ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 ของ “นิว สิริชัย” กรณีถูกฟ้องว่าพ่นสีสเปรย์ข้อความ ‘ภาษีกู’ – ‘ยกเลิก ม.112’ บนพระรูปพระบรมวงศานุวงศ์

ในวันที่ 15 ก.พ. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “นิว — สิริชัย นาถึง” นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคดีที่สืบเนื่องมาจากการพ่นสีเป็นข้อความว่า “ภาษีกู” และ “ยกเลิก 112” ลงบนรูปของสมาชิกราชวงศ์รวม 6 จุด รอบมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ในช่วงเดือนมกราคม 2564

ก่อนหน้านี้ นิวถูกจับกุมตัวตามหมายจับไปสอบสวนที่ สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564  โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 30 นาย บุกจับกุมในยามวิกาลราว 21.30 น. และมี พ.ต.ท.สุชัย แสงส่อง พนักงานสอบสวน ทำการแจ้งกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 ซึ่งภายหลังการสอบสวนเสร็จสิ้นแล้ว ตำรวจได้นำตัวนิวไปขอฝากขังต่อศาลจังหวัดธัญบุรี ก่อนเขาจะได้ประกันตัวในรุ่งเช้าของวันต่อมา

ย้อนอ่านประมวลเหตุการณ์จับกุมนิว จนท. หลายสิบนาย บุกจับ น.ศ. ปี 1 ยามวิกาล ก่อนแจ้งข้อหา ม. 112 เหตุพ่นสีข้อความ ‘ยกเลิก 112’

.

ต่อมาในวันที่ 7 เม.ย. 2564 พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ได้มีคำสั่งฟ้องคดี โดยสรุปพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อระหว่างคืนวันที่ 9 มกราคม จนถึงหลังเที่ยงคืนเข้าวันที่ 10 มกราคม 2564 วันเวลาใดไม่ปรากฏชัด จําเลยคือนิวกับพวกอีกหนึ่งคน ซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยการร่วมกันใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นข้อความบนรูปภาพของเชื้อพระวงศ์ฯ ในหลายจุด ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติที่อยู่ในการดูแลของเทศบาลเมืองคลองหลวง และแขวงการทางปทุมธานี กรมทางหลวง 

อัยการบรรยายฟ้องอีกว่า การฉีดพ่นข้อความดังกล่าวเป็นถ้อยคําเสียดสี เจตนาดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ว่าทรงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไว้โดยเฉพาะแตกต่างจากประชาชนทั่วไป และทําให้ประชาชนทั่วไปเห็นว่าพระมหากษัตริย์ฯ และสถาบันกษัตริย์ อยู่ในฐานะที่ไม่ควรเคารพสักการะและไม่สมควรได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อีกต่อไป โดยต้องการให้ยกเลิกมาตรา 112 ออกจากประมวลกฎหมายอาญา 

และทําให้บุคคลที่เห็นข้อความว่า “ภาษีกู” เข้าใจได้ว่าพระมหากษัตริย์ฯ รวมถึงสถาบันกษัตริย์ ทรงนําเงินภาษีของจําเลยกับพวก รวมถึงภาษีที่รัฐจัดเก็บจากประชาชนทั่วไปมาใช้ประโยชน์เป็นการส่วนพระองค์ หรือใช้ในการติดตั้งพระฉายาลักษณ์ พระรูป หรือป้ายที่จําเลยกับพวกฉีดพ่นสีใส่ แทนที่จะนําเงินภาษีดังกล่าวไปใช้ในกิจการอย่างอื่น

ย้อนอ่านคำฟ้องคดีมาตรา 112 ของนิว พ.ร.บ.คอมฯ ‘นิว’ สิริชัย นศ.มธ. เหตุพ่นสี ‘ยกเลิก 112’ – ไม่ให้รหัสเครื่องมือสื่อสารกับจนท. ก่อนได้ประกันตัวระหว่างพิจารณาฯ |

ในคดีนี้นิวได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และศาลได้ทำการสืบพยานโจทก์มาตั้งแต่วันที่ 12 ต.ค. 2564, 19 ม.ค., 21 ก.ค. และ 21 ก.ย. 2565 โดยนัดสืบพยานจำเลยไปเมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2565

.

ภาพรวมของการสืบพยาน : โจทก์กล่าวหาจำเลยว่าเป็นผู้พ่นสีและข้อความบนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์  ส่วนจำเลยปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา รูปถ่ายจากกล้องวงจรปิดระบุไม่ได้ว่าเป็นจำเลย

การพิจารณาคดีนี้ เกิดขึ้นในห้องพิจารณาคดีที่ 6 ของศาลจังหวัดธัญบุรี โดยพนักงานอัยการโจทก์จังหวัดธัญบุรี ได้ประสงค์เบิกตัวพยานโจทก์เข้าเบิกความเป็นจำนวน 12 ปาก และทนายความจำเลยประสงค์นำพยานจำเลยเบิกความ 1 ปาก 

ในการสืบพยานพยานโจทก์ได้เบิกความกล่าวถึงพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ที่มีการพ่นสีสเปรย์และข้อความว่า “ภาษีกู” “ยกเลิก 112” จำนวน 6 จุด ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ได้แก่

–  ฉีดพ่นข้อความว่า “ภาษีกู ยกเลิก 112” ลงบนพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ตั้งประดิษฐานอยู่บริเวณหน้าคลินิกแพทย์สมภพ อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

–  ฉีดพ่นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนพระรูปของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ซึ่งพระรูปดังกล่าวประดิษฐานอยู่บริเวณจุดสะพานลอยหน้าโรงเรียนไทยรัฐวิทยา อําเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี

–  ฉีดพ่นข้อความว่า “ภาษีกู” ลงบนพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ ตั้งประดิษฐานอยู่บริเวณเกาะกลางถนนพหลโยธินขาออก หน้ามหาวิทยาลัยกรุงเทพ

–  ฉีดพ่นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนพระฉายาลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ ที่ตั้งประดิษฐานอยู่บริเวณเกาะกลางถนนพหลโยธินขาออก หน้าตลาดประทานพร จังหวัดปทุมธานี

–  ฉีดพ่นข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนป้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ฝั่งถนนพหลโยธินขาออก จังหวัดปทุมธานี

–  ฉีดพ่นข้อความว่า “ภาษีกู” และข้อความว่า “ยกเลิก 112” ลงบนแผ่นป้ายทรงพระเจริญ ซึ่งอยู่ใต้พระฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถฯ ประดิษฐานอยู่บริเวณสะพานลอยหน้าโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ จังหวัดปทุมธานี

ทางด้านจำเลยต่อสู้ว่าจากพยานหลักฐานในกล้องวงจรปิดที่โจทก์อ้างส่ง ไม่สามารถระบุตัวตนของจำเลยได้ว่าเป็นผู้กระทำการพ่นสีสเปรย์จริงหรือไม่ และจำเลยได้เข้าไปซื้อของที่ร้านอุปกรณ์เครื่องเขียนสมใจจริง แต่ไมได้ซื้อเพียงสีสเปรย์ ตลอดจนจำเลยไม่ได้เป็นแอดมินกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เพียงเคยเข้าร่วมชุมนุมและไม่เคยขึ้นปราศรัยในเวทีของกลุ่มแนวร่วมฯ แต่อย่างใด

อีกทั้งทั้ง 6 จุดเกิดเหตุดังกล่าว ไม่มีจุดใดที่เป็นพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 หรือพระราชินี ที่เป็นบุคคลตามองค์ประกอบตามมาตรา 112 แต่อย่างใด เนื่องจากมาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะพระมหากษัตริย์และพระราชินีองค์ปัจจุบัน

.

นิติกรเทศบาลคลองหลวง ผู้กล่าวหา เบิกความว่าตำรวจมาแจ้งว่ามีการพ่นสีสเปรย์กับพระรูป 4 จุด ตีมูลค่าความเสียหายรูปละ 2,500 บาท แต่ไม่ได้มีใบเสร็จรับรองราคาไว้

พยานโจทก์ชื่อสิริภัทร กาฬสิงห์ อายุ 49 ปี มีอาชีพเป็นนิติกรชำนาญการ ที่เทศบาลเมืองคลองหลวง โดยเกี่ยวพันในคดีนี้เป็นผู้รับมอบอำนาจให้มาแจ้งความดำเนินคดีกับจำเลย 

ในขณะเกิดเหตุ พยานเบิกความว่าตนเองได้รับแจ้งจากเพื่อนร่วมงานว่าในเพจเฟซบุ๊ก “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ได้ลงภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของพระพันปีหลวง ในรัชกาลที่ 9 พร้อมข้อความใต้ฐานพระรูปดังกล่าวว่า “ยกเลิก ม.112” ซึ่งป้ายเฉลิมพระเกียรติดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของเทศบาลเมืองคลองหลวง

เมื่อฝ่ายกองช่างของเทศบาลได้ออกไปตรวจสอบ ก็ได้พบว่ามี 4 จุด ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเทศบาลคลองหลวง และใช้งบประมาณของเทศบาล 

พยานเบิกความว่าข้อความต่างๆ ที่ปรากฏบนพระรูปทั้ง 4 จุดเป็นการนำป้ายไวนิลข้อความ และสีสเปรย์พ่นทับลงบนพระรูป ทำให้พระรูปเสียหายไม่สามารถแก้ไขหรือทำให้เป็นเหมือนเดิมได้ ลักษณะของข้อความที่พ่นพยานเชื่อว่าเป็นการกระทำจากกลุ่มคนเดียวกัน เพราะมีบล็อกไวนิลข้อความเดียวกัน และเหตุเกิดในช่วงคืนวันที่ 9 ม.ค. 2564 ถึงคืนวันที่ 10 ม.ค. 2564 

เมื่อสำรวจความเสียหายเสร็จแล้ว พยานได้รับมอบอำนาจให้มาแจ้งความร้องทุกข์ ที่ สภ.คลองหลวง โดยประเมินค่าเสียหายตีราคารูปละ 2,500 บาท รวมเป็นเงิน 10,000 บาท

ทนายจำเลยถามค้าน

ข้อเท็จจริงปรากฏว่า พยานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.คลองหลวง ว่ามีการกระทำดังกล่าวเกิดขึ้นบนพระรูปต่างๆ จึงมาแจ้งที่เทศบาลคลองหลวงให้ทราบไว้ ก่อนที่พยานจะได้รับมอบอำนาจให้มาเป็นผู้แจ้งความในภายหลัง

พยานรับรู้ว่าในบริเวณพื้นที่เทศบาลและตามที่สาธารณะต่างๆ มีการพ่นข้อความว่า “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112” อยู่บ่อยครั้งไม่เฉพาะที่พระรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ ตลอดจนพยานไม่ทราบว่าใครเป็นแอดมินของเพจแนวร่วมฯ ตลอดจนพยานไม่มีหลักฐานว่าป้ายพระฉายาลักษณ์ทั้ง 4 จุด มีราคาความเสียหายอยู่ที่ 2,500 บาท เป็นใบเสร็จใดๆ มาแสดงได้ 

อัยการโจทก์ถามติง

พยานตอบอัยการว่าในการพ่นสีสเปรย์ด้วยข้อความดังกล่าวตามพื้นที่สาธารณะในเทศบาลคลองหลวง เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้งจริง แต่การพ่นสีสเปรย์บนพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ ในคดีนี้เป็นครั้งแรก

.

หัวหน้าหมวดทางหลวง ร่วมแจ้งความร้องทุกข์ แต่ไม่ได้เจาะจงว่าต้องการแจ้ง ม.112 

ธวัฒชัย แก้วทวี อายุ 42 ปี ตำแหน่งหัวหน้าหมวดทางหลวงนวนคร มีหน้าที่ดูแลถนนทางหลวง ตั้งแต่เชียงกงรังสิต จนถึงทางต่างระดับบางประอิน รวมถึงสิ่งของต่างๆ ที่อยู่ในเขตทางหลวง ทางเท้า และสะพานลอย ในคดีนี้เกี่ยวพันเป็นผู้รับมอบอำนาจแจ้งความ

พยานได้รับแจ้งจากตำรวจ สภ.คลองหลวง ให้ไปตรวจสอบบริเวณสะพานลอยตรงข้ามทางเข้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และพระบรมฉายาลักษณ์ของพระพันปีหลวง ด้านล่างพระฉายาลักษณ์ทั้งสองมีข้อความว่า “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112” พ่นลงบนป้ายทรงพระเจริญ สร้างความเสียหายไม่สามารถทำให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ พยานตีมูลค่าความเสียหาย 3,000 บาท 

ทนายความจำเลยถามค้าน

พยานตอบทนายว่า ตนเองไม่ได้มีหนังสืบมอบอำนาจมาให้แจ้งความแต่อย่างใด และภาพถ่ายที่เกิดเหตุก็ไม่ได้เป็นผู้ถ่ายเอง พยานไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับจำเลยจริง แต่ไม่ได้เจาะจงว่าให้ต้องดำเนินคดีตามมาตรา 112 การกระทำผิดตามข้อกล่าวหานั้น พนักงานสอบสวนเป็นผู้จัดทำทั้งสิ้น

ส่วนการตีมูลค่าความเสียหายพระรูปดังกล่าว เป็นการตีมูลค่าตามราคาประเมินเท่านั้น ไม่ได้มีหลักฐานเป็นใบเสร็จมายืนยันได้ ส่วนคำให้การของพยานกับพนักงานสอบสวน ที่ระบุว่ามีความเสียหายต่อพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ทั้ง 6 จุดนั้น ไม่ถูกต้อง เนื่องจากเขตความรับผิดชอบของพยานมีอยู่จุดเดียวคือตรงสะพยานลอย บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ส่วนเพจเฟซบุ๊กแนวร่วมธรรมศาสตร์ ฯ จะมีใครจัดตั้งหรือมีใครอยู่เป็นสมาชิกด้วยบ้าง พยานไม่ทราบ และไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน

.

ชุดพนักงานสืบสวน 3 ปาก เบิกความถึงการสืบสวนในคดีนี้ ชี้ตัวจำเลยได้จากการติดตามการเดินทางตามกล้องวงจรปิด

พยานโจทก์ชุดพนักงานสืบสวนจาก สภ.คลองหลวง 3 นาย ได้แก่ พ.ต.ต.สิรภพ บัวหลวง อายุ 39 ปี ตำแหน่งสารวัตรสืบสวน, พ.ต.ท.เสฏฐพงศ์ ทรงกลด อายุ 53 ปี ตำแหน่งรองผู้กำกับการฝ่ายสืบสวน และ พ.ต.ต.มนูญ สิงหาอาจ อายุ 42 ปี ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวน เกี่ยวข้องกับคดีนี้เป็นคณะผู้สืบสวนคดีและจับกุมจำเลย 

ในขณะเกิดเหตุเมื่อวันที่ 10 ม.ค. 2564 พยานโจทก์ทั้ง 3 คน เบิกความคล้ายคลึงกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจพบว่ามีการพ่นสีสเปรย์ข้อความว่า “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112” จำนวน 6 จุดตามฟ้อง และอีก 2 จุดในพื้นที่สาธารณะ รวมทั้งหมด 8 จุด ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของ สภ.คลองหลวง 

พยานเบิกความว่าใน 2 จุดที่อัยการโจทก์ไม่ได้ฟ้องจำเลยมานั้น เกิดขึ้นในบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟถนนเชียงราก และอีกหนึ่งจุดเกิดขึ้นที่กำแพงรั้วใกล้หมู่บ้านนวลตอง โดยทั้งสองจุดมีการพ่นสีสเปรย์คำว่า “ยกเลิก ม.112” ซึ่งเป็นบล็อกข้อความเดียวกับจุดอื่นๆ ในคดีนี้

จากการตรวจสอบสถานที่ กลุ่มพยานพบสีสเปรย์ถูกทิ้งไว้จำนวน 2 กระป๋อง ในบริเวณจุดหน้าคลินิกสมภพและบริเวณหน้าสะพานลอยหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากนั้นพยานได้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาทราบ และภายหลังผู้บังคับบัญชาจึงได้ตั้งคณะพนักงานสืบสวนในคดีนี้ขึ้นมา โดยมีพยานเป็นหนึ่งในคณะดังกล่าว

พยานทั้งสามและพวกเริ่มสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิดในคดีนี้จากกล้องวงจรปิดในพื้นที่ต่างๆ ที่ใกล้เคียงกับจุดเกิดเหตุ โดยในวันที่ 10 ม.ค. 2564 พยานได้ตรวจกล้องวงจรปิดบริเวณตลาดประทานพร  ได้พบกับชาย 2 คน นั่งและขับรถจักรยานยนต์สีดำ แต่ไม่สามารถมองเห็นป้ายทะเบียนรถได้ชัด โดยชายที่ซ้อนท้ายถือถุงผ้าขนาดใหญ่ลักษณะสี่เหลี่ยม ลงมาพ่นสีสเปรย์ที่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระพันปีหลวง 

เมื่อตรวจสอบกล้องวงจรปิดที่จุดเกิดเหตุและก่อนเกิดเหตุ พยานและคณะได้สืบตามเส้นทางที่จำเลยเดินทางต่อ พบว่าจำเลยกับพวกได้เดินทางไปที่แมนชั่นแห่งหนึ่ง จึงทำการตรวจสอบกล้องวงจรปิดในแมนชั่นและสอบถามผู้ดูแล พบว่ามีจำเลยเป็นผู้พักอาศัยอยู่ ซึ่งตรงกับลักษณะของชายสองคนที่ก่อเหตุบริเวณตลาดประทานพร

นอกจากนี้ กลุ่มพยานยังได้ตรวจสอบกล้องวงจรปิดในบริเวณสะพานข้ามทางรถไฟเชียงราก พบชายสองคนถือถุงผ้าลักษณะเดียวกับจุดเกิดเหตุที่ตลาดประทานพร และมีมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อและลักษณะเดียวกัน มีสติ๊กเกอร์สีขาวแปะใต้แผ่นป้ายทะเบียน ซึ่งมองเห็นจากกล้องวงจรปิดได้ชัดเจน 

หลังจากนั้น กลุ่มพยานได้ทำการตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียนรถมอเตอร์ไซค์คันดังกล่าว พบว่าไม่ได้เป็นของจำเลยในคดีนี้ แต่เป็นของมารดาของ “ชยพล” เพื่อนจำเลย และพยานก็เบิกความต่อไปว่าชยพล เป็นเพื่อนที่มักจะมาพบปะกับจำเลยอยู่บ่อยครั้งที่หอพักของจำเลย

กลุ่มพยานเบิกความต่อไปว่า ในวันเกิดเหตุตามจุดต่างๆ เช่นกล้องวงจรปิดบริเวณกำแพงรั้วหมู่บ้านนวลตอง ก็พบว่าคนที่กระทำการพ่นสีสเปรย์เป็นบุคคลเดียวกัน โดยมีลักษณะเสื้อผ้าและกระเป๋าผ้าที่เป็นแบบเดียวกัน และการเดินทางของมอเตอร์ไซค์คันดังกล่าว เพื่อไปพ่นสีตามจุดต่างๆ ก็มีระยะเวลาที่ต่อเนื่องกัน

เมื่อยืนยันได้แล้วว่าจำเลยในคดีนี้เป็นผู้กระทำการพ่นสีสเปรย์บนพระรูปของพระบรมวงศานุวงศ์หลายจุด พยานและคณะจึงวางแผนไปตรวจสอบร้านเครื่องเขียนลักษณะเดียวกันที่พบในจุดเกิดเหตุ ในบริเวณที่ใกล้เคียงกับหอพักของจำเลย จนไปพบร้านชื่อสมใจ

กลุ่มพยานได้ร่วมกันตรวจดูกล้องวงจรปิดภายในร้าน ก่อนวันเกิดเหตุคือวันที่ 9 ม.ค. 2564 ก็ได้พบจำเลยได้เข้ามาซื้อสินค้าในร้าน พบว่ามีการซื้อสีสเปรย์ 6 กระป๋อง และสินค้าหลายประการ โดยชำระเงินด้วยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีของร้าน

พยานทั้งหมดเบิกความทำนองเดียวกันว่า ในรายงานการสืบสวนดังกล่าว พบผู้กระทำผิดแค่คนเดียวคือ “นิว สิริชัย” ซึ่งเป็นผู้ขับรถมอเตอร์ไซค์ส่วนคนที่นั่งซ้อนท้ายนั้นจากการสืบสวนยังไม่ทราบว่าเป็นผู้ใด และเมื่อได้ร้องขอศาลออกหมายจับในวันที่ 13 ม.ค. 2564 ก็ได้ทำการจับกุมจำเลย พร้อมรถมอเตอร์ไซค์ที่บริเวณหน้าหมู่บ้านนวลตอง โดยมี พ.ต.ต.มนูญ และ พ.ต.ท.เสฏฐพงศ์ เป็นผู้เข้าจับกุมและตรวจค้น

หลังจากอ่านข้อความในบันทึกการจับกุมให้จำเลยฟัง นิวไม่ได้ลงชื่อตัวเอง แต่เขียนข้อความลงไปว่า “ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ” กลุ่มพยานเบิกความต่อไปว่า หลังจากจับกุมแล้ว ก็ได้ขอหมายค้นหอพักของจำเลยจากศาลจังหวัดธัญบุรี 

.

ทนายความจำเลยถามค้าน 

พ.ต.ต. สิรภพได้ตอบคำถามทนายว่า บริเวณจุดเกิดเหตุไม่ได้มีกล้องวงจรปิดที่เห็นชัดเจน มีเพียงแค่พื้นที่ใกล้จุดเกิดเหตุเท่านั้น และมี ร.ต.อ.มนูญ กับ พ.ต.ท.เสฏฐพงศ์ ร่วมเป็นคณะสืบสวนในคดีนี้ด้วย โดยปรากฏว่าสิรภพไม่ได้เป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวนทั้งหมด

พ.ต.ต.สิรภพได้ให้การกับพนักงานสอบสวนโดยกล่าวว่าในคดีนี้มีผู้กระทำผิด 2 คน และได้ให้พยานดูหมายค้นเพื่อจับกุมบุคคล 2 คน คือนิวและชยพล เจ้าของมอเตอร์ไซค์ แต่พนักงานสอบสวนออกหมายจับชยพลหรือไม่ พยานไม่ทราบ

กลุ่มพยานตอบคำถามค้านคล้ายกันว่า สีสเปรย์ที่คนร้ายใช้พ่นบนพระรูปตามจุดต่างๆ มีสีเดียวกันคือสีดำ แต่กระป๋องสเปรย์ที่ตรวจยึดได้นั้นเป็นกระป๋องสเปรย์สีขาว และพยานยอมรับว่าให้เจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบไปเฝ้าดูที่หอพักของจำเลย เพื่อดูว่าใครเป็นผู้ใช้งานรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ก่อเหตุ แต่บุคคลที่เป็นเจ้าของรถมอเตอร์ไซค์ไม่ใช่จำเลย 

ทนายถามต่อโจทก์ว่าในภาพกล้องวงจรปิดที่พยานอ้างส่งเป็นหลักฐานในคดีนี้ ไม่สามารถชี้ตัวจำเลยได้ เนื่องจากวันเวลาในภาพกล้องวงจรปิด คือวันที่ 12 ม.ค. 2564 แต่เหตุในคดีนี้เกิดขึ้นคืนวันที่ 9 ม.ค. 2564 จนถึงวันที่ 10 ม.ค. 2564 พยานอธิบายว่าวันเวลาในกล้องถูกตั้งค่าไว้ไม่ตรงกับความเป็นจริง และไม่ได้นำกล้องวงจรปิดไปตรวจสอบว่าวันเวลาที่ตั้งค่าไว้ตรงกับความเป็นจริงหรือไม่

อัยการโจทก์ถามติง

ร.ต.อ.มนูญ และ พ.ต.ท.เสฏฐพงศ์ ร่วมทำงานอยู่ในฝ่ายสืบสวนของ สภ.คลองหลวง ด้วย และ พ.ต.ต.สิรภพ ไม่ได้เป็นผู้จัดทำรายงานการสืบสวนด้วยตัวคนเดียว แต่ได้ตรวจสอบเอกสารแล้ว ทั้งหมดสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เบิกความไว้

ในทางการสืบสวนของคดีนี้ กลุ่มพยานยืนยันว่ามีผู้ร่วมกระทำผิด 2 คน คือจำเลย และบุคคลที่มีลักษณะคล้ายชยพล เพื่อนของจำเลยและเจ้าของรถมอเตอร์ไซค์ 

กระป๋องสเปรย์ที่ตรวจยึดได้ในจุดเกิดเหตุมี 2 กระป๋องเป็นสีดำและสีขาว และภาพคนที่นั่งซ้อนท้ายจำเลยในคดีนี้ในวันเกิดเหตุ ตรวจสอบภายหลังแล้วไม่พบว่าเป็นชยพล 

.

พนักงานสอบสวน ระบุให้นักวิชาการพิจารณาการกระทำของจำเลยร่วมด้วย ก่อนมีความเห็นสั่งฟ้อง ม.112 

พ.ต.ท.ยศวัฒน์ นิติรัฐพัฒนคุณ พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปี 2564 ในขณะเกิดเหตุในคดีนี้ พยานเป็นร้อยเวรสอบสวน โดยมีผู้บังคับบัญชามีคำสั่งให้สอบสวนผู้ต้องหาใช้สีสเปรย์พ่นใส่พระบรมฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์ ในเขต สภ.คลองหลวง จำนวน 6 จุด ตามฟ้อง

เมื่อทราบเหตุแล้ว ได้มีการรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบลงวันที่ 10 ม.ค. 2564 ซึ่งต่อมามีคำสั่งตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ได้แต่งตั้งคณะพนักงานสอบสวน ซึ่งมีพยานร่วมอยู่ในคณะดังกล่าวด้วย 

ในคดีนี้ พยานได้สอบปากคำระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ ในฐานะประชาชนผู้ให้ความเห็นต่อเหตุการณ์ ซึ่งระพีพงษ์ได้มาให้การในชั้นสอบสวน ในจุดเกิดเหตุทั้ง 6 จุดตามฟ้อง และได้สอบปากคำผู้รับมอบอำนาจจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาให้ปากคำเกี่ยวกับที่มีการโพสต์พระรูปของรัชกาลที่ 9 และ รัชกาลที่ 10 ตลอดจนพระพันปีหลวง

จากการตรวจสอบไวนิลข้อความที่ใช้ก่อเหตุ พยานเชื่อว่าเป็นฝีมือของบุคคลเดียวกัน เนื่องจากลักษณะบล็อกข้อความและตัวหนังสือมีลักษณะเดียวกันทุกจุด

ทั้งนี้ พยานได้สอบปากคำพนักงานในร้านสมใจตามรายงานการสืบสวน ซึ่งเป็นร้านที่จำเลยได้เข้าไปซื้อสินค้าและสีสเปรย์ และพยานได้สอบคำให้การพยานบุคคลนักวิชาการเพื่อพิจารณาในการสั่งฟ้อง อาทิเช่น ไชยันต์ ไชยพร, เจษฎ์ โทณะวณิก, อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ และ พลโทนันทเดช เมฆสวัสดิ์ ไว้ด้วย

เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ทำการจับกุมจำเลยไว้ได้แล้ว พยานได้รับตัวจำเลยไว้ โดยในขณะที่สอบปากคำมีบุคคลที่จำเลยไว้ใจทั้งทนายความ อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ส.ส.พรรคก้าวไกล ร่วมอยู่ด้วย ซึ่งจำเลยได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดนไม่ประสงค์ลงลายมือชื่อ

ทั้งนี้ พยานให้ความเห็นว่าที่มีการพ่นสีสเปรย์ลงบนพระฉายาลักษณ์ของเจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ  และ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งเป็นพระราชธิดาของในหลวงรัชกาลที่ 10 ถึงแม้จะไม่ได้เป็นการกระทำต่อพระรูปของในหลวงโดยตรง แต่การกระทำที่เกิดขึ้นกับพระราชธิดา ก็ถือเป็นความการกระทำที่ส่อว่ากระทำต่อรัชกาลที่ 10 ด้วย

.

ทนายความจำเลยถามค้าน

พยานได้ยอมรับตามที่ทนายถามว่ามีการออกหมายจับกับชยพล เพื่อนของจำเลยในคดีนี้ด้วย แต่ภายหลังได้เพิกถอนหมายจับออก และทราบว่าชยพลได้มีการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่พยานไม่ทราบรายละเอียด 

หลังมีการจับกุมจำเลยเกิดขึ้นในวันที่ 13 ม.ค. 2564 และพยานได้สอบปากคำจำเลยในช่วงเช้าของวันที่ 14 ม.ค. 2564 ซึ่งพยานได้ยืนยันตามที่ทนายถามว่าคดีมาตรา 112 มีบัญชีรายชื่อพยานโจทก์ที่จะเข้ามาให้ปากคำกับพนักงานสอบสวน โดยรายงานการสอบสวนทั้งหมดจะถูกส่งไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติด้วย 

กลุ่มพยานโจทก์ที่เป็นนักวิชาการข้างต้น พยานได้เบิกความว่ามาจากการประชุมและพิจารณาร่วมกันของคณะพนักงานสอบสวน และปฏิเสธว่าไม่รู้เห็นเกี่ยวกับความคิดเห็นของพยานนักวิชาการที่พยานได้นำเข้ามาสอบปากคำในคดีนี้

พยานยอมรับตามที่ทนายถามว่าไม่ได้มีตัวแทนจากสำนักพระราชวังของในหลวงรัชกาลที่ 10 มาแจ้งความดำเนินคดีแต่อย่างใด โดยในคดีนี้ไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาหรือฟ้องตามมาตรา 327 (ใส่ความผู้ตายต่อบุคคลที่สาม)

พยานได้ร่วมเป็นพนักงานสอบสวนตรวจของกลาง ผลการตรวจรอยนิ้วมือแฝง ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้ การตรวจลายนิ้วมือที่กระป๋องสเปรย์ก็ไม่สามารถยืนยันตัวบุคคลได้ ซึ่งในรายงานตรวจพิสูจน์รอยนิ้วมือแฝง ก็แตกต่างจากรอยพิมพ์นิ้วมือของจำเลย มีการลงความเห็นว่าไม่ใช่ลายพิมพ์นิ้วมือเดียวกัน

นอกจากนี้ ในการตรวจพิสูจน์รอยพื้นรองเท้า ก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่าเป็นรอยพื้นรองเท้าที่ได้ทำการตรวจยึดได้จากห้องพักของจำเลย และรอยเท้าดังกล่าวก็ไม่ตรงกันกับในพื้นที่เกิดเหตุ 

ส่วนจะมีการนำป้ายไวนิลไปตรวจพิสูจน์ แต่จะมีการตรวจขนาดของอักษรที่ปรากฏตามที่เกิดเหตุหรือไม่ พยานไม่ทราบ และจำไม่ได้

พยานไม่ทราบว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ได้มีการแต่งตั้งองค์รัชทายาทไว้แล้วหรือไม่ และไม่ทราบว่านักวิชาการทางกฎหมายอย่าง จิตติ ติงศภัทิย์, ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ์ และหยุด แสงอุทัย จะเขียนตำราทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112 ไว้อย่างไรบ้าง

นอกจากนี้ ในคำพิพากษาของศาลจังหวัดนนทบุรี ศาลจังหวัดสมุทรปราการ และ ศาลจังหวัดนราธิวาส จะมีคำพิพากษาที่เห็นว่าอดีตพระมหากษัตริย์ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 ไว้หรือไม่ พยานไม่ทราบ

เมื่อทนายถามว่า ในคดีนี้มีการพ่นสีสเปรย์ลงบนรูปของพระพันปีหลวง และรัชกาลที่ 9 ซึ่งสวรรคตไปแล้ว หากมีบุคคลไปพ่นสีสเปรย์บนรูปปั้นพระเจ้าตากสินฯ พยานจะมีความเห็นสั่งฟ้องตามมาตรา 112 หรือไม่ ซึ่งพยานได้ตอบว่าความเห็นสั่งฟ้องต้องมาจากคณะกรรมการสอบสวน

ทั้งนี้ ทนายจำเลยได้ถามต่อไปว่า หากมีคนไปพ่นสีสเปรย์ลงบนรูปของพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ หรือปรีดี พนมยงค์ ซึ่งเป็นอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พยานจะสั่งฟ้องด้วยหรือไม่ พยานได้ตอบทนายว่าต้องขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม ทนายจำเลยถามต่อว่า ข้อความ “ยกเลิก ม.112” เป็นข้อความที่เข้าข่ายลักษณะดูหมิ่น หากมีคนไปพ่นสีสเปรย์ว่า “ยกเลิก 136” หรือให้ยกเลิกกฎหมายดูหมิ่นเจ้าพนักงานออกไป โดยมีการพ่นใต้รูปผู้กำกับ สภ.คลองหลวง พยานให้ความเห็นว่าให้อยู่ที่การรวบรวมพยานหลักฐานในคดีและข้อกฎหมาย 

เช่นเดียวกับการพ่นข้อความ “ภาษีกู” บนรูปนายกเทศมนตรีคลองหลวง พยานจะมีความเห็นสั่งฟ้องหรือไม่ก็ให้ขึ้นอยู่กับข้อกฎหมายและการรวบรวมพยานหลักฐานเช่นกัน

นอกจากนี้ พยานได้ตอบทนายว่าในคดีนี้ เทศบาลเมืองคลองหลวงได้มีการมาแจ้งความร้องทุกข์เฉพาะมาตรา 112 ไม่ได้แจ้งทำให้เสียทรัพย์ โดยการร้องทุกข์ดังกล่าวได้มีการให้ดำเนินคดีกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เท่านั้น ไม่ได้ให้ร้องทุกข์ดำเนินคดีกับจำเลยในคดีนี้

ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่าธวัชชัย ผู้ซึ่งรับมอบอำนาจจากผู้อำนวยการแขวงทางหลวงปทุมธานี มีหนังสือรับมอบอำนาจมาหรือไม่ และพยานไม่ทราบว่าแขวงการทางหลวงปทุมธานีจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลหรือไม่ 

ในคดีนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่ได้มาแจ้งความร้องทุกข์ฐานทำให้เสียทรัพย์ และพยานยืนยันตามที่ทนายถามว่าจำเลยไม่ได้เป็นแกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ และไม่เคยถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมในวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งมีการดำเนินคดีกับประชาชนกว่า 15 คน โดยไม่ได้มีจำเลยเป็นหนึ่งในนั้น

พยานยืนยันว่าข้อความ “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112” ไม่ได้มีการแจ้งความหมายใดไว้ในจุดเกิดเหตุ และไม่ทราบว่าภาพในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งถูกโพสต์ในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เป็นภาพจากพื้นที่ใด

.

อัยการโจทก์ถามติง

ในคดีมาตรา 112 พยานตอบอัยการว่าไม่จำเป็นต้องมีผู้มาร้องทุกข์ พนักงานสอบสวนสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้เลย และการสั่งฟ้องในคดีนี้ พยานได้มีการรวบรวมความเห็นของนักวิชาการมาเป็นเหตุในการสั่งฟ้องคดี

พยานยืนยันว่ามีคนก่อเหตุ 2 คนในคดีนี้ ซึ่งคนที่ลงมาก่อเหตุอาจไม่ใช่จำเลย ทำให้รองเท้าของกลางที่ยึดได้ในที่เกิดเหตุไม่ตรงกัน ส่วนกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ จะมีบัตรสมาชิกหรือไม่พยานไม่ทราบ

ในคำพิพากษาของศาลจังหวัดจันทบุรี ศาลจังหวัดสมุทปราการ และศาลจังหวัดนราธิวาส เป็นคำพิพากษาเกี่ยวกับรัชกาลที่ 9 ไม่ใช่รัชกาลที่ 10 ส่วนในคดีนี้เกิดขึ้นในช่วงรัชสมัยของรัชกาลที่ 10 กรณีที่คนกระทำการพ่นสีสเปรย์บนพระฉายาลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์นั้น เป็นการกระทำที่ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10

.

พยานโจกท์ปากประชาชน 3 ราย เข้าให้ความเห็นต่อข้อความ “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112”

ภูริชนินทร์ กลิ่นบุญ — เบิกความในฐานะหัวหน้าหน่วยรักษาความปลอดภัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พยานจำได้แค่ว่าเหตุในคดีนี้เกิดในช่วงเดือนมกราคม 2564 เนื่องจากมีผู้บริหารแจ้งมาที่ไลน์กลุ่มของ รปภ. ว่ามีเหตุเกิดขึ้นกับพระฉายาลักษณ์บริเวณหน้ามหาวิทยาลัย พยานจึงออกไปตรวจสอบ แต่เมื่อตรวจสอบแล้วไม่พบความเสียหายต่อพระฉายาลักษณ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของพยาน 

แต่พบว่ามีข้อความเป็นสีสเปรย์พ่นคำว่า “ยกเลิก ม.112” ที่ป้ายมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ใครจะเป็นผู้พ่นสีดังกล่าว พยานไม่ทราบ และไม่เคยรู้จักกับจำเลยในคดีนี้มาก่อน 

ทนายความจำเลยถามค้าน

ในคดีนี้พยานได้รับมอบหมายให้มาเป็นพยานเบิกความ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยไปให้การตามหนังสือที่พนักงานสอบสวนเป็นผู้แจ้งเหตุ

.

ร.ต.อ.นรินทร์ ศักดิ์เจริญชัยกุล — เบิกความในฐานะประชาชนทั่วไปและทนายความผู้รู้กฎหมาย จบการศึกษาในระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยในขณะเกิดเหตุคดีนี้ พยานประกอบอาชีพทนายความ ได้รับใบอนุญาตว่าความตั้งแต่ปี 2541 เกี่ยวกับคดีนี้พยานได้ติดตามเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ มีการโพสต์ภาพพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 และพระบรมวงศานุวงศ์ มีบุคคลไปพ่นสีสเปรย์ตามฟ้อง การพ่นข้อความดังกล่าว ใช้สีสเปรย์สีดำและสีขาว แต่ส่วนมากเป็นสีดำ

พยานเบิกความต่อไปว่าจากการเห็นภาพแล้ว พยานคิดว่าเป็นการกระทำที่ดูหมิ่นตามมาตรา 112 และข้อความว่า “ภาษีกู” ในความเห็นของพยานมีความหมายว่า กษัตริย์ได้นำภาษีของประชาชนไปใช้ในเรื่องส่วนตัว ซึ่งทำให้ประชาชนเป็นที่ไม่เคารพ ศรัทธาในตัวพระองค์และสถาบันฯ แม้ข้อความดังกล่าวจะไม่ได้อยู่บนพระรูปของรัชกาลที่ 10 ก็ตาม

ในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ มีการพ่นสีสเปรย์ลงบนรูปของรัชกาลที่ 10 ด้วย แต่ตำรวจไม่ทราบว่าเกิดเหตุที่ใด และพยานเองก็ไม่ทราบว่าเป็นพื้นที่ใดเช่นกัน ในคดีนี้พยานไม่เคยรู้จักกับจำเลยมาก่อน และไม่สามารถชี้ตัวบุคคลในห้องพิจารณาได้

จากการติดตามเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ของพยานทราบว่าจำเลยในคดีนี้ เป็นผู้สนใจการเมืองและรณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112

ทนายความจำเลยถามค้าน

พยานยอมรับกับทนายว่าเคยเป็นสมาชิกกลุ่มการเมือง ชื่อกลุ่มไทยภักดี แต่ปัจจุบันไม่ได้เป็นแล้ว เมื่อทนายจำเลยถามว่ากลุ่มดังกล่าวมีแนวคิดทางการเมืองที่ขัดแย้งกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ใช่หรือไม่ พยานขอไม่ตอบในคำถามนี้

พยานยอมรับว่าเคยเข้าแจ้งความกับประชาชนในฐานความผิดตามมาตรา 112 มาก่อน และในคดีนี้พยานมาให้การในฐานะประชาชนและทนายความผู้รู้กฎหมาย แต่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงยุติธรรม หรือสำนักงานศาลยุติธรรม ตลอดจนไม่เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับมาตรา 112 มาก่อน 

พยานไม่ทราบว่าในคำฟ้องของอัยการโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงภาพในหลวง รัชกาลที่ 10 หรือไม่ และในคำให้การของพยานต่อพนักงานสอบสวน ก็ไม่ได้ให้การว่ามีคนไปพ่นสีสเปรย์ใช่รูปของรัชกาลที่ 10

เมื่อทนายความถามว่าพยานทราบหรือไม่ว่าในมาตรา 112 ระบุไว้ว่าคุ้มครองถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น พยานตอบทนายว่าไม่ทราบ แต่ทราบว่าศาลจังหวัดจันทบุรีได้เคยพิพากษาในคดี ม.112 ไว้ว่าคุ้มครองเฉพาะกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น และอธิบายเพิ่มเติมในความเห็นส่วนตัวว่า ควรจะคุ้มครองให้ถึงอดีตกษัตริย์ทุกพระองค์ รวมถึงพระราชินี และอดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ด้วย

พยานทราบว่ามาตรา 112 คุ้มครองไปถึงองค์รัชทายาทด้วย ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีพระบรมวงศานุวงศ์องค์ใดที่ได้รับการแต่งตั้งตามกฎมณเฑียรบาล โดยพยานได้ทราบอีกว่านายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่าในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงมีพระราชดำริไม่ให้ใช้มาตรา 112 กับประชาชน

อัยการโจทก์ถามติง

พยานตอบอัยการว่าทราบเรื่องคำพิพากษาของศาลจังหวัดจันทบุรี แต่คำพิพากษาในคดีดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่ในคดีนี้ที่มาเบิกความมีการพ่นสีสเปรย์บนรูปของรัชกาลที่ 10 ซึ่งมีการโพสต์อยู่ในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ

.

ระพีพงษ์ ชัยยารัตน์ — เบิกความในฐานะประชาชนทั่วไป ไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดี โดยปัจจุบันประกอบอาชีพขายอาหารตามสั่ง บริเวณมหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเกิดเหตุของคดีนี้ 

ในวันที่ 10 ม.ค. 2564 พยานได้เข้าไปดูเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ พบว่ามีการพ่นสีสเปรย์ข้อความว่า “ภาษีกู” และ “ยกเลิก ม.112” บนรูปของพระพันปีหลวง แต่ใครจะเป็นแอดมินโพสต์ดังกล่าวพยานไม่ทราบ ตลอดจนพยานเป็นเพียงประชาชนผู้จงรักภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เมื่อเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวในคดีนี้ ก็มีความรู้สึกไม่สบายใจ

และมีความเห็นต่อคำว่า “ภาษีกู” หมายถึงกษัตริย์นำภาษีของประชาชนไปใช้ในเรื่องส่วนตัว ซึ่งพยานคิดว่าไม่เป็นความจริง และทำให้กษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียง โดยพยานได้บันทึกภาพในที่เกิดเหตุส่งให้พนักงานสอบสวน พร้อมกับเข้าให้การเป็นพยานโจทก์ และได้เห็นภาพของจำเลยในคดีนี้ หรือ นิว สิริชัยอยู่ในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ด้วย

ทนายความจำเลยถามค้าน 

พยานยอมรับตามที่ทนายถามว่าที่เบิกความเกี่ยวกับตัวจำเลย ซึ่งพยานเห็นภาพในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ พยานไม่ได้ให้การแบบนี้ในชั้นสอบสวน และไม่พบว่าจำเลยเป็นแกนนำในการทำกิจกรรมใดๆ 

ส่วนความเห็นต่อคำว่า “ภาษีกู” เป็นความเห็นของพยานเพียงคนเดียว และยอมรับตามที่ทนายถามค้านว่าบนพระรูปของพระพันปีหลวง ไม่ได้มีการอธิบายความหมายของข้อความดังกล่าวไว้แต่อย่างใด 

อัยการโจทก์ถามติง

พยานไม่ทราบว่าใครเป็นผู้พ่นข้อความบนพระฉายาลักษณ์หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทั้งนี้พยานปากนี้ ยังเป็นสมาชิกของศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ (ศปปส.) ด้วย

.

ตำรวจผู้ตรวจสอบที่เกิดเหตุและตรวจพิสูจน์พยานหลักฐาน เข้าตรวจเก็บหลักฐาน โดยจำเลยไม่ได้โต้แย้งใดๆ

พ.ต.ต.หญิงเกสรา อินทร์รักษาทรัพย์ อายุ 35 ปี รับอาชีพข้าราชการตำรวจ ตำแหน่งนักวิทยาศาสตร์ กลุ่มงานตรวจสถานที่เกิดเหตุ ศูนย์พิสูจน์หลักฐาน 1 มีหน้าที่ตรวจสถานที่เกิดเหตุและตรวจเก็บวัตถุพยาน 

เกี่ยวกับในคดีนี้ ในวันที่ 14 ม.ค. 2564 ช่วงเวลาประมาณ 00.30 น. ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง ว่าให้ไปเก็บวัตถุพยานที่หอพักของจำเลย เมื่อเดินทางไปถึงพยานได้พบกับพนักงานสอบสวนและจำเลย ผู้เป็นเจ้าของห้อง

ในการตรวจเก็บพยานหลักฐานในห้องพัก พยานพบกระดาษที่ถูกตัดเป็นชิ้นๆ เสื้อฮู้ดแขนยาว 1 ตัวที่พนักงานสอบสวนคาดว่าเป็นชุดที่ใส่ในวันเกิดเหตุ ถุงผ้าสีแดงภายในมีแผ่นโลหะ 2 แผ่น รองเท้าแตะ 2 คู่ เมื่อพยานทำการบันทึกและวัตถุพยาน จำเลยได้ชูสามนิ้วขึ้นมา

ในการเก็บพยานหลักฐาน พยานได้ใช้เวลาราว 1 ชั่วโมง ก่อนจะกลับไปและส่งบันทึกให้กับพนักงานสอบสวนในวันดังกล่าวทันที และจำเลยที่อยู่ภายในห้องไม่ได้มีข้อโต้แย้งใดๆ กับพยาน 

ทนายความจำเลยถามค้าน

พยานตอบทนายว่าในขณะเกิดเหตุ พยานเข้าเวรอยู่ และไปถึงหอพักของจำเลยในเวลาประมาณเพียง 5 นาที และเมื่อไปถึงแล้วก็เจอจำเลยกับพนักงานสอบสวนยืนรออยู่ที่หน้าห้อง แต่ในรายงานตรวจวัตถุพยานไม่ได้มีภาพดังกล่าวตามที่พยานเบิกความไว้

ในขณะที่ตรวจห้องพัก มีจำเลยเพียงคนเดียว ไม่มีญาติหรือทนายความและบุคคลที่จำเลยไว้ใจอยู่ร่วมด้วย และในการตรวจเก็บพยานหลักฐานต่างๆ เป็นการใช้ดุลยพินิจของพยาน ไม่ได้เกิดจากการชี้นำของจำเลยให้เก็บพยานใดๆ 

อัยการโจทก์ถามติง

พยานตอบอัยการ เรื่องเหตุที่ไม่มีภาพถ่ายของพนักงานสอบสวนและจำเลยยืนรออยู่ที่บริเวณหน้าห้องพัก เนื่องมาจากลักษณะการทำงานจะเริ่มถ่ายจากตัวตึกไปถึงหน้าห้องที่เกิดเหตุ และบริเวณภายในห้องที่เกิดเหตุ ซึ่งไม่ได้เน้นไปที่ภาพถ่ายของคน 

.

พยานโจทก์ปากเพื่อนจำเลย ผู้ถูกออกหมายจับร่วมด้วย แต่ตำรวจเข้าใจผิด ภายหลังจึงถูกถอนหมายจับออก

ชยพล ดโนทัย อายุ 21 ปี ศึกษาอยู่ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะที่ศึกษาอยู่ได้พักอาศัยที่หอพักชื่อเจพาร์ค รู้จักกับจำเลยในคดีนี้ตั้งแต่เรียนอยู่ในระดับชั้นปีที่ 2 และทราบว่าจำเลยอาศัยอยู่หอพักบริเวณโดยรอบมหาวิทยาลัยเช่นกัน แต่จำชื่อหอพักไม่ได้

พยานมีการแลกเปลี่ยนความเห็นทางการเมืองกับจำเลย โดยมีความเห็นตรงกันว่าควรให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันลาออก ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และแก้ไขรัฐธรรมนูญที่สืบทอดอำนาจมาจากเผด็จการ พยานและจำเลยเป็นสมาชิกในพรรคการเมืองของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ร่วมกัน ชื่อพรรคโดมปฏิวัติ 

พยานมีรถมอเตอร์ไซค์เป็นพาหนะในการขับขี่ ซึ่งมีมารดาเป็นเจ้าของผู้ถือกรรมสิทธิ์ โดยพยานยืนยันตามพยานหลักฐานภาพถ่ายของอัยการว่ารถมอเตอร์ไซค์ในคดีนี้เป็นของพยานจริง

ในวันที่ 11 ม.ค. 2564 พยานทราบว่าจำเลยถูกจับตามหมายจับของศาลจังหวัดธัญบุรี ตามมาตรา 112 ซึ่งพยานเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกออกหมายจับร่วมด้วย โดยตำรวจได้แจ้งกับพยานว่ามีการใข้รถมอเตอร์ไซค์ของพยานในการกระทำผิดในคดีนี้ และภายหลังมีการถอนหมายจับของพยานออก และให้มาเป็นพยานโจทก์เบิกความในคดีนี้

สาเหตุที่พยานทิ้งรถมอเตอร์ไซค์ในคดีนี้ไว้กับจำเลย เนื่องจากช่วงประมาณธันวาคม 2563 พยานได้เดินทางกลับบ้านต่างจังหวัด เกรงว่าถ้าทิ้งรถไว้ไม่มีผู้ใช้งานจะเกิดความเสียหายได้ จึงฝากกุญแจรถไว้กับกลุ่มเพื่อนขณะนั่งรับประทานอาหารร่วมกันราว 20 คน และพยานจำไม่ได้ว่าใครเป็นคนรับกุญแจรถของพยานไว้

หลังจากนั้น พยานก็ได้ทราบว่ามีการออกหมายจับร่วมกับจำเลยในคดีนี้ จึงได้เดินทางมาจากบ้านต่างจังหวัด เพื่อเข้ามอบตัว ในระหว่างที่เกิดเหตุนั้นจะมีใครใช้รถมอเตอร์ไซค์ของพยานบ้าง ก็ไม่สามารถระบุตัวได้

พนักงานสอบสวนเคยแจ้งกับพยานว่า ไม่ได้ถูกออกหมายจับ แต่พยานยืนยันว่าตนเองเคยได้รับแจ้งว่าถูกออกหมายจับในคดีมาตรา 112 นี้ร่วมด้วย ซึ่งพยานได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวนทั้งหมดแล้ว 

ทนายความจำเลยถามค้าน

ก่อนจะมาเป็นพยานในคดีนี้ พยานได้รับทราบว่าตนเองถูกออกหมายจับ จึงรีบเดินทางมามอบตัวกับพนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง แต่ได้รับคำตอบจากพนักงานสอบสวนและผู้เกี่ยวข้องว่าไม่มีหมายจับของพยาน ซึ่งภายหลังพยานก็ได้ทราบข่าวจากหนังสือพิมพ์ว่ามีการถอนหมายจับของพยานจริง โดยเป็นพนักงานสอบสวนเองที่มาขอเพิกถอนการออกหมายจับพยานที่ศาล

จากเหตุดังกล่าว พยานได้ทำการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่พยานเป็นจำนวนเงิน 2,000,000 บาท ที่ศาลแพ่งกรุงเทพใต้

ทนายได้ให้พยานดูภาพถ่ายรถมอเตอร์ไซค์ ว่าวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวคือที่ใด แต่พยานไม่ทราบ และที่ท้ายข้อความมีการระบุว่าเป็นรถจักรยานยนต์ที่หอพักของจำเลยในคดีนี้ พยานก็ไม่สามารถยืนยันได้ เนื่องจากไม่รู้ว่าหอพักของจำเลยเป็นอย่างไร

ส่วนสติ๊กเกอร์ที่ติดอยู่ตรงบังโคลนใต้แผ่นป้ายทะเบียนรถของพยาน เป็นสติ๊กเกอร์ที่ร้านจำหน่ายรถมอเตอร์ไซค์ติดให้ หากผู้ใดไปซื้อก็จะได้สติ๊กเกอร์ดังกล่าวเหมือนกัน หากดูเพียงสติ๊กเกอร์นั้นก็ไม่สามารถยืนยันได้ว่ารถมอเตอร์ไซค์เป็นของพยานหรือไม่

อัยการโจทก์ถามติง

เมื่อดูแผ่นป้ายทะเบียนรถจากภาพถ่ายในพยานหลักฐาน มีภาพที่บอกได้ว่าเป็นรถมอเตอร์ไซค์ของพยาน 

.

พนักงานร้านเครื่องเขียนสมใจ ระบุว่าสีสเปรย์ เป็นสินค้าที่มีคนเข้ามาซื้อจากร้านหลายคน 

กัญญา อัมพนันท์ อายุ 49 ปี เคยทำงานอยู่ที่ร้านสมใจ ประมาณ 20 ปี ซึ่งเป็นร้านจำหน่ายเครื่องเขียน และอุปกรณ์สำนักงานรวมทั้งสีสเปรย์ โดยพยานลาออกจากร้านสาขาด้านหลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อปี 2565 โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา และสีสเปรย์ภายในร้านจะมีขายยี่ห้อ TVB และยี่ห้อเลแลนด์ ซึ่งสียี่ห้อ TVB เป็นสีสเปรย์ที่จำเลยได้ทำการซื้อสินค้าไปเมื่อช่วงเดือนมกราคม 2564 

พยานเบิกความว่ามีชายสวมหน้ากากอนามัย สวมหมวกแก๊ปสีดำมาซื้อสีสเปรย์ 6 กระป๋องและสินค้าชนิดอื่นๆ แต่พยานจำไม่ได้ว่าเป็นอะไรบ้าง โดยชายคนดังกล่าวได้ชำระค่าสินค้าเป็นการโอนเงินจากมือถือ โดยในหน้าที่ของพยานจะต้องใช้โทรศัพท์ของทางร้านถ่ายภาพหน้าจอสลิปการโอนของลูกค้าเอาไว้ ซึ่งรูปที่ปรากฏในพยานหลักฐานคือรูปที่พยานได้ทำการส่งมอบให้พนักงานตำรวจ

ทนายความจำเลยถามค้าน

พยานยืนยันตามที่ทนายถามว่า ร้านสมใจจะมีนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาลัยกรุงเทพมาซื้อสินค้าเป็นประจำ โดยคนที่มาซื้อสีสเปรย์มีจำนวนหลายคน แต่จำได้ว่าจำเลยไม่ได้จ่ายค่าสินค้าเป็นเงินสด 

ในช่วงการซื้อสินค้าของจำเลย เป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จึงทำให้ลูกค้าทุกคนต้องสวมหน้ากากอนามัยก่อนเข้ามาซื้อสินค้าในร้าน

.

พยานจำเลย — นิว สิริชัย ยืนยันไม่ใช่ผู้กระทำการพ่นสีสเปรย์ใส่พระฉายาลักษณ์ตามจุดต่างๆ

“นิว” สิริชัย นาถึง อายุ 22 ปี นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ จำเลยเบิกความว่า ตนไม่เคยถูกพิพากษาหรือต้องโทษจำคุกในคดีใดมาก่อน เกี่ยวกับเพจเฟซบุ๊กธรรมศาสตร์และการชุมนุมนั้น พยานไม่ได้เป็นแอดมินเพจหรือมีส่วนเกี่ยวข้องแต่อย่างใด 

ในรายงานการสืบสวนของพนักงานตำรวจที่ปรากฏภาพว่ามีผู้ร้ายพ่นสีเสปรย์ข้อความนั้น จำเลยยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้กระทำและไม่ได้มีส่วนร่วมแต่อย่างใด เพิ่งได้รับทราบว่าตนถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 ตอนที่ถูกจับกุม และในรูปถ่ายดังกล่าวก็ไม่ใช่ภาพของจำเลย

และรถที่ใช้ก่อเหตุนั้นไม่ใช่ของจำเลย แต่เป็นรถของเพื่อนจำเลยและมีการใช้ร่วมรถร่วมกันกับเพื่อนหลายคน บุคคลที่ขี่รถจักรยานยนตามภาพไม่ใช่จำเลยกับเพื่อนของจำเลยแต่อย่างใด ตั้งแต่ชั้นสอบสวนจนถึงชั้นศาลจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอด เพราะไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง

จำเลยยังให้ผู้ช่วยศาสตราจารย์รณกรณ์ บุญมี เป็นพยานทำความเห็นทางวิชาการเกี่ยวกับมาตรา 112 โดยจัดทำเป็นเอกสาร อ้างส่งเป็นพยานหลักฐานต่อศาล 

อัยการถามค้าน

จำเลยรับว่า เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2564 ไปซื้อของจำพวกสีเสปรย์ที่ร้านสมใจ ตามภาพถ่ายเอกสารของพนักงานสอบสวน

แม้จำเลยจะไม่ได้เป็นแอดมินเพจของกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุม แต่จำเลยก็ได้เข้าร่วมชุมนุมกลับกลุ่มดังกล่าว โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มคือยกเลิกมาตรา 112 และปฎิรูปสถาบันฯ

จำเลยรับว่าห้องพักเป็นห้องที่จำเลยเคยเช่าพักอาศัยและเป็นห้องเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจค้น

ทนายถามติง 

จำเลยเบิกความว่า ในวันดังกล่าวที่จำเลยไปซื้อของร้านสมใจ ได้ซื้อของมาหลายอย่าง ไม่ใช่แค่สีเสปรย์อย่างเดียว สาเหตุที่ซื้อมาเพราะต้องใช้ทำงานในคณะ 

พยานไม่เคยถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม และไม่เคยเป็นแกนนำเวทีปราศรัยในเวทีของแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ 

.

X