วันที่ 28 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีของ พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” จากกลุ่มราษฎรมูเตลู (จำเลยที่ 1) และ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ – The Bottom Blues” นักร้อง (จำเลยที่ 2) ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกจับกุมกลางดึกตามหมายจับในคดี 112
กรณีของพรหมศรซึ่งให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาในวันสุดท้ายของการสืบพยาน ศาลพิพากษาว่า พรหมศรมีความผิดตามมาตรา 112 และข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษจำคุก 4 ปี ปรับ 200 บาท ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ปรับ 100 บาท ไม่รอลงอาญา
กรณีของไชยอมรซึ่งให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลพิพากษายกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 112 เนื่องจากพฤติการณ์ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบมาก่อนว่า เมื่อจำเลยที่ 2 ร้องเพลง จำเลยที่ 1 และผู้ชุมนุมจะตะโกนรับด้วยถ้อยคำอย่างใด อีกทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ร้องเพลงที่ดัดแปลงเนื้อเพลงตามฟ้องด้วย พยานหลักฐานโจทก์ยังเป็นที่สงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้กับจำเลยที่ 2 ส่วนข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ลงโทษปรับจำนวน 200 บาท
ส่วนข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสอง เนื่องจากในการสืบพยานได้ความว่า บริเวณสถานที่เกิดเหตุมิใช่สถานที่แออัดในลักษณะเสี่ยงต่อการแพร่โรค และจำเลยทั้งสองไม่ใช่บุคคลผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรม ดังนั้นจำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิด
.
ย้อนอ่านบันทึกสืบพยานในคดีนี้ >>> “1 2 3 4 5 I here too” : บันทึกสืบพยานคดี ม.112 – พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “ฟ้า – แอมมี่” เหตุปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลธัญบุรี ก่อนพิพากษาวันพรุ่งนี้
ดูฐานข้อมูลในคดีนี้ >>> คดี 112 “ฟ้า – แอมมี่” กรณีร้องเพลงหน้าศาลธัญบุรีระหว่างติดตามการจับกุม “นิว” สิริชัย
.
ศาลยกฟ้อง ม.112 กรณีไชยอมรร้องเพลง “1 2 3 4 5 I Love You” แต่กรณีพรหมศร ลงโทษจำคุก 4 ปี ลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือ 2 ปี ไม่รอลงอาญา
วันนี้ (28 ธ.ค. 2566) เวลา 09.23 น. หน้าห้องพิจารณาคดีที่ 4 พรหมศรและไชยอมรทยอยเดินทางมาศาล โดยไชยอมรเดินทางมาพร้อมแม่และเพื่อนที่มาให้กำลังใจ นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน 2 คน, สื่ออิสระ และนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์เข้าร่วมสังเกตการณ์
เมื่อเข้าสู่ห้องพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำพิพากษาในคดีนี้ ศาลได้ขอให้ประชาชนที่มีนัดพิจารณาในคดีอื่น ๆ ออกจากห้องพิจารณา เนื่องจากเป็นคดีที่มีความละเอียดอ่อน แต่อนุญาตให้ผู้ที่มาสังเกตการณ์ในคดีนี้นั่งอยู่ในห้องพิจารณาได้ ต่อมาศาลจึงเริ่มต้นอ่านคำพิพากษา สามารถสรุปได้เป็น 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
พิเคราะห์พยานหลักฐานโจทก์ประกอบกับคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังเป็นที่ยุติได้ว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลปัจจุบัน ขณะเกิดเหตุนายกรัฐมนตรีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19)
ในวันเกิดเหตุ พนักงานสอบสวน สภ.คลองหลวง นำสิริชัย หรือ “นิว” นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มายื่นคำร้องฝากขังต่อศาลจังหวัดธัญบุรี จำเลยทั้งสองกับพวกเข้าร่วมชุมนุมและจัดกิจกรรมเรียกร้องให้ศาลปล่อยชั่วคราวสิริชัย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่
สำหรับความผิดฐานร่วมกันชุมนุม ทำกิจกรรม หรือมั่วสุมในสถานที่แออัด เห็นว่า หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคงออกประกาศหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ฉบับที่ 2) ห้ามมิให้มีการชุมนุม หรือทำกิจกรรมที่มีการรวมคนที่มีความแออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค
พิเคราะห์ภาพถ่ายและภาพเคลื่อนไหวในแผ่นวิดีทัศน์ ปรากฏว่า สถานที่เกิดเหตุเป็นบริเวณพื้นที่ว่างริมถนนหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี อากาศโปร่งถ่ายเทได้ดี มีแสงอาทิตย์ส่องกระจายทั่วบริเวณ สถานที่ชุมนุมยังมีพื้นที่ว่างเหลืออยู่มาก ไม่ได้อยู่ในสถานที่คับแคบหรือผู้คนหนาแน่น ผู้ชุมนุมซึ่งมีจำนวนไม่มากสามารถเดินเคลื่อนย้ายไปมาได้โดยสะดวก มีเพียงการรวมกลุ่มกันในพื้นที่เพียงบางส่วนของสถานที่ชุมนุม เฉพาะในพื้นที่ฟังการปราศรัยและการทำกิจกรรมบางช่วงเวลาเท่านั้น บริเวณสถานที่เกิดเหตุจึงมิใช่สถานที่แออัดในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคแต่อย่างใด จำเลยทั้งสองจึงไม่มีความผิดในฐานนี้
ฐานร่วมกันจัดให้มีกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กำหนดแต่เพียงว่า ห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่กระจายโรค แสดงให้เห็นว่า หากการจัดกิจกรรมดังกล่าวฝ่าฝืนมาตรการป้องกันโรค บุคคลผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมต้องรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว แต่ตามฟ้องโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่า จำเลยทั้งสองกับพวกร่วมชุมนุม อันเป็นการแสดงว่าจำเลยทั้งสองหาใช่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมดังกล่าวไม่
ดังนั้นแม้ทางนำสืบของโจทก์และปรากฏภาพเคลื่อนไหวในแผ่นวิดีทัศน์ว่า จำเลยทั้งสองกับผู้ร่วมชุมนุมหลายคนไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าตลอดเวลา ไม่มีการเว้นระยะห่างทางสังคม และพื้นที่ชุมนุมที่จำเลยทั้งสองเข้าร่วมไม่มีจุดบริการล้างมือด้วยสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจล หรือน้ำยาฆ่าเชื้อโรค อันเป็นมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนดไว้ก็ตาม จำเลยทั้งสองก็ไม่ต้องรับผิดในการกระทำเช่นว่านั้น
กรณีเช่นนี้ แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ซึ่งข้อเท็จจริงต้องรับฟังเป็นยุติตามฟ้องและศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ได้โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานประกอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 ก็ตาม แต่จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงที่ได้จากคำฟ้องและทางการนำสืบของโจทก์ดังกล่าวได้ความว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ไม่เป็นความผิดฐานนี้ ศาลย่อมนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมารับฟังเป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง
ประเด็นที่ 2 ความผิดเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ
ความผิดตามประมวลกฎหมาย มาตรา 112 และฐานร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต มิใช่ความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ให้จำคุกตั้งแต่ 5 ปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพ ศาลจะพิพากษาโดยไม่สืบพยานหลักฐานต่อไปก็ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 176 วรรคหนึ่ง ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 กับพวกร่วมกันกระทำความผิดฐานดังกล่าว
สำหรับจำเลยที่ 2 โจทก์มี พ.ต.อ.วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์, พ.ต.อ.ศราวุธ ทองภู่, พ.ต.ท.ธนกฤต อินภู่, พ.ต.ต.เดชา แสนหว้า, ร.ต.อ.ยงยุทธ อาจกมล, ร.ต.อ.ประดิษฐ์ จันทะเพชร์, ส.ต.ท.อรรถวุฒิ พรสุวรรณ์, ชัยณรงค์ สาระไอ และณเรศน์ ณ บางช้าง เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 ร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม หลังจากจำเลยที่ 1 ปราศรัยโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจ จำเลยที่ 2 จึงขึ้นปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงต่อจากจำเลยที่ 1 มีเนื้อหาเช่นเดียวกับจำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 2 พูดว่า ขอซาวด์เช็ก แล้วร้องเพลงผ่านเครื่องขยายเสียงว่า “วัน ทู ทรี โฟร์ ไฟว์” ผู้ชุมนุมตะโกนรับว่า “ไอ้เหี้ยตู่” จากนั้นร้องเพลงต่อไปว่า “ซิกส์ เซเว่น เอ็ท ไนน์” ผู้ชุมนุมตะโกนรับว่า “ไอ้เหี้ย […]” จำเลยที่ 2 พูดว่า “ผมยังไม่โดนมาตรา 112 นะ คุณจะมาดันให้ผมโดนเลยหรือ” จากนั้นจำเลยที่ 1 ขึ้นปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงต่อจากจำเลยที่ 2 และร้องเพลงต้นไม้ของพ่อ และเพลงในหลวงของแผ่นดินโดยดัดแปลงเนื้อหาเพลงตามฟ้อง
เห็นว่า ในคดีอาญาโจทก์มีหน้าที่นำพยานหลักฐานมานำสืบให้รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า จำเลยมีเจตนากระทำความผิดตามฟ้อง คดีนี้พยานโจทก์เบิกความยืนยันว่า จำเลยทั้งสองกับพวกมาร่วมชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวผู้ต้องหา แต่ตามทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏว่า จำเลยทั้งสองกับพวกได้ตกลงหรือวางแผนร่วมกันมาแต่ต้นว่าจะแบ่งหน้าที่กันทำเพื่อแสดงกริยาอาการ กล่าวข้อความ หรือร้องเพลงที่ดัดแปลงเนื้อหา โดยมีเจตนาเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์
ได้ความจากพยานโจทก์ซึ่งเบิกความสอดคล้องกับภาพเคลื่อนไหวและเสียงในแผ่นวิดีทัศน์ และข้อความที่ถอดจากเสียงว่า หลังจากจำเลยที่ 1 ปราศรัยโจมตีการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจและเรียกร้องให้ศาลปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหาแล้ว จำเลยที่ 2 ก็กล่าวปราศรัยกับกลุ่มผู้ชุมนุมโดยมีเนื้อหาเรียกร้องและติติงการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีเนื้อหาทำนองกล่าวร้ายหรือปลุกเร้าให้ผู้ร่วมชุมนุมล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์ จนจำเลยที่ 2 จะเปลี่ยนให้ผู้อื่นขึ้นปราศรัยบ้าง จึงพูดว่าขอซาวด์เช็ก แล้วร้องเพลง จากนั้นจำเลยที่ 2 ก็มิได้ขึ้นปราศรัยอีก
ตามปกติเพลงที่จำเลยที่ 2 ร้องนำผู้ร่วมชุมนุมเป็นเพลงธรรมดาที่ร้องกันอยู่ทั่วไป หาได้มีเนื้อหาล่วงละเมิดสถาบันกษัตริย์หรือผู้หนึ่งผู้ใดไม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกับพวกร่วมกันให้จำเลยที่ 2 ร้องนำแล้วจำเลยที่ 1 กับพวกจะตะโกนรับด้วยข้อความอันเป็นการล่วงละเมิดพระมหากษัตริย์ พฤติการณ์ส่อแสดงว่าจำเลยที่ 2 ไม่ทราบมาก่อนว่า จำเลยที่ 1 และผู้ชุมนุมจะตะโกนรับด้วยถ้อยคำอย่างใด การที่จำเลยที่ 1 กับพวกตะโกนรับเพลงที่จำเลยที่ 2 ร้องด้วยข้อความดังกล่าวจึงอาจเกิดจากเจตนาของจำเลยที่ 1 กับพวกในทันทีทันใดนั้นเองก็เป็นได้
ส่วนที่จำเลยที่ 1 ขึ้นปราศรัยและร้องเพลงที่ดัดแปลงเนื้อหาดังกล่าวก็เป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 หลังจากจำเลยที่ 2 ยุติการปราศรัยแล้ว และเป็นการกระทำของจำเลยที่ 1 เพียงผู้เดียว โดยไม่ปรากฏว่า จำเลยที่ 2 ร่วมร้องเพลงที่ดัดแปลงเนื้อเพลงดังกล่าวด้วย พยานหลักฐานโจทก์จึงเป็นที่สงสัยตามสมควรว่า จำเลยที่ 2 รู้เห็นเป็นใจด้วยกับการกระทำของจำเลยที่ 1 กับพวกหรือไม่ ต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้แก่จำเลยที่ 2 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง
จำเลยที่ 2 กล่าวปราศรัยอันเป็นการบอกกล่าว แจ้งความ ชี้แจง แนะนำ หรือแสดงความคิดเห็นแก่ประชาชนตามคำนิยาม “โฆษณา” ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 3 โดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับอนุญาต จึงเป็นความผิดฐานร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาตตามฟ้อง
พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำคุก 4 ปี ฐานใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้อนุญาต ปรับ 200 บาท จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี ปรับ 100 บาท
ส่วนจำเลยที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ ลงโทษปรับ 200 บาท
พิเคราะห์การกระทำของจำเลยที่ 1 แล้ว เห็นว่า พฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้จำเลยที่ 1 ไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน หรือมีเหตุอื่นตามที่อ้างในคำร้องประกอบคำรับสารภาพ ก็ไม่เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยที่ 1
ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกในคดีอื่นนั้น ไม่ปรากฏว่า คดีดังกล่าวศาลมีคำพิพากษาแล้วหรือไม่ และคดีนี้ศาลลงโทษปรับจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงนับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อไม่ได้ ยกคำขอส่วนนี้และคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
องค์คณะที่ทำคำพิพากษาในคดีนี้ ได้แก่ ดำรงค์ ยาน้ำทอง ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน และปุณณวิทย์ ภัสสรารุจินันท์
.
ต่อมา เวลาประมาณ 11.15 น. หลังนายประกันยื่นคำร้องขอประกันพรหมศรระหว่างอุทธรณ์ ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกัน โดยใช้หลักทรัพย์ประกันเป็นเงินจำนวน 300,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และศาลไม่ได้กำหนดเงื่อนไขการประกันตัวอื่น ๆ เพิ่มเติม
น่าสังเกตว่า ศาลจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์โดยไม่ส่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้สั่ง ซึ่งเป็นไปตามข้อบังคับประธานศาลฎีกา ว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ 2565 ข้อ 24 ทำให้จำเลยได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวในขณะที่คดียังไม่ถึงที่สุด
.