วันที่ 7 มี.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญาตลิ่งชัน นัดฟังคำพิพากษาและคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “ต้นไม้” (นามสมมติ) นิติกร บริษัทเอกชนวัย 26 ปี ในกรณีที่สืบเนื่องมาจากการจัดจำหน่ายปฏิทินตั้งโต๊ะรูปเป็ดเหลือง ประจำปี 2564 ในเพจเฟซบุ๊ก “ราษฎร” ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ามีภาพและข้อความที่เข้าข่ายล้อเลียนและหมิ่นประมาทกษัตริย์
คดีนี้ ศาลได้นัดสืบพยานคดีรวมทั้งหมด 6 นัด โดยเป็นการสืบพยานโจทก์ระหว่างวันที่ 18 – 21 ต.ค. 2565 และสืบพยานจำเลยในวันที่ 2 – 3 พ.ย. 2565 ทั้งนี้ อัยการได้นำพยานโจทก์เข้าสืบ 10 ปาก และทนายความได้นำพยานจำเลยเข้าสืบ 3 ปาก จนเสร็จสิ้น
ก่อนที่ทนายจำเลยจะยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ต.ค. 2519 ข้อ 1 อันมีการกำหนดเพิ่มโทษข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเดิมโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี ซึ่งจะบังคับใช้ลงโทษจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 หรือไม่
ศาลได้รับคำร้องไว้ ก่อนจะนัดฟังคำพิพากษาและคำวินิจฉัยในวันที่ 30 ม.ค. 2566 แต่ต่อมาก็ได้เลื่อนไปวันที่ 7 มี.ค. 2566 เนื่องจากยังต้องรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
อ่านบันทึกสืบพยานปฏิทินเป็ด >>> บันทึกการสืบพยาน: เมื่อปฏิทินภาพกรมหลวงเกียกกายราษฎรบริรักษ์ (เป็ดยาง) ถูกกล่าวหาในคดีอาญา ม.112
.
เวลา 09.30 น. จำเลยเดินทางมาเพียงคนเดียว ก่อนที่ศาลจะเรียกให้จำเลยเดินมาที่บริเวณคอกพยาน เพื่อฟังคำพิพากษา โดยมีคำพิพากษาโดยสรุปว่า ในคดีนี้มีการกล่าวหาถึงพฤติการณ์ของจำเลย ซึ่งร่วมกับพวกจำหน่ายปฏิทิน ประกอบกับคำฟ้องของโจทก์ มีปัญหาที่ต้องพิจารณาว่าปฏิทินดังกล่าวต้องการสื่อสารถึงสิ่งใด
ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ปากพนักงานสืบสวน ซึ่งนำสืบทราบว่าปฏิทินดังกล่าวได้ถูกจำหน่ายบนหน้าเพจเฟซบุ๊กของกลุ่มคณะราษฎร ซึ่งกลุ่มดังกล่าวมีเป้าหมายทางการเมือง 3 ประการ ได้แก่ ให้นายกรัฐมนตรีลาออก, แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
อีกทั้ง ในการโพสต์ข้อความจำหน่ายปฏิทินบนหน้าเพจยังปรากฏข้อความเชิญชวนให้ซื้อสินค้าว่า ร่วมกันเป็นท่อน้ำเลี้ยงให้กลุ่มผู้ชุมนุม ดังนั้นปฏิทินดังกล่าว ผู้ผลิตจึงมีเจตนาขายให้กับกลุ่มผู้ติดตามคณะราษฎร ซึ่งผู้ซื้อสินค้าย่อมเข้าใจความหมายของปฏิทินได้
และตามที่พยานโจทก์ผู้เชี่ยวชาญ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิตติพงศ์ กมลธรรมวงศ์ เบิกความกล่าวถึงปฏิทินฉบับนี้ว่าไม่ใช่ปฏิทินพระราชทานตามที่หน้าปกของปฏิทินได้ระบุไว้ เนื่องจากปฏิทินพระราชทานของจริงต้องเป็นสีเหลืองและมีสัญลักษณ์ วปร. ของในหลวงรัชกาลที่ 10
ตลอดจน เมื่อมองปฏิทินโดยรวมในแต่ละเดือน ตั้งแต่มีนาคม เมษายน และกันยายน จากคำเบิกความของพยานโจทก์มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันหมด โดยเฉพาะในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นรูปภาพเป็ดใส่ครอปท็อป สวมแว่นตาดำ ที่พยานโจทก์ได้กล่าวว่าเป็นการสื่อสารถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเคยมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่งกายในลักษณะดังกล่าวออกมา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งการผลิตและจำหน่ายปฏิทินฉบับนี้ จึงเป็นการตั้งใจสื่อสารว่าเป็ดตัวดังกล่าวเป็นรัชกาลที่ 10
และจากการเบิกความเชื่อมโยงจากเดือนมกราคม มีนาคม ตุลาคม ตลอดเดือนธันวาคม ที่มีปรากฏข้อความว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทำให้เชื่อได้ว่าเป็ดเหลืองในปฏิทินฉบับนี้ก็คือรัชกาลที่ 10
นอกจากนี้ การที่พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันในปฏิทินเดือนมีนาคมว่า การนำเป็ดสวมถุงยางอนามัยบนศีรษะ เป็นการด้อยค่า หมิ่นประมาท สร้างความเสื่อมเสียศรัทธาต่อรัชกาลที่ 10 การที่พยานโจทก์เบิกความในทำนองเดียวกันเช่นนี้ จึงพิเคราะห์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ความในมาตรา 2 ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และความในมาตรา 6 องค์กษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้
ตลอดจนในมาตรา 50 บุคคลมีหน้าที่ต้องพิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ คำเบิกความของพยานโจทก์ที่กล่าวว่าจำเลยสร้างความเสื่อมเสีย หมิ่นประมาท ล้อเลียนรัชกาลที่ 10 จึงเป็นคำที่มีน้ำหนักและรับฟังได้
อย่างไรก็ตาม จากคำเบิกความของพยานจำเลย โดยจำเลยจบการศึกษาในระดับชั้นปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์ เบิกความว่าตนเองเป็นผู้จัดส่งสินค้า ไม่ใช่ผู้จำหน่ายโดยตรง และไม่ได้เห็นเนื้อหาในปฏิทินดังกล่าว ศาลเห็นว่า คำเบิกความของจำเลยรับฟังไม่ได้ เนื่องจากการที่จำเลยกับพวกร่วมกันจำหน่ายและจัดส่งปฏิทิน ก็ถือว่าจำเลยได้มีส่วนในการกระทำความผิดร่วมกัน จำเลยย่อมรู้กฎหมาย และหากไม่เห็นเนื้อหาในปฏิทินก็ต้องเห็นหน้าปกที่มีข้อความว่า ‘ปฏิทินพระราชทาน’ ซึ่งได้ปรากฏข้อเท็จจริงชัดเจนจากพยานโจทก์แล้วว่าปฏิทินฉบับนี้ ไม่ใช่ของจริงและทำขึ้นมาเพื่อล้อเลียน หมิ่นประมาท รัชกาลที่ 10
ส่วนคำเบิกความของพยานจำเลยคือสมบัติ และสาวตรี ซึ่งมีการเบิกความสนับสนุนจำเลยนั้น ศาลเห็นว่าเป็นเพียงความเห็นส่วนตัวของพยานเท่านั้น
เมื่อพิเคราะห์แล้ว ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เห็นว่าในการเบิกความ จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
ทั้งนี้ เมื่อศาลได้อ่านคำพิพากษาจบ จึงได้เปิดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จำเลยเคยยื่นส่งให้ศาลวินิจฉัย ซึ่งมีผลคำสั่งลงมาระบุว่า คำร้องฉบับดังกล่าวเป็นฉบับเดียวกับคดีของชูเกียรติ แสงวงศ์ ศาลเห็นว่าเป็นกรณีเดียวกัน จึงให้ยกคำร้องในการส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
จากนั้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัวต้นไม้ไปรอการประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ ต่อมาเวลา 14.30 น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์คดี โดยมีเงื่อนไขเช่นเดียวกับที่ได้ประกันในศาลชั้นต้น โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเพิ่ม 70,000 บาท จากที่เคยวางหลักทรัพย์ในศาลชั้นต้นมา 210,000 บาท รวมวางหลักทรัพย์เป็นจำนวน 280,000 บาท
เป็นที่น่าสังเกตว่า ในคดีนี้ อัยการโจทก์ได้บรรยายฟ้องถึงปฏิทิน 6 หน้าเท่านั้น ได้แก่ หน้าปก, มกราคม, มีนาคม, เมษายน, พฤษภาคม และตุลาคม โดยไม่ได้กล่าวถึงปฏิทินหน้าเดือนกันยายนและธันวาคม แต่ในวันนี้ศาลได้วินิจฉัยความผิดของจำเลยจากในหน้าปฏิทินเดือนดังกล่าวร่วมด้วย โดยพิเคราะห์จากการตีความของพยานโจทก์ที่กล่าวว่าต้องเชื่อมโยงปฏิทินในหน้าเดือนอื่นๆ เพื่อเข้าใจความหมายของปฏิทินเป็ดฉบับนี้