ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนยกฟ้องคดี ม.112 ของ “สุรีมาศ” เห็นว่าลิงก์ในโพสต์มุ่งความไม่พอใจต่อ พล.อ.ประยุทธ์ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น

24 ต.ค. 2566 ศาลจังหวัดกระบี่นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 ในคดีของ “จีน่า” สุรีมาศ (สงวนนามสกุล) แม่เลี้ยงเดี่ยววัย 52 ปี ที่ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากการแชร์ลิงก์คลิปผู้ทำพิธีขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากกลุ่มเฟซบุ๊ก ‘รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง’ โดยศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนให้ยกฟ้องคดี

คดีนี้มี พรลภัส ศรีช่วย สมาชิกกลุ่มปกป้องสถาบันฯ จังหวัดกระบี่ เป็นผู้แจ้งความกล่าวหา โดยอ้างว่าเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 ได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กของสุรีมาศ และพบการโพสต์ข้อความว่า “หนทางเดียวของกูละ ไอ่เปรตนี่..เด๋วกูจัด!!” พร้อมกับแนบลิงก์ไปยังกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์ฯ’ ผู้กล่าวหาอ้างว่าเมื่อกดลิงก์เข้าไปดู พบภาพของรัชกาลที่ 10 กำลังเล่นสไลเดอร์อยู่ จึงเห็นว่าเป็นการใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ จึงไปแจ้งความที่ สภ.เมืองกระบี่ โดยที่กลุ่มของผู้กล่าวหาเคยมีความขัดแย้งกับกลุ่มของสุรีมาศจากการเคลื่อนไหวทางการเมืองในจังหวัดกระบี่มาก่อนด้วย

คดีนี้ น่าสนใจในแง่ตัวคลิปที่สุรีมาศนำลิงก์ไปแชร์ไว้นั้น ไม่ได้มีส่วนใดเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ เป็นเพียงแต่คลิปคนทำพิธีจุดเทียนพร้อมมีเสียงสวดภาษาเขมร และมีรูปภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา วางอยู่ โดยมีข้อความประกอบว่า ​“ในเมื่อไล่ทุกวิธีแล้วไม่ไป ก็ต้องพึ่งวิธีสุดท้าย มนต์ดำเขมร เสกหนังควายเข้าตัวควาย” เพียงแต่คลิปดังกล่าวถูกเผยแพร่อยู่ในกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์ฯ’ ซึ่งมีภาพของรัชกาลที่ 10 เป็นภาพปกของกลุ่ม ทำให้หากผู้ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่ม กดเข้าไปดูลิงก์ จะเห็นภาพปกดังกล่าว แต่จะไม่สามารถเห็นคลิปต้นทางที่ถูกโพสต์ในกลุ่มได้

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยาน แชร์ลิงก์โพสต์ขับไล่ ‘ประยุทธ์’ แต่ถูกดำเนินคดี ‘หมิ่นกษัตริย์ฯ’: ทบทวนการต่อสู้คดี “สุรีมาศ” ที่กระบี่ เมื่อ ม.112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

.

ศาลชั้นต้นยกฟ้อง แต่อัยการอุทธรณ์ต่อ

ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2566 ศาลจังหวัดกระบี่พิพากษายกฟ้องคดี โดยเห็นว่าพยานหลักฐานของจำเลยมีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ โดยจำเลยโพสต์เฟซบุ๊กและคัดลอกลิงก์มาวางเพื่อจะโพสต์ข้อความประกอบคลิปวิดีโอพาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยจำเลยอาจไม่ทราบว่าหากมีผู้ใช้เฟซบุ๊กอื่นที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของกลุ่มส่วนตัว ‘รอยัลลิสต์ฯ’ มาเห็นโพสต์ จะเห็นข้อความและลิงก์ข้างต้นพร้อมภาพปกของกลุ่มส่วนตัว ซึ่งเป็นพระบรมฉายาลักษณ์แทน กรณีจึงยังมีความสงสัยว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่

ต่อมา เกษม ถิระพัฒน์พิบูล พนักงานอัยการโจทก์ ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยสรุปพยายามโต้แย้งว่า แม้ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่เป็นสมาชิกของกลุ่มส่วนตัว กับไม่ได้เป็น จะมีการแสดงผลแตกต่างกันในการรับชมเนื้อหา แต่ผลของการโพสต์ข้อความในลักษณะการโพสต์ลิงก์จากกลุ่มส่วนตัว ‘รอยัลลิสต์ฯ’ ส่งผลให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กเห็นภาพหน้าปกของกลุ่มส่วนตัว อันเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ จำเลยย่อมทราบได้จากการเข้าเป็นสมาชิกกลุ่มตั้งแต่แรกแล้ว ว่ากลุ่มดังกล่าวใช้พระบรมฉายาลักษณ์เป็นภาพปก การกระทำของจำเลยจึงเป็นการแสดงความดูหมิ่นพระมหากษัตริย์

อัยการโจทก์ยังอ้างความเห็นของพยานโจทก์ปากต่าง ๆ และสรุปว่าแม้โพสต์ข้อความประกอบคลิปวิดีโอดังกล่าว จะเป็นการโพสต์พาดพิง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อความตามโพสต์ของจำเลย ประกอบกับภาพหน้าปกของกลุ่ม ‘รอยัลลิสต์ฯ’ อันเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ การกระทำของจำเลยจึงส่อความหมายไปในลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์แล้ว

.

ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนยกฟ้อง เห็นว่าอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น ลิงก์ในโพสต์มุ่งความไม่พอใจต่อ พล.อ.ประยุทธ์

สุรีมาศ และทนายความ เดินทางมาตามนัดศาล พร้อมด้วยผู้สังเกตการณ์จากกลุ่มนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชนภาคใต้ (Law Long Beach) 

ศาลจังหวัดกระบี่ได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีใจความโดยสรุป ศาลอุทธรณ์พิจารณาคำเบิกความของพยานโจทก์ปากตำรวจฝ่ายสืบสวนของ สภ.เมืองกระบี่ ที่สืบสวนทราบว่าจำเลยเป็นแกนนำกลุ่มกระบี่ไม่ทน ซึ่งเคยจัดกิจกรรมทางการเมืองในพื้นที่จังหวัดกระบี่ แต่ไม่ได้ความจากพยานทั้งสองว่า จำเลยเป็นแกนนำหรือร่วมขบวนการต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งยังเบิกความว่าจากการตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย ไม่พบโพสต์อื่น ๆ ที่มีเนื้อหาพาดพิงสถาบันฯ จึงไม่มีข้อมูลว่าจำเลยเป็นคนมีพฤติกรรมต่อต้านหรือพาดพิงในทางเสื่อมเสียแก่สถาบันฯ มาก่อน 

ส่วนพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก บก.ปอท. ซึ่งปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจสอบการกระทำผิดทางเทคโนโลยี ได้ตรวจสอบลิงก์เฟซบุ๊กที่จำเลยโพสต์ แต่ไม่สามารถเข้าไปดูเนื้อหาของกลุ่มรอยัลลิสต์ฯ ได้ จึงเห็นปรากฏเพียงภาพรัชกาลที่ 10 เพราะมิใช่สมาชิกกลุ่มกลุ่มเฟซบุ๊กดังกล่าว ก็ไม่ได้ตรวจสอบให้แน่ชัดว่าการเข้าถึงข้อมูลของทางราชการ หรือจากสมาชิกกลุ่มรอยัลลิสต์ฯ คนอื่น ว่ากลุ่มดังกล่าวใช้ภาพหน้าปกตามเอกสารที่นำมากล่าวหาหรือไม่ แสดงว่าโจทก์ได้ข้อมูลโปรไฟล์ของเฟซบุ๊กดังกล่าวมาจากผู้กล่าวหาเพียงแหล่งข้อมูลเดียวเท่านั้น

ส่วนผู้กล่าวหา เบิกความว่ามิได้เป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊กกับจำเลย แต่จำเลยเปิดเฟซบุ๊กของตนเป็นสาธารณะ จึงเข้าไปดูได้ โดยได้เข้าไปดูเฟซบุ๊กของจำเลยเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2564 แต่ปรากฏว่าในเอกสารพยานหลักฐานที่นำมากล่าวหา มีทั้งที่ระบุในสำเนาเฟซบุ๊กที่ด้านมุมบนซ้าย ว่า “1 วัน” แสดงถึงการที่เจ้าของเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความมาแล้ว 1 วัน และมีสำเนาเฟซบุ๊กที่ด้านมุมบนซ้าย ระบุว่า “8 ส.ค. เวลา 19.26 น.” แสดงว่าเจ้าของเฟซบุ๊กโพสต์ข้อความในวันเดียวกับที่เยี่ยมชม

ความน่าสงสัยในข้อนี้ โจทก์มิได้นำผู้เชี่ยวชาญสื่อสังคมออนไลน์ มาเบิกความว่า หากมีการโพสต์ผ่านไปหลายวัน และมีลิงก์ในโพสต์ปรากฏอยู่ เมื่อกดที่ลิงก์จะพบโพสต์เดิมที่มุมบนซ้ายในโพสต์ แสดงถึงวันเวลาเริ่มต้นของการโพสต์ไว้ด้วย ขณะที่ฝ่ายจำเลยมีพยานจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน และนักกฎหมายอาสาเพื่อสิทธิมนุษยชน มาเบิกความถึงการดูวันเวลาที่โพสต์ในเฟซบุ๊ก โดยให้ความเห็นว่าสำเนาเฟซบุ๊กสองภาพของผู้กล่าวหาน่าจะเป็นการดูโพสต์คนละช่วงเวลากัน

ทำให้เกิดข้อเคลือบแคลงว่าต่อภาพสำเนาเฟซบุ๊กที่ผู้กล่าวหานำมา ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ภาพและข้อความดังกล่าวจริงหรือไม่ 

ขณะที่จำเลยนำสืบถึงความไม่พอใจในการบริหารงานของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในขณะเกิดเหตุคดีนี้ ส่งผลกระทบต่อรายได้ของจำเลย โดยจำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มรอยัลลิสต์ฯ และเห็นคลิปวิดีโอที่สมาชิกกลุ่มโพสต์พิธีกรรมสาปแช่ง พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อให้ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงเห็นว่าเป็นเรื่องตลก และได้คัดลอกลิงก์ของกลุ่มดังกล่าว มาไว้ในเฟซบุ๊กของตนเอง และพิมพ์ข้อความประกอบ โดยมุ่งหมายถึงตัว พล.อ.ประยุทธ์ 

ตามพยานวัตถุฝ่ายจำเลย เมื่อเข้าไปดูลิงก์ดังกล่าว ก็ปรากฏคลิปดังกล่าวจริง เมื่อพิจารณาถึงความคิดเห็นใต้โพสต์ ก็มิได้มีข้อความกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยเห็นด้วยกับการมุ่งร้ายต่อองค์ประมุขแต่อย่างใด คลิปที่อยู่ในลิงก์ข้างต้น น่าจะมุ่งหมายถึงความไม่พอใจในตัวนายกรัฐมนตรี มิใช่พาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์

จำเลยยังนำสืบด้วยว่าเฟซบุ๊กของจำเลยได้รับการแจ้งเตือนว่ามีบุคคลอื่นเข้าใช้จากแอพพลิเคชั่นอื่น จึงได้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พยานโจทก์ที่นำสืบจึงมีข้อสงสัยตามสมควรอยู่ว่าจำเลยเป็นผู้โพสต์ข้อความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ในระบบคอมพิวเตอร์หรือไม่ ที่ศาลชั้นต้นยกประโยชน์แห่งความสงสัยดังกล่าวให้จำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 เห็นพ้องด้วย

ลงนามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดย นายมานิตย์ ตันติวัชรพันธุ์, นางสาวยุวิสส์ร์ชญา ยกซิ่ว และ นายนนทวัฒน์ โชติพิมาย 

.

ดูฐานข้อมูลคดีนี้ คดี 112 “สุรีมาศ” แม่เลี้ยงเดี่ยวชาวกระบี่ ถูกกล่าวหาแปะลิงก์กลุ่มตลาดหลวงพร้อมโพสต์ข้อความไม่เหมาะสม

X