19 พฤศจิกายน นี้ เป็นหมุดหมายหนึ่งของ “การกลับมาใช้” ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ครบรอบเป็นระยะเวลา 3 ปี เพื่อรับมือต่อการเคลื่อนไหวของเยาวชนและประชาชนซึ่งมีข้อเรียกร้องสำคัญเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา หลังจากก่อนหน้านั้นพบว่ากฎหมายมาตรานี้เสมือนมีนโยบายให้หยุดบังคับใช้ไปราว 2 ปีเศษ
การบังคับใช้ครั้งนี้นำไปสู่สถานการณ์การดำเนินคดีจำนวนมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน สามปีผ่านไปคดียังทยอยเพิ่มสูงขึ้น การสืบพยานในคดีจำนวนมาก และการมีคำพิพากษาของศาลทยอยออกมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งมีผู้ต้องขังเข้าออกจากเรือนจำอย่างต่อเนื่อง โดยยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงแนวทางการบังคับใช้ หรือการคลี่คลายของสถานการณ์เหล่านี้
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนทบทวนสถานการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 ในรอบ 3 ปีที่ผ่านมา
.
“ความเป็นการเมือง” ของการใช้กฎหมาย
1. หลังจากการบังคับใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีและจับกุมคุมขังประชาชนในช่วงหลังการรัฐประหาร ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา โดยให้มีการพิจารณาและพิพากษาโดยศาลทหาร
ราวช่วงต้นปี 2561 จนถึงก่อนหน้าเดือนพฤศจิกายน 2563 เกิดช่วงเวลาที่รัฐมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายในการบังคับใช้มาตรา 112 อย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งการแทบไม่มีคดีใหม่ที่ถูกกล่าวหาด้วยข้อหามาตรานี้ และการยกฟ้องคดีข้อหานี้หลายคดีที่ค้างอยู่ในชั้นศาล แม้จะมีการใช้ข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือข้อหาประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ในการกล่าวหาผู้แสดงออกเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ฯ ในช่วงดังกล่าวอยู่ก็ตาม หรือศาลเองก็ลงโทษจำเลยด้วยข้อหาอื่นแทนที่จะใช้มาตรา 112 ทำให้มีโทษจำคุกเช่นกัน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะเป็นนายกรัฐมนตรี เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2563 ว่า “เดิมเรามีกฎหมายอาญา มาตรา 112 อยู่ และไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้ อยากบอกคนไทยว่าวันนี้มาตรา 112 ไม่ได้ใช้เลย เพราะ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระเมตตาไม่ให้ใช้ นี่คือสิ่งที่ท่านทรงทำให้แล้ว”
พล.อ.ประยุทธ์ยังให้สัมภาษณ์ต่อด้วยว่า “สำนึกไว้ด้วยว่ามาตรา 112 ทำไมถึงไม่มีการดำเนินคดี และทำไมถึงมีคนฉวยโอกาสตรงนี้ขึ้นมา ทรงมีพระเมตตา พระมหากรุณาธิคุณ กำชับมากับผมโดยตรง 2-3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีการใช้ 112 ทำไมไม่คิดตรงนี้”
ในช่วงต้นของการเคลื่อนไหว “เยาวชนปลดแอก” นั้น แม้จะเริ่มมีการปราศรัยเรียกร้องในประเด็นสถาบันกษัตริย์นับแต่ช่วงเดือนสิงหาคม 2563 เป็นต้นมา และเริ่มมีการดำเนินคดีจำนวนมากเกิดขึ้น แต่ก็ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 แต่อย่างใด โดยมากยังเป็นการใช้ข้อหามาตรา 116 ในการจับกุมดำเนินคดีเป็นหลัก
จนกระทั่งหลังการชุมนุมและสถานการณ์ทางการเมืองยังขยายตัวในช่วงเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีทั้งการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรง และการพยายามสลายการชุมนุมที่เข้มข้นขึ้น กระทั่งวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 นายกรัฐมนตรีออกแถลงการณ์ว่าจะใช้กฎหมาย “ทุกฉบับ ทุกมาตรา” ที่มีอยู่ ดำเนินการต่อผู้ชุมนุม
การเปลี่ยนแปลงแนวทางการบังคับใช้อีกครั้งจึงเกิดขึ้น ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐเริ่มมีการแจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 เพิ่มเติมในคดีเดิมที่ไม่ได้แจ้งไว้ หรือนำไปสู่คดีใหม่ ๆ เกิดขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
สถานการณ์ที่การบังคับใช้กฎหมายสามารถ “หยุดลง” และ “กลับมา” ใช้กล่าวหาใหม่ได้ ทำให้เห็นว่าข้อกล่าวหานี้ไม่ใช่เพียงปัญหาทางกฎหมาย แต่เป็นเรื่องทาง “นโยบาย” ที่สามารถควบคุมกำหนดแนวทางการใช้กฎหมายได้ หรือ “การเมือง” ของใช้กฎหมายนั่นเอง
.
.
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
2. คดีมาตรา 112 นับจากปี 2563 เป็นต้นมา นับได้ว่าเป็นช่วงเวลาที่มีจำนวนคดีเพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการใช้ข้อหานี้ แม้แต่ในช่วงหลังรัฐประหารของ คสช. จำนวนคดีก็ไม่ได้เพิ่มสูงเท่าในขณะนี้
หากพิจารณาจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีในช่วงระยะเวลา 5 ปี ในยุค คสช. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหามาตรา 112 อย่างน้อย 169 คน แยกเป็นคดีจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างน้อย 106 คน ส่วนที่เหลือเป็นกรณีเกี่ยวกับการแอบอ้างหาประโยชน์
เทียบกับในช่วงสามปีที่ผ่านมา จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2566 มีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูลแล้วอย่างน้อย 262 คน ใน 285 คดี โดยเฉลี่ยในทุก ๆ เดือนตลอดสามปีที่ผ่านมา จะมีคดีเกิดขึ้นใหม่ราว 8 คดี
สถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในบริบทของการเปลี่ยนแปลงในพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในสมัยรัชกาลที่ 10 และการลุกขึ้นเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของคนรุ่นใหม่และประชาชนจำนวนมาก ที่เห็นปัญหาในเรื่องสถานะและบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยของไทย
ในจำนวนนี้ พบว่าเป็นคดีที่มีประชาชนทั่วไปเป็นผู้ไปริเริ่มแจ้งความกล่าวหาจำนวน 140 คดี หรือเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งหมด โดยมากผู้ที่แจ้งความ ยังมีสังกัดในกลุ่มที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในลักษณะ “กลุ่มปกป้องสถาบันฯ” ซึ่งมีการทำงานกันเป็นกลุ่มก้อน ค่อนข้างเป็นระบบ และเป็นกลุ่มที่ติดตามข้อมูล-สถานการณ์ทางการเมือง มิใช่การดำเนินการในลักษณะปัจเจกบุคคล การใช้ข้อหานี้กล่าวหาจึงเป็นส่วนหนึ่งของการใช้กฎหมายเพื่อปราบปรามการแสดงออกทางการเมืองในช่วงสถานการณ์ดังกล่าว
ลักษณะคดีที่เกิดขึ้น ในช่วงแรกของการกลับมาใช้มาตรา 112 ปลายปี 2563-ปี 2564 ส่วนใหญ่เป็นคดีที่เกิดขึ้นจากการปราศรัยในการชุมนุม (พบจำนวนอย่างน้อย 52 คดี) จนหลังปลายปี 2564 เป็นต้นมา คดีส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว คือคดีจากการแสดงออกบนโลกออนไลน์ (พบจำนวนอย่างน้อย 156 คดี) และผู้ถูกกล่าวหาเป็นประชาชนทั่วไปเพิ่มมากขึ้นกว่าเป็นนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวทางการเมือง
นอกจากนั้น แม้ในช่วงก่อนหน้าปี 2563 จะมีกรณีที่ทราบว่ามีเด็กเยาวชนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 อยู่บ้าง อาทิจากกรณีเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติที่จังหวัดขอนแก่น เมื่อช่วงปี 2560 มีเด็กอายุ 14 ปีรายหนึ่ง ถูกดำเนินคดีด้วย แต่ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหลังปี 2563 เป็นต้นมา ซึ่งพบว่ามีเด็กเยาวชนเข้าร่วมแสดงออกทางการเมืองจำนวนมาก นำไปสู่การมีเด็กและเยาวชนถูกดำเนินคดีจำนวนมาก อย่างไม่เคยมีมาก่อน ในข้อหาต่างๆ รวมทั้งมาตรา 112
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่ามีเด็กเยาวชนถูกดำเนินคดีมาตรา 112 หลังปี 2563 ไปแล้วจำนวนอย่างน้อย 20 คน ใน 23 คดี โดยเด็กอายุน้อยที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูล คืออายุ 14 ปี 1 เดือนเศษ ในขณะเกิดเหตุ ช่วงที่ผ่านมา คดีมาตรา 112 จึงขึ้นสู่ศาลเยาวชนฯ ในจำนวนที่ไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์
.
.
คดีกระจายไปในทุกภูมิภาค-นักกิจกรรมหลายคนถูกกล่าวหาด้วยคดีจำนวนมาก
3. นอกจากจำนวนคดีที่มากขึ้นแล้ว สถานการณ์การดำเนินคดียังกระจายไปในทุกภูมิภาคของประเทศ แต่คดีส่วนใหญ่ก็ยังเกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก โดยจากจำนวนคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบข้อมูล แยกไปตามภูมิภาคได้ดังต่อไปนี้
- คดีในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวนอย่างน้อย 162 คดี (ในจำนวนนี้เป็นคดีของ บก.ปอท. จำนวน 69 คดี)
- คดีในพื้นที่จังหวัดปริมณฑล-ภาคกลาง จำนวนอย่างน้อย 38 คดี
- คดีในพื้นที่ทางภาคเหนือ จำนวนอย่างน้อย 35 คดี
- คดีในพื้นที่ทางภาคใต้ จำนวนอย่างน้อย 26 คดี
- คดีในพื้นที่ทางภาคอีสาน จำนวนอย่างน้อย 18 คดี
- คดีในพื้นที่ภาคตะวันออก จำนวนอย่างน้อย 6 คดี
โดยยังพบสถานการณ์การกระจุกตัวของคดีเกิดขึ้นในบางสถานีตำรวจ ที่ผู้แจ้งความที่เป็นประชาชนทั่วไปอาศัยอยู่ หรือเลือกสถานีตำรวจดังกล่าวในการไปแจ้งความดำเนินคดีจำนวนมาก อาทิ คดีที่ สภ.สุไหงโก-ลก พบไม่ต่ำกว่า 8 คดี, คดีที่ สภ.บางแก้ว ไม่น้อยกว่า 14 คดี, คดีที่ สภ.เมืองกำแพงเพชร อย่างน้อย 4 คดี หรือคดีที่พบว่าเริ่มกระจายไปในพื้นที่จังหวัดพัทลุงหรือสงขลา ซึ่งพบว่าถูกแจ้งความโดยบุคคลเพียงคนเดียว
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้มีผู้ถูกกล่าวหาหลายคน ต้องเดินทางไกลไปต่อสู้คดีในพื้นที่ที่ตนเองไม่ได้อาศัยอยู่ มีภาระต้นทุนการต่อสู้คดีจำนวนมาก และแม้แต่การถูกคุมขังที่เริ่มเกิดขึ้นในพื้นที่นราธิวาส อย่างคดีของอุดม และ “กัลยา” ก็ได้สร้างปัญหาการเข้าเยี่ยม ซึ่งญาติหรือทนายความไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมได้บ่อยครั้ง
ขณะเดียวกันอีกปรากฏการณ์หนึ่งที่ไม่เคยมีมาก่อน ได้แก่ กรณีที่นักกิจกรรมหรือประชาชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองหลายคนถูกกล่าวหาด้วยคดีมาตรา 112 จำนวนหลายคดีมาก โดยช่วงก่อนหน้าปี 2563 อาจมีกรณีผู้ถูกกล่าวหาด้วยคดี 3-4 คดี หรือถูกกล่าวหาในลักษณะคดีเดียว แต่เป็นความผิดหลายกระทง อย่างกรณีอัญชัญ ที่ถูกกล่าวหาถึง 29 กระทง ทำให้ถูกลงโทษจำคุกสูงถึง 43 ปีครึ่ง
แต่การบังคับใช้ในช่วงปัจจุบัน พบว่านักกิจกรรมหลายคน ถูกกล่าวหาด้วยจำนวนคดีมาตรา 112 จำนวนมาก จากพฤติการณ์หลากหลายในช่วงการเคลื่อนไหวเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ทั้งการปราศรัย การอ่านแถลงการณ์ การโพสต์ข้อความ หรือการแสดงออกอื่น ๆ ในการชุมนุม อาทิเช่น
- พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 24 คดี
- อานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 14 คดี
- ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 10 คดี
- ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 9 คดี
- เบนจา อะปัญ ถูกกล่าวหาอย่างน้อย 8 คดี
การต่อสู้คดีจำนวนมากเหล่านี้ แตกต่างจากการต่อสู้คดีเดียว แต่มีความผิดหลายกระทง เนื่องเพราะแต่ละคดีจะถูกพิจารณาแยกกัน ขั้นตอนในกระบวนการชั้นต่าง ๆ ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาแต่ละคนมีภาระการเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหา การรายงานตัว การสั่งฟ้องคดี การสืบพยาน หรือการฟังคำพิพากษา แยกไปในแต่ละคดี ทำให้นักกิจกรรมหลายคนแทบจะใช้เวลาแต่ละเดือนอยู่กับกระบวนการเหล่านี้ไปกว่าครึ่งค่อนเดือน และตารางนัดคดีก็ยาวล่วงหน้าไปนับปี
ตัวเลขสถิติเหล่านี้ ยังไม่ได้นับคดีจากการชุมนุมอื่น ๆ ที่ไม่ได้มีข้อหามาตรา 112 อีกด้วย ทำให้การต่อสู้ที่เกิดขึ้นมีต้นทุน ทั้งในแง่ค่าใช้จ่าย ระยะเวลา โอกาสในชีวิตที่แต่ละคนต้องแลกและสูญเสียไป
.
.
บทบาทอัยการสั่งฟ้องแทบทั้งหมด-อุทธรณ์คดีเป็นส่วนใหญ่
4. สถานการณ์คดีมาตรา 112 ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมาอีกประการหนึ่ง คือบทบาทหน้าที่ของพนักงานอัยการ ที่พบว่าในคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหานั้น อัยการแทบจะมีคำสั่งฟ้องในทุกคดี โดยเท่าที่ทราบข้อมูล ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่อัยการสั่งไม่ฟ้อง (อาจมีกรณีในลักษณะตำรวจยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา แต่พิจารณาการแจ้งความร้องทุกข์ และมีความเห็นว่าไม่เข้าข่ายความผิด จึงส่งสำนวนให้อัยการสั่งไม่ฟ้อง)
พบว่ามีเพียงกรณีของ “ทราย” อินทิรา เจริญปุระ ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องข้อหามาตรา 112 ในคดีชุมนุมหน้ากรมทหารราบที่ 11 เมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2563 แต่ยังสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามมาตรา 116 เช่นเดียวกับนักกิจกรรมคนอื่น ๆ ที่ถูกฟ้องทั้งสองข้อหา กล่าวได้ว่า แนวโน้มการดำเนินคดีมาตรา 112 ที่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แทบจะถูกสั่งฟ้องคดีทั้งหมด
ขณะเดียวกัน ในหลายคดีที่ศาลยกฟ้อง หรือมีคำพิพากษาให้รอลงอาญา อัยการก็มีแนวโน้มจะอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา แม้แต่คดีที่เห็นได้ชัดเจนว่าไม่ได้เข้าข่ายความผิด เช่น คดีของสุรีมาศ ที่จังหวัดกระบี่ กรณีแชร์ลิงก์คลิปผู้ทำพิธีขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส’ ซึ่งจากเนื้อหาคดี เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่าเจตนาของจำเลยเป็นการแชร์เนื้อหาเรื่องการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ โดยที่อัยการทั้งสั่งฟ้องและอุทธรณ์คดีต่อมา แต่ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ก็ได้พิพากษายกฟ้องคดีนี้
หรือคดีแขวนป้ายผ้า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” ที่จังหวัดลำปาง แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษายกฟ้อง แต่อัยการยังคงอุทธรณ์คำพิพากษาต่อ โดยที่ในทางกฎหมายก็เห็นได้ค่อนข้างชัดเจนว่า ข้อความในป้ายที่กล่าวถึงเรื่องการจัดสรรงบประมาณของรัฐ รวมทั้งงบประมาณสถาบันกษัตริย์ ก็ไม่ควรเข้าข่ายความผิดในข้อหามาตรา 112 แต่อย่างใด
ควรกล่าวด้วยว่ามีคดีบางส่วน (อย่างน้อย 11 คดีเท่าที่ทราบในขณะนี้) ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้รอลงอาญาจำเลย และอัยการไม่ได้อุทธรณ์คดีต่ออยู่อีกด้วย
.
สถานการณ์การประกันตัวที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีปัญหาอยู่
5. ปัญหาเรื่องสิทธิการประกันตัวในคดีมาตรา 112 ในช่วงปี 2563 กล่าวได้ว่า “สถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็ยังคงมีปัญหาอยู่”
โดยเมื่อเทียบกับสถานการณ์ในช่วงทศวรรษก่อนหน้านั้น ที่ผู้ต้องหาหรือจำเลยส่วนใหญ่มักไม่ได้รับการประกันตัวเมื่อถูกกล่าวหาในข้อหามาตรานี้ ทำให้ต้องต่อสู้คดีในเรือนจำ และจำนวนมากยินยอมให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เพราะถูกคุมขังมาตั้งแต่ต้น ทำให้ไม่มีโอกาสในการต่อสู้คดี และอยากให้คดีสิ้นสุดโดยเร็ว
ในช่วงหลังรัฐประหาร 2557 ถึงปี 2560 iLaw คำนวณพบว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีมาตรา 112 ที่ได้รับสิทธิในการประกันตัว คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 16 ของจำนวนผู้ต้องหาหรือจำเลยทั้งหมด เท่ากับมีกว่าร้อยละ 84 ที่ไม่ได้รับการประกันตัว
หรือศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่ามีประชาชนที่ศูนย์ทนายฯ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายอย่างน้อย 46 คน จาก 65 คน ที่ไม่ได้รับสิทธิการประกันตัวในคดีมาตรา 112 ช่วงยุค คสช. (คิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ที่ไม่ได้ประกันตัว)
แต่ในสถานการณ์การประกันตัวในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา แนวโน้มจะได้ประกันตัวในชั้นสอบสวนและชั้นพิจารณามีมากขึ้น โดยผู้ถูกกล่าวหาในชั้นแรก ๆ โดยมากยังได้รับสิทธิในการประกันตัว และการไม่ให้ประกันตัวดูเหมือนจะเปลี่ยนแปลงไปมาตามนโยบายและสถานการณ์ทางการเมือง ทำให้เกิด “ระลอกต่าง ๆ ของการคุมขัง” ขึ้น
การไม่ให้ประกันตัวคดีมาตรา 112 เริ่มขึ้นในคดีชุมนุม “19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร” เมื่อขึ้นสู่ชั้นพิจารณาในช่วงต้นปี 2564 ศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัวกลุ่มแกนนำ นำไปสู่กระแสเรียกร้องสิทธิการประกันตัวที่เพิ่มสูงขึ้น ก่อนศาลจะให้ประกันตัวเกือบทั้งหมดในช่วงเดือนมิถุนายน 2564
จนในช่วงเดือนสิงหาคม 2564 เมื่อการเคลื่อนไหวทางการเมืองยังคงอยู่ ทำให้แกนนำนักกิจกรรมหลายคนไม่ได้รับการประกันตัวอีกครั้ง คราวนี้การคุมขังเริ่มยาวนานขึ้น จนมีการกำหนดเงื่อนไขการประกันตัวจำนวนมาก อาทิ การติดกำไล EM, การห้ามออกนอกเคหสถาน, การห้ามกระทำการใด ๆ ที่ทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสีย, การห้ามร่วมการชุมนุมที่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง เป็นต้น แกนนำหลายคนจึงได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในช่วงต้นปี 2565
จนในช่วงปี 2565-66 การคุมขังโดยไม่ได้รับการประกันตัวเริ่มเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปที่ถูกกล่าวหามาตรา 112 มากขึ้น หรือกับแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวที่ยังคงทำกิจกรรมหรือถูกจับตาอย่างเข้มข้น เช่น กลุ่มทะลุวัง หรือกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ทั้งพบว่าในช่วงหลัง จำเลยที่ศาลชั้นต้นในกรุงเทพฯ เริ่มมีคำพิพากษาให้จำคุกแล้ว อาจไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกา
สถานการณ์ดังกล่าวก็ยังเป็นอย่างไม่มีมาตรฐานที่ชัดเจน ในต่างจังหวัดหลายคดี ศาลก็ยังอนุญาตให้ประกันตัวทั้งในชั้นอุทธรณ์และฎีกา แม้จะมีคำพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วก็ตาม เช่น กรณีของ “บัสบาส” มงคล ผู้ถูกกล่าวหาคดีมาตรา 112 ด้วยจำนวนกระทงมากที่สุดของยุคสมัยนี้ (3 คดี รวม 29 กระทง) ศาลยังคงอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ แม้ศาลชั้นต้นจะพิพากษาจำคุกสูงถึง 28 ปี และ 4 ปี 6 เดือนตามลำดับ เนื่องจากเห็นว่าเขาไม่มีพฤติการณ์หลบหนี
สถานการณ์การได้รับการประกันตัวตามสิทธิที่พึงมี ยังส่งผลถึงสถานการณ์การต่อสู้คดี โดยหากผู้ต้องหาหรือจำเลยไม่ได้รับการประกันตัวมาตั้งแต่ต้น มีแนวโน้มที่อาจจะให้การรับสารภาพตามข้อกล่าวหา เพื่อให้คดีสิ้นสุดและได้รับการปล่อยตัวโดยเร็ว ดังสถานการณ์คดีมาตรา 112 ในช่วงทศวรรษ 2550 มาจนถึงยุค คสช.
แต่การได้รับการประกันตัว ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาในปัจจุบันตัดสินใจต่อสู้คดีได้มากขึ้น แนวโน้มของจำเลยที่ต่อสู้คดี จึงเพิ่มมากขึ้นในปัจจุบัน และศาลต้องมีคำพิพากษาที่วินิจฉัยในรายละเอียดเพิ่มมากขึ้นกว่าคดีที่รับสารภาพ ทำให้สังคมจะเห็นคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ในลักษณะต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
.
.
การกำหนดอัตราโทษจำคุกเป็นเรื่องเชิงนโยบาย เปลี่ยนแปลงได้
6. แนวโน้มการกำหนดอัตราโทษของศาลในคดีมาตรา 112 ยังมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปมาในแต่ละช่วงอีกด้วย โดยก่อนหน้าการรัฐประหาร 2557 พบว่าในคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด มักมีอัตราการลงโทษจำคุกหรือที่เรียกว่า “ยี่ต๊อก” อยู่ที่กระทงละ 5 ปี ต่อมาในช่วง ยุค คสช. เมื่อคดีประเภทนี้ ถูกให้พิจารณาพิพากษาโดยศาลทหาร อัตราการลงโทษจำคุกเปลี่ยนแปลงไปอยู่ที่กระทงละ 8-10 ปี โดยแม้แต่ศาลพลเรือนในบางคดีก็ลงโทษในอัตรานี้
ทำให้ในช่วง คสช. เกิดคดีที่มีอัตราโทษจำคุกสูงหลายคดี โดยสูงถึงจำคุก 50–70 ปี เช่น ในคดีของวิชัย, พงษ์ศักดิ์, ศศิพิมล, เธียรสุธรรม หรือธารา เป็นต้น (จำเลยทุกคดีให้การรับสารภาพ ได้ลดโทษครึ่งหนึ่ง) ทำให้อัตราโทษในคดีมาตรา 112 มีความรุนแรงยิ่งขึ้นในช่วงเผด็จการทหาร
จนในช่วงยุคปี 2563 เป็นต้นมาอัตราโทษที่ศาลกำหนดก็มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปอีก เมื่อพบว่าศาลกำหนดโทษอยู่ที่จำคุก 3-5 ปี เป็นหลัก โดยส่วนใหญ่ยังพิพากษาจำคุกในอัตราโทษ 3 ปี เป็นสัดส่วนที่มากกว่าด้วย
สถิติคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่ามีความผิดตามมาตรา 112 เท่าที่ทราบข้อมูลจนถึงปัจจุบัน อย่างน้อย 80 คดี มีอัตราโทษที่ศาลกำหนดโทษเต็ม ก่อนลดโทษในเงื่อนไขต่าง ๆ ดังนี้
- ลงโทษจำคุก 2 ปี หรือ 1 ปี 6 เดือน ในคดีเยาวชน จำนวน 5 คดี
- ลงโทษจำคุก 3 ปี จำนวน 57 คดี
- ลงโทษจำคุก 4 ปี จำนวน 14 คดี
- ลงโทษจำคุก 5 ปี จำนวน 4 คดี
เนื่องจากตัวบทกฎหมายกำหนดอัตราโทษขั้นต่ำในคดีมาตรา 112 ไว้ 3 ปี ทำให้ในบางคดี แม้พฤติการณ์ข้อกล่าวหาจะเป็นเพียงการโพสต์ข้อความสั้น ๆ ที่แทบไม่มีใครพบเห็น การแชร์ข้อความมาจากบุคคลอื่น โดยไม่ได้แสดงความเห็นใดประกอบ หรือเป็นการแสดงออกล้อเลียนในเชิงตลกขบขัน ซึ่งหากเห็นว่าเป็นความผิด ก็ไม่น่าจะถูกกำหนดโทษในอัตราสูง แต่ศาลก็ไม่สามารถกำหนดโทษที่ต่ำกว่านี้ได้
ปัญหาอัตราโทษที่สูงเกินไป ด้วยช่วงกว้างถึง 3-15 ปี ในตัวบท นอกจากจะสูงไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำ ยังส่งผลถึงสถานการณ์การกำหนดโทษเปลี่ยนไปมาตามบริบททางการเมือง และการพิจารณาไม่ให้ประกันตัวของศาล โดยอ้างเรื่องอัตราโทษสูงอีกด้วย
.
พิพากษาให้รอลงอาญามากขึ้น และจำนวนหนึ่งยกฟ้อง
7. นอกจากการกำหนดอัตราโทษจำคุกที่เปลี่ยนแปลงไป แนวโน้มคำพิพากษาในช่วงหลัง ยังมีการพิพากษาให้รอลงอาญาให้เห็นมากขึ้น หลังจากในช่วงยุคทศวรรษ 2550 และในยุค คสช. พบได้ค่อนข้างน้อยที่ศาลจะพิพากษาให้รอลงอาญาในคดีตามมาตรา 112
ในช่วงยุคปี 2563 พบว่าศาลพิพากษาให้รอลงอาญาเพิ่มมากขึ้น แต่ยังไม่ได้มีแนวทางที่ชัดเจน ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาลแต่ละคดี ทั้งส่วนพฤติการณ์ในคดี และการพิจารณาภูมิหลัง บุคลิกลักษณะ หรือความประพฤติของจำเลย โดยส่วนใหญ่พบว่าเป็นคดีของประชาชนทั่วไป ที่ไม่ใช่แกนนำนักกิจกรรม และพบในคดีที่ให้การรับสารภาพได้มากกว่า
ภาพรวมผลคำพิพากษาคดีมาตรา 112 จำนวน 105 คดี เท่าที่ทราบข้อมูลจนถึงปัจจุบัน
- คดีที่ศาลยกฟ้องทุกข้อหาอย่างน้อย 16 คดี
- คดีที่ศาลยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่น ๆ อย่างน้อย 6 คดี
- คดีที่ศาลให้รอการกำหนดโทษ อย่างน้อย 3 คดี
- คดีที่ศาลให้รอการลงโทษจำคุก อย่างน้อย 34 คดี (แยกเป็นคดีที่จำเลยต่อสู้คดี 8 คดี และจำเลยให้การรับสารภาพ 26 คดี) โดยหลายคดียังไม่สิ้นสุด อัยการมีการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา
- คดีที่ศาลไม่ให้รอการลงโทษจำคุก อย่างน้อย 46 คดี (แยกเป็นคดีที่จำเลยต่อสู้คดี 27 คดี และคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพ 19 คดี)
แม้สัดส่วนคดีที่ศาลกำหนดให้รอการลงโทษจำคุก จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับบริบทการใช้มาตรา 112 ในยุคก่อนหน้านี้ (คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 42.5 ของคดีที่ศาลลงโทษจำคุกทั้งหมด 80 คดี) แต่ก็ยังมีคดีอีกมากที่ศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา และบางคดีอาจมีการกลับแนวทางคำพิพากษาเมื่อขึ้นสู่ศาลสูงขึ้นไป สถานการณ์ที่ตามมาจึงอาจมีผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 เพิ่มมากขึ้นได้
.
.
การพิจารณาเป็นการลับน้อยลง แต่ยังมีอยู่
8. ปัญหาการพิจารณาคดีมาตรา 112 ประการหนึ่ง คือการที่ศาลสั่งให้พิจารณาเป็นการลับ โดยอ้างตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ให้เฉพาะคู่ความในคดีเข้าร่วมการพิจารณา โดยญาติ มิตรสหาย ผู้สังเกตการณ์ หรือบุคคลภายนอกไม่สามารถเข้าฟังการพิจารณาได้
โดยพบว่าในช่วงก่อนหน้าปี 2563 นั้น มีคดีที่ถูกสั่งให้พิจารณาเป็นการลับอยู่มากพอสมควร ทั้งในศาลพลเรือนและศาลทหาร จนเคยมีการยื่นคำร้องในประเด็นดังกล่าว ว่าการพิจารณาเป็นการลับนั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ ในคดีของ “ดา ตอร์ปิโด” แต่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ
เฉพาะในช่วงคดียุค คสช. พบว่ามีคดีมาตรา 112 ที่ศาลสั่งพิจารณาคดีลับอย่างน้อย 21 คดี โดยแยกเป็นคดีที่จำเลยซึ่งเป็นพลเรือนถูกพิจารณาคดีในศาลทหารจำนวน 17 คดี และอีก 4 คดีอยู่ในเขตอำนาจศาลยุติธรรม อาทิ คดีของ “ไผ่” จตุภัทร์, คดีของทนายประเวศ ประภานุกูล, คดีของ “แม่จ่านิว”, คดีของสิรภพ, คดีของปิยะ, คดี “บุปผา” เป็นต้น
หลังช่วงปี 2563 พบว่าการสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับมีลดน้อยลงไป แต่ก็ยังคงมีอยู่บ้าง โดยพบอย่างน้อย 4 คดี ที่ศาลมีการสั่งอย่างเป็นทางการให้พิจารณาคดีเป็นการลับ อนุญาตให้เฉพาะคู่ความเข้าร่วมในการพิจารณา ได้แก่ คดีของศิระพัทธ์ กรณีถูกกล่าวหาว่าลักพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมนำกรอบรูปไปทิ้ง และคดีของ “โชติช่วง” กรณีถูกกล่าวหาวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี และสองคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร กรณีโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กรวมกัน 27 ข้อความ ซึ่งพิจารณาที่ศาลจังหวัดเชียงราย
แต่ก็มีบางคดีที่ศาลไม่ได้มีคำสั่งอย่างเป็นทางการ แต่เจ้าหน้าที่ศาลให้ผู้เข้าฟังออกจากห้องพิจารณารคดี เช่น คดีของ “บัสบาส” คดีที่สาม ซึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าศาลพิจารณาลับ แต่ไม่ได้มีการสั่งในรายงานกระบวนพิจารณาแต่อย่างใด หรือการฟังคำพิพากษาในคดีของ “นคร” ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ และคดีของ “ปีเตอร์” ที่ศาลจังหวัดอุดรธานี ซึ่งศาลให้เฉพาะคู่ความในคดีอยู่ในห้องพิจารณา แต่ให้บุคคลอื่นออกจากห้องทั้งหมด แม้ไม่ได้สั่งพิจารณาเป็นการลับก็ตาม
รวมถึงปัญหาการจดบันทึกในห้องพิจารณา โดยมีคดีมาตรา 112 ไม่น้อยกว่า 10 คดี ที่ในชั้นพิจารณา ศาลไม่ให้ผู้สังเกตการณ์ทำการจดบันทึกการสังเกตการณ์คดี แต่กรณีนี้ก็พบในคดีลักษณะอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน
.
.
ปัญหาการตีความกฎหมายยังเป็นการต่อสู้สำคัญ ศาลเองก็ตีความหลากหลาย
9. ประเด็นการตีความองค์ประกอบมาตรา 112 ของศาลต่าง ๆ ยังเป็นปัญหาใหญ่ ยิ่งสถานการณ์ที่มีการต่อสู้คดีเพิ่มมากขึ้น ทำให้ศาลต้องวินิจฉัยในรายละเอียดเพิ่มมากขึ้น อาทิ ปัญหาองค์ประกอบมาตรา 112 ว่าควรคุ้มครองไปถึงอดีตกษัตริย์หรือไม่ เป็นประเด็นใหญ่มากขึ้นในรัชสมัยใหม่
ศาลชั้นต้นหลายศาลที่พยายามตีความว่ามาตรานี้คุ้มครองเฉพาะกษัตริย์ที่ยังคงครองราชย์อยู่ในขณะเกิดเหตุ อาทิ คดีจรัสที่ศาลจังหวัดจันทบุรี, คดี “วุฒิภัทร” ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ หรือคดีอุดมที่ศาลจังหวัดนราธิวาส แต่ก็พบว่าศาลอุทธรณ์มีการกลับคำพิพากษา โดยวินิจฉัยไปแนวลักษณะว่าการกระทำต่อกษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว ก็กระทบต่อกษัตริย์องค์ปัจจุบันด้วย
หรือปัญหาว่ามาตรา 112 คุ้มครองกษัตริย์ในสถานะบุคคล หรือคุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมีองค์ประกอบอย่างกว้างขวาง ก็เป็นปัญหาที่มีการต่อสู้คดี
ในบางคดี ศาลก็มีคำพิพากษาตีความอย่างเคร่งครัด เช่น คดีแขวนป้ายผ้า “งบสถาบันกษัตริย์>วัคซีนCOVID19” ที่ศาลจังหวัดลำปางเห็นว่าข้อความไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์โดยเฉพาะ ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112, คดีของอิศเรศ ที่ศาลจังหวัดนครพนมวินิจฉัยว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่องค์ประกอบของมาตรา 112 หรือคดีของ “ปีเตอร์” ศาลจังหวัดอุดรธานีเห็นว่าการกล่าวถึงข้อมูลของงบสถาบันกษัตริย์โดยรวม ไม่ได้เฉพาะเจาะจงถึงกษัตริย์พระองค์ใด ไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112
แต่ก็มีบางคดี ที่ศาลวินิจฉัยไปในแนวทางว่ามาตรา 112 คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ในราชวงศ์จักรี หรือตีความไปว่ามาตรา 112 เป็นองค์ประกอบหนึ่งของมาตรา 6 ในรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้” เช่น คดีของธนกร ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง วินิจฉัยไปในแนวว่าแม้คำปราศรัยจะไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์ใด แต่เห็นว่ามาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ และยังระบุถึงองค์พระมหากษัตริย์ในฐานะเป็นรัฐฏาธิปัตย์ด้วย
คดีของสิริชัย ที่ศาลจังหวัดธัญบุรีเห็นว่าแม้จำเลยไม่ได้พ่นสีข้อความบนพระบรมฉายาลักษณ์พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน แต่การพ่นบนรูปภาพของสมาชิกราชวงศ์ ย่อมส่งผลกระทบต่อรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทำที่ด้อยค่าและทำให้สถาบันกษัตริย์เสื่อมเสียแล้ว
หรือคดีพิมชนก ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ตีความว่ามาตรา 112 คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ แม้ไม่ได้กล่าวถึงกษัตริย์พระองค์ใด การกล่าวถึงสถาบันฯ ก็เป็นการดูหมิ่น ให้ร้าย ลดทอนคุณค่าของพระมหากษัตริย์
รวมทั้งประเด็นว่าการเสียดสีล้อเลียน ซึ่งไม่ได้มีลักษณะการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย ควรจะถือว่าเข้าข่ายมาตรา 112 หรือไม่ เช่น ในคดีของสมบัติ ทองย้อย หรือคดีจากการแสดงออกผ่านการเดินแฟชั่นโชว์ที่ถนนสีลมของ “นิว จตุพร” และ “สายน้ำ”
นอกจากนั้นยังมีคดีที่เป็นการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ที่ศาลมีแนวคำวินิจฉัยที่แตกต่างกันไป โดยบางศาลพิจารณาเจตนาของจำเลย ว่าแม้จะมีการกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ไม่มีพฤติการณ์อื่น ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย ก็ไม่ถือเป็นความผิดตามมาตรา 112 เช่น คดีของ “สมพล”, คดีศิระพัทธ์ หรือคดีของ “แต้ม” แต่ก็มีคดีที่ศาลตีความไปทำนองว่ากระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ก็เท่ากับกระทำต่อตัวบุคคล หรือการกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ก็เป็นทำให้สถาบันเสื่อมเสีย เช่น คดีของสิทธิโชค หรือคดีของสิริชัย เป็นต้น
การต่อสู้เพื่อให้การตีความกฎหมายของศาล เป็นไปอย่างเคร่งครัดตามหลักกฎหมายอาญา ไม่ปล่อยให้มีการตีความขยายความอย่างกว้างขวาง นำไปสู่ความไม่ชัดเจนของตัวบทกฎหมาย รวมไปถึงการตีความกฎหมายภายใต้ชุดอุดมการณ์กษัตริย์นิยมเพียงอุดมการณ์เดียว ยังเป็นสถานการณ์สำคัญในการต่อสู้คดีมาตรา 112 ต่อไป
ขณะเดียวกัน ปัญหาการต่อสู้ในเชิงเนื้อหาในคดีมาตรา 112 ยังมีข้อจำกัด โดยเฉพาะการพยายามนำสืบถึงข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ พระจริยวัตร หรือบทบาททางเศรษฐกิจการเมืองของสถาบันกษัตริย์ ซึ่งศาลมีแนวโน้มจะไม่ให้นำสืบ หรือตัดประเด็นดังกล่าวออกไป ดังสถานการณ์การไม่ออกหมายเรียกพยานเอกสาร หรือสั่งตัดพยาน ตามที่ฝ่ายจำเลยร้องขอในบางคดี
อีกทั้งการสืบพยานในแต่ละคดี ก็ยังพบว่าฝ่ายโจทก์มักนำพยานจากกลุ่มปกป้องสถาบันฯ รวมทั้งพยานนักวิชาการไม่กี่คน ที่มีจุดยืนไปในทางกษัตริย์นิยม มาเบิกความซ้ำไปมาในคดีจำนวนมาก โดยไม่ได้มีความเห็นที่หลากหลายเพียงพอต่อปัญหาการบังคับใช้มาตรา 112 ในสถานการณ์ปัจจุบัน
.
.
สถานการณ์ผู้ต้องขังคดี ม.112 และการต่อสู้จากภายในเรือนจำ
10. การต่อสู้เรียกร้องของผู้ถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 รวมทั้งผู้ต้องขังคดีทางการเมืองอื่น ๆ ในเรือนจำยังเป็นประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นเป็นระยะต่อเนื่องเรื่อยมาในรอบสามปีที่ผ่านมา ทั้งในประเด็นปัญหาสิทธิการประกันตัว สิทธิของผู้ต้องขังในเรือนจำ การเรียกร้องการยุติการดำเนินคดีหรือนิรโทษกรรมทางการเมือง หรือยืนยันข้อเรียกร้องของการเคลื่อนไหว
สถานการณ์การอดอาหารประท้วงของผู้ต้องขังทางการเมืองรายต่าง ๆ ยังดำเนินสืบเนื่องมาตั้งแต่ปี 2564 ตั้งแต่เพนกวิน-รุ้ง มาจนถึงการอดน้ำและอาหาร โดยตะวัน-แบม–วารุณี และการฝืนตื่นประท้วงโดยการอดนอนของเก็ท การแสดงออกปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมของหยกและเก็ท
รวมไปถึงสถานการณ์การชุมนุมและแสดงออกเรียกร้องต่อศาลและกระบวนการยุติธรรมของประชาชนจำนวนมาก ก็เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางมาก่อน อาทิ กิจกรรมยืนหยุดขังที่ยังดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึกต่อกระบวนการยุติธรรมของคนจำนวนมากในสังคม และคำถามต่อการใช้มาตรา 112 ที่เป็นปัญหามานับทศวรรษในสังคมไทย
ในขณะที่ในปีหน้าและปีถัดไป คดีมาตรา 112 รวมถึงคดีทางการเมืองอื่น ๆ จะค่อย ๆ ถึงที่สุดเพิ่มมากขึ้น อาจนำไปสู่สถานการณ์ที่มีจำนวนผู้ถูกคุมขังเพิ่มมากขึ้น ประเด็นผู้ต้องขังทางการเมืองเหล่านี้ รวมถึงประเด็นนิรโทษกรรม จะกลายเป็นที่ถกเถียงในสังคมมากขึ้น
.