อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 “รุ้ง-เพนกวิน” กรณีโพสต์-แชร์ข้อความ Land of compromise วันตำรวจฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม ‘ราษฎรสาส์น’

วันที่ 16 ก.พ. 2566 เวลา 14.00 น. ที่ศาลอาญา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 9) มีคำสั่งฟ้องคดีของ “เพนกวิน — พริษฐ์ ชิวารักษ์” และ “รุ้ง — ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล” ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) กรณีโพสต์และแชร์ข้อความในเฟซบุ๊กมีเนื้อหาเกี่ยวกับ The Land of Compromise และการประนีประนอมด้วยรถฉีดน้ำและการใช้กำลัง ในวันที่ตำรวจมีการฉีดน้ำใส่ผู้ชุมนุม “ราษฎรสาส์น” วันที่ 8 พ.ย. 2563

ย้อนอ่านข่าว >>> 112′ อีก 2 คดี โพสต์ทุบหม้อข้าว SCB – land of compromise ด้วยรถฉีดน้ำ

คดีนี้มี ชุติมา เลี่ยมทอง สมาชิกกลุ่มพลังประชาชนปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ (พปปส.) เป็นผู้กล่าวหา รุ้งและเพนกวินได้ที่ บก.ปอท. ทั้งสองคนถูกตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2564 โดยกล่าวหาว่าทั้งสองคนได้ทำการโพสต์และแชร์ข้อความที่มีความเชื่อมโยงกับรัชกาลที่ 10 โดยมีเพนกวิน เป็นผู้โพสต์ข้อความ ต่อมาปนัสยาได้แชร์โพสต์ข้อความดังกล่าว โดยไม่ได้เขียนข้อความใดประกอบ 

ผู้กล่าวหาเห็นว่า ข้อความดังกล่าวเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ และการกระทำดังกล่าว เป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อความที่มีลักษณะหมิ่นประมาท และดูหมิ่นรัชกาลที่ 10 โดยเจตนาทำให้ประชาชนที่อ่านเกิดความรู้สึกดูหมิ่น เกลียดชังพระมหากษัตริย์และสถาบันกษัตริย์

สำหรับคำฟ้องคดีนี้มี นายวิจิตร ศรีมะเรือง เป็นพนักงานอัยการผู้เรียงฟ้อง ระบุฉโดยสรุปว่าในวันที่ 8 พ.ย. 2563 จำเลยที่ 1 หรือพริษฐ์ ได้โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กซึ่งเป็นการล่วงละเมิด หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายต่อในหลวงรัชกาลที่ 10 ซึ่งประชาชนหรือบุคคลทั่วไปที่พบเห็นข้อมูล เข้าใจได้ว่ารัชกาลที่ 10 ทรงอยู่เบื้องหลังการใช้ความรุนแรง โดยไม่มีการประนีประนอม โดยการใช้รถฉีดน้ำใส่ประชาชน เพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดต่อพระมหาษัตริย์รัชกาลที่ 10 ทำให้ประชาชนทั่วไปเกิดความรู้สึกดูหมิ่นและเกลียดชังต่อรัชกาลที่ 10 ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งประเทศ จนอาจนำมาซึ่งความแตกแยกในสังคม

ส่วนจำเลยที่ 2 หรือปนัสยา ได้ใช้เฟซบุ๊กแชร์ข้อความจากโพสต์ของพริษฐ์  โดยบัญชีดังกล่าวเปิดเป็นสาธารณะ ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งเป็นข้อความที่ดูหมิ่นและทำให้ประชาชนเสื่อมความเคารพศรัทธาต่อรัชกาลที่ 10 อันเป็นการฝ่าฝืนต่อกฎหมาย 

ทั้งนี้ อัยการยังได้คัดค้านการขอประกันตัวจำเลยทั้งสอง โดยอ้างว่าเนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง และเป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงของราชอาณาจักร 

ก่อนที่ในเวลา 15.37 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยทั้ง 2 คน โดยให้วางหลักทรัพย์ประกัน เป็นจำนวนคนละ 90,000 บาท โดยได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลกำหนดวันนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานต่อไปวันที่ 24 เม.ย. 2566

ทั้งนี้ ตามวันเวลาที่มีการโพสต์ข้อความดังกล่าว เป็นวันที่มีการชุมนุม “ราษฎรสาส์น” ซึ่งกลุ่ม “ราษฎร” นัดรวมตัวที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อร่วมกันเขียนจดหมายถึงกษัตริย์ จากนั้นแกนนำประกาศเคลื่อนขบวนไปยื่นจดหมายที่สำนักพระราชวัง แต่ถูกเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำแรงดันสูงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมขณะที่เคลื่อนขบวนมาถึงหน้าศาลฎีกา เพื่อสกัดไม่ให้เข้าเขต 150 เมตรจากพระบรมมหาราชวัง ทำให้เกิดเหตุชุลมุน และสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ชุมนุม โดยหลังจากนั้น ผบช.น. ได้ออกมาประกาศขอโทษผู้ชุมนุมด้วย

X