“1 2 3 4 5 I here too” : บันทึกสืบพยานคดี ม.112 – พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ของ “ฟ้า – แอมมี่” เหตุปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลธัญบุรี ก่อนพิพากษาวันพรุ่งนี้

วันที่ 28 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดธัญบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีของ พรหมศร วีระธรรมจารี หรือ “ฟ้า” จากกลุ่มราษฎรมูเตลู (จำเลยที่ 1) และ ไชยอมร  แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือ “แอมมี่ – The Bottom Blues” นักร้อง (จำเลยที่ 2) ในข้อหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการปราศรัยและร้องเพลงหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 เรียกร้องให้ศาลปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งถูกจับกุมกลางดึกตามหมายจับในคดี 112  

คดีนี้มีการสืบพยานในระหว่างวันที่ 27 – 28 เม.ย., 6 ต.ค., 21 ธ.ค. 2565 และ 27 ม.ค., 11 พ.ค., 16 ส.ค., 16 พ.ย. 2566 โดยไชยอมรยืนยันให้การปฏิเสธ  ในขณะที่พรหมศรขอถอนคำให้การเดิมจากปฏิเสธเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาในการสืบพยานนัดสุดท้าย

.

ย้อนไปเมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2564 ที่สถานีตำรวจภูธรธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี พรหมศรได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียกในคดีนี้ และได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจพาตัวไปขอฝากขัง และศาลจังหวัดธัญบุรีอนุญาตให้ฝากขังในชั้นสอบสวน ตามคำร้องของพนักงานสอบสวน 

ต่อมาในวันเดียวกัน ทนายความจึงได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ แต่ศาลได้มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันพรหมศร โดยระบุเหตุว่าเกรงว่าจะหลบหนีและไปกระทำความผิดซ้ำในลักษณะเดียวกันอีก 

ผลของคำสั่งดังกล่าวทำให้พรหมศรถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำอำเภอธัญบุรี ในระหว่างการสอบสวนรวม 55 วัน ก่อนที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 จะมีคำสั่งให้ประกัน โดยให้ติด EM และได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2564 หลังยื่นประกันรวม 5 ครั้ง และยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลชั้นต้น 3 ครั้ง

ส่วนไชยอมรถูกแจ้งข้อกล่าวหาคดีนี้เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2564 ในเรือนจำพิเศษธนบุรี เนื่องจากในขณะนั้นเขาถูกฝากขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่วันที่ 4 มี.ค. 2564 ในคดีวางเพลิงเผาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 บริเวณด้านหน้าเรือนจำคลองเปรม ในช่วงเช้ามืดวันที่ 28 ก.พ. 2564 

ในช้้นสอบสวน ไชยอมรได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เขาปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกการแจ้งข้อกล่าวหา และวาดรูปคนลงในบันทึกแทน

ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564  อำนวย อำลอย พนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรียื่นฟ้องพรหมศรและไชยอมรใน 4 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนด/คำสั่ง ออกตามมาตรา 9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ฝ่าฝืน พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 และร่วมกันใช้เครื่องเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยบรรยายฟ้องว่าทั้งสองได้ร่วมกันกระทําความผิดต่อกฎหมายรวม 3 กรรม ดังนี้

1. เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564 จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันชุมนุม จัดกิจกรรมในลักษณะที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค โดยไม่มีมาตรการป้องกัน อันอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ออกไป

2. จำเลยทั้งสองยังได้ร่วมกันแสดงความเห็นแก่ประชาชนที่ร่วมชุมนุมหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี และประชาชนทั่วไป ผ่านเครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้รับอนุญาต

3. จำเลยทั้งสองกับพวกได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ โดยพรหมศรได้เปิดเพลง “สดุดีจอมราชา” และ “ในหลวงของแผ่นดิน” แต่ได้ร้องเพลงตามเพลงดังกล่าว โดยดัดแปลงเนื้อเพลงเพื่อเจตนาดูหมิ่น และหมิ่นประมาทใส่ความแสดงต่อเจ้าพนักงานตํารวจและประชาชนโดยทั่วไป ซึ่งเป็นบุคคลที่สาม

ซึ่งเพลง “สดุดีจอมราชา” เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อใช้ในการขับร้องถวายพระพรชัยมงคลในโอกาสสําคัญต่าง ๆ เพื่อใช้ในการเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 และเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” เป็นเพลงที่จัดทําขึ้นเนื่องในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 84 พรรษา ของรัชกาลที่ 9

ด้านไชยอมรได้พูดว่า “ขอซาวด์เช็คกันหน่อยครับ วัน ทู ทรี โฟร์ ฟาย” แล้วพรหมศรกับพวกได้ร่วมกันร้องรับว่า “ ไอ้เหี้ยตู่” และไชยอมรได้พูดว่า “ซิก เซเว่น เอ้ก ไนน์” แล้วพรหมศรกับพวกได้ร่วมกันร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย […]”

ซึ่งเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ด้วยถ้อยคําหยาบคาย อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายรัชกาลที่ 10 ให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและเกลียดชัง โดยเจตนาทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธาไม่เคารพสักการะในองค์พระมหากษัตริย์ อันทรงเป็นประมุขในการปกครองในระบอบประชาธิปไตย

ระหว่างพิจารณาคดีทั้งสองได้รับการประกันโดยตลอด โดยวางหลักประกันคนละ 300,000 บาท เป็นเงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ในส่วนของพรหมศรศาลยังอนุญาตให้ถอด EM ด้วย

ดูฐานข้อมูลคดีนี้: คดี 112 “ฟ้า – แอมมี่” กรณีร้องเพลงหน้าศาลธัญบุรีระหว่างติดตามการจับกุม “นิว” สิริชัย

.

ในการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความกว่า 11 ปาก โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้กล่าวหา 1 ปาก, เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน 4 ปาก, เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายป้องกันและปราบปราม 1 ปาก, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของศาลจังหวัดธัญบุรี 1 ปาก, ผู้กำกับการ สภ.ธัญบุรี 1 ปาก, พยานผู้เชี่ยวชาญผู้ให้ความเห็น 2 ปาก และพนักงานสอบสวน 1 ปาก โดยพยายามกล่าวหาว่า การร้องเพลงของจำเลยทั้ง 2 คน เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ 

ขณะที่ฝ่ายจำเลยไม่ติดใจนำพยานเข้าสืบ โดยข้อต่อสู้หลักในข้อหาตามมาตรา 112 ของไชยอมร คือ จำเลยร้องเพลง “1 2 3 4 5 I Love You” ที่มีการแปลงเนื้อหาเพียงคำว่า “1 2 3 4 5” และ “6 7 8 9” ไม่ได้ร้องในส่วนที่ผู้ชุมนุมร้องรับว่า “ไอ้เหี้ยตู่” และ “ไอ้เหี้ย […]” ซึ่งในการสืบพยานโจทก์ก็ไม่พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 มีการตระเตรียมกับผู้ชุมนุมว่าจะต้องร้องรับอย่างไร และหลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ก็ไม่ได้ร้องเพลงต่ออีก โดยร้องท่อนดังกล่าวเพียงรอบเดียว

ในส่วนข้อหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ​ จำเลยมีข้อต่อสู้ว่า การชุมนุมที่ไม่แออัดสามารถทำได้ตามกฎหมาย โดยบริเวณหน้าศาลเป็นพื้นที่เปิดโล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และผู้ชุมนุมมีจำนวนไม่มาก 

.

พ.ต.ท.ศราวุฒิ ทองภู่ ผู้กล่าวหา เบิกความว่า ในขณะเกิดเหตุพยานเป็นรองผู้กำกับสืบสวน สภ.ธัญบุรี เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ทำการสืบสวนการปลุกปั่นมวลชนในสื่อสังคมออนไลน์ เนื่องจาก สภ.คลองหลวง ได้จับกุมสิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ตามมาตรา 112 รวมทั้งได้มีการบุกค้นหอพักและจะนำตัวมาฝากขังที่ศาลจังหวัดธัญบุรี 

พยานได้ตรวจพบการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ให้มวลชนมารวมกันที่หน้าศาลจังหวัดธัญบุรีในวันที่ 14 ม.ค. 2564 เวลา 08.00 น. พร้อมติด #saveนิวมธ #ปล่อยเพื่อนเรา #ยกเลิก112 ผู้บังคับบัญชาจึงมีคำสั่งให้ฝ่ายป้องกันและปราบปรามตั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยภายนอก สภ.ธัญบุรี และศาลจังหวัดธัญบุรี 

ส่วนพยานได้รับคำสั่งให้ทำการสืบสวนกลุ่มผู้ชุมนุมจากภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหว โดยในวันเกิดเหตุ เวลา 07.00 น. พยานได้เข้าประจำการอยู่ที่ป้อมยามหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี ต่อมาเวลา 08.30 น. มีกลุ่มมวลชนประมาณ 15 คน ซึ่งมีจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 รวมอยู่ด้วย เดินทางมาถึงบริเวณประตู 1 ของศาลจังหวัดธัญบุรีซึ่งมีการปิดประตูรั้วและคัดกรองคนที่จะเข้ามายังบริเวณศาล ทั้งนี้ พยานไม่รู้จักจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นการส่วนตัว แต่รู้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นศิลปินนักร้อง

พยานเบิกความต่อไปว่า ที่บริเวณหน้าศาล กลุ่มผู้ชุมนุมได้มีการโต้เถียงกับเจ้าหน้าที่ศาลว่า ทำไมจึงไม่สามารถเข้าไปในบริเวณศาลได้ หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ศาลได้อนุญาตให้กลุ่มผู้ชุมนุมส่งตัวแทนเข้าไปได้ 2 คน มวลชนที่เหลือจึงนั่งรออยู่ด้านนอกบริเวณประตู 1 มีทั้งใส่หน้ากากอนามัยและไม่ใส่ พยานได้รับรายงานจากผู้ใต้บังคับบัญชาว่า ตรวจพบรถตู้มีพิรุธเนื่องจากมีการติดสก็อตเทปทับแผ่นป้ายทะเบียนทั้งด้านหน้าและหลัง  ภายในรถมีชุดเครื่องขยายเสียง 

ต่อมาในเวลา 10.30 น. ได้มีการนำเครื่องขยายเสียงและร่มออกจากรถตู้มาตั้งไว้บริเวณข้างรั้วบนทางเท้าตรงประตูทางเข้า ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้ขึ้นพูดเป็นคนแรกเกี่ยวกับเหตุผลของการมาชุมนุม และหากสิริชัยไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ก็จะมีการปิดถนนรังสิต-นครนายก 

หลังจากนั้นจำเลยที่ 2 ได้ขึ้นพูดต่อ โดยมีการพูดทักทายมวลชน จากนั้นจึงเช็คเสียงมวลชนก่อนร้องเพลง “1 2 3 4 5 I Love You” และมวลชนก็ร้องตาม 

พยานเบิกความต่อไปว่า จำเลยที่ 2 ร้องท่อนนำและส่งให้มวลชนร้องท่อน “ไอ้เหี้ยตู่” และ “ไอ้เหี้ย […]” พร้อมกัน มวลชนร้องรับได้ทันที พยานจึงเห็นว่ามีการตระเตรียมกันมาก่อน เมื่อร้องเสร็จแล้วมวลชนมีการหัวเราะและจำเลยที่ 2 ได้พูดทำนองว่า “ผมยังไม่โดน 112 นะ ถวายพานให้ผมเลยนะ”

พยานเข้าใจว่า มาตรา 112 เป็นความผิดเกี่ยวกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ จำเลยที่ 2 จึงพูดว่ายังไม่โดน 112 แต่มวลชนเป็นคนพูดทำให้จำเลยที่ 2 อาจจะโดนคดีมาตรา 112  โดยพยานได้อธิบายว่า “ไอ้เหี้ยตู่” หมายถึง นายกรัฐมนตรี และ “ไอ้เหี้ย […]” หมายถึง รัชกาลที่ 10 

หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้สลับขึ้นมาพูดต่อ โดยได้เปิดเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” และ “สดุดีจอมราชา” ที่มีการแปลงเนื้อหาของเพลง พยานเห็นว่า เพลงสดุดีจอมราชาไม่ใช่เพลงที่ร้องให้คนทั่วไป แต่เป็นเพลงที่ร้องเทิดพระเกียรติให้กับในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่มีการสื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ทำให้เสื่อมเสียด้อยค่า มีความหยาบคาย มีการกล่าวหาว่าในหลวงไม่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ไม่ทรงงาน ไม่เป็นที่พึ่งพาของประชาชน 

พยานเบิกความว่า ในขณะที่จำเลยทั้ง 2 คน ร้องเพลง มวลชนไม่ได้มีการเว้นระยะห่าง ไม่ได้ปฏิบัติตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ห้ามรวมกลุ่ม ห้ามชุมนุมมั่วสุมที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และห้ามจัดกิจกรรมในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งจังหวัดปทุมธานีเป็นหนึ่งในนั้น รวมถึงฝ่าฝืนประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ ที่สั่งห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยง ห้ามชุมนุมมั่วสุม ห้ามจัดกิจกรรมที่มีการยุงยงปลุกปั่นอันก่อให้เกิดความไม่สงบ 

พยานเล่าว่า จำเลยที่ 1 นำมวลชนส่วนหนึ่งนั่งขวางทางเข้าออกศาลจังหวัดธัญบุรีที่ประตู 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ได้ให้มวลชนอีกส่วนนั่งขวางทางเข้าออกที่ประตู 2 ทำให้ประชาชนที่สัญจรไปมาและผู้ที่จะเข้ามาติดต่อราชการมีความลำบาก โดยในช่วงเช้ามีมวลชนประมาณ 15 คน แต่ในช่วงเที่ยงและบ่ายมีมวลชนประมาณ 50 คน 

ต่อมา เวลา 13.00 น. เจ้าหน้าที่ศาลแจ้งที่บริเวณประตู 1 ว่า ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวสิริชัยแล้ว มวลชนส่งเสียงร้องดีใจ จากนั้นสิริชัยเดินออกมาและได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่บริเวณประตู 1 ขณะนั้นมวลชนก็ยังอยู่ เมื่อนิวสิริชัยเดินออกมานอกศาลแล้วจึงได้มีการพูดคุยกันสักพักจึงแยกย้ายกัน การจราจรได้กลับมาเป็นปกติ 

หลังจากนั้น พยานนำวิดิโอบันทึกเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุมาถอดเทปคำพูดร่วมกับผู้ใต้บังคับบัญชา และจัดทำรายงานเสนอผู้บังคับบัญชา โดยในเบื้องต้นพยานได้แจ้งความให้ดำเนินคดีจำเลยทั้งสองในข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ต่อมาได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ในวันที่ 25 ก.พ. 2564 พยานจึงได้มาแจ้งความร้องทุกข์เพิ่มเติมในข้อหาตามมาตรา 112 

ตอบทนายจำเลยถามค้าน 

– ประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

พยานเบิกความตอบว่า ไม่ปรากฏว่า กลุ่มผู้ชุมนุมมีอาวุธ และก่อนแจ้งความในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พยานไม่เคยดูแนวทางคำวินิจฉัยมาก่อนว่า หากเป็นพื้นที่เปิดโล่ง ไม่แออัด ก็สามารถทำการชุมนุมได้ ทนายความจึงเปิดคำพิพากษาในคดีอื่นให้พยานดู 

ทนายความถามว่า ทราบหรือไม่ว่าจำเลยที่ 1 และ 2 ไม่ได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และไม่ได้เป็นผู้โพสต์เชิญชวนในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม พยานตอบว่า ไม่ทราบ 

ทนายความถามว่า หลังจากการชุมนุมพยานเคยได้ยินว่ามีคนติดโควิดจากการชุมนุมหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ และไม่ทราบด้วยว่า ช่วงเที่ยงวันที่แดดร้อนจัดอาจทำให้คนไม่ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และอาจมีคนที่มีปัญหาภูมิแพ้ที่ทำให้ไม่สามารถใส่หน้ากากอนามัยได้นาน 

พยานตอบทนายจำเลยด้วยว่า สภาพการจราจรบริเวณหน้าศาลเป็นไปตามปกติ เนื่องจากมีตำรวจคอยดูแลการจราจร 

นอกจากนี้ ศาลได้ถามความหมายของคำว่า ‘สถานที่แออัด’ เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าพยานหมายถึงอย่างไร พยานตอบว่า หมายถึงสถานที่ยัดเยียด แน่น ตามความหมายในพจนานุกรม 

ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112

ทนายความถามว่า ในส่วนเนื้อเพลงที่จำเลยที่ 1 ร้องเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงและโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 4,000 โครงการ ฟังแล้วนึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือไม่ พยานยอมรับว่า นึกถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 

ทนายความถามว่า ส่วนที่ร้องเกี่ยวกับการเข่นฆ่ากัน เป็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการตายของในหลวงรัชกาลที่ 8 หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้นึกถึง ทนายความจึงถามต่อว่า นึกถึงการล้อมปราบวันที่ 6 ต.ค. 2519 หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ได้เข้าใจเช่นนั้น โดยพยานไม่ได้นึกถึงการฆ่ากันเองทางการเมืองของคนไทย แต่เน้นที่คำพูดอันมีลักษณะที่ไม่เหมาะสม ซึ่งให้ความรู้สึกว่าพระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่น พยานไม่ได้สนใจด้วยว่า เนื้อเพลงที่แปลงมาจะเป็นจริงหรือไม่และไม่ได้สนใจความหมายของคำที่แปลงมา 

ทนายความอีกว่า ตามรัฐธรรมนูญ 2560 พระมหากษัตริย์สามารถถูกติชมได้ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ขอตอบ ทนายความจึงถามต่อว่า ถ้าหากประชาชนไม่ชอบความเห็นของพระมหากษัตริย์ สามารถติชมได้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่สมควร 

ทนายความถามว่า พยานรู้หรือไม่ว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์เป็นวงกว้าง พยานตอบว่า เท่าที่สืบมาก็มี ทนายความจึงถามต่อว่า พระราชจริยวัตรของในหลวงรัชกาลที่ 10 เหมือนกับในหลวงรัชกาลที่ 9 หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ 

ทนายความถามว่า เนื้อเพลงที่ว่า “ชอบบินไปแดนไกล” อย่างเช่น ทรงบินไปเยอรมนี ทรงงานที่เยอรมนี ประทับในเยอรมนี พยานเคยได้ยินหรือไม่ พยานตอบว่า เคยได้ยินเพียงแค่ทรงบินไปเยอรมนี โดยพยานไม่ทราบว่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางเป็นเงินภาษีของรัฐหรือไม่ แต่ไม่เคยได้ยินเรื่องรัชกาลที่ 10 ไปเช่าโรงแรมในแคว้นบาวาเรีย และเรื่องการทรงงานผ่านไลน์จากเยอรมนี พยานไม่ทราบด้วยว่า การทรงงานนอกประเทศจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ 

ทนายความถามว่า การเรียกร้องของจำเลยที่ 1 ให้ตรวจสอบการใช้จ่ายเงินภาษีของสถาบันกษัตริย์สามารถทำได้หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ พยานไม่ทราบด้วยว่า พระมหากษัตริย์ใช้เงินภาษีปีละเท่าไหร่ และเพลงที่จำเลยที่ 1 แปลงเนื้อเพลงไปนั้น มีเนื้อหาผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือไม่ 

พยานตอบทนายจำเลยอีกว่า เคยฟังเพลง “1 2 3 4 5 I Love You” และทราบว่าเป็นเพลงของจำเลยที่ 2 ส่วนในการชุมนุมจะมีการตระเตรียมคำสร้อยกันมาก่อนหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ

ทนายความถามว่า ตามรายงานการสืบสวนของพยาน จำเลยไม่ได้พูดถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์หรือเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ มีแค่คำว่า “ปล่อยเพื่อนเรา” และรายงานก็ระบุเพียงว่า “น่าเชื่อว่าจะมีคำที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์” พยานจึงไม่ได้แจ้งความในข้อหาตามมาตรา 112 ไปตั้งแต่ครั้งแรก ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เป็นระเบียบของตำรวจที่ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงจะต้องมีการกลั่นกรองจากคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ ก่อน 

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความตอบอัยการว่า แม้จะเป็นสถานที่เปิดโล่งแต่ถ้ามีคนแออัดยัดเยียดก็ถือว่าเป็นสถานที่แออัด และเมื่ออยู่ในสถานที่ที่ผู้คนเยอะก็จะต้องทำตามมาตรการป้องกันโควิด ที่ให้สวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่าง เนื่องจากโควิดมีการติดต่อทางลมหายใจและน้ำลาย ซึ่งสถานที่ที่มวลชนมาชุมนุมก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคได้ 

อัยการถามถึงความรู้สึกของพยานหลังจากฟังเพลง พยานตอบว่า คนทั่วไปไม่ต้องเข้าใจความหมายของคำก็เข้าใจได้ว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ และแม้จำเลยที่ 2 ไม่ได้พูดให้มวลชนร้องตอบคำว่า “ไอ้เหี้ย […]” แต่ก็เป็นที่รู้กันเนื่องจากมวลชนมีการหัวเราะหลังจากร้องรับและมวลชนสามารถร้องต่อได้เลย หากเป็นพยานก็คงร้องต่อไม่ได้ จึงอนุมานได้ว่ามีการซักซ้อมกันมาก่อน

.

เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน สภ.ธัญบุรี จำนวน 4 ราย ได้แก่ ส.ต.ท.อรรถวุฒิ พรสุวรรณ์, ร.ต.อ.ประดิษฐ์ จันทะเพชร์, พ.ต.ท.เดชา แสนหว้า และ ร.ต.อ.ยงยุธ อาจกมล และเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายป้องกันและปราบปราม สภ.ธัญบุรี 1 ราย ได้แก่ พ.ต.ท.ธนกฤต อินภู่ เบิกความในทำนองเดียวกันว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 แม้ในกรณีของจำเลยที่ 2 จะร้องเพียง “1 2 3 4 5” และ “6 7 8 9” โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีพยานหลักฐานว่ามีการตระเตรียมกับผู้ชุมนุมว่าจะต้องร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย […]” ก็ตาม

– ประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

พยานทั้งห้าเบิกความในทำนองเดียวกันว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุเป็นช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 มีผู้ชุมนุมโดยประมาณ 40 คน บางคนไม่ได้สวมใส่หน้ากากอนามัยเข้าร่วมการชุมนุม แต่พื้นที่ทำกิจกรรมบริเวณหน้าศาลมีลักษณะโล่งกว้าง และในการชุมนุมไม่มีการใช้ความรุนแรง เหตุการณ์วุ่นวาย หรือการทำลายทรัพย์สินเกิดขึ้น

ส.ต.ท.อรรถวุฒิ เบิกความว่า โพสต์นัดหมายชุมนุมในเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมไม่ได้ระบุว่าใครเป็นแกนนำ แต่วันนั้นคนที่มาก็คือจำเลยทั้งสอง 

ร.ต.อ.ประดิษฐ์ เบิกความว่า ช่วง 10.30 – 11.00 น. กลุ่มผู้ชุมนุมนำเครื่องเสียงลงมาจากรถตู้สีเทา เอามาตั้งบริเวณหน้าศาล ต่อมา จำเลยที่ 1 ขึ้นกล่าวปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียงเพื่อกดดันศาล จำเลยที่ 2 ขึ้นปราศรัยและร้องเพลงต่อ

พ.ต.ท.ธนกฤต เบิกความว่า ในระหว่างการชุมนุม ผู้กำกับการ สภ.ธัญบุรี มีการประกาศเตือนเรื่อย ๆ ว่าห้ามชุมนุม การชุมนุมเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

– ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112

พยานทั้งห้าเบิกความในทำนองเดียวกันว่า จำเลยที่ 2 มีการขอเช็คเสียงกลุ่มผู้ชุมนุมโดยการร้อง “1 2 3 4 5” และ “6 7 8 9” ส่วนผู้ชุมนุมได้รองรับว่า “ไอ้เหี้ยตู่” และ “ไอ้เหี้ย […]” จำเลยที่ 2 กล่าวลงท้ายด้วยว่า “ผมจะไม่โดน 112 ใช่ไหม” โดยเห็นว่า “ไอ้เหี้ยตู่” หมายถึง พลเอกประยุทธ์ และ “ไอ้เหี้ย […]” หมายถึง รัชกาลที่ 10 ส่วนที่แอมมี่พูดว่า “ผมยังไม่โดน 112” แปลว่า กลัวจะโดนคดีเกี่ยวกับการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ 

อย่างไรก็ตาม พยานทั้งห้ารับว่า ไม่มีพยานหลักฐานว่าจำเลยที่ 2 มีการตระเตรียมกับผู้ชุมนุมมาก่อนว่าจะต้องร้องรับว่า “ไอ้เหี้ย […]” แต่เห็นว่าเป็นการร้องที่สอดรับพร้อมเพรียงกัน ซึ่งน่าจะมีการตระเตรียมกันมาก่อน

ทนายความถาม ร.ต.อ.ยงยุธ ว่า หากจำเลยที่ 2 ร้องเพลงแค่ “1 2 3 4 5” และ “6 7 8 9” ตีความตามกฎหมายไม่ผิดมาตรา 112 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบ ทนายความจึงให้พยานดูคลิปวิดีโอหลักฐานในคดีพร้อมถามว่า จำเลยที่ 2 ร้องแค่ “1 2 3 4 5” กับ “6 7 8 9” ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ ทนายความจึงถามเพิ่มเติมว่า “ไอ้เหี้ยตู่” และ “ไอ้เหี้ย […]” จำเลยที่ 2 ไม่ได้เป็นผู้ร้องใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่เห็นตอนที่จำเลยที่ 2 ร้อง แต่เสียงร้องในคลิปวิดีโอปนกัน จึงไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ร้องหรือไม่

พยานทั้งห้าเบิกความว่า จำเลยที่ 1 เปิดเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” และ “สดุดีจอมราชา” ซึ่งเป็นเพลงเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 และร้องโดยเปลี่ยนแปลงเนื้อเพลง  โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเข่นฆ่ากัน, การไม่เคยทรงงาน และการไปอยู่แดนไกล มีลักษณะใช้คำไม่สุภาพ หมิ่นประมาทรัชกาลที่ 10 ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ 

ทั้งห้ายังเบิกความในทำนองเดียวกันว่า เมื่อฟังเนื้อเพลงที่จำเลยที่ 1 ร้องแล้ว พยานนึกถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเนื้อเพลงที่ว่า “บินไปแดนไกล” หมายถึงการไปเยอรมัน และ “ฟูฟู” คือ หมาทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 10 แต่พยานไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 10 เป็นดังเช่นเนื้อเพลงหรือไม่ 

พยานตำรวจทั้งห้ารับว่า เมื่อฟังเพลงของจำเลยทั้งสองแล้ว ไม่ได้รู้สึกเสื่อมศรัทธาหรือจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์น้อยลง

ส.ต.ท.อรรถวุฒิ เบิกความว่า จำเลยทั้งสองยังเป็นผู้เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 โดยพยานไม่ได้ชื่นชม และไม่ได้เห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวยกเลิกมาตรา 112 หรือปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แต่ไม่เคยเอาเจตจำนงในการไม่เห็นด้วยมาปฏิบัติหน้าที่ในคดีหรือในการตีความถ้อยคำในคดี

ทนายความถาม ร.ต.อ.ประดิษฐ์ ว่า หากที่จำเลยทั้งสองทำเป็นการกระทำความผิดซึ่งหน้า ทำไมไม่ทักท้วงหรือเข้าจับกุมในตอนนั้น พยานตอบว่า คำสั่งของผู้บังคับบัญชาการคือให้บันทึกภาพและเสียงเพื่อดำเนินคดีในภายหลัง พยานจึงมีอำนาจหน้าที่เพียงเท่านั้น

.

พ.ต.อ.วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์ ผู้กำกับการ สภ.ธัญบุรี เบิกความว่า เมื่อวันเกิดเหตุ 14 ม.ค 2564 พยานได้สั่งการให้ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบลงพื้นที่ ซึ่งจากการสืบสวนหาข่าวทราบว่าจะมีการรวมตัวเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา หลังทราบข้อมูลพยานได้รายงานให้กับผู้บังคับบัญชาทราบและเตรียมวางกำลังในพื้นที่

พยานเบิกความว่า กลุ่มผู้ชุมนุมเหล่านี้ปกติก็เรียกร้องเกี่ยวกับการยกเลิกมาตรา 112 โดยพยานได้สั่งการให้ฝ่ายสืบสวนบันทึกภาพและเสียงในการชุมนุม เจ้าหน้าที่ในเครื่องแบบช่วยอำนวยความสะดวกจราจร และในวันเกิดเหตุพยานอยู่ในพื้นที่ชุมนุมตั้งแต่ 07.00 น. เพื่อคอยตรวจตราประตู 1 และประตู 2 ของศาลจังหวัดธัญบุรี 

ส่วนผู้ชุมนุมทยอยกันมาตั้งแต่ 08.30 น. จนกระทั่ง 10.00 น. สามารถนับจำนวนได้ราว 50 คน มีการเตรียมเครื่องขยายเสียงใส่รถตู้เพื่อใช้ในการปราศรัยบริเวณหน้าศาล โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ได้พูดปลุกเร้ามวลชน เป็นแกนนำหลักในการพูดใส่เครื่องขยายเสียง ต่อมาในเวลา 13.00 น. หลังจากศาลมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวสิริชัย ผู้ชุมนุมจึงแยกย้ายกลับ

พยานเป็นผู้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถอดเทปคำพูดจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ออกมาประกอบรายงานการสืบสวน โดยจำเลยที่ 2 ร้องเพลงว่า “1 2 3 4 5 ไอ้เหี้ยตู่” และ “ ไอ้เหี้ย […]” เและพูดว่า “ยังไม่โดน 112” 

พยานเห็นว่า ใคร ๆ ก็ทราบว่า รัชกาลที่ 10 ถูกเรียกว่า “โอ” ที่จำเลยที่ 2 พูดเช่นนี้จึงเข้าใจได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งการที่มีมวลชนมาร้องรับได้ พยานเชื่อว่ามีการนัดหมายกันมาก่อน 

พยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ร้องเพลง “สดุดีจอมราชา” โดยแปลงเนื้อเพลงใหม่ มีคำไม่สุภาพและมีลักษณะหมิ่นประมาท ดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 ส่วนเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” เป็นเพลงของรัชกาลที่ 9 แต่เหตุที่มองว่าเป็นการกล่าวถึงรัชกาลที่ 10 เพราะพระองค์เดินทางไปต่างประเทศบ่อย นอกจากนี้ในเนื้อเพลงยังมีคำว่า “ฟูฟู” ซึ่งเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 10

พยานเบิกความเพิ่มเติมว่า ที่พยานทราบว่า รัชกาลที่ 10 เดินทางไปต่างประเทศ เพราะพยานประชุมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติทุกวันจันทร์ ซึ่งจะมีการรายงานว่า แต่ละพระองค์เสด็จไปไหน

จากการกระทำของจำเลยทั้งสองคน พยานได้ทำรายงานส่งให้กับผู้บังคับบัญชาเพื่อตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ ในคดีนี้ เนื่องจากเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง ซึ่งต้องให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณา

ตอบทนายจำเลยถามค้าน 

– ประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

พยานเบิกความตอบว่า ในวันเกิดเหตุมีผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน มีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 20 คน ทำหน้าที่สืบสวนหาข่าวโดยปะปนกับกลุ่มผู้ชุมนุมอยู่ด้านนอกศาล ในวันดังกล่าวแดดร้อน แต่ก็มีลมพอสมควร อากาศถ่ายเท

พยานไม่ทราบว่า จำเลยทั้งสองเป็นสมาชิกแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมหรือไม่

ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112

พยานตอบทนายจำเลยว่า เคยให้การไว้แล้วในชั้นสอบสวน เกี่ยวกับความหมายของเนื้อเพลงที่จำเลยที่ 1 ร้องว่า พยานนึกถึงรัชกาลที่ 10 ทั้งนี้ พยานไม่ทราบว่า เนื้อเพลงจะสามารถสื่อถึงคนอื่นได้อีกหรือไม่ 

พยานร่วมประชุมทุกวันจันทร์กับศูนย์ปฏิบัติการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทราบโดยตลอดว่า แต่ละพระองค์มีภารกิจที่ไหน ช่วงปี 2563 – 2565 พยานก็เข้าร่วมประชุมเสมอและทราบว่ารัชกาลที่ 10 เสด็จไปประทับที่เยอรมนี แต่ไม่ทราบว่า ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการเสด็จเป็นเงินภาษีหรือไม่ ทรงประทับอยู่ที่เยอรมนีมากกว่าประเทศไทยหรือไม่ พระองค์ทรงงานอะไรที่เยอรมนี และการออกพระบรมราชโองการที่เยอรมนีเป็นไปตามรัฐธรรมนูญหรือไม่

นอกจากนี้ พยานไม่ทราบว่า ประชาชนสามารถวิจารณ์เรื่องการเดินทางของพระมหากษัตริย์ได้หรือไม่ เนื่องจากเป็นเรื่องส่วนพระองค์ แต่ตัวพยานเองไม่วิพากษ์วิจารณ์ 

พยานไม่ทราบด้วยว่า เนื้อหาเพลงที่จำเลยที่ 1 ร้อง ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาจากเพลงเดิมไปแล้ว เป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่พยานเห็นว่า เข้าข่ายดูหมิ่นกษัตริย์ ทนายความจึงถามต่อว่า การแปลงเพลงโดยเอาทำนองมาเป็นความผิดโดยตัวเองหรือไม่หากเนื้อหาเป็นความจริง พยานตอบว่า ไม่ทราบ แต่ศาลกล่าวว่า คดีหมิ่นประมาทแม้เป็นเรื่องจริงก็ผิด 

ทนายความถามว่า จากการสืบสวน พยานทราบหรือไม่ว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้รณรงค์ให้ยกเลิกมาตรา 112 และรณรงค์ให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ พยานตอบว่า ทราบว่าทั้งจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นสิ่งไม่ควรทำและพยานไม่เห็นด้วย แต่การไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอไม่เกี่ยวกับการมีความเห็นในคดี 

พยานเบิกความตอบทนายจำเลยอีกว่า ในคลิปวิดีโอที่จำเลยที่ 2 ร้องเพลง พยานได้ยินเสียงว่า “ไอ้เหี้ยตู่” และ “ไอ้เหี้ย […]” แต่พยานไม่ทราบว่า เพลง “1 2 3 4 5 I Love You” เป็นเพลงของจำเลยที่ 2 และไม่ทราบว่า เพลงนี้ถูกนำมาร้องล้อเลียนรัฐบาลก่อนหน้านี้มาระยะหนึ่งแล้ว ทำให้คนฟังอาจทราบอยู่แล้วว่า ต้องร้องอย่างไร ทั้งนี้ พยานเชื่อว่า มีการนัดหมาย ซักซ้อมกันว่าจะร้องเพลงเช่นนั้น แต่พยานไม่มีหลักฐานแต่อย่างใด

ตอบพนักงานอัยการถามติง

อัยการให้พยานดูรูปแล้วถามว่า กลุ่มผู้ชุมนุมที่ยืนอยู่ติดกันในภาพมีลูกน้องของพยานหรือไม่ พยานตอบว่า ไม่มี 

ที่พยานเชื่อว่า มีการเตรียมการกันมาก่อนการร้องเพลงของจำเลยที่ 2 เพราะผู้ชุมนุมมีการร้องสอดรับกัน แม้จำเลยที่ 2 จะไม่ได้อยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม แต่ก็มีการพูดปราศรัย และเชิญชวนมวลชนกับจำเลยที่ 1 โดยตลอด และที่พยานเข้าใจว่าเพลง “สดุดีจอมราชา” ที่แปลงเนื้อเพลง สื่อถึงรัชกาลที่ 10 ก็เพราะเป็นเพลงที่ใช้ในการถวายพระพรรัชกาลที่ 10 

.

ชัยณรงค์ สาระไอ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ศาลจังหวัดธัญบุรี เบิกความว่า ในวันที่ 14 ม.ค. 2564 ตนประจำอยู่ที่ประตูทางออกถนนนครนายกตั้งแต่ 07.00 – 19.00 น. โดยในตอนนั้นทำงานมาประมาณ 1 ปี นอกจากพยานก็มี รปภ. คนอื่นประจำอยู่ด้วย 

พยานเบิกความว่า หัวหน้า รปภ. เรียกประชุมเพื่อแจ้งว่า จะมีการชุมนุม พยานได้รับมอบหมายให้ปิดประตูทางเข้าศาล และตรวจสอบเอกสารของผู้ที่จะมาติดต่อราชการ โดยบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ และเจ้าหน้าที่ศาลอยู่ด้วย ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจมีการตั้งกล้องวงจรปิดเพื่อดูเหตุการณ์บริเวณนอกรั้วศาลด้วย 

ต่อมา ประมาณ 09.00 น. มวลชนเริ่มทยอยมาศาลมากกว่า 10 คน และค่อย ๆ ทยอยมาเรื่อย ๆ จน 11.00 น. มีผู้ชุมนุมอยู่หน้าศาลประมาณ 30 คน นั่งอยู่หน้าประตูทางเข้า มีการเปิดใช้เครื่องขยายเสียงเพื่อพูดและร้องเพลง 

พยานเบิกความต่อไปว่า มวลชนนั่งปิดทางเข้าออกประตูศาล รถไม่สามารถเข้าออกได้ บางคนสวมหน้ากาก อนามัยแต่บางคนไม่สวม มีการพูดว่า “คนในไม่ต้องออก คนนอกไม่ต้องเข้า” การชุมนุมเลิกตอน 13.00 น. แต่พยานไม่ทราบว่าทำไมผู้ชุมนุมจึงยุติการชุมนุม 

พยานเบิกความว่า พยานจำเนื้อหาเพลงที่จำเลยทั้งสองคนร้องไม่ได้ แต่คล้ายจะร้องเพลงสรรเสริญ อัยการจึงให้พยานอ่านบันทึกถอดเทป พยานจึงตอบว่า พยานได้ยินเพลง “1 2 3 4 5 I Love You” โดย “ไอ้เหี้ยตู่” คือ นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วน “ไอ้เหี้ย […]” หมายถึง รัชกาลที่ 10 

พยานเห็นว่า การที่แกนนำนำร้องเพลง แล้วมวลชนร้องเพลงรับได้ น่าจะเกิดจากการรวมกลุ่มและนัดแนะกันมาก่อนว่าต้องร้องอย่างไร 

อัยการให้พยานอ่านบันทึกถอดเทปที่จำเลยที่ 1 ร้องเพลง “สดุดีจอมราชา” ทนายความจึงโต้แย้งว่า อัยการต้องถามก่อนว่า วันเกิดเหตุพยานได้ยินเพลงนี้หรือไม่ ไม่ใช่เอาเนื้อเพลงให้พยานอ่าน พยานจึงเบิกความว่า ได้ฟังเนื้อเพลงในตอนนั้น เห็นว่า มีลักษณะลบหลู่รัชกาลที่ 10 และมีการเติมแต่งเนื้อเพลง โดยพยานได้ยินคำว่า “ควาย”, “อัปรีย์” และ “เหี้ย”

อัยการให้ดูบันทึกถอดเทปเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” พยานตอบว่า ไม่ได้ยินเพลงนี้ ศาลจึงกล่าวกับอัยการว่า เมื่อพยานไม่ได้ยินก็ไม่ต้องถามในส่วนของเพลงนี้

ตอบทนายจำเลยถามค้าน 

– ประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

พยานรับว่า ที่พยานเบิกความว่า มวลชนชุมนุมขวางประตูศาลนั้น ความจริงแล้วศาลให้ปิดประตูอยู่ก่อนแล้ว ส่วนที่พยานเบิกความว่า ผู้ชุมนุมพูดว่า “คนในไม่ให้ออก คนนอกไม่ให้เข้า” พยานไม่ได้ให้การไว้ในชั้นสอบสวน 

พยานรับอีกว่า พื้นที่บริเวณหน้าศาลเป็นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก วันเกิดเหตุช่วงที่มีการชุมนุมเป็นช่วงที่อากาศร้อน ซึ่งพยานเองก็อาจจะถอดหน้ากากในบางช่วงเพื่อให้หายใจสะดวกมากขึ้น ผู้ชุมนุมก็อาจจะทำเช่นเดียวกันได้ ส่วนที่ว่ามีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบปะปนอยู่กับผู้ชุมนุมราว 30 คนหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ

ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112

ทนายจำเลยถามว่า เมื่อฟังเนื้อเพลงที่จำเลยที่ 1 ร้องพยานนึกถึงใคร พยานตอบว่า รัชกาลที่ 10 แต่จะเป็นคนอื่นนอกจากรัชกาลที่ 10 ได้หรือไม่นั้น พยานไม่มั่นใจ และไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 10 จะเป็นตามเนื้อร้องที่จำเลยร้องหรือไม่

พยานเบิกความรับว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงที่ปรากฏในเนื้อเพลง เป็นแนวคิดของรัชกาลที่ 9 รวมทั้งการตายของประชาชนจากการล้อมปราบของรัฐในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519, พฤษภาทมิฬ 2535 และเมษา-พฤษภา 2553 ล้วนเกิดขึ้นในช่วงรัชกาลที่ 9 

พยานไม่เคยฟังเพลง “1 2 3 4 5 I Love You” มาก่อน ได้ฟังครั้งแรกในวันเกิดเหตุ โดยได้ยินว่า จำเลยที่ 2 ร้องทั้งเพลง (รวมถึง “ไอ้เหี้ย […]”) แต่พยานไม่แน่ใจว่า จำเลยที่ 2 ร้องเพลงเสร็จแล้วกลับไปเลยหรือไม่ ส่วนชื่อ “ตู่” กับ “โอ” เป็นชื่อทั่วไป และที่พยานเบิกความว่า ผู้ชุมนุมอาจจะนัดแนะกันมาร้องเพลงนั้น เป็นความคิดเห็นของพยานเอง ในวันนั้นพยานไม่ได้ยินว่า มีการพูดคุยนัดแนะกัน

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความตอบว่า ในขณะเกิดเหตุ พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนพูดใส่ไมโครโฟนว่าอะไรบ้าง พนักงานอัยการถามพยานซ้ำว่า “ตู่” กับ “โอ” หมายถึงใคร พยานยืนยันว่าหมายถึงนายกรัฐมนตรีและพระมหากษัตริย์

.

เจษฎ์ โทณะวณิก อาจารย์คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเซีย จังหวัดขอนแก่น เบิกความว่า พยานจบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จบปริญญาโทและปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และจบเนติบัญฑิตไทย สมัยที่ 59 ปี 2549 นอกจากนี้ยังเคยเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับตีตก), ที่ปรึกษาคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับปี 2560 )

พยานเบิกความว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้นำบันทึกการถอดเทปมาถามความเห็นของพยาน จึงจำวันเดือนปีที่เกิดเหตุไม่ได้เลย เนื่องจากมีตำรวจให้ทำความเห็นในคดีให้ค่อนข้างเยอะ แต่ทราบว่า เป็นการชุมนุมหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี 

พยานเบิกความอีกว่า รัฐธรรมนูญทั่วโลกรับรองสิทธิในการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากอาวุธ ไม่ล่วงละเมิดกฎหมาย ไม่ปิดสถานที่ราชการ คำว่า ปราศจากอาวุธ หมายความว่า ไม่มีทั้งอาวุธจริง และอาวุธโดยสภาพ สิทธิในการชุมนุมมีข้อยกเว้น คือ ไม่รวมถึงการกระทำที่ล่วงละเมิดกฎหมาย เช่น การกระทำที่กระทบความมั่นคงของชาติ หรือมีการดูหมิ่น หมิ่นประมาท

พยานเห็นว่า ช่วงเวลาเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจากโควิด-19 ทางการจึงไม่อยากให้มีการชุมนุม เนื่องจากจะก่อให้เกิดการแพร่เชื้อ ซึ่งช่วงดังกล่าวเป็นสถานการณ์พิเศษ ไม่เกี่ยวกับว่าการชุมนุมจะสงบหรือไม่ และในการชุมนุมหากมีการปิดถนนจริง จะขัดต่อ พ.ร.บ.จราจรฯ

พยานเบิกความต่อว่า ในวันเกิดเหตุมีการร้องเพลงว่า “ไอ้เหี้ยตู่” และ “ไอ้เหี้ย […]” ซึ่งเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท โดยคำว่า “โอ” เป็นที่ทราบกันดีว่า มาจากพระอิสริยยศของรัชกาลที่ 10 ขณะเป็นพระบรมโอรสาธิราชฯ เมื่อบวกกับคำว่า “เหี้ย” จะมีลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท องค์พระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 โดยพยานเห็นว่า เมื่อพูดคำว่า “โอ” ประชาชนทั่วไปย่อมทราบว่าหมายถึงใคร ยิ่งในที่รโหฐาน หากพูดคำว่า “เสี่ยโอ” ประชาชนทั่วไปย่อมทราบว่าหมายถึงใคร

พยานเล่าว่า เพลง “สดุดีจอมราชา” เดิมแต่งให้รัชกาลที่ 9 ต่อมาปรับเนื้อร้องให้เป็นรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเดิมเป็นเพลงชื่อ “สดุดีมหาราชา” ซึ่งอาจจะเรียกว่าคนละเพลงก็ได้ แต่ว่ารัชกาลที่ 10 มีปฐมบรมราชโองการว่าต้องการต่อยอดสิ่งที่พระบิดาทรงทำไว้ เนื้อเพลงจึงมีการยืมคำสำคัญบางคำมา

สำหรับเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” เป็นเพลงที่แต่งให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่มีการแปลงเนื้อเพลงเพื่อเสียดสีรัชกาลที่ 10 เนื่องจากรัชกาลที่ 9 เสด็จประพาสต่างประเทศน้อยมาก ประกอบกับการพูดถึง “ฟูฟู” ซึ่งทราบกันว่าเป็นสุนัขทรงเลี้ยงของรัชกาลที่ 10 และการกล่าวถึงเรื่องการบินไปต่างประเทศ การไม่ทรงงาน เป็นการกล่าวเสียดสีรัชกาลที่ 10 โดยรวมจึงเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท ด้อยค่ารัชกาลที่ 10

ตอบทนายจำเลยถามค้าน 

– ประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

ทนายความถามว่า ความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ระบุว่า ห้ามชุมนุมในพื้นที่แออัดหรือเสี่ยงต่อโรค ไม่ได้ห้ามชุมนุมโดยเด็ดขาดใช่หรือไม่ พยานตอบว่าไม่ใช่ คือ ห้ามรวมกลุ่ม ห้ามทุกกรณี 

พยานรับว่า ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินและข้อกำหนดดังกล่าวถูกยกเลิกไปแล้ว เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2565 และมีการปรับโรคโควิด-19 จากโรคร้ายแรงเป็นโรคประจำถิ่น

การชุมนุมโดยสงบในความหมายของพยาน คือ ต้องไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญ กระทบสิทธิของผู้อื่นให้น้อยที่สุด และอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ส่วน “Civil Disobidient” หรือ “การดื้อแพ่ง” แปลว่า เมื่อผู้ปกครองใช้อำนาจมิชอบ และผู้ใต้ปกครองหรือประชาชนจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้ปกครองที่เขาเห็นว่าไม่ถูกต้อง แต่มิใช่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย 

ทนายความให้พยานดูประกาศฯ ฉบับวันที่ 8 ม.ค. 2564 แล้วถามว่า ประกาศดังกล่าวห้ามชุมนุมในที่แออัดหรือเสี่ยงต่อการแพร่โรค ไม่ได้ห้ามการรวมตัวที่ไม่แออัดใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่ 

พยานรับว่า ประเทศไทยมีการลงนามในกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและต้องปฏิบัติตาม โดยทนายความขยายความว่า สหประชาชาติ (UN) แนะนำหลักการไว้ว่า การห้ามชุมนุมต้องได้สัดส่วน

ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112

ทนายความถามว่า หลักการตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้  ผู้ใดจะฟ้องร้องกล่าวหามิได้ คำว่า “เป็นที่เคารพสักการะ” หมายถึง ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ด้วยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ใช่ และอธิบายว่ารัชกาลที่ 9 เคยมีพระราชดำรัสในปี 2548 แยกเป็น 2 ส่วน ในเรื่องการเมืองการปกครอง ต้องวิพากษ์วิจารณ์นายกรัฐมนตรี เพราะหลัก “The King Can Do No Wrong” แต่ “The King Can Do Wrong” ได้ในฐานะบุคคลคนหนึ่ง ดังนั้นจึงต้องวิจารณ์ด้วยความระมัดระวัง

พยานเบิกความว่า หลักการในรัฐธรรมนูญที่บอกว่า “ปกเกล้าแต่ไม่ปกครอง” หมายความว่า ระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขนั้น พระมหากษัตริย์จะใช้อำนาจแทนประชาชนบางส่วนแต่ไม่ทั้งหมด เนื่องจากทั้ง 3 อำนาจ (นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ) กระทำผ่านพระปรมาภิไธย พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะ แต่จะไม่บริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งทั้งสองหลักการไม่ได้เขียนไว้โดยตรงในรัฐธรรมนูญ แต่เป็นหลักที่ปฏิบัติมาโดยตลอด

ทนายความถามว่า ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2560 เคยมีการระบุว่า หากพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในประเทศจะต้องแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทน โดยในสมัยรัชกาลที่ 9 เคยมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนตอนที่พระมหากษัตริย์ไม่อยู่ประเทศไทย ซึ่งพระบรมราชชนนีและพระราชินีก็เคยถูกแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการแทน ใช่หรือไม่ พยานอธิบายว่า หลักการนี้บัญญัติไว้เพื่อมิให้แผ่นดินว่างเว้นจากการมีพระมหากษัตริย์ 

พยานรับว่า เป็นความจริงที่มีการแก้รัฐธรรมนูญมาตรานี้หลังจากผ่านประชามติของประชาชน แต่พระมหากษัตริย์ไม่ใช่ผู้สั่งให้แก้ โดยในความเป็นจริง พระองค์ใช้พระราชอำนาจในการแนะนำว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป พระราชภาระอาจจะยังกระทำต่อไปได้ แม้ว่าประชวร ผนวช หรือประทับต่างประเทศ ขณะนั้นนายกรัฐมนตรีได้ใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น พระองค์จึงไม่ได้สั่งให้แก้ไข แต่ทรงแนะนำว่า ลองไปคิดกันดูว่าจะปรับเปลี่ยนตามยุคสมัยหรือไม่ 

พยานเบิกความรับว่า ในช่วงการขึ้นครองราชย์มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการเสด็จประทับเยอรมนีหลายครั้ง เป็นช่วงเวลาสั้น-ยาวแตกต่างกัน และมีพระราชินีและทหารติดตามไปด้วย แต่พยานไม่ทราบว่า การเสด็จเช่นนี้เป็นไปตามหมายกำหนดการหรือเสด็จไปส่วนพระองค์ และไม่ทราบว่า งบประมาณที่ใช้เสด็จไปจะเป็นงบประมาณแผ่นดินหรืองบส่วนพระองค์

พยานเห็นว่า การวิจารณ์เรื่องการเสด็จประพาสเยอรมนี และตั้งคำถามเรื่องการใช้ภาษี ประชาชนสามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ไม่เป็นการด่าทอ เสียดสี จาบจ้วง ล่วงเกิน

ทนายความถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยังมีการแก้ไขหลังผ่านประชามติไปแล้ว โดยตั้งหน่วยงานในพระองค์ขึ้นมา ซึ่งต่างไปจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ใช่หรือไม่ พยานตอบโดยอธิบายว่า การให้อำนาจยกร่างรัฐธรรมนูญ ทำในช่วงรัชกาลที่ 9 แต่มีการผ่านในช่วงรัชกาลที่ 10 ทำให้รัชกาลที่ 10 ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัย ซึ่งประชาชนมักคิดว่าเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้อีก แต่ความจริงรัฐธรรมนูญยังไม่มีผลบังคับใช้ จึงยังแก้ไขได้ 

พยานรับว่า ขณะรัชกาลที่ 10 แนะนำให้แก้รัฐธรรมนูญ พยานไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ดังกล่าว

ทนายความถามต่อไปว่า จากการแก้รัฐธรรมนูญดังกล่าว ทำให้มีการโอนหน่วยทหารราบ 1 กับราบ 11 ไปเป็นหน่วยงานส่วนพระองค์ โดยกฎหมายให้พระองค์บริหารได้ตามอัธยาศัยในปี 2561 ใช่หรือไม่ พยานขยายความว่า กฎหมายฉบับนี้ผ่านรัฐสภาแล้ว

ทนายความถามว่า การเสด็จประทับเยอรมนีจะส่งผลกระทบต่อการลงพระปรมาภิไธย และการถวายสัตย์ของรัฐบาลหรือไม่ พยานบอกว่าไม่กระทบ โดยการผ่านงบประมาณปี 2564 ซึ่งอนุมัติล่าช้าเป็นปัญหาของรัฐบาลที่ทำให้งบประมาณคลาดเคลื่อน ไม่เกี่ยวกับพระองค์ท่าน โดยที่ว่ากฎหมายมีการลงพระปรมาภิไธยล่าช้าเป็นเรื่องไม่จริง

พยานรับว่า ในรัฐสภาของเยอรมนีมีการอภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยหากมีการใช้อำนาจอธิปไตยในดินแดนเยอรมนีจริง เนื่องจากมีผู้ชุมนุมไปร้องเรียนต่อสถานทูตเยอรมนีในประเทศไทย และทูตของเยอรมนีนำเรื่องนี้เข้าไปสู่สภา พยานขยายความอีกว่า แต่มีการตรวจสอบแล้ว ไม่มีการใช้พระราชอำนาจในประเทศเยอรมนี ทนายถามว่ายืนยันหรือไม่ พยานยืนยัน

พยานเบิกความตอบทนายจำเลยว่า มาเป็นพยานในคดีมาตรา 112 ประมาณ 30 คดี โดยส่วนใหญ่เป็นการอธิบายหลักกฎหมายในมุมมองของพยาน ทั้งนี้ การตีความในคดีอาญา เน้นการตีความโดยเคร่งครัด คดีหมิ่นประมาทก็เช่นกัน โดยจากบันทึกการถอดเทปเนื้อเพลง “1 2 3 4 5” และ “6 7 8 9”  ไม่ผิดมาตรา 112 แต่ที่มาของการขานรับของผู้ชุมนุมจะมีการนัดแนะหรือไม่นั้น พยานไม่ทราบ

ตอบพนักงานอัยการถามติง

พยานเบิกความตอบว่า นอกจากประกาศฯ ฉบับวันที่ 8 ม.ค. 2564 มีฉบับอื่น ๆ ด้วย และ “ความแออัด” หมายถึง ลักษณะการรวมตัว ไม่ใช่ลักษณะพื้นที่ เช่น หากคนไม่กี่คนในห้องพิจารณา เข้ามารวมตัวในคอกพยาน ก็ถือว่าแออัด

พนักงานอัยการถามว่า พยานเห็นว่าการวิจารณ์แบบใดสามารถทำได้ พยานตอบว่า เป็นการพูดที่ผ่านการทบทวน ศึกษาข้อมูล เปรียบเทียบ มิใช่การด่าทอ หยาบคาย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท การกล่าวหาก็เช่นกัน ต้องมีการนำเสนอข้อเท็จจริงประกอบด้วย

.

ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เบิกความว่า พยานจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสาขาการเมืองการปกครอง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ระดับปริญญาโทด้านรัฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน, ระดับปริญญาเอก สาขาปรัชญาการเมือง จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน

พยานเบิกความว่า เกี่ยวกับคดีนี้ พนักงานสอบสวนได้ให้พยานดูวิดีโอและบันทึกการถอดเทป กรณีชุมนุมหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี แล้วถามความเห็นของพยาน

พยานเห็นว่า จากกรณีที่มีการเปิดเพลง “สดุดีจอมราชา” และมีการร้องเพลงดังกล่าวโดยมีการแปลงเนื้อเพลงนั้น มีถ้อยคำที่หมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ มีคำด่าที่หยาบคาย มีคำที่ใช้เรียกคนที่เลวร้าย ซึ่งหากมีการใช้เรียกคนธรรมดาก็เป็นการหมิ่นประมาทเหมือนกัน นอกจากนี้ยังมีข้อความ “มันยากหรือไงใต้รัฐธรรมนูญ” หมายความว่า ผู้ที่ร้องเพลงนี้กำลังสื่อสารว่า พระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นการกล่าวหาที่รุนแรงอย่างยิ่งต่อองค์พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

พยานเบิกความว่า เพลง “สดุดีมหาราชา” เป็นเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 10 ซึ่งเมื่อมีคนเปิดเพลงนี้ ก็ย่อมหมายถึง รัชกาลที่ 10 นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเพลง “ในหลวงของแผ่นดิน” ซึ่งมีข้อความกล่าวหาว่า พระองค์ไม่ทำหน้าที่ประมุขตามรัฐธรรมนูญ และตามประเพณีการปกครองของระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

พยานเบิกความว่า ตามเนื้อเพลง ข้อความ “ชอบบินไปแดนไกล” และ “มีหมาชื่อฟูฟู” ทำให้คนที่ได้ฟังเพลงดังกล่าวนึกถึงรัชกาลที่ 10 

สำหรับคลิปที่มีจำเลยที่ 2 ร้องเพลง “1 2 3 4 5 ไอ้เหี้ยตู่” และ “6 7 8 9 ไอ้เหี้ย […]” พร้อมคำว่า “อันนี้ผมยังไม่โดน 112 นะ คุณจะมาดันให้ผมโดนเลยเหรอ” พยานเห็นว่า “ไอ้เหี้ย […]” ย่อมทำให้คิดถึงรัชกาลที่ 10 เพราะปกติคนไทยเคยเข้าใจว่าก่อนหน้าที่จะขึ้นครองราชย์ ท่านเคยดำรงตำแหน่งพระบรมโอรสาธิราชฯ  ซึ่ง “โอ” เป็นคำส่วนใหญ่ที่คนไทยเรียก และเข้าใจโดยทั่วไปว่าหมายถึงใคร นอกจากนี้ มาตรา 112 ยังเกี่ยวข้องกับองค์พระมหากษัตริย์ไทย ดังนั้น ย่อมทำให้คนเข้าใจได้ว่าหมายถึงรัชกาลที่ 10

พนักงานอัยการถามพยานว่า เราสามารถแสดงความคิดเห็นต่อองค์พระมหากษัตริย์ได้อย่างไร พยานเห็นว่า สามารถวิพากษ์วิจารณ์ระบอบการปกครอง รวมถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ ถ้ามีเหตุผล มีหลักฐาน และเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจ โดยไม่ใช้คำพูดหยาบคาย ไม่ใช่การกล่าวหา ใส่ร้าย

พยานตอบว่า “ไอ้เหี้ยตู่” และ “ไอ้เหี้ย […]” เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้าย และทำให้เป็นที่รังเกียจ

ตอบทนายจำเลยถามค้านในประเด็นตามมาตรา 112

ทนายความถามว่า ตอนที่พยานฟังในคลิป “ไอ้เหี้ย […]” จำเลยที่ 2 เป็นคนร้องใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ไม่ทราบว่าเป็นเสียงใครในคลิป ทนายความจึงถามต่อว่า หลังจากคำว่า “ไอ้เหี้ย […]” ตัวจำเลยก็หยุดร้องใช่หรือไม่ พยานตอบว่า จำไม่ได้

ทนายความถามว่า ส่วนจำเลยที่ 1 แปลงเนื้อเพลง คำว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” พยานนึกถึงใคร พยานตอบว่า นึกถึงรัชกาลที่ 9 ส่วนคำว่า “โครงการเป็นพัน ๆ” พยานนึกถึงทั้งสองพระองค์ 

ทนายความถามว่า การวิพากษ์วิจารณ์ว่าท่านเดินทางไปต่างประเทศ และใช้ภาษีประชาชน สามารถทำได้หรือไม่ พยานตอบว่ากรณีเดินทางไปต่างประเทศ สามารถพูดได้ ถ้าเป็นข้อเท็จจริง ส่วนการใช้ภาษีประชาชนหรือไม่นั้น ต้องอาศัยการพิสูจน์

พยานรับว่า ข้อเท็จจริงเรื่องการเดินทางไปเยอรมนี เท่าที่ได้ยินได้ฟังจากแหล่งข่าวต่าง ๆ ก็ได้ทราบว่าเป็นความจริง

ทนายความถามว่า เหตุการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516, เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519, เหตุการณ์พฤษภาทมิฬ หรือเหตุการณ์การสลายการชุมนุมทั้งเสื้อเหลือง-เสื้อแดง ก็เกิดในรัชสมัยรัชกาลที่ 9 ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

.

พ.ต.ท.ภุมเรศ อินทร์คง สารวัตร (สอบสวน) สภ.ธัญบุรี และพนักงานสอบสวนในคดีนี้ เบิกความว่า คดีนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 13 ม.ค. 2564 สภ.คลองหลวง ได้ทำการจับกุมตัวสิริชัย นาถึง นักศึกษาและสมาชิกกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ในความผิดตามมาตรา 112 โดยนำตัวมาที่ สภ.คลองหลวง และจะนำไปฝากขังที่ศาลจังหวัดธัญบุรีต่อไปในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจากการตรวจสอบเพจแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมพบว่า มีการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนมารวมตัวกันเพื่อกดดันให้ปล่อยตัวสิริชัย 

ต่อมาในช่วงเช้าของวันที่ 14 ม.ค. 2564 พยานได้รับคำสั่งจาก พ.ต.อ.วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์ ให้นำกำลังมารักษาความปลอดภัยที่บริเวณศาลจังหวัดธัญบุรี โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทำการบันทึกภาพไว้ว่า จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับพวก ได้มารวมตัวกันบริเวณหน้าศาลจังหวัดธัญบุรี โดยมีรถตู้และเครื่องเสียง พร้อมทั้งมีการด่าทอตำรวจและกดดันเจ้าหน้าที่ให้ปล่อยตัวสิริชัย หากไม่ปล่อยจะยกระดับโดยการปิดถนน

พยานเล่าว่า ระหว่างนั้น จำเลยที่ 2 ได้พูดว่า “ขอซาวด์เช็คกันหน่อยครับ” พร้อมกับร้องเพลง “1 2 3 4 5 ไอ้เหี้ยตู่” และ “6 7 8 9 ไอ้เหี้ย […]” จากนั้นจำเลยที่ 2 ได้พูดต่อไปว่า “อันนี้ผมยังไม่โดน 112 นะ คุณจะมาดันให้ผมโดนเลยเหรอ ใส่พานมาเลย”

นอกจากนี้ จำเลยที่ 1 ได้พูดต่อโดยการแปลงเพลง “สดุดีจอมราชา” “ต้นไม้ของพ่อ” และ “ในหลวงของแผ่นดิน” ซึ่งมีลักษณะดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 เป็นการแสดงถึงการจาบจ้วง ล่วงเกิน ใส่ร้าย ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท ทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

โดยในช่วงดังกล่าวมีการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่ให้มีการชุมนุมที่เสี่ยงเกิดโรคติดต่อโควิด-19 และมีคำสั่งจังหวัดปทุมธานีที่ 9/2564 ลงวันที่ 4 ม.ค. 2564 ห้ามไม่ให้มีการชุมนุม ต่อมามีการแจ้งความร้องทุกข์ไว้เป็นคดี

พยานเบิกความว่า ได้บันทึกปากคำ พ.ต.อ.วิวัฒน์ อัศวะวิบูลย์ ผู้กำกับการ สภ.ธัญบุรี และมีการสอบปากคำเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลธัญบุรี เกี่ยวกับการขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง ซึ่งเจ้าหน้าที่ให้ปากคำว่า จำเลยไม่ได้ขออนุญาต

เมื่อมีการแจ้งความ พยานได้รายงานการกระทำความผิดมาตรา 112 เสนอต่อผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ซึ่งเป็นการดำเนินการรายงานตามระเบียบของตำรวจ ต่อมา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานีก็มีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ ซึ่งพยานเป็นหนึ่งในคณะกรรมการด้วย ภายหลังคณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ มีมติให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 และเสนอให้มีการรวบรวมหลักฐาน

พยานเบิกความต่อไปว่า ต่อมามีการสอบสวนพยานเพิ่มเติมอีกหลายปาก ได้แก่ เจษฎ์ โทณะวณิก, ไชยันต์ ไชยพร ฯลฯ และมีการเก็บรวบรวมภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจำนวน 6 แผ่น ซึ่งได้มีการส่งไปตรวจพิสูจน์ที่กองพิสูจน์หลักฐาน ปรากฏว่าไม่พบการตัดต่อ ตามรายงานการตรวจพิสูจน์

เมื่อมีการรวบรวมพยานหลักฐานเสร็จสิ้น คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ ก็ได้มีการประชุมกันครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2564 ที่ สภ.ธัญบุรี และมีมติเห็นควรสั่งฟ้องจำเลยทั้ง 2 คนตามข้อกล่าวหาที่แจ้ง และเสนอให้ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ทราบ

ต่อมา ผู้บังคับตำรวจภูธรภาค 1 มีคำสั่งเห็นควรให้สั่งฟ้องจำเลยทั้งสองเช่นกัน ก่อนส่งให้พนักงานอัยการในเวลาต่อมา ซึ่งพนักงานอัยการมีคำสั่งให้แจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมว่า เป็นความผิดฐาน ‘ร่วมกัน’ กระทำความผิดตามมาตรา 112 กล่าวคือ เดิมทีไม่ได้แจ้งข้อหาว่า ร่วมกัน แต่มาแจ้งทีหลังโดยของจำเลยที่ 1 แจ้งเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. 2564 และของจำเลยที่ 2 แจ้งเมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2564

ตอบทนายจำเลยถามค้าน 

– ประเด็นเกี่ยวกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ

ทนายความถามว่า องค์ประกอบความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ออกมาเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ได้ถูกยกเลิกไปแล้วท่านทราบหรือไม่ เช่น การชุมนุมที่เป็นไปด้วยความแออัด พยานไม่ตอบ แต่รับว่าสถานที่เกิดเหตุเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง อากาศถ่ายเทสะดวก

ทนายความถามว่า การขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงนั้น คนที่ขอต้องเป็นผู้จัดการชุมนุมใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ผู้ที่ชุมนุมต้องไปขอ ทนายความจึงถามต่อว่า กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมเป็นผู้จัดการชุมนุมใช่หรือไม่ พยานไม่ตอบ แต่รับว่า ไม่ทราบว่าจำเลยทั้ง 2 คน ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มดังกล่าว

ประเด็นเกี่ยวกับมาตรา 112

ทนายความถามว่า เหตุผลที่จำเลยทั้ง 2 คน มาปราศรัยก็เพื่อให้ปล่อยตัวสิริชัยที่ถูกจับกุมตัวไปใช่หรือไม่ พยานไม่ตอบ 

ทนายความถามว่า พยานเป็นคนกำหนดตัวพยานที่จะมาให้ความเห็นในคดีนี้ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนฯ เป็นผู้กำหนด พยานไม่ทราบว่า ต้องเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติจึงจะมีอำนาจในการสั่งฟ้องคดีที่มีความผิดตามมาตรา 112

ทนายความถามว่า หลังจากที่จำเลยที่ 2 ร้องเพลงเสร็จ ก็หยุดร้องเลยใช่หรือไม่ พยานตอบว่า เท่าที่เห็น เป็นการร้องรอบเดียว

ตอบพนักงานอัยการถามติง

อัยการถามว่า ตามรายงานการสืบสวน พฤติการณ์ของจำเลยทั้ง 2 คน เป็นการร่วมกันกระทำ ทั้งในส่วนการร้องเพลงและโต้ตอบ ใช่หรือไม่ พยานตอบว่า ใช่

.

ทั้งนี้ จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้เป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 คดีแรกของพรหมศรและไชยอมรที่จะมีคำพิพากษา โดยพรหมศรมีคดีตามมาตรา 112 รวมทั้งสิ้น 5 คดี ได้แก่ คดีนี้, คดีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา63 หน้ากรมทหารราบที่ 11, คดีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่, คดีปาอาหารหมาและปราศรัยในระหว่างติดตามการจับกุม “นิว สิริชัย” จากหมายจับคดี ม.112 ที่หน้า สภ.คลองหลวง และ คดีปราศรัยในชุมนุม #ราษฎรประสงค์ยกเลิก112 ที่สี่แยกราชประสงค์ ในขณะที่ไชยอมรมีคดีตามมาตรา 112 รวมทั้งสิ้น 2 คดี ได้แก่ คดีนี้ และ คดีเผารูปรัชกาลที่ 10 บริเวณป้ายเรือนจำคลองเปรม เมื่อวันที่ 28 ก.พ. 2564

X