วันที่ 9 ธ.ค. 2565 ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า “สิงโต” (นามสมมติ) ชายวัย 25 ปี ชาว จ.มุกดาหาร ถูกตำรวจหลายหน่วยทั้งกองกำกับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรภาค 1, สภ.รัตนาธิเบศร์, สน.บางโพงพาง และ สภ.ดอนตาล สนธิกำลังกันบุกเข้าจับกุมที่บ้านใน อ.ดอนตาล ตามหมายจับศาลจังหวัดนนทบุรี ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ในช่วงเย็นของวันที่ 7 ธ.ค. 2565 นำตัวไปทำบันทึกการจับกุมที่ สภ.ดอนตาล ก่อนจะถูกควบคุมตัวเดินทางไปที่ สภ.รัตนาธิเบศร์ เนื่องจาก ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ เป็นผู้ร้องขอออกหมายจับ
กระทั่งวันที่ 9 ธ.ค. 2565 หลังพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา 2 ข้อหา ตามหมายจับดังกล่าวแล้ว โดยสิงโตให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้นำตัวสิงโตไปที่ศาลจังหวัดนนทบุรี เพื่อยื่นคำร้องขออำนาจศาลในการฝากขัง
คำร้องขอฝากขังระบุพฤติการณ์คดีที่กล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2565 สิงโตใช้เฟซบุ๊กโพสต์ข้อความใต้โพสต์ของผู้ใช้เฟซบุ๊กอีกรายหนึ่งซึ่งโพสต์ภาพรัชกาลที่ 10 และเจ้าฟ้าทีปังกรฯ ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ประกอบเพลงสรรเสริญพระบารมีขณะที่อยู่ในโรงภาพยนตร์
ต่อมา ฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ผู้กล่าวหา ซึ่งอ้างว่าได้พบเห็นและเปิดอ่านข้อความดังกล่าว ได้เข้าแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีตามมาตรา 112 จากนั้นพนักงานสอบสวนจึงได้รวบรวมพยานหลักฐาน กระทั่งเมื่อวันที่ 2 ธ.ค. 2565 พ.ต.อ.เมษนนท์ นาขวัญ ผกก.สภ.รัตนาธิเบศร์ จึงได้ขออนุมัติศาลจังหวัดนนทบุรี ออกหมายจับสิงโตตามหมายจับที่ 663/2565 ข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์, นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง
คำร้องฝากขังระบุด้วยว่า พนักงานสอบสวนได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวผู้ต้องหา อ้างเหตุที่ว่า คดีมีอัตราโทษสูง เกรงว่าผู้ต้องหาจะหลบหนี
ช่วงบ่ายวันเดียวกันหลังศาลอนุญาตให้ฝากขัง นายประกันอาสาจากกองทุนราษฎรประสงค์ได้ใช้เงินสด 150,000 บาท เป็นหลักประกันในการขอปล่อยตัวชั่วคราว จากนั้นศาลมีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราวสิงโตในระหว่างสอบสวน และนัดให้มารายงานตัวที่ศาลอีกครั้งวันที่ 26 ม.ค. 2566 เวลา 08.30 น.
สำหรับสิงโต ปัจจุบันอายุ 25 ปี เรียนจบปริญญาตรีด้านวิทยาศาสตร์ ทำงานที่ร้านอาหารแห่งหนึ่ง ปกติสิงโตติดตามการเมืองผ่านโซเชียลมีเดีย และไม่เคยเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองมาก่อน
กรณีของสิงโตซึ่งถูกจับจากบ้านที่ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร แต่ถูกนำตัวไปดำเนินคดีถึง สภ.รัตนาธิเบศร์ ในระยะทางร่วม 630 กิโลเมตร และเขาคงต้องเดินทางมาต่อสู้คดีอีกหลายนัด ที่อาจทำให้มีภารค่าใช้จ่ายและเสียเวลาในการทำงาน เป็นผลที่สะท้อนถึงปัญหาและช่องโหว่ของมาตรา ‘112’ ที่การเริ่มคดีไม่ต้องอาศัยผู้เสียหายเป็นคนร้องทุกข์ โดยกฎหมายเปิดช่องให้ผู้ที่พบเห็นการกระทำความผิดสามารถนำเรื่องและหลักฐานเท่าที่ทราบไปกล่าวโทษต่อตำรวจที่มีอำนาจหน้าที่ได้ ซึ่งมีคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ จำนวนไม่น้อยที่ผู้พบเห็นการโพสต์ภาพและข้อความบนโซเชียลมีเดีย แล้วนำไปแจ้งความร้องทุกข์กับสถานีตำรวจที่อยู่ไกลห่างจากภูมิลำเนาของผู้ถูกกล่าวหา ส่วนใหญ่เป็นไปลักษณะการกล่าวหาเพื่อจะกลั่นแกล้งให้บุคคลที่มีความเห็นทางการเมืองแตกต่างกันต้องใช้ชีวิตอย่างไม่ปกติสุข
ด้านฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ผู้กล่าวหาในคดีนี้ เป็นบุคคลที่ชูพระบรมฉายาลักษณ์ในการชุมนุม และรัชกาลที่ 10 ทรงกล่าวข้อความชมว่า “เก่งมาก กล้ามาก ขอบใจ” ระหว่างการรับเสด็จเมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563 นอกจากคดีนี้แล้ว มีคดี 112 ที่ฐิติวัฒน์เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษอีกอย่างน้อย 2 คดี
จากการจับกุมในคดีนี้ ทำให้สถิติคดีมาตรา 112 ตั้งแต่หลังการชุมนุมของเยาวชนปลดแอกปี 2563 เป็นต้นมา มีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 242 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีไม่น้อยกว่า 224 คน และคดีนี้เป็นคดีที่ 111 ที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ โดยแนวโน้มพบว่าเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวในลักษณะ “ปกป้องสถาบันกษัตริย์”
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65