จากนราธิวาสถึงปราจีนบุรี: การเดินทางหวนกลับเพียงลำพัง เมื่อ ‘อุดม’ ถูกคุมขังคดี ม.112

เธอแบกเป้สองใบ เดินทางบนรถไฟกลับบ้าน โดยไม่มีเขา

ตลอดสองปีเศษที่ผ่านมา หนุ่มสาวโรงงานคู่หนึ่งต้องเดินทางโดยรถไฟจากปราจีนบุรี ไปที่จังหวัดนราธิวาสมาแล้วกว่า 7 ครั้ง เพื่อต่อสู้คดี ทุกครั้งเธอเดินทางไปเป็นเพื่อนด้วยเสมอ โดยมีเพียงครั้งแรกครั้งเดียว ที่เธอไม่สามารถลางานไปด้วยได้

“ของขวัญ” เป็นภรรยาของอุดม คนงานโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จากปราจีนบุรีวัย 35 ปี ผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการโพสต์และแชร์เฟซบุ๊กจำนวน 7 ข้อความ คดีของเขามีติวเตอร์ภาษาอังกฤษที่อาศัยอยู่ที่อำเภอสุไหงโก-ลก เป็นผู้ไปกล่าวหา แม้จะไม่เคยรู้จักกันมาก่อน

หลังการต่อสู้คดี เมื่อปี 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสเห็นว่าจำเลยมีความผิดใน 2 ข้อความ ลงโทษจำคุก 4 ปี แต่ยังอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ และเธอกับเขายังได้เดินทางกลับบ้าน

หากแต่เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ภาค 9 มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวเขามานับแต่นั้น แม้จะยื่นขอไปสองครั้งแล้วก็ตาม

ไม่ได้มีโอกาสพูดคุยหรือกล่าวคำอำลาต่อกัน แม้เธอได้สั่งผัดกะเพราเนื้อที่เขาชอบไว้ให้เป็นมื้อสุดท้าย ก่อนต้องขึ้นรถไฟเดินทางกลับปราจีนบุรีโดยลำพัง ขบวนรถสายนั้นนำเธอกลับบ้าน พร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของชีวิตครอบครัวที่เหมือนแขนขาขาดหายไป

ย้อนอ่านเรื่องราวของอุดม จากปราจีนบุรีถึงนราธิวาส: การเดินทางที่อาจไม่ได้หวนกลับของ “อุดม” ผู้ถูกฟ้องคดี ม.112

.

สถานีตันหยงมัส: การเดินทางกลับพร้อมรอยน้ำตา

30 สิงหาคม เป็นวันนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ เขาได้รับหมายแจ้งก่อนวันนัดประมาณหนึ่งสัปดาห์ ไม่ได้เตรียมตัวกันมากนัก แต่ทั้งคู่ก็เดินทางมาด้วยกันอีกครั้ง แม้ใจหวั่น ๆ ว่าเขาอาจจะไม่ได้เดินทางกลับไป

ยังใช้รถไฟเป็นพาหนะเช่นเดิม และต้องเดินทางล่วงหน้าก่อนสองวัน มาพักค้างคืนรอหนึ่งคืนในที่พักใกล้ ๆ ศาลจังหวัดนราธิวาส เธอเล่าว่าเย็นวันนั้น เขาเลือกไปกินสิ่งที่อยากกิน กินเต็มที่ เหมือนไม่แน่ใจว่าจะได้กลับ

“วันฟังคำพิพากษา เราออกไปแต่เช้า ไปกินข้าวแกง แล้วก็เดินจับมือกันไปศาล เดินคุยกันไปเหมือนเดิม พี่เขาก็ถามแหละว่า ถ้าพี่เขาไม่ได้กลับ จะกลับได้ไหม มีกระเป๋าตั้งสองใบ หนูก็พยายามบอกว่ากลับได้แหละ แต่ก็บอกว่ามาด้วยกัน ต้องกลับด้วยกันซิ

“รอบนี้มันยังไม่ค่อยได้เตรียมตัวอะไรเลย ก็คิดว่าไปแล้วคงจะได้ประกันตัวกลับเหมือนครั้งที่แล้ว แต่มันไม่ใช่”

เมื่อไปถึงศาลแต่เช้า ก่อนเวลานัด ทั้งคู่ไปนั่งรออยู่หน้าศาลด้วยกัน รอทนายความเดินทางมา ระหว่างนั้นก็นั่งคุยปรึกษากันไป หลัก ๆ คือเขากังวลถึงภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และสุขภาพของเธอที่อาจไม่มีใครดูแล

“พอถึงเวลาก็ขึ้นไปปกติ แล้วก็รอศาล ศาลออกมาอ่านคำพิพากษา แล้วเราก็กอดคอกัน เจ้าหน้าที่เขาก็เข้ามาใส่กุญแจมือ เอาตัวพี่เขาลงไปข้างล่างศาล ตำรวจก็บอกต้องใส่กุญแจมือ

“ตอนแรกก็คิดว่าน่าจะได้ประกันตัว แต่ว่าเที่ยวนี้ ศาลไม่ได้บอกเหมือนรอบที่แล้ว ที่บอกว่าให้ไปยื่นประกันตัว แต่รอบนี้เงียบ ๆ  ก็เริ่มสังหรณ์ เราก็พยายามแข็งใจไม่ร้อง แล้วศาลก็มีคำสั่งให้รอก่อน ต้องส่งเรื่องไปที่ศาลฎีกา อาจจะต้องรอวันหนึ่ง ไม่ได้ทันวันนั้น พี่เขาต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำก่อน ตอนนั้นหนูก็ร้องไห้แล้ว”

เธอเล่าว่าวันนั้นแทบไม่อยากกินอะไรเลย ได้แต่เดินไปสั่งอาหาร คือผัดกะเพราเนื้อกับไข่ดาว ที่เขาชอบกิน ให้เจ้าหน้าที่นำไปให้ที่ห้องขังใต้ถุนศาล และตัวเองนั่งรออยู่ก่อน เผื่อว่าคำสั่งของศาลฎีกาจะมาทันในวันนั้นเลย แต่ก็ไม่

“พอเอาอาหารลงไปให้ พี่ตำรวจเขาก็เอาถุงเท้า-รองเท้าของพี่เขาออกมาให้ มีเศษผ้าซิ่นของแม่ ก็ให้เอากลับมาด้วย

“ถึงเวลาเย็น ก็เงียบ เขาก็เอาตัวพี่เขาไป หนูก็ได้แต่มองผ่านรถเรือนจำที่วิ่งออกไป ไม่มีโอกาสได้คุย หนูเห็นแค่หน้าเขาลาง ๆ หนูก็คิดว่าพี่เขาคงทุกข์ไม่น้อย แม้จะเตรียมใจไว้แล้ว เพราะเขาเป็นห่วงทุกอย่าง หนูก็มาคนเดียว จะกลับยังไง”

เย็นนั้นเธอเดินทางกลับห้องพัก พร้อมกระเป๋าเป้ใบหนึ่งแบกไว้ข้างหน้า อีกใบสะพายไว้ข้างหลัง และยังมีถุงรองเท้า-ถุงเท้าของเขา ที่เจ้าหน้าที่ฝากกลับออกมา

“พอเช้าอีกวัน หนูก็เรียกวินมอเตอร์ไซต์ไปที่เรือนจำ ไปทำเรื่องลงทะเบียนเยี่ยมญาติไว้ก่อน แต่ยังไม่ได้เยี่ยม มันเหมือนกับมีเซนส์ว่าจะไม่ได้ประกันตัว แล้วก็หิ้วของมารอที่ศาล รอคำสั่งศาลฎีกา หนูก็ไปถามตำรวจไว้นะ ว่าถ้าได้ออก จะปล่อยกี่โมง เขาก็บอกประมาณหกโมงเย็น

“แต่ประมาณสิบโมงกว่า ศาลฎีกาก็มีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวจริง ๆ วันนั้นเขาก็นำตัวพี่เขามาฟังคำสั่งด้วยนะ แต่ไม่ได้เจอกัน ไม่มีอะไรเข้าข้างเราเลย ไม่ได้เห็นหน้า ไม่มีโอกาสได้คุยกันเลย

“ตอนเที่ยง หนูก็ไปสั่งข้าวให้พี่เขาเหมือนเดิม เป็นข้าวมื้อสุดท้ายที่หนูได้สั่งให้ เพราะหนูก็ต้องกลับก่อน ทนายก็พาไปส่งขึ้นรถสองแถว เพื่อไปต่อรถไฟกลับบ้าน

“วันนั้นหนูหมดแรง แทบไม่อยากเดินทาง เพราะเป็นห่วงพี่เขา ไปทันรถไฟเที่ยวบ่ายสาม รถด่วนพิเศษ ก็นั่งกลับเข้ากรุงเทพฯ ระหว่างทาง มันก็คิดถึงเรื่องเก่า ๆ ที่เราเคยมาด้วยกัน แล้วก็นั่งกลับด้วยกัน แต่เที่ยวนี้มันกลับคนเดียว มันรู้สึกว้าเหว่ เหมือนมันไม่เหลือใคร หนูแทบไม่ได้กินอะไรเลย กินน้ำไปขวดเดียว

“มันเหมือนมืดไปหมด ไม่รู้จะไปยังไงต่อ”

.

.

สถานีหัวลำโพง: ชุมทางที่ชีวิตต้องเปลี่ยนผ่าน

ของขวัญทำงานโรงงานที่ปราจีนบุรีเช่นเดียวกันกับอุดม แต่เป็นคนละโรงงานกัน ของเธอทำงานชิ้นส่วนผลิตชิพแห่งหนึ่ง ของเขาเป็นโรงงานผลิตชิ้นส่วนแผ่น PCB

ทั้งสองคนอายุห่างกัน 4 ปี โดยอุดมอายุมากกว่า และมีลูกสาววัย 8 ขวบ กำลังเรียนอยู่ชั้น ป.3 อยู่กับยายที่บ้านเกิดที่จังหวัดสระแก้ว

ทั้งคู่ทำงานอย่างหนักในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เก็บหอมรอมริบสร้างชีวิตครอบครัว เธอบอกว่าเขาทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ และในจำนวนนั้นทำ OT ไปอีก 5 วัน เพื่อให้เดือน ๆ หนึ่งมีรายได้ราว 18,000-20,000 บาท พร้อมโบนัสในแต่ละปี

ขณะที่เธอมีเงินเดือนราวเดือนละประมาณ 11,000-12,000 บาท บวกค่าโอทีไม่มากนัก โดยเธอเป็นโรคหอบหืดและออกซิเจนในเลือดต่ำ แต่ต้องทำงานในสภาพห้องที่ค่อนข้างเย็นของโรงงาน ทำให้มีปัญหาต้องเข้าโรงพยาบาลเป็นระยะ ล่าสุดก่อนฟังคำพิพากษาคดีของเขาประมาณเดือนหนึ่ง เธอก็เพิ่งเข้าไอซียู เนื่องจากหายใจไม่ค่อยออก ทำให้เขาค่อนข้างเป็นห่วงสุขภาพเธอ

ทั้งคู่ยังผ่อนบ้านที่อยู่อาศัยด้วยกันที่ปราจีนบุรี ผ่อนรถยนต์และรถจักรยานยนต์เพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน ยังไม่นับการส่งเงินเป็นค่าเล่าเรียนของลูกและส่งเงินกลับบ้านให้แม่ของของขวัญที่ปราจีนบุรี รวมทั้งค่าน้ำค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในครัวเรือนอื่นๆ ด้วย

ที่ผ่านมา ด้วยแรงสองแรงในแต่ละเดือน จึงพอถูไถรายจ่ายเหล่านั้นไปได้ แต่เมื่อไม่มีเขา เธอเปรียบว่ามันเหมือนกับขาดแขนขาไปซีกหนึ่ง รายจ่ายเหล่านั้นหนักหนาสาหัสสำหรับแรงเพียงแรงเดียว

ยังดีในเดือนแรกนี้ พอได้รับความช่วยเหลือค่าเดินทางไปนราธิวาสจากกองทุนราษฎรประสงค์ และทางกองทุนดา ตอร์ปิโด ก็ได้เปิดระดมทุนช่วยเหลือกรณีของอุดมด้วย และยังมีส่วนเงินประกันตัวอีก 30,000 บาท ซึ่งทางครอบครัววางไว้เองในตอนแรก ที่กำลังรอการทำเรื่องขอคืนเงินประกันในส่วนนี้ ซึ่งเธอบอกว่าน่าจะใช้ปิดค่าผ่อนรถจักรยานยนต์ได้บ้าง

แต่ในระยะยาว รายจ่ายที่เป็นอยู่ก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ทำให้เธอต้องเริ่มต้นดิ้นรนหารายได้เพิ่มเติม

“ตอนนี้ ก็รับแคปหมูมา มาทอดขายเป็นแพ็ค ๆ เอง ก็ต้องลองดู เราไม่ค่อยเท่าไรหรอก แต่ก็ห่วงลูก แล้วก็เรื่องภาระหนี้สิน วีคหนึ่งเราต้องจ่ายค่าบ้าน อีกวีคหนึ่งจ่ายค่ารถ แบบนี้มันไม่พอ”

นอกจากนั้นเธอยังหาเวลาเริ่มไปทำไร่ทำสวน จากที่ดินที่แม่มีอยู่นิดหน่อยในปราจีนบุรี พอมีปลูกพวกมะนาว พริก และข้าวโพด ไว้ขายได้เล็กน้อย

“เราก็พยายามสู้ พยายามทำทุกอย่างให้ยืนได้ด้วยตนเอง เพราะเราต้องกลายเป็นหัวหน้าครอบครัวเอง ต้องพยายามดิ้นทุกทาง หาอาชีพเสริม

“เขาก็ไม่อยากปล่อยบ้าน เพราะตอนนี้ก็ย้ายมาตรงนี้แล้ว แต่รถมันนานแล้ว สิบกว่าปีแล้ว ถ้าไม่ไหวก็ต้องปล่อย หนูก็บอกว่าคงต้องพยายามสู้ถึงที่สุดแหละ อดบ้างกินบ้าง เพราะส่วนมากหนูก็ไม่ค่อยกิน กินน้อย ไม่ค่อยได้ใช้ตังค์ส่วนตัว ห่วงแต่ลูก”

ด้านการงานของอุดม ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องสูญเสียมันไป เมื่อเขาไม่สามารถไปทำงานได้อีก แม้ทางหัวหน้างานจะเห็นอกเห็นใจ และยังให้รอถึงสิ้นเดือนกันยายนนี้ เผื่อว่าเขาจะได้ประกันตัว แต่หากพ้นเดือนนี้ไป ก็คงต้องให้ถูกพ้นสภาพงาน โดยอาจจะได้ค่าแรงส่วนที่ทำไปเมื่อเดือนก่อนสัก 2-3 พันบาท แต่ไม่ได้มีโบนัสใด ๆ ในปีนี้

“เวลาทำงาน เขาตั้งใจทำงานเต็มที่ ใคร ๆ ก็ชอบเขา เขาสนใจงาน เรียนรู้ด้วยตนเอง หัวหน้างานก็ชอบเขา ก็มีคนมาแซวว่าเป็นลูกรัก หัวหน้างานก็ไม่ได้อยากให้ออกจากงาน แต่ไปทำงานไม่ได้แล้ว ทุกคนก็พยายามช่วย

“เพื่อนที่โรงงานเขาก็ไลน์มาถามในเครื่องพี่เขา ถามว่าเป็นไง ได้กลับมาหรือยัง หนูก็ต้องตอบว่าพี่เขาไม่ได้กลับมานะ ต้องติดอยู่เรือนจำ เขาก็ให้กำลังใจมา”

ส่วนลูกสาว ก็เป็นเรื่องยากที่เธอจะบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับพ่อ ปัจจุบันเธอบอกลูกเพียงว่าพ่อต้องไปทำงานต่างประเทศ จะไม่ได้กลับมาสักพักหนึ่ง และให้ลูกเติบโตโดยอยู่กับยายเป็นหลัก

“ส่วนมากจะโทรหาลูก ลูกคือกำลังใจที่ดีที่สุด เขาพูดเก่งนะ เขาบอกไม่ต้องห่วงเขา ให้แม่สู้ ๆ เดี๋ยวพ่อก็กลับมา เขารักพ่อ ถ้าเขามา เขาไม่นอนกับหนู แต่นอนกับพ่อนะ”

“ลูกหนูเอาขนมห่อ 5 บาท ไปขายให้เพื่อน ๆ ตอนพักเที่ยงนะ เขาขายมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ถามว่าถอนตังค์ถูกไหม เขาบอกว่าถูก เขาบอกว่าไม่ต้องให้ตังค์เขาไปโรงเรียน เดี๋ยวหนูขายขนมเอง แม่เก็บไว้จ่ายค่าบ้าน ได้ยินคำนี้ หนูร้องไห้นะ ไม่คิดว่าเด็กจะพูดแบบนี้” เธอเล่าถึงลูกสาว

.

.

สถานีกบินทร์บุรี: ที่ต้นทางในความทรงจำ

ก็เหมือนชีวิตหนุ่มสาวโรงงานอีกหลายคู่ เขาและเธอรู้จักกันผ่านชีวิตการทำงาน จีบกันในโรงงาน เลือกร่วมทางชีวิตไปด้วยกัน และพยายามสร้างครอบครัวจากการงานในโรงงาน

“เรารู้จักกันที่โรงงานผลิตนมกล่อง ที่วังน้ำเย็น สระแก้ว หนูไปทำงานที่นั่นก่อน หนูเป็นหัวหน้า QA ช่วงนั้นก็ลงกะเช้า พี่เขาก็เพิ่งมาเข้างาน หนูก็ทำหน้าที่คอยสอนพี่เขา เราต้องคอยกีดนมชิม ว่ามันเปรี้ยวหรือเปล่า ก็ทำงานไป แล้วพี่เขาก็เริ่มแกล้ง มีเขวี้ยงกล่องนมเปล่ามาใส่บ้าง หนูก็มองหน้า แล้วก็เป็นแบบนี้บ่อย เหมือนมันเคยชิน แล้วพี่เขาก็ทักไลน์มาคุย เราก็เริ่มคุยกันและคบกัน อยู่ด้วยกัน

“พี่เขาเป็นคนตรงไปตรงมา เป็นคนจริงใจ เขาคิดอะไร พูดอย่างนั้น เขาไม่มีประวัติเรื่องผู้หญิงเลย ไม่สูบบุหรี่ มีกินเหล้าบ้างนิด ๆ หน่อย ๆ แต่ไม่ได้เยอะ เหนื่อยมา ก็กินบ้าง แต่โดยมาก เขาจะอยู่ห้อง เล่นเกมส์มากกว่า เขามีโลกส่วนตัวเขาในเกมส์

“พี่เขายังเป็นคนตลก ชอบแกล้ง สมมติเวลาเลิกงาน หนูจะเลิกก่อน เลิกประมาณทุ่มหนึ่ง แกเลิกประมาณสองทุ่มครึ่ง บางทีก็ขึ้นรถมอเตอร์ไซต์กลับมา แล้วมากดออดหน้าบ้านแล้วก็ไป หนูก็ออกมาดู เหมือนแกชอบแกล้ง แต่ก็เป็นคนนิสัยดี รักครอบครัว

“บางวันก็โทรมาว่าวันนี้อยากกินอะไร อยากกินซุปมะเขือ อยากกินข้าวต้ม วันนี้ปวดหลัง ซื้อยาให้หน่อย บางทีหนูไม่สบาย หอบขึ้น เริ่มต้องพ่นยา แกก็รีบพาไปหาหมอ กลัวจะเป็นหนัก ตีหนึ่งตีสองก็ไป ก็ไปนั่งรอหนู

“มีวันที่แม่โดนตัวต่อต่อย แล้วสลบเข้าห้องไอซียู แกออกกะงานมา ยังไม่ได้นอน ก็ฝืนขับรถกลับมาสระแก้ว มาหาแม่ที่โรงบาล

“แกยังเคยถูกเอารัดเอาเปรียบมาเยอะ คนใช้แรงงาน หลอกใช้มาหลายครั้ง เจอคนโกงก็มี ทักมายืมตังค์ แล้วหายไปเลย คือหนูสองคนเป็นคนขี้สงสารคน ทำให้โดนหลอกมาเยอะ แล้วเราก็สู้กันมาด้วยลำแข้งตัวเอง จนมีวันนี้ แล้วพอเริ่มลืมตาอ้าปากได้ มันก็มีเรื่องมาฉุด เหมือนกับมีคดีนี้”

เธอพอรู้ว่าช่วงก่อนหน้านี้ เขาสนใจเรื่องทางการเมือง ติดตามค้นคว้า อ่านข้อมูลข่าวสาร เธอบอกว่าเขาเป็นคนแบบที่อยากรู้เรื่องอะไร ก็พยายามจะรู้ให้ได้ด้วยตนเอง และด้วยความที่เป็นคนตรงไปตรงมานี้เอง อาจนำไปสู่การแสดงความคิดเห็นอันเป็นที่มาของคดีนี้ ซึ่งเธอยังคงเห็นว่ามันไม่ควรเป็นเรื่องร้ายแรงอะไร ไม่ใช่อาชญากรรมเหมือนกับการไปฆ่าคน หรือลักขโมยใคร

จากบ้านที่เคยมีคนสองคน เธอต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียว ความรู้สึกต่อบ้านจึงต่างไปจากเดิม ข้าวของต่าง ๆ ในบ้าน ผลิตมวลความรู้สึกของความคิดถึงออกมาอวลไปหมด โดยมีของสองอย่างที่เธอบอกว่าทำให้นึกถึงเขามาก คือเครื่องเกมส์ และรถจักรยานยนต์ที่เขาซื้อ

“เขารักมันมาก เขาบอกว่าบ้านเขาไม่เคยมี เกมส์ตอนเด็ก ๆ เขาก็ไม่เคยเล่น มีโบนัสออก เขาก็เอามาซื้อเลย เขาบอกเอามาเล่นคลายเครียด หนูก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาทำงานหนักมาทั้งปี ตอนนี้หนูก็พยายามเก็บของไว้”

“เคยอยู่ด้วยกัน เคยเล่นเคยหยอกกัน เคยด่ากันก็มี เราก็คิดถึง 

“อยู่คนเดียว มันก็เหงา”

.

.

(อาจนาน) 4 ปีจากนี้ไป

เธอไม่รู้ว่าจากนี้ไปเขาจะต้องถูกจองจำที่นราธิวาส จนครบ 4 ปี เลยหรือไม่ แต่เธอตระหนักว่าวันเวลาจากนี้ไปจะผ่านไปอย่างเชื่องช้า ภายใต้การรอคอยกันและกัน

“ผ่านไป 15 วัน เหมือนเป็นปี” เป็นความรู้สึกโดยรวมของช่วงเวลาไม่ถึงเดือนที่ผ่านไป

แม้ยังมีความหวังเรื่องการประกันตัวมาสู้ในชั้นฎีกาอยู่บ้าง แต่ก็รับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เธอยังคงไม่เข้าใจว่าทำไมศาลถึงคิดว่าอุดมจะหลบหนี ทั้งที่ไปตามนัดตลอด แม้จากบ้านปราจีนบุรีไปถึงสถานีตำรวจ ถึงศาลในนราธิวาส จะไกลกันเพียงไหน เขาก็ยังคงไปตามนัด

หนูสงสัยเรื่องการประกันตัว ที่กลัวว่าจำเลยจะหลบหนี เขาจะหลบหนีไปไหน เขามีที่อยู่ มีงานทำเป็นหลักแหล่งใช่ไหม แล้วไปรายงานตัวกับตำรวจ ไปที่ศาล เขาก็ไปทุกรอบ ขนาดไกลขนาดนี้นะ หนูก็สงสัยว่ายังมีความเป็นธรรมอยู่ไหม”

ยังไม่ได้มีโอกาสพูดคุยกับอุดมอีกเลย ตั้งแต่เขาถูกจองจำมา แม้ได้เริ่มลงทะเบียนเยี่ยมผ่านทางไลน์แล้ว แต่ทราบว่าคิวค่อนข้างยาว อาจจะต้องรอจนถึงต้นเดือนตุลาคม จึงจะได้เยี่ยมเป็นระยะเวลาสั้น ๆ

เธอยังส่งจดหมายทางไปรษณีย์ถึงเขา โดยยังไม่รู้ว่าจะใช้เวลาเท่าไร การสื่อสารทางนี้จะประสบผล แต่เธอหวังว่าจะส่งรูปภาพของลูกสาวไปถึงเขาได้

การเดินทางไปเยี่ยมด้วยตนเอง ก็ดูเป็นเรื่องยาก กับระยะทางที่ห่างไกล เธอไม่เคยขึ้นเครื่องบินมาก่อน ไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร ในการเดินทางบนอากาศ แต่ก็คิดว่าต้องหาเวลาไปเยี่ยมเขาหากยังไม่ได้รับการปล่อยตัว และยังหวังว่าหากคดีสิ้นสุดจริง ๆ  อาจจะสามารถทำเรื่องขอย้ายตัวมาอยู่ที่เรือนจำในพื้นที่ปราจีนบุรีได้ แต่ก็ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของอุดม ว่าจะต่อสู้คดีในชั้นฎีกาอีกหรือไม่ หรือยินยอมรับโทษที่ถูกกำหนดมาแล้ว

อีกหนทางหนึ่งที่เธอทำเพื่อเชื่อมต่อกับเขา คือคอยติดตามข่าวสารของเรือนจำ และผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อย่างใกล้ชิด เธอเล่าว่าเธอไล่ค้นข้อมูลในโลกออนไลน์ อ่านเรื่องราวชีวิตของคนในเรือนจำ พวกเขาต้องกินอยู่อย่างไร ตื่นกี่โมง นอนกี่โมง และสถานการณ์ของคดีข้อหานี้เป็นเช่นใดแล้ว

“หนูก็ไปอ่านข้อมูลข้างในเรือนจำ เห็นว่าเขาขึ้นเรือนนอนตั้งแต่สี่โมง ไม่ได้เห็นพระจันทร์เลย หนูไปอ่านว่าวัน ๆ หนึ่ง ข้างในเขาทำอะไรบ้าง เป็นความอยากรู้ว่าข้างในมันเป็นยังไง เพื่อให้รู้ว่าพี่เขาเป็นยังไง”

ล่าสุดได้ข่าวว่ามีไข้หวัดใหญ่ระบาดที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาส ทำให้ทางเรือนจำต้องยกเลิกการเยี่ยมใกล้ชิดในปีนี้ ก็ทำให้เธอห่วงใยเขามากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องสุขภาพ

“หนูก็ห่วงเขา เพราะพี่เขามีอาการปวดหลัง แต่เรื่องความลำบากอะไร พี่เขาน่าจะผ่านมาหมดแล้ว ทหารก็เคยไปเป็น เขาก็น่าจะพออยู่ได้ แต่ก็ห่วงเรื่องแออัด แล้วต้องนอนพื้น มันจะปวดหลัง

“พี่เขาปวดหลังมานานแล้ว ตั้งแต่สมัยยกถังนมใหญ่ ๆ พี่เขายกขึ้นรถ เขาเคยไปเอ็กซเรย์มา พบว่ากระดูกขด แล้วเขานั่งคุกเข่าไม่ได้ เพราะกระดูกมันจะถูกตรงหัวเข่า ตอนที่เขาปวด ก็ต้องกินยา ก็เลยเป็นห่วงเขา”

ยังไม่รู้ว่าวันเวลาจากนี้ไปจะเป็นอย่างไร อาจเป็นช่วงเวลาที่หนักหนาเกินทนสำหรับหนทางของครอบครัวเล็ก ๆ ในประเทศนี้อีกครอบครัวหนึ่ง แต่เธอย้ำว่าตัวเองจะพยายามเข้มแข็งเอาไว้เพื่อฝ่าข้ามมันไป

“ทุกอย่างมันหนักสำหรับหนู แต่หนูก็พยายามจะสู้ให้ถึงที่สุด หนูไม่ยอมแพ้มันหรอก”

.

X