วันที่ 6 ก.ย. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของพิมชนก ใจหงษ์ นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ‘รัฐบาลส้นตีน สถาบันก็ส้นตีน🔥🙂’ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 โดยศาลเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 2 ปี แต่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
คดีนี้มี พ.ต.อ.นพฤทธิ์ กันทา ผู้กำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา หลังได้รับมอบหมายจากคณะทํางานคดีความมั่นคงภูธรจังหวัดเชียงใหม่และตำรวจภูธรภาค 5 โดยกล่าวหาว่าคำว่า ‘สถาบัน’ นั้น จำเลยตั้งใจหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
ฝ่ายจำเลยต่อสู้คดี โดยให้การรับว่าเป็นผู้โพสต์ข้อความจริง แต่ข้อความไม่เป็นความผิดเนื่องจากไม่ได้หมายถึงสถาบันกษัตริย์ บริบทในขณะนั้นต้องการสื่อความหมายถึงสถาบันการศึกษา อีกทั้งหากแม้ข้อความจะถูกตีความว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้เป็นการดูหมิ่นถึงองค์พระมหากษัตริย์ อันจะเป็นความผิดตามองค์ประกอบมาตรา 112 ที่คุ้มครองเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แต่คำว่า ‘สถาบัน’ มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่มากกว่าตัวบุคคล
ย้อนอ่านประมวลการต่อสู้คดีนี้ ฤา สถาบัน=พระมหากษัตริย์?: ประมวลการต่อสู้คดี ‘พิมชนก’ โพสต์ข้อความ จับตาการตีความองค์ประกอบ ม.112
.
วันนี้จำเลยเดินทางจากจังหวัดปทุมธานีมายังศาลจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทนายจำเลยเดินทางมาฟังคำพิพากษา โดยคดีนี้ตั้งแต่ในช่วงการสืบพยาน ศาลไม่อนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์จดบันทึกระหว่างสังเกตการณ์การพิจารณาคดี
เวลาประมาณ 9.30 น. ชาคริต ศรีแก้วณวรรณ์ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน นั่งพิจารณาและเริ่มอ่านคำพิพากษา
คำพิพากษาโดยสรุป ได้ไล่เรียงคำเบิกความของเจ้าพนักงานตำรวจผู้กล่าวหา ถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2565 ที่จำเลยไปอยู่บริเวณเส้นทางขบวนเสด็จของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ หลังจากพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยมีการพยายามไลฟ์สดและทางตำรวจได้เข้าห้ามไว้ ในวันถัดมา ผู้กล่าวหาจึงพบข้อความในโพสต์เฟซบุ๊กของจำเลยตามฟ้องในคดีนี้ ขณะที่จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าได้โพสต์ข้อความดังกล่าวจริง
ศาลยังพิจารณาถึงคำเบิกความของพยานโจทก์ปากเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลและหน่วยความมั่นคง ที่กล่าวถึงประวัติการเคลื่อนไหวทางการเมืองของจำเลยก่อนหน้าเกิดเหตุในคดีนี้ จากการติดตามของทางตำรวจ ซึ่งมีการไล่เรียงการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์และมาตรา 112 โดยมีภาพถ่ายจากกิจกรรมต่างๆ ประกอบ พยานโจทก์จึงเข้าใจได้ว่าโพสต์ของจำเลยตามฟ้องนั้นกล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์
ศาลเห็นว่า แม้จำเลยอ้างว่า ‘สถาบัน’ ในข้อความที่โพสต์ จะหมายถึงสถาบันการศึกษา แต่จำเลยก็เคยโพสต์เกี่ยวกับเรื่องสถาบันการศึกษาเพียง 1 ครั้ง และเป็นการมากล่าวอ้างภายหลัง โดยไม่ได้ให้การไว้ตั้งแต่ต้น ศาลเห็นว่าไม่มีน้ำหนักเพียงพอ จึงเชื่อได้ว่าข้อความของจำเลยนั้นมีเจตนากล่าวถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยการหลบเลี่ยง แต่ก็เข้าใจได้ว่าหมายถึงสถาบันใด
แม้ข้อความจะไม่ได้กล่าวถึงพระมหากษัตริย์พระองค์ใด แต่ศาลเห็นว่ามาตรา 112 คุ้มครองทั้งสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็เป็นองค์ประกอบของสถาบันพระมหากษัตริย์
ถ้อยคำของจำเลยเป็นการบริภาษ และมีเจตนาในการดูหมิ่น ให้ร้าย ลดทอนคุณค่าของพระมหากษัตริย์ จึงเห็นว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
พิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา
.
หลังอ่านคำพิพากษา เจ้าหน้าที่ตำรวจศาลได้ควบคุมตัวพิมชนก ไปควบคุมที่ห้องขังใต้ถุนศาล ก่อนทนายความจะได้ยื่นขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์
ต่อมาเวลาประมาณ 13.40 น. ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ โดยให้วางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยจำเลยเตรียมยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป
ทั้งนี้ น่าสังเกตว่าแนวทางการตีความองค์ประกอบมาตรา 112 ยังมีความขัดแย้งแตกต่างกันไปในแต่ละศาล อาทิ เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของ “ฮ่องเต้” ธนาธร วิทยเบญจางค์ บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยมีส่วนที่วินิจฉัยยกฟ้องใน 1 กระทง กรณีอ่านแถลงการณ์ที่มีเนื้อหาพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์ โดยศาลเห็นว่าคำว่า “สถาบันกษัตริย์” ในแถลงการณ์ ไม่ได้ระบุเจาะจงถึงตัวบุคคลหรือองค์พระมหากษัตริย์ ยังไม่ชัดเจนว่าจำเลยมีเจตนากล่าวถึงองค์พระมหากษัตริย์
.