ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนจำคุก 6 ปี คดี ม.112 ของ “กัลยา” ก่อนต้องเข้าเรือนจำนราธิวาส เพื่อรอฟังคำสั่งประกันจากศาลฎีกา

วันที่ 20 ต.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในคดีของ “กัลยา” (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทเอกชนจากจังหวัดนนทบุรี ผู้ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)  โดยศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโทษจำคุกตามศาลชั้นต้น โดยให้จำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา

คดีของกัลยาเป็นอีกคดีหนึ่งในชุดคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 4 ข้อความ โดยกล่าวหาเป็น 2 กระทง 

ข้อกล่าวหาที่ถูกกล่าวหา ถูกระบุว่าโพสต์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 มาจากการคอมเมนต์ในเพจแนะนำหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลี, จากข้อความที่โพสต์ภาพถ่ายจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563, จากการเขียนข้อความประกอบการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และการแชร์โพสต์จากธนวัฒน์ วงค์ไชย แล้วเขียนประกอบว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง”

.

ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 6 ปี ระบุจำเลยมีเจตนาสร้างความเกลียดชัง แม้จำเลยต่อสู้ยืนยันว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง

ในคดีนี้มีการสืบพยาน จำเลยได้ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องมีผู้สามารถเข้าใช้ได้มากกว่าหนึ่งคน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็เป็นเพียงการแคปหน้าจอข้อความมา ไม่ได้มี URL และวันเวลาของการโพสต์ จึงอาจมีการตัดต่อแก้ไขภาพได้โดยง่าย ทั้งข้อความแต่ละโพสต์มาจากคนละบริบท คนละเวลา แต่ถูกนำมาเรียงต่อกัน ซึ่งส่งผลถึงการตีความได้แบบหนึ่ง แต่เมื่ออ่านแยกจากกัน ก็อาจตีความได้หลากหลาย โดยแต่ละโพสต์ก็ไม่ได้ระบุชื่อถึงบุคคลใด

เมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า แม้ผลการตรวจสอบจะไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก แต่โจทก์มี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน มาเบิกความถึงเหตุการณ์ที่รู้เห็นมาเป็นลำดับขั้นตอน ประกอบกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน ที่ให้การว่าจำเลยเปิดบัญชีเฟซบุ๊กโดยมีบุคคลอื่น คือแฟนของจำเลยเข้าไปใช้ได้ หากแต่เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ทั้งคู่ได้เลิกกันและได้มีการเปลี่ยนรหัสเฟซบุ๊ก

ศาลจึงเห็นว่าจำเลยเป็นคนใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความตามฟ้องดังกล่าว การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องมีเจตนามุ่งหมายสร้างความเกลียดชังต่อสถาบันกษัตริย์ พิพากษาลงโทษกระทงละ 3 ปี สองกระทง รวมลงโทษจำคุก 6 ปี ไม่รอลงอาญา 

หลังพิพากษา ศาลจังหวัดนราธิวาสยังอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ในการประกันตัว 200,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา 

.

ต่อมาในวันนี้ (20 ต.ค. 2566) จำเลยเดินทางไปฟังคำพิพากษาหลังจากเลื่อนมาจากวันที่ 27 มิ.ย. 2566 ศาลจังหวัดนราธิวาสได้อ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ภาค 9 โดยสรุปเห็นว่า ข้อความตามที่โจทก์ฟ้อง พยานโจทก์ต่างเบิกความทำนองเดียวกันว่าเมื่ออ่านแล้ว เห็นว่าเป็นการใส่ความโดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 ได้รับความเสียหาย 

พนักงานสอบสวนเบิกความว่าภายหลังได้รับคำร้องทุกข์ ได้ขอตรวจสอบหาบุคคลผู้ใช้งานเฟซบุ๊กดังกล่าวจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง แล้วได้รับแจ้งว่าไม่พบ เนื่องจากผู้ใช้งานอาจลบข้อมูลหรือผู้ให้บริการปิดบัญชีไม่ให้ใช้งาน จึงสืบสวนจากรูปภาพเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊กและข้อมูลทะเบียนราษฎร แล้วได้อดีตคนรักของจำเลยมาให้การว่า ในขณะที่จำเลยโพสต์ข้อความทั้งคู่ได้เลิกกันแล้ว และอดีตคนรักไม่สามารถเข้าถึงเฟซบุ๊กของจำเลยได้ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงรหัสผ่านไปแล้ว

แม้จำเลยจะเบิกความว่าตนเองไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความตามฟ้อง แต่มีข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยได้รับในชั้นสอบสวนว่าเป็นเจ้าของบัญชีเฟซบุ๊ก แต่ไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความ แต่การโพสต์ข้อความเกิดในช่วงเวลาที่จำเลยเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊กของตนได้เพียงลำพัง พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงรับฟังได้ว่าจำเลยกระทำผิดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น กรณีไม่ต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง จึงไม่เป็นสาระแก่คดีอันควรได้รับการวินิจฉัย พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น 

ภายหลังฟังคำพิพากษา ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอประกันตัว โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 500,000 บาท แต่ศาลจังหวัดนราธิวาสได้มีคำสั่งส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณา ทำให้ในวันนี้กัลยาจะต้องเข้าไปถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส เพื่อรอฟังคำสั่งประกันตัวต่อไป

ทำให้มีผู้ต้องขังคดีการเมืองที่อยู่ในระหว่างต่อสู้คดีเพิ่มเป็นจำนวนอย่างน้อย 27 คน โดยเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 12 คน  

คดีของกัลยานับเป็นคดี 112 คดีที่ 2 ซึ่งมีพสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้แจ้งความไว้ และมีคำพิพากษาในระดับศาลอุทธรณ์ออกมา โดยก่อนหน้านี้มีคดีของอุดม ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 9 ก็ได้มีคำพิพากษายืนจำคุก 4 ปี โดยศาลฎีกามีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวสู้คดีในชั้นฎีกา ทำให้ในตอนนี้ เขาถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำจังหวัดนราธิวาสเช่นเดียวกัน

.

ต่อมาวันที่ 22 ต.ค. 2566 ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวกัลยา ระบุว่า “พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 6 ปี หากปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา ให้ยกคำร้อง”

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

6 ข้อสังเกตชุดคดี ม.112 ที่นราธิวาส หลังศาลทยอยนัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์

ดูฐานข้อมูลคดี “กัลยา”

X