ศาลนนทบุรีพิพากษาจำคุก 3 ปี “โชติช่วง” กรณีเผารูป ร.10 ที่บางกรวย ชี้พระบรมฉายาลักษณ์เป็นตัวแทนกษัตริย์ติดตั้งให้ ปชช. สักการะ

30 พ.ย. 2566 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “โชติช่วง” (นามสมมติ) อดีตไรเดอร์ อายุ 29 ปี ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ”, มาตรา 217 “วางเพลิงเผาทรัพย์ของผู้อื่น” และมาตรา 358 “ทำให้เสียทรัพย์” กรณีถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้เผาพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ซึ่งติดตั้งอยู่ที่สวนหย่อมใต้ทางต่างระดับบางคูเวียง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 10 พ.ย. 2564

ศาลจังหวัดนนทบุรีพิพากษาจำคุก 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยไม่รอลงอาญา โดยระบุว่า พระบรมฉายาลักษณ์เป็นสัญลักษณ์ของพระมหากษัตริย์สำหรับให้ประชาชนเคารพสักการะ และมีค่าเท่ากับในหลวงรัชกาลที่ 10 เชื่อว่า จำเลยมีเจตนาเผาพระบรมฉายาลักษณ์ให้ประชาชนทั่วไปเห็น

สำหรับคดีนี้  ได้มีการนัดสืบพยานไปเมื่อวันที่ 13-15 ก.ย. 2566 โดยเป็นการสั่งพิจารณาคดีลับ ตามคำร้องของอัยการ ที่อ้างเหตุว่า เพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ซึ่งทนายความจำเลยแถลงคัดค้าน เนื่องจากคดีนี้จำเลยรับว่าเป็นผู้กระทำแล้ว การต่อสู้คดีไม่ได้มีการกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ หรือกล่าวคำปราศรัยด้วยถ้อยคำรุนแรงที่จะทำให้เกิดความไม่สงบ แต่ศาลก็สั่งให้พิจารณาเป็นการลับตลอดกระบวนการ โดยให้เหตุผลว่าเป็นประโยชน์กับจำเลยมากกว่า 

สำหรับประเด็นในการต่อสู้คดี โชติช่วงยอมรับว่า เป็นผู้เผาพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวจริง แต่ในระหว่างเกิดเหตุตนอยู่ในสภาพมึนเมา ไม่มีสติ และไม่ได้มีเจตนาทางการเมืองแต่อย่างใด  โดยได้รับสารภาพในความผิดฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์ รวมถึงได้จ่ายค่าเสียหายให้กับองค์การบริหารส่วนตำปลายบาง ผู้ติดตั้งพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวเป็นจำนวน 99,000 บาท แล้ว 

อย่างไรก็ตาม จำเลยยืนยันว่า ตนไม่มีเจตนาอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำต่อทรัพย์สินเพียงเท่านั้น จึงไม่เข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ 

.

ที่ห้องพิจารณา 6 ชั้น 2 เวลา 09.00 น. โชติช่วงได้มารออยู่ในห้องพิจารณาพร้อมทนายความ นอกจากนี้ยังมีนายประกัน และผู้สังเกตการณ์คดีจากองค์กรสิทธิมนุษยชนมาร่วมสังเกตการณ์ด้วย  

เวลา 09.50 น. ศาลออกนั่งอ่านคำพิพากษาโดยสรุปว่า พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์ทุกปากเบิกความตรงกันว่า ในขณะเกิดเหตุประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 เป็นสัญลักษณ์มีค่าเท่ากับพระมหากษัตริย์ ประดิษฐานไว้ให้ประชาชนเคารพสักการะ แสดงความจงรักภักดี พระบรมฉายาลักษณ์ที่เกิดเหตุตั้งอยู่ตรงข้ามห้างสรรพสินค้า ซึ่งมีประชาชนผ่านไปมาจำนวนมาก แสดงว่าการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ดังกล่าวต้องการให้ประชาชนที่ผ่านไปมาพบเห็น

พระบรมฉายาลักษณ์สูง 4.5 เมตร รอยไหม้ของพระบรมฉายาลักษณ์อยู่ด้านบน แสดงว่าจำเลยต้องใช้ความพยายามปีนโครงเหล็กขึ้นไปด้านบนเพื่อวางเพลิงเผาทรัพย์ และให้ประชาชนเห็นได้ ในโทรศัพท์มือถือของจำเลยมีภาพถ่ายเกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมือง จึงเชื่อว่า จำเลยมีแนวคิดต่อต้านสถาบันพระมหากษัตริย์ มีเจตนาวางเพลิงเผาทรัพย์ทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เกิดความเสื่อมเสีย พยานโจทก์ไม่มีเหตุให้ระแวงสงสัย มีน้ำหนักรับฟังได้

พิพากษาว่า จำเลยมีความผิด ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ ตามมาตรา 217 และฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามมาตรา 358 เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุก 3 ปี และให้ริบขวดเครื่องดื่มชูกำลังที่ใช้ก่อเหตุ 

ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยยื่นหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนเงิน 450,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์

เวลา 11.40  น. ศาลจังหวัดนนทบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโชติช่วง โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด 

ทั้งนี้ น่าสังเกตว่า ศาลจังหวัดนนทบุรีซึ่งเป็นศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ประกันจำเลยระหว่างอุทธรณ์เองโดยไม่ได้ส่งให้ศาลอุทธรณ์สั่ง ทำให้จำเลยไม่ต้องสูญเสียอิสรภาพระหว่างรอคำสั่ง

อ่านฐานข้อมูลคดี: 

คดี 112 “โชติช่วง” วางเพลิงป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ที่บางกรวย นนทบุรี

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ทบทวน ม.112 ผ่านคดีแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์: การตีความขยายขอบเขตกฎหมาย และการส่ง “เสียง” ที่ไม่ถูกรับฟัง
X