23 ก.พ. 2565 เวลาประมาณ 15.30 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบ จาก สภ.รัตนาธิเบศร์ และ สภ.เมืองนนทบุรี ได้สนธิกำลังเข้าจับกุม “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมทางการเมือง ถึงบ้านพักในจังหวัดนนทบุรี เป็นการจับกุมตามหมายจับ ออกโดยศาลจังหวัดนนทบุรีเมื่อวันที่ 22 ก.พ. 2565
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่แจ้งว่า เป็นการจับกุมในคดีจากเหตุเข้าร่วมกิจกรรมยืนหยุดขัง จัดที่หน้าหอนาฬิกา ท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 เขาถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมา ได้ถูกนำตัวไปทำบันทึกการรับมอบตัวและจับกุมที่ สภ.รัตนาธิเบศร์
สำหรับบันทึกจับกุมในคดีนี้ ระบุว่าการจับกุมอยู่ภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 โดยมีจุดจับกุมเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งจาก กองกำกับการสืบสวนภูธรจังหวัดนนทบุรี, สภ.รัตนาธิเบศร์ และ สภ.เมืองนนทบุรี รวมทั้งสิ้น 22 นาย
เหตุการณ์การช่วงถูกจับกุม https://fb.watch/bXS3evNE1k/
.
ในชั้นจับกุม ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา แต่ยอมรับว่าเป็นบุคคลตามหมายจับจริง และประสงค์ให้มีทนายความคอยอยู่ร่วมในกระบวนการด้วย รวมทั้งเขาปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุม
หลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการ ชินวัตรถูกส่งตัวต่อมายัง สภ.เมืองนนทบุรี ซึ่งเป็นสถานีตำรวจท้องที่เจ้าของคดี โดยภายในวันเดียวกันนั้นเอง ทางพนักงานสอบสวนยังได้แจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อชินวัตรในอีกคดีความหนึ่ง เป็นคดีสืบเนื่องจากการชุมนุมเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 จัดที่บริเวณท่าน้ำนนทบุรี ซึ่งเขาถูกแจ้งข้อหามาก่อนหน้านี้แล้ว
.
แจ้ง ม. 112-พ.ร.บ.ควบคุมโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ เหตุร่วมชุมนุมปราศรัย “ยืนหยุดขัง” วิจารณ์การถ่ายโอนทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
สำหรับพฤติการณ์คดี พนักงานสอบสวน สภ.เมืองนนทบุรี บรรยายโดยสรุปว่า เมื่อช่วงเย็นของวันที่ 4 ก.พ. 2565 ชินวัตรได้ทํากิจกรรม “ยืนหยุดขัง” ที่บริเวณวงเวียนหอนาฬิกา ท่าน้ํานนทบุรี และได้นําแผ่นกระดาษที่เขียนข้อความ “ยกเลิก 112” และภาพของ พริษฐ์ ชิวารักษ์, ภาณุพงษ์ จาดนอก และปนัสยา สิทธิจิรวัฒน์กุล วางไว้บนต้นไม้ บริเวณรอบวงเวียน
นอกจากนี้ ชินวัตรได้ใช้เครื่องขยายเสียงแบบไมล์ลอยพูดปราศรัยเพื่อให้ประชนชนที่เดินผ่านไปมารับฟัง โดยมีข้อความบางส่วนว่า
“พอเปลี่ยนผ่านรัชกาลมา และในสมัยของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการไปเซ็นโอนย้ายโอนถ่ายนะครับทรัพย์สมบัติของชาติ จากปกติเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ พูดกันง่ายๆ ยกตัวอย่างกันง่ายๆ เช่น บริษัทไทยพาณิชย์ ก็คือธนาคารไทยพาณิชย์ นะครับพี่น้อง ซึ่งเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริยนะครับ สมัยก่อนนู้น”
“แต่พอมาในยุคของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเซ็นเอกสารอะไรก็ไม่รู้นั้น โอนผ่านมาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เราเป็นห่วงรัชทายาทต่างๆ ที่จะต้องใช้ทรัพย์สมบัติเหล่านั้นเหมือนกัน ท่านจะใช้อย่างไร หากเรามีในหลวงพระองค์ต่อไป ท่านจะใช้อย่างไร ในเมื่อมีการโอนย้ายมาแล้วจากทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งทุกคนในตระกูลสามารถใช้ได้กันหมด แต่อยู่ดี ๆ เปลี่ยนมาเป็นของส่วนตัว แล้วอย่างนี้ทรัพย์สมบัติ ของชาติจะตกไปอยู่ที่ของใคร”
“นี่คือข้อสังเกต นี้คือข้อสงสัยของพวกเรา หากท่านต้องการจะตอบให้กระจ่าง ก็เป็นหน้าที่ของท่านที่จะต้องชี้แจงให้ประชาชนนั้นเข้าใจ แต่สถานการณ์มันก็กลับตรงกันข้าม แทนที่จะชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจกลับเป็นการดําเนินคดีกับคนที่ออกมาตั้งข้อสงสัย แสดงว่าประชาชนไม่สามารถตั้งข้อสงสัยอะไรกันใครได้เลย แบบนี้มันก็ไม่มีการตรวจสอบ แบบนี้ ก็โกงกินทรัพย์สมบัติของชาติกันมหาศาลสิครับ”
ข้อกล่าวหาอ้างว่าข้อความดังกล่าว เป็นการพูดใส่ความพระมหากษัตริย์ต่อประชาชน ที่เดินผ่านไปมา ให้เข้าใจผิด หรือหลงชื่อว่าพระมหากษัตริย์จะทุจริต ยักยอก คอร์รัปชั่นทรัพย์สมบัติของชาติเป็นของตนเอง และจากการตรวจสอบจากเทศบาลนครนนทบุรี ทราบว่าผู้ต้องหาไม่ได้ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงบริเวณที่เกิดเหตุ ในวันเวลาดังกล่าวแต่อย่างใด
พนักงานสอบสวนได้แจ้งชินวัตร 2 ข้อหา ได้แก่ “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4
.
ตร.แจ้งรายละเอียดข้อหาเพิ่ม “ชินวัตร” เหตุเป็นผู้จัดชุมนุม #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ ที่ท่าน้ำนนทบุรี
ขณะที่เวลาประมาณ 18.30 น. พ.ต.ท.สมุทร์ เกตุยา รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.เมืองนนทบุรี ได้แจ้งข้อเท็จจริงเพิ่มเติมแก่ชินวัตร จากการขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ บริเวณท่าน้ำนนทบุรี เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 เป็นการแจ้งข้อหาเรื่องการ “ร่วมกัน” กระทำความผิดข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 โดยระบุว่าเขาเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมดังกล่าวขึ้น
ทั้งนี้ คดีนี้มีผู้ถูกกล่าวหา 5 ราย นอกจากชินวัตรแล้ว ยังมีภาณุพงศ์ จาดนอก, ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, พริษฐ์ ชิวารักษ์ และ “เพชร” ธนกร เยาวชนอายุ 18 ปี ซึ่งสี่รายหลังนี้ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วย
ดูข้อมูลคดีนี้ คดี 112, 116 เพนกวิน-รุ้ง-ไมค์-ธนกร (เยาวชน) ปราศรัยม็อบ10กันยา #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ
.
ศาลให้ประกัน วางเงิน 2 แสน พร้อมเงื่อนไข “ห้ามกระทำการอันใดเสื่อมเสียต่อสถาบันกษัตริย์และศาล”
หลังจากสอบคำให้การเสร็จสิ้นแล้ว ชินวัตรได้ถูกควบคุมตัวไว้ที่ สภ.เมืองนนทบุรี 1 คืน ก่อนในวันที่ 24 ก.พ. 2565 พนักงานสอบสวนได้ยื่นขออำนาจศาลจังหวัดนนทบุรีฝากขัง ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ พร้อมคัดค้านการประกันตัวโดยระบุว่า พนักงานสอบสวนยังทำการสอบสวนไม่เสร็จสิ้น ต้องสอบพยานเพิ่มอีก 5 ปาก รอผลการตรวจลายนิ้วมือ
ท้ายคำร้องยังระบุด้วยว่า หากผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว พนักงานสอบสวนขอคัดค้านการประกัน เนื่องจากเป็นคดีหมิ่นเบื้องสูง ที่มีอัตราโทษสูง และผู้ต้องหากระทําผิดลักษณะเดียวกันถูกดําเนินคดีหลายท้องที่ หากให้ประกันตัวเกรงผู้ต้องหาน่าจะหลบหนี
ด้านทนายความได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยวางเงินสดจำนวน 200,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ เป็นหลักประกัน
ต่อมา ศาลมีคำสั่งให้อนุญาตให้ฝากขัง และอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว พร้อมกำหนดเงื่อนไข ห้ามกระทำการอันใดเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์และศาล ห้ามขัดขวางกระบวนการพิจารณาคดีของศาล และห้ามเข้าร่วมการชุมนุมที่อาจก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง ทำให้เขาได้รับการปล่อยตัวในที่สุด
สำหรับคดีนี้ นับเป็นคดีมาตรา 112 ที่ชินวัตรถูกกล่าวหาคดีที่ 5 แล้ว และทำให้ยอดจำนวนคดีมาตรา 112 หลังการชุมนุมเยาวชนปลดแอกเป็นต้นมา เพิ่มขึ้นเป็นอย่างน้อย 185 คดีแล้ว
>>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-64
.