จับตา ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดี ม.112 ของ “กัลยา” ที่นราธิวาส หลังถูกศาลชั้นต้นลงจำคุก 6 ปี ต่อสู้ต่อหลักฐานโจทก์มีพิรุธน่าสงสัย

พรุ่งนี้ (20 ต.ค. 2566) ศาลจังหวัดนราธิวาสนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 9 ในคดีของ “กัลยา” (นามสมมติ) อดีตพนักงานบริษัทเอกชนจากจังหวัดนนทบุรีวัย 28 ปี แต่มีภูมิลำเนาที่จังหวัดพะเยา ผู้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยก่อนหน้านี้ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกรวม 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา 

คดีของกัลยาเป็นอีกคดีหนึ่งในชุดคดีที่ศาลจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน เป็นผู้กล่าวหา จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 4 ข้อความ โดยกล่าวหาเป็น 2 กระทง 

ข้อกล่าวหาที่ถูกกล่าวหา ถูกระบุว่าโพสต์เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 มาจากการคอมเมนต์ในเพจแนะนำหนังเกี่ยวกับกษัตริย์ในอดีตของเกาหลี, จากข้อความที่โพสต์ภาพถ่ายจากการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563, จากการเขียนข้อความประกอบการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล และการแชร์โพสต์จากธนวัฒน์ วงค์ไชย แล้วเขียนประกอบว่า “แน่จริงยกเลิกม.112 #แล้วจะเล่าให้ฟัง”

ในคดีนี้จำเลยได้ต่อสู้ว่าไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่บัญชีเฟซบุ๊กตามฟ้องมีผู้สามารถเข้าใช้ได้มากกว่าหนึ่งคน ทั้งพยานหลักฐานของโจทก์ก็เป็นเพียงการแคปหน้าจอข้อความมา ไม่ได้มี URL และวันเวลาของการโพสต์ จึงมีการตัดต่อแก้ไขภาพได้โดยง่าย ทั้งข้อความแต่ละโพสต์ถูกนำมาเรียงต่อกันโดยผู้กล่าวหาเอง ซึ่งอาจตีความได้แบบหนึ่ง แต่เมื่ออ่านแยกจากกัน ก็อาจตีความได้หลากหลาย โดยแต่ละโพสต์ก็ไม่ได้ระบุชื่อถึงบุคคลใด 

.

ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ส.ค. 2565 ศาลจังหวัดนราธิวาสมีคำพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องในทั้งสองกระทง ลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา

เนื้อหาของคำพิพากษาโดยสรุปได้ว่า แม้ผลการตรวจสอบจะไม่ปรากฎว่าใครเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก แต่โจทก์มี พสิษฐ์ จันทร์หัวโทน มาเบิกความถึงเหตุการณ์ที่รู้เห็นมาเป็นลำดับขั้นตอน ประกอบกับคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวน ที่ให้การว่าจำเลยเปิดบัญชีเฟซบุ๊กโดยมีบุคคลอื่น คือแฟนของจำเลยเข้าไปใช้ได้ หากแต่เมื่อเดือน ธ.ค. 2563 ทั้งคู่ได้เลิกกันและได้มีการเปลี่ยนรหัสเฟซบุ๊ก ศาลจึงเห็นว่าจำเลยเป็นคนใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความตามฟ้อง

ดังนั้นเมื่อพิจารณาข้อความตามฟ้อง ประกอบกับสถานการณ์การเมืองที่มีการชุมนุมให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ย่อมทำให้เข้าใจได้ว่าข้อความทั้งหมดของจำเลยหมายถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน ข้อความมีลักษณะเจตนามุ่งหมายให้คนอ่านข้อความเกลียดชังต่อพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกเป็นฝักฝ่าย ส่งผลกระทบต่อความมั่นคง ศาลจึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามที่ถูกกล่าวหา

หลังพิพากษา ศาลจังหวัดนราธิวาสยังอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ในการประกันตัว 200,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

.

จำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา โดยสรุปโต้แย้งว่า

1. ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 นั้นเป็น ความผิดที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศมีความขัดแย้งทางการเมืองสูง ประชาชนที่อ้างว่ามีจงรักภักดีได้มีการนํามาเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งประชาชนที่เห็นต่างทางการเมือง ผู้กล่าวหาในคดีนี้ ซึ่งได้กระทำในนามกลุ่มประชาชนปกป้องสถาบัน (คปส.) จึงเป็นพยานที่มีอคติและเป็นปฏิปักษ์กับประชาชนอีกฝ่ายที่เห็นต่างทางการเมือง 

ในการพิจารณาพิพากษาคดี ศาลจึงจําต้องพิจารณาคดีใช้ดุลพินิจอย่างละเอียดรอบคอบ และการจะลงโทษจําเลยนั้นต้องมีพยานหลักฐานที่แน่นหนา มั่นคง ชัดเจน ได้รับการพิสูจน์อย่างสิ้นสงสัย ว่าจําเลยเป็นผู้กระทําผิดจริงหรือไม่ มิฉะนั้น ผลกระทบจะก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยง และอาจส่งผลตรงกันข้ามเป็นการบั่นทอนความเคารพศรัทธาต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดถึงระบบยุติธรรมทางอาญาและหลักนิติรัฐได้

2. คดีนี้ ผู้กล่าวหาได้ใช้วิธีการถ่ายรูปจากหน้าจอโทรศัพท์มือถือ หรือแคปข้อความ และนํามาใส่ในโปรแกรมไมโครซอฟท์เวิร์ด โดยนําข้อความและภาพของคนละวันเวลาค นละเหตุการณ์มาจัดวางเรียงกันประกอบกันและสั่งพิมพ์ออกมา โดยไม่ได้สั่งพิมพ์โดยตรงมาจากเฟซบุ๊ก ทำให้ไม่ปรากฏ URL แหล่งที่มาของภาพและข้อความ เป็นพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ที่ไม่น่าเชื่อถือ อาจถูกตัดต่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ 

ทั้งโพสต์ข้อความที่ผู้กล่าวหาอ้างว่ามีการแชร์มาจากโพสต์ของธนวัฒน์ วงค์ไชย โดยได้ตรวจพบและแคปหน้าจอมาเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2564 นั้น เป็นข้อความเกี่ยวกับการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564 แสดงให้เห็นว่าการแคปหน้าจอและข้อความของผู้กล่าวหามีข้อพิรุธน่าสงสัยเกี่ยวกับวันเวลาที่พบเห็น และมีผู้กล่าวหาเป็นพยานโจทก์ปากเดียวที่อ้างว่าพบเห็นข้อความดังกล่าว โดยพนักงานสอบสวนก็รับว่าไม่ได้ เข้าไปตรวจสอบในบัญชีเฟซบุ๊กดังกล่าวว่ามีข้อความจริงหรือไม่  พยานหลักฐานดังกล่าวจึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ 

ทั้งโพสต์แคปชั่นการแชร์ดังกล่าวเกี่ยวกับเรื่องมาตรา 112 ซึ่งประชาชนทั่วไปมีสิทธิจะเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมายได้ หากศาลนำประเด็นการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ไปประกอบว่าจำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 จะส่งผลประหลาดในทางกฎหมายได้ 

ส่วนภาพข้อความที่มีข้อความว่า “จะเป็นกษัตริย์ไปทำไม…” เป็นข้อความแสดงความคิดเห็น ไม่ใช่ข้อความต้นโพสต์ โดยไม่ทราบว่าต้นโพสต์เป็นเรื่องอะไร และมีลักษณะเป็นการตัดต่อข้อความบางส่วนออก และตัดเอาบางส่วนของข้อความคอมเมนต์มาประกอบกัน โดยที่คำว่า “ตอบกลับ” และ “ถูกใจ” ในฟังก์ชั่นของเฟซบุ๊ก ไม่ได้อยู่ในบรรทัดเดียวกัน ตามลักษณะปกติของแพลตฟอร์ม พยานหลักฐานดังกล่าวจึงไม่น่าเชื่อถือและเป็นที่น่าสงสัย

พยานหลักฐานที่ผู้กล่าวหาจัดทำมา ยังมีลักษณะเป็นการนำข้อความซึ่งมีบริบทเหตุการณ์ วันเวลาแตกต่างกัน แต่นำมาวางประกอบกัน เพื่อมุ่งให้อ่านข้อความทั้งหมดในคราวเดียว แล้วเกิดความเห็นสื่อความหมายไปในทิศทางเดียวกัน เมื่อภาพและข้อความแต่ละโพสต์ไม่ระบุวันเวลาชัดเจน ศาลไม่อาจนำมาวินิจฉัยความหมายแต่ละข้อความ ว่าเป็นเหตุการณ์วันเวลาและสื่อความหมายในบริบทเดียวกันได้

ขณะที่ข้อความที่มาจากการแชร์โพสต์ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ไม่ปรากฏชัดเจนว่าเกี่ยวกับเหตุการณ์ใด ไม่ปรากฏชื่อบุคคลใด ๆ ไม่ปรากฏภาพบุคคลใด เป็นข้อความที่ต้องตีความ ไม่ยืนยันข้อเท็จจริง การตีความขึ้นอยู่กับทัศนคติความเชื่อของแต่ละคนซึ่งอาจแตกต่างกัน การที่ศาลชั้นต้นนำภาพและข้อความมาเชื่อมโยง และตีความเพื่อให้หมายถึงรัชกาลที่ 10 จึงขัดต่อพยานหลักฐานที่ปรากฏ ทั้งองค์ประกอบความผิดดูหมิ่น หมิ่นประมาทนั้น การใส่ความจะต้องระบุตัวบุคคลแน่นอนว่าเป็นใครหรือต้องได้ความหมายถึงบุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะ ข้อความที่ต้องอาศัยการตีความจึงไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

เมื่อมีความสงสัยตามสมควรว่าจําเลยได้กระทําความผิดหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จําเลย โจทก์จึงมีภาระการพิสูจน์ว่ามีการกระทําความผิดเกิดขึ้นจริงและจําเลยเป็นผู้กระทําความผิดนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัจจุบันมาตรา 112 ถูก นํามาใช้เป็นเครื่องมือให้เกิดความขัดแย้งทางสังคมและส่งผลกระทบความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับประชาชน ศาลอุทธรณ์จึงมีความจําเป็นที่ต้องพินิจพิเคราะห์พยานหลักฐานทั้งปวงอย่างถี่ถ้วนยิ่งกว่าเพื่อวางมาตรฐานความยุติธรรมไม่ให้ครหาได้ 

.

ในคดีนี้ ก่อนหน้านี้ศาลจังหวัดนราธิวาสได้กำหนดนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ไปเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2566 โดยกัลยาได้เดินทางไปที่จังหวัดนราธิวาสตามนัดแล้ว แต่ศาลได้เลื่อนฟังคำพิพากษาออกไป เนื่องจากศาลอุทธรณ์ ภาค 9 อยู่ระหว่างจัดทำคำพิพากษา ก่อนนัดฟังคำพิพากษาใหม่ในวันที่ 20 ต.ค. 2566

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

เปิดบันทึกสืบพยานคดี 112 ของ “กัลยา” พนักงานเอกชนนนทบุรี ผู้ถูกฟ้องที่นราธิวาส

6 ข้อสังเกตชุดคดี ม.112 ที่นราธิวาส หลังศาลทยอยนัดฟังคำพิพากษาชั้นอุทธรณ์

ดูฐานข้อมูลคดี “กัลยา”

.

X