วันที่ 28 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดปทุมธานีนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “สมพล” (นามสมมติ) พนักงานบริษัท วัย 29 ปี ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการขับรถจักรยานยนต์ไปปาถุงบรรจุของเหลวสีแดงใส่รูปพระบรมฉายาลักษณ์หลายจุดในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพมหานคร ในช่วงกลางคืนก่อนเที่ยงของวันที่ 13 ก.พ. 2565
เนื่องจากสมพลถูกดำเนินคดีแยกไปตามท้องที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบที่เกิดเหตุ ทำให้เขาถูกดำเนินคดี รวมทั้งสิ้น 6 คดี โดยเป็นคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานี 2 คดี, ศาลจังหวัดธัญบุรี 2 คดี, ศาลจังหวัดนนทบุรี 1 คดี และยังมีคดีที่อยู่ในชั้นสอบสวนของ สน.ดอนเมือง อีก 1 คดี
ในวันดังกล่าว ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ศาลจังหวัดปทุมธานีทั้ง 2 คดีพร้อมกัน โดยมีการสืบพยานคดีแรกของ สภ.ปากคลองรังสิต ในวันที่ 16-17 ก.พ. 2566 และคดีที่สองของ สภ.เมืองปทุมธานี ในวันที่ 21-23 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา
.
ทบทวนไทม์ไลน์การจับกุม-แจ้งข้อกล่าวหา 6 คดี ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจหลายหน่วยงานเข้าจับกุมสมพลจากบ้านพักย่านดอนเมือง โดยเขาถูกออกหมายจับใน 2 คดี ของ สภ.ปากเกร็ด และ สภ.เมืองปทุมธานี สมพลถูกนำตัวสมพลไปชี้สถานที่เกิดเหตุ และทางเจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกจับกุมและตรวจค้น โดยไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วย
ต่อมา ได้มีตำรวจจาก สภ.ปากคลองรังสิต เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหาลักษณะเดียวกันเพิ่มเติมกับสมพลอีกคดีหนึ่ง โดยคดีหลังนี้ ตำรวจไม่ได้มีหมายจับแต่อย่างใด และไม่ได้มีทนายความอยู่ร่วมด้วยในการแจ้งข้อกล่าวหา
ในวันที่ 21 ก.พ. 2565 เจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.ปากเกร็ด ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังสมพลต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ต่อมาศาลมีคำสั่งให้ฝากขังได้ แต่มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้วางหลักประกันเป็นเงินสด 200,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์
แต่หลังจากได้รับการปล่อยตัว ราว 20.00 น. ในวันเดียวกันนั้น สมพลได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ เข้าอายัดตัวอีก โดยมีการแสดงหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรีในอีกคดีหนึ่ง ก่อนนำตัวไปที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์
ในวันต่อมา (22 ก.พ. 2565) ขณะที่สมพลยังคงถูกควบคุมตัวอยู่ ก็ได้มีพนักงานสอบสวนจาก สภ.คลองหลวง เดินทางเข้าแจ้งข้อกล่าวหาต่อสมพลในอีกคดีหนึ่ง มีการนำทนายความขอแรงที่ประจำที่สถานีตำรวจมาเข้าร่วมการสอบสวนด้วย โดยไม่รอทนายความของผู้ต้องหาเอง
ต่อมา ศาลจังหวัดธัญบุรีได้อนุญาตให้ฝากขังสมพล แต่อนุญาตให้ประกันตัวในทั้งสองคดี โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวคดีละ 150,000 บาท รวมวางหลักประกัน 300,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์เช่นกัน
และสุดท้ายในวันที่ 22 มี.ค. 2565 ที่ สน.ดอนเมือง สมพลเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาอีกหนึ่งในพื้นที่เขตดอนเมืองตามหมายเรียกของตำรวจ
ในชั้นสอบสวน สมพลให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาในทุกคดี
.
อัยการบรรยายฟ้องการกระทำของสมพลมีเจตนาดูหมิ่นและทำให้ประชาชนเห็นว่าสถาบันกษัตริย์อยู่ในฐานะที่ไม่ควรเคารพสักการะอีกต่อไป
ในวันที่ 12 พ.ค. 2565 พนักงานอัยการจังหวัดปทุมธานี ได้สั่งฟ้องคดีของศาลจังหวัดปทุมธานีทั้งสองคดี ใน 3 ข้อหา ได้แก่ ข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35
ในส่วนคดีในพื้นที่ สภ.ปากคลองรังสิต พนักงานอัยการได้บรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2565 เวลากลางคืนก่อนเที่ยง จําเลยได้บังอาจหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยการขว้างปาถุงบรรจุน้ำสีแดงใส่ ป้ายภาพพระฉายาลักษณ์ สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ที่ประดิษฐานไว้บริเวณริมถนนติวานนท์ ปากซอยวัดเทียนถวาย ทรัพย์สินของเทศบาลตำบลบ้านใหม่
การขว้างปาถุงบรรจุสีน้ำสีแดงใส่ป้ายดังกล่าว ทำให้พระบรมฉายาลักษณ์เปรอะเปื้อนสีแดงที่บริเวณพระพักตร์ และฉลองพระองค์ อันเป็นการกระทำที่มีเจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และพระราชินี รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ว่าทรงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากประชาชนทั่วไป และทำให้ประชาชนโดยทั่วไปเห็นว่าสถาบันกษัตริย์ อยู่ในฐานะที่ไม่ควรเคารพสักการะอีกต่อไป
.
ภาพรวมการสืบพยาน: จำเลยให้การปฏิเสธข้อหา 112 ระบุการปาสีใส่พระบรมฉายาลักษณ์ไม่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย
ก่อนจะเริ่มกระบวนการสืบพยานที่ห้องพิจารณาคดีที่ 4 ประสงค์ ค้าทวี ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนได้อธิบายคำฟ้องให้แก่จำเลยฟัง และสอบถามว่าจำเลยจะให้การรับสารภาพหรือต่อสู้คดีในส่วนใดบ้าง
ทนายความจำเลยแถลงว่า จำเลยให้การยอมรับสารภาพในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 และข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 ส่วนในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำเลยจะต่อสู้ว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 และทนายความได้ชำระเงินค่าเสียหายของป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ให้แก่เทศบาลตำบลบ้านใหม่เพื่อให้คดีในส่วนแพ่งเสร็จสิ้นไป
การสืบพยานในคดีนี้ มีพยานโจทก์เข้าเบิกความทั้งหมดรวม 3 ปาก เบิกความในทำนองเดียวกันว่า การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดความสกปรกเปรอะเปื้อนต่อพระบรมฉายาลักษณ์ พฤติกรรมของจำเลยเป็นการดูหมิ่นพระเกียรติ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยไม่ได้นำพยานเข้าเบิกความ
.
พนักงานสืบสวนผู้กล่าวหาระบุการเอาสีมาสาดเหมือนเอาขยะปฏิกูลมาทิ้ง กระทำกับรูปพระบรมฉายาลักษณ์เหมือนกระทำกับพระองค์จริง
พ.ต.ท.ชัยรัตน์ แย้มวงษ์ รองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวน สภ.ปากคลองรังสิต และผู้กล่าวหาในคดีนี้ เบิกความว่า พยานทราบเหตุในคดีนี้ในวันที่ 14 ก.พ. 2565 เวลา 11.00 น. ได้รับแจ้งเบื้องต้นว่ามีผู้เอาสีน้ำสีแดงไปสาดพระบรมฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดาฯ ซึ่งป้ายผ้าดังกล่าวติดตั้งอยู่บริเวณริมถนนติวานนท์ หน้าตลาดเทียนทวีทรัพย์ จังหวัดปทุมธานี
หลังทราบเหตุ พยานไปตรวจดูที่เกิดเหตุ พบว่ารูปพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชินีถูกสีแดงปาใส่ เปรอะเปื้อนบริเวณพระพักตร์และฉลองพระองค์ นอกจากนี้ยังตกลงไปที่พื้นใต้ภาพดังกล่าว
เมื่อพนักงานอัยการนำพยานเอกสารซึ่งปรากฏรูปภาพของป้ายดังกล่าวให้ดู พยานยืนยันว่าเป็นป้ายเดียวกันกับที่เบิกความถึง และยังเบิกความต่อไปว่าป้ายเป็นป้ายไวนิล ติดตั้งไว้เพื่อเทิดพระเกียรติพระราชินี เพื่อให้ประชาชนที่ผ่านมาเคารพสักการะและนึกถึงคุณงามความดีของพระองค์
พยานเบิกความว่า จากการดูด้วยสายตา คิดว่าสีที่จำเลยใช้ไม่น่าจะล้างออกได้โดยง่าย จึงรายงานเรื่องดังกล่าวต่อผู้บังคับบัญชา และผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้หาตัวผู้กระทำผิด
พยานกับพวกจึงสืบสวนโดยดูจากกล้องวงจรปิดและเส้นทางที่อยู่ใกล้กับป้ายดังกล่าว พบรถจักรยานยนต์ ไม่มีป้ายทะเบียน ไม่ทราบสีและยี่ห้อ พบชายสวมหมวกกันน็อคสีดำซึ่งเป็นผู้กระทำผิด จอดรถในตลาดเทียนทวีทรัพย์ และเดินไปที่เกิดเหตุ โดยภาพในกล้องวงจรปิดไม่เห็นขณะที่ชายคนดังกล่าวปาสี หลังจากนั้นชายคนดังกล่าวก็เดินกลับมาที่รถ มุ่งหน้าไปทางสะพานปทุมธานี 2
พยานได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบเพื่อบูรณาการการสืบสวนและประสานงานการสืบสวนกับท้องที่เกิดเหตุ คือ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ สภ.เมืองปทุมธานี สภ.ปากเกร็ด สภ.คลองหลวง สน.ดอนเมือง และกองบังคับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 1
พยานเบิกความว่า หลังเกิดเหตุ สืบทราบจากเฟซบุ๊กซึ่งมีผู้โพสต์ข้อความพร้อมลงรูปพระบรมฉายาลักษณ์จำนวนหลายภาพ ทุกภาพมีสีแดงเปรอะเปื้อนอยู่ ปรากฏว่ามีภาพของพระบรมฉายาลักษณ์ของราชินีในคดีนี้อยู่ด้วย เฟซบุ๊กดังกล่าวโพสต์ข้อความและลงภาพในวันที่ 14 ก.พ. 2565 ช่วงเวลา 14.00 น. เศษ
พยานเบิกความต่อไปว่า หลังจากออกจากตลาดเทียนทวีทรัพย์ จำเลยได้ขับรถไปก่อเหตุทาง สภ.เมืองปทุมธานี และได้มีการขว้างปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระราชินีของหน่วยงานราชการท้องถิ่นและเอกชนหลายจุด
จากการตรวจสอบการชำระเงินเติมน้ำมันโดยแอพลิเคชันของธนาคารและกล้องวงจรปิด จึงสืบสวนทราบว่าผู้ก่อเหตุคือสมพล
พนักงานอัยการนำพยานเอกสารซึ่งปรากฏรูปภาพขณะนำชี้สถานที่เกิดเหตุให้พยานดู พยานเบิกความว่าในการชี้สถานที่เกิดเหตุเป็นการทำงานบูรณาการหลายสถานีตำรวจ โดย สภ.ปากคลองรังสิต ของพยานก็ไปร่วมด้วย และมีการพาตัวจำเลยไปตรวจยึดรถจักรยานยนต์ เสื้อผ้า หมวกกันน็อค และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ใช้ในการก่อเหตุ
พยานเบิกความว่า ตนได้รับการแต่งตั้งพิเศษให้เป็นคณะทำงานในคดีนี้ หลังจากรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้นแล้ว พยานเข้าร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนในวันที่ 20 ก.พ. 2565 และมอบรายงานการสืบสวนให้แก่พนักงานสอบสวน
พยานเบิกความว่า พฤติกรรมเอาสิ่งสกปรกคือสี ขว้างปาใส่พระบรมฉายาลักษณ์ เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม ไม่สมควร พระบรมฉายาลักษณ์เสมือนตัวแทนของพระราชินี เนื่องจากพระราชินีเป็นที่เคารพรักต่อประชาชนทั่วไป ลักษณะการติดตั้งป้ายจะตั้งในตำแหน่งที่สูง ที่เหมาะสม เพื่อไม่ให้ถูกข้ามพระวรกาย เพื่อให้ประชาชนเคารพสักการะ
พยานเบิกความว่ามีการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของจำเลยที่ สภ.ปากเกร็ด เจอภาพที่จำเลยไปก่อเหตุในที่ต่างๆ รวมทั้งที่ก่อเหตุในคดีนี้ ภาพที่จำเลยถ่ายถูกส่งต่อให้กับบุคคลอื่น แสดงให้เห็นเจตนาที่จะเผยแพร่การกระทำนี้ออกไปให้เห็นว่ามีกลุ่มคนที่ไม่ชอบรัชกาลที่ 10 และพระราชินี การกระทำของจำเลยจึงไม่ใช่แค่เจตนาดูหมิ่นสถาบันกษัตริย์เท่านั้น แต่เป็นการชักจูงให้ประชาชนทั่วไปกระทำการเช่นเดียวกับที่จำเลยทำด้วย
พยานเบิกความว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 6
พยานยังเบิกความว่าการเอาสีมาสาด เหมือนเอาขยะปฏิกูลมาทิ้ง การทำกับรูปพระบรมฉายาลักษณ์ก็เหมือนทำกับพระองค์จริง เมื่อเปรียบเทียบกับอีกคดีที่ประชาชนนำป้ายมาติดหน้าพระพักตร์ของรัชกาลที่ 10 ว่าให้ทิ้งขยะปฏิกูล เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม จาบจ้วง หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อาฆาตมาดร้าย
ทนายความถามค้าน
ทนายความถามพยานว่า จากที่พยานเบิกความว่าจำเลยส่งภาพให้บัญชีเฟซบุ๊กที่นำไปเผยแพร่ แต่ในรายงานการสืบสวนไม่ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้ส่งภาพให้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่
ทนายความถามพยานว่าไม่ปรากฏว่ามีการโพสต์ภาพลงเฟซบุ๊กโดยจำเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่าใช่ พยานทราบว่าจำเลยเล่นเฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้มีการตรวจสอบว่าจำเลยโพสต์ภาพลงเฟซบุ๊กหรือไม่
ทนายความถามว่า จากการรวบรวมพยานหลักฐานไม่ปรากฏว่าจำเลยโพสต์เฟซบุ๊กใดๆ เกี่ยวกับที่เกิดเหตุใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ตนไม่ยืนยัน
พยานเบิกความรับว่า ในที่เกิดเหตุ บริเวณป้ายไม่มีข้อความดูหมิ่น หยาบคาย หรือใส่ความพระราชินี และแม้จำเลยจะปาสีใส่ป้าย ก็ไม่ได้ทำให้พยานเสื่อมศรัทธาในตัวรัชกาลที่ 10 และพระราชินี
พนักงานอัยการถามติง
พยานเบิกความตอบพนักงานอัยการว่า ภาพที่ถูกพบว่ามีผู้โพสต์ลงในเฟซบุ๊ก เป็นภาพเดียวกันกับที่ตรวจพบในโทรศัพท์จำเลย แม้โพสต์ดังกล่าวจะไม่มีข้อความดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย แต่การโพสต์ภาพดังกล่าวแสดงเจตนาดูหมิ่นพระราชินี และข้อความมีลักษณะเหมือนให้จำเลยไปทำงานตามเจตนาของกลุ่ม การกระทำเป็นการดูหมิ่นจาบจ้วง และนำภาพมาโพสต์ลงในสื่อออนไลน์เป็นสาธารณะ
พยานเบิกความว่า ในความเห็นของพยาน ประชาชนทั่วไปอาจมีพฤติกรรมการเลียนแบบการกระทำเช่นจำเลยได้
ทนายความถามค้านเพิ่มเติม
เนื่องจากอัยการได้ถามติงในส่วนที่ทนายความไม่ได้ถามค้าน ทนายความจึงขออนุญาตศาลในการถามค้านเพิ่มเติม ศาลอนุญาต
ทนายความถามว่า หลังเกิดเหตุในคดีนี้ พยานตรวจสอบพบพฤติกรรมเลียนแบบหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบว่ามีการเลียนแบบหรือไม่ เป็นเพียงความคิดเห็นของพยาน ส่วนบุคคลอื่นจะคิดอย่างไรนั้น พยานไม่ทราบ
พนักงานอัยการถามติงเพิ่มเติม
อัยการขอถามติงเพิ่มเติม โดยแถลงต่อศาลว่าคดีนี้เป็นคดีสำคัญ ซึ่งต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุด ศาลอนุญาต
พยานเบิกความตอบอัยการว่า มีความเป็นไปได้ที่จะเกิดพฤติกรรมเลียนแบบและเกิดการดูหมิ่น เป็นไปได้ว่าประชาชนทั่วไปอาจกระทำตาม แต่เนื่องจากมีกฎหมายและการดำเนินคดี คนที่ทราบและเกรงกลัวกฎหมายก็อาจไม่กระทำ
หลังจบการสืบพยานในปากนี้ ศาลได้พูดคุยกับทนายความและจำเลยว่า คดีนี้ข้อเท็จจริงยุติแล้ว แต่ต้องมาตีความเจตนาของจำเลย และศาลเห็นว่าในความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์นั้นเป็นความผิดคนละกรรม แต่ในความผิดมาตรา 112 นั้น ศาลขอให้ส่งคำฟ้องในทุกคดีมาให้ศาล เพื่อพิจารณาว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวหรือไม่
.
วินมอเตอร์ไซค์รับจ้างระบุการกระทำเป็นการลบหลู่ราชินีและหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เพราะพระมหากษัตริย์และพระราชินีเป็นที่เคารพรักของประชาชน
สายหยุด เพิ่มสวัสดิ์ อายุ 54 ปี ประชาชนผู้พบเห็นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ขณะเปรอะเปื้อนของเหลวสีแดง เบิกความว่า ในวันที่ 13 ก.พ. 2565 เวลา 11.00 น. ตนขับรถมอเตอร์ไซค์รับจ้างมาบริเวณถนนติวานนท์ เพื่อไปส่งผู้โดยสาร ขณะกำลังจะเดินทางกลับวินของตนซึ่งอยู่บริเวณหน้าตลาดเทียนทวีทรัพย์ ปกติบริเวณปากซอยจะมีการติดตั้งป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของเทศบาลตำบลบ้านใหม่อยู่ ซึ่งขณะเกิดเหตุเป็นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ของพระราชินี โดยป้ายดังกล่าวเป็นผืนผ้าใบ ขนาดใหญ่พอสมควร ในการติดตั้งป้ายใช้เชือกขึงรั้งกับเหล็กที่ติดตั้งในตำแหน่งเกินกว่าความสูงของพยาน ป้ายดังกล่าวมีของเหลวสีแดงเปรอะเปื้อนพระพักตร์ ลงมาที่ฉลองพระองค์ และหยดลงบนพื้นจำนวนมาก
พยานเบิกความต่อไปว่า ขณะที่พยานเห็นก็มีประชาชนทั่วไปเห็นแล้ว พยานไม่ทราบว่ามีบุคคลใดแจ้งเหตุให้หน่วยงานราชการทราบหรือไม่ ต่อมาในวันที่ 14 ก.พ. 2565 พยานขับรถมอเตอร์ไซค์ผ่านมา พบว่าเจ้าหน้าที่เทศบาลได้แกะรูปพระบรมฉายาลักษณ์ไปแล้ว
พยานไม่ทราบว่าบุคคลที่ปาสีใส่ป้ายเป็นใคร
พยานเบิกความว่า ในฐานะประชาชน ตนรู้สึกโกรธมาก การกระทำเป็นการลบหลู่พระราชินีและหมิ่นสถาบันกษัตริย์ เพราะกษัตริย์และพระราชินีเป็นที่เคารพรักของประชาชน เป็นสิ่งที่ไม่สมควรกระทำ ไม่มีใครควรเอาเป็นเยี่ยงอย่าง ถ้าพยานเห็นตอนกระทำจะทนไม่ได้ จะต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง
พยานเบิกความว่า เมื่อทราบว่าตำรวจสามารถจับกุมผู้กระทำผิดไว้ได้ จึงเดินทางเข้าให้การกับพนักงานสอบสวน
ทนายความถามค้าน
ทนายความถามว่าป้ายที่ติดตั้งอยู่ที่ทางเท้าริมถนน นอกจากป้ายพระบรมฉายาลักษณ์แล้ว ยังมีแผ่นป้ายอื่นๆ ติดตั้งในบริเวณดังกล่าวและมีระดับความสูงเท่าเทียมกันใช่หรือไม่ พร้อมเปิดภาพในพยานเอกสารให้พยานดู
พยานเบิกความรับว่า บนป้ายผ้าไม่มีถ้อยคำว่าร้าย ด่าทอ ดูหมิ่น มีเพียงสีที่เปรอะเปื้อน แต่พยานรู้สึกโกรธคนปา ไม่น่ากระทำเช่นนี้ ไม่เข้าใจว่าผู้ก่อเหตุทำไมจึงทำเช่นนี้ และหลังเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พยานยังคงรู้สึกรัก เคารพ และเทิดทูนพระราชินีเช่นเดิม
พนักงานอัยการถามติง
พยานเบิกความตอบพนักงานอัยการว่า การทำลายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ก็ไม่สมควรแล้ว การทำลายที่พยานหมายถึงคือการปาสี ปกติไม่มีบุคคลใดกระทำเช่นนั้น
.
พนักงานสอบสวนระบุพระบรมฉายาลักษณ์เสมือนหนึ่งตัวแทน หน่วยงานราชการติดตั้งไว้เพื่อสักการะเทิดทูน การที่จำเลยปาสีจึงเป็นการดูหมิ่น
พ.ต.ท.สุวัฒน์ โพธิ์รี พนักงานสอบสวน สภ.ปากคลองรังสิต เบิกความว่า ในวันที่ 20 ก.พ. 2565 เวลา 18.00 น. ขณะตนเป็นพนักงานสอบสวนเวรอยู่ มี พ.ต.ท.ชัยรัตน์ แย้มวงษ์ เข้าร้องทุกข์เพื่อดำเนินคดีกับจำเลย เนื่องจากเป็นผู้กระทำผิดโดยนำสีน้ำสีแดง ปาใส่แผ่นป้ายภาพไวนิลพระฉายาลักษณ์ของพระราชินี ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ริมถนนติวานนท์ ปากซอยวัดเทียนถวาย และป้ายผ้าดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของเทศบาลตำบลบ้านใหม่ โดยติดตั้งไว้เพื่อเทิดทูนและเคารพสักการะพระราชินีในวันเฉลิมพระชนมพรรษา
พยานเบิกความถึงรายงานการสืบสวน การเข้าจับกุม และการตรวจยึดทรัพย์สินของจำเลย
พยานเบิกความว่า ในวันที่ 21 ก.พ. 2565 เทศบาลตำบลบ้านใหม่ มอบอำนาจให้ นางสุชาฎา ฤทธิ์เนื่อง มาร้องทุกข์ว่าแผ่นป้ายภาพพระบรมฉายาลักษณ์ 1 แผ่นเสียหายตั้งแต่พระพักตร์ลงมาถึงฉลองพระองค์ และย้อยลงมาที่พื้น จนไม่สามารถนำไปใช้งานต่อได้ ราคาป้ายดังกล่าว 1,400 บาท โดยป้ายมีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์ให้คนเคารพเทิดทูน และป้ายดังกล่าวติดตั้งสูงจากพื้นดิน ในตำแหน่งที่สูงกว่าศีรษะของคนทั่วไป
พยานเบิกความต่อไปว่า ตนได้รับแต่งตั้งเป็นคณะทำงานในคดีนี้ จึงได้เข้าตรวจสอบสถานที่เกิดเหตุและนำป้ายผ้าส่งพิสูจน์ที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 และเก็บตัวอย่างสีที่เปื้อนพื้นร่วมกับเจ้าหน้าที่ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 รวมทั้งมีของกลางที่ส่งมาจากสถานีตำรวจภูธรอื่นด้วย
ปรากฏว่าของกลางซึ่งเป็นเศษสีที่เก็บมาจากที่เกิดเหตุเป็นสีชนิดเดียวกันทั้งหมด และตรงกับสีที่ตรวจยึดได้ที่บ้านจำเลย
พยานเบิกความว่า ตนได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำจำเลยในวันที่ 21 ก.พ. 2565 ก่อนแจ้งข้อกล่าวหาได้แจ้งสิทธิและจัดหาทนายความให้จำเลยแล้ว โดยแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และข้อหาทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์
พยานเบิกความว่า ตนได้ตรวจสอบประวัติอาชญากรของจำเลย พบว่าจำเลยได้กระทำผิดหลายคดีที่ สภ.ประตูน้ำจุฬาลงกรณ์, สภ.ปากเกร็ด, สภ.คลองหลวง และ สภ.เมืองนนทบุรี ส่วน สน. ดอนเมืองยังไม่ทราบข้อมูล
พยานเบิกความว่า พยานตรวจสอบบัญชีธนาคารของจำเลย พบว่าวันที่ 13 ก.พ. 2565 จำเลยได้ชำระเงินค่าน้ำมันจำนวน 50 บาท และ สภ.ปากเกร็ด ได้ส่งตรวจพิสูจน์ว่ามีภาพสถานที่เกิดเหตุและเป็นภาพที่ถ่ายจากโทรศัพท์มือถือของจำเลยจริง
พยานเบิกความตอบพนักงานอัยการถึงเหตุที่ตนแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ว่า ตนเห็นว่าพระบรมฉายาลักษณ์เสมือนหนึ่งตัวแทน หน่วยงานราชการติดตั้งไว้เพื่อสักการะเทิดทูน การที่จำเลยนำสีมาปาภาพจึงเป็นการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์และพระราชินี
ทนายความถามค้าน
พยานเบิกความตอบทนายความว่า บนป้ายผ้าไม่มีข้อความใดๆ
ทนายความถามว่า ในทางการสอบสวน มีพยานหลักฐานว่าจำเลยพูดคุยกับบุคคลที่ใช้เฟซบุ๊กโพสต์ภาพสถานที่เกิดเหตุหรือไม่ พยานเบิกความว่าไม่พบ
ทนายความถามต่อว่า ข้อความในโพสต์ดังกล่าว ไม่มีข้อความใดเป็นที่สื่อให้เห็นว่าเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 และพระราชินีใช่หรือไม่ พยานเบิกความว่า แม้จะไม่มีข้อความดูหมิ่น แต่เมื่อมีการลงภาพก็อาจแปลความหมายว่าดูหมิ่นอาฆาตมาดร้ายได้
พยานเบิกความว่า ในการสอบสวนมีการทำงานเป็นคณะบุคคล แต่พยานเป็นผู้สอบสวนโดยส่วนมาก
ทนายความถามพยานว่า คำฟ้องโจทก์ระบุว่าการปาสีใส่ป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ทำให้ประชาชนทั่วไปเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพสักการะ พยานรู้สึกเช่นนั้นเหมือนกันหรือไม่ พยานเบิกความว่า ในส่วนของพยานก็ยังคงเคารพรักเช่นเดิม แต่บุคคลอื่นจะมีความเห็นเช่นใด พยานไม่ทราบ
พยานเบิกความว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่พยานแจ้งข้อกล่าวหามีเพียงพฤติการณ์ปาสีเพียงพฤติการณ์เดียว ไม่มีพฤติการณ์อื่น
พนักงานอัยการถามติง
พยานเบิกความตอบพนักงานอัยการว่า การกระทำของจำเลยอาจทำให้บุคคลอื่นเอาเป็นเยี่ยงอย่างได้ โดยนอกจากการปาสีบนป้ายผ้าแล้ว ยังมีบุคคลอื่นโพสต์ภาพการกระทำของจำเลยด้วย
พยานเบิกความว่า จากการสืบสวนทราบว่าจำเลยเป็นสมาชิกของบุคคลที่ไม่ชื่นชอบสถาบันกษัตริย์
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตว่า การที่สมพลถูกดำเนินคดีแยกไปตามท้องที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบที่เกิดเหตุ ทำให้เขาถูกดำเนินคดีถึง 6 คดี ทั้งๆ ที่พฤติการณ์ในคดีนี้คล้ายคลึงกับคดีของ นิว สิริชัย ที่พ่นสีเป็นข้อความลงบนรูปของสมาชิกราชวงศ์รวม 6 จุด รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต แต่เหตุในคดีของสิริชัยเกิดขึ้นในท้องที่ของ สภ.คลองหลวง เพียงแห่งเดียวจึงถูกฟ้องมาเป็นกรรมเดียว
การพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็น “กรรมเดียว” หรือ “หลายกรรมต่างกัน” เป็นส่วนที่ต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เนื่องจากการที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันทั้งๆ ที่จำเลยกระทำความผิดเพียงกรรมเดียว และศาลก็พิพากษาลงโทษจำเลยแยกกรรมไปตามฟ้อง จะส่งผลให้จำเลยได้รับโทษทางอาญาหนักเกินกว่าที่สมควรได้รับ
“กรรมเดียว” จะพิจารณาจากการเคลื่อนไหวร่างกายกระทำการในครั้งเดียวไม่ได้ จำเป็นจะต้องพิจารณาถึงเจตนา พฤติการณ์ และผลจากการกระทำของจำเลยด้วย ดังนั้นแม้จะเป็นความผิดที่มีการเคลื่อนไหวหลายครั้ง หากกระทำลงโดยมีเจตนามุ่งหมายเพียงจุดประสงค์เดียว และละเมิดต่อกฎหมายฐานเดียวกัน การกระทำดังกล่าวแม้จะเกิดขึ้นหลายครั้งซ้ำๆ ดังเช่น กรณีของสมพล หรือนิว สิริชัย ก็สามารถถูกพิจารณาว่าเป็นการกระทำกรรมเดียวได้ด้วยเช่นกัน
การถูกดำเนินคดีแยกกันถึง 6 คดีเช่นนี้ ทำให้สมพลมีโอกาสถูกลงโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ถึง 15 ปี ในทุกๆ คดี ดังนั้นแม้ศาลจะลงโทษในอัตราโทษต่ำสุดและลดโทษให้ เขาก็ยังอาจถูกลงโทษจำคุกรวมกันมากกว่า 10 ปี