อัยการสั่งฟ้องคดี 112 “เพนกวิน” กรณีโพสต์ #ราษฎรสาส์น ยืนยัน 3 ข้อเรียกร้องปฎิรูปสถาบันฯ ก่อนศาลให้ประกันตัว

วันที่ 7 มี.ค. 2566 เวลา 13.00 น. ที่ศาลอาญา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9) มีคำสั่งฟ้องคดีของ “เพนกวิน” หรือ พริษฐ์ ชิวารักษ์ ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีการโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในกิจกรรม “ราษฎรสาส์น” เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563

สำหรับกิจกรรม #ราษฎรสาส์น เป็นการจัดการชุมนุมของกลุ่มประชาชนปลดแอกเมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 โดยมีการให้ประชาชนร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ และมีการเดินขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปใกล้พระบรมมหาราชวัง เพื่อส่งจดหมาย ทำให้นักกิจกรรมมีการโพสต์จดหมายถึงกษัตริย์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อยืนยันข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ต่อมา มีแกนนำราษฎร 4 ราย ถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) โดยกรณีของพริษฐ์ มีนายสุเฑพ ศิลปะงาม เป็นผู้ไปแจ้งความกล่าวโทษไว้ โดยเขาเข้ารับทราบข้อกล่าวหาไปเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563

.

เปิดคำฟ้องคดี #ราษฎรสาส์น อัยการระบุข้อความทำให้ ร.10 เสื่อมเสีย-เกิดความเข้าใจผิด

นพัตธร สำเภาเงิน พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9 เป็นผู้เรียงฟ้องคดี โดยสรุประบุว่า ขณะเกิดเหตุประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยมีพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดมิได้ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 

เมื่อวันที่ 8-10 พ.ย. 2563 จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ Parit Chiwarak’ ได้นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์และตั้งค่าเป็นสาธารณะ โดยมีการโพสต์ข้อความถึงการประทับของในหลวงรัชกาลที่ 10 ในประเทศเยอรมนี รวมถึงย้ำถึง 3 ข้อเรียกร้องของการชุมนุม โดยมีใจความว่า 

“ข้อแรก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะต้องลาออกจากตําแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยทันที ข้อสอง ให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ฉบับประชาชน โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญอันมีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนร่างใหม่ทั้งฉบับ ข้อสาม ให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ตามข้อเรียกร้อง 10 ข้อที่ได้เคยมีการเสนอไว้ 

“ข้างต้นนี้คืออุดมการณ์ที่ประชาราษฎรได้ปักเป็นธงในการส่งเสียงให้ถึงผู้มีอํานาจทั้งหมด… จนวันนี้ ประชาราษฎรก็ได้ยืนหยัดต่อสู้มาหลายเดือนแล้ว ดังนั้น นี่จึงควรเป็นเวลาที่ท่านจะตอบประชาชนได้แล้วว่าท่านจะมีจุดยืนอย่างไรต่อข้อเรียกร้องของประชาชน 

“หากท่านยังอุปถัมภ์ค้ําชูทรราชประยุทธ์ นั่นแสดงว่าท่านดูถูกความทุกข์ยากและความคับแค้นของประชาราษฎร  หากท่านไม่เปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ นั่นแสดงว่าท่านไม่ให้คุณค่ากับเสียงและอํานาจของประชาราษฎร และหากท่านไม่ยอมให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ นั่นแสดงว่าท่านปฏิเสธไม่ยอมปรับปรุงตัว ให้อยู่ร่วมกันกับประชาราษฎร

“ข้อเรียกร้องทั้งสามข้อที่ประชาราษฎรตะโกนพร่ําร้องมาหลายเดือนนี้มิใช่คําร้องขอ แต่คือคําขาด หากข้อเรียกร้องเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบสนอง ปัญหาของประเทศชาติที่หมักหมมมาหลายสิบปีก็จะไม่ได้รับการแก้ไข และก็จะยังคงเฟะเน่าคาราคาซังเช่นนี้ต่อไป หากท่านยังเห็นแก่ชาติ จงโปรดปฏิบัติตามข้อเรียกร้องเหล่านี้ 

“ขอท่านคิดไตร่ตรองให้จงดี นี่คือโอกาสที่ท่านจะได้ทบทวนตัวเองและปรับปรุงตัวให้ท่าน และสถาบันของท่านได้มีความสง่างามเหมือนที่สถาบันกษัตริย์ของอารยะประเทศเป็น ด้วยความเคารพ ประชาราษฎรที่เป็นมนุษย์ มิใช่ฝุ่นธุลี” 

คำฟ้องระบุว่าข้อความดังกล่าว ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็น ย่อมเข้าใจได้ว่าสื่อถึงพระมหากษัตริย์ในรัชกาลที่ 10 ทรงละทิ้งพสกนิกรปวงชนชาวไทยไปอาศัยอยู่อย่างสุขสบายที่ประเทศเยอรมนี ไม่ได้อยู่บําบัดทุกข์บํารุงสุขของประชาชนชาวไทย รวมถึงทรงเข้าไปเกี่ยวข้องกับการเมือง โดยเป็นผู้นําขององคาพยพของเผด็จการศักดินาทั้งปวง และยังทรงอุปภัมภ์ค้ำชูทรราช โดยไม่ได้ดูแลความทุกข์ยากของประชาราษฎร 

การกระทําของจำเลยจึงทำให้ประชาชนหรือบุคคลทั่วไปเกิดความรู้สึก ดูหมิ่น เกลียดชัง หรือเกิดความเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 และสถาบันพระมหากษัตริย์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3)

นอกจากนี้ ในท้ายคำฟ้องอัยการยังได้ระบุว่า ขอให้ศาลได้นับโทษจำคุกจำเลยในคดีนี้ต่อจากอีก 17 คดีที่พริษฐ์ตกเป็นจำเลยอยู่ด้วย พร้อมกับคัดค้านคำขอปล่อยตัวชั่วคราว อ้างว่าเนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูงและเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เกรงว่าจำเลยจะหลบหนีและไปก่อคดีเช่นเดียวกับคดีนี้ซ้ำอีก

ก่อนที่ในเวลา 16.40 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวพริษฐ์ โดยให้วางหลักทรัพย์ประกันเป็นจำนวนคนละ 90,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ 

ศาลยังกำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ห้ามจำเลยทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ อันทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่สถาบันกษัตริย์ในทุกด้าน ลงนามคำสั่งโดย ปริญญา สิตะโปสะ พร้อมกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 8 พ.ค 2566 เวลา 13.30 น.

ทั้งนี้ เพนกวินเป็นนักกิจกรรมที่ถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 จำนวนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา โดยเขาถูกกล่าวหาไปถึง 23 คดี โดยในจำนวนนี้ถูกสั่งฟ้องถึงชั้นศาลไปแล้วจำนวน 18 คดี โดยยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง ทำให้เขามีภาระในการต่อสู้คดีจำนวนมากต่อไป (ดูตารางสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112)

.

X