ยื่นฟ้อง 112 “ฟ้า-แอมมี่” เหตุร้องเพลง-ปราศรัยหน้าศาลธัญบุรี ก่อนศาลให้วางประกันคนละ 3 แสน – อนุญาตฟ้าถอด EM

วันนี้ (8 มิถุนายน 2564) ที่ศาลจังหวัดธัญบุรี พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี ยื่นฟ้องคดีของพรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า”จากกลุ่มราษฎรมูเตลู และไชยอมร  แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ – The Bottom Blues” นักร้อง ใน 4 ข้อกล่าวหา สืบเนื่องจากปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง  นักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกจับกุมกลางดึกตามหมายจับในคดี 112 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 

อัยการยื่นฟ้องพรหมศรและไชยอมรในฐานความผิด  ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนด/คำสั่ง ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 และร่วมกันใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต 

ก่อนหน้านี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาทั้งสองว่า หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ และข้อหาอื่นๆ และส่งตัวทั้งสองพร้อมสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการแล้ว ต่อมา วานนี้ (7 มิถุนายน 2564) พนักงานสอบสวน  ได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมพรหมศรว่า “ร่วมกัน” หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ หลังพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีหนังสือด่วนที่สุด ที่ อส0059 (ธัญบุรี)/3450 ให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ในการกระทําความผิดของพรหมศรและไชยอมรเพิ่มเติม ส่วนไชยอมรติดภารกิจ พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมในวันนี้ ก่อนอัยการยื่นฟ้องต่อศาลในช่วงบ่าย 

คำฟ้องในคดีนี้ พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรี กล่าวหาว่า จําเลยทั้งสองกับพวกซึ่งยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายรวม 3 กรรม ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันชุมนุม จัดกิจกรรมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยไม่มีมาตรการป้องกัน อันอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ออกไป

2. จำเลยทั้งสองยังได้ร่วมกันแสดงความเห็นแก่ประชาชนที่ร่วมชุมนุมหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี และประชาชนทั่วไป ผ่านเครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาต

3. จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ โดยพรหมศรได้เปิดเพลง “สดุดีจอมราชา” และ “ในหลวงของแผ่นดิน” แต่ได้ร้องเพลงตามเพลงดังกล่าว โดยดัดแปลงเนื้อเพลงเพื่อเจตนาดูหมิ่น และหมิ่นประมาทใส่ความแสดงต่อเจ้าพนักงานตํารวจและประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม 

เพลง “สดุดีจอมราชา” เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการขับร้องถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสสําคัญต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 และเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” เป็นเพลงที่จัดทําขึ้นเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ของรัชกาลที่ 9

ด้านไชยอมรได้พูดว่า “ขอซาวด์เช็คกันหน่อยครับ วัน ทู ทรี โฟร์ ฟาย” แล้วพรหมศรกับพวกได้ร่วมกันร้องรับว่า “ ไอ้เหี้ย […]” และไชยอมรได้พูดว่า “ซิก เซเว่น เอ้ก ไนน์” แล้วพรหมศรกับพวกได้ร่วมกันร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย[…]”  ซึ่งเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ด้วยถ้อยคําหยาบคาย อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง โดยเจตนาทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะในองค์พระมหากษัตริย์ อันทรงเป็นประมุขในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 

ท้ายคำฟ้องพนักงานอัยการยังขอให้ศาลนับโทษจําคุกของไชยอมรในคดีนี้ ต่อจากโทษจําคุกในอีก 2 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร และ คดีวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 หน้าเรือนจำคลองเปรม ซึ่งเป็นคดีของศาลอาญา

ก่อนหน้านี้พรหมศรได้ประกันในชั้นสอบสวน โดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด 200,000 บาท พร้อมติดกำไลข้อเท้าอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ในวันนี้ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันจำเลยทั้งสองระหว่างพิจารณาคดี พร้อมกับยื่นคำร้องขอถอด EM ของพรหมศรออก แม้ในคดีนี้อัยการจะคัดค้านการให้ประกันตัว ระบุว่า เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าจําเลยทั้งสองจะหลบหนี แต่ศาลก็มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสอง และอนุญาตให้พรหมศรถอด EM โดยให้เพิ่มเงินประกันเป็นคนละ 300,000 บาท ซึ่งมาจากกองทุนราษฎรประสงค์ และให้ทั้งสองเขียนคำรับรองด้วยลายมือว่าจะไม่หลบหนีหรือไปยุ่งกับพยานหลักฐานอีกด้วย 

ศาลกำหนดนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 และนัดพร้อมในวันที่ 19 กรกฎาคม 2564

ในชั้นสอบสวน หลังพรหมศรเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ตามหมายเรียก กลับถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนำตัวไปฝากขังที่ศาจังหวัดธัญบุรี และศาลมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวในวันเดียวกัน เป็นเหตุให้พรหมศรต้องถูกคุมขังที่เรือนจำอำเภอธัญบุรีในระหว่างการสอบสวนรวม 55 วัน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำสั่งให้ประกันและได้รับการปล่อยตัวเมื่อ วันที่ 10 พ.ค. 64 หลังยื่นประกันรวม 5 ครั้ง และยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้น 3 ครั้ง

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 17 ที่พนักงานอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี หลังการกลับมาใช้มาตรา 112 เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563

พรหมศรถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองทั้งหมด 6 คดี โดยมีคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 3 คดี ด้านไชยอมรถูกดำเนินคดีทั้งหมด 9 คดี และมีคดีมาตรา 112 ทั้งหมด 2 คดี

อ่านรายละเอียดคดีนี้ใน>> ฟ้า พรหมศร – แอมมี่ คดี 112 กรณีปราศรัยหน้าศาลธัญบุรี

X