วันนี้ (22 ธ.ค. 2565) ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาคดีของ “เพชร” ธนกร (สงวนนามสกุล) ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 จากเหตุขึ้นปราศรัยกล่าวถึงสถานะกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย และการยืนยันเรื่องคนเท่ากัน ในการชุมนุม #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563
เกี่ยวกับคดีนี้จำเลยต่อสู้ว่าถ้อยคำที่ปราศรัยไม่ใช่สิ่งผิด แต่เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต อีกทั้งยังเป็นการชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธ ที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
.
เวลา 11.00 น. โดยประมาณ ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษา มีเนื้อหาโดยย่อ ดังนี้
พิพากษามีความผิดตาม ม.112 ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เนื่องจากขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุ 17 ปี คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน รอการลงโทษและคุมประพฤติ 2 ปี
พิเคราะห์แล้วว่า คดีนี้พยานฝ่ายโจทก์มีเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงานตามหน้าที่ เบิกความเป็นลำดับขั้นตอนตั้งแต่การสืบสวนหาข่าวจากเฟซบุ๊กของนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง เชื่อได้ว่าพยานทุกปากเบิกความไปตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อีกทั้งฝ่ายโจทก์มีการบันทึกภาพและการถอดเทปส่งพนักงานสอบสวน
จากเทปดังกล่าวเห็นว่าจำเลยและพวกกล่าวปราศรัยมีถ้อยคำกล่าวหาพระมหากษัตริย์จริง ทั้งการตั้งคำถามเรื่องการใช้คำราชาศัพท์ การถามว่าพระมหากษัตริย์อยู่ในประเทศหรือไม่? และการกล่าวว่า “เราจะยอมเป็นฝุ่นใต้ละอองธุลีพระบาทหรือจะยอมเป็นฝุ่นใต้ตีนของใคร” ส่อให้เห็นเจตนาของจำเลยและพวกว่าต้องการทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย เป็นที่เกลียดชัง
ถ้อยคำปราศรัยของจำเลยเป็นการกล่าวหาว่าพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในราชอาณาจักร แต่ไปอยู่ที่เยอรมันเสวยสุขท่ามกลางภาษีของประชาชน เป็นการกล่าวหาที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง และเกิดความเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งจากการนำสืบพยานของฝ่ายโจทก์เห็นว่ารับฟังได้ และพยานทุกปากเห็นตรงกันว่า การกล่าวของจำเลยมีเจตนาสร้างความเกลียดชังให้แก่ผู้ฟัง และจากคำกล่าวทั้งหมดถือเป็นการใส่ความทำให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ดังนั้น การกระทำของจำเลยถือเป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ประกอบมาตรา 83 แต่ขณะเกิดเหตุมีอายุ 17 ปีเศษ เห็นควรลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน
ทั้งนี้ พิเคราะห์รายงานข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเยาวชนของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กแล้ว เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากปัจจัยความเสี่ยงตามความจำเป็นด้านครอบครัว ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านภูมิหลังการศึกษาของจำเลยแล้ว ผู้อำนวยการสถานพินิจฯ มีความเห็นว่า จำเลยมีความเสี่ยงในการกระทำความผิดซ้ำ และมีความจำเป็นที่จะได้รับการช่วยเหลือในระดับต่ำ แต่เนื่องจากจำเลยยังเป็นนักศึกษา ความประพฤติและการปฏิบัติโดยทั่วไปของจำเลยปรากฏว่าไม่ร้ายแรงนัก อยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้
เพื่อให้การแก้ไขบำบัดฟื้นฟูจำเลยเป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 ที่มุ่งให้เด็กและเยาวชนอยู่ในขบวนการยุติธรรมให้สั้นที่สุดเท่าที่จำเป็น เพื่อคำนึงถึงสวัสดิภาพอนาคตของจำเลย เน้นให้โอกาส จึงรอการลงโทษจำคุก 2 ปี และให้กำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับความประพฤติของจำเลย โดยให้จำเลย ผู้ปกครอง และพนักงานคุมประพฤติร่วมกันกำหนดแผน แล้วนำเสนอศาลภายในระยะเวลา 2 เดือน เมื่อศาลเห็นชอบให้ปฏิบัติตามแผนดังกล่าวเป็นระยะเวลา 2 ปี
.
ยกฟ้อง ม.116 ระบุ พยานหลักฐานฝ่ายโจทก์ไม่เพียงพอจะชี้ว่าจำเลยมีความผิด
ในส่วนความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 ซึ่งโจทก์ฟ้องแยกเป็นอีก 1 กรรม นั้น ศาลมีคำพิพากษาว่า พิเคราะห์พยานโจทก์ที่ได้รับมอบหมายให้สอบสวนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประกอบกับการเบิกความของจำเลยว่าได้รับการติดต่อจากนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง ให้พูดเรื่องความหลากหลายทางเพศ การยกเลิกใช้คำราชาศัพท์ เห็นว่า ไม่ถือเป็นการสร้างความวุ่นวาย ยุยง ปลุกปั่น
ทั้งนี้ การมาร่วมชุมนุมเป็นสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคล การที่จำเลยเบิกความว่าได้รับการติดต่อจากนายชินวัตร จันทร์กระจ่าง ถือเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าว อีกทั้งการนำสืบพยานและหลักฐานของฝ่ายโจทก์ไม่ถือว่ามีน้ำหนักเพียงพอที่จะชี้ว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พิพากษายกฟ้องในข้อหานี้
.
โดยสรุปคือ ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรีมีคำพิพากษาว่า จำเลยกระทำความผิดตามมาตร 112 ลงโทษจำคุก แต่เนื่องจากขณะเกิดเหตุจำเลยมีอายุเพียง 17 ปีเศษ เห็นควรลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน โดยให้กำหนดเงื่อนไขควบคุมความประพฤติ 2 ปี และพิพากษายกฟ้องในข้อกล่าวหาตามมาตรา 116
ทั้งนี้ ศาลไม่ได้อ่านว่า ตัดสินโทษจำคุกเต็มกี่ปี แต่เมื่อลดกึ่งหนึ่งแล้วเหลือโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน ทำให้ทราบได้ว่า โทษจำคุกเต็มคือ 3 ปี
.
อนึ่ง ในการฟังคำพิพากษาครั้งนี้ จำเลยยื่นคำร้องประสงค์ให้เจ้าหน้าที่จากองค์กรสิทธิมนุษยชน 2 แห่ง เข้าร่วมฟังคำพิพากษาในฐานะบุคคลที่ไว้วางใจ เพื่อให้เกิดความสบายใจในการฟังคำพิพากษา ซึ่งศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ร่วมฟังได้ พร้อมกับกล่าวตักเตือนเรื่องการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดในการเผยแพร่
.