ศาลอาญาส่งเรื่องให้ ศาล รธน. วินิจฉัยคำสั่งคณะรัฐประหาร 2519 ให้เพิ่มโทษ ม.112 ไม่มีสภาพเป็น กม. – ขัด รธน.

27 ก.ย. 2565 ศาลอาญานัดสืบพยานในคดีของชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ “จัสติน” นักกิจกรรมจากจังหวัดสมุทรปราการ ข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีถูกกล่าวหาว่าแปะกระดาษที่มีข้อความ ‘ที่ทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล!’ บนรูปรัชกาลที่ 10 บริเวณหน้าศาลฎีกา ในระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2564

คดีนี้มีการสืบพยานช่วงแรกไปเมื่อช่วงเดือนมีนาคมและเมษายนที่ผ่านมา แต่ยังไม่เสร็จสิ้น และมีสืบพยานที่เหลือในนัดนี้ โดยอัยการได้นำพยานโจทก์เข้าสืบอีก 2 ปาก จนเสร็จสิ้น ฝ่ายจำเลยแถลงไม่นำพยานเข้าสืบ แต่ได้ขอยื่นคำแถลงปิดคดีภายใน 30 วัน และยังได้ขอยื่นคำร้องขอให้ศาลส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 อันมีการกำหนดเพิ่มโทษข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเดิมโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี เป็นจำคุกตั้งแต่ 3-15 ปี  ซึ่งจะบังคับใช้ลงโทษจำเลยในคดีนี้นั้น ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย หรือขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 หรือไม่

ต่อมาศาลเจ้าของสำนวนคดีนี้ ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยให้รอฟังคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน แล้วจึงจะกำหนดวันนัดฟังคำพิพากษาในคดีนี้ต่อไป

.

เปิดคำร้อง ชี้คำสั่งคณะรัฐประหารไม่ควรมีสภาพเป็น กม. แล้ว และยังขัดรัฐธรรมนูญปัจจุบัน

สำหรับเนื้อหาคำร้องที่ฝ่ายจำเลยขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย กรณีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519  ข้อ 1 ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย และ/หรือ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 3 มาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่ โดยเป็นกรณีที่ยังไม่เคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมาก่อน  คำร้องมีประเด็นเนื้อหาดังต่อไปนี้

.

.

คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ในข้อ 1 กำหนดเพิ่มโทษข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 (ดูฉบับเต็ม)

.

1. คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและใช้บังคับอีกแล้ว

คำร้องเกริ่นนำว่า การกระทำรัฐประหารถือว่าเป็นการทำลายระบบกฎหมายเดิมลง รูปแบบทางกฎหมายที่แสดงออกได้ชัดเจนที่สุด คือ การประกาศให้รัฐธรรมนูญอันมีสถานะเป็นกฎหมายที่สูงสุด และเป็นกฎหมายที่มอบห่วงโซ่ความสมบูรณ์ของกฎหมายให้กับบรรดากฎเกณฑ์ทางกฎหมายที่มีลำดับศักดิ์ต่ำกว่าลงไปทั้งระบบ โดยเมื่อทำลายระบบกฎหมายเดิมลงแล้ว การจะก่อตั้งระบบกฎหมายใหม่ขึ้นมาได้อีกครั้ง คณะรัฐประหารก็จำเป็นจะต้องประกาศใช้รัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ขึ้นมา ทำหน้าที่เดิมที่รัฐธรรมนูญเดิมเคยทำให้กับระบบกฎหมาย

ดังนั้น โดยสภาพการณ์เช่นบรรดาคำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารที่สั่งออกมาในช่วงการสิ้นสุดลงของระบบกฎหมายเดิมและยังไม่มีการก่อตั้งระบบกฎหมายใหม่ขึ้น จึงไม่อาจดำรงหรือมีสถานะเป็นกฎหมายที่สมบูรณ์และดำรงอยู่ในระบบกฎหมายได้ เนื่องจากในห้วงเวลาดังกล่าว ยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่าระบบกฎหมายแต่อย่างใด แต่คำสั่งหรือประกาศดังกล่าวของคณะรัฐประหารมีสถานะเป็นเพียงคำสั่งของผู้ทรงอำนาจในทางข้อเท็จจริงในสภาวการณ์ชั่วคราวดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งกำลังบังคับให้เป็นไปตามคำสั่งหรือประกาศดังกล่าว ย่อมอยู่ที่การดำรงอยู่ของกำลังในทางความเป็นจริงของคณะรัฐประหารเพียงประการเดียวที่จะบังคับให้บุคคลหรือองค์กรของรัฐอื่นทำตามได้

พฤติการณ์คำสั่งหรือประกาศของคณะรัฐประหารที่ออกในช่วงสภาวการณ์ไร้กฎหมายเช่นนี้ จะดำรงสภาพเป็นกฎหมายและมีผลบังคับใช้ต่อไปได้เมื่อภายหลังมีการก่อตั้งระบบกฎหมายใหม่แล้ว เช่น การประกาศใช้บังคับของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว หรือฉบับถาวร โดยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะได้มีบทบัญญัติรับรองให้คำสั่งหรือประกาศดังกล่าวมีสถานะเป็นกฎหมายและรับรองให้ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญต่อไปเท่านั้น 

ในกรณีบรรดาประกาศคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ก็ได้มีมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 บัญญัติว่า “บรรดาการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน หรือการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินที่ได้กระทำ ประกาศหรือสั่งก่อนวันใช้รัฐธรรมนูญนี้ ทั้งนี้ที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ไม่ว่าจะกระทำด้วยประการใด หรือเป็นรูปแบบใด และไม่ว่าจะกระทำ ประกาศหรือสั่งให้มีผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทางตุลาการ ให้ถือว่าการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่ง ตลอดจนการกระทำของผู้ปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งนั้น เป็นการกระทำ ประกาศ หรือคำสั่งหรือการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมาย”

ดังนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า การดำรงตัวของคณะรัฐประหารในระบบกฎหมายสิ้นสุดลง และระบบกฎหมายปัจจุบันไม่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใด รับรองให้ประกาศหรือคำสั่งที่คณะรัฐประหารสั่งในช่วงสภาวการณ์ไร้ระบบกฎหมาย ให้มีสถานะกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญดำรงอยู่แล้ว ย่อมต้องถือว่าในทางกฎหมาย ประกาศดังกล่าวย่อมสิ้นผลบังคับไปในที่สุดย้อนหลังกลับไปตั้งแต่วันที่คณะรัฐประหารสิ้นสุดลง

ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้กระทำการรัฐประหาร เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2517 สิ้นสุดลงในวันดังกล่าวเช่นกัน ต่อมามีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2519 ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519

ดังนั้น จึงถือว่าช่วงเวลาระหว่างวันที่ 6 ตุลาคม 2519 จนกระทั่งถึงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 เป็นช่วงสภาวการณ์ที่ประเทศไทยไร้ระบบกฎหมาย โดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 จึงถือว่าประกาศดังกล่าวเป็นเพียงคำสั่งของผู้ทรงอำนาจในทางข้อเท็จจริงในสภาวการณ์ชั่วคราวดังกล่าวเท่านั้น แต่ปรากฏว่าภายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 รัฐธรรมนูญดังกล่าวได้มีบทบัญญัติรับรองให้ประกาศดังกล่าวมีสถานะกฎหมายต่อไปในระบบกฎหมายใหม่ ดังที่ปรากฏในข้อความของมาตรา 29 ดังกล่าวข้างต้น

แต่อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งต่อมาเปลี่ยนสถานะเป็นสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ตามที่ปรากฎในบทบัญญัติมาตรา 19 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 ได้สิ้นสุดและพ้นจากตำแหน่งลงแล้ว นับตั้งแต่ภายหลังการรัฐประหารของคณะปฏิวัติ เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2520 และประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 แทนที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519

นอกจากนี้ตามที่ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. 2520 ดังกล่าว ก็มิได้มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดรับรองสถานะทางกฎหมายและความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินอีกต่อไป โดยรัฐธรรมนูญทุกฉบับหลังจากนั้น จนกระทั่งถึงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในปัจจุบัน ก็มิได้มีการรับรองสถานะทางกฎหมายและความชอบด้วยกฎหมายของคำสั่งดังกล่าวเช่นกัน

จึงต้องถือว่าปัจจุบันเกิดเงื่อนไขทางกฎหมายที่สำคัญสองประการคือ คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสิ้นสภาพลงแล้ว และระบบกฎหมายใหม่ไม่มีการบัญญัติในทำนองเดียวกับบทบัญญัติมาตรา 29 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2519 รับรองให้ประกาศฉบับนี้ มีสถานะเป็นกฎหมายและชอบด้วยกฎหมายต่อไป ปรากฏอยู่ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 แต่อย่างใด

ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายข้างต้น จึงส่งผลโดยตรงทำให้คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 ไม่มีสถานะเป็นกฎหมายและใช้บังคับได้อีกต่อไป

.

ภาพเหตุการณ์เช้าวันที่ 6 ตุลาคม 2519 (ภาพโดยแฟรงค์ ลอมบาร์ด จากเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา”)

.

2. คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 หากจะถือว่ามีสถานะเป็นกฎหมาย ก็เป็นคำสั่งที่ในทางรูปแบบขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน เป็นคณะบุคคลที่ได้อำนาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการอาศัยกองกำลังทหารและอาวุธสงครามเข้ายึดอำนาจการปกครองแผ่นดินหรือทำรัฐประหาร ประกาศล้มล้างรัฐธรรมนูญ วุฒิสภา สภาผู้แทนราษฎร และคณะรัฐมนตรี มิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย และตามวิธีทางกำหนดไว้ในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักไทย พ.ศ. 2517 มาตรา 3 ที่กำหนดว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยและคณะบุคคลใดที่จะใช้อำนาจนิติบัญญัติตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอำนาจอธิปไตยได้ จะต้องเป็นบุคคลที่ได้รับความยินยอมพร้อมใจจากปวงชนชาวไทย ผ่านการได้รับเลือกตั้งให้เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น โดยหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยดังกล่าว ยังได้รับบัญญัติต่อเนื่องมาในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560

นอกจากนี้ การเข้ายึดอำนาจปกครองแผ่นดินหรือการรัฐประหารของคณะบุคคลดังกล่าว ยังเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 อีกด้วย ซึ่งปัจจุบันไม่มีกฎหมายฉบับใดนิรโทษกรรมให้การกระทำดังกล่าวแล้ว 

ดังนั้น คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน จึงมีสถานะเป็นคณะบุคคลที่ไม่มีรัฐธรรมนูญให้ใช้อำนาจนิติบัญญัติออกกฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ และเป็นคณะบุคคลที่ได้ร่วมกันกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 มิได้มีสถานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์แต่อย่างใด

ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว จึงส่งผลให้คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 เป็นคำสั่งที่มีขั้นตอนการบัญญัติโดยมิชอบด้วยมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เนื่องจากเป็นบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่จำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการบัญญัติโดยคณะบุคคลที่ไม่มีอำนาจใดตามรัฐธรรมนูญ จึงเป็นโมฆะและไม่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ต้น

.

ภาพพาดหัวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐวันที่ 9 ตุลาคม 2519 หลังการรัฐประหารของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน (ภาพจากเว็บไซต์ “บันทึก 6 ตุลา”)

.

3. คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 หากจะถือว่าเป็นกฎหมาย ก็เป็นคำสั่งหรือกฎหมายที่ในทางเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 5 บัญญัติว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้

มาตรา 26 บัญญัติว่า การตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลต้องเป็นไป ตามเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ในกรณีที่รัฐธรรมนูญมิได้บัญญัติเงื่อนไขไว้ กฎหมายดังกล่าว ต้องไม่ขัดต่อหลักนิติธรรม ไม่เพิ่มภาระหรือจํากัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ และจะกระทบต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของบุคคลมิได้ รวมทั้งต้องระบุเหตุผลความจําเป็นในการจํากัดสิทธิ และเสรีภาพไว้ด้วย

กฎหมายตามวรรคหนึ่ง ต้องมีผลใช้บังคับเป็นการทั่วไป ไม่มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใด กรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเจาะจง

มาตรา 34 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น

เห็นได้ชัดว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 34 บัญญัติรับรองว่าบุคคลมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (Freedom of Expression) โดยเสรีภาพดังกล่าวมีความจำเป็นยิ่งยวดสำหรับสังคม โดยถือเป็นฐานรากสำคัญของสังคมประชาธิปไตยทุกสังคม และยังมีความเกี่ยวพันอย่างใกล้ชิด โดยมีเสรีภาพในการแสดงความเห็นทำหน้าที่เป็นสื่อในการแลกเปลี่ยนและพัฒนาความเห็นของผู้คนในสังคมอย่างสร้างสรรค์ รวมถึงส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการปกครอง กิจการของรัฐของประชาชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอีกด้วย

เมื่อเสรีภาพดังกล่าวถูกรับรองไว้โดยรัฐธรรมนูญอันมีสถานะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ องค์กรของรัฐทุกระดับย่อมมีหน้าที่ที่จะผูกพันโดยตรงต่อสิทธิดังกล่าว ตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ในการใช้อำนาจ ไม่ว่าจะเป็นตรากฎเกณฑ์ที่มีลักษณะนามธรรมและบังคับใช้กับบุคคลทั่วไป หรือออกคำสั่งที่มีลักษณะรูปธรรมและบังคับใช้เฉพาะกรณีให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางรูปแบบของรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดหรือแย้งต่อสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญดังกล่าว

เมื่อพิจารณาทางเนื้อหาของบทบัญญัติแห่งคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 ก็จะพบความไม่สอดคล้องกับหลักการทั่วไปของการตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 26 ได้รับรองไว้ เนื่องจากคำสั่งประกาศดังกล่าวมีเนื้อหาขัดต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม (Rule of law) ซึ่งเรียกร้องว่าการจะตรากฎหมายจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลได้ กฎหมายดังกล่าวต้องไม่สร้างภาระต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

แต่ปรากฏว่าคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโทษทางอาญาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้สูงขึ้น เป็นมาตรการทางกฎหมายที่ใช้ในการจำกัดเสรีภาพในแสดงความคิดของบุคคลตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย สร้างภาระต่อสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ ด้วยเหตุดังต่อไปนี้

ประการแรก คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 เป็นมาตรการทางกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลที่ไม่สอดคล้องกับหลักความจำเป็น เนื่องจากมาตรการการเพิ่มอัตราโทษทางอาญาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกำหนดให้บุคคลที่หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ให้ต้องระวางโทษจำคุกตั้งสามถึงสิบห้าปี เป็นการออกมาตรการในรูปแบบของกฎหมายที่มุ่งจำกัดเสรีภาพของบุคคลหรือประชาชนที่เจ้าของอำนาจรัฐในระบอบประชาธิปไตย ในการแสดงความคิดเห็นต่อประมุขของรัฐอย่างพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีสถานะเป็นองค์กรของรัฐที่ใช้อำนาจสำคัญในนามของรัฐที่ได้รับมาจากประชาชนเกินความจำเป็น เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรการจำกัดเสรีภาพซึ่งมีวัตถุประสงค์การคุ้มครองสิทธิในชื่อเสียงของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์อื่นๆ จากภายในระบบกฎหมายของประเทศไทย และจากภายนอกระบบกฎหมายของประเทศไทย

.

มาตรา 112 ในประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. 2499 กำหนดโทษจำคุกไว้ไม่เกิน 7 ปี

.

สำหรับการพิจารณาเปรียบเทียบมาตรการทางกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพอื่นๆ จากระบบกฎหมายภายในของประเทศไทย สามารถแบ่งการพิจารณาไปได้ 2 แง่มุมทางกฎหมาย คือ

ในแง่มุมประวัติศาสตร์กฎหมาย จะพบว่าก่อนที่จะมีคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 ได้มีมาตรการทางกฎหมายที่บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิในชื่อเสียงของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์หลายมาตรการ โดยทุกมาตรการทางกฎหมายล้วนแล้วแต่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลรุนแรงน้อยกว่าในปัจจุบันอย่างมาก

เริ่มตั้งแต่ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งถูกประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายครั้งแรกในปี พ.ศ. 2499 ก่อนที่จะถูกแก้ไขในปี พ.ศ. 2519 โดยคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มาตรการทางกฎหมายดังกล่าวก็มีกำหนดอัตราโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี โดยมาตรการที่มิได้มีการกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำเช่นนี้ ย่อมถือว่าเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของบุคคลที่รุนแรงน้อยกว่าโทษตามที่กำหนดไว้ในคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ 1 อย่างมาก เนื่องจากกฎหมายได้ให้อำนาจผู้พิพากษาในศาลยุติธรรมมีอำนาจดุลยพินิจกำหนดโทษจำคุกในคำพิพากษาต่ำกว่าสามปีเช่นไรก็ได้ และจะทำให้บุคคลที่ต้องคำพิพากษาได้รับประโยชน์ในทางกฎหมายอย่างการได้รับการรอลงอาญาในคำพิพากษา

นอกจากนี้มาตรการทางกฎหมายอื่นๆ ซึ่งเกิดขึ้นในยุคสมัยที่ประเทศยังอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งถือว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสูงสุดภายในรัฐและใช้อำนาจปกครองประเทศได้โดยตรง จึงสถานะสูงเด่นเสียยิ่งกว่าสถานะของพระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยที่มิได้มีสถานะผู้ทรงอำนาจสูงสุดภายในรัฐและมีอำนาจปกครองประเทศอีกต่อไป เพราะดำรงตำแหน่งเป็นแต่เพียงประมุขของรัฐซึ่งดำเนินกิจกรรมของรัฐต่างๆ  ภายใต้คำแนะนำและยินยอมจากองค์กรทางรัฐธรรมนูญที่เชื่อมโยงกับประชาชนอย่างคณะรัฐมนตรี รัฐสภา และศาลเท่านั้น

.

มาตรา 98 ของกฎหมายลักษณอาญา ร.ศ. 127 (พ.ศ. 2451) ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ กำหนดโทษความผิดในลักษณะเดียวกับมาตรา 112 ไว้จำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 5,000 บาท

.

กลับพบว่ามาตรการทางกฎหมายที่มีวัตถุประสงค์ในทำนองเดียวกันภายในยุคสมัยดังกล่าว ก็ยังมีลักษณะเป็นมาตรการที่จำกัดเสรีภาพของบุคคลรุนแรงน้อยกว่ามาตรการตามคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ 1 อีกเช่นเคย โดยเริ่มตั้งแต่กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 98 มาตรา 100 และมาตรา 104 ที่กำหนดฐานความผิดในทำนองเดียวกันกับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในกรณีของความผิดที่บุคคลแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ ก็ได้มีการกำหนดลักษณะความรุนแรงของโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินเจ็ดปี และมิได้มีการกำหนดโทษจำคุกขั้นต่ำไว้เช่นกัน

และในกรณีอื่นๆ อย่างการแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะเพื่อให้บุคคลมิจงรักภักดีหรือดูหมิ่นต่อพระมหากษัตริย์ ก็ยังมีการกำหนดอัตราโทษจำคุกไว้สูงสุดเพียงไม่เกินสามปีเท่านั้น

และลำดับสุดท้ายอย่างพระราชกำหนดลักษณะหมิ่นประมาทด้วยการพูดฤาเขียนถ้อยคำเท็จออกโฆษณาการ ร.ศ.118 มาตรา 4 ซึ่งกำหนดอัตราโทษจำคุกสำหรับบุคคลที่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ไว้เพียงไม่เกินสามปี และมีโทษปรับไม่เกินหนึ่งพันห้าร้อยบาทเท่านั้น

จากข้อเท็จจริงที่กล่าวมาข้างต้น จึงกล่าวได้ว่ามาตรการทางกฎหมายอื่นๆ ที่สามารถนำมาจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลเพื่อคุ้มครองสิทธิในชื่อเสียงของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ จากการสืบค้นในประวัติศาสตร์ภายในระบบกฎหมายไทย จะพบว่ามาตรการทางกฎหมายซึ่งปรากฎในคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ 1 เป็นมาตรการทางกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพของบุคคลรุนแรงกว่ามาตรการทางกฎหมายอื่น ๆ อีกหลายมาตรการที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของกฎหมายแบบเดียวกันอย่างมาก

ในแง่มุมระบบกฎหมายปัจจุบัน พบว่าหากพิจารณาในประมวลกฎหมายอาญา ได้ปรากฎมาตรการทางกฎหมายที่มุ่งจำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคล และสามารถบรรลุวัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองสิทธิในชื่อเสียงของบุคคลตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 32 อยู่อย่างน้อยอีก 3 มาตรการ ได้แก่ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 136 (ข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน) มาตรา 326 (ข้อหาหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา) และมาตรา 393 (ข้อหาดูหมิ่นซึ่งหน้าหรือโดยการโฆษณา)

หากพิจารณาทั้งสามมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวโดยละเอียด จะพบว่าเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลรุนแรงน้อยกว่ามาตรการจำกัดเสรีภาพของบุคคล ซึ่งปรากฎในคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ 1 อย่างมาก เนื่องจากมาตรการทั้งสามประการดังกล่าวได้กำหนดโทษจำคุกสูงสุดไม่เกินหนึ่งปีเท่านั้น

นอกจากนี้ประมวลกฎหมายกฎหมายอาญา มาตรา 326 ฐานหมิ่นประมาทบุคคลอื่น กฎหมายยังได้กำหนดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329 เพิ่มเติมผลประโยชน์ทางกฎหมายที่สูงกว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยกำหนดยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทให้กับบุคคลที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการกระทำดังกล่าว เป็นการแสดงความคิดโดยสุจริตอีกด้วย

ด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่าระบบกฎหมายของประเทศไทยมีมาตรการอื่นๆ ที่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองสิทธิในชื่อเสียงของบุคคลได้ในทำนองเดียวกับคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ 1 และเป็นมาตรการที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดของบุคคลที่รุนแรงน้อยกว่า เมื่อพิจารณาส่วนของอัตราโทษจำคุกและประโยชน์ในทางกฎหมายที่เกี่ยวกับเหตุยกเว้นความผิดฐานหมิ่นประมาทบุคคลอื่น ส่งผลให้จากการพิจารณาภายในระบบกฎหมายของประเทศไทยในปัจจุบัน คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ข้อ 1 จึงเป็นมาตรการที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลที่เกินจำเป็น

สำหรับการพิจารณาใดๆ ที่ยกเว้นเหตุผลดังกล่าวโดยอ้างว่าบุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์มีสถานะทางประวัติศาสตร์ สถานะทางสังคม และสถานะทางรัฐธรรมนูญสูงเด่นกว่าบุคคลทั่วไป จึงชอบด้วยเหตุผลและความจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการคุ้มครองสิทธิในชื่อเสียงของบุคคลดังกล่าวเป็นพิเศษ โดยกำหนดอัตราโทษสูงกว่าฐานความผิดหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลธรรมดา ย่อมถือว่าเป็นให้เหตุผลทางกฎหมายและใช้อำนาจรัฐที่ขัดต่อหลักความเสมอภาคซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 26 มุ่งคุ้มครองไว้อย่างชัดแจ้ง

.

คำสั่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 3 หลังการยึดอำนาจวันที่ 6 ตุลาคม 2519

.

ประการที่สอง คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 เป็นมาตรการทางกฎหมายที่จำกัดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลที่ไม่สอดคล้องหลักความพอสมควรแก่เหตุในความหมายอย่างแคบ

คือโดยเนื้อแท้แล้ว คำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 เป็นมาตรการทางกฎหมายที่มีการชั่งน้ำหนักระหว่างคุณค่าของสิทธิในชื่อเสียง และสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ ตามที่รับรองไว้ในมาตรา 6 และมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญ กับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญอยู่เบื้องหลังมาตรการ

สำหรับการจะเริ่มต้นพิจารณาว่าโทษทางอาญาที่กำหนดไว้ในคำสั่งดังกล่าว เป็นมาตรการที่รักษาสมดุลระหว่างสองคุณค่าดังกล่าวได้หรือไม่ จะต้องพิจารณาว่าประเทศไทยอยู่ภายใต้การปกครองในระบอบใด เมื่อพิจารณาจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 2 จะพบประเทศไทยปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันเป็นระบอบที่ยึดถือในคุณค่าเกี่ยวกับ “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “สิทธิและเสรีภาพ” เป็นคุณค่าที่สูงสุดในรัฐธรรมนูญ พิจารณาได้จากการรับรองไว้ในหมวด 3 สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

คุณค่าดังกล่าวยอมรับนับถือว่าภายใต้ระบอบประชาธิปไตย บุคคลมีอิสระและเสรีภาพที่เลือกใช้ชีวิต ปฏิบัติตามความเชื่อ และแสดงความคิดเห็นของตนได้อย่างมีเหตุผล โดยปราศจากซึ่งหวาดกลัวต่อกฎหมายและการใช้อำนาจรัฐอย่างอำเภอใจ แต่ปรากฏว่าเหตุผลที่ปรากฏในช่วงต้นคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 กลับมุ่งเน้นไปที่การมุ่งคุ้มครองคุณค่าของสิทธิในชื่อเสียงและสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์เป็นสำคัญ โดยมิได้คำนึงถึง “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “สิทธิและเสรีภาพ” ของบุคคลเลย

จึงส่งผลให้มาตรการทางกฎหมายโดยเฉพาะการแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ปรากฏในคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีลักษณะสูงเกินจำเป็นและไม่ชอบด้วยเหตุผลจากการพิจารณาในแง่มุมทางประวัติศาสตร์กฎหมายและแง่มุมระบบกฎหมายในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพราะมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวถูกสร้างขึ้นโดยคณะรัฐประหารโดยมุ่งหมายให้บุคคลหวาดกลัวโทษทางอาญาที่จะได้รับภายหลังการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในรูปแบบการวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติตน หรือการใช้อำนาจตามกฎหมายของพระมหากษัตริย์และมุ่งทำลายคุณค่า “ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” และ “สิทธิและเสรีภาพ” ของบุคคลลงอย่างสิ้นเชิง

ด้วยเหตุดังกล่าวคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 จึงเป็นมาตรการทางกฎหมายที่บรรลุวัตถุประสงค์ในการคุ้มครองคุณค่าของสิทธิในชื่อเสียงและสถานะอันล่วงละเมิดมิได้ของบุคคลที่ดำรงตำแหน่งพระมหากษัตริย์ตามที่รับรองไว้ในมาตรา 6 และมาตรา 32 ของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้สมดุลกับความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลตามมาตรา 34 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นคุณค่าสูงสุดของรัฐธรรมนูญของประเทศไทยที่ปกครองในระบอบประชาธิปไตย

.

ในท้ายคำร้อง ได้สรุปว่า ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าคำสั่งของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41 ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 1 ไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย และหรือขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 และไม่อาจนำบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวมาใช้บังคับในคดีอาญาได้ เพื่อวางบรรทัดฐานทางกฎหมายในการพิทักษ์ระบอบประชาธิปไตยและพิทักษ์สิทธิเสรีภาพของปวงชนชาวไทย จากการรัฐประหารและผลพวงการกระทำของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินต่อไปด้วย

.

X