อยุติธรรมยาวนาน และการทวงความยุติธรรมของ ‘เสาร์’ – ผู้ป่วยจิตเวช คดีหมิ่นฯ กษัตริย์

ภายหลังการรัฐประหาร หนึ่งในนโยบายทางกฎหมายของรัฐบาล คสช. ที่สร้างความบิดเบี้ยวให้กับกระบวนการยุติธรรมคือการเร่งรัดการดำเนินคดีตามมาตรา 112 กับประชาชนที่แสดงความเห็นโดยสันติจำนวนมาก การตีความตัวกฎหมายขยายกว้างจนกระทบแม้กระทั่งกลุ่มผู้ป่วยทางจิต มีผู้ป่วยทางจิตหลายคนตกเป็นจำเลย ต้องมีภาระในการต่อสู้คดีและถูกคุมขัง แม้ว่าการกระทำของเขาและเธอเหล่านั้นจะสามารถรับรู้ได้ทั่วไปว่าเป็นเรื่องไม่เป็นเหตุเป็นผล เลื่อนลอย และชัดเจนว่าไม่ใช่ความจริง แต่ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการก็ยังคงดึงดันในการใช้ดุลยพินิจสั่งฟ้องคดี ทั้ง ๆ ที่ผู้ต้องหาขาดเจตนาในการกระทำความผิด และการดำเนินคดีที่ว่าก็ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ในทางสาธารณะแต่อย่างใด

หนึ่งในเหยื่อของกระบวนการดังกล่าวคือ “เสาร์” ชายร่างเล็ก ผิวดำแดง สัญชาติไทลื้อ ผู้เดินทางไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2558 ขอเป็นคู่ความกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดียึดทรัพย์ เพื่อขอเรียกคืนทรัพย์จากทักษิณที่เขาเชื่อว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) ทรงจัดสรรให้เขารับผิดชอบ โดยเขาติดต่อสื่อสารกับรัชกาลที่ 9 ผ่านทางโทรทัศน์ นอกจากผู้พิพากษาศาลฎีกาฯ จะไม่รับคำร้องแล้ว ยังมีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ศาลฯ ไปแจ้งความดำเนินคดีเสาร์ ระบุว่า คำร้องดังกล่าวมีลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 และนับจากวันนั้นจนถึงวันนี้ ยาวนานเกือบ 6 ปี จากศาลทหารสู่ศาลยุติธรรม คดีความของเสาร์กำลังจะถึงหมุดหมายสำคัญ เมื่อศาลอาญาฯ นัดอ่านคำพิพากษาในคดี

.

.

จากความหลงผิดชั่วครู่ สู่การดำเนินคดีมาตรา 112 อันยาวนาน

พื้นเพเดิมของเสาร์เป็นคนสัญชาติไทลื้อ เมื่อช่วงวัยรุ่นมีอาชีพเป็นทหารรับจ้าง และเคยประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ เขาเคยพัวพันกับยาเสพติดจนถูกจับต้องโทษจำคุกถึง 2 ครั้ง เมื่อพ้นโทษมาในครั้งที่ 2 จึงเริ่มมีอาการเหม่อลอยและเริ่มพูดคนเดียวในเรื่องที่คนอื่นไม่สามารถเข้าใจได้ อย่างไรก็ตาม เสาร์ไม่เคยมีประวัติคลุ้มคลั่งจนทำร้ายร่างกายคนอื่น เพียงแต่มีปัญหาในการสื่อสาร ก่อนถูกจับกุมในคดีตามมาตรา 112 เขาทำงานเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัยในจังหวัดปทุมธานี

ความพยายามของเสาร์ในการยื่นหนังสือเพื่อทวงเงินจากทักษิณ ชินวัตร เริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยเสาร์ได้เดินทางไปที่สำนักงานอัยการสูงสุด แผนกคดีพิเศษ เพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าจะยื่นเรื่องขอรื้อฟื้นคดียึดทรัพย์อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร เจ้าหน้าที่ได้บอกให้เสาร์ไปที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แต่เนื่องจากไม่มีเงินจ้างทนายความ เสาร์จึงกลับบ้านแล้วเขียนคำร้องด้วยลายมือมายื่นในวันที่ 13 มีนาคม 2558

ในคำร้องของเสาร์ เขาเชื่อว่า เขาสามารถติดต่อกับรัชกาลที่ 9 ผ่านสื่อได้ พระองค์ทรงจัดสรรเงินและทรงมอบเงินนี้ให้เสาร์เป็นผู้รับผิดชอบ ผ่านทางบัญชีของอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ต่อมาพระองค์ทรงมีรับสั่งให้ทักษิณนำเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้เขาเพื่อให้นำไปสร้างบ้านและทำโครงการปราบปรามยาเสพติดและช่วยเหลือเด็ก  ซึ่งเสาร์ได้ยื่นคำร้องนี้ให้แก่นิติกรชำนาญการประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

เมื่อผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้รับคำร้องของเสาร์ นอกจากจะมีคำสั่งไม่รับคำร้องของเสาร์แล้ว ยังมีคำสั่งให้เลขานุการศาลฎีกาฯ ในขณะนั้น คือ นายอำพันธ์ สมบัติสถาพรกุล ไปแจ้งความกล่าวโทษเสาร์ต่อพนักงานสอบสวน อ้างว่าคำร้องมีลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ต่อมา เลขานุการศาลฎีกาฯ จึงมอบอำนาจให้ นางลัดดาวัลย์ นิยม เจ้าพนักงานยุติธรรมชำนาญการพิเศษ เข้าแจ้งความดำเนินคดีเสาร์ในความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ

.

.

จนเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ได้ออกหมายเรียกเสาร์ เนื่องจากต้องหาว่ากระทำความผิดฐาน หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ฯ โดยให้เสาร์เข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 15 พฤษภาคม 2558 หมายเรียกส่งไปที่บ้านเสาร์ในจังหวัดเชียงราย โดยมีญาติเป็นผู้รับและแจ้งให้เขาทราบ เสาร์เองไม่ได้เห็นหมายจริง ๆ  เสาร์เข้ารายงานตัวที่ สน.ทุ่งสองห้อง ในวันที่ 13 พฤษภาคม 2558 เนื่องจากเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่เรียกตนไปแจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับคำร้องที่ได้ยื่นไป แต่พนักงานสอบสวนแจ้งว่าในคำร้องที่เสาร์ยื่นมีข้อความที่มีลักษณะหมิ่นเบื้องสูง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหาในวันนั้น

28 พฤษภาคม 2558 พนักงานสอบสวนนัดเสาร์เข้าพบอีกครั้งเพื่อลงชื่อรับทราบข้อกล่าวหาในเอกสาร 2 ใบ โดยไม่มีทนายเข้าร่วม เสาร์ได้ให้การปฏิเสธ แต่ยอมรับว่าเป็นผู้เขียนคำร้องยื่นต่อศาลฎีกาฯ จริง จากนั้น พนักงานสอบสวนได้นำตัวเสาร์ไปขออำนาจศาลอาญาฝากขังครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน อ้างว่าเป็นโทษสูงเกิน 3 ปี มีเหตุอันเชื่อว่าน่าหลบหนี หรือยุ่งกับพยานหลักฐาน อีกทั้งยังต้องสอบพยานเพิ่มเติมอีก 4 ปาก โดยศาลอาญาได้อนุญาตให้ฝากขังตามคำร้อง ทำให้เสาร์ถูกนำตัวไปขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยไม่มีญาติมายื่นประกันตัว (ข้อสังเกตว่า คดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาคดีของศาลทหารตามประกาศ คสช. แต่พนักงานสอบสวนกลับนำตัวเสาร์ไปฝากขังที่ศาลอาญา)

ต่อมาวันที่ 15 กรกฎาคม 2558 ระหว่างที่เสาร์ยังคงถูกคุมขัง ทนายความได้ยื่นหนังสือต่อพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ขอให้การเพิ่มเติมและขอให้ส่งตัวเสาร์ไปตรวจอาการทางจิต เนื่องจากมีเหตุควรเชื่อว่าผู้ต้องหาเป็นผู้วิกลจริตและไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ต่อมา เจ้าหน้าที่เรือนจำแจ้งว่า เสาร์ถูกนำตัวไปตรวจกับจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2558

.

ความบิดเบี้ยวของกระบวนการต่อกรณีผู้ป่วยจิตเวช

หลังครบกำหนดฝากขังครั้งที่ 7 ในวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ซึ่งอัยการจะต้องยื่นฟ้องภายในระยะเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เมื่อทนายความเดินทางไปศาลอาญากลับไม่พบชื่อเสาร์ในเอกสารรายชื่อผู้ต้องขังซึ่งถูกเบิกตัวมาจากเรือนจำเพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาคดี ต่อมาจึงทราบว่าพนักงานอัยการยังไม่ได้ยื่นฟ้องเพราะยังไม่ได้รับสำนวนจากพนักงานสอบสวน เมื่อทนายความสอบถามไปยังพนักงานสอบสวนถึงสาเหตุที่ยังไม่ส่งสำนวน ได้รับแจ้งว่า เจ้าหน้าที่ต้องการงดการสอบสวนออกไปก่อนเพื่อส่งผู้ต้องหาเข้ารับการรักษาอาการป่วยทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์จนกว่าจะหายหรือสามารถต่อสู้คดีได้ เสาร์ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำวันที่ 20 สิงหาคม 2558 จากนั้น พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง ได้นำตัวเสาร์ไปเข้ารับการรักษาที่สถาบันกัลยาณ์ฯ และได้ทำเรื่องขออายัดตัวหากเสาร์ได้รับการปล่อยตัวเมื่อการรักษาเสร็จสิ้น

.

.

เวลาผ่านไปจนกระทั่งเดือนธันวาคม 2558 ทนายความได้รับแจ้งผลการตรวจวินิจฉัยจากเจ้าหน้าที่สถาบันกัลยาณ์ฯ ว่า เสาร์เป็นผู้วิกลจริต แต่สามารถต่อสู้คดีได้ ก่อนหน้านั้นเจ้าหน้าที่ได้ส่งรายงานผลให้พนักงานสอบสวน 2 ครั้ง ครั้งแรกคือในวันที่ 5 ตุลาคม 2558 โดยแพทย์มีความเห็นว่า เสาร์มีความเจ็บป่วยทางจิต ขณะประกอบคดีมีความคิดหลงผิด ปัจจุบันยังมีอาการทางจิด ยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ ทว่าในครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 ระยะเวลาราว 2 เดือน เท่านั้น แพทย์กลับรายงานผลการตรวจวินิจฉัยว่า แม้เสาร์ยังมีความคิดหลงผิดอยู่ แต่สามารถสื่อสารเรื่องคดีได้ จึงวินิจฉัยว่า เสาร์สามารถต่อสู้คดีได้แล้ว และให้พนักงานสอบสวนมารับตัวกลับไปดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม

เพื่อจะคืนความเป็นธรรมให้ผู้ต้องหา ทนายความได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อขอให้ทำความเห็นควรไม่สั่งฟ้องเสาร์ และให้ส่งเรื่องตรงไปยังพนักงานสอบสวน เนื่องจากภาวะอาการทางจิตของเสาร์ที่ไม่สมควรถูกดำเนินคดี นอกจากนั้น ทนายยังได้ทำหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังหัวหน้าอัยการศาลทหารกรุงเทพ ขอไม่ให้สั่งฟ้องเสาร์ ด้วยเหตุผลเดียวกัน เพราะแม้จะออกจากโรงพยาบาลแล้ว แต่เสาร์ก็ยังคงมีอาการความคิดหลงผิด เชื่อว่าตนมีความสามารถเกินจริง สามารถสื่อสารกับบุคคลต่าง ๆ ผ่านโทรทัศน์ และมีความสัมพันธ์พิเศษกับบุคคลสำคัญซึ่งไม่ตรงกับความจริง การกระทำของเสาร์จึงไม่ได้มีเจตนาในการที่จะละเมิดกฎหมาย ซึ่งการถูกดำเนินคดีอาจส่งผลกระทบต่อการรักษาพยาบาลของผู้ป่วย

อย่างไรก็ตาม ความพยายามของทนายกลับไม่เป็นผลเมื่อคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมติเห็นควรสั่งฟ้องเสาร์ในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2559 พนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง จึงนำตัวเสาร์จากสถาบันกัลยาณ์ฯ พร้อมสำนวนส่งให้อัยการศาลทหารกรุงเทพเพื่อพิจารณาว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่

ในนัดวันที่ 20  เมษายน 2559 อัยการศาลทหารกรุงเทพมีความเห็นสั่งฟ้องเสาร์ในข้อหาตามมาตรา 112 ในคำฟ้องได้ท้าวความถึงคำร้องที่เสาร์ส่งให้กับศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ตนสามารถติดต่อกับรัชกาลที่ 9 ผ่านสื่อได้ ซึ่งอัยการถือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยเสาร์ให้การปฏิเสธต่อศาลทุกข้อกล่าวหา และศาลให้ประกันตัวหลังทนายความนำสลากออมสินมูลค่า 400,000 บาท ที่ได้จากการระดมทุนช่วยเหลือของกองทุนเพื่อการเข้าถึงความยุติธรรมของนักโทษการเมืองมาวางเป็นหลักประกัน

ในคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ทนายความพยายามชี้ให้เห็นว่า เสาร์ไม่มีเจตนากระทำความผิด เนื่องจากมีอาการป่วยทางจิตเป็นเวลานาน เรื้อรัง และไม่เคยเข้ารับการรักษาเลย จนกระทั่งถูกควบคุมตัวจากความผิดในคดีนี้ถึงได้รับการรักษา และในรายงานผลการตรวจวินิจฉัยก็ระบุว่า จำเลยมีอาการวิกลจริตจริง เสาร์จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรือนจำไม่ใช่สถานที่ที่เหมาะสมสำหรับคนป่วย

ในนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 19 กันยายน 2559 โจทก์แจ้งขอแก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้อง เหตุเพราะจำเลยเคยต้องคำพิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ให้จำคุกฐานมียาเสพติดให้โทษ มีกำหนด 3 ปี ผู้ต้องหาได้กระทำผิดในคดีนี้ภายในเวลา 5 ปี นับแต่วันพ้นโทษ จึงขอให้ศาลเพิ่มโทษฐานกระทำผิดอีก

นอกจากนี้ ในการตรวจพยานหลักฐาน ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ไม่ต้องส่งบันทึกคำให้การของพยานโจทก์ให้ทนายจำเลย ซึ่งทนายจำเลยได้แย้งขอให้บันทึกกรณีนี้ลงในสำนวนไว้ด้วย ก่อนกำหนดนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560

.

พยานโจทก์: ความไม่ลงรอยในนิยามของคำว่า ‘หมิ่นฯ’ และปัญหาการตีความเรื่องอาการจิตเวช

ในคดีนี้ ได้ทำการสืบพยานโจทก์ทั้งหมด 6 ปาก สำหรับพยานโจทก์ปากแรกคือ นางลัดดาวัลย์ นิยม เจ้าพนักงานยุติธรรมชำนาญการพิเศษ ประจำศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้รับมอบอำนาจให้แจ้งความกล่าวโทษจำเลย ลัดดาวัลย์เท้าความว่า ตัวเธอได้รับมอบหน้าที่ให้แจ้งความเท่านั้น แต่ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์โดยตรง ส่วนผู้ที่รับเรื่องโดยตรงคือนิติกรประจำศาลฎีกา นายจุลเดช ละเอียด โดยนายจุลเดชเบิกความว่า หลังจากที่ตนได้รับคำร้องจากเสาร์แล้ว ได้ส่งคำร้องเสนอต่อประธานและองค์คณะผู้พิพากษาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 3 คน ได้แก่ นาย ธนฤกษ์ นิติเศรณี, นาย พิศิฏฐ์ สุดลาภา และนาย สุภัทร์ สุทธิมนัส โดยองค์คณะได้มีมติยกคำร้อง เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้คนทั่วไปสามารถเข้าร้องต่อศาลในลักษณะนี้ได้ ต่อมาเมื่ออ่านเนื้อหาในคำร้องแล้ว เห็นว่ามีลักษณะดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ผู้พิพากษาทั้งสามจึงได้มอบหมายให้หัวหน้าธุรการ คือเลขานุการศาลฎีกาฯ ซึ่งขณะนั้นคือ นายอำพันธ์ สมบัติสถาพรกุล ดำเนินการแจ้งความ และนายอำพันธ์ได้มอบอำนาจให้ลัดดาวัลย์ดำเนินการ

พยานโจทก์ปากสำคัญในคดีคือ ร.ต.ท.วิศรุตภูมิ ชูประยูร พนักงานสอบสวนในคดี เบิกความว่า ตนสังเกตเห็นว่าจำเลยพูดคุยไม่รู้เรื่อง จิตไม่ปกติ จึงดำเนินการส่งตัวไปบำบัดที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์เป็นเวลา 3 เดือน อย่างไรก็ตาม พยานไม่ได้พบแพทย์ผู้ตรวจวินิจฉัยจำเลย และไม่ได้สอบปากคำไว้ เนื่องจากได้ส่งรายงานดังกล่าวให้คณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ และคณะกรรมการไม่ได้สั่งให้สอบแพทย์ผู้ทำการตรวจ ทั้งนี้ พยานยอมรับว่า ในหนังสือของคณะกรรมการพิจารณาคดีหมิ่นฯ ซึ่งมีมติสั่งฟ้องจำเลย ไม่ปรากฏความเห็นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยทางจิตของจำเลย อีกทั้งพนักงานสอบสวนเองก็ไม่ได้สอบปากคำประธานศาลฎีกาฯ เนื่องจากประธานศาลฎีกาฯ ไม่สะดวกให้พยานเข้าพบ รวมทั้งไม่ได้สอบสวนผู้พิพากษาที่มอบอำนาจให้ลัดดาวัลย์เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลยด้วย

ในแง่ของเนื้อหาในคำร้องของเสาร์ที่ยื่นต่อศาลฎีกาฯ นั้น พยานโจทก์ทุกปากไม่สามารถให้ความเห็นอย่างชัดเจนได้ว่า มีลักษณะดูหมิ่นกษัตริย์หรือไม่ นางลัดดาวัลย์ผู้กล่าวหาเห็นว่า เนื่องจากมีถ้อยคำเขียนถึงพระมหากษัตริย์หลายถ้อยคำ จึงรู้สึกว่ามีลักษณะหมิ่นฯ ซึ่งเป็นเพียงความรู้สึกของพยานเอง นายจุลเดชก็เห็นว่า ข้อความที่เสาร์เขียนมีลักษณะไม่บังควรเท่านั้น แต่ยังไม่ถึงขั้นหมิ่นฯ ในบางส่วนยังมีการกล่าวถึงรัชกาลที่ 9 ในลักษณะยกย่อง เชิดชู และรู้คุณสถาบันฯ ไม่ใช่ข้อความมีความหมายในแง่ไม่ดีโดยตรง ขณะที่พนักงานสอบสวนให้ความเห็นว่า แม้ข้อความในคำร้องจะมีลักษณะหมิ่นฯ แต่ก็ยอมรับว่า มีความเลื่อนลอย ไม่น่าเชื่อถือ และในบางถ้อยความก็ไม่ได้มีลักษณะหมิ่นฯ แต่เป็นไปในทำนองชื่นชม 

.

พยานจำเลย: อาการจิตเวชของจำเลยยังคงมีอยู่ แม้อาจดูเหมือนทุเลาลง แต่ยังคงมีอาการหลงผิดที่ยังไม่หาย

คดีนี้สืบพยานจำเลย 4 ปาก ปากแรกคือ นายสมยศ พี่ชายของเสาร์ เบิกความว่า เวลาที่เสาร์อยู่กับพยานมักมีอาการเหม่อลอย บางครั้งฉุนเฉียว และพูดในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ และจำเลยมีพฤติกรรมอย่างนี้มานานแล้ว เมื่อสมยศจะพาไปรักษาเสาร์ก็ไม่ยอมไป หลังเกิดเหตุแม้ตำรวจนำตัวเสาร์ไปรักษา แต่อาการก็ไม่บรรเทาลง หากไม่ได้ทานยาเสาร์จะมีอาการเหม่อลอย เสาร์ยังเคยพูดกับพยานด้วยว่าเขาสามารถพูดคุยกับโทรทัศน์ได้

พยานจำเลยปากที่ 2 นพ.อภิชาติ แสงสิงห์ แพทย์ผู้ทำการตรวจรักษาจำเลย ประจำอยู่ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ได้เบิกความว่า เสาร์ได้รับการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิตเภท มีลักษณะหูแว่ว มีความคิดบิดเบือนจากความจริง เป็นอาการป่วยทางจิตที่ค่อนข้างรุนแรง ทำให้สูญเสียความสามารถในการควบคุมตัวเอง หลังเข้ารับการรักษายังคงมีอาการหลงผิดอยู่ ยังต้องทานยาต่อไป ในการส่งรายงานผลการตรวจวินิจฉัยให้กับพนักงานสอบสวนครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2558 นพ.อภิชาติ มีความเห็นว่า แม้จำเลยเข้าใจและยอมรับขั้นตอนในกระบวนการยุติธรรม แต่ก็ยังมีอาการหลงผิด

สำหรับพยานจำเลยปากที่ 3 คือ ผศ.สาวตรี สุขศรี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า ข้อความตามฟ้องโจทก์ไม่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 เพราะเนื้อหาไม่ใช่การดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย  พยานยังเห็นว่า จำเลยกระทำไปโดยไม่รู้ผิดชอบ ไม่สามารถบังคับตนเองได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 อาจได้รับการยกเว้นโทษ

ผศ.สาวตรี ยังขยายความว่า ในแง่ของการกระทำที่จะผิดมาตรา 112 มี 3 ลักษณะ คือ หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย ซึ่งเนื้อหาของข้อความไม่ใช่การดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้าย ส่วนหมิ่นประมาท หมายถึงการใส่ร้ายให้เกิดความเสียหาย แต่เมื่ออ่านข้อความแล้วรู้สึกว่า มีความเหนือจริงและไม่น่าเชื่อ แต่ก็ไม่เข้าลักษณะการหมิ่นประมาท เมื่ออ่านถ้อยคำและพิจารณาลักษณะจำเลย พยานเห็นว่า ไม่น่าจะเป็นการกระทำของคนที่มีสติสัมปชัญญะ

อย่างไรก็ตาม ในระหว่างการสืบพยานจำเลย ศาลทหารกรุงเทพมีคำสั่งให้โอนคดีไปยังศาลยุติธรรม ตามที่ได้มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 9/2562 อันมีผลเป็นการยกเลิกประกาศ คสช. ที่กำหนดให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีพลเรือนในความผิดบางประเภท

การสืบพยานจำเลยปากสุดท้ายจึงมีขึ้นในศาลอาญาฯ เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ถือเป็นการปิดฉากการดำเนินคดีอย่างยาวนานตลอดระยะเวลาเกือบ 6 ปี พยานจำเลยคือ เสาร์ ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนว่า จำเลยไม่สามารถตอบคำถามได้ ทั้งอัยการและทนายจำเลยต้องถามหลายครั้ง โดยที่จำเลยไม่สามารถพูดประโยคได้อย่างชัดเจน ตอบได้เพียงเป็นถ้อยคำสั้นๆ หลายครั้งไม่ปะติดต่อ ไม่สามารถชี้แจงเรื่องเจตนาในการกระทำได้ และคล้ายจะลืมเรื่องมูลเหตุในคดีไปแล้วส่วนใหญ่

ถึงแม้จะเป็นพยานปากสำคัญ แต่ในห้องพิจารณากลับยังคงเต็มไปด้วยความคลุมเครือจากถ้อยคำไม่ปะติดปะต่อ ความชัดเจนอย่างเดียวตลอดระยะเวลา 6 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งคงไม่มีใครสามารถปฏิเสธได้ นั่นก็คือความบิดเบี้ยวที่เผยร่างออกมาผ่านกระบวนการยุติธรรม และภาพของจำเลยที่ป่วยด้วยโรคทางจิตเวชที่นั่งงองุ้มอยู่ในคอกพยานในฐานะเหยื่ออีกรายที่ถูกกระทำโดยอำนาจของเผด็จการ

.

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในคดี

เสาร์ ผู้ป่วยจิตเภท คดี 112 (ร้องศาลฎีกาฯ ทวงเงินทักษิณ)

X