเขย่าป้าย และใช้ไม้ไผ่ฟาดอีกหลายครั้ง จนพระบรมฉายาลักษณ์ฉีกขาด ก่อนขับรถกลับไปทางเดิม
ที่พยานเบิกความว่า จําเลยมีลักษณะคล้ายคนเมา เพราะระหว่างขับรถจําเลยส่งเสียงเอะอะโวยวายเสียงดัง แต่พยานฟังไม่ออกว่าพูดว่าอะไร ทั้งสองครั้ง
ต่อมาอีกประมาณ 1 ชั่วโมง มีตํารวจมาสอบถามพยานถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากนั้นอีกหลายวัน ตํารวจก็เชิญพยานไปที่ สภ.ตระการพืชผล เพื่อดูภาพจากกล้องวงจรปิด พยานดูแล้วยืนยันว่าเป็นคนเดียวกับที่พยานเห็น
จากนั้นไพโรจน์ตอบทนายจําเลยถามค้านว่า ขณะเกิดเหตุพยานไม่ได้เข้าไปห้ามหรือพูดคุยกับจําเลย เพราะกลัวถูกทําร้าย และเห็นว่า จำเลยอาจจะสติไม่ดีด้วย (ศาลไม่บันทึก ระบุว่า เป็นความเห็นของพยาน) เนื่องจากจําเลยตะโกนเอะอะโวยวาย จับใจความไม่ได้ เพราะพูดไม่เป็นภาษา พยานพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่ในป้อมยามด้วยกันว่า จําเลยน่าจะบ้า
ตามคําให้การของพยานในชั้นสอบสวนที่มีข้อความว่า พยานเห็นว่า การกระทําของผู้ต้องหาสื่อให้เห็นว่า ผู้ต้องหากระทําด้วยอาการอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ และสื่อให้เห็นถึงการดูหมิ่นเหยียดหยาม เกลียดชัง ซึ่งเป็นการกระทําที่ไม่บังควรนั้น พยานให้การต่อพนักงานสอบสวนเพียงว่า การกระทําของจำเลยเป็นสิ่งที่ไม่สมควรเท่านั้น ส่วนข้อความอื่นพนักงานสอบสวนพิมพ์ไปเอง ไม่ใช่ความเห็นของพยาน
ต่อมา ชินกาญ อินทรปัญญา อาสาสมัครหน่วยกู้ภัย ผู้เห็นเหตุการณ์อีกราย เข้าเบิกความว่า วันเกิดเหตุ ซึ่งพยานจำวัน เดือน ปีไม่ได้ เวลาประมาณ 10.00 น. ขณะพยานอยู่ที่หน่วยกู้ภัยตระการร่วมใจคุณธรรม (เยื้องปั๊มน้ำมันคาลเท็กซ์) และเดินออกมาที่หน้าหน่วย เห็นชายคนหนึ่งขับรถจักรยานยนต์ มาหยุดบริเวณริมเกาะกลางถนนซึ่งมีป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ขนาดใหญ่ ตั้งอยู่บนฐาน
ชายคนดังกล่าวใช้เหล็กเสียบเสาธงซึ่งปักอยู่บริเวณนั้น ขว้างไปที่พระบรมฉายาลักษณ์ จากนั้นใช้มือดึงเหล็กเกี่ยวพระบรมฉายาลักษณ์ให้ฉีกขาดลงมา ใช้เวลาอยู่บริเวณนั้นประมาณ 5-10 นาที แล้วจึงขับรถออกไป พยานอยู่ห่างจากที่เกิดเหตุประมาณ 30 เมตร เห็นชายคนดังกล่าวเฉพาะด้านข้าง จําหน้าไม่ได้ ขณะเกิดเหตุชายคนดังกล่าวไม่ได้ส่งเสียงเอะอะโวยวาย
พยานไปให้การต่อพนักงานสอบสวน พนักงานสอบสวนให้ดูภาพจากกล้องวงจรปิดของหน่วยกู้ภัยที่พยานอยู่ พยานยืนยันว่าเป็นเหตุการณ์ที่พยานเห็นจริง และได้ลงลายมือชื่อไว้
เมื่อทนายจําเลยถามค้าน ชินกาญเบิกความตอบว่า ขณะเกิดเหตุตนอยู่คนเดียว ที่ตนไม่ได้เข้าไปห้ามเพราะกลัวอันตราย เนื่องจากชายดังกล่าวมีลักษณะเหมือนคนติดยาเสพติด หรือคนบ้า
วันที่พยานไปให้การต่อพนักงานสอบสวน พยานไม่ได้อ่านบันทึกคําให้การก่อนลงลายมือชื่อ และพนักงานสอบสวนไม่ได้อ่านให้ฟังก่อน
.
ผู้กล่าวหา: ค่าเสียหายจริงเพียง 20,000 – ตำรวจสั่งให้แจ้งความเพิ่มเติมข้อหา ม.112
สุริยัน ประสาร เลขานุการนายกเทศมนตรี เทศบาลตำบลตระการพืชผล ผู้กล่าวหา เบิกความว่า เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564 เวลาประมาณ 16.00 น. พยานได้รับแจ้งจากพนักงานเทศบาลว่า มีคนทําลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จํานวน 3 จุด รวม 5 ป้าย คือบริเวณหน้าโรงเรียนมัธยมตระการพืชผล 2 ป้าย (หน้า-หลัง) หน้าโรงสีเลี่ยงฮง 2 ป้าย (หน้า-หลัง) และที่หน้าสถานีขนส่งตระการพืชผล 1 ป้าย จึงเดินทางไปตรวจสอบความเสียหาย ประเมินความเสียหายเบื้องต้นคือ 200,000 บาท
พยานได้รับมอบอํานาจจากนายกเทศมนตรีให้แจ้งความดําเนินคดีผู้ก่อเหตุ เฉพาะข้อหาทําให้เสียทรัพย์ ต่อมา พนักงานสอบสวนมีคําสั่งให้พยานไปแจ้งความเพิ่มเติมในข้อหา ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พยานจึงได้ไปแจ้งความเพิ่มเติมในวันที่ 9 ม.ค. 2565
พยานทราบภายหลังว่าผู้ก่อเหตุคือจำเลย แต่พยานไม่เคยพบจําเลยมาก่อน เพิ่งมาพบที่ศาลนี้
อย่างไรก็ตาม สุริยันตอบทนายจําเลยถามค้านว่า หลังคํานวณค่าเสียหายใหม่ คงเหลือค่าเสียหายประมาณ 20,000 บาท
นอกจากนี้สุริยันยังระบุเช่นเดียวกับไพโรจน์ว่า ในคําให้การชั้นสอบสวนของพยานส่วนที่ระบุว่า การกระทําของผู้ต้องหาเป็นการดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์นั้น พนักงานสอบสวนจัดพิมพ์ไว้อยู่แล้ว พยานไม่ได้ให้การส่วนนี้
.
ผู้จับกุม: คนปกติคงไม่ตอบ “สวรรค์สั่งให้ทํา” หลังถูกจับกุม ค้นบ้านไม่พบหลักฐานเชื่อมโยง 112 ทั้ง ผบก.ภ.จว.อุบลฯ ไม่มีความเห็นให้แจ้งข้อหา 112
พยานเป็นผู้สอบถามและได้ยินจําเลยตอบด้วยตนเองว่า สวรรค์สั่งให้ทํา แต่พยานไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ และคิดว่า คนปกติคงจะไม่ตอบและทำเช่นนั้น
พ.ต.ท.พีรพล บุญศรัทธา ผู้จับกุม ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พ.ต.ท.พีรพล บุญศรัทธา สารวัตรสืบสวน สภ.ตระการพืชผล ผู้จับกุม เบิกความว่า วันเกิดเหตุ เวลา 12.30 น. พยานได้รับแจ้งจากศูนย์วิทยุว่า มีชายอายุประมาณ 30 ปี สวมกางเกงขาสั้นสีดํา เสื้อวอร์มแขนยาวสีน้ำเงิน ทําลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณเกาะกลางถนนหน้าโรงเรียนมัธยมตระการพืชผล พยานและชุดสืบสวนจึงไปตรวจสอบสถานที่ดังกล่าว และขับรถตามผู้ก่อเหตุไปจนถึงปั๊มคาลเท็กซ์ พบป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ถูกทําลายอีก 1 ป้าย
พยานติดตามต่อไปจนถึง บขส.ตระการพืชผล พบชายลักษณะตรงตามที่ได้รับแจ้งยืนอยู่หน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ขณะนั้นยังไม่ถูกทําลาย จึงเข้าไปสอบถามชื่อ จำเลยตอบชื่อตนเอง พยานถามอีกว่า ได้ทําลายป้ายจริงหรือไม่ จําเลยรับว่า เป็นผู้ทําลายจริง พยานจึงได้เชิญตัวมาที่ สภ.ตระการพืชผล เพื่อสอบถามอีกครั้ง จําเลยยังคงให้การว่าเป็นผู้ทําลายจริง โดยบอกว่าสวรรค์เป็นคนสั่งให้ทํา
พยานได้ให้จําเลยดูภาพจากกล้องวงจรปิดด้วย จําเลยยอมรับว่าเป็นภาพของตนเอง พยานจึงแจ้งข้อหา ทําให้เสียทรัพย์ จําเลยให้การรับสารภาพ จากนั้นพยานจึงจัดทำบันทึกจับกุมและส่งตัวจําเลยให้พนักงานสอบสวนดําเนินคดี
พยานเบิกความใหม่ว่า ไม่ได้สังเกตว่าขณะเดินทางไปถึงหน้าสถานีขนส่ง พระบรมฉายาลักษณ์ถูกทําลายแล้วหรือไม่
ต่อมาพยานย้ายไปรับราชการที่อื่น ไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับคดี
ภาพแต้มวันที่ถูกจับกุม
พ.ต.ท.พีรพล ตอบทนายจําเลยถามค้าน ในเวลาต่อมาว่า พยานมีอํานาจหน้าที่ในการระงับเหตุด้วย แต่ขณะที่พยานเดินทางไปถึงจําเลยไม่ได้ก่อเหตุใดๆ แล้ว
สภ.ตระการพืชผล อยู่ห่างจากโรงเรียนมัธยมตระการพืชผลไม่ถึง 1 กิโลเมตร และห่างจากปั๊มคาลเท็กซ์ประมาณ 1 กิโลเมตร ก่อนรับแจ้งเหตุ พยานไม่ได้ยินเสียงเอะอะโวยวาย
ขณะพบจำเลยที่ บขส. พยานพูดคุยกับจําเลยเป็นภาษาอีสาน และสอบถามจําเลยว่าได้ทําลายป้ายหรือไม่ แต่จําไม่ได้ว่า ได้ระบุในคำถามโดยตรงว่า ทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ หรือไม่
พยานไม่ได้ใส่กุญแจมือจําเลย แต่ไม่ทราบว่าเจ้าพนักงานตํารวจคนอื่นจะใส่หรือไม่
ที่ สภ.ตระการพืชผล พยานเป็นผู้สอบถามและได้ยินจําเลยตอบด้วยตนเองว่า สวรรค์สั่งให้ทํา แต่พยานไม่เชื่อเรื่องนรกสวรรค์ และคิดว่า คนปกติคงจะไม่ตอบและทำเช่นนั้น แต่พยานไม่ได้ให้ความเห็นเช่นนี้กับพนักงานสอบสวนในขณะที่ให้การ
พยานไม่มีความรู้เรื่องจิตเวช
พยานได้ให้การเพิ่มเติมกับพนักงานสอบสวนเมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 ว่า จากการตรวจค้นที่บ้านของจําเลย ไม่พบพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับมาตรา 112 หรือการชุมนุมทางการเมือง แต่พยานไม่ได้ให้การว่า แม่ของจําเลยได้แจ้งด้วยว่าจําเลยป่วย และนํายาที่จําเลยรับประทานมาให้ดู เนื่องจากพยานเข้าใจว่า จำเลยเพียงแต่ไม่สบายธรรมดา เพราะซองยาไม่ได้ระบุชื่อโรงพยาบาล และแม่จำเลยไม่ได้บอกว่าจำเลยเป็นบ้าหรือมีอาการทางจิตเวช
ในวันที่เชิญตัวจําเลยมาสอบถาม พล.ต.ต.สถาพร เอมโอษฐ์ ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานีมาร่วมฟังด้วย ซึ่ง พล.ต.ต.สถาพร ไม่ได้มีความเห็นให้แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
ตำรวจผู้จับกุมเบิกความเพิ่มเติมตอบโจทก์ถามติงว่า ขณะที่พยานพบจําเลย จําเลยมีสภาพปกติ พูดจารู้เรื่อง ตอบคําถามได้ สื่อสารได้ ตอนแจ้งข้อกล่าวหา จําเลยก็รู้เรื่อง รู้ข้อกล่าวหา ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุมตามปกติ ไม่โวยวาย และเมื่อพยานนําภาพจากกล้องวงจรปิดซึ่งเป็นภาพการทําลายพระบรมฉายาลักษณ์ให้จําเลยดู จําเลยก็ยอมรับว่าเป็นผู้ก่อเหตุจริง
.
พนักงานสอบสวน: สอบปากคำแม่ ผู้ใหญ่บ้าน จิตแพทย์ ระบุตรงกัน จำเลยมีอาการทางจิต แต่สุดท้ายพยานมีความเห็นสมควรสั่งฟ้อง
ในวันที่จำเลยถูกจับกุม พล.ต.ต.สถาพร เอมโอษฐ์ ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดอุบลฯ ได้มาร่วมสอบด้วย และมีความเห็นให้แจ้งข้อหาทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น ต่อมาจึงมีการแจ้งข้อหาและดําเนินคดีจําเลยในความผิดตามมาตรา 112 จึงให้มีการส่งตัวจําเลยไปตรวจสภาพการป่วยที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
ร.ต.อ.ประสพโชค แสงต่าย พนักงานสอบสวน ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ร.ต.อ.ประสพโชค แสงต่าย พนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า วันเกิดเหตุ เวลาประมาณ 17.00 น. ผู้รับมอบอํานาจจากเทศบาลตําบลตระการพืชผลแจ้งว่า มีคนร้ายทําลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ได้รับความเสียหาย 3 จุด คือ หน้าโรงเรียนมัธยมตระการพืชผล, หน้าปั๊มคาลเท็กซ์ แลหน้าสถานีขนส่งอําเภอตระการพืชผล พยานจึงเดินทางไปดูสถานที่เกิดเหตุ
วันเดียวกันจําเวลาไม่ได้ เจ้าพนักงานตํารวจนําตัวผู้ต้องหามามอบให้พยาน ซึ่งคือจําเลย พร้อมทั้งมอบบันทึกการจับกุม, ภาพถ่ายจากกล้องวงจรปิด และบัตรนัดของโรงพยาบาลตระการพืชผล พยานแจ้งข้อหาทําให้เสียทรัพย์ จําเลยให้การรับสารภาพ
พยานได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนตามคําสั่งตํารวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี และคณะกรรมการพิจารณาคดีตามคําสั่งสถานีตํารวจภูธรตระการพืชผล
ต่อมา พยานได้รับมอบหมายให้สอบสวนเพิ่มถึงความเห็นในประเด็นว่า การกระทำของจำเลยสื่อว่า จำเลยอาฆาตมาดร้าย หรือดูหมิ่นกษัตริย์หรือไม่ เมื่อสอบสวนพยานเพิ่มเติมแล้ว พยานเห็นว่าการกระทําของจําเลยเป็นสิ่งไม่สมควร พยานจึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามมาตรา 112 จําเลยให้การปฏิเสธ หลังจากนั้นพยานมีความเห็นควรสั่งฟ้องจําเลยในทั้งสองข้อหา
จากนั้นพนักงานสอบสวนตอบทนายจําเลยถามค้านว่า เดิมพยานพาจําเลยมาฝากขังต่อศาลแขวงอุบลราชธานี ในข้อหาทําให้เสียทรัพย์ แต่จําไม่ได้ว่า ยื่นคําร้องฝากขังแล้วหรือไม่ ก่อนผู้บังคับบัญชาแจ้งให้นําตัวผู้ต้องหากลับมาก่อน โดยพยานจำสาเหตุไม่ได้ แต่รับว่าเป็นไปตามที่ระบุในคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดอุบลฯ เรื่องแต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน (ศาลไม่ได้บันทึก)
พยานรับว่า ในวันที่จำเลยถูกจับกุม พล.ต.ต.สถาพร เอมโอษฐ์ ผู้บังคับการตํารวจภูธรจังหวัดอุบลฯ ได้มาร่วมสอบด้วย และมีความเห็นให้แจ้งข้อหาทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น (ศาลไม่ได้บันทึก)
ต่อมาจึงมีการแจ้งข้อหาและดําเนินคดีจําเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงให้มีการส่งตัวจําเลยไปตรวจสภาพการป่วยที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์
พยานได้สอบปากคําพิชา จําปาป่า ผู้ใหญ่บ้าน และแม่ของจําเลย ทั้งสองให้การว่า จําเลยมีอาการทางจิต รวมทั้งสอบปากคําแพทย์ผู้ตรวจรักษาจําเลย โดยได้ส่งบันทึกคำให้การให้พนักงานอัยการแล้ว
แพทย์โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ได้ตรวจและประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีของจําเลย และทําความเห็นส่งให้พยานแล้ว พยานได้ส่งให้พนักงานอัยการแล้วเช่นกัน
พยานสรุปสำนวนการสอบสวนเสนอผู้บังคับบัญชาไปตามลําดับจนถึงผู้บัญชาการตํารวจภูธรภาค 3 ก่อนมีความเห็นเป็นเอกสารลงมาว่า เห็นควรสั่งฟ้อง ซึ่งพยานได้ส่งให้อัยการแล้ว (อัยการไม่ได้อ้างส่งศาล) ทั้งนี้ ผู้บังคับบัญชาไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช (ศาลไม่ได้บันทึก)
.
พยานผู้เสียหาย: ค่าเสียหายจริงตามใบเสร็จรับเงินรวม 20,440
อภิชิต ทองประสม นิติกร เทศบาลตำบลตระการพืชผล เบิกความในฐานะพยานฝ่ายผู้ร้อง (ผู้เสียหาย) ถึงค่าเสียหายจากเหตุทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ในครั้งนี้ว่า เทศบาลฯ เรียกค่าเสียหายเป็นค่าป้ายไวนิล 4 ป้ายใน 2 จุด รวม 8,000 บาท ส่วนป้ายที่หน้า บขส. มีรูปสำรองที่นำมาใช้ได้เลย จึงไม่ต้องทำเบิกเพื่อซื้อใหม่ และค่าซ่อมแซมฐานรากของป้ายทั้ง 3 จุด รวมค่าเสียหายทั้งสองส่วนเป็นเงิน 20,440 บาท โดยมีหลักฐานเป็นใบเสร็จรับเงินและฎีกาเบิกเงิน ซึ่งมีอัมพร มะลิวัลย์ หัวหน้าสํานักปลัดเทศบาลฯ พยานอีกปาก เป็นผู้จัดทำ บวกดอกเบี้ยร้อยละ 5 รวมเป็นเงิน 21,274 บาท
.
แม่แต้ม: แต้มรู้ว่า การทำลายรูป ร.10 เป็นสิ่งไม่สมควร แม้เป็นทรัพย์สินอื่นก็ไม่สมควร แต่ช่วงเกิดเหตุขาดยา อาการกำเริบ ได้ยินเสียงสวรรค์ให้ทำลายป้ายดำๆ
ที่บ้านพยานมีรูปรัชกาลที่ 10 จำเลยรู้จัก หลังเกิดเหตุจำเลยได้มาเล่าว่า ทำลายป้าย เพราะมีเสียงกระซิบให้ทำลายป้ายที่ขวางหน้า พอจำเลยรู้สติรู้ว่าเป็นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จำเลยก็เสียใจ นอนไม่หลับ พยานและจำเลยรู้ว่า การกระทำตามฟ้องเป็นสิ่งไม่สมควรกระทำ แม้เป็นทรัพย์สินอื่นก็ไม่สมควร เพราะเป็นของคนอื่น
แม่แต้ม ตอบโจทก์ถามค้าน
สุ่น แม่ของแต้ม อาชีพ เกษตรกร เบิกความเป็นพยานจำเลยว่า พยานมีลูก 3 คน โดยจำเลยเป็นคนที่ 2 พยานทราบว่า จำเลยเป็นโรคประสาท ตั้งแต่เป็นทหารเกณฑ์เมื่อประมาณ 12 ปีที่แล้ว มีอาการหงุดหงิด ตาขวาง ทำลายข้าวของที่บ้าน แต่ไม่เคยทำร้ายคน
ครั้งแรกเข้ารักษาที่โรงพยาบาลตระการพืชผล ต่อมา พยานขอให้ส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ เนื่องจากบางครั้งจำเลยมีอาการหนัก โรงพยาบาลตระการพืชผลรักษาไม่ไหว โรงพยาบาลทั้ง 2 แห่ง รักษาโดยการให้ยา จำเลยกินยาตามที่หมอสั่ง แต่บางครั้งก็ลืม หากจำเลยลืมกินยาจะมีอาการหงุดหงิด ทำลายของในบ้าน
วันเกิดเหตุพยานอยู่ที่บ้าน เวลาประมาณ 10.00 น. จำเลยบอกว่าจะไปสมัครงาน พยานห้ามไม่ให้ไป เพราะเป็นช่วงโควิดระบาด และจำเลยก็ไม่ได้ทานยามา 5 วันแล้ว แต่จำเลยไม่ฟังและขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้านไป
ประมาณเที่ยงจำเลยกลับมาบ้าน บอกพยานว่า “แม่ ข้อยไปทุบป้ายมา” พยานฟังแล้วคิดว่า เป็นป้ายโฆษณาทั่วไป แต่เพื่อนบ้านซึ่งบ้านอยู่ฝั่งตรงข้ามของถนนและทราบข่าวจากเฟซบุ๊กตะโกนบอกว่า แต้มไปทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 พยานจึงถามจำเลยว่า ทำไปทำไม จำเลยบอกว่า มีเสียงกระซิบที่หู เป็นเสียงจากสวรรค์ว่าให้ทำลายป้ายดำๆ นั้น ถ้าไม่ทำจะมีอันเป็นไป ถ้ารู้ว่าเป็นพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จะไม่ทำ
ต่อมา เพื่อนบ้านคนเดิมได้รับโทรศัพท์จากญาติที่ทำงานในเมืองว่า มีคนเก็บบัตรประชาชนของจำเลยได้ จึงตะโกนบอกพยานและจำเลย จำเลยจึงขับรถออกไปอีกครั้งเพื่อจะไปหาบัตรประชาชน
หลังจากนั้นตำรวจได้พาจำเลยกลับมาที่บ้าน พยานจึงรู้ว่าจำเลยถูกจับที่ บขส. ตำรวจบอกพยานให้เอาหลักฐานเอกสารเกี่ยวกับจำเลยออกมาให้หมด พยานก็เอายา บัตรคนไข้ บัตรผู้พิการ และเอกสารของจำเลยทั้งหมดออกมาให้ ซึ่งตำรวจได้ถ่ายรูปไป
จากนั้นตำรวจได้เอาตัวจำเลยไปที่ สภ.ตระการพืชผล พยานตามไปด้วย ตำรวจถามพยานว่า จำเลยเคยก่อเหตุแบบนี้มั้ย พยานตอบว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรก ตำรวจถามอีกว่า จำเลยเคยไปชุมนุมชู 3 นิ้วมั้ย พยานตอบว่า ไม่เคย ตำรวจยังถามด้วยว่า เป็นประสาทจริงมั้ย พยานตอบว่า จริง และช่วงนี้ (ช่วงเกิดเหตุ) ไม่ได้ทานยา
พยานเคยให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน โดยพนักงานสอบสวนอ่านให้ฟัง เนื่องจากจำเลยอ่านหนังสือไม่ออก แต่เซ็นชื่อได้ และได้เซ็นชื่อในบันทึกคำให้การไว้ พยานทราบในภายหลังว่า ผู้ใหญ่บ้านก็เคยไปให้ปากคำกับตำรวจ แต่ไม่รู้ว่าให้การว่าอย่างไร
ภายหลังเกิดเหตุตำรวจสั่งให้จำเลยไปตรวจที่โรงพยาบาลตระการพืชผล จากนั้นโรงพยาบาลตระการพืชผลได้ส่งต่อไปให้โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ตรวจ โดยพยานตามไปด้วย และนั่งอยู่ด้วยขณะที่แพทย์พูดคุยซักถามจำเลย
ต่อมา แม่แต้มตอบโจทก์ถามค้านว่า หลังจำเลยปลดประจำการแล้วได้กลับมาอยู่กับพยานโดยตลอด เคยไปทำงานที่กรุงเทพฯ เป็นยามธนาคารกรุงไทยไม่ถึง 1 ปี หลังจากนั้นก็กลับมาอยู่กับพยาน โดยพยานเป็นคนพาจำเลยไปรักษาที่โรงพยาบาลตระการพืชผล ถ้าอาการหนักโรงพยาบาลตระการพืชผลก็จะส่งต่อไปที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ บางครั้งได้นอนรักษาตัวที่โรงพยาบาล บางครั้งโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ก็เพียงแต่จ่ายยาให้มากิน และบอกว่า ถ้ายาหมดให้ไปรับยาที่โรงพยาบาลตระการพืชผล
ถ้าจำเลยลืมกินยาจะมีอาการหงุดหงิด ไม่สบายตัว หากพยานเห็นอาการดังกล่าวก็จะให้จำเลยกินยาก่อนเข้านอน เมื่อตื่นขึ้นมาอาการก็จะเป็นปกติ
วันเกิดเหตุพยานห้ามไม่ให้จำเลยไปสมัครงาน เพราะจำเลยมีอาการหงุดหงิด ประสาทขึ้น และเป็นช่วงที่โควิดระบาด แต่จำเลยไม่ฟังจะออกไปให้ได้ และมีอาการโวยวาย พยานรู้ว่าจำเลยขาดยา แต่ไม่ได้ให้กินยา เพราะพยานส่งยาไปให้จำเลยที่กรุงเทพฯ และลูกคนโตบอกว่าส่งยากลับมาแล้ว พยานจึงไม่ได้ไปขอยาใหม่
ที่บ้านพยานมีรูปรัชกาลที่ 10 จำเลยรู้จัก หลังเกิดเหตุจำเลยได้มาเล่าว่า ทำลายป้าย เพราะมีเสียงกระซิบให้ทำลายป้ายที่ขวางหน้า พอจำเลยรู้สติรู้ว่าเป็นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 จำเลยก็เสียใจ นอนไม่หลับ
พยานและจำเลยรู้ว่า การกระทำตามฟ้องเป็นสิ่งไม่สมควรกระทำ แม้เป็นทรัพย์สินอื่นก็ไม่สมควร เพราะเป็นของคนอื่น
.
จิตแพทย์: จำเลยป่วยมา 10 ปี ช่วงเกิดเหตุขาดการรักษา 2 เดือน อนุมานได้ว่า ขณะเกิดเหตุอาจจะมีอาการของโรคกำเริบและไม่รู้ตัว
ณ เวลาเกิดเหตุไม่มีใครที่จะบอกได้ว่า จำเลยมีสติรู้ตัวหรือไม่ แต่จากประวัติการรักษาพอจะอนุมานได้ว่า ช่วงก่อเหตุซึ่งจำเลยขาดยา ประกอบกับเป็นโรคเรื้อรัง และมีการใช้สุราเป็นปัจจัยกระตุ้น จำเลยอาจจะมีอาการของโรคกำเริบและไม่รู้ตัว
นพ.สิปณัฐ ศิลาเกษ แพทย์ รพ.พระศรีมหาโพธิ์ เบิกความต่อศาล
สิปณัฐ ศิลาเกษ แพทย์ชำนาญการประจำโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ ผู้ตรวจรักษาจำเลย เบิกความว่า พยานเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านจิตเวช ทำหน้าที่ตรวจรักษาผู้ป่วยจิตเวชที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ทำงานมาแล้ว 6 ปี
โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์เป็นโรงพยาบาลจิตเวชของรัฐขนาดใหญ่ และเป็นนิติจิตเวชของเขตสุขภาพที่ 10 ทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชที่ถูกดำเนินคดี
เกี่ยวข้องกับคดีนี้พยานเป็นแพทย์เจ้าของไข้ของจำเลย โดยในปี 2564 ตำรวจได้พาจำเลยมารักษาอาการทางจิต พยานให้การบำบัดรักษาโดยการให้ยา ต่อมาตำรวจแจ้งว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับคดี ขอให้พยานประเมินความสามารถในการต่อสู้คดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 14
การประเมินความสามารถของผู้ป่วยจะดำเนินการโดยทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล นักสังคมสงเคราะห์ และนักจิตวิทยา ทำการซักประวัติผู้ป่วย ญาติ ครอบครัว ตลอดจนข้อมูลแวดล้อม เช่น จากตำรวจ จากนั้นมีการทำแบบสอบถามทางจิตเวชแล้วจึงประชุมคอนเฟอเรนซ์สหวิชาชีพทั้ง 4 ฝ่าย เพื่อสรุปอาการและวินิจฉัยโรคของผู้ป่วย
กรณีของจำเลยทีมสหวิชาชีพวินิจฉัยว่า จำเลยป่วยเป็นจิตเภท (Schizophrenia) และโรคติดสุรา และหลังจากประเมินความสามารถในด้านต่างๆ รวม 4 ด้าน สรุปว่า จำเลยมีความสามารถในการต่อสู้คดีได้ จากนั้นพยานได้ทำรายงานส่งตำรวจ โดยระบุความเห็นว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยขาดการรักษา
ตามประวัติของผู้ป่วยในเวชระเบียน ผู้ป่วยเคยรักษามาประมาณ 10 ปีแล้ว ที่โรงพยาบาลศรีธัญญา มารักษาที่โรงพยาบาลตระการพืชผลเมื่อปี 2556 และที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ตั้งแต่วันที่ 10 พ.ย. 2563 ช่วงเกิดเหตุในเดือนพฤศจิกายน 2564 ผู้ป่วยขาดการรักษามา 2 เดือน
คำว่า จิตเภท รากศัพท์มีความหมายว่า จิตแตก แยก หลุดจากความจริง ควบคุมตัวเองไม่ได้ คือการที่ผู้ป่วยมีจิตที่แตก มีอาการหูแว่ว ประสาทหลอน ปัจจุบันยังไม่แน่ชัดในสาเหตุของโรค แต่คาดว่าเป็นอาการผิดปกติของสมอง สันนิษฐานว่า สารสื่อประสาทผิดปกติ ซึ่งโรคดังกล่าวจะเป็นเรื้อรังตลอดชีวิต แต่สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้หากได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
การควบคุมตัวเองไม่ได้ ก็คือ ไม่รู้จักบริบทสังคม ไม่รู้ว่าควรทำอะไร บางครั้งรู้ตัวว่าทำอะไร แต่ควบคุมให้ไม่ทำไม่ได้ หรือรู้ตัวก็จะทำ เพราะไม่รู้ความเหมาะสมตามบริบทของสังคม บางทีก็ไม่รู้เลยว่าตัวเองทำอะไร
ในส่วนของจำเลยเท่าที่แพทย์บันทึกไว้อาการที่สอดคล้องกับโรคจิตเภทคือ มีความหลงผิดว่าตนเองเป็นพระพุทธเจ้า ทั้งมีการรับรู้ผิดปกติคือ เห็นเงาดำ รวมถึงได้ยินเสียงสั่งให้ทำ
ผู้ป่วยจิตเภทมีหลายประเภท บางประเภทมีอาการเด่นในเรื่องการหลงผิด บางประเภทมีอาการเด่นในเรื่องหูแว่ว สำหรับจำเลยมีอาการเด่นคือ เป็นพารานอยด์ ภาษาไทยอาจจะเรียกว่า หวาดระแวง ก็ได้ โดยจะความคิดแปรปรวน หลงผิด ประสาทสัมผัสผิดไป หูแว่ว ประสาทหลอน หวาดกลัว
ผู้ป่วยบางประเภทไม่ก่อความวุ่นวาย จะอยู่นิ่งๆ เฉยๆ ไม่กิน ไม่นอน บางประเภทหลงผิด ระแวง กลัวมากๆ จนทำให้ผู้ป่วยไปก่อเหตุ อาการที่รุนแรงที่สุด คือ ควบคุมตัวเองไม่ได้ แพทย์จะไม่สามารถบอกได้ว่า จะมีอาการรุนแรงหรือไม่ เมื่อไหร่ แต่ถ้าได้รับการรักษาต่อเนื่องมีแนวโน้มว่า อาการจะไม่รุนแรง
อาการของโรคจิตเภทมีหลายระดับ บางคนยังทำงานได้ คุยรู้เรื่อง ยกเว้นเวลาที่อาการกำเริบหนัก คนที่มีประวัติว่ามีอาการป่วย แม้จะคุยรู้เรื่องก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ได้ป่วย หากผู้ป่วยกินยาต่อเนื่อง อาการก็จะสงบ แต่ไม่ได้หาย เหมือนคนเป็นไข้หวัด กินยาลดไข้อาการไข้ก็ลด แต่ไม่ได้แปลว่าหายหวัด
อาการหลักๆ ของจำเลยขณะก่อเหตุ อาจเป็นอาการของโรคจิตเภท ประกอบกับการขาดยา และมีตัวกระตุ้นคือสุรา
ในการประชุมคอนเฟอเรนซ์เพื่อสรุปอาการของจำเลยเมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 ได้เชิญจำเลยและญาติมาร่วมด้วย ขณะนั้นจำเลยได้รับการรักษามาอย่างต่อเนื่องแล้ว
สำหรับอาการป่วยของจำเลย พยานมีคำแนะนำคือ ต้องรักษาอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ส่วนจะนัดมาพบหมอถี่แค่ไหนแล้วแต่อาการ ถ้าอาการดีอาจจะห่าง 3-6 เดือนต่อครั้ง ส่วนยาจะต้องกินทุกวัน ไม่ควรหยุด และมียาฉีดทุก 2-4 สัปดาห์
พยานเคยไปให้การกับพนักงานสอบสวน ตามบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนที่พยานให้การว่า ขณะเกิดเหตุพยานไม่ทราบว่าจำเลยมีสติสัมปชัญญะ หรือรู้สึกในการกระทำผิดของตัวเองหรือไม่นั้น หมายความว่า ณ เวลาเกิดเหตุไม่มีใครที่จะบอกได้ว่า จำเลยมีสติรู้ตัวหรือไม่ แต่จากประวัติการรักษาพอจะอนุมานได้ว่า ช่วงก่อเหตุซึ่งจำเลยขาดยา ประกอบกับเป็นโรคเรื้อรัง และมีการใช้สุราเป็นปัจจัยกระตุ้น จำเลยอาจจะมีอาการของโรคกำเริบและไม่รู้ตัว
นพ.สิปณัฐ ตอบโจทก์ถามค้าน ในเวลาต่อมาว่า ตามประวัติการรักษาของจำเลย ในปี 2563 โรงพยาบาลตระการพืชผลส่งต่อมารักษาที่โรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ เนื่องจากจำเลยมีอาการก้าวร้าว พูดคนเดียว ไม่นอน ซึ่งเป็นอาการที่รุนแรง และแอดมิทเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในในเดือนธันวาคม 2563
ปี 2564 จำเลยอาการดีขึ้น จึงให้ไปรับยาที่โรงพยาบาลตระการพืชผล โดยญาติไปรับแทนและส่งไปให้จำเลยซึ่งไปทำงานที่กรุงเทพฯ ไม่ได้ไปรับยาอยู่ 2 เดือน จากนั้นมาโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2564 หลังเกิดเหตุ
โดยหลักการผู้ป่วยควรมาพบหมอทุกเดือนตามนัดเพื่อดูอาการ แต่ในชีวิตจริงในทางปฏิบัติผู้ป่วยต้องไปทำงาน จึงอนุโลมให้ญาติมารับยาแทนได้
จากนั้น ศาลได้สอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคจิตเภทและอาการของจำเลย นพ.สิปณัฐ เบิกความตอบว่า พยานระบุไม่ได้ว่า ผู้ป่วยขาดยาเป็นเวลานานเท่าไหร่ถึงจะมีอาการกำเริบ โดยเฉลี่ย 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน แต่บางคนขาดยา 2-3 วันก็มีอาการแล้ว
พยานได้สอบถามจำเลยว่า อาการที่ได้ยินเสียงสั่งให้ทำสิ่งต่าง เกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน แต่จำไม่ได้ว่า จำเลยตอบว่าอย่างไร ต้องดูเวชระเบียน
.
คำแถลงปิดคดี: จำเลยป่วยจริง และขาดเจตนาทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ ขอศาลยกฟ้อง
คดีนี้จำเลยต่อสู้คดีว่า ได้ทำลายทรัพย์สินตามฟ้องโจทก์จริง แต่ไม่มีเจตนาดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ เพราะขณะกระทำการจำเลยไม่รู้สึกตัว โดยจำเลยได้นำพยานหลักฐานเข้าสืบสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลย ดังนี้
1. จำเลยนำนายแพทย์สิปณัฐ ศิลาเกษ จิตแพทย์ชำนาญการประจำโรงพยาบาลพระศรีมหาโพธิ์ เข้าเบิกความต่อศาลถึงผลตรวจโรคจิตของจำเลย และให้ความรู้ว่า โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรัง ผู้ป่วยควบคุมตัวเองไม่ได้ ในบางครั้งอาจไม่รู้สึกตัวว่ากระทำสิ่งใดลงไป บางครั้งหวาดระแวง มีอาการหูแว่วประสาทหลอน ต้องเข้ารับการรักษาต่อเนื่องโดยการรับประทานยา จึงจะสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้ตามปกติ กรณีจำเลยกระทำตามฟ้องโจทก์นี้ จำเลยมีเสียงสวรรค์สั่งให้ทำและควบคุมตัวเองไม่ได้
นพ.สิปณัฐ เบิกความต่อศาลอธิบายอีกว่า “เมื่อดูจากประวัติของจำเลยคือขาดการรักษามาระยะหนึ่ง มีการดื่มสุราและลักษณะของโรคเป็นโรคที่เรื้อรัง ไม่หายขาด จึงอาจอนุมานได้ว่าช่วงเกิดเหตุจำเลยมีอาการจิตเภท“
นพ.สิปณัฐ ตรวจรักษาจำเลยมาก่อนเกิดเหตุ จึงน่าเชื่อถือและย่อมสมควรรับฟังข้อเท็จจริงได้ว่า ก่อนและขณะที่จำเลยก่อเหตุจนถึงปัจจุบัน จำเลยมีอาการจิตเภทเรื้อรังที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงย่อมอนุมานได้ว่าขณะก่อเหตุจำเลยที่มีอาการจิตเภท ไม่สามารถควบคุมหรือรู้สำนึกถึงการกระทำของตนได้
2. เมื่อขณะกระทำการตามฟ้องโจทก์จำเลยขาดสติสัมปชัญญะ ไม่สามารถรับรู้ถึงข้อเท็จจริง อันเป็นผลมาจากที่โรคจิตเภท จึงสมควรต้องรับฟังว่า จำเลยขาดเจตนาที่จะทำลายพระบรมฉายาลักษณ์
ประกอบกับพยานโจทก์ปาก พ.ต.ท.พีรพล เบิกความโดยสรุปว่า จำเลยแจ้งตั้งแต่แรก (โดยที่ไม่มีทนายความอยู่ด้วย) ว่า “สวรรค์สั่งให้ทำ” และในตรวจค้นบ้านพักของจำเลยก็ไม่พบพยานหลักฐานที่สื่อให้เห็นว่าผู้ต้องหาดูหมิ่น เหยียดหยามเกลียดชัง หรืออาฆาตมาดร้ายองค์พระมหากษัตริย์ แต่อย่างใด
รวมทั้งไพโรจน์ วรรณฉัตร เบิกความถึงเหตุการณ์ที่เห็นว่า “ขณะเกิดเหตุ มีเพื่อนที่อยู่ด้วยกันกับข้าฯ ด้วย ข้าฯ ยังสอบถามและพูดคุยกันว่า จำเลยน่าจะบ้า” สอดคล้องกับคำให้การชั้นสอบสวนของชินกาญ อินทรปัญญา พยานโจทก์ผู้เห็นเหตุการณ์อีกคนหนึ่งที่ว่า “ข้าฯ เห็นว่าลักษณะการกระทำของผู้ต้องหา มีพฤติการณ์สื่อให้เห็นว่าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำด้วยอาการอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ หรือดูหมิ่น เหยียดหยามเกลียดชัง แต่อย่างใด เนื่องจากลักษณะท่าทางเป็นคนคล้ายๆ มีอาการป่วยทางจิตเวช” แสดงให้เห็นว่าวิญญูชนก็ยังสังเกตได้ว่าจำเลยมีอาการไม่ปกติ
ทั้งนี้ ร.ต.อ.ประสพโชค พนักงานสอบสวนในคดีนี้ ก็ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยป่วยเป็นโรคจิตตั้งแต่แรก จากการสอบปากคำมารดาจำเลย และผู้ใหญ่บ้าน รวมทั้งเป็นผู้จัดทำภาพถ่ายประกอบคดีที่ระบุชัดเจนว่าเป็น “ภาพบัตรประจำตัวผู้ป่วยโรงพยาบาลตระการพืชผล ของคนไข้จิตเวช คือ ผู้ต้องหา …” ทั้งยังเป็นผู้ส่งตัวจำเลยให้แพทย์ตรวจอาการทางจิตด้วยตนเอง
เมื่อรับฟังพยานโจทก์ทั้งสามปากนี้ประกอบกับพยานจำเลยปาก นพ.สิปณัฐ ย่อมต้องรับฟังว่า ที่จำเลยกล่าวอ้างถึงอาการป่วยทางจิตตั้งแต่แรกที่ถูกจับกุมเป็นความจริงทั้งสิ้น
3. วัตถุแห่งการกระทำในคดีนี้เป็นเพียงป้ายภาพ แม้จะเป็นป้ายภาพซึ่งปรากฏพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ก็ตาม แต่ป้ายเหล่านั้นไม่อาจเป็นองค์พระมหากษัตริย์ และไม่ใช่สิ่งแทนองค์พระมหากษัตริย์ ไม่ว่าจะในทางกฎหมายหรือในทางความเป็นจริง ดังที่ฟ้องโจทก์อ้างว่าป้ายภาพตามฟ้องเป็นของเทศบาลตำบลตระการพืชผล ซึ่งหากเป็นองค์พระมหากษัตริย์หรือสิ่งแทนพระมหากษัตริย์ย่อมไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของได้
การที่โจทก์บรรยายฟ้องว่า ป้ายทั้ง 3 รายการได้จัดทำขึ้นไว้เพื่อเป็นการแสดงความจงรักภักดี เชิดชูเกียรติพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และมีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทย จึงเป็นการบรรยายฟ้องโดยตีความขยายความหมายตามอำเภอใจ ผิดเพี้ยนไปจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏต่อศาล นอกจากจะก่อให้เกิดภาระทางคดีความแก่จำเลยโดยไม่เป็นธรรมแล้ว ยังไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใดด้วยประการทั้งปวง
4. ทางนำสืบของโจทก์ยังปรากฏข้อเท็จจริงที่เป็นพิรุธต้องสงสัยว่าการดำเนินคดีจำเลยนี้เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เบื้องต้นโจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยเข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน แต่ในสำนวนคดีกลับปรากฏบันทึกจับกุม ภาพถ่ายคดียังปรากฏภาพจำเลยถูกใส่กุญแจมือ นอกจากนี้ จำเลยถูกแจ้งข้อหาในวันที่เกิดเหตุทันทีเพียงข้อหาเดียวคือทำให้เสียทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น แต่ต่อมาพนักงานสอบสวนปล่อยตัวจำเลยไปแล้วเรียกมาแจ้งข้อหาเพิ่มเติมหลังจากวันเกิดเหตุถึง 2 เดือน
ในชั้นพิจารณา โจทก์ไม่ส่งเอกสารเข้าสู่สำนวนคดีของศาลหลายรายการ โดยเฉพาะเอกสารที่เป็นพยานหลักฐานเกี่ยวข้องกับอาการป่วยโรคจิตของจำเลย (คำให้การมารดาจำเลย ผู้ใหญ่บ้าน จิตแพทย์ และรายงานการตรวจรักษา) ทำให้ทนายจำเลยต้องขอศาลหมายเรียกเข้าสู่สำนวนเอง ทั้งที่พนักงานสอบสวนรวมทั้งอัยการโจทก์มีอำนาจหน้าที่พิสูจน์ความผิด รวมทั้งพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลยในคดีอาญา สะท้อนให้เห็นถึงความพยายามที่จะปกปิดข้อเท็จจริงต่อศาลเพื่อมุ่งหวังผลทางคดีในทางร้ายแก่จำเลย
นอกจากนี้โจทก์ไม่ได้นำสืบถึงและไม่ส่งพยานเอกสารสำคัญในคดี 2 ฉบับ ซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับสาเหตุที่จำเลยถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คือ
1) บันทึกข้อความเรื่อง รายงานเหตุด่วนน่าสนใจ ลงวันที่ 8 พ.ย. 2564 ซึ่งมีเนื้อความในตอนท้ายว่า “3. ในชั้นนี้พนักงานสอบสวนมีความเห็นตรงกันว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับทางการเมือง และไม่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ประกอบกับผู้ใหญ่บ้านและราษฎรใกล้เคียงต่างยืนยันว่าเป็นผู้ป่วยจิตเวช หากขาดยาหรือรับประทานยาไม่ต่อเนื่องจะเกิดอาการดังกล่าว จึงน่าเชื่อได้ว่าไม่น่าเข้าข่ายความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ลงชื่อ พ.ต.อ.บุญเลิศ เลิศวัฒนกิตติ ผู้กำกับการ สภ.ตระการพืชผล
2) ต่อมาเมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 ภายหลังจากแจ้งข้อหาเพิ่มเติมจำเลยเพียง 2 วัน มีการจัดทำเอกสารบันทึกข้อความเรื่อง รายงานเหตุคดีความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ลงชื่อ พ.ต.อ.บุญเลิศ เลิศวัฒนกิตติ เช่นเดียวกัน แต่เนื้อหาใจความกลับเปลี่ยนไปสอดคล้องกับคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดอุบลราชธานี ที่ระบุว่า “..ต่อมา พนักงานอัยการได้คืนสำนวนพร้อมตัวผู้ต้องหา และให้ไปดำเนินการยื่นคำร้องขอผัดฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลแขวงอุบลราชธานี เมื่อศาลได้รับคำร้องและพิจารณาพฤติการณ์แล้ว จึงยกคำร้องโดยแนะนำพนักงานสอบสวนให้ไปดำเนินคดีในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 …”
และแผ่นที่ 2 ระบุว่า “..ซึ่งแม้ว่าจากการสอบสวนผู้ต้องหาจะอ้างว่าตนเองกระทำไปโดยมีจินตนาการว่ามีผู้สั่งการจากสวรรค์ ด้วยภาวะอาการป่วยทางจิต และมีมารดา, ผู้ใหญ่บ้าน ต่างให้การยืนยันว่าผู้ต้องหาเป็นผู้ป่วยจิตเวช แต่จากพฤติการณ์ของผู้ต้องหา… ซึ่งหากผู้ต้องหามีอาการป่วยทางจิตเวชและกระทำไปโดยไม่รู้สำนึกตามข้ออ้างแล้ว ผู้ต้องหาก็น่าจะทำลายทรัพย์อื่นๆ ซึ่งอยู่ใกล้ที่เกิดเหตุนั้นด้วย แต่ผู้ต้องหาหาได้กระทำไม่ โดยเลือกทำลายเฉพาะป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นถึงเจตนาของผู้ต้องหาเป็นอย่างดี…”
การที่ความเห็นในชั้นพนักงานสอบสวนเป็นไปในทางที่ไม่รับฟังข้อเท็จจริงที่ว่า จำเลยป่วยเป็นโรคจิตในขณะกระทำการนั้น น่าสงสัยว่าการดำเนินคดีต่อจำเลยเป็นไปโดยมีอคติ มุ่งเอาผิดจำเลยตามนโยบายของรัฐบาล โดยขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเภท หรือพนักงานสอบสวนไม่อาจมีดุลพินิจได้อย่างอิสระเนื่องจากอยู่ภายใต้ระบบบังคับบัญชาที่อยู่ใต้นโยบายของรัฐบาลอีกชั้นหนึ่ง เป็นผลให้จำเลยต้องถูกดำเนินคดีอาญาร้ายแรงอันเป็นการกระทบต่อสิทธิของจำเลยโดยไม่เป็นธรรมอย่างยิ่ง หากการดำเนินคดีต่อจำเลยนี้เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย่อมไม่สมควรรับฟังข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบทุกประการ
ด้วยเหตุผลในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงดังกล่าว คดีย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งแล้ว หรือมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยไม่มีเจตนากระทำผิดฐานดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ส่วนข้อหาทำให้เสียทรัพย์ของผู้อื่น เนื่องจากขณะกระทำการจำเลยไม่สามารถควบคุมการกระทำของตนเอง จำเลยจึงไม่สมควรต้องรับโทษทางอาญา ส่วนความเสียหายทางแพ่ง ขอศาลได้พิจารณาเหตุสุดวิสัยอันเกิดจากอาการเจ็บป่วยของจำเลยประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนโดยคำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจของจำเลยด้วย
.