วนกลับมาอีกครั้ง กับการเยี่ยมผู้ต้องขังทางการเมือง ถ้านับโควิดแพร่ระบาดเป็นระลอกที่สาม เหตุการณ์ผู้ชุมนุมทางเมืองต้องกลับเข้าเรือนจำอาจนับเป็นระลอกที่ห้านับแต่การชุมนุมเยาวชนปลดแอก
ระลอกแรก จากการจับกุมอานนท์ นำภา และไมค์ ภาณุพงศ์ ในวันที่ 7 สิงหาคม 2563 ระลอกที่สอง หลังการถอนประกันอานนท์ นำภา และไมค์ภาณุพงศ์ ช่วงต้นเดือนกันยายน
ระลอกที่สาม การกวาดจับนักกิจกรรมในช่วงวันที่ 13-15 ตุลาคม 2563 ระลอกที่สี่ การขังระหว่างพิจารณาในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2564 จนเริ่มทยอยให้ประกันตัวในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2564
และหนนี้ คือระลอกที่ 5 ในการจับกุมคุมขังนักกิจกรรม 10 ราย ภายในวันเดียว 9 ใน 10 รายถูกคุมขังในคดีชุมนุมหน้ากองบังคับการตำรวจตระเวณชายแดนภาค 1 จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564
ปนัดดา ศิริมาศกูล หรือ ‘ต๋ง ทะลุฟ้า” นับเป็นผู้หญิงคนเดียวในกลุ่มนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังในขณะนี้
.
การเข้าถึงที่ยากลำบาก
10 สิงหาคม 2564 เรามาเยี่ยมต๋งที่ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง ถนนเลียบคลองห้า ตอนแรกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ปฏิเสธไม่ให้เข้าเยี่ยม และกล่าวขอโทษ เนื่องจากอยู่ในช่วงกักตัว ซึ่งกรมราชทัณฑ์มีนโยบายในการกักตัวผู้ต้องขังที่เข้าไปใหม่ 21 วันแรก ไม่ให้ปะปนกับผู้ต้องขังเดิม แต่เรายืนยันสิทธิในการพบทนายความ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งว่าจะให้เยี่ยมได้ผ่านระบบคอนเฟอเรนซ์และต้องรอเซ็ตระบบก่อน
สักครู่เราได้เข้าไปในห้องประชุม อุปกรณ์เตรียมพร้อม เสียงดังฟังชัดผ่านลำโพง และมีเจ้าหน้าที่อยู่ในห้องประชุมดังกล่าวด้วยสามคน ราวกับทนายความกับเจ้าหน้าที่กำลังจะประชุมกัน
เราไม่เห็นความจำเป็นที่เจ้าหน้าที่ต้องนั่งเฝ้าและฟังการสนทนาระหว่างทนายความและลูกความ จึงขอพูดคุยกับลูกความเป็นการส่วนตัว ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยินยอมที่จะออกไปยืนรอหน้าห้องประชุม การสนทนาจึงเริ่มขึ้น
.
รู้สึกว่าตัวเองต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง
ต๋ง หรือ ปนัดดา อายุ 22 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เธอเรียนอยู่คณะศิลปะศาสตร์ สาขาวิชาการท่องเที่ยว ชั้นปีที่ 4
เธอเล่าว่า ตอนแรกตัวเองเป็นเพียงนักศึกษาทั่วไป ไม่ได้สนใจกิจกรรมทางเมืองมากนัก จนกระทั่งมีการยุบพรรคอนาคตใหม่ ในช่วงต้นปี 2563 “รู้สึกว่าตัวเองต้องทำอะไรสักอย่าง ก็เลยจัดแฟลชม็อบที่มหาวิทยาลัยในช่วงต้นปี 2563 หลังจากนั้นพอโควิดมา ก็เคลื่อนไหวออนไลน์ร่วมกับกลุ่มจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก่อตั้งเป็นเครือข่ายนักเรียนนิสิตนักศึกษาเคียงข้างประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (คนป.-PSND)
“หลังจากมีเครือข่ายจึงเริ่มรู้จักกับนักกิจกรรม รู้จักกับชูเวช และกลุ่ม We Fair กลุ่ม iCare และเริ่มจัดม็อบนอกมหาวิทยาลัย ครั้งแรกตรงทางด่วนรังสิต ช่วงกลางปีที่แล้ว หนูทำหน้าที่เป็นพิธีกรบ้าง ปราศรัยบ้างในม็อบต่างๆ หนูชอบพี่ไผ่ หนูมีพี่ไผ่เป็นแรงบันดาลใจ จนเดือนตุลาคม 2563 พี่ไผ่ถูกจับ ภาพวันนั้นทำให้หนูตัดสินใจออกมาเคลื่อนไหวเต็มตัวและเคลื่อนไหวมาเรื่อยๆ จนได้มารู้จักพี่ไผ่จริงๆ”
“ช่วงต้นปี 2564 ที่ผ่านมา ก็เลยไปลงพื้นที่ศึกษาปัญหาเหมืองแร่เมืองเลย ไปลงพื้นที่ที่ชัยภูมิ รู้สึกว่าทีมนี้ (ทีมทะลุฟ้า) มีความหลากหลาย ได้ไปทำค่าย และไปเดินทะลุฟ้า ซึ่งเป็นแคมเปญเดินจากโคราชมาถึงอนุเสาวรีย์ประชาธิปไตย รวม 247.5 กิโลเมตร เป็นการเดินไปส่งเพื่อน
“จนกระทั่งพี่ไผ่ต้องเข้าเรือนจำ หลังจากนั้นจึงมีการก่อตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้าขึ้นข้างทำเนียบ หนูก็อยู่ที่นั่นสองอาทิตย์ทำกิจกรรมมีวงดนตรี เสวนา ปราศรัย จนเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนเอากำลังเข้ามาสลายในตอนเช้ามืด” ต๋งเป็นหนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ถูกควบคุมตัวช่วงเช้าวันนั้น
หลังจากไผ่ออกมาจากเรือนจำ ก็ได้กลับไปพักที่ขอนแก่น แต่ยังคงทำกิจกรรมยืนทะลุฟ้าบริเวณสี่แยกถนนมิตรภาพ หน้ามหาวิทยาลัยขอนแก่น เป็นเวลา 30 วัน
ถึงปัจจุบัน เธอถูกดำเนินคดีจากการร่วมกิจกรรมทางการเมืองไปแล้ว 5 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #ม็อบ27พฤศจิกา ซ้อมต้านรัฐประหาร ที่ห้าแยกลาดพร้าว, คดีชุมนุมหน้า สภ.ภูเขียว เรียกร้องให้ตำรวจขอโทษจากการคุกคามนักเรียน ที่จังหวัดชัยภูมิ, คดีตั้งหมู่บ้านทะลุฟ้า ที่หน้าทำนียบรัฐบาล, คดีชุมนุมม็อบ24มิถุนา #ราษฎรยืนยันดันเพดาน และล่าสุดคือคดีที่เธอถูกคุมขังนี้
.
สันติวิธีอาจจะไม่ได้สงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้ทำให้ใครตายบาดเจ็บ
ต่อมุมมองการเคลื่อนไหวที่เรียกว่า “สันติวิธี” ต๋งเล่าการถกเถียงในค่ายที่ทำให้เธอได้ขบคิดเรื่องนี้
“ช่วงที่ทำค่าย ให้เราทำค่ายสันติวิธี เอาเด็กนักศึกษา เด็กอาชีวะ เด็กนักเรียน มาเข้าค่าย มีถกกันเรื่องสันติวิธี ส่วนตัวมองว่าถ้าอะไรคือการสร้างความไม่สบายใจกับผู้มีอำนาจ แต่ไม่ได้ทำร้ายใครเป็นสันติวิธี เรายอมทำผิดกฏหมาย แต่ไม่กระทบถึงชีวิต เราจัดไปสามค่ายได้คนมาทำงานทุกค่าย เคยมีน้องถามว่าถ้าตำรวจใช้กำลังจะให้พวกเขายืนเฉยๆ เหรอ เราก็ให้เหตุผลว่าสันติวิธีไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องห้ามใจตัวเอง แต่ดีกว่าการใช้ความรุนแรงตอบโต้กลับไป
“วันที่ 1 สิงหาคม มี Car Mob แล้วรถเครื่องเสียงถูกจับ เราเห็นว่าไม่ถูกต้อง วันต่อมา (2 สิงหาคม) กลุ่มทะลุฟ้าจึงไปตามหารถเครื่องเสียงที่สโมสรวิภาวดี หลังจากนั้นก็ไปรวมกับกลุ่ม มธ. ที่หน้า ตชด. เรียกร้องให้ปล่อยตัวพี่ไผ่ และให้เจ้าหน้าที่เปิดทางให้ประชาชน มีมวลชนสาดสีใส่โล่ตำรวจ เรามองว่ามันคือสันติวิธี
“สันติวิธีอาจจะไม่ได้สงบเรียบร้อย แต่ไม่ได้ทำให้ใครตายบาดเจ็บ พอมีเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชนมามาก ก็ยุติการชุมนุม แล้วก็มีหมายตามมา”
.
ทุกก้าวที่ห่างจากศาลมา มันเหมือนเราถูกจำกัดเสรีภาพขึ้นมากเรื่อยๆ
วันที่ 9 สิงหาคม ต๋งมอบตัวตามหมาย ไม่ได้ถูกจับกุม แต่ถูกขอฝากขังที่ศาลจังหวัดธัญบุรี พร้อมเพื่อนอีก 8 คน “พอศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน พวกเราก็อารยะขัดขืนไม่ยอมขึ้นรถผู้ต้องขัง คล้องแขนกันเก้าคน ทำให้เจ้าหน้าที่ต้องเข้ามาดึงไปทีละคนๆ จนเหลือณัฐ หนู เพนกวิน เจ้าหน้าที่ใช้กำลังเพื่อนก็ดิ้น น่าจะบาดเจ็บกันมาก
“วันนั้นรถผู้ต้องขังมารับทั้งหมดไปสามคัน หนูขึ้นรถคันที่สามมาคนเดียวเพราะเจ้าหน้าที่จะพาไปส่งโรงพยาบาล ในระหว่างเกิดเหตุ หนูหายใจถี่ หายใจไม่ออก ไม่มีแรงเลยล้มตัวลงไปนอน ตอนแรกหนูจะไม่ไป แต่ขึ้นรถมาแล้ว ในรถไม่ได้เปิดแอร์ ก็หายใจไม่ได้ เพราะปกติเป็นคนกลัวที่แคบอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่เขาจึงพาไปส่งโรงพยาบาล หมอบอกน่าจะมีภาวะเครียด แต่ไม่ได้จ่ายยาให้ ให้นอนพักอยู่สักครู่ จึงกลับมาคุมขังที่เรือนจำ ทางเรือนจำให้ยานอนหลับหนูมากินสองเม็ด
“ตอนนี้มีรอยฟกช้ำตอนเจ้าหน้าที่กระชากขึ้นรถ ดีขึ้นแล้ว แต่เมื่อวานตอนออกจากศาล หนูรู้สึกว่าทุกก้าวที่ห่างจากศาลมา มันเหมือนเราถูกจำกัดเสรีภาพขึ้นมากเรื่อยๆ
“ที่นี่หนูอยู่ในห้องคนเดียวทั้งชั้น เวลานอนมีผ้าห่มสามผืน ไม่มีคนอื่นอยู่ด้วย ทานข้าวได้น้อย เพราะเป็นคนไม่กินผัก”
.
“ยิ่งถูกจับ หนูยิ่งอยากจะสู้”
ต๋ง ยังคงเรียนไปด้วยควบคู่กับการทำกิจกรรมทางการเมืองไปด้วย เนื่องจากผลกระทบจากโควิด ทำให้การเรียนการสอนอยู่ในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมด แต่ในเทอมก่อน ต๋งดรอปเรียนไป เพราะไม่สามารถหาที่ฝึกงานได้เนื่องจากธุรกิจการท่องเที่ยว ซึ่งเกี่ยวข้องกับสาขาที่เธอเรียน ก็ได้รับผลกระทบจากโควิดเช่นกัน
“เรื่องการสอบ วันพฤหัสบดีนี้จะมีสอบสองวิชา แต่ฝากเพื่อนๆ ไว้แล้ว แต่ถ้าถูกขังนาน อาจมีผลต่อการสอบกลางภาคด้วย ไม่รู้อาจารย์จะให้สอบย้อนหลังได้ไหม”
เมื่อเราถามว่า นอกจากการเรียนมีความกังวลเรื่องอื่นไหม ต๋งไม่ได้มีความกังวล และต้องการสู้ต่อไป แม้จะแลกด้วยอิสรภาพ
“เขาจับเราเพราะเขาไม่อยากให้เราเคลื่อนไหว จะทำให้เรากลัว แต่สำหรับหนูยิ่งถูกจับ หนูยิ่งอยากจะสู้ เพราะไม่อยากให้ใครต้องมาเจอแบบนี้ ไม่อยากให้ใครเข้าเรือนจำ หรือถูกเรียกว่านักโทษ เราไม่ใช่คนผิด เราไม่ได้ฆ่าใครตาย ความรู้สึกที่ต้องโดนขังมันแย่มาก ถามตัวเองว่าเราผิดอะไรเราถึงต้องโดนขัง ไม่อยากให้ใครต้องมาเจอแบบนี้ ตอนออกจากศาล”
เมื่อเราถามว่ามีอะไรต้องการสื่อสารหรือไม่ ต๋งฝากว่า “ไม่ต้องห่วงทางนี้ ขอให้เดินหน้าต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เราไม่ได้รู้สึกว่าจะหยุดสู้แต่อย่างใด ไว้เจอกันที่ปลายทาง”
.
.
สิทธิในการพบทนายความ
เรากลับออกมาจากเรือนจำ เจอน้องจากทีมทะลุฟ้าที่แวะมาซื้อของเยี่ยมและฝากเงินไว้ให้ต๋งในเรือนจำ สำหรับญาติหรือเพื่อนทำได้เพียงซื้อของและฝากเงินเท่านั้น ในระหว่างกักตัวไม่สามารถเยี่ยมได้ และภายหลังกักตัวก็ทำได้เพียงการเยี่ยมผ่านไลน์ ซึ่งจำกัดครั้งและจำนวนคนเยี่ยม
สถานการณ์สำหรับผู้ต้องขังที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดเป็นเช่นนี้มาหลายเดือน แต่ทางกรมราชทัณฑ์ดูเหมือนไม่ได้คำนึงถึงสิทธิในการพบทนายความของผู้ต้องขัง
ทั้งสามเรือนจำที่ทนายความเข้าเยี่ยมที่เรือนจำชั่วคราวรังสิต ทัณฑสถานบำบัดพิเศษหญิง และทัณฑสถานบำบัดกลาง ล้วนปฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าเยี่ยม ต้องเจรจายืนยันสิทธิในการพบทนายความ จนเยี่ยมผู้ต้องขังได้เพียงสองเรือนจำ ยกเว้นทัณฑสถานบำบัดกลางที่คงปฏิเสธไม่ให้ทนายความเข้าเยี่ยม “ไผ่” จตุภัทร์ ในระหว่างการกักตัว
เจ้าหน้าที่หน้างานหลายท่านอำนวยความสะดวกในการเข้าพบผู้ต้องขังอย่างดี เพียงแต่นโยบายการกักตัวผู้ต้องขังเพื่อกักโรค แต่ไม่คำนึงถึงสิทธิในการพบทนายความนั้น ทำให้เกิดความยากลำบาก และอาจทำให้ผู้ต้องขังในคดีอื่นๆ ที่ไม่ใช่คดีการเมืองเข้าไม่ถึงทนายความ อันจะส่งผลต่อคดีและสิทธิเสรีภาพของพวกเขาด้วย
.
อ่านรายงานข่าวคดี
.