ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ให้ประกันตัว “พรพิมล” คดี ม.112 หลังถูกคุมขัง 23 วัน

23 เม.ย. 64 ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงสายวันนี้ ทนายความได้เข้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว “พรพิมล” (สงวนนามสกุล) แม่ค้าขายของออนไลน์ อายุ 22 ปี ที่ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก 1 ข้อความ

ก่อนหน้านี้ ทนายความได้ยื่นขอประกันตัวพรพิมลมาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ วันที่ 1 เม.ย. 64 และ 9 เม.ย. 64 โดยที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวทั้งสองครั้ง ทำให้พรพิมลถูกคุมขังในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่มาเป็นเวลา 23 วัน

>> ตร.จับแม่ค้าออนไลน์เชียงใหม่ ถูกกล่าวหาม.112-พ.ร.บ.คอมฯ โพสต์เฟซบุ๊ก ศาลไม่ให้ประกัน ระบุเป็นเรื่องร้ายแรง

>> ศาลไม่ให้ประกัน คดี 112 “พรพิมล” ครั้งที่ 2 แม้ผู้ต้องหาแถลงจะยอมรับเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ

 

ต่อมาเวลาประมาณ 15.55 น. ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวพรพิมล โดยระบุว่า “พิเคราะห์แล้ว แม้คดีนี้จะเป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง แต่ตามคำร้องขอฝากขังของพนักงานสอบสวน ไม่ปรากฏเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหามีพฤติการณ์หรือจะกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งในอันที่ศาลจะใช้ดุลยพินิจสั่งไม่ปล่อยชั่วคราวได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 

“ที่พนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวก็อ้างแต่เพียงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ เท่านั้น ทั้งตามบันทึกการจับกุมปรากฏว่าผู้ต้องหาถูกจับ ณ สถานที่อยู่อาศัยของผู้ต้องหาเอง จึงน่าเชื่อในเบื้องต้นว่าผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี แต่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่งแน่นอน ประกอบกับผู้ต้องหาให้การปฏิเสธว่าไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาระหว่างสอบสวน ตีราคาประกัน 150,000 บาท ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาหลักประกันแล้วดำเนินการต่อ”

หลังคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ทนายความพร้อมนายประกัน ที่เป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วางหลักทรัพย์เป็นเงินสด 150,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ พร้อมยื่นเอกสารขอประกันตัว ก่อนที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา โดยนัดให้มารายงานตัวที่ศาลอีกครั้งในวันที่ 25 พ.ค. 64

จนเวลาประมาณ 19.00 น. พรพิมลได้รับการปล่อยตัวออกจากทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่

 

เปิดคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันตัว “พรพิมล”

สำหรับคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของทนายความที่ยื่นต่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีเนื้อหาโดยสรุป ดังนี้   

1. ก่อนถูกจับกุมในคดีนี้ ผู้ต้องหาไม่เคยยุ่งเกี่ยวหรือเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมือง กิจกรรมการประท้วงขับไล่รัฐบาลต่างๆ เลยแม้แต่ครั้งเดียว อีกทั้งผู้ต้องหาไม่เคยมีประวัติเกี่ยวกับการกระทำความผิดอาชญากรรมใดๆ มาก่อน ในคดีนี้ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยยืนยันว่าผู้ต้องหาไม่ได้กระทำความผิดและประสงค์จะต่อสู้คดีจนถึงที่สุด

2. พฤติการณ์ตั้งแต่ตำรวจเข้าจับกุม ผู้ต้องหาก็ยืนยันความบริสุทธิ์ใจและให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างดีโดยตลอดทุกขั้นตอน โดยได้มอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ให้กับตำรวจชุดจับกุมทันที และได้ลงชื่อยินยอมต่อพนักงานสอบสวนให้เข้าถึงข้อมูลในอุปกรณ์ดังกล่าวแล้ว ในพฤติการณ์ไม่ได้ต่อสู้ขัดขืนแต่อย่างใด โดยพนักงานสอบสวนได้ตอบคำถามค้านทนายความว่า “ในวันที่ผู้ต้องหาถูกจับกุมไม่มีการขัดขืนและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี” และ “สามารถติดตามผู้ต้องหาเพื่อมาพบได้ หากมีการนัดหมาย โดยสามารถติดต่อผ่านทางทนายความได้” จึงย่อมได้รับการสันนิษฐานตามกฎหมายว่าไม่มีพฤติการณ์หลบหนีแต่อย่างใด ย่อมไม่มีเหตุอันสมควรใดให้พนักงานสอบสวนคัดค้านการประกันตัว

3. ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดาประกอบสัมมาชีพค้าขายสินค้าออนไลน์ หารายได้เลี้ยงดูตนเองมาโดยตลอดตั้งแต่ยังเด็ก ไม่ได้รับการอุปการะจากครอบครัวมาเป็นเวลานานหลายปีแล้ว การค้าขายยังจะต้องปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายกับผู้อื่น ไม่มีผู้ใดสามารถกระทำแทนได้ จะทำให้สูญเสียลูกค้า และรายได้หลักสำหรับจุนเจือเลี้ยงดูตนเอง การควบคุมตัวไว้เป็นเวลานาน จะทำให้ผู้ต้องหาเดือดร้อนอย่างมาก และไม่สามารถจะเริ่มต้นอาชีพใหม่ได้อย่างง่ายดาย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิทธิในการประกอบอาชีพสุจริตของผู้ต้องหา

4. ทั้งในรัฐธรรมนูญไทยและกติกาสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ที่ประเทศไทยเป็นภาคี ล้วนรับรองหลักสันนิษฐานว่าบุคคลย่อมเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด ส่งผลให้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาได้บัญญัติรองรับสิทธิที่จะไม่ถูกควบคุมตัวไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี และในการได้รับการปล่อยชั่วคราวของผู้ต้องหาหรือจำเลยที่อยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดีให้สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวเช่นกัน  ในคดีนี้ ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ผู้ต้องหาสมควรมีโอกาสได้พิสูจน์ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์และไม่ต้องรับโทษในทางอาญาได้

ผู้ต้องหาต้องถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2564 จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลา 23 วันแล้ว โดยที่ไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว เสมือนว่าผู้ต้องหาต้องได้รับโทษทางอาญาก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ทำให้ผู้ต้องหาต้องทนทุกข์ทรมานร่างกายและจิตใจจากการสูญเสียอิสรภาพเป็นอย่างมาก

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนี้ส่งผลต่อโอกาสที่จะแสวงหาพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์และเสียโอกาสที่จะต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากคดีของผู้ต้องหานี้มีหลักฐานสำคัญคือพยานหลักฐานอิเล็กทรอนิกส์ แต่เนื่องจากการปรึกษาคดีกับทนายความกับผู้ต้องหาในทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ที่เป็นสถานที่คุมขังผู้ต้องหา ขาดความสะดวกอย่างยิ่ง เนื่องจากเรือนจำฯ มีข้อห้ามมิให้ผู้ใดนำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในพื้นที่เยี่ยม ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมทำให้ทนายความไม่สามารถแสวงหาหลักฐานทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้

การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหาโดยอ้างว่าข้อความที่ผู้ต้องหานำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเรื่องร้ายแรง หากได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวอาจจะกระทำในลักษณะเดียวกันอีก เกรงว่าจะหลบหนียากแก่การติดตามตัว ทั้งที่ผู้ต้องหายังมิได้ผ่านขั้นตอนการพิจารณาคดีมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าผู้ต้องหาได้กระทำความผิด หรือได้นำเข้าข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นจริงหรือไม่ คำสั่งดังกล่าวของศาลชั้นต้นจึงเป็นการวินิจฉัยทำนองว่า ผู้ต้องหาได้เป็นผู้กระทำความผิดแล้ว ย่อมถือว่าเป็นการใช้ดุลพินิจที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 อย่างชัดแจ้ง

5. ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดาผู้ประกอบสัมมาชีพที่ไม่ได้มีอิทธิพลหรือความสามารถจะไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ อีกทั้งพยานหลักฐานในคดีนี้ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่หรือคอมพิวเตอร์ก็อยู่ในความควบคุมของพนักงานสอบสวนแล้วทั้งสิ้น โดยพนักงานสอบสวนเจ้าของสำนวนคดีนี้ได้ได้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบปากคำทำบันทึกคำให้การของผู้ต้องหาไว้เรียบร้อยแล้ว

พนักงานสอบสวนได้ตอบคำถามค้านในคำให้การพยานผู้ร้อง ว่ายังรวบรวมพยานหลักฐานไม่เสร็จโดยจะต้องสอบพยานบุคคลอีก 6 ปาก พนักงานสอบสวนสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องสอบสวนต่อหน้าผู้ต้องหา การรวบรวมพยานหลักฐานเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนโดยไม่ต้องมีผู้ต้องหาอยู่ด้วย และสามารถติดตามผู้ต้องหาเพื่อมาพบได้หากมีการนัดหมาย การตรวจพิสูจน์อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ การตรวจสอบประวัติการต้องโทษจากกองทะเบียนประวัติอาชญากร ก็เป็นขั้นตอนการดำเนินการภายในของฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ ผู้ต้องหาจึงไม่อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานใดๆ ของพนักงานสอบสวนได้อีก การปล่อยตัวผู้ต้องหาจึงไม่อาจเป็นอุปสรรค และไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของพนักงานสอบสวน

6. ผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 พร้อมคำร้องโดยให้คำมั่นสัญญาว่าผู้ต้องหาจะไม่กล่าวพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะไม่เข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยผู้ต้องหายินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขปล่อยตัวชั่วคราวทุกประการ แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งว่า “ไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ยกคำร้อง” ย่อมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ต้องหาอย่างยิ่ง

นอกจากนี้คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวนี้ยังขัดกับแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ฉบับที่ 6 ในเดือนเมษายน 2564 ของสำนักงานศาลยุติธรรม เกี่ยวกับการบริหารจัดการคดี ข้อ 2.10 การพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในทุกชั้นศาล ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับแนวปฏิบัติในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 3) ซึ่งมีเจตนารมณ์ มุ่งที่จะลดความแออัดในเรือนจำอันอาจนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ดังนั้นกล่าวการมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา จึงเป็นไปตามแนวทางปฏิบัติฉบับดังกล่าว

 

X