วันที่ 6 ก.ย. 2566 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาในคดีของพิมชนก ใจหงษ์ นักศึกษาและนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ถูกฟ้องคดีในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เนื่องจากโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ‘รัฐบาลส้นตีน สถาบันก็ส้นตีน🔥🙂’ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565
คดีนี้มี พ.ต.อ.นพฤทธิ์ กันทา ผู้กำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้กล่าวหา หลังได้รับมอบหมายจากคณะทํางานคดีความมั่นคงภูธรจังหวัดเชียงใหม่และตำรวจภูธรภาค 5
พิมชนกถูกตำรวจเข้าจับกุมตัวจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 โดยไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน และถูกนำตัวเดินทางกว่า 700 กิโลเมตร มายัง สภ.แม่โจ้ สถานีตำรวจเจ้าของคดี ก่อนจะได้รับการประกันตัวระหว่างสอบสวน โดยศาลกำหนดให้ไปรายงานตัวทุกๆ 12 วัน ในช่วงระยะฝากขัง รวมเป็นระยะเวลา 7 ครั้ง ก่อนอัยการมีคำสั่งฟ้องคดี
คดีนี้ศาลจังหวัดเชียงใหม่ดำเนินการสืบพยานโจทก์และจำเลยไประหว่างวันที่ 21–23 และ 27-28 มิ.ย. 2566
.
ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์กล่าวหาโพสต์ ‘สถาบันส้นตีน’ หมายถึงเป็นการด่าสถาบันกษัตริย์ ด้านจำเลยรับว่าโพสต์จริง แต่หมายถึงสถาบันการศึกษา
ในการต่อสู้คดี พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องว่าโพสต์ข้อความของจำเลยนั้น ‘สถาบัน’ มีความหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และคำว่า ‘ส้นตีน’ เป็นคำบริภาษ เป็นคำด่าที่ใช้อวัยวะเบื้องต่ำในการสื่อความหมาย เมื่อนำมารวมกันย่อมแสดงให้เห็นเจตนาของจำเลยในการดูหมิ่น ให้ร้าย หรือลดทอนคุณค่าสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้พระมหากษัตริย์เสื่อมเสียชื่อเสียง
ด้านจำเลยให้การรับว่าตนเป็นผู้โพสต์ข้อความดังกล่าว แต่ข้อความไม่เป็นความผิดเนื่องจากไม่ได้หมายถึงสถาบันกษัตริย์ บริบทในขณะนั้นต้องการสื่อความหมายถึงสถาบันการศึกษา อีกทั้งหากแม้ข้อความจะถูกตีความว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์ แต่ก็ไม่ได้เป็นการดูหมิ่นถึงองค์พระมหากษัตริย์ อันจะเป็นความผิดตามองค์ประกอบมาตรา 112 ที่คุ้มครองเฉพาะตัวบุคคลเท่านั้น แต่คำว่า ‘สถาบัน’ มีองค์ประกอบอื่นๆ ที่มากกว่าตัวบุคคล
สำหรับการสืบพยานทั้ง 5 วัน เดิมนัดหมายสืบพยานโจทก์จำนวน 9 ปาก แต่เนื่องจากจำเลยรับข้อเท็จจริงว่าเป็นผู้โพสต์เฟซบุ๊ก จึงสามารถรับคำให้การชั้นสอบสวนของพยานปากผู้ตรวจสอบเฟซบุ๊กและเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดจับกุมได้รวม 3 ปาก โจทก์คงเหลือพยานที่นำเข้าสืบพยานทั้งสิ้น 6 ปาก ได้แก่ ผู้กล่าวหา, เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวน, ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์, ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และพนักงานสอบสวน
ส่วนจำเลยนำพยานเข้าสืบจำนวน 3 ปาก ได้แก่ จำเลย ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาศาสตร์
ทั้งนี้คดีนี้ ศาลผู้พิจารณาคดีไม่ให้ผู้สังเกตการณ์พิจารณาจดบันทึกระหว่างการสืบพยานตั้งแต่ในวันแรกด้วย
คดีนี้ ต้องจับตาการตีความคำว่า ‘สถาบัน’ จะสามารถส่อความหมายว่าเป็น ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ได้หรือไม่ และหากถูกตีความออกมาในลักษณะดังกล่าว คำว่า ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ จะกลายเป็นคำที่ถูกคุ้มครองไว้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่บัญญัติคุ้มครองตัวบุคคล คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หรือไม่ และอาจส่งผลเป็นการตีความข้อหามาตรานี้อย่างกว้างขวางออกไปหรือไม่
.
.
ตำรวจผู้กล่าวหา-หัวหน้าข่าวความมั่นคง-สันติบาล: อ้างจำเลยเคยมีพฤติการณ์ต่อต้านสถาบันฯ เป็นบุคคลเฝ้าระวัง ทำให้เข้าใจได้ว่า ‘สถาบัน’ หมายถึงสถาบันกษัตริย์
เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งสามปาก ได้แก่ พ.ต.อ.นพฤทธิ์ กันทา กองกำกับการสืบสวนตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่ ผู้กล่าวหาในคดีนี้, พ.ต.ท.ประเทือง พัฒนโฆษิต หัวหน้าการข่าวความมั่นคง และ พ.ต.ท.คฑาวุธ เนียมกรด กองบังคับการตำรวจสันติบาล 1 เบิกความใกล้เคียงกัน
โดยสรุปในช่วงเวลาเกิดเหตุ พ.ต.อ.นพฤทธิ์ และ พ.ต.ท.ประเทือง ได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่กองอำนวยการร่วมที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ เสด็จแทนพระองค์ในการพระราชทานปริญญาบัตรให้แก่ผู้จบการศึกษาที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้
พ.ต.อ.นพฤทธิ์ ได้สำรวจบุคคลซึ่งอาจมีการเคลื่อนไหวที่อาจกระทบต่อการเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ โดยหนึ่งในบุคคลที่ได้รับแจ้งให้ติดตามเฝ้าระวังคือจำเลยในคดีนี้ เนื่องจากจำเลยเคยชูป้ายในครั้งที่สมเด็จพระเทพฯ เดินทางมาพระราชทานปริญญาบัตรที่หอประชุมมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พ.ต.อ.นพฤทธิ์ เบิกความต่อไปถึงเหตุการณ์ก่อนหน้าวันเกิดเหตุ ในวันที่ 16 ก.พ. 2565 จำเลยได้เดินทางเข้ามายังเส้นทางที่จะมีการเสด็จกลับของสมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ และทำการไลฟ์ภาพสดในเฟซบุ๊ก พ.ต.อ.นพฤทธิ์ กับพวก เห็นว่าจุดดังกล่าวอยู่ใกล้ชิดกับเส้นทางเสด็จ จึงได้เข้าไปเจรจาให้จำเลยออกไปจากจุดดังกล่าว แต่จำเลยไม่ยอมออกไป
ต่อมาในวันเกิดเหตุ วันที่ 17 ก.พ. 2565 ระหว่างที่ พ.ต.อ.นพฤทธิ์ ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่กองอำนวยการร่วมที่มหาวิทยาลัยแม่โจ้ พบว่าจำเลยได้โพสต์เฟซบุ๊กตามข้อความฟ้องในคดีนี้ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถมองเห็นและแชร์ข้อความได้ พร้อมกับพบว่ามีการแชร์ข้อความดังกล่าวไปแล้ว 3 ครั้ง
พ.ต.ท.คฑาวุธ ได้รับแจ้งเหตุว่ามีการโพสต์ข้อความดังกล่าว จึงได้ทำการสนับสนุนข้อมูลให้กับเจ้าหน้าที่สืบค้นข้อมูลจากเฟซบุ๊กทราบว่าจำเลยในคดีนี้เป็นผู้โพสต์ อีกทั้งจำเลยยังเป็นแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองหลายกลุ่ม เช่น กลุ่มมังกรปฏิวัติ กลุ่มรุ่นใหม่นครสวรรค์
พ.ต.อ.นพฤทธิ์ เข้าใจข้อความที่จำเลยโพสต์ว่า ‘รัฐบาลส้นตีน’ หมายความว่า รัฐบาลไทยในยุคปัจจุบัน ส่วนคำว่า ‘ส้นตีน’ เป็นอวัยวะเบื้องล่าง หากอ่านข้อความดังกล่าวแล้ว จะเข้าใจได้เปรียบเทียบรัฐบาลเป็นอวัยวะเบื้องล่างและลงต่ำ ส่วนคำว่า ‘สถาบัน’ เข้าใจได้ว่าหมายถึง สถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งประกอบด้วย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ รวมถึงผู้สำเร็จราชการแทนด้วย เป็นการเปรียบเทียบสถาบันพระมหากษัตริย์ว่าอยู่เบื้องล่างอยู่ต่ำ
พยานเห็นว่าข้อความดังกล่าวสามารถเจาะจงได้ชัดเจนว่าหมายถึงตัวพระมหากษัตริย์ พระราชินี พระบรมวงศานุวงศ์ด้วย เมื่ออ่านแล้วเป็นการด้อยค่า จาบจ้วง และบุคคลที่มาพบข้อความจะรู้สึกเสื่อมศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ และตัวพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้ พ.ต.อ.นพฤทธิ์ ได้ตรวจสอบเฟซบุ๊กของจำเลย พบโพสต์ที่น่าจะเกี่ยวกับสมาชิกราชวงศ์อีกด้วย ส่วน พ.ต.ท.ประเทือง อ้างว่าจำเลยมีพฤติการณ์ต่อต้านสถาบันกษัตริย์ โดยเบิกความถึงกรณีจำเลยถูกดำเนินคดีกรณีชักธงแดง มีตัวเลข 112 ที่ สภ.คลองหลวง ในช่วงปี 2564, การร่วมกิจกรรมยืน หยุด ทรราช เป็นเวลา 112 นาที โดยจำเลยยืนถือป้าย ‘ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง ยกเลิกมาตรา 112’ หรือจำเลยชูป้ายข้อความ ‘คุกไม่ใช่ที่เคาน์ดาวน์’
พ.ต.อ.นพฤทธิ์ และ พ.ต.ท.ประเทือง ยังได้เบิกความย้อนไปถึงเหตุการณ์ที่ทำให้จำเลยเป็น ‘บุคคลเฝ้าระวัง’ กรณีจะไปถือป้าย ‘ปริญญาศักดินา’ ระหว่างการเสด็จมาพระราชทานปริญญาบัตรของกรมสมเด็จพระเทพฯ ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วย
พยานอ้างว่าแม้พฤติการณ์ต่างๆ ของจำเลย และตัวโพสต์ในคดีนี้จะไม่ได้ระบุถึงสถาบันกษัตริย์โดยตรง แต่พยานเข้าใจว่าเมื่อบุคคลทั่วไปพบเห็นข้อความ ก็ย่อมเข้าใจได้ว่าต้องการสื่อถึงสถาบันกษัตริย์
พ.ต.ท.ประเทือง ยังอธิบายว่าข้อความของจำเลย สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10 ไม่ใช่โครงสร้างสถาบันพระมหากษัตริย์ และหากบุคคลทั่วไปมาอ่านก็อาจเข้าใจว่าเป็นการดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ทำให้เสื่อมศรัทธา และไม่ใช่การติชมด้วยความสุจริต
พยานได้ประชุมกับคณะทำงานคดีความมั่นคง และมีความเห็นว่าถ้อยคำที่จำเลยโพสต์เข้าข่าย มาตรา 112 จึงได้มีการมอบหมายให้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษที่ สภ.แม่โจ้ เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พ.ต.อ.นพฤทธิ์ รับว่า คำว่า ‘สถาบัน’ นั้น ส่อไปได้หลายไปได้หลายความหมาย เช่น สถาบันครอบครัว สถาบันการศึกษา สถาบันการเมือง และหากตัวพยานไม่ได้ตรวจสอบประวัติของจำเลยมาก่อน ก็อาจเข้าใจได้ว่าสถาบันนั้นก็อาจหมายความถึงสถาบันอื่นที่ไม่ใช่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ได้ เพราะว่าทุกคนมีความคิดไม่เหมือนกัน ทั้งพยานยังคงยืนยันว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์หมายถึงตัวบุคคล”
ตามองค์ประกอบมาตรา 112 เป็นความผิดต้องการที่จะคุ้มครองตัวบุคคล ซึ่งได้แก่พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ แต่ไม่ได้มีการระบุคุ้มครองสถาบันฯ ทั้งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ระบุถึงตัวบุคคลพระมหากษัตริย์เพียงเท่านั้น แต่พยานยังคงยืนยันว่าสถาบันกษัตริย์นั้นรวมถึงบุคคลที่อยู่ในสถาบันด้วย ซึ่งองค์พระมหากษัตริย์อยู่ในสถาบันฯ
ส่วนที่ พ.ต.ท.ประเทือง เบิกความไปว่าจำเลยเคยถูกดำเนินคดีเนื่องจากชักธงแดงที่มีข้อความ 112 นั้นจำเลยไม่ได้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แต่ถูกดำเนินคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น และจากพฤติการณ์ของจำเลยก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยถูกดำเนินคดี มาตรา 112 มาก่อน
นอกจากนี้ พ.ต.ท.คฑาวุธ ได้ตอบคำถามค้านว่า แม้โพสต์ของจำเลยไม่ได้ระบุถึงตัวบุคคลโดยเฉพาะเจาะจง เนื่องจากระบุไว้เพียงคำว่า ‘สถาบัน’ แต่พยานก็เข้าใจว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์เพราะจากการรวบรวมข้อมูล พบว่าจำเลยเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์มาโดยตลอด และพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ก็อยู่ในโครงสร้างของสถาบันกษัตริย์ ทำให้สถาบันกษัตริย์รวมถึงพระบรมวงศานุวงศ์ด้วย
ตอบพนักงานอัยการถามติง
พ.ต.อ.นพฤทธิ์ เบิกความต่อไปว่าจากประสบการณ์ทำงานเกี่ยวกับมาตรา 112 เข้าใจว่าบุคคลที่มีความเห็นไม่ตรงกับสถาบันพระมหากษัตริย์และมีแนวคิดที่จะต่อต้าน มักจะเลี่ยงถ้อยคำ เนื่องจากมีกฎหมายคุ้มครองสถาบันกษัตริย์อยู่
ส่วนสถาบันอื่นไม่มีกฎหมายคุ้มครองเฉพาะ พ.ต.ท.ประเทือง เบิกความต่อไปว่าส่วนคำว่า ‘รัฐบาล’ หมายถึง รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ส่วน ‘สถาบัน’ หมายถึงสิ่งที่สูงกว่ารัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ คือสถาบันพระมหากษัตริย์
.
อาจารย์กฎหมาย: คำว่า ‘สถาบัน’ อาจหมายถึงองค์กร หรือหมายถึงตัวพระมหากษัตริย์ ทำให้ด้อยค่า จึงเป็นความผิดมาตรา 112
ผศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ นวานุช คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหนังสือไปถึงอธิการบดีขอให้มาให้ความเห็นในคดีมาตรา 112
ในคดีนี้ โดยพันธุ์ทิพย์ได้ให้ความเห็นว่าคำว่า ‘สถาบัน’ มีความหมายได้ 2 ทาง 1. คือเป็นองค์กร 2. สามารถตีความได้ถึงตัวบุคคล ขอยกตัวอย่างเช่น คำว่าสถาบันครอบครัว ความหมายที่ 1 หมายถึงองค์กรครอบครัว ความหมายที่ 2 หมายถึงตัวพ่อ แม่ ลูก
เมื่อพิจารณาข้อความในคดีนี้ เป็นถ้อยคำสบประมาท เหยียดหยาม โดยคำว่ารัฐบาลในที่นี้สามารถตีความได้ถึงตัวบุคคล คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ส่วนคำว่า ‘สถาบันก็ส้นตีน’ นั้น สถาบันต้องมีความหมายเหนือกว่าคำว่ารัฐบาล ซึ่งเมื่อตนได้อ่านข้อความนั้นแล้วเข้าใจได้ว่าหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และคำว่าสถาบันก็หมายความครอบคลุมไปถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
สาเหตุที่สามารถทำให้เข้าใจได้เช่นนั้น เนื่องจากบริบทเวลานั้น มีการประท้วงเกี่ยวกับมาตรา 112 ผนวกกับเมื่อพิจารณาพฤติการณ์ในการกระทำของจำเลยก่อนมีการโพสต์ เช่น เหตุการณ์ที่จำเลยชูป้ายปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้าง ก็เชื่อได้ว่าคำว่า ‘สถาบัน’ นั้น หมายถึงตัวพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่โครงสร้างซึ่งเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์
นอกจากนี้นักเคลื่อนไหวทางการเมืองมักจะใช้คำเลี่ยงเพื่อไม่ให้ถูกดำเนินคดี โดยไม่ชี้ชัดว่าหมายถึงพระมหากษัตริย์ ซึ่งอาจใช้ถ้อยคำเลี่ยงหรือไม่ก็คำพ้องเสียง และคำว่า ‘สถาบัน’ นั้นก็เป็นคำเลี่ยงการใช้คำว่า ‘กษัตริย์’
ดังนี้คำว่า ‘สถาบันก็ส้นตีน’ ถือเป็นการเหยียดหยามพระมหากษัตริย์ว่าอยู่ต่ำและหากประชาชนทั่วไปมาเห็นโพสต์ จะทำให้เป็นการเสื่อมเสียและเสื่อมศรัทธาในพระมหากษัตริย์ และถ้อยคำดังกล่าวไม่ใช่เป็นการติชมหรือแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
พยานเคยให้การในคดีมาตรา 112 หลายเรื่องทั้งในพื้นที่และต่างพื้นที่มาแล้วประมาณ 10 คดี และเคยมาเบิกความในฐานะพยานโจทก์มาแล้ว 5 คดี ซึ่งพยานมักจะให้ความเห็นไปในทางเดียวกันว่าเป็นความผิด ซึ่งมีบางคดีที่ศาลยกฟ้องแล้ว
สำหรับคดีนี้ ในวันที่ไปให้ถ้อยคำที่ สภ.แม่โจ้ พนักงานสอบสวนเป็นผู้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดก่อนที่จำเลยจะมีการโพสต์ข้อความให้ฟัง แต่ไม่ได้นำพยานหลักฐานแวดล้อมเกี่ยวกับพฤติการณ์ของจำเลยมาให้ดู ซึ่งหากพยานไม่ได้รับฟังข้อเท็จจริงดังกล่าวจากพนักงานสอบสวน เมื่อพยานอ่านข้อความ ก็สามารถเข้าใจได้ว่าเป็นสถาบันอื่น ซึ่งไม่ใช่สถาบันกษัตริย์ก็ได้
นอกจากนี้ พันธุ์ทิพย์ยังเบิกความรับว่า องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 นั้น มุ่งคุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ดังนี้ในการดูหมิ่นนั้นจะต้องดูหมิ่นเฉพาะตัวบุคคลทั้ง 4 บุคคล ซึ่งจะต้องระบุแน่นอนว่าหมายถึงบุคคลใด แต่โพสต์ดังกล่าวของจำเลยไม่ได้ระบุชัดเจนแน่นอนว่าหมายถึงบุคคลใด
ตอบพนักงานอัยการถามติง
พยานได้ให้การในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ โดยก่อนจะให้การพนักงานสอบสวนได้เล่าที่มาที่ไปให้พยานฟังก่อนจึงจะสามารถให้ความเห็นได้ หากบุคคลทั่วไปได้ทราบเรื่องที่พนักงานสอบสวนเล่าให้ฟัง ก็จะเข้าใจได้ว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์ หรือเพื่อนที่อยู่ในเฟซบุ๊กของจำเลยย่อมสามารถเข้าใจได้
.
ภาพขณะตำรวจเข้าแสดงหมายจับพิมชนก เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 (ภาพจากเพจไข่แมวชีส)
.
อาจารย์ภาษาไทย: ‘รัฐบาล’ หมายถึงรัฐบาลประยุทธ์ ส่วน ‘สถาบันส้นตีน’ หมายถึงสถาบันกษัตริย์
ผศ.ดร.สุนทร คำยอด อาจารย์ประจำและประธานหลักสูตรภาษาไทย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เบิกความอธิบายคำว่า ‘สถาบัน’ ในความหมายทั่วไปคือองค์กรหนึ่งที่มีโครงสร้าง จะมีความเกี่ยวข้องกับสังคมและจะมีบุคคลหรือบุคลากรอยู่ในองค์กรดังกล่าว ยกตัวอย่าง สถาบันพระมหากษัตริย์ สถาบันชาติ สถาบันศาสนา
อัยการโจทก์ถามพยานว่าโดยปกติทั่วไปแล้วหากประชาชนทั่วไปจะพูดถึงกษัตริย์หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ส่วนใหญ่แล้ว จะนิยมพูดหรือสื่อโดยใช้ถ้อยคำใด พยานเบิกความว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ ในหลวง
พยานอธิบายถ้อยคำตามฟ้องว่า คำว่ารัฐบาล บุคคลทั่วไปจะเข้าใจว่ารัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นหัวหน้า ส่วนคำว่า ‘ส้นตีน’ นั้นเป็นคำด่า อาจหมายถึง คณะรัฐมนตรีหรือรัฐบาลทั้งหมดก็ได้ และอาจจะหมายถึงนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลก็ได้
ส่วนคำว่า ‘สถาบัน’ นั้น หากไม่ทราบเบื้องหน้าเบื้องหลังก่อนจะมีการโพสต์ หมายถึงสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่ารัฐบาลซึ่งเขียนไว้ด้านหน้า ซึ่งหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ และตามความรับรู้ของบุคคลทั่วไป สถาบันกษัตริย์ก็มีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นประมุข ส่วนคำว่า ‘ส้นตีน’ หมายถึงคำด่า เนื่องจากเป็นอวัยวะเบื้องต่ำที่ใช้เป็นคำด่า รวมแล้วจึงหมายความว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ต่ำ เป็นการจาบจ้วง ไม่ถวายพระเกียรติ ไม่เป็นการติชมหรือการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต
นอกจากนี้เมื่อพยานดูเฟซบุ๊กของจำเลย จึงเชื่อว่าหากเพื่อนของจำเลยในเฟซบุ๊กได้อ่านข้อความย่อมเข้าใจได้เช่นกัน เนื่องจากพฤติการณ์และข้อความของจำเลยสื่อไปในทางไม่ถวายพระเกียรติแก่สถาบันกษัตริย์
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
ความหมายของคำว่า สถาบัน หมายถึง “องค์กรที่มีความสำคัญ ไม่รวมถึงบุคลากรในสถาบันดังกล่าว” แต่ที่ตนเข้าใจว่า หมายถึงสถาบันกษัตริย์ เพราะคำด้านหน้าเริ่มต้นด้วยรัฐบาล คำถัดมาก็ย่อมต้องสูงกว่าคำว่ารัฐบาล คือ สถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากหลักการในภาษาไทยมีการเขียนไว้เช่นนั้น ส่วนบุคคลอื่นจะคิดเช่นไรนั้นพยานไม่ทราบ
ตอบพนักงานอัยการถามติง
คำว่า ‘สถาบัน’ ตามพจนานุกรม หมายความว่า สิ่งซึ่งคนในส่วนรวม คือสังคมจัดตั้งให้มีขึ้นเพราะเป็นประโยชน์ว่ามีความต้องการและจำเป็นแก่วิถีชีวิตของตน ซึ่งคำว่าสถาบันที่ต่อจาก ‘รัฐบาลส้นตีน’ หมายความได้เพียงอย่างเดียว คือสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
.
พนักงานสอบสวน: เห็นว่า ‘สถาบัน’ สื่อถึงในหลวงรัชกาลที่ 10
พ.ต.ท.พงษ์ศักดิ์ เรือนแก้ว พนักงานสอบสวน สภ.แม่โจ้ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2565 พยานดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการสอบสวน ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคือ พ.ต.อ.นพฤทธิ์ กันทา เดินทางมาที่ สภ.แม่โจ้ เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษกับจำเลยในคดีนี้ พยานได้เป็นผู้สอบปากคำพยานโจทก์ในคดีนี้
หลังจากที่ได้ทำการรวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พยานได้ขอออกหมายจับจำเลยที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ ต่อมาวันที่ 19 มี.ค. 2565 เจ้าหน้าที่ฝ่ายสืบสวนได้นำส่งตัวจำเลยให้แก่พยานพร้อมกับบันทึกจับกุม จึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และจำเลยให้การปฏิเสธข้อหา
ภายหลังที่ได้รวบรวมพยานหลักฐานแล้ว พยานจึงมีความเห็นควรสั่งฟ้องคดี เนื่องจากข้อความที่จำเลยโพสต์ไว้นั้น เป็นการโพสต์ถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งมี พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อยู่ในคำว่าสถาบันกษัตริย์ และคำว่า ‘สถาบัน’ ที่ปรากฏในข้อความดังกล่าว สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นในหลวงรัชกาลที่ 10
ตอบทนายจำเลยถามค้าน
จากการรวบรวมพยานหลักฐานไม่พบว่ามีการดำเนินคดีกับจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 มาก่อน และไม่มีข้อความใดที่กล่าวถึงตัวพระมหากษัตริย์ ทั้งตนไม่ได้สอบความเห็นของบุคคลทั่วไป คงสอบสวนไว้แต่เพียงคำให้การของนักวิชาการสองท่าน โดยในการดำเนินคดีตามมาตรา 112 จะต้องมีการตั้งคณะทำงานของตำรวจ รวมถึงคดีนี้ด้วย
พยานเบิกความว่า ตามมาตรา 112 คุ้มครองตัวบุคคลจำนวน 4 คน ได้แก่ พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งไม่ได้คุ้มครอง ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ทั้งนอกจาก 4 บุคคลดังกล่าว ยังมีพระบรมวงศานุวงศ์อยู่ภายในสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย สถาบันพระมหากษัตริย์จึงเป็นโครงสร้างซึ่งใช้ดูแลบุคคลที่อยู่ภายในองค์กรดังกล่าว
พยานรับว่า ในความผิดฐานดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาทนั้น ต้องเป็นการชี้ชัดที่ตัวบุคคลว่าหมายถึงใคร แต่ข้อความตามคำฟ้องคดีนี้ไม่ได้มีการกล่าวชี้เฉพาะเจาะจงไปว่าเป็นผู้ใด และหากบุคคลทั่วไปมาอ่าน อาจมีความเห็นคิดได้เป็นหลายอย่าง ไม่ใช่เฉพาะเจาะจงว่าเป็นสถาบันกษัตริย์
ตอบพนักงานอัยการถามติง
พฤติการณ์ของจำเลยคดีนี้เคยปรากฏภาพจำเลยยกป้ายคำว่า ‘ปฏิรูปไม่เท่ากับล้มล้ม หยุดทรราช ยกเลิกมาตรา 112’ ขึ้นบังพระบรมฉายาลักษณ์ และอีกภาพหนึ่งมีข้อความว่า ‘ประเทศนี้เป็นของราษฎร ไม่ใช่ของกษัตริย์ตามที่เขาหลอกลวง’ ซึ่งในข้อความนั้นมีคำว่ากษัตริย์อยู่ และในทางสอบสวนพบว่าในวันที่ 16 ก.พ. 2565 จำเลยไลฟ์สดอยู่ที่เส้นทางเสด็จของเจ้าฟ้าหญิงจุฬาภรณ์
กการโพสต์ข้อความของจำเลยย่อมชี้ชัดว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์ ซึ่งหมายถึงรัชกาลที่ 10 ซึ่งหากบุคคลที่ติดตามเฟซบุ๊กของจำเลยมาโดยตลอด ย่อมทราบได้
.
.
จำเลย: ถ้อยคำที่โพสต์หมายถึงสถาบันการศึกษา โจทก์เลือกสรรภาพการเคลื่อนไหวของพยานมาจับผิด
พิมชนก ใจหงษ์ จำเลยในคดีนี้ เบิกความถึงสาเหตุที่ตนมักเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะเห็นว่าประชาชนมีความยากจน และจากการที่เห็นว่าบุคคลทั่วไปเรียกร้องทางการเมืองถูกดำเนินคดีโดยไม่เป็นธรรม ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากภาครัฐ คดีนี้เป็นคดีเดียวของพยานที่ถูกกล่าวหาตามมาตรา 112
พยานเบิกความเกี่ยวกับโพสต์คำว่า ‘สถาบันก็ส้นตีน’ ว่าหมายความถึง ‘สถาบันการศึกษา’ เพราะเมื่อไล่ลำดับเวลาในเฟซบุ๊ก จะพบว่าในวันที่ 15 ก.พ. 2565 พยานได้โพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องสถาบันการศึกษา ในวันดังกล่าวมีข่าวเกี่ยวกับนักเรียนโดนอาจารย์ตี และมีการติดแฮชแท็กในทวิตเตอร์ และเรียกร้องว่าเมื่อไรทางกระทรวงศึกษาจะจัดการเกี่ยวกับเรื่องความรุนแรงดังกล่าวเสียที ซึ่งเป็นเรื่องที่โยงไปถึงรัฐบาลเพราะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นซ้ำเดิมและก็ยังไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
จากพยานหลักฐานของพยานโจทก์ที่นำภาพที่จำเลยถือป้ายข้อความต่างๆ มานั้น จำเลยระบุว่า ตนเคลื่อนไหวทางการเมืองในหลายท้องที่ แต่พยานโจทก์กลับนำเฉพาะภาพดังกล่าวมาเบิกความกล่าวหาว่าตนมีความผิดเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เท่านั้น และการเคลื่อนไหวทางการเมืองของตนเข้าใจว่าไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 แต่อย่างใด
พยานเบิกความย้อนถึงเหตุการณ์ในวันที่มีการไลฟ์สด เนื่องจากช่วงเช้าวันที่ 16 ก.พ. 2565 ได้มีเจ้าหน้าที่ตำรวจเดินทางมาพร้อมรถเก๋ง 4 คัน เข้ามาเฝ้าหอพัก แล้วแจ้งกับเจ้าของหอว่าพยานเป็นบุคคลอันตราย และเป็นเหตุให้ลูกพี่ลูกน้องของพยานถูกไล่ออกจากหอพักดังกล่าว ตนจึงลงจากหอพักมาต่อว่าเจ้าพนักงานตำรวจ และบอกตำรวจว่าตนไม่ได้จะเดินทางไปไหน
ต่อมาเจ้าของหอพักดังกล่าวไม่ยอมให้กลับเข้าห้องพัก พยานจึงได้ไปดื่มกาแฟบริเวณแยกกาดรวมโชค แต่กลับมีเจ้าหน้าที่ตำรวจขับรถตามพยานไป และยืนเฝ้าบริเวณหน้าร้านกาแฟดังกล่าวพยานได้ออกมาพูดคุยเจรจากับ พ.ต.อ.นพฤทธิ์ กันทา ที่ริมถนนแล้ว ตำรวจแจ้งว่าเส้นทางดังกล่าวจะมีขบวนเสด็จผ่าน และไม่ยอมให้ตนยืนอยู่บริเวณดังกล่าว
ตนได้พยายามอธิบายแล้วว่าตนไม่มีอาวุธ ไม่มีการตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ทำไมจึงไม่สามารถยืนอยู่จุดบริเวณดังกล่าว ซึ่งตนในฐานะประชาชนก็ต้องการยืนรับเสด็จได้ แต่ทางตำรวจก็ไม่อนุญาต อีกทั้งเส้นทางดังกล่าวในความจริงก็ไม่ใช่เส้นทางที่ขบวนเสด็จผ่าน
ตอบอัยการโจทก์ถามค้าน
พยานจำไม่ได้ว่าโพสต์ที่ตนโพสต์เรื่องสถาบันการศึกษาที่อ้างส่งเอกสารต่อศาลนั้น โพสต์วันที่เท่าไร ปีอะไร และเอกสารดังกล่าวไม่เคยนำส่งต่อพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการเพื่อเป็นหลักฐาน ส่วนโพสต์ข้อความในคดีนี้ตนได้ลบไปแล้ว และข้อความอื่นๆ บางข้อความก็ได้ลบไปแล้วเช่นกัน เนื่องจากพยานเกรงว่าจะมีการแจ้งความดำเนินคดีกับตนอีก
อย่างไรก็ดีโพสต์ของพยานที่พูดถึงสถาบันการศึกษา พยานก็จะระบุว่าเป็นสถาบันการศึกษา และในโพสต์ข้อความพูดถึงกระทรวงศึกษาธิการและรัฐบาล ทั้งคำว่าที่โพสต์คำว่า ‘ส้นตีน’ เป็นคำด่าและที่ระบุว่า ‘รัฐบาลส้นตีน’ นั้นหมายความว่ารัฐบาลมันห่วย
.
อาจารย์กฎหมาย: มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครอง “สถาบันพระมหากษัตริย์” แต่คุ้มครองบุคคลเพียง 4 ตำแหน่ง ซึ่งจะต้องระบุอย่างเฉพาะเจาะจง ว่าหมายถึงบุคคลใดจึงจะเป็นความผิด
ดร.กฤษณ์พชร โสมณวัตร อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญไทยที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์เป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ผู้ใดจะฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ไม่ได้ ความหมายของมาตรานี้ตรงไปตรงมาคือ ห้ามฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ เพราะมหากษัตริย์เป็นที่เคารพทางการเมือง เป็นประมุขแห่งรัฐ เป็นสถาบันตามรัฐธรรมนูญ แต่มาตราดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับประมวลกฎหมายอาญา เนื่องจากเป็นกฎหมายคนละฉบับกัน
ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 บัญญัติไว้ชัดเจน เกี่ยวกับองค์ประกอบความผิดว่าคือหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อบุคคล ได้แก่พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ในระบบกฎหมายไทย การตีความคำว่าหมิ่นประมาทและดูหมิ่น เทียบเคียงจากประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 393 ดังนี้การจะลงโทษบุคคลตามประมวลกฎหมายอาญานั้น บุคคลนั้นจะต้องกระทำความผิดตามที่กฎหมายกำหนด ถ้ากฎหมายอาญามีความไม่ชัดเจน จะตีความขยายกฎหมายอาญาในทางที่เป็นโทษไม่ได้
นอกจากองค์ประกอบภายในเกี่ยวกับเรื่องเจตนาแล้ว องค์ประกอบภายนอกซึ่งเป็นวัตถุแห่งการกระทำ ตามมาตรา 112 ระบุไว้ชัดเจนว่าบุคคลที่ได้รับการคุ้มครอง คือพระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งทั้งสี่นี้เป็นตำแหน่งหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญที่ผูกพันอยู่กับตัวบุคคล ทำให้เห็นได้ว่ามาตรา 112 คุ้มครองตัวบุคคลเป็นหลัก ไม่ได้มีการพูดถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในตัวบทเลย
นอกจากนี้คำว่า สถาบันพระมหากษัตริย์ปรากฎอยู่ในกฎหมายอื่นบ้าง เช่น พ.ร.บ.สภาความมั่นคงแห่งชาติ แต่กฎหมายดังกล่าว ก็ไม่ได้ให้คำนิยามคำว่าสถาบันกษัตริย์ไว้ หากจะตีความหมาย ‘สถาบัน’ หมายถึงองคาพยพที่มีการจัดตั้งขึ้น รวมทั้งประเพณี แบบแผน วัฒนธรรม พระบรมมหาราชวัง องคมนตรี ข้าราชการส่วนพระองค์ หากใช้คำว่า ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ไปผูกพันกับการใช้มาตรา 112 ผลของมันจะขยายขอบเขตของกฎหมายดังกล่าวไปอย่างกว้างขวาง
ตอบอัยการโจทก์ถามค้าน
พยานเห็นว่าจากโพสต์ของจำเลยในคดีนี้ คำว่า ‘สถาบัน’ ยังบอกไม่ได้ว่าหมายถึง สถาบันกษัตริย์
ต่อมาอัยการได้นำพยานหลักฐานเกี่ยวกับจำเลยที่ได้เคลื่อนไหวในทางการเมืองให้พยานดู และถามพยานว่า ‘สถาบัน’ นั้นหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ใช่หรือไม่ พยานเบิกความยืนยันว่าไม่ใช่ แต่พยานเข้าใจว่าจำเลยมีความคับข้องใจเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้าใจว่าจำเลยอาจจะพูดถึงสถาบันการเมืองก็ได้ และถ้อยคำดังกล่าวอาจหมายถึงสถาบันอื่นนอกจากนี้ก็เป็นไปได้
นอกจากนี้ ‘สถาบัน’ ไม่จำเป็นต้องมี ‘หัวหน้าสถาบัน’ เช่น สถาบันครอบครัวไม่มีใครเป็นหัวหน้าครอบครัว ทั้งนี้ในตัวสถาบันมีตัวบุคคลอยู่ การด่าสถาบันไม่ได้หมายความถึงการด่าตัวบุคคลที่อยู่ในสถาบันนั้น และพยานไม่แน่ใจว่าพระมหากษัตริย์เป็นหัวหน้าหรือประมุขของสถาบันกษัตริย์
พยานรับว่าหากมีการโพสต์ข้อความคำว่า ‘สถาบันพระมหากษัตริย์ส้นตีน’ ถ้อยคำดังกล่าวอาจจะกระทบในหลวงรัชกาลที่ 10 มากที่สุด
ตอบทนายจำเลยถามติง
เหตุที่การโพสต์คำดังกล่าวตามที่อัยการถาม จะกระทบถึงตัวพระมหากษัตริย์มากที่สุด เนื่องจากถ้อยคำดังกล่าวเขียนระบุว่าสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ถ้อยคำดังกล่าวก็ไม่ใช่ถ้อยคำที่จะเป็นความผิดตามมาตรา 112 เนื่องจากมาตราดังกล่าวระบุตัวบุคคลที่วัตถุแห่งการกระทำที่ชัดเจน คือพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
ส่วนคำว่า ‘สถาบันพระมหากษัตริย์’ ไม่ได้หมายถึงครอบครัวพระมหากษัตริย์ แต่รวมถึงแบบประเพณี กฎเกณฑ์ ข้าราชการส่วนพระองค์ พยานจึงไม่สามารถที่จะตอบได้ว่าประมุขของสิ่งดังกล่าว หมายถึงตัวพระมหากษัตริย์เอง เนื่องจากในการแก้ไขกฎมณเฑียรบาล พระมหากษัตริย์ก็ไม่สามารถที่จะแก้ไขได้เอง ถึงแสดงให้เห็นว่าพระองค์ไม่สามารถที่จะนำหรือชี้นำแก้ไขกฎดังกล่าวได้ด้วยตนเอง
.
อาจารย์ภาษาไทย : ‘สถาบัน’ ไม่ใช่ตัวบุคคล แต่มีตัวบุคคลอยู่ในสถาบัน
อาจารย์ภาควิชาภาษาไทย คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เบิกความว่า ในส่วนของประโยคหลังที่ระบุว่า ‘สถาบันก็ส้นตีน’ นั้น คำว่า ‘สถาบัน’ เป็นประธานของประโยค ส่วนภาคแสดงคือคำว่า ‘ส้นตีน’ ส่วนคำว่า ‘ก็’ เป็นคำเชื่อมประโยคหน้าและหลัง
ในส่วนของคำว่า ‘สถาบัน’ นั้นมี 2 ความหมาย ความหมายแรกเป็นองค์กร-หน่วยงาน ความหมายที่สองหมายถึงสถาบันทางสังคม ซึ่งเป็นการรวมกฎเกณฑ์ ระเบียบ ประเพณีหลายๆ อย่างรวมกัน ดังนั้นคำว่า ‘สถาบัน’ นั้นไม่ใช่ตัวบุคคล แต่มีตัวบุคคลอยู่ในสถาบัน และเมื่อดูข้อความดังกล่าวแล้ว เห็นได้ว่า จำเลยแสดงความไม่พอใจรัฐบาล และสถาบัน ซึ่งพยานไม่เข้าใจคำว่า ‘สถาบัน’ ดังกล่าวหมายถึงสถาบันใด เนื่องจากหลังคำว่า ‘สถาบัน’ ก็ไม่มีถ้อยคำอื่นต่อ
ตอบอัยการโจทก์ถามค้าน
อัยการให้ดูพยานหลักฐานภาพที่จำเลยเคยไปเคลื่อนไหวกิจกรรมทางการเมืองในสถานที่ต่างๆ แล้วถามว่า คำว่า ‘สถาบัน’ ตามที่ปรากฏนั้น สามารถชี้ชัดได้หรือไม่ว่าหมายถึงสถาบันกษัตริย์ พยานเบิกความว่าไม่จำเป็น
นอกจากนี้ แม้ว่าถ้อยคำที่ปรากฏอยู่ในข้อความ ‘สถาบันส้นตีน’ จะสามารถได้ระบุว่าเป็น สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ตาม พระมหากษัตริย์ที่เป็นบุคคล ก็ไม่ใช่บุคคลที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด เนื่องจากเพราะมีคำว่าสถาบันอยู่ ซึ่งไม่ได้ชี้ชัดว่าเป็นตัวพระมหากษัตริย์
.