ฟ้อง 112 “เพนกวิน” คดีที่ 19 ปราศรัยข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ร้อยเอ็ดปี 63

10 มี.ค. 2566 “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ นักศึกษาและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองวัย 24 ปี เดินทางไปที่สำนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด ตามที่พนักงานอัยการนัดมาส่งฟ้องต่อศาล ในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ “นําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง” ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากกรณีปราศรัยในชุมนุม #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน ที่บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 

หลังจากรายงานตัวแล้ว พริษฐ์พร้อมทนายความเดินทางต่อไปที่ศาลจังหวัดร้อยเอ็ด โดยเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการเป็นผู้นำสำนวนฟ้องไปยื่นต่อศาล 

ราว 11.00 น. พริษฐ์ถูกควบคุมตัวไปที่ห้องขังด้านหลังศาล ขณะทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี โดยเสนอหลักประกันเป็นเงินสดจำนวน 90,000 บาท และมีแม่ของพริษฐ์เป็นนายประกัน

.

คำฟ้องของ พงศา เด็ดดวง พนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด ระบุการกระทำที่กล่าวหาว่า

ราชอาณาจักรไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลที่ 9 ทรงครองราชย์ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2489 ถึงวันที่ 23 ต.ค. 2559 และพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระเจ้าอยู่หัวในรัชกาลปัจจุบันเป็นพระมหากษัตริย์ทรงครองราชย์สืบเนื่องมาจนถึงรัชสมัยปัจจุบัน ซึ่งตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 บัญญัติว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” 

เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 จําเลยได้ขึ้นกล่าวปราศรัยต่อหน้าประชาชนจํานวนมากซึ่งร่วมชุมนุมอยู่ที่บริเวณลานหน้าบึงพลาญชัย จังหวัดร้อยเอ็ด และเผยแพร่เข้าไปในเฟซบุ๊คที่ใช้ชื่อว่า กลุ่มสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก ซึ่งตั้งค่าไว้เป็นสาธารณะ 

อัยการบรรยายฟ้องโดยยกคำปราศรัยของพริษฐ์ในวันดังกล่าวมาบางส่วน ซึ่งมีเนื้อหาโดยสรุปกล่าวถึงประเด็น การรื้อสนามม้านางเลิ้ง ตลาดนางเลิ้ง รวมทั้งชุมชนแถบนางเลิ้งเพื่อสร้างอุทยานเฉลิมพระเกียรติรัชกาลที่ 9, การถือหุ้นของสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ทองคำที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน, การบริจาคเงินโดยเสด็จพระราชกุศลของกลุ่มทุนใหญ่ ก่อนกล่าวถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ โดยพริษฐ์อธิบายว่า เป็นการปฏิรูปให้เป็นระบอบการปกครองที่กษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ปัญหาวิกฤตศรัทธาต่อสถาบันกษัตริย์ที่มีอยู่ในปัจจุบัน

อัยการระบุว่า การที่พริษฐ์กล่าวคำปราศรัยดังกล่าว เป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และเป็นการกระทําให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต โดยมีเจตนาบิดเบือนใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ และบิดเบือนเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อประชาชนได้รับฟัง ก่อให้เกิดความเคลือบแคลงสงสัยต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และต่อสถาบัน อันจะก่อให้เกิดความแตกแยก ความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และทําให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน รวมทั้งเป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

ท้ายคำฟ้อง อัยการคัดค้านปล่อยชั่วคราวพริษฐ์ในชั้นพิจารณา อ้างว่า เป็นคดีที่มีอัตราโทษสูง และเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคง

นอกจากจะขอให้ศาลพิพากษาลงโทษแล้ว อัยการยังขอให้ศาลนับโทษจําคุกของพริษฐ์ในคดีนี้ต่อกับโทษจําคุกในคดีของศาลอื่นๆ อีกหลายคดีด้วย

.

หลังศาลรับฟ้องคดีแล้ว ได้อ่านคำฟ้องให้พริษฐ์ฟังโดยละเอียด ผ่านวีดีโอคอนเฟอเรนซ์จากห้องพิจารณามาที่ห้องขังของศาล ก่อนถามคำให้การเบื้องต้น ซึ่งพริษฐ์ยืนยันให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดคุ้มครองสิทธิและสอบคำให้การอีกครั้งในวันที่ 26 เม.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ก่อนมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี กำหนดหลักประกันเป็นวงเงิน 150,000 บาท โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใดๆ เพิ่มเติม 

หลังใช้เงินของกองทุนราษฎรประสงค์วางเป็นหลักประกัน ประมาณ 14.00 น. เพนกวินก็ได้รับการปล่อยตัวออกจากห้องขัง รวมเวลาถูกคุมขังอยู่ราว 3 ชั่วโมง โดยเพนกวินตั้งข้อสังเกตว่า เงินประกันในคดีนี้ถือว่าค่อนข้างสูง เพราะเมื่อต้นสัปดาห์ (7 มี.ค. 2566) ในคดีมาตรา 112 เช่นเดียวกัน ศาลอาญาให้ประกันเขาในวงเงิน 90,000 บาท และเมื่อเดือน ก.ย. 2565 ศาลจังหวัดขอนแก่นให้เขาและไผ่ทำสัญญาประกันโดยไม่ต้องวางหลักประกัน

.

การชุมนุมของกลุ่ม “สหภาพร้อยเอ็ดปลดแอก” เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2563 นัดหมายกันที่ลานหน้าหอโหวดบึงผลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด ภายใต้ชื่อ #เจาะกะลาตามหาบักคำผาน โดยมีกิจกรรม เล่นสงกรานต์ ปาสี แสดงดนตรี ละคร และการปราศรัยจากเยาวชน นักกิจกรรม รวมทั้งเพนกวิน โดยสหภาพร้อยเอ็ดปลดแอกได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลหยุดคุกคามและดำเนินคดีกับประชาชน, ส.ว.ลาออก, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง, ยุบสภา และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

.

คดีมาตรา 112 ของพริษฐ์คดีนี้นับเป็นคดีที่ 3 ที่ถูกฟ้องต่อศาล จากการรับเชิญไปขึ้นปราศรัยในการชุมนุมของนักเรียน-นักศึกษา-นักกิจกรรมอีสาน ในช่วงปี 2563 หลังการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” โดยคดีแรกเป็นคดีจากการปราศรัยเรื่อง “กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” ในการชุมนุมของ “คณะอุบลปลดแอก” เมื่อ 22 ส.ค. 2563 ส่วนคดีที่ 2 มาจากการปราศรัยถึง 10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในการชุมนุมของ “ขอนแก่นพอกันที” เมื่อ 20 ส.ค. 2563  

ทั้งนี้ พริษฐ์เป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา จำนวนถึง 23 คดี คดีนี้เป็นคดีที่ 19 ที่ถูกฟ้องต่อศาล โดยยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำให้เขามีภาระในการต่อสู้คดีจำนวนมากต่อไป (ดูตารางสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112)

.

ดูข้อมูลคดีนี้ชั้นสอบสวน

คดี 112 “เพนกวิน-พริษฐ์” ปราศรัยปัญหาและข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ชุมนุมที่ร้อยเอ็ด

X