สำรวจร่องรอยความเจ็บปวดของ “พนิดา” จำเลยคดี ม.112 ถูกกล่าวหาว่าพ่นสีใต้ฐานรูป ร.10 

สถานะผู้ต้องหาและจำเลยของ “พนิดา” จากการถูกกล่าวหาว่าพ่นสีสเปรย์ใต้ฐานรูปกษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ในเมืองพัทยา รวม 2 แห่ง เมื่อปี 2563 ดำเนินมายาวนานกว่า 2 ปี ตั้งแต่วันที่เธอถูกจับกุมถึงห้องพักที่เช่าอยู่เพียงลำพัง เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563  

สุดท้ายแล้วหลังเธอรับสารภาพ เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. 2565 ศาลจังหวัดพัทยามีคำพิพากษาว่าการกระทำต่อรูปกษัตริย์ รัชกาลที่ 10 รวม 2 แห่งนั้นนับเป็นความผิด 2 กระทง พิพากษาให้จำคุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่มีโทษสูงที่สุดเพียงบทเดียว โดยสั่งให้จำคุกกระทงละ 3 ปี ก่อนลดเหลือโทษกระทงกึ่งหนึ่ง เพราะรับสารภาพ จึงคงเหลือโทษจำคุกทั้งสิ้น 2 ปี 12 เดือน ทว่าศาลสั่งให้รอลงอาญาไว้เป็นเวลา 2 ปี 

จากคำพิพากษาดังกล่าวดูเหมือนว่าทุกอย่างจะคลี่คลายบ้างแล้ว อย่างน้อยที่สุดพนิดายังคงได้รับอิสรภาพให้ได้ใช้ชีวิตต่อไปข้างนอกกรงขัง แต่ใครจะรู้บ้างว่าบาดแผลในใจจากการถูกดำเนินในครั้งนี้สร้างความเจ็บปวดให้เธออยู่แทบทุกโมงยาม แม้แต่คำพิพากษาของศาลเองก็ไม่อาจยุติมันลงได้ 

2 ปีที่ผ่านมา ไม่มีวันไหนที่เธอรู้สึกปลอดภัยและนอนหลับเต็มอิ่ม “เสียงเคาะประตู” และ “ตำรวจ” กลายเป็นฝันร้าย สร้างความหวาดผวาแก่เธอเรื่อยมา พนิดาไม่กล้าใช้ชีวิตเหมือนที่ตั้งใจไว้ ไม่กล้าเข้าหาใครเพื่อสร้างความสัมพันธ์ ไม่กล้าซื้อของราคาแพงเป็นชิ้นเป็นอัน ทั้งบ้านหรือรถยนต์ ทั้งที่เธอตั้งใจทำงานเก็บออมเงินเรื่อยมา เธอคิดอยู่อย่างเดียวว่า “เดี๋ยวก็ต้องเข้าคุกแล้ว” นั่นทำให้เธอแทบไม่ได้ “ใช้ชีวิต” เลยตลอดเวลาที่ผ่านมา

1. First Time Voter ผู้ใจสลาย

พนิดา (สงวนนามสกุล) ปัจจุบันอายุ 26 ปี ประกอบอาชีพเป็นพนักงานโรงงานแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี พื้นเพเธอเป็นคนจังหวัดบึงกาฬ แต่เมื่อเรียนจบระดับชั้น ปวช. สาขาคอมพิวเตอร์ฯ เมื่ออายุ 18 ปี เธอตัดสินใจเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อหางานทำทันที หลังทำงานอยู่นาน 5 ปี ได้ย้ายไปทำงานที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี จนกระทั่งถูกกล่าวหาในคดีนี้

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2563 ช่วงปีที่แห่งการตระหนักรู้ทางสิทธิของคนรุ่นใหม่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก (First Time Voter) พนิดาเองก็คือหนึ่งในคนเหล่านั้น ขณะประเทศไทยกำลังมีความหวังกับการฟื้นฟูให้ประชาธิปไตยกลับมาฟูเฟื่องอีกครั้ง กลับมีเหตุการณ์ผิดปกติหลายอย่างเกิดขึ้นระหว่างการเลือกตั้งปี 2562 และหลังจากนั้น โดยเฉพาะกรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติสั่ง ‘ยุบพรรคอนาคตใหม่’ ซึ่งกลายเป็นจุดพลิกผันสำคัญที่ทำให้พนิดาหันมาเอาใจใส่กับประเด็นการเมืองไทยมากขึ้นถึงปัจจุบัน

“ความไม่พอใจของเรามันสะสมมาเรื่อยๆ การอภิปรายต่างๆ ในสภาเราติดตามมาตลอด”

เมื่อได้นั่งลงจดจ่อกับข่าวสารการเมืองแล้ว พนิดาคิดว่าตัวเองเริ่มเข้าใจถึงปัญหาเรื้อรังของสังคมไทยว่าที่แท้จริงแล้วนั้นปัญหามีครอบซ้อนกันอยู่หลายชั้น จากการเมืองในสภาฯ การรัฐประหาร ไล่เรียงไปจนถึงปัญหาโครงสร้างทางสังคม

2.‘เสียงเคาะประตู’ ฝันร้ายในยามตื่น 

หลังพนิดากระตือรือร้นทางการเมืองอยู่เพียงชั่วอึดใจ ไม่กี่เดือนต่อมาเธอถูกตำรวจกว่า 20 นาย บุกจับกุมถึงห้องพักที่เธอเช่าไว้อาศัยเพียงลำพังไม่ไกลจากที่ทำงาน วันนั้นเป็นวันแรกที่เธอถูกดำเนินคดี และเป็นวันแรกที่บาดแผลจากกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นกับเธอเช่นกัน 

“เราอายุแค่นี้เอง เราเคยวางแผนไว้ว่าจะทำงาน หาเงิน ซื้อรถ ซื้อบ้าน ค่อยๆ สร้างครอบครัวให้สมบูรณ์ มีกินมีใช้ แต่พอมีคดีแบบนี้ (เสียงสั่นเครือ) เราไม่มีสิทธิ์จะวาดฝันอะไรเลย เพราะเดี๋ยวก็ต้องไปใช้ชีวิตในคุกแล้ว

“เราทำงานงกๆ เพราะอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง แต่ก็ไม่กล้าซื้อ ไม่กล้ากู้เงิน เพราะคิดว่าเดี๋ยวยังไงเราก็คงต้องไปใช้ชีวิตในคุกแล้ว อยากมีแฟนเหมือนคนอื่นก็ไม่กล้ามี อยากมีลูกก็ไม่กล้ามี ชีวิตเหมือนมันไม่กล้าวาดฝันอะไรแล้วทั้งนั้น …”

หลังถูกดำเนินคดีนี้เป็นช่วงเวลาไล่เลี่ยกันกับสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 โชคไม่ดีนักที่นายจ้างของพนิดาได้รับผลกระทบไปด้วย พนิดาถูกเลิกจ้าง พร้อมพนักงานอีกจำนวนมาก เธอจึงใช้โอกาสนั้นย้ายจากพัทยาไปทำงานยังอำเภอใกล้เคียงแทน เพราะจากเหตุการณ์ถูกจับกุมถึง 2 ครั้ง ในเวลาไม่ถึง 2 วัน และการถูกคุกคามจากตำรวจนับครั้งไม่ถ้วนกลายเป็นบาดแผลที่เธอเกินจะรับไหวแล้ว

“เราตัดสินใจย้ายไปอีกอำเภอที่อยู่ในชลบุรี เราอยากหนีไปจากพัทยา เพราะที่นั่นเราเคยเจออะไรที่มันกระทบจิตใจเยอะมาก” 

ท้ายที่สุดพนิดาตัดสินใจเล่าถึงเหตุการณ์ที่เธอไม่อยากแม้แต่จะเอ่ยถึง การถูกตำรวจกว่า 20 นายบุกจับถึงห้องพัก เมื่อค่ำของวันที่ 20 ต.ค. 2563 ซึ่งกลายเป็นแผลใจของเธอมาจนถึงทุกวันนี้ 

“เราอยู่ตัวคนเดียวมาตลอด ไม่มีเพื่อน ไม่มีแฟน คืนวันนั้นเราอยู่ในห้องตามปกติ อยู่ๆ ก็มีเสียงเคาะประตูรัวๆ ดังมาก แล้วก็มีคนเรียกชื่อเรา ตอนนั้นเรากลัวมาก ช่วงนั้นมีข่าวเรื่อง ‘ต้าร์ วันเฉลิม’ ถูกอุ้มหาย เราก็กลัวว่าถ้าเปิดประตูให้เราจะถูกอุ้มหายไปเลยมั้ย เพราะตอนนั้นไม่มีพยานรู้เห็นเลยสักคน

“จากนั้นมีผู้ชาย 20 กว่าคนบุกเข้ามาในห้องเรา ย้ำว่ามีแต่ผู้ชายทั้งนั้น เขาไม่บอกเลยด้วยซ้ำว่าเป็นตำรวจหรือเป็นใคร เราก็ไม่รู้ว่าพวกเขาคือใคร เพราะทุกคนใส่ชุดธรรมดาหมดเลย เขาไม่ได้บอกว่ามาจับ ไม่ได้บอกอะไรเลย”

คืนวันนั้นพนิดาถูกจับกุมและพาตัวไปดำเนินคดีที่ สภ.เมืองพัทยา ก่อนได้รับการปล่อยตัว เพราะศาลไม่รับฝากขัง เนื่องจากเห็นว่าเป็นการจับกุมที่มิชอบด้วยกฎหมาย เพราะตำรวจชุดจับกุมนั้นไม่มีทั้งหมายจับและหมายค้น

ทว่าเพียง 2 วันต่อมา พนิดาถูกตำรวจกลับมาหาอีกครั้งพร้อมหมายค้น โดยเป็นการบุกมาหาถึงห้องพักในลักษณะคล้ายเดิม หลังจากเหตุการณ์ถูกตำรวจบุกห้องถึง 2 ครั้งนั้น ทำให้พนิดากลายเป็นคนที่กลัว “เสียงเคาะประตู” หากได้ยินเสียงเคาะประตูห้อง เธอจะมีอาการใจสั่น หวาดกลัว และไม่กล้าเปิดประตู จนกว่าจะแน่ใจว่าคนที่อยู่หลังบานประตูนั้นคือใคร 

คนรอบข้างของพนิดาถูกปรามไม่ให้เคาะประตูห้องของเธอ โดยให้เลี่ยงไปใช้วิธีโทรบอกแทนหากมาเยี่ยมเธอที่ห้องพัก พนิดาบอกว่าหลายคนก็ฟัง หลายคนก็ไม่ฟัง นั่นทำให้เธอยังต้องเผชิญอาการวิตกกังวลและหวาดผวาอยู่เรื่อยๆ 

นอกจากนี้ เธอยังรู้สึกหวาดกลัวและรู้สึกไม่ปลอดภัยเมื่อเผชิญหน้ากับ ‘ตำรวจ’ หรือคนที่มีลักษณะคล้ายกันอีกด้วย “เราโดนตามตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่โดนคดี ตำรวจมักจะมาตามที่ทำงาน มานั่งเฝ้าทั้งวัน บางทีก็เป็นคนที่เคยมาจับเรามาวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ตลอด เราจำหน้าคนที่มาจับเราวันนั้นได้เกือบหมด เราเลยรู้ว่าถูกตาม มันเป็นอยู่แบบนั้นประมาณ 2-3 อาทิตย์ได้”

ผลกระทบที่ตกเป็นจำเลยในคดีนี้อย่างสุดท้ายที่พนิดานึกออก ก็คือการที่สถานะและบทบาทของเธอในครอบครัวต้องเปลี่ยนไปจากเดิม ก่อนหน้านี้พนิดาแทบจะเป็นหัวหน้าครอบครัวเลยก็ว่าได้ เธอต้องส่งเสียน้องสาว วัย 17 ปี ให้ได้เรียนหนังสือ ต้องส่งเงินเลี้ยงดูพ่อแม่เป็นประจำทุกเดือน แต่เมื่อถูกดำเนินคดีนี้ทั้งพ่อและแม่ของเธอต่างก็บอกว่ารู้สึกผิดหวังในตัวลูกคนนี้ ปัญหาความขัดแย้งเรื้อรังมานานตลอด 2 ปี 

“พ่อแม่กลัวว่าถ้าเราติดคุกใครจะเป็นคนหาเงิน ใครจะดูแลน้อง ดูแลครอบครัว…”

3.“มันผิดตั้งแต่เกิดมาอยู่ประเทศนี้แล้ว …”

“ถ้าหนูไม่มีคดีนี้ ตอนนี้ชีวิตก็คงเป็นเหมือนคนทั่วๆ ไป ทำงาน เก็บเงิน ส่งน้องเรียนหนังสือ ตอนเช้ากินข้าว ไปทำงาน ตอนเย็นกลับบ้านนอน” พนิดาทำท่าจะร้องไห้อีกครั้ง แล้วพยายามหายใจเข้าลึกๆ อยู่หลายรอบ

“มันผิดตั้งแต่ได้เกิดมาอยู่ประเทศนี้แล้ว ทุกอย่างที่เป็นประเทศนี้มันสั่งสมมาหลายร้อยปีแล้ว มันแก้ยากมาก ระบอบแบบนี้ ประชาชนก็ใช้ชีวิตได้แค่นี้แหละ เพราะเขากำหนดมาให้แค่นี้ เราก็ต้องใช้แค่นี้ มันเป็นเรื่องของโครงสร้างทางสังคม” 

เธอถอนหายใจแล้วพูดทิ้งท้ายว่า “มันผิดตั้งแต่ประเทศนี้มีขึ้นมาแล้ว …”

หลังจากวันที่ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีนี้ ภายหลังนั้นพนิดาได้เปิดเผยว่า เธอรู้สึกโล่งใจขึ้นมาอีกหน่อยกับการที่ศาลให้รอการลงโทษไว้เป็นเวลา 2 ปี แม้ในส่วนของคดีความอาจจะยังไม่ถึงที่สุด แต่เธอรู้สึกมีความหวังในการใช้ชีวิตต่อจากนี้มากขึ้นแล้ว

ความต้องการของพนิดาคือการได้กลับไปทำหน้าที่ ‘หัวหน้าครอบครัว’ ให้เต็มที่และสมบูรณ์แบบ เติมเต็มความสุขและความคาดหวังของพ่อแม่เฉกเช่นที่เคยเป็นมาก่อนหน้านี้ 

X