ทบทวน ม.112 ผ่านคดีแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์: การตีความขยายขอบเขตกฎหมาย และการส่ง “เสียง” ที่ไม่ถูกรับฟัง

สัปดาห์ปลายเดือนมีนาคม 2566 ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ในคดีแสดงออกต่อรูปภาพหรือพระบรมฉายาลักษณ์รวม 3 คดี ได้แก่ คดีปาสีแดงใส่พระฉายาลักษณ์พระราชินี บริเวณริมถนนติวานนท์, คดีปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 บริเวณพื้นที่อำเภอเมืองปทุมธานี ของศาลจังหวัดปทุมธานี ทั้ง 2 คดีมี สมพล (นามสมมติ) วัย 29 ปี เป็นจำเลย และคดีแปะกระดาษ-พ่นสีสเปรย์บนพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 ระหว่าง #ม็อบ18กรกฎา64 ที่ “สายน้ำ” นักกิจกรรมเยาวชนตกเป็นจำเลยในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง

อย่างไรก็ตาม สมพลยังมีโทษจำคุกในฐานความผิด “ทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 ในทั้งสองคดีรวม 2 ปี และยังมีคดีจากการปาสีในพื้นที่อื่นอยู่ในชั้นพิจารณาของศาลและชั้นสอบสวนอีก 3 คดี 

และแม้คดีทั้งสามจะยกฟ้อง แต่ในเดือนก่อนหน้านี้ ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกสิทธิโชค เศรษฐเศวต ไรเดอร์ส่งอาหาร ในคดีเผาผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ใน #ม็อบ18กรกฎา64 และศาลจังหวัดธัญบุรีพิพากษาลงโทษจำคุก แต่ให้รอการลงโทษ “นิว” สิริชัย นาถึง นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในคดีพ่นสีสเปรย์บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ 

ในการชุมนุมของนักเรียน นักศึกษา ประชาชนตั้งแต่กลางปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2565 เพื่อเรียกร้องให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยในแบบสากล โดยหนึ่งในข้อเรียกร้องคือการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ รัฐตอบโต้ กดปราบ ด้วยการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง และการจับกุมดำเนินคดี จนทำให้มีคดีความจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองเกิดขึ้นอย่างมากมายอย่างน่าตกใจ ท่ามกลางสิ่งเหล่านี้ การแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 รวมถึงบุคคลในราชวงศ์ในลักษณะต่างๆ ผุดขึ้นให้เห็นทั้งในพื้นที่ชุมนุม และในพื้นที่อื่นๆ iLaw ตั้งข้อสังเกตว่า ส่วนใหญ่สัมพันธ์กับการใช้ความรุนแรงที่เจ้าหน้าที่กระทำต่อผู้ชุมนุมหรือเกี่ยวพันกับสถานการณ์ทางการเมือง

จากการรวมรวมข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในช่วงดังกล่าวมีคดีที่เกิดจากการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์รวมอย่างน้อย 30 คดี มีผู้ถูกดำเนินคดีถึง 34 คน ส่วนมากเป็นคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่บางคดีไม่มีการแจ้งข้อหาดังกล่าว บางคดีศาลพิพากษาแล้ว วินิจฉัยว่า การกระทำต่อภาพส่งผลกระทบต่อกษัตริย์หรือสื่อถึงการลบหลู่ ดูหมิ่นกษัตริย์ แต่ก็มีคดีที่ยกฟ้อง รวมทั้งเคยมีคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่วินิจฉัยแตกต่างไปจากนั้น 

สภาพความไม่แน่นอนในการตีความกฎหมายดังกล่าวมานั้น นอกจากสะท้อนถึงหลักการ อุดมการณ์ หรือทัศนคติ เบื้องหลังของผู้บังคับใช้กฎหมาย ยังสะท้อนถึงปัญหาของประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งล้วนส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ทำให้การกระทำบางอย่างกลายเป็นความผิดที่คาดไม่ถึง หรือได้รับผลร้ายเกินกว่าเหตุ ที่สำคัญทำให้คนไม่กล้าแสดงออก อีกทั้งยังทำให้เกิดข้อกังขาต่อกระบวนการยุติธรรม ตลอดจนการมีอยู่ของมาตรา 112 

ศูนย์ทนายฯ ชวนทบทวนมาตรา 112 ผ่านการมองภาพรวมของคดีแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเหล่านี้ และสำรวจถึงการตีความรูปภาพ รวมถึงการแสดงออกต่อรูปภาพในแบบอื่น   

.

แสดงออกต่อภาพ อันเป็นวัตถุสิ่งของ แต่ถูกตีความเป็นคดี 112 หมวดความผิดต่อ “องค์พระมหากษัตริย์ฯ” 

คดีที่เกิดจากการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในช่วง 2-3 ปีนี้ นอกจากข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ ร่วมด้วยข้อหา ทำให้ทรัพย์สินของผู้อื่นหรือทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 360 ในกรณีของการแปะกระดาษ พ่นสี หรือข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์ กรณีที่มีการจุดไฟเผารูป หรือข้อหาลักทรัพย์ กรณีที่รูปหายไปจากที่ตั้ง ซึ่งเป็นข้อหาตามพฤติการณ์คดีจริงแล้ว 

ยังมักจะบวกพ่วงไปด้วยข้อหา “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งเป็นฐานความผิดในหมวดความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ 

ทำให้คดีที่ควรจะมีเพียงโทษปรับหรือโทษจำคุกไม่เกิน 3-7 ปี กลายเป็นคดีที่มีโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี!

และทำให้นักกิจกรรม ประชาชน เยาวชน รวมถึง 29 คน ถูกดำเนินคดีข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ใน 26 คดี จากการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในลักษณะต่างๆ หรือจากการถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำ (ดูตารางคดีท้ายรายงาน)

ผลร้ายเกินกว่าเหตุในเบื้องต้นคือ หลายคนถูกออกหมายจับ ถูกติดตามจับกุม จำนวนหนึ่งไม่ได้รับการประกันตัวในชั้นฝากขัง ถูกขังนาน 2-4 เดือน เช่น “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์, “จัสติน” ชูเกียรติ แสงวงค์, “แซม” พรชัย ยวนยี   

คำกล่าวหาที่ปรากฏในคำฟ้องหรือบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา โดยปกติพนักงานสอบสวนหรืออัยการเจ้าของสำนวนจะบรรยายให้ผู้ถูกดำเนินคดีรวมถึงศาลเห็นว่า การกระทำที่ถูกฟ้องเป็นความผิดตามองค์ประกอบของกฎหมายอย่างไร แต่เอกสารในคดีการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์เหล่านี้ มักมีถ้อยคำที่ไม่มีอยู่ในบทบัญญัติของกฎหมาย ทั้งยังตีความไปถึงเจตนาของผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งสะท้อนให้เห็นทัศนคติและอุดมการณ์ทางการเมืองของเจ้าของสำนวน  

ตัวอย่างเช่น

“เป็นการกระทำที่มิบังควร จาบจ้วง ล่วงเกิน ดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือกระทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท โดยประการที่น่าจะทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง โดยจำเลยมีเจตนาทำลายพระมหากษัตริย์ ทำให้ประชาชนไม่เคารพสักการะต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย และอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ (คำฟ้องคดีแปะสติกเกอร์ “กูKult” บนพระบรมฉายาลักษณ์)

“การกระทําของจําเลยจึงเป็นการกระทําอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกมาด้วยประการใดต่อพระบรมฉายาลักษณ์ของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 และพระบรมราชินี ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ตัวแทนของพระองค์ ทําให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท และเสื่อมเสียพระเกียรติ” (คำฟ้องคดีปลดพระบรมฉายาลักษณ์ที่ลำปาง)

“การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำอันไม่สมควรล่วงละเมิด เป็นการแสดงออกด้วยประการใดว่าจะทำให้เสียหายแก่ร่างกาย ทรัพย์สิน สิทธิ เสรีภาพ หรือชื่อเสียงเกียรติคุณ อันไม่ใช่การใช้สิทธิตามปกตินิยม นับเป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้” (คำฟ้องคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรม)

“การกระทำดังกล่าวเป็นการไม่ถวายพระเกียรติแก่พระมหากษัตริย์ ขัดกับเจตนารมณ์ในการเผยแพร่พระบรมฉายาลักษณ์ซึ่งต้องการเฉลิมพระเกียรติและแสดงออกถึงความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์… โดยจำเลยมีเจตนาให้ประชาชนเกิดความแตกแยกและเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” (คำฟ้องคดีพ่นสีสเปรย์บนรูปและกรอบรูป ร.10 ใน จ.เชียงใหม่)

การกระทำที่เป็นความผิดตามมาตรา 112

หมิ่นประมาท หมายถึง การใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ซึ่งการใส่ความนั้นจะต้องเป็นการแสดงข้อเท็จจริงเรื่องร้ายให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย และจะต้องระบุถึงตัวบุคคลผู้ถูกใส่ความเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกใส่ความโดยตรง การใส่ความนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ 

ดูหมิ่น หมายถึง การด่า ดูถูก เหยียดหยาม หรือสบประมาทให้อับอาย การดูหมิ่นก็ย่อมจะต้องระบุถึงตัวบุคคลที่ถูกดูหมิ่นเป็นการยืนยันรู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร หรือหากไม่ระบุถึงผู้ที่ถูกดูหมิ่นโดยตรง การดูหมิ่นนั้นก็ต้องได้ความว่าหมายถึงบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ            
(คำพิพากษาศาลจังหวัดนครพนม คดี “อิศเรศ” โพสต์ไม่แต่งตั้งกษัตริย์องค์ใหม่)

อาฆาตมาดร้าย หมายถึง การขู่เข็ญโดยแสดงออกด้วยวาจาหรือกิริยาท่าทางที่แสดงถึงความมุ่งร้ายว่าจะทำให้เสียหาย ว่าจะทำอันตรายแก่ชีวิต เสรีภาพ ชื่อเสียง หรือทรัพย์สินในขณะนั้นหรือในอนาคต ไม่ว่าจะมีเจตนากระทำตามที่ขู่หรือไม่ เช่น ขู่ว่าจะปลงพระชนม์พระมหากษัตริย์ (หยุด แสงอุทัย, กฎหมายอาญา ภาค 2-3, สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2546, หน้า 22)

4 คดีเผาที่มีเพียงข้อหาวางเพลิง-ทำให้เสียทรัพย์ 

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนคดีที่เกิดจากการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์รวม 30 คดี น่าสนใจว่า มี 4 คดี ที่เป็นข้อยกเว้น ทั้ง 4 คดี เป็นคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์ในเขตอำเภอเมืองขอนแก่น และอำเภอเมืองหนองบัวลำภู ถูกแจ้งความจนกระทั่งฟ้องในข้อหาวางเพลิงเผาทรัพย์และทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น แม้ในคดีของ “ปริญญา” ที่หนองบัวลำภู จะมีข้อหา 112 ด้วย แต่ก็เฉพาะที่เป็นการโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นในช่วงเวลาอื่น

ใน 3 คดีแรก ศาลจังหวัดขอนแก่นก็มีคำพิพากษาแล้ว โดยให้รอการกำหนดโทษจำเลยนักศึกษา-นักกิจกรรมรวม 4 ราย หลังทั้งสี่ให้การรับสารภาพและชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้นให้กับผู้เสียหายจนครบ 

คำพิพากษาในทั้ง 3 คดี ระบุในทำนองเดียวกันว่า การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานวางเพลิงเผาทรัพย์ อันเป็นกฎหมายที่มีบทลงโทษหนักที่สุด ไม่ปรากฏว่าจําเลยได้รับโทษจําคุกมาก่อน จําเลยให้การรับสารภาพ และพยายามบรรเทาผลร้ายโดยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ผู้ร้องจนครบถ้วน จําเลยอยู่ในวิสัยที่จะปรับปรุงแก้ไข เห็นสมควรให้โอกาสจําเลยกลับตนเป็นพลเมืองดี จึงให้รอการกําหนดโทษไว้ 2 ปี โดยกําหนดเงื่อนไขคุมความประพฤติให้จําเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 ครั้ง กับให้ทํากิจกรรมบริการสังคมเป็นเวลา 24 ชั่วโมง

ปัจจุบันคดีทั้งสามถึงที่สุดแล้ว เนื่องจากทั้งโจทก์และจำเลยไม่ยื่นอุทธรณ์ ส่วนคดีของปริญญายังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลจังหวัดหนองบัวลำภู

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เคยวินิจฉัยจำเลยคดีเผาซุ้ม มุ่งทำลายเพียงทรัพย์สิน ไม่เจตนาทำผิด 112

4 คดีวางเพลิงใน 2 พื้นที่ ซึ่งไม่ถูกตีความเป็นความผิดฐาน หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ นั้น ล้วนอยู่ในเขตอำนาจของศาลที่อยู่ในสังกัดสำนักศาลยุติธรรมประจำภาค 4 ซึ่งเมื่อย้อนกลับไปในปี 2561 ศาลอุทธรณ์ภาค 4 ได้วางแนวคำวินิจฉัย ในคดีวางเพลิงซุ้มเฉลิมพระเกียรติซึ่งประดิษฐานพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และ 10 ในเขตอำเภอบ้านไผ่และอำเภอชนบท จ.ขอนแก่น ไว้ดังนี้    

“…แม้จำเลยทั้งหกจะให้การรับสารภาพ แต่หากพิจารณาตามฟ้องโจทก์แล้วเห็นได้ชัดเจนว่า การกระทำของจำเลยทั้งหกมุ่งประสงค์ที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ทรัพย์สินอันได้แก่ ซุ้มประตูซึ่งเป็นทรัพย์สินขององค์การบริหารส่วนตำบลหินตั้งเท่านั้น ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งหกมีความมุ่งหมายที่จะกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งหกในส่วนนี้จึงเป็นความผิดเพียงฐานร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น…”

น่าเสียดายแนววินิจฉัยดังกล่าวถูกนำมาเป็นหลักอ้างอิงในการตีความมาตรา 112 ในคดีที่เป็นการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์น้อยเกินไป ส่วนใหญ่จึงมีการตั้งข้อหา ตลอดจนสั่งฟ้องในฐานความผิดตามมาตรา 112 ด้วย บางคดีพบว่า แม้ตำรวจท้องที่ไม่ได้ตั้งข้อหาดังกล่าวตั้งแต่ต้น แต่ตำรวจภูธรภาค หรืออัยการก็มีคำสั่งให้แจ้งข้อหามาตรา 112 เพิ่มเติมในภายหลัง เช่น คดีเผารูปที่ จ.อุดรฯ, คดีทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ใน จ.อุบลฯ, คดีปลดพระบรมฉายาลักษณ์หน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง หรือคดีพ่นสีฐานใต้รูปรัชกาลที่ 10 ที่พัทยา

ภาพโดย ไข่แมวชีส

เพียง 2 คดีที่ศาลปทุมฯ ยกฟ้อง 112 เหตุไม่เข้าข่ายเป็นความผิด 

ในบรรดาคดีแสดงออกต่อภาพที่เป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 26 คดี จนถึงปัจจุบันมี 20 คดี ที่ถูกสั่งฟ้องศาลแล้ว อีก 6 คดี ยังคงอยู่ในชั้นตำรวจหรืออัยการ    

บางคดีเมื่อมาถึงชั้นศาล จำเลยก็เลือกที่จะรับสารภาพ แต่อีกหลายคดีจำเลยยืนยันให้การปฏิเสธ ขอต่อสู้คดี

ในคดีที่มีการต่อสู้คดี ส่วนหนึ่ง เช่น นรินทร์, สิทธิโชค, นิว, ไลลา, สายน้ำ, จัสติน ต่างให้การปฏิเสธและต่อสู้คดีว่า ไม่ได้กระทำความผิดตามที่ถูกฟ้อง ในคดีของนรินทร์ ยังต่อสู้ด้วยว่า การแปะสติกเกอร์ไม่เข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 112 

หรือในคดีนิวซึ่งถูกฟ้องว่าไปพ่นสีเป็นข้อความ “ภาษีกู” “ยกเลิก 112” บนพระฉายาลักษณ์ของพระราชินีในรัชกาลที่ 9, เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ ตลอดจนแผ่นป้ายทรงพระเจริญ ซึ่งอยู่ใต้พระฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9-พระราชินี ทนายจำเลยก็นำสืบด้วยว่า การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 ที่คุ้มครองพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการฯ เฉพาะที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น

จำเลยอีกส่วนหนึ่ง อย่างสมพลในคดีปาสี, แอมมี่ในคดีวางเพลิงรูปหน้าเรือนจำคลองเปรม และศิระพัทธ์ในคดีปลดรูปลากไปตามถนน รับว่า ได้ปาสี, วางเพลิง หรือปลดและลากรูปจริง แต่การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 

อย่างไรก็ตาม ในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาแล้ว 9 คดี กว่าครึ่งศาลพิพากษาชี้ว่า จำเลยมีความผิดตามมาตรา 112 โดยคำพิพากษาให้เหตุผลที่ขยายขอบเขตของกฎหมายออกไปเกินกว่าที่บัญญัติไว้ กล่าวคือ ตีความว่า การแสดงออกต่อรูป เท่ากับการแสดงออกต่อตัวบุคคล นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงว่า การแสดงออกต่อรูปบุคคลในราชวงศ์ส่งผลกระทบต่อพระมหากษัตริย์อีกด้วย 

ซึ่งแนวคำวินิจฉัยดังกล่าวน่ากังวลว่าอาจกลายเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินคดีประชาชนที่มีการกระทำเกี่ยวข้องกับภาพกษัตริย์หรือบุคคลในราชวงศ์ในรูปแบบอื่นๆ ได้อย่างกว้างขวาง 

“…เห็นว่า การกระทำของจำเลยที่นำสติกเกอร์ที่มีโลโกของบัญชีเฟซบุ๊กที่มีการเคลื่อนไหวในลักษณะต่อต้านสถาบันกษัตริย์ไปติดทับพระเนตรพระบรมสาทิสลักษณ์นั้น เป็นการสื่อว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่ารัชกาลที่ 10 จึงเป็นการลบหลู่ ดูหมิ่น แม้จะไม่ได้กระทำต่อกษัตริย์โดยตรง แต่ก็สื่อความหมายดังกล่าวได้…” (คำพิพากษาคดีแปะสติกเกอร์ “กูKult”)

“…แม้ไฟจะไม่ได้ไหม้ลามไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์ แต่ถือว่าจำเลยได้เล็งเห็นผลของการกระทำแล้วว่าไฟจะลุกลามไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์ พยานผู้เชี่ยวชาญของโจทก์ยังเบิกความว่า ในทรรศนะของสังคมไทย พระบรมฉายาลักษณ์มีค่าเท่าตัวบุคคล มีไว้กราบไหว้และเป็นที่เคารพสักการะ ต้องเก็บรักษาและดูแลไม่ให้เสื่อมเสียเกียรติ ไม่ควรแสดงเสรีภาพที่เป็นปฎิปักษ์กับสถาบันพระมหากษัตริย์ เนื่องจากประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข…” (คำพิพากษาคดีเผาผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์ใน #ม็อบ18กรกฎา64)

“…ข้อความ “ภาษีกู” และ “ยกเลิก112” แม้จำเลยจะไม่ได้พ่นลงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 10 แต่การพ่นลงบนรูปภาพของสมาชิกราชวงศ์ ย่อมส่งผลกระทบต่อรัชกาลที่ 10 เป็นการกระทำที่ด้อยค่าและทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์เสื่อมเสีย…” (คำพิพากษาคดีพ่นสีสเปรย์บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์)

มี 3 คน ใน 4 คดี ที่ศาลพิพากษายกฟ้อง คือ ไลลา นักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง จำเลยในคดีเดียวกับเบนซ์ ด้วยเหตุว่า โจทก์ไม่มีพยานหลักฐาน คล้ายสายน้ำ นักกิจกรรมเยาวชน ที่ศาลเยาวชนฯ ยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 รวมถึงวางเพลิงและทำให้เสียทรัพย์ เนื่องจากมีเหตุสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดจริงหรือไม่ จึงยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย

มีเพียงคดีปาสีของสมพลที่ศาลจังหวัดปทุมธานีใช้แนววินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ภาค 4 เป็นเหตุผลในการยกฟ้องฐานความผิด หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ โดยระบุว่า จำเลยตระเตรียมการล่วงหน้า ขับรถจักรยานยนต์ขว้างปาถุงบรรจุสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์รวม 11 จุด เห็นได้ชัดว่าจำเลยมีเจตนามุ่งทำลายทรัพย์สินของผู้อื่นเท่านั้น โดยไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่าจำเลยกระทำความผิดตามมาตรา 112 

คดีที่ไปถึงชั้นศาล ยังมี 2 คดี ในศาลเยาวชนฯ ที่จำเลยให้การรับสารภาพ ศาลจึงให้เข้ามาตรการฟื้นฟูแทนการพิพากษา

ศาลอาญาลงโทษจำคุกนรินทร์-สิทธิโชค ไม่รอลงอาญา

ปัจจุบันคดีมาตรา 112 ส่วนใหญ่ศาลจะพิพากษาด้วยอัตราโทษต่ำสุดคือ จำคุก 3 ปี บางคดีมีการลดโทษด้วยเหตุที่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี อีกทั้งมีความแตกต่างในการใช้ดุลพินิจว่า โทษจำคุกให้รอการลงโทษ หรือรอลงอาญาไว้หรือไม่ ใน 6 คดีแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ที่ศาลพิพากษาว่า ผิดมาตรา 112 ศาลใช้ดุลพินิจให้รอลงอาญาจำเลย 4 คน ได้แก่ นิว คดีพ่นสีใส่รูปบุคคลในราชวงศ์, เบนซ์ คดีปลดรูปหน้า มธ.ลำปาง, “หนุ่ม” พิทยุตม์ คดีเผารูปที่ จ.อุดรฯ และพนิดา คดีพ่นสีฐานรูปที่พัทยา 

แต่อีก 2 คน ศาลไม่รอลงอาญา คือ นรินทร์ คดีแปะสติกเกอร์ “กูKult” และสิทธิโชค คดีเผาผ้าประดับรูป ทั้ง 2 คดี เป็นคดีในศาลอาญา รัชดาฯ ทำให้ทั้งสองต้องยื่นประกันในชั้นอุทธรณ์ โดยสิทธิโชคถูกขังอยู่ 25 วัน พร้อมทั้งอดอาหารขณะถูกคุมขัง ก่อนได้รับอนุญาตให้ประกัน 

ขณะเดียวกัน แม้ในคดีปาสี ศาลจังหวัดปทุมธานีจะยกฟ้องสมพลในข้อหาตามมาตรา 112 แต่ลงโทษจำคุกฐาน ทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 360 (อัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท) และ พ.ร.บ.ความสะอาดฯ มาตรา 35 (อัตราโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท) กระทงละ 1 ปี ก่อนลดโทษครึ่งหนึ่ง เนื่องจากสมพลให้การรับสารภาพใน 2 ข้อหาดังกล่าว คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ ระบุเหตุผลว่า เนื่องจากการกระทำของจำเลยไม่เหมาะสม มีความร้ายแรง 

เมื่อเปรียบเทียบกับคดีพ่นสีของนิว, พนิดา และคดีเผารูปของหนุ่ม ที่ศาลพิพากษาว่าผิดมาตรา 112 แต่ให้รอการลงโทษ และเมื่อคำนึงถึงการกระทำของสมพลซึ่งเพียงแต่ปาสี ทั้งยังชำระค่าเสียหายแก่เจ้าของรูปแล้ว ถือว่า ศาลจังหวัดปทุมธานีลงโทษสมพลค่อนข้างหนัก ทั้งนี้ เมื่อดูถึงเหตุผลที่ศาลไม่รอการลงโทษ เห็นได้ว่า แม้ศาลไม่ตีความขยายขอบเขตของมาตรา 112 แต่ศาลยังคงมีทัศนคติว่า การกระทำต่อพระบรมฉายาลักษณ์เป็นเรื่องไม่เหมาะสม และมีความร้ายแรง     

เจตจำนงทางการเมืองของผู้แสดงออก “เสียง” ที่ไม่ถูกรับฟัง

ดังที่กล่าวข้างต้น อัยการมักบรรยายฟ้องคดีเหล่านี้โดยกล่าวหาตีความไปว่า จำเลยมีเจตนาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรืออาฆาตมาดร้าย เกินเลยไปถึงเจตนาทำลายพระมหากษัตริย์ ทำลายสถาบันกษัตริย์ กระทั่งเจตนาทำให้ประชาชนเคลือบแคลงสงสัยในพระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็มี แต่จริงหรือที่จำเลยเหล่านั้นมีเจตนาตามที่ถูกกล่าวหา หรือเขามีเจตจำนงทางการเมืองแบบอื่น หรือไม่ใช่ทั้งสองอย่าง 

แต้ม ทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ 3 แห่ง ในขณะที่มีอาการทางจิตเวช 

สิทธิโชค เบิกความต่อศาลว่า ขณะจอดรถดูการชุมนุม เขาเห็นไฟที่กลุ่มผู้ชุมนุมจุดเผาหุ่นฟางเริ่มลามออกมาข้างนอก จึงเข้าไปช่วยดับไฟ หลังจากควบคุมกองเพลิงดังกล่าวได้ เขาก็เหลือบไปเห็นซุ้มเฉลิมพระเกียรติมีไฟติดขึ้นมา จึงหยิบขวดน้ำจากรถจักรยานยนต์พรมน้ำลงบนผ้าประดับพระบรมฉายาลักษณ์เพื่อให้เกิดความชื้น เปลวไฟจะได้ไม่ลุกลามไปจุดอื่น ก่อให้เกิดอันตรายแก่ประชาชน 

แอมมี่ โพสต์ข้อความในเพจเฟซบุ๊ก The Bottom Blues บอกเล่าเหตุผลในการวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์หน้าเรือนจำคลองเปรมว่า “…เหตุผลของผมนั้นเข้าใจง่ายมาก เล่าไปถึงตอนผมโดนจับไปวันที่ 13 ตุลา ปีที่แล้ว เพนกวิ้นคือคนแรกที่โทรหาผมบนรถห้องขัง และประกาศรวมพลมวลชนทันที แต่กลับกันในครั้งนี้กวิ้นและพี่น้องของผมต้องติดอยู่ในคุกนานกว่า 20 วันแล้ว แต่ผมไม่สามารถที่จะช่วยเหลือพวกเค้าได้เลย ผมรู้สึกละอายและผิดหวังในตัวเอง…”

ภาพที่แอมมี่โพสต์หลังถูกจับกุม

สมพล เปิดเผยถึงเจตนาในการปาสีของเขาว่า เขาไม่ได้คิดดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์ เพียงแค่แสดงออกโดยหวังว่าสถาบันกษัตริย์และกฎหมายอย่าง 112 จะมีการแก้ไขปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับยุคสมัย “มันเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกโดยที่ไม่ได้ทำร้ายใครเลย ตอนนั้นผมเข้าใจว่าอาจจะโดนดำเนินคดีทำให้เสียทรัพย์ แต่คงไม่โดนมาตรา 112” 

หนุ่ม ที่ตัดสินใจให้การรับสารภาพข้อหาตามมาตรา 112 ในนัดสืบพยานของคดีเผารูปที่ จ.อุดรฯ ก่อนหน้านั้นเขายืนยันให้การปฏิเสธมาตลอด ด้วยเหตุผลว่า “การเผามันก็เป็นแค่การเรียกร้องหรือว่าการส่งเสียงให้เขารู้ ไม่ใช่การเผาพริกเผาเกลือ ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการดูหมิ่นหรืออาฆาตเลย เราก็ยังเคารพเขา แต่เราเผาให้เขาเห็นว่าเราเรียกร้องอยู่นะ เราส่งเสียงอยู่นะ” และสำหรับสิ่งที่เขาเรียกร้องนั้น “ผมอยากให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อยากให้เป็นแบบประเทศอังกฤษหรือประเทศญี่ปุ่น” 

“เจมส์” และ “บอส” 2 นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ระบุถึงแรงจูงใจที่ผลักให้พวกเขาออกจากหอพักไปเผาพระบรมฉายาลักษณ์หน้า รพ.ศรีนครินทร์ ว่า เกิดจากความไม่พอใจเจ้าหน้าที่ที่ทำเกินกว่าเหตุ หลังได้ดูคลิปเหตุการณ์ผู้ชุมนุมถูกรถของ คฝ. ชน ในคืนวันที่ 12 ก.ย. 2564

“ภาพเหมือน” แทนตัวบุคคล หรือสถาบันทางการเมือง-สังคม?

ธนาวิ โชติประดิษฐ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ศิลปะ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร พยานนักวิชาการในคดีของนรินทร์ที่ไม่ได้เข้าเบิกความ เนื่องจากศาลสั่งตัดพยานนักวิชาการออกทั้งหมด ตีความการแสดงออกต่อภาพเหมือนของผู้นำในอีกแบบที่ต่างไปจากคำพิพากษาคดีของนรินทร์กล่าวโดยสรุปว่า 

การตีความงานศิลปะ หรือกิจกรรมศิลปะ หรือปฏิบัติการทางศิลปะ เป็นสิ่งที่ไม่มีข้อถูกผิดตายตัว เป็นอิสรภาพของผู้ชม แต่ต้องไม่ละเลยการให้ความสำคัญกับ ‘บริบท’ ของผลงาน กรณีการติดสติกเกอร์ “กูkult” เกิดขึ้นระหว่างการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ใจความสำคัญของข้อเรียกร้องของการชุมนุมนั้นอยู่ที่ “การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” เมื่อเป็นเช่นนี้ การติดสติกเกอร์ “กูkult” จึงสามารถตีความไปโดยสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของการชุมนุม นั่นคือ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ได้เช่นกัน

ส่วนภาพเหมือนบุคคลโดยเฉพาะผู้นำทางการเมืองหรือศาสนานั้น ไม่ได้เป็นเพียงภาพแทนของบุคคล แต่สามารถเป็นภาพแทนของสถาบันทางการเมือง สถาบันทางสังคม ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมืองและความเชื่อต่างๆ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่สามารถจำกัดความหมายของการกระทำต่อพระบรมสาทิสลักษณ์ของรัชกาลที่ 10 ในระหว่างการชุมนุม 19 กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ได้ว่า “เป็นการแสดงว่ากลุ่มบุคคลดังกล่าวมีความยิ่งใหญ่เหนือกว่าพระมหากษัตริย์” เนื่องจากในที่นี้ พระบรมสาทิสลักษณ์เป็นภาพแทนของสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่องค์พระมหากษัตริย์

การติดสติกเกอร์ “กูkult” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องให้ “ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์” ก็ย่อมไม่เข้าข่าย “หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์” เพราะไม่ได้หมายถึง ‘ตัวบุคคล’ (องค์พระมหากษัตริย์) แต่แรกนั่นเอง

ธนาวิยกตัวอย่างจากต่างประเทศเพื่อให้เห็นชัดว่า ภาพเหมือนบุคคลสามารถเป็นภาพแทนของสถาบันทางการเมือง สถาบันทางการสังคม ศาสนา อุดมการณ์ทางการเมืองและความเชื่อต่างๆ ได้ เช่น

กรณีรูปปั้นเลนินในเมืองบูคาเรสต์ ประเทศโรมาเนีย ถูกรื้อลงจากฐานเมื่อ 5 มี.ค. 2533 หลังจากการสิ้นสุดของสาธารณรัฐสังคมนิยมโรมาเนีย ขณะที่เลนิน ผู้นำการปฏิวัติบอลเชวิกและประมุขคนแรกของสหภาพโซเวียต เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2467 และกรณีรูปปั้นเอนเวอร์ โฮซา ผู้นำพรรคเผด็จการคอมมิวนิสต์ถูกรื้อออกจากจัตุรัสกลางเมืองติรานา ประเทศแอลแบเนีย เมื่อวันที่ 20 ก.พ. 2534 โดยที่โฮซาเสียชีวิตเมื่อปี 2528

แสดงออกต่อ “วัตถุสิ่งของ” กลายเป็นหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ การใช้ ม.112 ที่ขยายไปกว้างกว่าถ้อยคำในกฎหมาย

ด้านปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า และอดีตอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยจัดคลับเฮาส์แสดงความเห็นกรณีการเผารูปหน้าเรือนจำคลองเปรมว่า

…ประเทศไทยมีการนำมาตรา 112 มาใช้กับการแสดงออกที่กระทำต่อวัตถุสิ่งของ ซึ่งถือเป็นการใช้ที่มีขอบเขตกว้างขวางเกินไป แท้จริงแล้วมาตรา 112 ระบุความผิดไว้ 3 คำ คือ 1) หมิ่นประมาท 2) ดูหมิ่น 3) อาฆาตมาดร้าย โดยทั้งสามความผิดเป็นคนละเรื่องกัน แต่ในการพิพากษามักจะถูกมัดรวมปนกันหมด ไม่แยกออกมาเป็นข้อๆ 

ในทางปฏิบัติ ศาลฎีกาเคยมีแนวทางคำตัดสินตีความขยายคำว่า ‘อาฆาตมาดร้าย’ ออกไปกว้างมาก ดังนั้น แม้การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ต่างๆ จะไม่เข้าองค์ประกอบเป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท แต่อาจเข้ากับขอบเขตกว้างๆ ของคำว่า ‘อาฆาตมาดร้าย’…

ปิยบุตรชี้ว่า ในความเห็นของตน

การแสดงออกลักษณะที่แอมมี่ทำ ไม่เข้าองค์ประกอบตามความผิดมาตรา 112 เพราะไม่ได้เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้าย ไปได้ไกลที่สุดคือทำให้เสียทรัพย์ หากพิจารณาร่วมกับแนวทางคำพิพากษากรณี 6 วัยรุ่นที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อปี 2561 ก็มีลักษณะคล้ายกัน คือ ศาลพิพากษาให้มีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112 แม้จำเลยจะรับสารภาพ อย่างไรก็ตาม ก็คาดเดาไม่ได้ว่าศาลจะว่าอย่างไรกันแน่…

แสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ ตีความอย่างเคร่งครัดถือเป็นการทำให้เสียทรัพย์เท่านั้น 

สอดคล้องกับความเห็นของ สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรท์วอทช์ (ประเทศไทย) ต่อกรณีการเผาพระบรมฉายาลักษณ์ที่เกิดขึ้นหลายแห่งในช่วงปี 2564 ที่ให้สัมภาษณ์กับ The Isaan Record ว่า การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ต้องได้รับการพิจารณาอย่างเคร่งครัด เพราะเป็นเรื่องของความผิดอาญา ตามหลักสากล การที่จะเป็นความผิดอาญาต้องตีความให้ตรงที่สุด แคบ เจาะจงมากที่สุด ไม่ใช่ตีความอย่างกว้าง 

“ต้องดูว่า การเผาพระบรมฉายาลักษณ์ การพ่นข้อความ พ่นสัญลักษณ์ต่างๆ ว่าเข้าข่ายสิ่งที่เป็นความผิดหรือไม่ เป็นการดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย คุกคามหรือไม่ แต่การตีความของรัฐไทยตอนนี้เป็นการขยายออกไปเป็นว่า อะไรที่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่เคารพศรัทธา ถือเป็นความผิดด้วย” 

สุณัยอธิบายหลักกฎหมายอีกว่า ถ้าเป็นการทำให้เสียทรัพย์ถือเป็นการตีความตรงไปตรงมา แต่ตอนนี้กลับมีการพ่วงความผิดตามมาตรา 112 มาด้วย 

“ตอนนี้หลายกรณีไม่ได้เป็นประเด็นที่ตั้งอยู่บนการพิจารณาตามข้อกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด… ตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช.เป็นต้นมา เราจะเห็นว่า มีการแจ้งความที่เกินเลยกว่าตัวกฎหมายไปมาก คือ กฎหมายในเนื้อหาที่เขียนไว้คือ พระมหากษัตริย์ ราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทน แต่ระยะหลังตีความเรื่องของตัวบุคคลก็เกินออกไป แล้วเรื่องของพฤติกรรมในการที่จะบอกว่าอะไรเป็นการก้าวล่วง ดูหมิ่น คุกคาม อาฆาตมาดร้าย ก็ขยายออกไป” 

เผารูปกษัตริย์: การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์-วิจารณ์กษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ไม่ได้มีจุดประสงค์ประทุษร้าย-แสดงความเกลียดชังตัวกษัตริย์

สถานะของการแสดงออกต่อรูปกษัตริย์ในต่างประเทศมีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนในกรณีที่ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปมีคำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2561 ในคดีเผาพระบรมฉายาลักษณ์กษัตริย์และพระราชินีสเปน  ซึ่งก่อนหน้านั้น ศาลสเปนพิพากษาชายชาวสเปนจากแคว้นกาตาลุญญา 2 คน ซึ่งนำพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์และพระราชินีแห่งสเปนมาแขวนกลับหัวพร้อมจุดไฟเผาในการประท้วงที่เมืองกีโรนาเมื่อเดือน ก.ย. 2550 ว่ามีความผิดในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์และสมาชิกราชวงศ์ โดยลงโทษจำคุก 15 เดือน ก่อนจะได้รับการลดโทษเหลือเพียงจ่ายค่าปรับคนละ 2,700 ยูโร (ประมาณ 98,000 บาท) ต่อมา ทั้งคู่ยื่นเรื่องต่อศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป

คำวินิจฉัยของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ซึ่งผู้พิพากษา 7 คน ลงมติเป็นเอกฉันท์ ระบุว่า

การเผารูปกษัตริย์ไม่อาจตีความได้ว่าเป็นการกระทำที่มีจุดประสงค์เพื่อประทุษร้ายและแสดงความเกลียดชังต่อตัวของกษัตริย์ในฐานะประมุขของประเทศ อีกทั้งไม่ถือเป็นการโจมตีโดยตรงต่อพระวรกายของกษัตริย์ และไม่ถือว่าเป็นการประทุษวาจา (Hate Speech) แต่เป็นเพียงการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และวิจารณ์กษัตริย์ในฐานะประมุขแห่งรัฐ ซึ่งเป็นเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย

พร้อมมีคำสั่งให้ศาลสเปนคืนเงินค่าปรับทั้งหมด รวมถึงจ่ายเงินชดเชยจำนวน 9,000 ยูโร (ประมาณ 327,000 บาท) ให้แก่จำเลยทั้ง 2 คน

คำวินิจฉัยนี้สร้างบรรทัดฐานทางกฎหมายใหม่ให้สังคมสเปน เพราะนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นมา การประท้วงด้วยการเผารูปกษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์ถือว่าทำได้โดยไม่มีความผิดฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมถึงไม่มีความผิดตาม พ.ร.บ.ต่อต้านกบฏล้มล้างการปกครอง 

ผู้ประท้วงในแคว้นกาตาลุญญาเผาพระบรมฉายาลักษณ์ของกษัตริย์เฟลิเปที่ 6 เมื่อวันที่ 9 ต.ค. 63 ภาพจาก RUPTLY โดย ประชาไท

ทั้งนี้ คำวินิจฉัยหรือคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนยุโรปนั้นเป็นที่ยอมรับว่ามีความชัดเจนแน่นอน และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติตามได้ไม่เฉพาะเพียงแต่ในประเทศในภูมิภาคยุโรปเท่านั้น คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN Human Rights Committee) ก็ได้นำแนวคำพิพากษาของศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรปไปปรับใช้ในการพิจารณาถึงพันธกรณีของรัฐภาคีองค์การสหประชาชาติ ในกรณีที่มีการร้องเรียนโดยรัฐหรือเอกชนว่าด้วยสิทธิมนุษยชนโดยรัฐใดรัฐหนึ่งหรือไม่ด้วย 

ทำลายของสาธารณะ = การประท้วงทางการเมือง สะท้อนการกดเหยียด ปิดปาก โดยผู้มีอำนาจ 

บนบรรทัดฐานของสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นคุณค่าสากล หรือแม้แต่ในแง่มุมของมาตรา 112 ซึ่งตีความอย่างเคร่งครัด การแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ จึงเป็นเพียงการประท้วงทางการเมือง ซึ่งไม่เกี่ยวใดๆ กับการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ฯ 

ในแง่มุมนี้ โตมร ศุขปรีชา นักเขียนและนักแปล ได้เล่าถึงความหมายที่ซ่อนอยู่ในการทำลายของสาธารณะ ในบทความ “การประท้วงทางการเมือง VS ทำลายของสาธารณะ” บน The101.Wolrd ในช่วงการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎร” ปลายปี 2563 ว่า

vandalism คือการ ‘จงใจ’ ทำลายข้าวของของสาธารณะ หรือในบางกรณีก็รวมถึงสมบัติของเอกชนด้วย โดยเฉพาะเอกชนที่มีลักษณะเป็นสาธารณะอยู่ในตัว เช่น ห้างร้าน ตัวอย่างของ vandalism อาทิเช่น การเอาเกลือไปโรยตามสนามหญ้าเพื่อให้หญ้าตาย การตัดต้นไม้ในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาต การปาไข่ การปากระจกหน้าต่าง และแน่นอนว่า รวมไปถึงการพ่นสี วาดกราฟฟิตี้ และอื่นๆ 

กุสตาฟ คูร์เบต์ (Gustave Courbet) จิตรกรชาวฝรั่งเศสที่สร้างงานศิลปะแนวสัจนิยมหรือแนวเหมือนจริง กล่าวว่า vandalism คือสัญลักษณ์ของการแสดงออกซึ่งความขุ่นเคือง ไม่พอใจ และมักมาคู่กันกับความคิดสร้างสรรค์ ดังนั้น vandalism ในแบบที่เป็น political vandalism จึงคือการ ‘แสดงออก’ ที่ ‘สร้างสรรค์’ แม้ผ่านวิธีการที่ดูเหมือน ‘ทำลาย’ ทว่ามันคือการนำเสนอความคิดใหม่ที่จะกระตุกสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า 

ในโลกยุคปัจจุบัน ความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นในหมู่ผู้คนที่อาศัยร่วมกันในสังคมเดียว เกิดขึ้นเพราะผู้มีอำนาจดั้งเดิมนั้น ‘กดเหยียด’ คนกลุ่มอื่นในสังคม จนทำให้เกิดแรงต้าน ในอเมริกา ไม่ว่าจะเป็นคนผิวสีหรือคนรักต่างเพศ ล้วนใช้สิ่งที่เรียกว่า street art อย่างเช่นการพ่นสี การขีดเขียนลงไปบนผนังหรือกำแพงตึกทั้งสิ้น

เมื่อมองในอีกด้านหนึ่ง vandalism ที่ดูคล้ายเป็นอาชญากรรม ไม่ว่าจะเป็นการพ่นสี การใช้คำหยาบคาย การ ‘เปิดโปง’ หรือ ‘ผลักเพดาน’ ประเด็นที่เรียกร้องจนทำให้คนทั่วไปเกิดอาการ ‘ช็อก’ มากขนาดไหน จึงแสดงให้เราเห็นไปพร้อมกันว่า สังคมหรือเมืองแห่งนั้นกำลังเกิดความผิดปกติเชิง ‘ระบบ’ อยู่

เมื่อผู้คนถูกปิดปากห้ามพูด ห้ามวิพากษ์วิจารณ์ ไม่มีที่ทางแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตัวเอง ความคิดเห็นเหล่านี้ย่อมสำแดงออกมาผ่านพื้นที่ที่คาดไม่ถึง และยิ่งถูกกดเหยียดมากเท่าไหร่ การสะท้อนโต้ตอบออกมาก็จะยิ่งรุนแรงและหยาบคายมากเท่านั้น 

.

การแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ จึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และเป็นเพียงการประท้วงทางการเมือง ที่ประชาชนผู้ซึ่งรู้สึกถึงการกดเหยียดจากผู้มีอำนาจ เลือกส่งเสียงของพวกเขาในพื้นที่ที่คนคาดไม่ถึง เพื่อให้ผู้มีอำนาจในสังคมไทยได้ยินและฉุกใจคิด แต่เสียงเหล่านี้ก็ยังคงไม่ได้ถูกรับฟัง ซ้ำยังถูกกดปราบด้วยยาแรงแบบมาตรา 112 แทน 

.

ตารางคดีมาตรา 112 จากการแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์ช่วงปี 2563 – 2565 

ลำดับที่วันที่เกิดเหตุสาเหตุผู้ถูกกล่าวหาคำให้การสถานะคดี/คำพิพากษา
119 ก.ย. 63แปะสติกเกอร์ “กูKult” บนพระบรมฉายาลักษณ์ในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ที่สนามหลวงนรินทร์ (สงวนนามสกุล) ปฏิเสธจำคุก 3 ปี ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี
216 ต.ค. 63พ่นสีฐานใต้รูปรัชกาลที่ 10พนิดา (สงวนนามสกุล) รับสารภาพจำคุกกระทงละ 3 ปี 2 กระทง ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 2 ปี 12 เดือน ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี คุมประพฤติ 1 ปี ทำกิจกรรมบริการสังคม 12 ชั่วโมง
317 ต.ค. 63ปลดพระบรมฉายาลักษณ์ระหว่างการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง1. “เบนซ์” (นามสมมติ)รับสารภาพจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษครึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน รอลงอาญา 2 ปี
2. “ไลลา” (นามสมมติ)ปฏิเสธยกฟ้อง
410 ม.ค. 64พ่นสีสเปรย์ข้อความ “ภาษีกู”, “ยกเลิก 112” บนรูปของพระบรมวงศานุวงศ์ และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต รวม 6 จุดสิริชัย นาถึง ปฏิเสธลงโทษตามมาตรา 112 จำคุก 3 ปี ฐานทำให้เสียทรัพย์ จำคุกกระทงละ 2 เดือน ปรับกระทงละ 6,000 บาท รวม 5 กระทง เป็นจำคุก 10 เดือน ปรับ 30,000 บาท จำเลยยังเป็นนักศึกษา โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี
520 มี.ค. 64แสดงออกต่อภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 ที่สนามหลวง1. “เสกจิ๋ว” เยาวชนอายุ 15 ปี 
2. “โป๊ยเซียน” เด็กอายุ 14 ปี 
รับสารภาพศาลเยาวชนฯ ให้เข้ามาตรการฟื้นฟูแทนการพิพากษา
63 ก.ค. 64พ่นสีสเปรย์บนรูปและกรอบรูป ร.10 สองจุด ในอำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่“กรรณิกา” (นามสมมติ) ให้การรับสารภาพศาลเยาวชนฯ ให้เข้ามาตรการฟื้นฟูแทนการพิพากษา
718 ก.ค. 64เผาพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณถนนราชดำเนินนอก ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา64สิทธิโชค เศรษฐเศวต ปฏิเสธลงโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 6 เดือน ฐานหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ, วางเพลิงเผาทรัพย์ และทำให้เสียทรัพย์ จำคุก 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุก 2 ปี 4 เดือน
818 ก.ค. 64แปะกระดาษข้อความ “CANCEL LAW 112” ทับที่บริเวณพระพักตร์ และพ่นสีสเปรย์ทับพระบรมฉายาลักษณ์ ระหว่างการชุมนุม #ม็อบ18กรกฎา64สายน้ำ (เยาวชน) ปฏิเสธยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 ลงโทษฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ปรับ 4,000 บาท 
928 ก.ค. 64เผารูปรัชกาลที่ 10 ที่อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานีพิทยุตม์ (สงวนนามสกุล) รับสารภาพจำคุก 2 ปี 6 เดือน โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี คุมประพฤติเป็นเวลา 1 ปี และทำงานบริการสังคม 24 ชั่วโมง
1028 ก.พ. 64เผารูปรัชกาลที่ 10 บริเวณป้ายเรือนจำคลองเปรม1. “แอมมี่” ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์  
2. “ปูน” ธนพัฒน์ (สงวนนามสกุล) 
ปฏิเสธศาลอาญาส่งคำร้องของจำเลยให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า มาตรา 217 ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และรอการพิพากษาไว้
1120 มี.ค. 64ติดกระดาษบนภาพพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ในระหว่างการชุมนุม #ม็อบ20มีนา64 ที่สนามหลวงชูเกียรติ แสงวงค์ ปฏิเสธระหว่างสืบพยาน
121 พ.ค. 64แสดง Performance Art ที่ป้ายหน้าม.เชียงใหม่ และถูกกล่าวหาว่าใช้เท้าขวาชี้ขึ้นไปที่พระบรมฉายาลักษณ์วิธญา คลังนิล ปฏิเสธนัดฟังคำพิพากษา (8 พ.ค. 66)
138 ส.ค. 64ปลดพระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 ที่หน้าชุมชนหมู่บ้านประชาชื่น จังหวัดนนทบุรี ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ปฏิเสธนัดฟังคำพิพากษา (1 มิ.ย. 66)
14ก.ย. 64เหตุปะทะที่สามเหลี่ยมดินแดง และถูกกล่าวหาว่าทำลายรูปพระบรมฉายาลักษณ์“นางสาวจ่อย” (นามสมมติ) ปฏิเสธชั้นอัยการ
15ก.ย. 64เหตุปะทะที่สามเหลี่ยมดินแดง และถูกกล่าวหาว่าทำลายรูปพระบรมฉายาลักษณ์ (แยกคดีเยาวชน)“เค” (นามสมมติ) เยาวชนอายุ 17 ปี ปฏิเสธชั้นตำรวจ
1612 ก.ย. 64ถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณทางลงด่วนดินแดง ระหว่าง #ม็อบทะลุแก๊ส #ม็อบ12กันยา64“ภัทรชัย” (นามสมมติ) เด็ก อายุ 14 ปี ปฏิเสธชั้นตำรวจ
1714 ก.ย. 64ถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ หน้ากระทรวงแรงงาน ระหว่างชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส1. ณรงค์ศักดิ์ (สงวนนามสกุล) 
2. ณัฐพล (สงวนนามสกุล)
3. อธิคุณ (สงวนนามสกุล) 
ปฏิเสธชั้นอัยการ
1814 ก.ย. 64ถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ หน้ากระทรวงแรงงาน ระหว่างชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส (แยกคดีเยาวชน)“กันต์” เยาวชนอายุ 17 ปี ปฏิเสธชั้นตำรวจ
1919 ก.ย. 64ถูกกล่าวหาว่าเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติบริเวณหน้ารร.ราชวินิตมัธยม ระหว่าง #ม็อบ19กันยา64 1. มิกกี้บัง (สงวนชื่อสกุลจริง) 
2. พรชัย ยวนยี 
3. จิตริน พลาก้านตง 
ปฏิเสธนัดสืบพยาน (19-22 มี.ค. 67)
2010 พ.ย. 64เผาแผ่นป้ายพระบรมฉายาลักษณ์บริเวณสะพานต่างระดับบางคูเวียง“โชติช่วง” (นามสมมติ) ปฏิเสธนัดสืบพยาน (13-15 ก.ย. 66)
216 พ.ย. 64ทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์ 3 แห่ง ใน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี“แต้ม” (ผู้ป่วยจิตเวช) ปฏิเสธนัดสืบพยาน(2-3, 9 พ.ค. 66) 
2213 ก.พ. 65ปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 จำนวน 3 จุด ในอำเภอเมืองปทุมธานี“สมพล” (นามสมมติ) ปฏิเสธยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 ลงโทษฐานทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย และความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุกกระทงละ 6 เดือน รวมจำคุกทั้งสิ้น 18 เดือน 
2313 ก.พ. 65ปาสีแดงใส่พระฉายาลักษณ์พระราชินี บริเวณริมถนนติวานนท์ จ.ปทุมธานี“สมพล” (นามสมมติ) ปฏิเสธยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 ลงโทษฐานทำให้ทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย และความผิดตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษกึ่งหนึ่ง คงจำคุก 6 เดือน 
2413 ก.พ. 65ปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 บริเวณอำเภอปากเกร็ด นนทบุรี“สมพล” (นามสมมติ) ปฏิเสธนัดสืบพยาน (23-26 ม.ค. 67)
2513 ก.พ. 65ปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 บริเวณหน้าห้างโลตัส สาขารังสิต“สมพล” (นามสมมติ) ปฏิเสธนัดสืบพยาน (31 พ.ค., 1-2 มิ.ย. 66)
2613 ก.พ. 65ปาสีแดงใส่พระบรมฉายาลักษณ์ ร.10 สามจุด ในเขตดอนเมือง“สมพล” (นามสมมติ) ปฏิเสธชั้นอัยการ

.

X