ยกฟ้องข้อหา ม.112 “สมพล” สองคดีปาสีใส่รูปที่ปทุมธานี ชี้จำเลยมีเจตนามุ่งทำลายทรัพย์สินเท่านั้น แต่ข้อหา ม.360 ลงโทษจำคุก รวม 24 เดือน ไม่รอลงอาญา

วันที่ 28 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดปทุมธานีนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “สมพล” (นามสมมติ) พนักงานบริษัท วัย 29 ปี ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการขับรถจักรยานยนต์ไปปาถุงบรรจุของเหลวสีแดงใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์หลายจุดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ในช่วงเวลากลางคืนก่อนเที่ยงของวันที่ 13 ก.พ. 2565

เนื่องจากสมพลถูกดำเนินคดีแยกไปตามท้องที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบที่เกิดเหตุ ทำให้เขาถูกดำเนินคดี รวมทั้งสิ้น 6 คดี โดยเป็นคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานี 2 คดี, ศาลจังหวัดธัญบุรี 2 คดี, ศาลจังหวัดนนทบุรี 1 คดี และยังมีคดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนของ สน.ดอนเมือง อีก 1 คดี

พนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี ได้สั่งฟ้องคดีของศาลจังหวัดปทุมธานีทั้งสองคดี ใน 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35

ในวันนี้ (28 มี.ค. 2566) ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานีทั้ง 2 คดีพร้อมกัน โดยมีการสืบพยานคดีแรกของ สภ.ปากคลองรังสิต ในวันที่ 16-17 ก.พ. 2566 และคดีที่สองของ สภ.เมืองปทุมธานี ในวันที่ 21-23 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา

.

ย้อนอ่านบันทึกสืบพยาน >>> ประมวลการต่อสู้คดีของ “สมพล” ผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 จากการแสดงออกทางความคิดบนพระบรมฉายาลักษณ์

.

ศาลยกฟ้องข้อหา 112 คดีของ สภ.ปากคลองรังสิต ชี้จำเลยมีเจตนามุ่งทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น แต่ลงโทษข้อหา ม.360 ไม่รอลงอาญา

เวลา 9.20 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 4 สมพลเดินทางมาฟังคำพิพากษาเพียงคนเดียว ก่อนเข้าห้องพิจารณาคดี เขาเปิดเผยว่า ตนมีความเครียดกับคดีค่อนข้างมาก และเล่าว่าปัจจุบันเขาลาออกจากงานเรียบร้อยแล้ว

เวลา 09.30 น. ประสงค์ ค้าทวี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปดังนี้

ศาลอ่านคำฟ้องของพนักงานอัยการให้จำเลยฟังโดยสรุป และระบุว่าจำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 แต่ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยให้การต่อสู้ว่า การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 

จำเลยชำระเงินค่าเสียหายของป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ให้แก่เทศบาลตำบลบ้านใหม่เรียบร้อยแล้ว

ศาลวินิจฉัยว่า ในวันเกิดเหตุ จำเลยขว้างปาถุงบรรจุสีแดงใส่ป้ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ พระราชินีในรัชกาลที่ 10 ที่ประดิษฐานไว้บริเวณริมถนนติวานนท์ ปากซอยวัดเทียนถวาย ทรัพย์สินของเทศบาลตำบลบ้านใหม่ ทำให้ป้ายภาพเปรอะเปื้อน ไม่สามารถใช้การได้ จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคแรก ฟังได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง 

ส่วนในความผิดฐานดูหมิ่นพระราชินี ตามมาตรา 112 พยานโจทก์ฟังได้ว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์ขว้างปาถุงบรรจุสีแดงใส่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีหลายท้องที่ รวมทั้งป้ายที่เกิดเหตุในคดีนี้ จำเลยใช้กล้องโทรศัพท์มือถือถ่ายและส่งภาพให้บุคคลอื่น 

จำเลยให้การในชั้นสอบสวนว่า เหตุที่จำเลยก่อเหตุเพราะติดตามข่าวสารด้านลบของสถาบันกษัตริย์มานาน จำเลยตระเตรียมการล่วงหน้า ขับรถจักรยานยนต์ขว้างปาถุงบรรจุสีแดงใส่ภาพพระบรมฉายาลักษณ์รวม 11 จุด เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนามุ่งทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 พยานโจทก์ฟังไม่ได้ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 

โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยต่อจากคดีอื่น เห็นว่าคดียังไม่มีคำพิพากษา ไม่สามารถนับโทษต่อได้

คดีในส่วนแพ่ง จำเลยได้ชดเชยค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องจนเป็นที่พอใจแล้ว

ศาลพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม มาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ลงโทษบทหนักที่สุดคือ มาตรา 360 ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน การกระทำของจำเลยไม่เหมาะสม มีความร้ายแรง จึงไม่รอการลงโทษ

หลังศาลมีคำพิพากษา สมพลถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาใส่กุญแจข้อมือ ก่อนถูกนำตัวไปที่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 เพื่อฟังคำพิพากษาในอีกคดี

.

ศาลยกฟ้องข้อหา 112 คดีของ สภ.เมืองปทุมธานี แต่ข้อหาตาม ม.360 จำนวน 3 กระทง ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวม 18 เดือน

เวลา 9.45 น. ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 3 พัชรินทร์ โชติวรานนท์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนออกนั่งพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังโดยย่อดังนี้

ศาลพิพากษายกฟ้องข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดในข้อหาตามมาตรา 360 และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 การกระทำของจำเลยเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 360 ซึ่งเป็นบทหนักสุด จำนวน 3 กระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษลงกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 18 เดือน และนับโทษในคดีนี้ต่อจากคดีที่มีคำพิพากษาไปก่อนหน้า

หลังศาลมีคำพิพากษา สมพลถูกเจ้าหน้าที่ศาลเข้ามาควบคุมตัวลงไปที่ห้องขังใต้ถุนศาลในทันที ก่อนที่ทนายความจะยื่นขอประกันตัวสมพลระหว่างอุทธรณ์ 

สรุปรวมทั้งสองคดี สมพลถูกศาลลงโทษจำคุกรวม 24 เดือน

ต่อมาหลังยื่นขอประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์คดี ในเวลา 17.10 น. ทนายความแจ้งว่า ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวสมพลในทั้งสองคดี โดยให้วางเงินหลักประกันในคดีแรกจำนวน 50,000 บาท และคดีที่สองจำนวน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขอื่นเพิ่มเติม

นอกจากการต่อสู้ชั้นอุทธรณ์ในสองคดีนี้ ในคดีอื่นๆ ของสมพล ยังมีนัดสืบพยานต่อไป โดยสองคดีที่ศาลจังหวัดธัญบุรี มีนัดสืบพยานช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน 2566 นี้ ส่วนหนึ่งคดีที่ศาลจังหวัดนนทบุรี มีนัดสืบพยานช่วงเดือนมกราคม 2567

.

.

อ่านเรื่องราวของสมพล 

“เราต้องชนะในสักวัน เพราะผู้มีอำนาจไม่สามารถควบคุมเวลาได้” : คุยกับ “สมพล” ผู้ถูกกล่าวหาคดี 112 จากการแสดงออกทางความคิดบนพระบรมฉายาลักษณ์

X