จับกุมมาราธอน ม.112 ‘พิมชนก’ จาก กทม. มาแจ้งข้อหาเชียงใหม่ ก่อนศาลให้ประกัน แต่พลาดโอกาสสอบ TCAS

เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 พิมชนก ใจหงษ์ นักกิจกรรมทางการเมือง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 15 นาย เข้าจับกุมตัว ตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อนถูกนำตัวไปยัง สภ.แม่โจ้ จ.เชียงใหม่ เพื่อสอบสวน และขอศาลฝากขัง ทั้งที่เธอมีสอบ TCAS ในเช้าวันรุ่งขึ้น

เหตุการณ์จับกุมเกิดขึ้นในเวลาประมาณ 16.20 น. กลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจนำโดย พ.ต.อ.เอนก ยอดหมวก รองผู้กำกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล 1 ได้เข้าแสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ลงวันที่ 11 มี.ค. 2565 โดยมีผู้กำกับการ สภ.แม่โจ้ เป็นผู้ร้องขอออกหมาย และมีนายรัตน์ จ๋วงพานิช ผู้พิพากษาศาลจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ออกหมายจับ หน้าที่พักย่านบางบอน โดยเธอไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน แต่กลับมีการออกหมายจับทันที

ตำรวจนำตัวพิมชนกไปจัดทำบันทึกจับกุมที่ สน.แสมดำ โดยมีนักกิจกรรมและทนายความติดตามไป ต่อมาเวลาประมาณ 19.00 น. เศษ หลังทำบันทึกจับกุม เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พาตัวพิมชนกเดินทางโดยรถยนต์ เพื่อไปยัง สภ.แม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่ ที่เป็นเจ้าของคดี โดยมีเพื่อนของพิมชนกติดตามไปด้วย 1 ราย ทางพิมชนกได้แจ้งเรื่องมีกำหนดสอบ TCAS ในเช้าวันพรุ่งนี้ กับทางตำรวจ สน.แสมดำ เอาไว้ด้วย

.

ภาพพิมชนกที่ สน.แสมดำ (ภาพจากเพจไข่แมวชีส)

.

จนกระทั่งเวลาประมาณ 4.45 น. ของวันที่ 19 มี.ค. 2565 พิมชนกได้ถูกนำตัวมาถึง สภ.แม่โจ้ โดยมีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบราว 15 นาย รอรับตัว

หลังทนายความติดตามไป เวลาประมาณ 5.15 น. พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ เรือนแก้ว รองผู้กำกับการสอบสวน สภ.แม่โจ้ ได้ทำการแจ้งข้อกล่าวหาต่อพิมชนก ฐาน “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

ฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาระบุว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 พ.ต.อ.นพฤทธิ์ กันทา ผู้กำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ได้รับมอบหมายจากคณะทํางานคดีความมั่นคงภูธรจังหวัดเชียงใหม่และภูธรภาค 5 เพื่อร่วมกันพิจารณาเหตุ กรณีเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 15.00 น. พิมชนก ได้ใช้บัญชีเฟซบุ๊กทำการโพสต์ข้อความ “รัฐบาลส้นตีน สถาบันก็ส้นตีน” ลักษณะเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ลงในแอพพลิเคชั่นเฟชบุ๊ก และเปิดเป็นสาธารณะ และประชาชนทั่วไปสามารถพบเห็นได้ ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่กระทบต่อสถาบัน ซึ่งเป็นสถาบันหลักและศูนย์รวมใจของชาติ

ในที่ประชุมจึงได้มอบหมายให้ผู้กล่าวหา ในฐานะเจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวน และเป็นผู้ตรวจพบการกระทําผิดดังกล่าว ณ กองอํานวยการรักษาความปลอดภัยร่วม ภายในมหาวิทยาลัยแม่โจ้ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 จึงเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวน เพื่อให้ดําเนินคดีกับพิมชนก

ด้านพิมชนกได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และยังไม่ขอให้การใดๆ ต่อพนักงานสอบสวนในวันนี้ โดยในตอนท้ายของการแจ้งข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้สอบถามความยินยอมให้ยึดโทรศัพท์มือถือและขอรหัสเข้าถึงข้อมูลของพิมชนกด้วย แต่พิมชนกปฏิเสธไม่ให้พนักงานสอบสวนยึดและเข้าถึงข้อมูลในโทรศัพท์มือถือของตนเอง

จากนั้น ทนายความได้ร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวพิมชนกในชั้นสอบสวน เนื่องจากในเช้าวันที่ 19 มี.ค. 2565 พิมชนกมีตารางสอบ TCAS ที่ต้องเข้าร่วมสอบอยู่ แต่ พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ พนักงานสอบสวน ระบุว่าตนเองไม่มีอำนาจตัดสินใจเรื่องดังกล่าว จึงให้ทนายสอบถามผู้กำกับการ สภ.แม่โจ้ ด้านผู้กำกับการระบุว่าเพื่อให้รวดเร็วที่สุด ให้ทนายทำการยื่นประกันตัวพิมชนกที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ หลังพนักงานสอบสวนทำการยื่นขอฝากขัง เท่ากับตำรวจไม่อนุญาตให้ประกันตัวในชั้นสอบสวน

เวลาประมาณ 8.00 น. พนักงานสอบสวน พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่โจ้ ได้ควบคุมตัวพิมชนกขึ้นรถตำรวจ เดินทางไปยื่นขอฝากขังที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีการนำตัวพิมชนกไปควบคุมไว้ในห้องขังใต้ถุนศาลทันที แต่เนื่องจากเป็นวันหยุดราชการในวันเสาร์ ทำให้ในตอนแรก ไม่มีเจ้าหน้าที่ศาลที่เกี่ยวข้องกับการประกันตัว มารับคำร้อง

พนักงานสอบสวนยังระบุในการขอฝากขังต่อศาล ว่าขอคัดค้านการประกันตัวผู้ต้องหา โดยอ้างว่าคดีมีอัตราโทษสูง หากปล่อยตัวไป เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือก่อเหตุร้ายประการอื่น

จากนั้นเวลาประมาณ 9.30 น. ได้มีเจ้าหน้าที่ศาลมารับเรื่องการขอปล่อยตัวชั่วคราวของพิมชนก และดำเนินการทางเอกสาร จนกระทั่งเวลาประมาณ 10.30 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อนุญาตให้พนักงานสอบสวนฝากขังพิมชนกในผัดแรก เป็นระยะเวลา 12 วัน ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยขอวางหลักทรัพย์จำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์

จนกระทั่งเวลา 11.40 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพิมชนก โดยกำหนดเงื่อนไขในการปล่อยตัว ได้แก่ ห้ามผู้ต้องหาลงข้อความเสื่อมเสียในสังคมออนไลน์หรือกระทำการใดๆ อันเป็นเหตุความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาลเท่านั้น และให้ผู้ต้องหามารายงานตัวต่อศาลทุก 12 วัน

เวลาประมาณ 12.30 น. พิมชนกได้รับการปล่อยตัวจากห้องคุมขังของศาล รวมระยะเวลาตั้งแต่ถูกจับกุมตัว ส่งตัวมาสอบสวนที่จังหวัดเชียงใหม่ และฝากขังต่อศาลแล้ว พิมชนกถูกควบคุมตัวไว้เป็นเวลากว่า 20 ชั่วโมง และถูกพาตัวเดินทางไกลเป็นระยะทางกว่า 700 กิโลเมตร รวมทั้งยังไม่สามารถไปสอบ TCAS ตามกำหนดการได้ทันเวลาอีกด้วย

สำหรับคดีนี้ เป็นคดีแรกที่พิมชนกถูกกล่าวหาในข้อหาตามมาตรา 112 หลังก่อนหน้านี้เธอถูกกล่าวหาในคดีจากการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองมาแล้วรวม 6 คดี โดยในจำนวนนี้สิ้นสุดไปแล้ว 4 คดี เนื่องจากคดีมีอัตราโทษปรับ

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

.

X