ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดี ม.112 ‘เสาร์’ ผู้ป่วยจิตเวช ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาฯ หลังต่อสู้คดีนานเกือบ 7 ปี ชี้ขณะกระทำผิดจำเลยไม่รู้ผิดชอบ จึงไม่ต้องรับโทษ  

24 ก.พ. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีของ “เสาร์” ชาวไทยลื้อ อายุ 57 ปี ซึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเวช โดยถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หลังเข้ายื่นคำร้องที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในปี 2558 ขอเป็นคู่ความกับ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ในคดียึดทรัพย์ เพื่อขอเรียกคืนทรัพย์จากทักษิณที่เขาเชื่อว่า รัชกาลที่ 9 ทรงจัดสรรให้เขารับผิดชอบ โดยเขาหลงไปว่าตัวเองสามารถติดต่อสื่อสารกับรัชกาลที่ 9 ผ่านทางโทรทัศน์ได้ 

คดีนี้ศาลอาญามีคำพิพากษาตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 พ.ย. 2563 โดยพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบมาตรา 65 วรรค 2 ลงโทษจำคุก 3 เดือน เพิ่มโทษเป็น 4 เดือน เหตุเคยต้องโทษจำคุกในคดียาเสพติด แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เนื่องจากคำให้การจำเลยในชั้นสอบสวน และในชั้นพิจารณาเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุให้บรรเทาโทษ คงจำคุก 2 เดือน 20 วัน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเสาร์เคยถูกคุมขังในชั้นฝากขังแล้ว ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. -19 ส.ค. 2558 รวม 84 วัน จึงถือว่าจำคุกมาเกินกว่าโทษตามคำพิพากษา เสาร์จึงไม่ถูกนำตัวไปขังอีก ก่อนที่ทนายความจะเข้ายื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้น ตั้งแต่เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2564

ทั้งนี้ ประเด็นที่ทนายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นมีใจความโดยสรุปว่า จำเลยกระทำไปเพราะความเจ็บป่วย ไม่รู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ รวมถึงข้อความในหนังสือที่จำเลยยื่นต่อศาลฎีกานั้น ไม่ได้เป็นการหมิ่นประมาทหรืออาฆาตมาดร้ายแต่อย่างใด  

ดูฐานข้อมูลคดี เสาร์ ผู้ป่วยจิตเภท คดี 112 (ร้องศาลฎีกาฯ ทวงเงินทักษิณ)

ศาลชี้แม้การกระทำผิดจริงตาม มาตรา 112 แต่จำเลยไม่สามารถรู้ผิดชอบชั่วดี หรือบังคับตนเองได้ขณะก่อเหตุ

ณ ห้องพิจารณา 811 เวลา 10.00 น. เสาร์ ทนายจำเลย ผู้สังเกตการณ์จาก iLaw และศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เดินทางมาร่วมรับฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์

ก่อนศาลเริ่มอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ได้ถามเสาร์ว่า ‘จำเลยได้รับโทษครบแล้วหรือไม่’ อีกทั้งถามว่า ’จำเลยฟังที่ศาลพูดเข้าใจหรือไม่’ โดยเสาร์ได้พยักหน้าแล้วตอบว่ารับโทษครบแล้ว และเข้าใจข้อความที่ศาลพูด

ศาลได้อ่านคำพิพากษา ใจความโดยสรุปว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม มาตรา 112 เนื่องจากข้อความที่อยู่ในคำร้องถือเป็นการหมิ่นประมาท พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์อันเป็นที่พึงเคารพสักการะและอยู่ในฐานะที่จะละเมิดมิได้

อย่างไรก็ตาม จำเลยได้กระทำความผิดในเวลาที่ไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนได้ เพราะจิตฟั่นเฟือน จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรค 1 

ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดในขณะที่รู้ผิดชอบ และสามารถบังคับตนเองได้นั้น ศาลอุทธรณ์ไม่เห็นพ้องด้วย จึงให้ยกฟ้อง

กระบวนการยุติธรรมที่บิดเบี้ยว และภาพ “ผู้ป่วยจิตเวช” ในสายตาของศาล

หลังเผชิญความอยุติธรรมมายาวนานเกือบ 7 ปี เสาร์ได้เดินออกจากห้องพิจารณาพร้อมรอยยิ้ม ก่อนขอบคุณทนายความที่ช่วยเหลือคดีและสวมกอดผู้ที่มาให้กำลังใจ พร้อมทั้งกล่าวว่า ตนรู้สึกโล่งใจหลังจากได้ยินคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ที่สั่งยกฟ้องในคดีดังกล่าว 

นอกจากนี้ คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความของเสาร์ ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเรื่องบรรทัดฐานการดำเนินคดีต่อผู้ป่วยจิตเวช รวมถึงปัญหาการตีความเรื่องอาการจิตเวชที่ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลผู้ตัดสิน มากกว่าจะเป็นข้อเท็จจริงที่วินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวช 

“ตอนสืบพยานในศาลชั้นต้น ทางเรามีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชร่วมเป็นพยาน และพยานคนนี้ก็เป็นคนรักษาอาการของเสาร์มาตั้งแต่ต้น ตอนนั้นศาลรับฟังพยานปากเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาซึ่งเป็นคนรับหนังสือคำร้องจากเสาร์ที่เบิกความว่า ขณะที่เสาร์ยื่นคำร้องยังสามารถพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ได้เป็นระยะเวลา 20 นาที คือการที่เสาร์ไปยื่นคำร้องได้ เขียนเอกสารด้วยตนเองได้แบบนั้น ศาลจึงมีความเห็นว่า เขายังรู้ผิดชอบ รู้ตัว หรือรับรู้ในสิ่งที่ทำลงไป ทั้งๆ ที่แพทย์เบิกความว่า เสาร์กระทำในขณะเจ็บป่วยทางจิต ไม่สามารถบังคับตัวเองได้ และหลงผิดขั้นรุนแรง ซึ่งเรื่องแบบนี้ ศาลควรฟังพยานปากผู้เชี่ยวชาญ มากกว่าบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์” 

“โรคทางจิตเวชนี่มันมีหลากหลายรูปแบบ อาการของแต่ละโรคก็ไม่เหมือนกัน และความเป็นไปของโรคก็ไม่เหมือนกัน บางโรครักษาก็หาย หรือบางโรคอาจจะไม่หาย และมีอาการป่วยคงอยู่ตลอดไป ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเห็นจากพยานผู้เชี่ยวชาญ อย่างที่คนชอบบอกว่า ‘หากศาลไม่ป่วยเอง หรือไม่มีคนป่วยจิตเวชที่บ้าน ศาลไม่เข้าใจหรอก’ ดังนั้นแล้ว เรื่องนี้จึงต้องรับฟังพยานที่เป็นแพทย์เป็นสำคัญ”  

“กรณีที่มีผู้ชายปาขวดแก้วในห้างจนเป็นข่าว และสำนักงานตำรวจแห่งชาติออกมาแถลงยืนยันว่า ‘เขาเป็นผู้ป่วยจิตเวช และเราจะต้องปฎิบัติกับเขาเช่นผู้ป่วย’ นั่นเป็นสิ่งที่เสาร์ควรไ้ด้รับเมื่อ 7 ปีที่แล้ว มันเป็นสิทธิของเสาร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องทำแบบนั้นกับเสาร์ มันเป็นสิทธิที่ผู้ต้องสงสัยหรือผู้ต้องหาทางคดีอาญาต้องได้รับ”

“ถ้าหากเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติแบบนี้เป็นมาตรฐานเดียวกันกับทุกคน เมื่อมีดุลพินิจว่าเขาป่วย ก็ต้องให้เขาเข้าสู่การรักษา และก็ต้องมีความเห็นทางคดีไม่สั่งฟ้องเขาตั้งแต่ชั้นตำรวจ ชั้นคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนคดีมาตรา 112 และอัยการก็ต้องมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องเขา เพราะเขาเป็นคนป่วย ซึ่งอาการมันชัด ขนาดพนักงานสอบสวนเห็นแล้วยังส่งเขาไปตรวจเลย”  

“จิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน สามคำนี้บัญญัติอยู่ในมาตรา 65 แต่สำหรับโรคหลงผิด (Delusion) เป็นอะไรที่ใหม่สำหรับศาลเมื่อปี 2558 และไม่มีโรคหลงผิดในทางกฎหมาย ตอนเราสืบพยานจึงต้องให้แพทย์เบิกความอย่างเจาะจงว่า ที่เสาร์เป็นเนี่ยเข้าข่ายอันไหน เพราะว่าศาลมีภาพคนบ้าแบบเดียว ซึ่งจะเป็นแบบสภาพรกรุงรัง ชอบเก็บข้าวของ และเนื้อตัวเลอะเทอะ ศาลไม่มีภาพคนป่วยแบบ ‘ลุงบัณฑิต’ หรือแบบ ‘เสาร์’ ดังนั้นแล้ว การตีความโดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลจึงเป็นปัญหา”  

สำหรับคดีนี้ เสาร์ถูกนำตัวขึ้นดำเนินคดีในศาลทหารตั้งแต่ปี 2558 โดยช่วงเหตุแห่งคดีเกิดขึ้นระหว่างที่มีประกาศ คสช. ฉบับที่ 37/2557 ที่กำหนดให้คดีพลเรือนบางประเภทอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารบังคับใช้อยู่ ต่อมาในปี 2562 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ได้ออกคำสั่งให้โอนย้ายคดีพลเรือนในศาลทหารกลับไปให้ศาลพลเรือนพิจารณาตามปกติ คดีของเสาร์จึงถูกโอนมาศาลยุติธรรม  โดยเสาร์ใช้เวลาต่อสู้คดีทั้ง 2 ศาลเกือบ 6 ปี และอีกราว 1 ปี ในการอุทธรณ์คดี กระทั่งรับรู้ว่าศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องในวันนี้ รวมเวลาเกือบ 7 ปี กว่าที่เสาร์จะได้รับความเป็นธรรมกลับคืนมาบางส่วน 

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ชวนอ่านเส้นทางการพิจารณาคดี อยุติธรรมยาวนาน และการทวงความยุติธรรมของ ‘เสาร์’ – ผู้ป่วยจิตเวช คดีหมิ่นฯ กษัตริย์

คำพิพากษาศาลชั้นต้น พิพากษา ‘เสาร์’ ผู้ป่วยจิตเวช ยื่นคำร้องศาลฎีกาฯ ผิดฐาน ‘หมิ่นกษัตริย์’ จำคุก 2 เดือน 20 วัน

X