บันทึกเยี่ยม ‘ณัฐชนน’: ชีวิตในเรือนจำยิ่งยากลำบากขึ้น หากเป็น ‘คนพิการ’

เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2564 ทนายความเดินทางเข้าเยี่ยม “ณัฐชนน ไพโรจน์” นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่เรือนจำชั่วคราวรังสิตอีกครั้ง ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ หลังเขาถูกฝากขังในคดี #ม็อบ2สิงหา มาตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม และศาลยืนคำสั่งไม่ให้ปล่อยตัว แม้จะยื่นคำร้องขอประกัน 3 ครั้งแล้ว

ท่ามกลางสถานการณ์ที่มีผู้ต้องขังในเรือนจำติดเชื้อโควิด-19 รายวันในหลักเฉียดพันคน ณัฐชนนเป็นผู้ต้องหาในคดี #ม็อบ2สิงหา เพียงคนเดียวที่ยังคงตรวจไม่พบการติดเชื้อ ด้านเพื่อนผู้ต้องหาในคดีเดียวกันที่ไม่ได้รับการประกันตัว ต่างก็พบว่าติดโควิด และถูกย้ายไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์กันหมดแล้ว  

แม้เขาจะเป็นหนึ่งในผู้ (ยัง) โชคดีปลอดจากเชื้อไวรัส ทว่าชายหนุ่มก็มีความทุกข์ใจไม่ต่างไปจากเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นๆ เพราะห้องสี่เหลี่ยมที่ได้ชื่อ ‘เรือนจำ’ ไม่เคยเหมาะต่อการใช้ชีวิตของใครทั้งนั้น โดยเฉพาะ ‘คนพิการ’ อย่างเขา 

ณัฐชนน สูญเสีย ‘ขาขวา’ จากอุบัติเหตุเมื่อครั้งยังเรียนอยู่มัธยมตอนปลาย ตั้งแต่นั้นเขาจึงต้องใส่ ‘ขาเทียม’ เพื่อช่วยให้ชีวิตประจำวันดำเนินต่อไปได้อย่างเป็นปกติที่สุด แต่การที่เขาต้องถูกฝากขังอยู่ในเรือนจำนั้นทำให้ “ความปกติ” นั้นเป็นได้ยากยิ่งขึ้นไปอีก

“คนปกติใช้ชีวิตในเรือนจำมันก็ยากอยู่แล้ว แต่มันยิ่งยากขึ้นไปอีกสำหรับคนพิการ อย่างแรกเลย ผมเข้าห้องน้ำได้ลำบากมาก เพราะที่นี่เป็นส้วมแบบนั่งยอง ไม่ว่าผมจะใส่หรือถอดขาเทียมก็ล้วนแต่ลำบากทั้งนั้น

“ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำ คือความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง ผมลื่นล้มจนเท้าด้านซ้ายได้แผลมา”

ส้วมแบบนั่งยองต้องใช้กำลังของทั้งสองขาพยุงร่างกาย เมื่อเป็นเช่นนั้นณัฐชนนจึงมักมีปัญหากับการเข้าห้องน้ำ ซึ่งจะดีกว่าหากห้องน้ำในเรือนจำเป็นแบบชักโครกหรือมีอุปกรณ์ช่วยอื่นๆ ที่เอื้อต่อการใช้งานของผู้พิการแบบเขา

“อย่างที่สอง เวลาต้องอาบน้ำ ซึ่งก็จำเป็นจะต้องถอดขาเทียมที่ใส่อยู่ออก แต่เมื่อถอดออกก็เสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุได้อีกเช่นกัน เพราะห้องน้ำที่นี่ไม่มีฟังก์ชั่นสำหรับผู้พิการ มีพื้นที่ทั้งลื่น และไม่มีราวจับ  

“ถ้าพูดสรุปง่ายๆ ให้ฟังก็คือ ‘ห้องน้ำกับผมเป็นของที่ไม่ถูกกันเลย’

“แต่ถามว่าอยู่ได้มั้ย มันก็ต้องอยู่” (หัวเราะ) 

“อีกอย่าง การที่ผมเป็นคนพิการ อุปกรณ์ชิ้นสำคัญที่เป็นเสมือนหัวใจของผมก็คือ ‘ขาเทียม’ ซึ่งมันสามารถชำรุดเสียหายได้ง่ายขึ้นเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่อับชื้นของเรือนจำ ด้ามเหล็กขึ้นสนิมได้ง่ายขึ้น เพราะห้องน้ำอยู่ใกล้แค่นี้เอง”

.

.

ณัฐชนนถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์แยกตัวจากผู้ต้องขังคนอื่นออกมาขังเดี่ยว โดยภายในห้องสี่เหลี่ยมมีพื้นที่คับแคบ มีช่องระบายอากาศไม่กี่ด้าน และตอนกลางวันมีเพียงแสงสลัวๆ ลอดเข้ามาเท่านั้น อีกทั้งห้องส้วมแบบนั่งยองที่อยู่พร้อมด้านใน ทำให้ความชื้นและความอับเป็นสิ่งกวนใจซึ่งนักโทษในเรือนจำทุกคนต้องพบเจอ 

“แล้วในการใช้ชีวิตประจำวัน ผมก็จำเป็นจะต้องถอดขาเทียมออกบ้างบางเวลาเพื่อลดการเกิดแผล การบวม และเพื่อดูแลความสะอาด

“แต่ข้างในนี้ผมไม่มี ‘ไม้ค้ำยัน’ ในการช่วยเดิน ทำให้เวลาเดินไปไหนช่วงที่ถอดขาเทียมออก ก็จะต้องใช้วิธีการเขย่งเท้าเพื่อค่อยๆ ให้ตัวเองเดินไปข้างหน้าได้ เหมือนกับเล่น ‘กระต่ายขาเดียว’ ซึ่งมันไม่ได้รู้สึกสนุกเลย มันส่งผลกระทบมากๆ ต่อสุขภาพขาและข้อต่อของผม”

เมื่อทนายถามว่าเขากังวลเรื่องการติดโควิดในเรือนจำไหม เขาตอบอย่างอารมณ์ดีว่า “ผมพนันกับพี่อานนท์อยู่เนี่ยว่าใครจะติดก่อนกัน” แล้วก็หัวเราะลั่น

แม้ณัฐชนนจะถูกแยกไปคุมขังเดี่ยว โดยที่เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ไม่ได้บอกถึงเหตุผล แต่กระนั้นเขาก็ยังเสี่ยงติดเชื้อโควิดทุกครั้งเมื่อต้องไปอาบน้ำและกินข้าวรวมกับเพื่อนผู้ต้องขังคนอื่นๆ คนใกล้ตัวหลายคนของเขาต่างก็แสดงความกังวลว่า ถ้าหากชายหนุ่มติดโควิดขึ้นมาจริงๆ อาการอาจจะรุนแรงมากกว่าคนอื่นๆ ก็เป็นได้ เพราะณัฐชนนมีน้ำหนักตัวค่อนข้างมาก

ก่อนจากลากัน ทนายบอกเล่าถึงข่าวสารสถานการณ์การชุมนุมที่ถูกจัดอย่างต่อเนื่องมาหลายสัปดาห์ รวมทั้งสถานการณ์บริเวณแยกดินแดง ที่มีการจับกุม ทำร้ายร่างกายรายวัน 

สุดท้ายเขาฝากบอกมาถึงเพื่อนๆ ว่าคิดถึงและเป็นห่วงทุกๆ คน

.

X