เปิดอุทธรณ์ “บุปผา” ผู้ป่วยจิตเวช หลังศาลพัทยาตัดสิน โพสต์ถึงราชวงศ์ผิด 112 แต่ขาดเจตนา-ลงโทษตาม พ.ร.บ.คอมฯ ทนายค้าน จำเลยไม่มีเจตนาหมิ่นประมาทกษัตริย์จึงไม่ผิด พ.ร.บ.คอมฯ

1 มี.ค. 2565 ศาลจังหวัดพัทยานัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ในคดีของ ‘บุปผา’ (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวช ผู้ถูกฟ้องฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14

สำหรับรายละเอียดในคดีนี้ จำเลยถูกอัยการฟ้องว่า โพสต์ภาพพร้อมข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระหว่างวันที่ 25 ก.พ. 2558 – 19 พ.ค. 2559 จำนวน 13 โพสต์ พาดพิงถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9, สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร (พระยศขณะนั้น), สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี,ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี, พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ, พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา, และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์

คดีนี้มีการสืบพยานโจทก์และจำเลยระหว่างวันที่  9-11 มิ.ย. 2563 แต่ศาลไม่อนุญาตให้ผู้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเข้าฟังการพิจารณา โดยศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2563 ยกฟ้องข้อหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ  ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ลงโทษ ‘บุปผา’ ในความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) ซึ่งมีรายละเอียดโดยสรุปว่า

“ในสํานวนประกอบทางนําสืบโจทก์และจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยเคยเข้ารับการรักษาอาการทางจิตที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ รวม 131 วัน แพทย์วินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้ป่วยทางจิตเวชเป็นโรคจิตเภทชนิดหวาดระแวง หรือ Paranoid Schizophrenia Continuous อาการโดยทั่วไปของจําเลยจะหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ มีความคิดบิดเบือนไปจากความจริง อาทิ จําเลยบอกตนเป็นทายาทของรัชกาลที่ 5 และคิดว่าตนสามารถติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ได้”

“เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์ของจําเลยที่ปรากฎในสํานวนประกอบทางนําสืบโจทก์และจําเลยแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้องโดยมิได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท ดังนี้ การกระทําของจําเลยย่อมขาดองค์ประกอบของความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 59 จําเลยจึงไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท”

อย่างไรก็ตาม ศาลได้วินิจฉัยในส่วนความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ไว้ โดยเห็นว่า

“มาตรา 112 ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา ได้จัดลําดับไว้ในภาค 2 ว่าด้วยเรื่องความผิด ลักษณะ 1 หมวด 1 เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และที่สําคัญกล่าวคือเป็นความผิดต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ต่างหากจากความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทบุคคลหรือตําแหน่งอื่นๆ และเห็นว่าเป็นการบัญญัติไว้โดยเฉพาะต่อสถาบันพระมหากษัตริย์โดยแท้ จึงต้องแปลว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าสิริวัณณวรีนารีรัตน์ ทรงอยู่ในความหมายของคําว่า “รัชทายาท” แห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112” 

“แต่มิได้ก้าวล่วงไปวินิจฉัยถึงคําว่าพระรัชทายาทตามกฎมณเฑียรบาลแต่ประการใด และเห็นว่าการแปลกฎหมายที่มีการกระทําความผิดต่อพระบรมวงศานุวงศ์แห่งราชวงศ์จักรี โดยนําความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทในบทมาตราอื่นมาปรับใช้ร่วมกับประชาชนบุคคลธรรมดา ย่อมมิอาจกระทําได้ไม่ว่ากรณีใดๆ และเป็นสิ่งที่มิบังควรอย่างยิ่ง การตีความดังกล่าวเป็นอํานาจทั่วไปที่ศาลจะพึงใช้เพื่อให้มีสภาพบังคับตามกฎหมาย โดยคํานึงถึงนิติธรรมประเพณี เจตนารมณ์หรือหลักการทางกฎหมายดังได้วินิจฉัยมาแล้วทั้งหมดเพื่อผดุงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์และความยุติธรรมทั้งปวง”

สำหรับความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3) นั้น ศาลพิพากษาโดยสรุปว่า

“แม้จากการสืบพยานจะฟังได้ว่าจําเลยมีความผิดปกติในความคิดและการรับรู้แล้วแสดงอาการด้วยการโพสต์ข้อความและรูปภาพเชิงตําหนิสถาบันกษัตริย์ ซึ่งกระทําไปเพราะความเป็นโรคจิตเภท แต่การที่จําเลยยังควบคุมตนเองในเรื่องปกติทั่วๆ ไปได้ แสดงว่าจําเลยยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ดังนั้น จําเลยจึงต้องรับผิดสําหรับการกระทํานั้น ซึ่งประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 65 วรรคสอง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกําหนดไว้สําหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”

“พิพากษาว่า จําเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3)  การกระทําของจําเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จําคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 13 กระทง เป็นจำคุก 78 เดือน”

“ไม่ปรากฏว่าจําเลยเคยได้รับโทษจําคุกมาก่อน โทษจําคุกให้รอการลงโทษไว้ มีกําหนด 3 ปี คุมความประพฤติจําเลยโดยให้จําเลยรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 6 ครั้ง ภายในระยะเวลา 2 ปี ให้จําเลยไปรับการรักษาอาการทางจิต ณ สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์อย่างต่อเนื่องตามที่แพทย์กําหนดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ริบโทรศัพท์เคลื่อนที่พร้อมซิมการ์ดของกลาง”

เปิดอุทธรณ์ของจำเลย ยืนยันจำเลยหลงผิด ขาดเจตนาตามองค์ประกอบกฎหมาย ทั้งศาลยังยกฟ้องข้อหา ม.112 จึงไม่อาจลงโทษข้อหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ได้

ในคำอุทธรณ์ที่ยื่นต่อศาล ระบุว่า จําเลยยังไม่เห็นพ้องกับคําพิพากษาของศาลจังหวัดพัทยา เนื่องจากยังคลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการ จึงขออุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาดังกล่าว และขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 2 กลับคําพิพากษาศาลชั้นต้น และพิพากษายกฟ้อง ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้

1. ตามที่ศาลวินิจฉัยไว้ว่า สมาชิกของราชวงศ์อันได้แก่ สมเด็จพระเทพฯ, เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ, ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ฯ, พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ, พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาฯ และพระองค์เจ้าสิริวัณณวรีฯ ทรงอยู่ในความหมายของคําว่า “รัชทายาท” จึงได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้น จําเลยขออุทธรณ์ว่า หลักกฎหมายอาญาต้องมีความชัดเจน แน่นอน และต้องตีความโดยเคร่งครัด ไม่อาจตีความขยายขอบเขตเพื่อลงโทษจำเลยได้ 

ทั้งนี้ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มุ่งคุ้มครองบุคคลที่ดํารงตําแหน่งในองค์กรทางรัฐธรรมนูญ 4 ตําแหน่ง ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ โดยตําแหน่งรัชทายาทต้องกําหนดไว้โดยเฉพาะเจาะจงในรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 20 และมาตรา 21 ซึ่งระบุว่า ต้องเป็นบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ และต้องมีคุณสมบัติและเงื่อน ไขตามที่กำหนดไว้ในกฎมณเฑียรบาล ทั้งนี้ ตามกฎมณเฑียรบาล รัชทายาทมีได้เพียงบุคคลเดียว  ซึ่งสอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่องที่  281/232

ด้วยเหตุนี้บุคคลที่ได้รับการคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จึงมีเพียงบุคคลที่พระมหากษัตริย์แต่งตั้ง ไม่ได้คุ้มครองเจ้านายและเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ตามที่ศาลวินิจฉัย ทั้งนี้ หากเกิดกรณีการหมิ่นประมาทฯ เชื้อพระวงศ์อื่นๆ ก็ต้องพิจารณาเอาผิดในฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326

ประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวเป็นประเด็นสําคัญที่ศาลอุทธรณ์ควรวินิจฉัย แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้อง มาตรา 112 แต่ได้พิพากษาลงโทษจําเลยตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 14 (3)  โดยลงโทษทุกกรรม รวม 13 กระทง จำคุกกระทงละ 6 เดือน เป็นจำคุก 78  เดือน ซึ่งเป็นความผิดสืบเนื่องจากการวินิจฉัยว่า สมาชิกราชวงศ์ที่จำเลยพาดพิงทรงอยู่ในความหมายของคําว่า “รัชทายาท” และถูกคุ้มครองตาม มาตรา 112

2. บุคคลที่ได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามคําฟ้องมีเพียงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ์ สยามมกุฎราชกุมาร ซึ่งเป็นรัชทายาทในขณะเกิดเหตุ โดยศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพ โดยหลงคิดว่ามีหน้าที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ จึงโพสต์ข้อความเชิงตําหนิด้วยความประสงค์ดี เพียงแต่จําเลยใช้ถ้อยคําไม่เหมาะสมเท่านั้น ซึ่งข้อความที่ไม่เหมาะสม ไม่ได้เป็นข้อความที่เข้าข่ายการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ตามกฎหมายแต่อย่างใด ยิ่งไปกว่านั้น ข้อความ 4 ข้อความที่ระบุถึงบุคคลที่มาตรา 112 คุ้มครองทั้งสององค์ จำเลยยังชื่นชมรัชกาลที่ 9 เสียด้วยซ้ำ 

ส่วนข้อความอื่นบางข้อความก็สะกดผิด ไม่ถูกต้องตามไวยกรณ์ ไม่อาจเข้าใจความหมายได้ ดังนั้น บุคคลที่สามที่เห็นข้อความย่อมย่อมเข้าใจได้ว่า จําเลยผู้โพสต์มีอาการไม่ปกติ ทั้งยังไม่ได้มีการยืนยันข้อเท็จจริง จึงไม่เข้าข่าย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

3. ศาลชั้นต้นได้พิพากษาแล้วว่า จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพตามฟ้อง โดยไม่ได้มีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ รัชทายาท จึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เมื่อศาลยกฟ้องในฐานความผิดดังกล่าวแล้ว จะลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ไม่ได้ เนื่องจากการกระทำที่จะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ต้องเป็นการนำเข้าสู่ระบบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง หรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญาเสียก่อนเท่านั้น ดังนั้น เมื่อข้อความและรูปภาพต่าง ๆ ที่จำเลยโพสต์ ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยไปแล้วว่า ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 ความผิดตามมาตรา 14(3) จึงย่อมมีไม่ได้เช่นกัน

อีกทั้งเป็นเรื่องย้อนแย้งเป็นอย่างยิ่งที่จำเลยซึ่งศาลชั้นต้นวินิจฉัยไปเองแล้วว่า จําเลยป่วยเป็นโรคจิตเภท หลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ คิดว่าตนมีหน้าที่ปกป้องสถาบันกษัตริย์ ขาดเจตนาหมิ่นประมาท และไม่มีความผิดตามมาตรา 112 แต่กลับถูกศาลพิพากษาในคดีเดียวกันนี้ว่า จําเลยยังรู้รับผิดชอบและมีเจตนานําเข้าข้อมูลที่มีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ จนต้องเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จำเลยจึงขออุทธรณ์ว่า เมื่อมูลฐานความผิดตามมาตรา 112 ถูกยกฟ้องแล้ว การที่จำเลยนำข้อมูลเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์จึงไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยในส่วนนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย

4. พยานหลักฐานปรากฏชัด โดยศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่า ขณะเกิดเหตุ จําเลยโพสต์ข้อความและรูปภาพเพราะมีอาการป่วยทางจิต แต่การที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจําเลยยังคุมตัวเองได้ในเรื่องทั่ว ๆ ไป จึงยังต้องรับผิดนั้น ถือว่ามีความคลาดเคลื่อน เนื่องจากพยานปากแพทย์ที่ให้การดูแลจำเลยได้ให้การว่า “ขณะเกิดเหตุ จำเลยมีความหลงผิด” และชี้แจงว่า “ผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตเภทสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ คนไข้สามารถควบคุมตนเองในเรื่องปกติทั่วๆ ไปได้ แต่หากเป็นเรื่องที่หลงผิด เช่น กรณีจำเลยซึ่งหลงผิดเกี่ยวกับราชวงศ์ก็อาจจะไม่สามารถควบคุมตนเองในการโพสต์ข้อความ” สอดคล้องกับคำเบิกความของพนักงานสอบสวนซึ่งระบุว่า “จำเลยไม่เหมือนคนปกติทั่วไป คล้ายกับคนจิตไม่ปกติ” จึงมีน้ำหนักน่าเชื่อว่าขณะโพสต์จำเลยป่วยมีอาการทางจิต ไม่สามารถควบคุมตนเองในการโพสต์ข้อความได้ จำเลยจึงขาดเจตนาในการกระทําความผิดตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) 

ฐานข้อมูลคดี https://database.tlhr2014.com/public/case/24/lawsuit/6/

X