ฟ้อง ม.112 หนุ่มเมืองนนท์ เหตุวางเพลิงรูป ร.10 ที่บางกรวย อัยการขอศาลพิจารณาคดีลับ อ้างเพื่อความสงบเรียบร้อย – ศีลธรรมอันดีของประชาชน

15 ก.พ. 2565 -พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรีได้ยื่นฟ้อง “โชติช่วง” (นามสมมติ) อายุ 28 ปี ต่อศาลจังหวัดนนทบุรี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ”, มาตรา 217 “วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น”, และมาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์” ในคดีความสืบเนื่องจากการที่เขาถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้วางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สวนหย่อมใต้ทางต่างระดับบางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2564 เวลาประมาณ 18.00 น. โชติช่วงถูกจับกุมที่บ้านพักในจังหวัดนนทบุรี ตามหมายจับของศาลจังหวัดนนทบุรีที่ออกในวันเดียวกันนั้น ซึ่งระบุเพียงข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์ จากนั้นชุดจับกุมได้เข้าตรวจค้นห้องพักและตรวจยึดสิ่งของหลายรายการ รวมทั้งโทรศัพท์มือ โดยไม่มีหมายค้น ต่อมา โชติช่วงถูกนำตัวไปที่ สภ.ปลายบาง เพื่อทำบันทึกจับกุม แจ้งข้อกล่าวหา และสอบปากคำ โดยโชติช่วงให้การรับสารภาพ 

อย่างไรก็ตาม วันต่อมา (23 พ.ย. 2564) พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหาโชติช่วงเพิ่มเติม ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ซึ่งโชติช่วงให้การปฏิเสธในข้อหาดังกล่าว ทั้งนี้ ตลอดกระบวนการที่ สภ.ปลายบาง โชติช่วงไม่มีทนายความที่เขาไว้วางใจเข้าร่วมด้วย ก่อนพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องขอฝากขัง โดยศาลจังหวัดนนทบุรีอนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างสอบสวน กำหนดหลักทรัพย์ประกันเป็นเงิน 300,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดรายงานตัวต่อศาลวันที่ 16 ก.พ. 2565

เมื่อโชติช่วงเข้ารายงานตัวตามสัญญาประกันในวันที่ 16 ก.พ. 2565 และรับทราบคำฟ้องของอัยการแล้ว ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณาโดยใช้หลักทรัพย์ประกันเดิม กำหนดนัดคุ้มครองสิทธิในวันที่ 23 พ.ค. 2565 เวลา 09.00 น.

สำหรับคำฟ้อง กฤติมา ธรรมรักษ์ พนักงานอัยการจังหวัดนนทบุรี บรรยายพฤติการณ์คดีมีใจความโดยสรุปว่า ขณะเกิดเหตุ ประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และในหลวงองค์ปัจจุบัน เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า กษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิด กล่าวหา ฟ้องร้องในทางใด ๆ มิได้

เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564 จำเลยได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อกษัตริย์ โดยการวางเพลิงเผาแผ่นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ขนาดสูง 4.8 เมตร กว้าง 2.4 เมตร ราคา 99,000 บาท ของเทศบาลตำบลปลายบาง ผู้เสียหาย ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สวนหย่อมใต้ทางต่างระดับบางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เพื่อแสดงความจงรักภักดี โดยจำเลยได้ใช้น้ำมันเชื้อเพลิงราดบริเวณรูปแล้วจุดไฟ จนเกิดเพลิงลุกลามติดแผ่นป้ายดังกล่าว ได้รับความเสียหาย อันเป็นการดูถูกเหยียดหยาม ไม่แสดงความเคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์

อัยการยังระบุว่า เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 เจ้าพนักงานได้ยึดขวดเครื่องดื่มชูกำลัง จำนวน 1 ขวด พร้อมฝา ซึ่งจำเลยใช้ในการบรรจุน้ำมันเชื้อเพลิงไว้เป็นของกลาง โดยขอให้ศาลมีคำสั่งริบของกลางดังกล่าวด้วย 

นอกจากนี้ อัยการยังได้ระบุมาในท้ายคำฟ้องด้วยว่า เนื่องจากคดีนี้เป็นความผิดข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” เพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน โจทก์จึงขอให้ศาลพิจารณาคดีเป็นการลับ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 

แม้คดีวางเพลิงหรือกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยส่วนใหญ่ตำรวจหรืออัยการจะแจ้งข้อกล่าวหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามมาตรา 112 ด้วย รวมทั้งคดีนี้ ทั้งที่ในการขอออกหมายจับและแจ้งข้อกล่าวหาครั้งแรกไม่มีข้อหานี้ แต่ก็มีคดีที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ทั้งพนักงานสอบสวนและอัยการตั้งข้อหาเพียง “วางเพลิงเผาทรัพย์” และ “ทำให้เสียทรัพย์” ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่น่าจะตรงกับรูปแบบการกระทำความผิดที่สุด การตั้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ในคดีวางเพลิงหรือกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์ส่วนใหญ่ จึงถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการตีความมาตรา 112 ขยายขอบเขตออกจนเกินกว่าตัวบทและเจตนารมณ์ของกฎหมายหรือไม่ 

หากนับตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีการเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอก จนถึงวันที่ 15 ก.พ. 2565 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 171 คน ใน 178 คดี โดยในจำนวนนี้มีอย่างน้อย 18 คดี ที่มีเหตุมาจากการกระทำในลักษณะต่างๆ ต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 หรือรูปของพระบรมวงศานุวงศ์

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

.

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “โชติช่วง” วางเพลิงป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ที่บางกรวย นนทบุรี

X