ตร.จับแม่ค้าออนไลน์เชียงใหม่ ถูกกล่าวหาม.112-พ.ร.บ.คอมฯ โพสต์เฟซบุ๊ก ศาลไม่ให้ประกัน ระบุเป็นเรื่องร้ายแรง

เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 64 เวลาประมาณ 16.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่ามีผู้ถูกจับกุมในอำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ตามหมายจับ ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยอยู่ระหว่างถูกนำตัวไปที่สภ.ช้างเผือก หลังทนายความติดตามไป ได้พบกับผู้ถูกจับกุมชื่อ “พรพิมล” (สงวนนามสกุล) เป็นแม่ค้าขายของออนไลน์ อายุ 22 ปี พร้อมกับแฟนหนุ่มที่แจ้งเรื่องเพื่อขอความช่วยเหลือจากทนายความ

 

ถูกจับกุมตามหมายจับศาลเชียงใหม่ ตรวจยึดเครื่องมือสื่อสารแม้ไม่มีหมาย

หลังสอบถามข้อมูลและขอตรวจสอบเอกสาร พบว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.ช้างเผือก ได้นำกำลังชุดสืบสวนทั้งในและนอกเครื่องแบบจำนวน 5-6 นาย นำโดย ร.ต.อ.เกรียงศักดิ์ เครืองทอง รองสารวัตรสืบสวนสภ.ช้างเผือก และมีตำรวจหญิงเข้าร่วมการจับกุมพรพิมลจากหอพักในจังหวัดเชียงใหม่ โดยได้แสดงหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่ 75/2564 ลงวันที่ 8 ก.พ. 64 ในข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา”

เจ้าหน้าที่ยังแสดงหมายค้นของศาลจังหวัดเชียงใหม่ที่ 85/2564 ลงวันที่ 31 มี.ค. 64 เพื่อเข้าตรวจค้นห้องพัก และได้ทำการตรวจยึดโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอแพดของพรพิมลไว้ด้วย

หลังจากจับกุม ตำรวจได้นำตัวเธอมายัง สภ.ช้างเผือก เพื่อจัดทำบันทึกจับกุม ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่ทนายความได้เข้าไปพบ จึงได้ให้ทางตำรวจดำเนินกระบวนการต่อไป โดยมีทนายความร่วมอยู่ด้วย

เมื่อทนายความสอบถามเกี่ยวกับการตรวจยึดและเข้าถึงโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ไอแพด ว่าทางตำรวจได้มีการขอคำสั่งศาลเพื่อเข้าถึงอุปกรณ์ดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ หรือไม่ ทางตำรวจระบุว่าเบื้องต้น เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในการยึดอุปกรณ์เหล่านี้ไว้ แต่ขั้นตอนเรื่องการเข้าถึงข้อมูลภายในเครื่องต้องเป็นขั้นตอนของพนักงานสอบสวนต่อไป ทางตำรวจจึงได้นำอุปกรณ์ดังกล่าวไปใส่ถุงซิปล็อคเพื่อมอบให้พนักงานสอบสวน

หลังจัดทำบันทึกจับกุมและให้ผู้ถูกจับกุมลงลายมือชื่อแล้ว เป็นเวลาประมาณ 18.30 น. เจ้าหน้าที่ชุดจับกุมได้ส่งตัวผู้ถูกจับกุมให้กับพนักงานสอบสวน พ.ต.ต.ภัทรภพ ถนอมกุลกาญจน์ เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีดำเนินการต่อไป โดยพนักงานสอบสวนระบุว่าจะทำการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนผู้ถูกจับกุมในวันรุ่งขึ้น และจะต้องนำตัวไปขออำนาจศาลในการฝากขัง

พรพิมลจึงถูกควบคุมตัวไว้ที่ห้องขังของ สภ.ช้างเผือก ตามอำนาจการควบคุมตัวของพนักงานสอบสวน 48 ชั่วโมง เจ้าหน้าที่ยังระบุเหตุที่ยังไม่เริ่มทำการแจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนทันที เนื่องจากเห็นว่าผู้ถูกจับกุมยังคงมีอาการสับสนและตื่นตกใจ จึงอยากให้ทนายความได้พูดคุยให้คำปรึกษาก่อน

 

แจ้ง 2 ข้อหา เหตุโพสต์ข้อความ 1 โพสต์ เมื่อเดือนตุลา 63 มีประชาชนทั่วไปกล่าวหา

กระทั่งเช้าวันที่ 1 เม.ย. 64 พนักงานสอบสวนได้เริ่มขั้นตอนการแจ้งข้อกล่าวหาต่อพรพิมล พร้อมทนายความที่ติดตามไปร่วมรับฟังการสอบสวน โดยเธอถูกแจ้ง 2 ข้อกล่าวหา คือข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

เจ้าหน้าที่ระบุพฤติการณ์ข้อกล่าวหาว่าเมื่อวันที่ 18 ต.ค. 63 เวลาประมาณ 17.30 น. ได้มีนายทีฆทัศน์ (ผู้กล่าวหาประสงค์ไม่เปิดเผยนามสกุล) ได้ใช้โทรศัพท์มือถือเปิดใช้งานเฟซบุ๊ก พบผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่เป็นเพื่อนในเฟซบุ๊ก ได้โพสต์ข้อความ 1 ข้อความ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 63 โดยข้อความดังกล่าวนั้นเป็นการใส่ความในหลวงรัชกาลที่ 10 ต่อบุคคลที่สามด้วยการโฆษณาด้วยเอกสาร โดยประการที่น่าจะทำให้ทรงเสื่อมเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง และมีผลกระทบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของรัฐ อีกทั้งการกระทำดังกล่าวยังเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญาอีกด้วย

พรพิมลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยได้ให้การในรายละเอียดทางคดีว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเฟซบุ๊กที่ถูกกล่าวหา อีกทั้งยังได้ยินยอมให้เข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งโทรศัพท์มือถือและไอแพด ที่ถูกยึดไว้โดยตำรวจตั้งแต่วานนี้ เพื่อยืนยันว่าเธอไม่ได้ใช้เฟซบุ๊กตามที่ถูกกล่าวหา และจะขอให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือ

ระหว่างที่ทำการสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ให้ตำรวจสภ.ช้างเผือกอีกนายหนึ่ง ไปยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 เป็นเวลา 12 วัน ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากศาลจังหวัดเชียงใหม่ มายังสภ.ช้างเผือก ขณะที่ทนายความก็ได้ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อคัดค้านการฝากขังของพนักงานสอบสวน และขอให้มีการไต่สวนถึงเหตุจำเป็นในการฝากขังของพนักงานสอบสวน

 

ศาลอนุญาตให้ฝากขัง และไม่ให้ประกันตัว อ้างคดีร้ายแรงเกรงจะหลบหนี

ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. พนักงานสอบสวนได้นำตัวผู้ต้องหาเดินทางไปที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำการไต่สวนคำร้องฝากขังขอฝากขัง ด้านพนักงานสอบสวนได้ให้เหตุผลการต้องฝากขังผู้ต้องหาต่อศาลว่า มีพยานบุคคลอีก 6 ปาก ที่ต้องทำการสอบสวนและยังมีพยานเอกสารที่ต้องรวบรวมอีกจำนวนมาก พร้อมกับต้องรอผลการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหาอีก

ทนายความของผู้ต้องหาได้ถามค้านเกี่ยวกับพฤติการณ์ตั้งแต่ถูกจับกุมมากระทั่งแจ้งข้อกล่าวหาของตำรวจ พนักงานสอบสวนก็ได้ยืนยันว่าผู้ต้องหาให้ความร่วมมืออย่างดีมาตลอด ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ในส่วนพยานบุคคล 6 ปาก ที่พนักงานสอบสวนกล่าวถึง ก็พบว่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งหมด ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องทำการสอบสวนต่อหน้าผู้ต้องหา พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้เอง ส่วนพยานเอกสารอีกจำนวนมากที่ต้องรวบรวมตลอดไปจนถึงขั้นตอนการตรวจลายพิมพ์นิ้วมือเพื่อตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของผู้ต้องหา ก็เป็นขั้นตอนที่พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการไปได้โดยไม่เกี่ยวข้องกับตัวผู้ต้องหา อีกทั้งพนักงานสอบสวนยังยืนยันว่าหากมีขั้นตอนทางกฎหมายใดๆ เกี่ยวกับตัวผู้ต้องหา สามารถจะประสานงานผู้ต้องหามาพบได้

หลังการไต่สวน ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังตามคำร้องของพนักงานสอบสวน โดยให้เหตุผลโดยสรุปว่า ตามกฎหมายเหตุที่จะออกหมายขังมี 2 เหตุด้วยกัน คือ 1.อัตราโทษสูงเกิน 10 ปี และ 2. ผู้ต้องหามีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน ซึ่งหากเข้าเงื่อนไขเหตุใดเหตุหนึ่งก็ได้ ปรากฎตามคำร้องของพนักงานสอบสวนว่าคดีนี้มีอัตราโทษสูงเกิน 10 ปี แม้ที่พนักงานสอบสวนตอบทนายความถามค้าน เรื่องไม่มีพฤติการณ์หลบหนีและไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานนั้น ยังไม่อาจรับฟังได้มีน้ำหนักเพียงพอ มีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาเป็นเวลา 12 วัน

เวลาประมาณ 17.00 น. ทีมทนายความและอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เดินทางมาเป็นนายประกันในคดีนี้ ก็ได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวผู้ต้องหาด้วยเงินสดจำนวน 300,000 บาท ต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่ โดยเป็นหลักทรัพย์จากทางกองทุนดา ตอร์ปิโด

ต่อมาเวลาประมาณ 17.30 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่โดยผู้พิพากษา นายรัตน์ จ๋วงพานิช ได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว โดยระบุว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาประกอบกับข้อความที่ผู้ต้องหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ถือว่าเป็นเรื่องร้ายแรง ซึ่งพนักงานสอบสวนได้คัดค้านการประกันตัว หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว อาจจะกระทำในลักษณะเดียวกันอีก เกรงว่าจะหลบหนี ยากแก่การติดตามตัว จึงให้ยกคำร้อง”

การไม่ได้ประกันตัวของพรพิมล ทำให้เธอถูกนำตัวไปคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ อำเภอเมืองเชียงใหม่

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน หลังการกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกครั้งในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 จนถึงวันที่ 1 เมษายน 2564 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 82 คน ใน 74 คดี

พรพิมลนับเป็นผู้ถูกคุมขังระหว่างการต่อสู้คดีการเมือง รายที่ 20 โดยเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 รายที่ 13

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

>> สถิติผู้ถูกคุมขังในคดีการเมืองระหว่างการต่อสู้คดี ปี 2564

 

X