อัยการยื่นฟ้อง ม.112-พ.ร.บ.คอมฯ “พรพิมล” ถูกคุมตัวในศาลนาน 8 ชม. ก่อนได้ประกันด้วยหลักทรัพย์เดิม 1.5 แสน

วันที่ 24 มิ.ย. 64 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ พนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้อง “พรพิมล” (สงวนนามสกุล) แม่ค้าขายของออนไลน์ อายุ 22 ปี ด้วยข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ โดยเธอถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในห้องขังของศาลจังหวัดเชียงใหม่นานกว่า 8 ชั่วโมง ก่อนศาลจังหวัดเชียงใหม่จะอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี

ตั้งแต่เวลาประมาณ 9.00 น. “พรพิมล” ได้เดินทางเข้ารายงานตัวตามนัดหมายของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่เธอได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวน หลังถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่มาเป็นเวลา 23 วัน และศาลได้กำหนดให้เข้ารายงานตัวเป็นระยะ เช้าวันนี้หลังเข้ารายงานตัวต่อศาล เจ้าหน้าที่ศาลได้ระบุว่าพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องคดีพรพิมลแล้ว โดยเธอและทนายความไม่ทราบล่วงหน้ามาก่อน

คำฟ้องของอัยการลงวันที่ 23 มิ.ย. 64 บรรยายฟ้องกล่าวหาพรพิมล ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มีเนื้อโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 2 บัญญัติว่า “ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” และมาตรา 3 บัญญัติว่า “อํานาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อํานาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ” และ มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใดๆ มิได้”

ระหว่างวันที่ 16 ตุลาคม 2563 เวลาใดไม่ปรากฏชัด ถึงวันที่ 18 ตุลาคม 2563 ต่อเนื่องกันตลอดมา จําเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการใช้อุปกรณ์ พิมพ์ข้อความเข้าไปเผยแพร่ในระบบอินเทอร์เน็ตผ่านทางโปรแกรมเฟซบุ๊ก ด้วยการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร และโดยมีเจตนาให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน  ซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายตรงตัวอักษร เป็นคําสบประมาทและเปรียบเทียบ ข้อความที่จําเลยพิมพ์ทั้งหมดดังกล่าวเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง

ทั้งนี้ โดยจําเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยกและเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และระบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และออกมาแสดงความคิดเห็นเป็นจํานวนมาก เพื่อก่อความไม่สงบในบ้านเมืองถึงการกระทําดังกล่าว อันเป็นการทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของศรัทธาและเคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ และเป็นการทําด้วยวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต อีกทั้ง ยังเป็นการกระทําเพื่อให้ประชาชนเกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนขึ้นในราชอาณาจักร และเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และทําให้ประเทศชาติไม่เป็นปึกแผ่นอันกระทบต่อความมั่งคงของประเทศ ซึ่งเป็นการกระทําความผิดเกี่ยวกับความมั่งคงแห่งราชอาณาจักร อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย

ในท้ายคำฟ้องดังกล่าวของพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ ระบุว่า หากจําเลยยื่นคําร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวโจทก์ขอคัดค้าน เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงและเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในราชอาณาจักร เกรงว่าจําเลยจะหลบหนีและไปก่อคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ซ้ำอีก

หลังจากทราบว่าอัยการจังหวัดเชียงใหม่ได้ยื่นฟ้องพรพิมลต่อศาลจังหวัดเชียงใหม่แล้ว เวลาประมาณ 9.30 น. พรพิมลได้ถูกนำตัวไปควบคุมไว้ในห้องขังใต้ถุนศาล และต่อมาศาลได้มีการวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์เพื่อสอบถามคำให้การของจำเลย ซึ่งจำเลยยืนยันให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ขอต่อสู้คดีถึงที่สุด

ระหว่างนั้นเองทนายความและนายประกัน ซึ่งเป็นนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ได้ยื่นเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราว ด้วยหลักทรัพย์เงินสดจำนวน 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ซึ่งเป็นหลักทรัพย์ที่เคยใช้ขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นสอบสวนมาแล้ว เพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีต่อไป โดยนายประกันได้ทำการเซ็นเอกสารเพื่อขอปล่อยตัวชั่วคราวพรพิมล ยื่นต่อศาลในเวลาประมาณ 11.00 น.

จนกระทั่งเวลาประมาณ 17.40 น. เป็นเวลากว่า 8 ชั่วโมงที่พรพิมลถูกควบคุมตัวอยู่ภายในห้องขังของศาล ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรพิมลระหว่างการพิจารณาคดี ด้วยหลักทรัพย์เป็นเงินสดจำนวน 150,000 บาท และให้ปล่อยตัวออกจากห้องขังใต้ถุนศาล

ศาลกำหนดนัดหมายคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพจำเลยต่อไปในวันที่ 20 ก.ค. 64 เวลา 13.30 น. และนัดพร้อมเพื่อสอบถามคำให้การในวันที่ 16 ส.ค. 64 เวลา 13.30 น.

สำหรับคดีนี้ พรพิมลถูกจับกุมจากที่พักในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อวันที่ 31 มี.ค. 64 ตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงใหม่ ก่อนถูกแจ้งข้อกล่าวหาที่ สภ.ช้างเผือก เหตุจากการโพสต์ข้อความ 1 ข้อความ โดยมีเพื่อนในเฟซบุ๊กไปแจ้งความกล่าวหา เธอถูกพนักงานสอบสวนนำตัวไปขอฝากขังกับศาลในวันถัดมา และศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว หลังจากยื่นประกันตัว 2 ครั้ง กระทั่งต่อมาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว หลังเธอคุมขังในเรือนจำเป็นระยะเวลา 23 วัน

 

ย้อนอ่านรายงานข่าวกรณีพรพิมล

>> ตร.จับแม่ค้าออนไลน์เชียงใหม่ ถูกกล่าวหาม.112-พ.ร.บ.คอมฯ โพสต์เฟซบุ๊ก ศาลไม่ให้ประกัน ระบุเป็นเรื่องร้ายแรง

>> ศาลไม่ให้ประกัน คดี 112 “พรพิมล” ครั้งที่ 2 แม้ผู้ต้องหาแถลงจะยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ

>> ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ประกันตัว “พรพิมล” คดี ม.112 หลังถูกคุมขัง 23 วัน 

 

X