ศาลนนทบุรีไม่ถอนประกัน “ไบรท์” ชินวัตร คดี 112 หลังโพสต์เฟซบุ๊กอยากฟังความเห็นองค์ภาฯ เรื่อง ม.112 แต่ให้ ตร.ตั้งเงื่อนไขเพิ่ม

4 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดไต่สวนคำร้องขอถอนประกันในคดีมาตรา 112 ของ “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง อายุ 28 ปี นักกิจกรรมทางการเมืองในจังหวัดนนทบุรี กรณีปราศรัยวิจารณ์การโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ขณะเข้าร่วมกิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ที่บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ท่าน้ํานนทบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 ซึ่งชินวัตรถูกจับกุมตามหมายจับและได้รับการประกันตัวจากศาลจังหวัดนนทบุรีในชั้นฝากขัง เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา  

>>จับกุม! “ไบรท์” ชินวัตร แจ้ง ม.112 เหตุปราศรัยเรื่องโอนทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ใน #ยืนหยุดขัง ก่อนศาลให้ประกัน

การไต่สวนครั้งนี้สืบเนื่องมาจากเมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2565 ชินวัตรได้โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวมีเนื้อหาว่า อยากเข้าเฝ้าและขอให้องค์ภาฯ แสดงความคิดเห็นถึงการมีอยู่ของมาตรา 112 ว่าส่งผลดีและผลเสียอย่างไรต่อสถาบันกษัตริย์ โดยพนักงานสอบสวนอ้างว่าการโพสต์ข้อความดังกล่าวถือเป็นการกระทำผิดเงื่อนไขประกันของศาลที่กำหนดไว้ว่า “ห้ามผู้ต้องหาทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และศาลในทุกด้าน ห้ามกระทำการใดอันเป็นการขัดขวางกระบวนการพิจารณาของศาล ห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง” จึงขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประกัน

ศาลชี้ข้อความไม่ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ เพียงแต่ไม่ควรกระทำ ก่อนให้ตำรวจ-ผู้ต้องหาตกลงเงื่อนไขการประกันตัวใหม่ 

ที่ห้องพิจารณา 12 เวลา 10.50 น. ศาลออกพิจารณา ภายในห้องประกอบด้วย ชินวัตร พร้อมทนายความ และผู้สังเกตการณ์จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และ iLaw เข้าร่วมสังเกตการณ์ โดยในครั้งแรก ศาลอนุญาตให้เฉพาะคู่ความเข้าห้องพิจารณาเท่านั้น ก่อนอนุญาตให้ผู้สังเกตการณ์คดีเข้าห้องพิจารณาได้ในภายหลัง 

ก่อนเริ่มการไต่สวน ศาลได้สอบถามชินวัตรถึงเหตุแห่งการไต่สวนเพิกถอนประกันครั้งนี้ ชินวัตรจึงชี้แจงต่อศาลว่า เมื่อช่วงเดือนพฤศจิกายน ปี 2564 ที่ผ่านมา มีขบวนเสด็จผ่านบริเวณเส้นทางแคราย จังหวัดนนทบุรี อยู่บ่อยครั้ง ซึ่งทุกครั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สภ.รัตนาธิเบศร์ จะมาคุกคามตนถึงที่บ้านพัก เนื่องจากบ้านพักของตนอยู่ใกล้กับเส้นทางที่ขบวนเสด็จผ่าน ชินวัตรจึงได้โพสต์ข้อความตั้งคำถามถึงพระองค์ภาฯ ว่า “การมีหรือไม่มี มาตรา 112 ส่งผลดีและผลเสียอย่างไรต่อสถาบัน” โดยข้อความดังกล่าว ชินวัตรยืนยันว่าตนตั้งคำถามโดยสุภาพและสุจริต ไม่ได้พูดถึงสถาบันกษัตริย์ในทางเสื่อมเสียแต่อย่างใด

ต่อมา ศาลได้ตั้งคำถามกับชินวัตรว่า พระองค์ภาฯ เป็นผู้บัญญัติกฎหมายมาตรา 112 หรือไม่ และพระองค์มีสิทธิตอบคำถามหรือไม่ นอกจากนี้ ศาลระบุว่าหากจะถามเรื่องมาตรา 112 ควรจะต้องถามคณะกรรมการกฤษฎีกา นักวิชาการ หรือนักกฎหมาย ไม่ควรที่จะไปถามเชื้อพระวงศ์

เวลา 11.00 น. พ.ต.ท.สมุทร์ เกตุยา รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.เมืองนนทบุรี ผู้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนประกัน เข้าเบิกความต่อศาลว่า เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2565 ผู้ต้องหาได้โพสต์ข้อความว่า “องค์ภาอยู่หมู่บ้านลดาวัลย์นนทบุรี ผมอยากเข้าเฝ้าท่านมากเร็ว ๆ นี้ ผมในฐานะประชาชนคนธรรมดาคนหนึ่ง อยากให้องค์ภา ท่านแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการมีมาตรา 112 กับไม่มีมาตรา 112 ส่งผลเสียอย่างไรต่อสถาบันอย่างไร” ซึ่งแม้ข้อความดังกล่าวจะยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่ข้อความได้มีการพาดพิงถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในลักษณะหมิ่นเหม่ 

ในประเด็นนี้ ศาลถาม พ.ต.ท.สมุทร์ ว่าการพูดถึงองค์ภาฯ ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างไร พร้อมกันนี้ศาลระบุว่า การจะมองว่าผู้ต้องหาได้กระทำผิดสัญญาประกันหรือไม่ จะต้องดูหลักเกณฑ์ที่ศาลกำหนดเป็นหลัก ไม่ใช่ความคิดเห็นของพนักงานสอบสวน ซึ่งหากพิจารณาตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดว่า “ห้ามผู้ต้องหาทำกิจกรรมหรือกระทำการใด ๆ ที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัติรย์ฯ” ศาลเห็นว่าข้อความของผู้ต้องหายังไม่ถึงขั้นเสื่อมเสียหรือก่อความวุ่นวาย เพียงแต่ไม่ควรกระทำเท่านั้น อีกทั้งในคดีดังกล่าวยังอยู่ในขั้นตอนฝากขัง และอัยการยังไม่ได้สั่งฟ้องคดีแต่อย่างใด 

พ.ต.ท.สมุทร์ จึงขอให้เรื่องการเพิกถอนประกันของชินวัตรอยู่ในดุลยพินิจของศาล ก่อนที่ศาลจะขอปรึกษากับ พ.ต.ท.สมุทร์ อยู่ประมาณ 15 นาที โดยให้ชินวัตร ทนายความ และคนอื่น ๆ ออกไปรอนอกห้องพิจารณา

เวลา 12.28 น. ชินวัตร และทนายความได้กลับเข้าห้องพิจารณา โดย พ.ต.ท.สมุทร์ ได้เข้ามาพูดคุยกับชินวัตรว่า ไม่อยากให้พูดประเด็นที่เกี่ยวกับมาตรา 112 หรือเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาขึ้น ด้านชินวัตรชี้แจงว่าข้อความที่เป็นประเด็นดังกล่าวตนได้ลบทิ้งไปแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ก็ได้มีการยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนประกัน จนศาลออกหมายเรียกตนมาไต่สวน ชินวัตรจึงโพสต์ข้อความเดิมอีกครั้งเพื่อชี้แจงว่า เหตุที่ถูกเรียกมาไต่สวนเพิกถอนประกันเกิดจากข้อความข้างต้น 

ศาลจึงได้ขอดูโทรศัพท์มือถือของชินวัตรเพื่อตรวจสอบว่า เขาได้ลบข้อความดังกล่าวไปแล้วหรือไม่ หลังตรวจสอบเสร็จแล้ว ศาลได้แจ้งว่าจะให้คู่ความทั้งสองเจรจากันเพื่อตกลงเกี่ยวกับการถอนสัญญาประกัน โดยเขียนกำหนดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างชัดเจน และให้อีกฝ่ายตรวจสอบว่าเงื่อนไขใดรับได้ เงื่อนไขใดรับไม่ได้

ต่อมา ทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจาตกลงกันเพื่อไม่ให้มีการเพิกถอนสัญญาประกัน โดยชินวัตรระบุว่า ขอให้เจ้าหน้าที่ตำรวจในจังหวัดนนทบุรีอย่าไปคุกคามตนที่บ้านพัก พร้อมกับสัญญาว่าจะไม่โพสต์ข้อความใด ๆ หรือยกป้ายเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์นับตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ทางพนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี รับเงื่อนไขดังกล่าว พร้อมเสนอเงื่อนไขให้ชินวัตรว่า ประการแรก ห้ามผู้ต้องหาชูป้ายเกี่ยวกับสถาบันหรือข้อความที่สื่อถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ในระหว่างทางเสด็จของพระบรมวงศานุวงศ์และพระมหากษัตริย์ และประการที่สอง ห้ามปราศรัยพาดพิงถึงสถาบันกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ที่บริเวณหอนาฬิกา ท่าน้ำนนท์ เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 

ด้านชินวัตรรับเงื่อนไขดังกล่าวและจะปฏิบัติตาม หากฝ่าฝืนยินยอมให้ถอนประกัน ก่อนที่ พ.ต.ท.สมุทร์ จะยื่นคำร้องขอถอนคำร้องให้เพิกถอนสัญญาประกันผู้ต้องหา  

ทั้งนี้ ศาลได้เน้นย้ำกับชินวัตรว่า หากมีการทำผิดสัญญาประกันอีก ครั้งหน้าจะไม่เรียกมาไต่สวน แต่จะถอนประกันและคุมขังเลย ชินวัตรยินยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว พร้อมถามศาลว่า หากเจ้าหน้าที่ตำรวจทำผิดเงื่อนไข มาคุกคามตนจะทำอย่างไร ซึ่งศาลกล่าวตอบว่า หากมีการผิดเงื่อนไขดังกล่าว ให้ผู้ต้องหามาแถลงต่อศาล และศาลจะดำเนินการต่อไป

อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่า การตั้งเงื่อนไขประกันตัวเป็นอำนาจของศาลที่ให้ประกันผู้ต้องหาหรือจำเลย หากตำรวจหรืออัยการยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการประกันตัว โดยอ้างเหตุว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยผิดเงื่อนไขประกันตัวของศาล ศาลต้องตรวจสอบคำร้องดังกล่าวและวินิจฉัยว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยได้กระทำผิดเงื่อนไขตามที่พนักงานสอบสวนอ้างหรือไม่ และศาลอาจกำหนดเงื่อนไขประกันตัวเพิ่มเติมเท่าที่จำเป็น แตกต่างจากกรณีนี้ซึ่งศาลให้พนักงานสอบสวนตกลงเงื่อนไขกับผู้ต้องหาเอง

“ชินวัตร” เผยถูก ตร. คุกคามถึงบ้านไม่ต่ำกว่า 10 ครั้ง หวั่นขัดขวางขบวนเสด็จ 

ภายหลังเสร็จสิ้นการไต่สวน ชินวัตรได้ให้สัมภาษณ์ถึงความรู้สึกที่ถูกตำรวจยื่นเพิกถอนประกันครั้งนี้ รวมถึงบอกเล่าเหตุการณ์ที่ตนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคุกคามที่บ้านพักทุกครั้งที่มีขบวนเสด็จผ่าน ทั้ง ๆ ที่ตนไม่เคยไปขัดขวางขบวนเสด็จ หรือทำกิจกรรมใด ๆ ในลักษณะนั้นมาก่อน 

“ผมคิดว่าไม่ได้ทำผิดอะไร มันเป็นการตั้งคำถามที่สุภาพและสุจริต และเราเป็นประชาชนคนหนึ่ง เรามีความอึดอัดใจแและก็เครียด เพราะว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจมาคุกคามเราในช่วงที่มีขบวนเสด็จทุกครั้ง พอมันเป็นแบบนี้เราก็ไม่ไหวเหมือนกัน เลยคิดว่ามันถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องถามเขาดีไหม เราเห็นว่าองค์ภาฯ อยู่ในหมู่บ้านลดาวัลย์ ไม่ได้ไกลจากชุมชนผม ที่ผมโพสต์ไปเนี่ย อยากให้ท่านได้เห็นสักนิดนึงว่า ผมอยากเข้าเฝ้าท่าน อยากจะถามท่าน ให้ท่านแสดงความคิดเห็นว่าการมีมาตรา 112 ดีหรือไม่ดีอย่างไรเท่านั้นเอง ไม่ได้มีเจตาอื่นใด แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจก็มีการยื่นถอนประกัน และฟ้องร้องนู้นนี่ มันเลยทำให้เรารู้สึกว่า ตำรวจมองว่าเราเป็นศัตรูหรือเปล่า ไหนบอกว่าตำรวจรับใช้ประชาชน”

“วันนี้ที่ตำรวจทำคือการกลั่นแกล้งผม แต่ว่าการที่ศาลออกมาในรูปแบบที่ให้ทางเรากับตำรวจเจรจาแลกเปลี่ยนกัน ผมว่าโอเคในระดับหนึ่ง แต่เจตนาผมคืออยากให้ศาลมีการไต่สวนเลย เพราะอยากรู้จากปากศาลว่าข้อความดังกล่าวผิดหรือไม่ รวมถึงเงื่อนไขที่ได้มาในวันนี้ก็ไม่ได้ต่างจากเงื่อนไขอันเก่า แต่ก็โอเคที่ไม่มีการถอนประกัน ตำรวจก็จะยื่นถอนคำร้องเพิกถอนประกันให้ และข้อความก็ไม่ได้เข้าข่ายผิดอะไร ผมก็ให้ทนายดูข้อความแล้ว มันไม่ได้ผิดอะไรเลย พอเจอเจ้าหน้าที่ทำแบบนี้ มันทำให้เรารู้สึกเหมือนถูกกลั่นแกล้ง” 

นอกจากนี้ ชินวัตรเปิดเผยว่า ที่ผ่านมาเขาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบประมาณ 3-4 นาย มาคุกคามที่บ้านพักเวลามีขบวนเสด็จผ่าน ไม่ต่ำกว่า 10 ครั้งแล้ว 

“บางทีผมไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามีขบวนเสด็จ แต่พักหลังนี่ถ้าเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจมาหา ชาวบ้านก็จะรู้เลยว่ามีขบวนเสด็จ พอตำรวจมาถึงก็จะถ่ายรูปไปบ้าง มาถามโน้นถามนี่บ้างเป็นประจำ เช่นว่า ‘วันนี้ไปไหนไหม’ ‘จะเดินทางไปเมื่อไหร่ยังไง’ ‘วันนี้มีขบวนเสด็จนะ อย่าไปตรงนั้น อย่าไปยุ่งกับเขา พี่ขอนะ’ ผมก็บอกว่า 

‘ไม่ไปยุ่ง พี่จะมาถามอะไรนักหนา’ ชาวบ้านในชุมชนหวาดระแวงไปหมด ไม่รู้ว่าตำรวจจะมาทำไม มันทำให้เรารู้สึกไม่ดี มันเหมือนเราเป็นผู้ร้าย ทำไมตำรวจจะต้องมายุ่งกับเรา บุกมาบ้านเราประจำ มันไม่ดีเลย”  

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64

.

X