11 ธ.ค. 2567 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในคดีของ ศิระพัทธ์ ดีสวัสดิ์ ชาวจังหวัดนนทบุรี วัย 38 ปี ประกอบอาชีพวาดรูปและเล่นดนตรีฟรีแลนซ์ ปัจจุบันเปิดร้านอาหารในย่านนนทบุรี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ออกนอกเคหสถานในเวลาเคอร์ฟิว ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ ลักทรัพย์ในเวลากลางคืน จากกรณีถูกกล่าวหาว่าปลดพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 พร้อมกรอบรูปไปจากป้อมยามหน้าหมู่บ้านประชาชื่น จังหวัดนนทบุรี แล้วนำกรอบรูปไปทิ้งลงคลอง เมื่อช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 8 ส.ค. 2564
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนยกฟ้องในข้อหามาตรา 112 และเห็นว่าผิดข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และลักทรัพย์ในเวลากลางคืน โดยหลังจากลดโทษรวม 2 ข้อหา จำคุก 9 เดือน ปรับ 30,000 บาท โดยให้รอการลงโทษจำคุกเป็นเวลา 2 ปี และพิพากษาแก้ในข้อหา พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เนื่องจากโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้อง
.
คดีนี้จำเลยให้การปฏิเสธในข้อหาตามมาตรา 112 และให้การรับสารภาพในอีกสองข้อกล่าวหา ก่อนที่เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2566 ศาลจังหวัดนนทบุรีอ่านคำพิพากษาให้ยกฟ้องในข้อหามาตรา 112 โดยเห็นว่าจากพยานหลักฐาน พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 เป็นเพียงเจตนาที่ต้องการลักขโมยของยามวิกาลเท่านั้น ยังฟังมิได้ว่าจำเลยมีเจตนาพิเศษที่ดูหมิ่นกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
แต่เห็นว่าจำเลยมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ โดยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษตัวบทกฎหมายที่หนักที่สุด ลงโทษในข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จำคุก 6 เดือน ปรับ 40,000 บาท และ ความผิดฐานลักทรัพย์ในเวลากลางคืน ลงโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 20,000 บาท จำเลยได้ให้การรับสารภาพ มีเหตุให้บรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง รวมโทษจำคุก 9 เดือน ปรับ 30,000 บาท โดยศาลเห็นว่าจำเลยไม่เคยมีประวัติการกระทำผิดมาก่อน สมควรให้ปรับปรุงตัว มีเหตุให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี คุมประพฤติเป็นเวลา 2 ปี และทำงานบริการสังคม 36 ชั่วโมง
ต่อมา ธีระ ลิมป์พิทักษ์พงศ์ อัยการศาลสูงจังหวัดนนทบุรี ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ภาค 1 ขอให้ลงโทษศิระพัทธ์ตามมาตรา 112 และให้ลงโทษจำคุกในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยไม่รอลงอาญาด้วย และฝ่ายจำเลยก็ได้ยื่นแก้อุทธรณ์ดังกล่าวของโจทก์
.
พิพากษายืนจำเลยไม่ผิด ม.112 ทั้งการจำคุกระยะสั้นไม่เป็นผลดีกับจำเลย อุทธรณ์อัยการโจทก์ฟังไม่ขึ้นทุกประเด็น และแก้ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินในส่วนความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ
เวลา 09.00 น. ห้องพิจารณาที่ 13 ศาลจังหวัดนนทบุรีนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ผู้พิพากษาออกพิจารณาในเวลา 09.07 น. หลังจากนั้นไม่นานศิระพัทธ์ พร้อมเพื่อนอีก 2 คน ได้เดินเข้ามาในห้องพิจารณาและนั่งรอผู้พิพากษาดำเนินคดีก่อนหน้าให้แล้วเสร็จ พร้อมเพื่อนของศิระพัทธ์ได้เดินทางมาให้กำลังใจเพิ่มอีก 2 คน
เวลา 09.51 น. ผู้พิพากษาแกะซองคำพิพากษาจากศาลอุทธรณ์ภาค 1 และเริ่มอ่านคำพิพากษา มีใจความโดยสรุปว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นว่ามีประเด็นที่ต้องพิจารณาตามอุทธรณ์โจทก์ ดังนี้
ประเด็นแรก โจทก์อุทธรณ์ว่าพฤติการณ์ของจำเลยที่ปีนขึ้นไปปลดรูปพระบรมฉายาลักษณ์แล้วลากในลักษณะคว่ำไปกับพื้นเป็นความผิดตามมาตรา 112
เห็นว่า กรอบรูปมีลักษณะใหญ่ ลำพังจำเลยคนเดียวไม่สามารถเคลื่อนย้ายด้วยตัวคนเดียวได้ การคว่ำและลากไปเป็นลักษณะของการลักทรัพย์ แต่ไม่สามารถแสดงถึงเจตนาว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ได้ อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่สอง โจทก์อุทธรณ์ว่าพฤติการณ์คดีร้ายแรง ไม่สมควรให้รอการลงโทษ
เห็นว่า แม้จำเลยจะกระทำการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และการนำรูปไปโดยคว่ำหน้าและลากไปกับพื้นเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม แต่เห็นว่าจำเลยกระทำไปด้วยความคึกคะนอง หลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจได้ติดตามตัวจำเลยจนพบ และเปิดคลิปจากกล้องวงจรปิดให้จำเลยดู จำเลยก็ให้การยอมรับว่าเป็นตนจริง และให้การว่าตนเอากรอบรูปไปทิ้งในคลองท้ายหมู่บ้าน จำเลยยอมรับและสำนึกในการกระทำ ทั้งยังให้การเป็นประโยชน์
ศาลเห็นว่าการจำคุกระยะสั้นนั้นไม่เป็นผลดีกับจำเลยในการประกอบสัมมาอาชีพในภายภาคหน้า การคุมประพฤติโดยมีเจ้าหน้าที่คอยช่วยเหลือตักเตือนเป็นประโยชน์กับจำเลยมากกว่า อุทธรณ์โจทก์ฟังไม่ขึ้น
ประเด็นที่สาม พิพากษาแก้ในส่วนที่ศาลชั้นต้นได้ลงโทษจำเลยในฐานฝ่าฝืนคำสั่งพนักงานควบคุมโรคตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34
เห็นว่า ในฐานความผิดดังกล่าวโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องมาตามหลักมาตรา 192 แห่งวิธีพิจารณาความอาญา ศาลไม่สามารถพิพากษาเกินคำขอได้ พิพากษาแก้ว่าจำเลยมีความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เท่านั้น นอกจากนี้ให้เป็นไปตามศาลชั้นต้น
.
กรณีนี้เดิมยังมี กนกวรรณ (สงวนนามสกุล) นักศึกษาปริญญาโท ถูกฟ้องในข้อหารับของโจร หลังถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เก็บรักษาพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ที่ศิระพัทธ์ลักขโมยมา โดยอัยการได้ขอรวมการพิจารณาสองคดีนี้เข้าด้วยกัน เนื่องจากมีพยานหลักฐานในชุดเดียวกัน ต่อมาศาลชั้นต้นยกฟ้องในส่วนของกนกวรรณ และอัยการไม่ได้อุทธรณ์คดีในส่วนนี้อีก
การสืบพยานในคดีนี้ ศาลยังสั่งให้พิจารณาคดีเป็นการลับ ตามคำร้องของอัยการ ที่อ้างขอให้พิจารณาลับเพื่อประโยชน์แห่งความเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 177 ทำให้ในการพิจารณาอนุญาตให้เฉพาะคู่ความในคดีทั้งสองเข้าร่วม หากแต่ในนัดสืบพยานที่มีสมาชิกกลุ่ม ศปปส. มาเบิกความในฐานะพยานโจทก์ พบว่าได้มีบุคคลภายนอกเข้ามาฟังการพิจารณาด้วย โดยไม่ได้ถูกศาลให้ออกจากห้องพิจารณาแต่อย่างใด
.
อ่านประมวลการสืบพยาน จับตาฟังคำพิพากษาคดี “ศิระพัทธ์” ปลดรูป ร.10 หน้าหมู่บ้านที่นนทบุรี ต่อสู้พฤติการณ์ไม่เข้าข่าย ม.112
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง ทบทวน ม.112 ผ่านคดีแสดงออกต่อพระบรมฉายาลักษณ์: การตีความขยายขอบเขตกฎหมาย และการส่ง “เสียง” ที่ไม่ถูกรับฟัง