‘โตโต้-เพนกวิน’ ยืนยัน ปราศรัยแสดงความเห็นถึงกษัตริย์โดยสุจริต เตรียมสู้คดี ม.112-116 ศาลอุบลฯ นัดสืบพยานปี 66-67

10 ต.ค. 2565 ศาลจังหวัดอุบลราชธานีนัดสอบคำให้การและตรวจพยานหลักฐานในคดีที่ 4 นักกิจกรรม ถูกฟ้องจากเหตุชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 โดยฉัตรชัย แก้วคำปอด หรือ ‘ทนายแชมป์’ และ ‘ออฟ’ วิศรุต สวัสดิ์วร สมาชิกพรรคก้าวไกล จ.อุบลราชธานี ถูกฟ้องในข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116(2)(3) และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) ส่วนทั้ง ‘โตโต้’ ปิยรัฐ จงเทพ และ ‘เพนกวิน’ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ยังถูกฟ้องตามข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพิ่มอีกข้อหา จากการปราศรัยในการชุมนุมดังกล่าว ในประเด็น “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กับบทบาทของกองทัพไทย” และ “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” 

.

.

ทั้งปิยรัฐและพริษฐ์เดินทางมาจากกรุงเทพฯ ท่ามกลางสถานการณ์น้ำท่วมที่ จ.อุบลราชธานี การจราจรเป็นไปอย่างยากลำบาก โดยเฉพาะพริษฐ์ที่ยังต้องติด EM ตามเงื่อนไขศาล ไม่สามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้ ต้องนั่งรถไฟมาที่อุบลฯ โดยตัวสถานีรถไฟอุบลราชธานีตั้งอยู่ที่ อ.วารินชำราบ ปกติจะใช้เวลาเดินทางไปศาลจังหวัดอุบลฯ ไม่ถึง 10 นาที แต่ด้วยน้ำท่วมทางสัญจรระหว่าง อ.เมือง กับ อ.วารินฯ ทำให้ไม่สามารถข้ามไปมาได้ รถจะต้องขับอ้อมและเผชิญการจราจรที่ติดขัด และใช้เวลาเดินทางกว่า 3 ชั่วโมง จนถึงศาลในช่วงเวลา 10.15 น.

ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 3 ปวีณา วิโรจน์ธนะชัย ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะชั้นต้นในศาลจังหวัดอุบลฯ  อ่านคำฟ้องให้ทั้งนักกิจกรรมทั้งสี่ฟังอีกครั้ง ก่อนทั้งหมดยืนยันให้การปฏิเสธ และขอต่อสู้คดีเช่นเดิม

.

วิพากษ์วิจารณ์ตรงไปตรงมา ด้วยเจตนาดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

นอกจากนี้ ปิยรัฐและพริษฐ์ จำเลยที่ 3 และ 4 ได้ยื่นคำให้การเป็นหนังสือ ลงวันที่ 10 ต.ค. 2565 ระบุว่า ขอยืนยันว่า ข้อความตามที่ถูกกล่าวหา เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตบนพื้นฐานข้อเท็จจริง วิพากษ์วิจารณ์อย่างตรงไปตรงมา ด้วยเจตนาที่ดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง จำเลยไม่ได้ทำผิดต่อกฎหมายตามที่โจทก์กล่าวหาแต่อย่างใด จึงมีความจำเป็นจะต้องอ้างพยานบุคคลและพยานเอกสารต่างๆ ประกอบการสืบพยานเพื่อต่อสู้คดี พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของจำเลย

คำให้การของทั้งสองยังระบุอีกว่า แม้พระมหากษัตริย์จะอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 6 รับรองไว้ ก็เป็นแต่เพียงการรับรองว่าผู้ใดจะใช้สิทธิตามกฎหมาย กล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางแพ่ง อาญา ต่อศาลในกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญได้รับรองไว้เพียงเท่านั้น ไม่ได้หมายความรวมถึง ห้ามมิให้วิพากษ์วิจารณ์ หรือแสดงความคิดเห็นติชมพระองค์โดยสุจริต ซึ่งการแสดงความคิดเห็นถือเป็นเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ  พ.ศ.2560 มาตรา 34 โดยรัฐธรรมนูญอันถือเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศก็ไม่ได้บัญญัติห้ามมิให้วิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นโดยสุจริตเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์แต่อย่างใด 

นอกจากนี้คำว่าละเมิด (Violation) หมายถึง การกระทำโดยผิดกฎหมาย กล่าวคือ ไม่มีอำนาจจะกระทำเช่นนั้น การกระทำที่เป็นการกระทบสิทธิแต่ทำโดยมีอำนาจ ย่อมไม่เป็นการละเมิด จึงไม่ต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 และมาตรา 34 ดังนั้น จำเลยจึงมีสิทธิที่จะอ้างพยานหลักฐานต่าง ๆ เข้ามาต่อสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ได้ว่าการกระทำของจำเลยได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร และเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ อย่างไร 

.

เตรียมสืบ คำปราศรัย กษัตริย์ใช้อำนาจขณะอยู่ต่างประเทศ-มีการโอนย้ายกำลังพล-เปลี่ยนชื่อทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ เป็นเท็จตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่

ในการตรวจพยานหลักฐาน นรเศรษฐ์ นาหนองตูม ทนายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ยื่นบัญชีพยานระบุพยานบุคคลรวม 21 ปาก พร้อมทั้งยื่นคำแถลงความเกี่ยวข้องของพยาน ระบุว่า นอกจากปิยรัฐและพริษฐ์ที่อ้างตนเองเป็นพยานแล้ว พยานลำดับที่ 3 – 12 เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการ เช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล, สมชาย ปรีชาศิลปกุล, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ณัฐพล ใจจริง ซึ่งจะนำสืบเกี่ยวกับข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6, การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ขณะประทับอยู่ในราชอาณาจักร และขณะไม่ได้ประทับอยู่ในราชอาณาจักร, การแก้ไขเปลี่ยนแปลงอัตรากำลังพล และงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม รวมถึงการโอนเปลี่ยนแปลงรายการทรัพย์สินจากชื่อสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ไปเป็นชื่อของในหลวง ร.10 

ส่วนพยานลำดับที่ 13 คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะนำสืบในประเด็นเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญภายหลังจากที่ได้มีการออกเสียงลงประชามติแล้ว, พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฝ่ายพระมหากษัตริย์, การเปลี่ยนแปลงไปของลานพระบรมรูปทรงม้า รัฐสภาเดิม สวนสัตว์เขาดิน สนามม้านางเลิ้ง และประเด็นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

.

.

พยานลำดับที่ 14 – 19 ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, กงสุลใหญ่ ณ นครมิวนิค สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี, เลขาธิการพระราชวัง, ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ, เอกอัครราชทูตสมาพันธรัฐสวิสประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูต ณ กรุงเบิร์น จะนำสืบในประเด็นว่า ในหลวง ร.10 ได้มีการไปพำนักต่างประเทศหรือไม่อย่างไร และได้มีการใช้พระราชอำนาจขณะที่พระองค์พำนักอยู่ที่ต่างประเทศหรือไม่อย่างไร และประเด็นอื่นๆ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นในคำฟ้อง 

พยานลำดับที่ 20 คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะนำสืบว่า มีการจัดสรรงบประมาณของกระทรวงพาณิชย์ให้กับสถาบันพระมหากษัตริย์จริงหรือไม่

พยานลำดับที่ 21 คือ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ จะนำสืบในประเด็นเกี่ยวกับว่าได้มีการเปลี่ยนแปลงรายการทรัพย์สินชื่อผู้ถือหุ้นจากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เป็นชื่อของในหลวง ร.10 หรือไม่ อย่างไร และประเด็นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง 

บัญชีพยานจำเลยยังระบุพยานเอกสารอีก 77 ฉบับ ที่จะใช้เป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของปิยรัฐและพริษฐ์

หลังจากพิจารณาบัญชีพยานที่ทนายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยื่นต่อศาลแล้ว ศาลกล่าวขึ้นว่า ข้อความตามคำฟ้องของโจทก์ ไม่ว่าจะจริงหรือเท็จ หากศาลพิจารณาว่า เข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ก็น่าจะครบองค์ประกอบความผิดแล้ว จำเลยไม่จำเป็นต้องนำพยานหลักฐานมาพิสูจน์เพื่อยืนยันข้อเท็จจริง แล้วสิ่งที่จำเลยต้องการจะพิสูจน์มีจุดประสงค์อื่นใดหรือไม่  

พริษฐ์ลุกขึ้นแถลงต่อศาลว่า การเอาความจริงมาเปิดเผยต่อศาล ซึ่งเป็นพื้นที่กลาง น่าจะให้คำตอบกับประชาชนได้ว่า สิ่งที่ตนกล่าวปราศรัยเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์เป็นความเท็จ และเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ตามที่โจทก์ฟ้องหรือไม่ 

ศาลกล่าวเชิงหารือกับทนายจำเลยว่า พยานที่จำเลยอ้างมาจะมาได้จริงหรือไม่ โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือพยานลำดับที่ 15 และ 19 ที่อยู่ต่างประเทศ ก่อนถามอีกว่า จำเป็นแค่ไหนกับการสืบพยานบุคคลหลายปากที่อ้างมา ทนายนรเศรษฐ์ยืนยันว่า ขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานเหล่านั้นก่อน ส่วนพยานจะมาเบิกความหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง 

เมื่อได้ข้อยุติในส่วนของพยานจำเลยที่ 3 และที่ 4 โดยศาลบันทึกว่า ตรวจบัญชีพยานของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 4 แล้ว เห็นว่าพยานเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงหรือข้าราชการระดับสูง และชี้แจงให้จำเลยทั้งสองและทนายจำเลยฟังแล้ว จำเลยทั้งสองยืนยันว่า พยานบุคคลตามบัญชีระบุพยานมีความสำคัญในการมาเบิกความเพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏต่อศาลและสาธารณชน ทั้งมิใช่บุคคลที่กฎหมายห้ามไม่ให้มาเบิกความต่อศาล โดยจำเลยทั้งสองเชื่อว่า การเบิกความของพยานบุคคลดังกล่าวจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนโดยรวม จึงอนุญาตให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 นำพยานเข้าสืบได้ตามขอ ใช้เวลาสืบรวม 5 นัดครึ่ง

ต่อมา โจทก์ได้แถลงนำพยานบุคคลเข้าสืบทั้งหมด 18 ปาก ขอใช้เวลาสืบพยาน 5 นัด พร้อมทั้งอ้างส่งพยานเอกสารจำนวน 31 ฉบับ และคลิปวีดีโอในวันเกิดเหตุจำนวน 4 คลิป อย่างไรก็ตาม หากจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 รับว่า พ.ต.ท.สถาพร สีนุ่น เป็นตำรวจที่จับกุมจำเลยที่ 1 และ พ.ต.ท.ศักยชัย เพชรรัตน์ เป็นตำรวจที่เข้าจับกุมจำเลยที่ 3 ตามหมายจับของศาลนี้ โจทก์ก็ไม่ติดใจจะนำพยานทั้ง 2 ปากเข้าเบิกความอีก 

แต่ฉัตรชัย จำเลยที่ 1 และปิยรัฐ จำเลยที่ 3 แถลงว่า ต้องการให้โจทก์นำพยานทั้งสองปากมาเบิกความ เนื่องจากในขณะทั้งสองถูกจับกุม เจ้าหน้าที่ที่เข้าจับกุมไม่ได้แสดงตัว 

.

2 นักกิจกรรมอุบลฯ ยืนยันชุมนุมทุกครั้งไม่มีเหตุวุ่นวาย-กระด้างกระเดื่อง

ด้านฉัตรชัย จำเลยที่ 1 และวิศรุต จำเลยที่ 2 แถลงแนวทางต่อสู้คดีว่า จำเลยทั้งสองเคยร่วมจัดการชุมนุมที่มีการปราศรัยเกี่ยวกับการเมืองที่ จ.อุบลราชธานี มาหลายครั้งแล้ว ทุกครั้งจำเลยทั้งสองก็ปฏิบัติตามกฎหมาย โดยแจ้งให้เจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทราบก่อนการชุมนุม และไม่เคยปรากฏเหตุการณ์วุ่นวายจากการชุมนุมที่ทั้งสองจัดมาก่อน เช่นเดียวกับการชุมนุมในคดีนี้ ซึ่งได้แจ้งให้พนักงานสอบสวน สภ.เมืองอุบลราชธานี ทราบก่อนการชุมนุมแล้ว และในการชุมนุมไม่มีการยุยงปลุกปั่นผู้เข้าร่วมชุมนุมแต่อย่างใด ภายหลังฟังการปราศรัยแล้ว ผู้ร่วมชุมนุมก็แยกย้ายออกจากที่ชุมนุมโดยไม่เกิดเหตุการณ์วุ่นวาย และไม่ได้เกิดอาการกระด้างกระเดื่องตามที่โจทก์ฟ้อง 

.

วัฒนา จันทศิลป์ ทนายจำเลยที่ 1 และที่ 2 แถลงจะนำพยานบุคคลเข้าสืบ 8 ปาก ใช้เวลา 2 นัด  

ทนายจำเลยทั้งสี่ยังได้แถลงร่วมว่า ในการจัดลำดับการสืบพยานของจำเลยที่ 1-4 นั้น หลังจากจำเลยทั้งสี่เข้าเบิกความแล้ว ให้นำพยานตามบัญชีพยานของจำเลยที่ 3-4 เข้าเบิกความก่อน โดยพยานบางปาก จำเลยที่ 1-2 จะอ้างร่วมกับจำเลยที่ 3-4 และจะขอถามพยานไปในคราวเดียวกัน

.

รอสืบพยานปี 66-67 ทั้งทนายและจำเลยติดภาระคดีเสรีภาพหลายคดี

จากนั้นทั้งอัยการโจทก์ ทนายจำเลย และจำเลย ได้ไปที่ศูนย์นัดความเพื่อกำหนดวันนัดสืบพยาน โดยก่อนหน้านั้น ทนายนรเศรษฐ์ได้ยื่นคำแถลงข้อเท็จจริงกรณีไม่สามารถนัดสืบพยานต่อเนื่องได้ตามเกณฑ์ที่ศาลกำหนด โดยระบุว่า เนื่องจากตนเป็นทนายความรับผิดชอบทำคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกเป็นจำนวนมาก ซึ่งหลายคดีได้กำหนดวันนัดสืบพยานไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ทั้งจำเลยในคดีนี้ก็ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดในหลายคดี ซึ่งคดีอื่นศาลก็ได้กำหนดนัดสืบพยานไว้ล่วงหน้าก่อนแล้ว ทำให้ตารางนัดสืบพยานของจำเลยและทนายจำเลยไม่มีวันว่างเพียงพอสำหรับนัดสืบพยานต่อเนื่องในปี 2565 จึงขอให้ศาลอนุญาตให้นัดสืบพยานเกินเกณฑ์กลางที่ศาลได้กำหนดเอาไว้ด้วย

ก่อนทั้งหมดตกลงได้วันสืบพยานในวันที่ 2 ส.ค., 5,10 ต.ค. 2566, 30 ม.ค., 23 ก.พ., 15,19 มี.ค., 21 มิ.ย., 4-5,10-12 ก.ค. 2567

.

ภาพจากประชาไท

.

สำหรับเหตุในคดีย้อนไปเมื่อครั้งการชุมนุม #เด็กพูดผู้ใหญ่ฟัง ที่ศาลหลักเมืองอุบลฯ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2563 สนับสนุนข้อเรียกร้องของเยาวชนปลดแอก และแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม สภ.เมืองอุบลฯ ดำเนินคดีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องรวม 4 ราย ได้แก่ ฉัตรชัย ผู้แจ้งการชุมนุม, วิศรุต พิธีกร พริษฐ์และปิยรัฐ ผู้ปราศรัย ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาทั้งสี่เพียงมาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 

ต่อมา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศดำเนินการบังคับใช้กฎหมายทุกมาตรากับผู้ชุมนุม พนักงานสอบสวนจึงได้แจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 เพิ่มเติมกับพริษฐ์ ซึ่งปราศรัยเรื่อง “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ในการชุมนุมดังกล่าว อีกทั้งเมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ พนักงานอัยการจังหวัดอุบลฯ ได้ส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณา สำนักงานอัยการสูงสุดมีความเห็นให้แจ้งข้อกล่าวหามาตรา 112 กับปิยรัฐซึ่งปราศรัยประเด็น “พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์กับบทบาทของกองทัพไทย” อีกราย

.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ฟ้อง ม.116 พิธีกรและผู้จัดชุมนุมที่อุบลฯ เหตุ “เพนกวิน-โตโต้” ปราศรัย “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” 

คดี 112,116 พริษฐ์-ปิยรัฐ ชุมนุมอุบลฯ 22 สิงหา อีก 2 คน ถูกฟ้อง 116

.

X