แจ้งข้อหาพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 5 นักกิจกรรม รวม “ป้าเป้า-ต๋ง ทะลุฟ้า” เหตุร่วมม็อบแฮรี่2 / แห่เทียนไล่เสนียดฯ ขณะอัยการเร่งฟ้อง 2 คดีรถเครื่องเสียงคาร์ม็อบ 1 สิงหา

สัปดาห์แรกของเดือนกันยายน นอกจากสถานการณ์การชุมนุมที่ยังคงระอุต่อเนื่อง ในพื้นที่ภาคกลาง พบว่ามี 5 คดีความด้วยกันที่อัยการมีคำสั่งฟ้องคดี เป็นคดีสืบเนื่องจากกิจกรรมคาร์ม็อบ 2 คดี, คดีจากการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว 1 คดี และคดีความมาตรา 112 อีก 2 คดี ได้แก่ คดีของ “อุกฤษฎ์” นศ.รามฯ ถูกกล่าวหาว่าโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่น ร.10 และราชินี รวม 5 โพสต์ และคดีแอดมินขายปฏิทินเป็ด 112 ถูกฟ้องคดีไปเมื่อวันที่ 1 และ วันที่ 2 กันยายน ตามลำดับ

>> อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 “อุกฤษฎ์” นศ.รามฯ กล่าวหาโพสต์เฟซบุ๊กหมิ่น ‘ร.10-ราชินี’ รวม 5 โพสต์

>> อัยการยื่นฟ้อง ม.112 แอดมินเพจขายปฏิทินเป็ด ชี้เป็นการล้อเลียน ทำให้ปชช.เสื่อมศรัทธา แม้ผตห.ยันไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

ในวันนี้เอง (7 กันยายน 2564) นักกิจกรรมทั้งหมด 5 ราย ยังได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีจากการชุมนุม หนึ่งในนั้นคือ “‘ต๋ง ทะลุฟ้า” หรือ ปนัดดา ศิริมาศกูล ถูกออกหมายเรียกฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ สน.พญาไท จากการร่วมจัดกิจกรรม “รวมพลแห่เทียน ขับไล่เสนียดจัญไร ออกไป” เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564

อีก 3 รายที่ถูกออกหมายเรียกโดย สน.ปทุมวัน หนึ่งในนั้นคือ “ป้าเป้า” หรือ วรวรรณ แซ่อั้ง ถูกตั้งข้อหาหลักฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุร่วมชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาชน หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564

แจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 นักกิจกรรม “ต๋ง ทะลุฟ้า” โดนด้วย เหตุร่วมม็อบแห่เทียน ไล่สเนียดจัญไร 25 ก.ค.

7 กันยายน 2564  ที่ สน.พญาไท “‘ต๋ง ทะลุฟ้า” หรือ ปนัดดา ศิริมาศกูล และ ชนาภา สิทธินววิธ เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหา “ฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เรื่องห้ามชุมนุม” จากการร่วมจัดกิจกรรม “รวมพลแห่เทียน ขับไล่เสนียดจัญไร ออกไป” ที่บริเวณเกาะพญาไท อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ร่วมกับสมาชิกกลุ่มทะลุฟ้าคนอื่นๆ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา

>> “ยิ่งถูกจับ ยิ่งอยากจะสู้”: รู้จัก ‘ต๋ง ทะลุฟ้า’ หญิงเดี่ยว 1 ใน 9 ผู้ถูกคุมขังคดีชุมนุมหน้า ตชด.

ต่อมา ร.ต.อ. อรุณ สิบสิงห์ รองสารวัตร (สอบสวน) สน.พญาไทแจ้งข้อกล่าวหา ทั้งสองให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะยื่นคำให้การภายในวันที่ 27 กันยายน 

สำหรับกิจกรรมหล่อเทียนพรรษาของกลุ่มทะลุฟ้าเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 7 ราย โดยพนักงานสอบสวนได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาต่อ  “ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ในเรือนจำแล้วหนึ่งราย 

>> ตร.สน.พญาไท แจ้งพ.ร.ก.ฉุกเฉิน “ไผ่” ถึงในเรือนจำ! เหตุปราศรัยใน คาร์ม็อบ 25 ก.ค.

แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ -ใช้เครื่องเสียง 3 นักกิจกรรม รวม “ป้าเป้า” เหตุร่วม #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2

ในวันเดียวกัน ที่ สน.ปทุมวัน นักกิจกรรม 3 ราย ได้แก่ วีรวิชญ์ รุ่งเรืองศิริผล, “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง และ ณัฐพงษ์ ภูแก้ว เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในคดีความสืบเนื่องจากกิจกรรมชุมนุม #เสกคาถาปกป้องประชาชน หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2564 ที่บริเวณลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ โดยในคดีนี้มีผู้ต้องหาทั้งหมด 20 ราย โดยมีกรณีของอานนท์ นำภา ที่ถูกกล่าวหาแยกไปในคดีตามมาตรา 112

คดีนี้ มีพนักงานสอบสวนคือ พ.ต.ต.เวียงแก้ว สุภาการณ์ สารวัตร (สอบสวน) สน.ปทุมวัน แจ้งข้อกล่าวหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อทั้งสาม ในขณะที่วีรวิชญ์ถูกตั้งข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตฯ อีกหนึ่งข้อหาด้วย เนื่องจากได้ขึ้นร่วมกล่าวปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว 

ทั้งสามให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา และกำหนดจะยื่นคำให้การเป็นหนังสือเพิ่มเติมในวันที่ 27 กันยายน 2564


อัยการสั่งฟ้องกลุ่มคนรุ่นใหม่นนทบุรี เหตุร่วมคาร์ม็อบ 1 สิงหา ก่อนศาลให้ประกัน วงเงินรายละ 10,000 บาท

ย้อนกลับไปในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564  พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการแขวงนนทบุรี ได้มีคำสั่งฟ้องคดี 7 จำเลย เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี ต่อศาลแขวงนนทบุรี ได้แก่ ปัญญารัตน์ นันทภูษิตานนท์, กนกพร วิทยเวชอมรชัย นักศึกษา, วิชญ์พิเชฐ ลำถึง, ภควัต รุธีรยุทธ, มนทิรา ทุมาภา, ญาชนา โนนเทา และชัชชัย เบียดกลาง ในคดีที่มีเหตุจากการเข้าร่วมกิจกรรม Car Mob เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งทั้งหมดถูกจับกุมในวันเดียวกันนั้น ก่อนถูกนำตัวไปทำบันทึกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ และถูกส่งตัวต่อไปสอบปากคำยัง บก.ตชด. ภาค 1 ก่อนได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็น การสั่งฟ้องของอัยการเกิดขึ้นเมื่อครบ 1 เดือนของเหตุการณ์จับกุม

>>> ตร.จับกุม ‘เครือข่ายคนรุ่นใหม่นนทบุรี’ ร่วม #Carmob ไล่ประยุทธ์ แจ้ง 3 ข้อหา คุมตัวไป ตชด. ก่อนรีบปล่อย

ในคำฟ้อง ระบุข้อหา ได้แก่ 1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุม ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ / 2. ร่วมกันทำให้เกิดเสียงหรือกระทำการอื้ออึงโดยไม่มีเหตุอันควร / 3. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต

พฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า จำเลยทั้ง 7 ได้โดยสารไปบนรถบรรทุก ซึ่งกระบะท้ายรถยนต์มีการดัดแปลงเป็นเวทีและมีการติดตั้งเครื่องขยายเสียง รถคันดังกล่าวขับมาจอดบริเวณริมถนนรัตนาธิเบศร์ขาออก ใต้สถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีพระนั่งเกล้า ก่อนขับไปตามสถานที่สําคัญต่างๆ เมื่อไปจอดสถานที่ใดก็จะหยุดรถและบีบแตรให้เกิดเสียงดัง และเปิดเครื่องขยายเสียงกล่าวเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองและเรื่องวัคซีน โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ต่อมา เจ้าพนักงานได้จับกุมทั้ง 7 และยึดทรัพย์ 5 รายการ เป็นของกลาง ในชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ 

หลังยื่นฟ้อง ศาลแขวงนนทบุรีได้สอบคำให้การจำเลย จำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ทางทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน โดยให้เหตุผลว่าข้อหาที่ถูกฟ้องเป็นข้อหาที่มีโทษเบา พฤติการณ์ข้อกล่าวหาเป็นเพียงการใช้เสรีภาพในการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญ จำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี เป็นบุคคลธรรมดาและนักศึกษา ไม่สามารถไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน

ท้ายสุด ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้ง 7 โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด จำนวนคนละ 10,000 บาท รวม 70,000 จากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 10 มกราคม 2564 เวลา 8.30 น.

สั่งฟ้องคดี 3 คนขับรถโมบายคาร์ม็อบ 1 สิงหา ก่อนศาลให้ประกัน กำหนดหลักทรัพย์รายละ 20,000 บาท

ในวันที่ 1 กันยายน 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 ยังได้ยื่นฟ้องประชาชน 3 ราย ต่อศาลแขวงดุสิต ในคดีเหตุจากการร่วมในกิจกรรมคาร์ม็อบ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มุ่งหน้าไป บก.ตชด. ภาค 1 ซึ่งทั้ง 3 เป็นคนขับรถโมบายสำหรับปราศรัยในการชุมนุม และได้ถูกจับกุมในช่วงกลางดึกของวันเดียวกันนั้น

สำหรับข้อหาตามคำฟ้องได้แก่ 1. ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ / 2. ร่วมกันตั้ง วาง แขวนสิ่งของกีดขวางการจราจร / 3. ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะจนเป็นอุปสรรคต่อการจราจร / 4. ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงไฟฟ้า

สำหรับพฤติการณ์ในคำฟ้องคดี ระบุว่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2564 จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันมั่วสุมจัดกิจกรรมคาร์ม็อบ โดยมีผู้เข้าร่วมราว 200 ราย มีการตั้งขบวนขับขี่รถยนต์และรถจักรยานยนต์ราว 50 คัน และใช้รถบรรทุกหกล้อที่มีการติดตั้งเครื่องขยายเสียงจำนวน 1 คัน อันเป็นการรวมกลุ่มกันของบุคคลมากกว่าห้าคน ที่บริเวณหน้าร้านอาหารแม็คโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ในลักษณะกีดขวางการจราจรและทางสาธารณะ ทําให้ประชาชนที่สัญจรไม่สามารถใช้ทางได้อย่างสะดวก และไม่ได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากเจ้าพนักงานจราจร เพื่อแสดงสัญลักษณ์ทางการเมือง ขับไล่นายกรัฐมนตรี 

จากนั้นร่วมกันเคลื่อนขบวนรถไปตามถนนราชดําเนินกลางมุ่งหน้าแยกดินแดง เข้าถนนวิภาวดีรังสิต (ขาออก) แล้วเคลื่อนขบวนมุ่งหน้าไปร่วมชุมนุมและทํากิจกรรมที่บริเวณหน้า บก.ตชด. ภาค 1 ตําบลคลองห้าจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดเช่นเดียวกัน โดยกิจกรรมไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโรคไวรัสโควิด 19 กับผู้เข้าร่วมชุมนุม ต่อมา เวลาหลังเที่ยงคืน เจ้าพนักงานได้จับกุมจำเลยทั้ง 3 นำส่งพนักงานสอบสวน ทั้งหมดให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวน 

หลังยื่นฟ้อง ศาลแขวงดุสิตได้สอบคำให้การจำเลย ทั้งหมดให้การปฏิเสธ ทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีประกัน โดยให้เหตุผลคล้ายกันกับคดีแรก แต่ได้เพิ่มช้อมูลเรื่องจำเลยทั้งหมดประกอบอาชีพรับจ้าง มีภาระในการเลี้ยงดูครอบครัว 

ท้ายสุด ศาลแขวงดุสิตมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสาม โดยให้วางเงินประกันตัวคนละ 20,000 บาท รวม 60,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลนัดพร้อมคดีต่อไปในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เวลา 09.00 น.

สั่งฟ้อง “จตุพล” ทีมวีโว่ เหตุฝ่าฝืนเคอร์ฟิว ติดสติกเกอร์ไล่ประยุทธ์ ศาลลงโทษปรับ 2,000 บาท

นอกจากนั้น เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 1 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีนายจตุพล ชุ่มมงคล หนึ่งในสมาชิกของกลุ่ม We Volunteer ต่อศาลแขวงพระนครเหนือ เหตุจากการฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องเคอร์ฟิว ตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระหว่างเวลา 21.00 น. – 04.00 น. หลังเขาออกมาติดสติกเกอร์ประท้วงการทำงานของรัฐบาล 

>>> การ์ดวีโว่หนุ่มวัย 31 ถูกจับกลางดึก ขณะออกติดสติ๊กเกอร์ #ไล่ประยุทธ์ ก่อนตร.แจ้งข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

พฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เวลา 01.50 น. ซึ่งอยู่ระหว่างประกาศใช้ข้อกำหนดตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำเลยได้ออกจากเคหสถานมายังบริเวณปากซอยอินทามะระ 55. อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย ในคืนเดียวกันนั้น เจ้าพนักงานได้เข้าจับกุมตัวจำเลย นำส่งพนักงานสอบสวน ชั้นสอบสวน จำเลยให้การปฏิเสธ 

พนักงานอัยการยังระบุอีกว่า การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำโดยรู้สำนึก แต่ขาดความรับผิดชอบต่อส่วนรวมในการป้องกันและควบคุมโรคไม่ให้แพร่ระบาด ขอศาลลงโทษจำเลยในสถานหนัก

หลังทราบฟ้อง จำเลยแสดงความประสงค์ที่จะรับสารภาพ และได้ยื่นคำร้องประกอบการรับสารภาพ ระบุว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยรู้สึกเครีย จึงมีเจตนาเพียงออกมาเดินเล่นให้รู้สึกผ่อนคลาย โดยจำเลยได้สวมหน้ากากผ้าตลอดเวลา ไม่ได้มีเจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย และสถานที่ที่จำเลยถูกจับกุมนั้นอยู่ห่างจากที่พักของจำเลยเพียง 100 เมตรเท่านั้น ไม่ได้มีเจตนาแพร่โรค หรือไม่รับผิดชอบต่อสังคมแต่อย่างใด ขอศาลโปรดลงโทษจำเลยสถานเบา

ท้ายสุด ศาลแขวงพระนครเหนือได้มีคำพิพากษาลงโทษปรับจำเลยเป็นเงิน 5,000 บาท ให้การรับสารภาพลดโทษกึ่งหนึ่ง เหลือ 2,500 บาท แต่เนื่องจากจำเลยถูกขังระหว่างสอบสวนมาแล้ว 1 คืน จึงหักค่าปรับออก 500 บาท สรุปต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 2,000 บาท โดยใช้เงินจากกองทุนราษฏรประสงค์ และทำให้คดีสิ้นสุดลง

X